Saturday, 5 April 2025
worldbank

‘ธนาคารโลก’ เชื่อ!! ศก.ไทยฟื้นตัว ดันจีดีพีปี 66 โต 3.6% ชี้!! ท่องเที่ยวยังเด่น ลุ้นโกย 27 ล้าน นทท.เข้าประเทศ

‘เวิลด์แบงก์’ เคาะจีดีพีไทยปีนี้โต 3.6% อานิสงส์บริโภคภายในประเทศ-ท่องเที่ยวหนุนเต็มสูบ ลุ้นต่างชาติทะยาน 27 ล้านคน ส่งออกโคม่าติดลบ 1.8% ซมพิษเศรษฐกิจโลก หนุนปฏิรูปเศรษฐกิจ ช่วยดันเติบโตระยะยาว

(2 เม.ย. 66) นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.6% โดยต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วกว่าไทย โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง มาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ โดยคาดว่าปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคน คิดเป็น 68% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และการบริโภคภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคลัง โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน ที่ช่วยพยุงให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเสถียรภาพทางการคลังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% ต่อจีดีพี และคาดว่าจะลดลงเหลือราว 59% ต่อจีดีพี เนื่องจากอัตราการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไทยในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ปีนี้คาดว่าจะหดตัวที่ 1.8% โดยได้รับผลกระทบชัดเจนจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2565 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.2%

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.7% และปี 2568 ที่ระดับ 3.5% โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ได้สูงมากนัก นั่นเพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า แต่มองว่ายังมีโอกาสที่ไทยจะเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากยังมีศักยภาพและเสถียรภาพด้านการเงิน และการคลัง ที่จะสามารถนำสิ่งนี้มาใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง

“ประเด็นสำคัญในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษี โดยเฉพาะภาคบริการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง รายได้ดี และใช้แรงงานที่มีทักษะสูง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ กติกาในภาคบริการที่ค่อนข้างเยอะ ถือเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ทำให้การลงทุนในส่วนนี้ยังมีข้อจำกัด ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็ต้องมีการเพิ่มมูลค่า เพิ่มการลงทุนด้านการท่องเที่ยวไม่ใช่เฉพาะในเมืองหลัก อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต เท่านั้น รวมทั้งต้องยกระดับมาตรการการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เราคิดว่าภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญรวมถึงต้องเร่งปฏิรูปการลงทุนของภาครัฐ ที่ต้องเน้นคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ตลอดจนประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูปเรื่องสวัสดิการที่พุ่งเป้า เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนจนให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมีการปฏิรูปในวงกว้าง เพื่อเสริมทักษะให้กับเยาวชน หรือคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรื่องนี้ที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก! ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026

 

อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก!
ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี ค.ศ. ๒๐๒๖

ผู้แทนของไทยประจำ IMF ได้แจ้งแก่เอกอัครราชทูตไทยประสหรัฐฯ ว่า ตามที่กลุ่ม Executive Board ได้เสนอต่อ Board of Governors ให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ระหว่าง 16-18 ตุลาคม พ.ศ.2569 ซึ่งไทยได้เสนอตัว โดยไทยสามารถเอาชนะกาตาร์ในการลงคะแนนรอบสุดท้ายได้ ซึ่งก่อนนี้มีประเทศเข้าสมัครเพื่อรับการคัดเลือกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรีซ ไทย และกาตาร์ โดยหลังจากนี้ Board of Governors จะพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะประกาศผลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในช่วงการประชุม Spring Meeting เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การประชุมดังกล่าว จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก ทั้งผู้เข้าร่วมการประชุม และการประชุมอื่น ๆ คู่ขนานในช่วงเดียวกันรวมประมาณ 14,000 คน โดยผู้แทนกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคุณ Wempi Saputra มาจากอินโดนีเซียและคุณ Rosemary Lim จากสิงคโปร์ ได้ทำงานประสานกับผู้แทนไทยและประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ในการสนับสนุนให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026 โดยร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการคลังและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และจัดให้ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และ เจ้าหน้าที่ทีมเศรษฐกิจได้ร่วมทำงานในการขอรับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกทั้ง WB/IMF โดยเฉพาะ Board of Governors โดยจัดงานเลี้ยงรับรองได้จัดให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวสุนทรพจน์แนะนำความพร้อมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ประสบการณ์ที่ไทยเคยจัดการประชุม IMF/WB มาแล้ว การเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศทุกระดับ ล่าสุดไทยยังเป็นประธานอาเซียนที่มีการผลักดันการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP ขยะทะเลและทะเลจีนใต้ รวมทั้งเป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปีที่แล้ว ที่ผลักดันวางกรอบเวลาการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเปค หรือ ‘FTAAP’ ความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อเตรียมความพร้อมหลังโควิด และปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG นำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปใส่ในวาระของเอเปคอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก

World Bank’ คาดเศรษฐกิจโลกปี 66 โตเพิ่มอีก 2.1% เตือน!! นโยบายธนาคารทั่วโลกอาจทำจีดีพีปีหน้าชะลอตัว

ธนาคารโลก (World Bank) ปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ หลังจากทิศทางเศรษฐกิจอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกฟื้นตัวดีกว่าคาด แต่ได้เตือนว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ในปีหน้า

รายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกของ World Bank ที่เปิดเผยในวันอังคาร ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาที่ 2.1% ในปีนี้ เพิ่มจากระดับ 1.7% ในการประมาณการณ์เมื่อเดือนมกราคม แต่ยังถือว่าต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ที่ขยายตัว 3.1%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก หั่นคาดการณ์จีดีพีโลกในปีหน้าลงมาที่ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือนมกราคม โดยอ้างถึงผลกระทบจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะกลับมาเติบโตในระดับ 3.0% ในปี 2025

เมื่อมองเป็นรายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ World Bank ปรับคาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐฯ จะขยายตัว 1.1% ในปีนี้ เพิ่มจาก 0.5% ในเดือนมกราคม และเศรษฐกิจจีนจะโต 5.6% จากระดับ 4.3% ในเดือนมกราคม แต่สำหรับในปีหน้านั้น ธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะโตเพียง 0.8% และหั่นเป้าเศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัวที่ 4.6%
 

รู้จัก 'บทบาท-หน้าที่' ธนาคารโลก ทำไมถึงปรับเป้า GDP ไทย-ประเทศอื่นๆ ได้

จากข่าวล่าสุดที่ทาง World Bank หรือธนาคารโลกได้ออกมาประกาศปรับเป้า GDP ไทยปี 2024 ลง เหลือโตเพียงแค่ +2.4% หลังจากได้มีการปรับลดก่อนหน้าลงมาในเดือนเมษายนเหลือ +2.8% ทั้งๆ ที่ต้นปีธนาคารโลกเองเคยมองว่าไทยจะมีการเติบโตอยู่ที่ระดับสูงถึง +3.2% และปรับเป้า GDP ปี 2568 เหลือเพียงแค่ +2.9%

ว่าแต่ World Bank มีหน้าที่อะไร? ทำไมถึงมาปรับเป้า GDP ไทยและประเทศอื่นๆ ในโลก?

โดยประวัติความเป็นมาของธนาคารโลกนี้ ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในตอนนั้น การจัดตั้งธนาคารโลก เป็นไปเพราะต้องการเป็น 'แหล่งกู้ยืมเงิน' ให้กับประเทศสมาชิก เพื่อนำเอาไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังจากสงครามโลกค่ะ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการให้เงินกู้แก่ประเทศในโลกที่สามเป็นสำคัญ

ธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.1944 ในการประชุมที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในการประชุมดังกล่าวมีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับสำหรับธนาคารโลกหรืออีกชื่อหนึ่งคือ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และได้มีการรวมสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 3 หน่วยงานได้แก่ 1) บริษัทการเงินระหว่างประเทศ, 2) สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ, 3) องค์การประกันการลงทุนหลายฝ่าย แล้วเรียกรวมกันว่า 'ธนาคารโลก' หรือ World Bank 

โดยในช่วงแรกมีประเทศสมาชิกเพียงแค่ 38 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ ซึ่งมี ซูดานใต้ เป็นประเทศที่ 189 ที่เข้าร่วมในปี 2012 ส่วนประเทศไทยเองเข้ามาเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ด้วยลำดับสมาชิกที่ 47 ค่ะ

นอกจากธนาคารโลกจะมีหน้าที่ช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และระยะยาวแล้ว ยังช่วยค้ำประกันเงินกู้ทำให้ประเทศที่กู้เงินสามารถได้รับอัตราดอกเบี้ยในเรทที่ต่ำได้ และให้คำปรึกษารวมให้ความรู้กับประเทศสมาชิก รวมถึงกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศค่ะ 

ดังนั้น สาเหตุหลักในการปรับเป้า GDP ไทย เพราะธนาคารโลก มองว่า การส่งออกและการลงทุนภาครัฐไทยดูมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องมาจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2567 และไทยเองก็ยังมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง แถมยังมีปัญหาใหญ่ที่รออยู่นั่นก็คือ ปัญหาทางโครงสร้างประชากรที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยค่ะ โดยการปรับตัวเลข GDP นี้ ยังไม่ได้มีการรวมเอาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เพราะถ้าเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดไว้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้ามาช่วยเพิ่ม GDP ไทยได้ราว 1% เพียงแต่จะแลกมาด้วยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นตามมา 

ส่วนในเรื่องการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกมองว่าจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ในช่วงกลางปี 2568 ขณะที่เรื่องการส่งออกไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออก ก็จะได้อานิสงส์จากการค้าโลกที่เติบโตดีขึ้นด้วยค่ะ

นอกจากประเทศไทยแล้ว ธนาคารโลกก็ยังปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียงแค่ 2.6% ในปีนี้ ซึ่งได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market และประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวลดลงจากปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 4.2% ... จีนจะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 5.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.8% และเศรษฐกิจแถบยูโรโซนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ระดับ 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 0.7% ค่ะ

จับตาประชุมกลุ่ม BRICS ร่วมประเทศพันธมิตร 34 ประเทศ กลุ่มมหาอำนาจใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งสองซีกโลกในทุกมิติ

(24 ต.ค. 67) ในสัปดาห์นี้กำลังมีการประชุมใหญ่ในสองซีกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึง 'การแบ่งขั้ว' ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กับการประชุม BRICS และ IMF-World Bank

ฝั่ง 'สหรัฐ' เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ทยอยเรียกความสนใจไปแล้วตั้งแต่การออกรายงานหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก มาจนถึงการออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเดือน ต.ค. ที่เตือนเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในฝั่ง 'รัสเซีย' จะเปิดบ้านในเมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ 'บริกส์' (BRICS) ที่มีสมาชิกดั้งเดิม 4+1 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และผู้นำ/ผู้แทนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมระหว่างวันที่ 22 - 24 ต.ค. โดยมีไฮไลต์ที่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของเหล่า 'สมาชิกใหม่' 5 ประเทศ และการสะท้อนนัยยะทางการเมืองครั้งสำคัญของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

อัสลี อัยดินทัสบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากตุรกี กล่าวกับสถาบันคลังสมองบรูกกิงส์ในสหรัฐว่า ภายหลังสงครามในฉนวนกาซา (ซึ่งสหรัฐส่งอาวุธไปให้กับอิสราเอล) รัสเซียและจีนได้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยความผิดหวังจากการกระทำสองมาตรฐานของตะวันตก รวมถึงความไม่พอใจจากคว่ำบาตรและบีบบังคับทางเศรษฐกิจของตะวันตก 

"เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประเทศตรงกลางจะแปรพักตร์จากอิทธิพลของสหรัฐไปซบจีนแทน แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิดใจให้จีนและรัสเซียมากขึ้น เพื่อให้โลกมีอิสระและกระจายขั้วอำนาจมากขึ้น"

>>> จับตาสมาชิกใหม่ BRICS+

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัสเซียพยายามใช้วาทกรรมการรวมกลุ่มของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เพื่อต่อกรท้าทายระเบียบโลกใหม่กับซีกโลกเหนือที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตัวปูตินเองได้เปรยเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การขยายสมาชิกกลุ่มบริกส์เป็น 'ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ' พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มที่เรียกว่า 'BRICS+' (บริกส์พลัส) เพื่อท้าทายตะวันตกทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปูตินจะใช้วันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ 10 ประเทศ จัดการประชุมคู่ขนาน BRICS and Outreach หรือ BRICS Plus ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มในการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้

"ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นกลไกหลักในการเพิ่ม GDP โลก และเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น" ปูตินกล่าวในการประชุมภาคธุรกิจกลุ่มบริกส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากผู้นำของกลุ่มประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ยกเว้นเพียงบราซิลที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเนื่องจากประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ประสบอุบัติเหตุ ผู้นำของ 5 ประเทศสมาชิกใหม่ต่างมาร่วมประชุมบริกส์อย่างคึกคัก อาทิ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ส่วนซาอุดีอาระเบียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมแทน 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และแม้แต่อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วน 3 ประเทศที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ไปแล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และตุรกีนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดีเรย์เซบ เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ จะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทิโมธี แอช นักวิชาการในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของสถาบันชัทแธมเฮ้าส์ในลอนดอน กล่าวว่าในฉากหลังนั้น ปูตินกำลังคาดหวังถึงชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เหนือยูเครนและตะวันตก โดยพยายามส่งสารว่า แม้จะมีสงครามและถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่รัสเซียก็ยังคงมีพันธมิตรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เต็มใจจะคบค้าและค้าขายด้วยกับรัสเซีย

ทั้งนี้หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ. 2565 รัสเซีย ปูติน และบรรดาแกนนำในรัฐบาลต่างก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรต่างออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และกลาโหมของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซียตามมาหลังจากนั้น 

ไม่เพียงแต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกได้อนุมัติการออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 2566 ทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่มีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ และเคยต้องงดการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบริกส์ครั้งก่อนที่แอฟริกาใต้มาแล้ว และงดเข้าร่วมแม้แต่การประชุมจี20 ในปีที่แล้วที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่มีข้อตกลงกับ ICC ก็ตาม 

"การประชุมสุดยอดที่คาซานมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติต่อระบอบการปกครองของปูติน" แองเจลา สเตส่วนนต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซีย รัสเซีย และยุโรปตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวกับสถาบันบรูกกิงส์ "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่ยังมีพันธมิตรที่สำคัญ เช่น อินเดีย จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ด้วยการจับมือกับปูตินอย่างแน่นแฟ้นในงานและส่งสารอย่างชัดเจนถึงการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เป็น "เวทีสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและร่วมมือกันระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในโลกวันนี้ เป็น “พลังหลักในการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโลกหลากขั้วอย่างเท่าเทียมและเป็นระเบียบ รวมถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและอดกลั้น”

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เวิลด์แบงก์เชื่อจีดีพีโต 2.9% แม้หนี้ครัวเรือนพุ่ง-ส่งออกชะลอตัว

(14 ก.พ.68) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี นอกจากนี้ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้ระดับความยากจนลดลง 8.29% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จีดีพีของไทยยังคงต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงาน *Thailand Economic Monitor* ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 2.6% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568  

การลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน  

"ประเทศไทยมีกรรมเก่า คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาเป็นบวกจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด" นายเกียรติพงศ์กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาด แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 จีดีพีจะเติบโตที่ 2.7%  

ความท้าทายสำคัญที่ไทยต้องเผชิญ ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ สงครามการค้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การใช้งบประมาณอย่างมีกลยุทธ์ การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่กระตุ้นการเติบโตในภาคโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนระยะยาว  

นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงจาก 8.5% ในปี 2566 เหลือ 8.29% ในปี 2567  

“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญ ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต” นางเมลินดากล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top