Friday, 17 May 2024
WHO

WHO เตือนโอไมครอนลูกผสม “XE” แพร่เชื้อง่ายและรวดเร็ว เหนือกว่า BA.2 ถึง 10%

WHO เตือนโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” แพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าทุกสายพันธุ์ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ถอดรหัสพันธุกรรมพบแล้ว 1 ราย รอยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกครั้งหนึ่ง

เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โพสต์วันที่ 2 เม.ย. 65 รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” ที่แพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เราเคยประสบมา

“XE” เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.1 X BA.2” ไม่ใช่ “เดลตาครอน” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “เดลตา X โอไมครอน” WHO ยังไม่ตั้งชื่อให้อย่างเป็นทางการจนกว่า “XE” จะแสดงอาการทางคลินิกที่รุนแรงแตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” หรือ “XD” WHO แจ้งว่าไม่พบการระบาดที่รวดเร็ว (transmissibility) และอาการที่รุนแรง (severity) แต่ประการใด

ล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม “XE” จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อ ชาวไทย 1 ราย และจากการตรวจกรองด้วยเทคโนโลยี “Massarray Genotyping” พบสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน (เดลตา X โอมิครอน)” อีก 1 ราย ซึ่งต้องยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกครั้งหนึ่ง

โอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 โดยมีการถอดรหัสพันุกรรมทั้งจีโนมและอัปโหลดขึ้นไปแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลกแล้วมากกว่า 600 ตัวอย่าง

สาธารณะสุขไทย เจ๋ง WHO ยกเป็นต้นแบบประเทศที่ 3 มีความพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินโควิด

25 เม.ย. 65 ที่ โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (นำร่อง) หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) Pilot โดยมี ดร.สมิลา อัสมา (Dr. Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวม 200 คน ร่วมงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย ที่มีความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมากที่สุด เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม (Whole-government and whole society response) ได้แก่ เครือข่ายภาคประชาชน อสม. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หน่วยงานด้านสาธารณสุข ภาคเอกชน และภาคธุรกิจอื่นๆ ผ่าน ศบค. ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทยในการขับเคลื่อนกฎหมายการดำเนินงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านช่วงวิกฤติมาได้

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) จึงเชิญให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบประเทศที่ 3 นำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก และไทยเป็นประเทศนำร่องที่จะได้เผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก และเกิดการพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ รองรับวิกฤติด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการทบทวนอย่างครอบคลุมรอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ซึ่งต้องใช้การตอบโต้จากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การฝึกซ้อมสถานการณ์สมมติ (Simulation Exercise) การสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มย่อย, การพบผู้บริหารหน่วยงานระดับประเทศ และการตรวจเยี่ยมหน่วยงานระดับปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และความท้าทายของประเทศไทยในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมา

จีนเซ็นเซอร์!! โซเชียลบ่นแนวทางคุมโรค หลัง WHO โหมโควิดเป็นศูนย์ ‘ไม่ยั่งยืน’

จีนใช้มาตรการเซ็นเซอร์เพื่อปิดกั้นการถกเถียงในหมู่ชาวเน็ตแดนมังกร หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิจารณ์นโยบายคุม ‘โควิดเป็นศูนย์’ ของปักกิ่งว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ ‘ไม่ยั่งยืน’

จีนถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายเดียวของโลกที่ยังคงยึดนโยบายลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เหลือศูนย์ และใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อยับยั้งการระบาด

ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 25 ล้านคนในนครเซี่ยงไฮ้ถูกบังคับกักตัวอยู่แต่ในที่พักอาศัยแบบไม่มีกำหนด ระหว่างที่รัฐบาลกำลังต่อสู้เพื่อยุติการระบาดครั้งใหญ่

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO ออกมาเรียกร้องเมื่อ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ให้จีนปรับแนวทางการควบคุมโรคเสียใหม่ เนื่องจากการคุมโควิดให้เป็นศูนย์อยู่ตลอดเวลานั้น “ไม่ยั่งยืน” ท่ามกลางการอุบัติขึ้นของเชื้อสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่แพร่กระจายได้เร็ว

การ “แทรกแซง” ของ WHO ในครั้งนี้ ทำให้จีนต้องระดมหน่วยเซ็นเซอร์ เพื่อเร่งปิดกั้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาในสื่อออนไลน์

โดยแฮชแท็ก #Tedros และ #who ถูกปิดกั้นการค้นหาในไมโครบล็อกเวยปั๋ว ขณะที่ผู้ใช้แอปพลิเคชัน WeChat ก็ไม่สามารถแชร์บทความที่เผยแพร่ลงในบัญชีทางการขององค์การสหประชาชาติได้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่แฮชแท็กและคำค้นหาเหล่านี้จะถูกปิดกั้นไปเมื่อช่วงเช้า ชาวเน็ตจีนจำนวนมากได้คอมเมนต์และตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายปลอดโควิดของรัฐบาลปักกิ่ง โดยมีคนหนึ่งบอกว่า “แม้แต่ ผอ.อนามัยโลกก็ยังเปลี่ยนจุดยืนแล้วเลย” ขณะที่อีกคนตั้งคำถามว่า “รัฐบาลของเราจะฟังคำแนะนำของผู้อำนวยการ WHO ไหม?”

ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มเหลืออดกับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดเกินไป และไม่พอใจที่ภาครัฐดูเหมือนจะสั่งล็อกดาวน์แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่เซี่ยงไฮ้ก็มีเหตุปะทะระหว่างตำรวจกับประชาชนเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ 

ทว่า ด้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ให้เหตุผลว่า หัวใจของยุทธศาสตร์คุมโควิดเป็นศูนย์ คือ การถือ “ชีวิตคน” สำคัญกว่าความสะดวกสบายด้านวัตถุ และมันก็ช่วยให้จีนรอดพ้นจากวิกฤตด้านสาธารณสุขอย่างที่หลายๆ ประเทศเคยเจอกันมาแล้ว

WHO ซูฮก!! ยกไทยพิชิตโควิดยอดเยี่ยม ขอนำแนวทางไปปรับในระดับสากล

‘บิ๊กตู่’ ชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ไทย 2 ท่าน ขึ้นรับรางวัลจาก WHO ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 พร้อมขอบคุณทีมไทยแลนด์แสดงศักยภาพด้านสาธารณสุขไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชื่นชมความสำเร็จของบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศไทย 2 ท่าน ที่ได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกอบด้วย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health และนพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ในรางวัล Sasakawa Health Prize สำหรับพิธีมอบรางวัลได้จัดขึ้นในวันเดียวกันนี้ (27 พ.ค.) ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75  ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งในส่วนของ ศ.นพ.ประกิต ติดภารกิจไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเอง นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จึงเป็นผู้ขึ้นรับรางวัลแทน 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 2 ท่าน ได้รับการยกย่องจาก WHO เนื่องด้วยเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการสาธารณสุข โดย ศ.นพ.ประกิต วาธีสาธกกิจ ได้ทำงานภาคประชาสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มีผลงานเชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข เป็นจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคจอประสาทตา ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาตาบอดในประเทศไทย โดยเฉพาะภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา โดยพัฒนาวิธีการคัดกรอง ริเริ่มโครงการสำคัญๆ กระทั่งจำนวนผู้ป่วยที่ตาบอดอันเนื่องมาจากภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาลดลงอย่างมาก

WHO เผย 'โควิด-19' ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ย้ำ!! อย่าการ์ดตก - ควรฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 100%

(15 ก.ย. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกไม่เคยเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของโรคโควิด-19 เท่านี้มาก่อน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดมายาวนานหลายปี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก

ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก กล่าวในงานแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันพุธตามเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ว่า ตอนนี้การระบาดของโรคโควิดยังไม่จบสิ้น แต่เริ่มมองเห็นจุดจบของโรคโควิดแล้ว ทั่วโลกยังคงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อคว้าโอกาสในครั้งนี้ไว้ เฉกเช่นนักวิ่งมาราธอนที่ไม่หยุดวิ่งแม้มองเห็นเส้นชัยที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แต่จะวิ่งให้เร็วขึ้นด้วยพลังทั้งหมดที่มีอยู่ ทั่วโลกก็ไม่ควรการ์ดตกแม้มองเห็นจุดจบของโรคโควิดที่ใกล้เข้ามา เพราะหากเป็นเช่นนั้น สถานการณ์ระบาดก็จะย่ำแย่ลง

‘มะกัน’ กลับลำ!! ตราหน้า ‘จีน’ ต้นเหตุโควิดระบาด แม้ภายในสหรัฐฯ ยังไร้ข้อยุติ หลุดจากแล็บอู่ฮั่นจริงหรือไม่

(27 ก.พ. 66) จีนปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่า โรคระบาดใหญ่โควิด-19 มีสาเหตุจากการรั่วไหล หลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการหนึ่งของปักกิ่ง ภายหลังสื่อมวลชนตะวันตก รายงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สรุปแล้วว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุด ว่ากรณีนี้จะเป็นต้นตอของโรคระบาด ทั้งที่ทางทำเนียบขาวและประชาคมข่าวกรองของอเมริกายังไม่ฟันธงในเรื่องนี้

ข้อสรุปดังกล่าว ซึ่งบันทึกอยู่ในรายงานลับสุดยอดของสำนักงานของนางแอฟริล เฮนส์ (Avril Haines) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ตามรายงานของวอลล์สตรีท เจอร์นัล ถือเป็นการกลับลำของกระทรวงพลังงานอเมริกา ที่ก่อนหน้านี้ เคยระบุว่ายังไม่ได้ข้อสรุปว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ปรากฏตัวขึ้นมาได้อย่างไร

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลและนิวยอร์กไทม์ส รายงานอ้างผู้คนที่ได้อ่านรายงานลับสุดยอดดังกล่าว ระบุกระทรวงพลังงานลงความเห็นในเรื่องนี้ภายใต้ ‘ความเชื่อมั่นระดับต่ำ’ เป็นการตอกย้ำว่าหน่วยงานต่าง ๆ ยังคงมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับแหล่งที่มาของโควิด-19 และโรคระบาดใหญ่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงต้นปี 2020

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซึ่งว่ากันว่ามีพื้นฐานจาก ‘ข้อมูลข่าวกรองใหม่’ ก็ยังนับว่ามีนัยสำคัญ เนื่องจากกระทรวงพลังงานนั้น กำกับดูแลเครือข่ายห้องปฏิบัติการแห่งชาติ รวมถึงห้องแล็บบางแห่ง ซึ่งทำการศึกษาวิจัยด้านชีวภาพในระดับก้าวหน้า

ข้อสรุปนี้ ทำให้กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ที่เชื่อว่า โควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลกไปเกือบ 7 ล้านคน มีต้นตอจากความผิดพลาดในห้องแล็บของจีน ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสรั่วไหลออกมาสู่ภายนอก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด จอห์น เคอร์บี (John Kirby) โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เมื่อวันจันทร์ (27ก.พ. 66) ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงไม่บรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าโรคระบาดใหญ่ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร แม้มีรายงานข่าวอ้างกระทรวงพลังงาน สรุปว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุด ว่าไวรัสจะหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการหนึ่งในจีน

“ประชาคมข่าวกรองและหน่วยงานที่เหลือของรัฐบาล ยังคงตรวจสอบเรื่องนี้” นายจอห์น เคอร์บีกล่าว

“ยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจน ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะพูด หรือผมควรรู้สึกเช่นไร ที่ผมต้องออกมาปกป้องรายงานข่าวของสื่อมวลชน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของข้อบ่งชี้ในเบื้องต้น สิ่งที่ประธานาธิบดีต้องการคือ ข้อเท็จจริง”

โพลิติโก (Politico) เว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯ รายงานด้วยว่า มีหน่วยงานของรัฐบาลกลางอื่น ๆ หลายแห่ง ที่เห็นแย้งกับข้อสรุปของทางกระทรวงพลังงาน โดย 4 หน่วยงานลงความเห็นภายใต้ ‘ความเชื่อมั่นระดับต่ำ’ ว่า ไวรัสติดต่อโดยธรรมชาติผ่านสัตว์ ส่วนอีก 2 หน่วยงาน ในนั้นรวมถึง ซีไอเอ (CIA) ยังไม่ลงความเห็นในข้อสรุประหว่าง 2 ทฤษฎีแหล่งที่มาของโควิด-19

นายเจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เน้นย้ำว่า ยังคงมีมุมมองในหลากหลายในประเด็นนี้

“ในตอนนี้ ยังคงไม่มีคำตอบอย่างชัดเจนที่ปรากฏออกมาจากประชาคมนานาชาติ ในเรื่องเกี่ยวกับคำถามดังกล่าว” นายเจค ซัลลิแวน กล่าวกับซีเอ็นเอ็น

ในส่วนของจีน ได้ออกมาปฏิเสธอีกรอบ โดย นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เรียกร้องให้ “หยุดโหมกระพือคำกล่าวอ้างว่า โควิดมีต้นตอจากการรั่วไหลออกมาจากห้องปฏิบัติการ หยุดป้ายสีจีน และหยุดเล่นการเมืองในประเด็นแกะรอยหาแหล่งที่มาโควิด”

นางเหมา หนิง กล่าวระหว่างแถลงข่าวอีกว่า “ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ที่ร่างโดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญร่วมจากจีนและองค์การอนามัยโลก ไม่พบความเป็นไปได้ของการรั่วไหลหลุดจากห้องปฏิบัติการ”

31 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลก ยกให้เป็น ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ หลังเล็งเห็นอันตรายจากพิษของบุหรี่ที่กระทบต่อสุขภาพ

ตั้งแต่ปี 2531 องค์กรอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศ ตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยได้ประกาศให้มีการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า World Spidemic หรือการสูบบุหรี่เป็นโรคระบาดยู่ทั่วโลก 

ดังนั้นรัฐบาลไทย ได้ตระหนักถึงความสูญเสียในชีวิตของประชากร ที่เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ให้รับทราบถึงอันตราย โทษของการสูบบุหรี่ซึ่งก็เป็นที่รู้กัน แต่จะให้เลิกสูบเลย เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้ที่ติดบุหรี่แล้ว

จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ พยายามเลิกสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเลิกได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดังเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้มีการพิมพ์คำเตือนโทษของการสูบบุหรี่ที่ข้างซอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

WHO ชื่นชม ‘รัฐบาลไทย’ ป้องกันเด็กจมน้ำต่อเนื่อง ส่งเสริม ‘เด็ก-ปชช.’ มีทักษะเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ

(26 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมมาตรการ ‘ผู้ก่อการดี’ ป้องกันการจมน้ำของไทย ภายใต้แนวคิด ‘Do one thing - Improve one thing - Add one thing’ หรือ ‘เริ่มทำ - ทำต่อ - ต่อขยาย...คนไทยไม่จมน้ำ’ ช่วยลดอัตราการจมน้ำของเด็กไทยได้ถึง 33.5% ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563

โดยรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและมีนโยบายเกี่ยวกับเด็กโดยเฉพาะการให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็น สามารถลอยตัวในน้ำหรือรอให้คนมาช่วยได้ การออกกำลังกาย และการเรียนสองภาษา โดยยังได้ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กไทยกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยในทุกปีมีคนไทยจมน้ำกว่า 1,500 คน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการอย่างเด็ดขาดและครอบคลุม โดยได้ริเริ่มกระบวนการดำเนินการป้องกันการจมน้ำภายใต้ชื่อ ‘ผู้ก่อการดี (Merit Maker)’ ซึ่งตั้งแต่เริ่มในปี พ.ศ. 2558 ผู้ก่อการดีได้ผ่านการพัฒนา และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า WHO ยังได้ชื่นชมประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่าสามารถดำเนินการป้องกันการจมน้ำในระดับชาติได้ และไทยยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการป้องกันในวงกว้าง อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการของรัฐบาลเพื่อป้องกันการจมน้ำได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานในการจัดทำระบบและเครือข่ายการป้องกันการจมน้ำในระดับประเทศอย่างครอบคลุม ทำให้ในช่วงระยะเวลา 6 ปี (ปี 2558-2564) เกิดทีมผู้ก่อการดี 4,931 ทีม ครอบคลุม 746 อำเภอใน 76 จังหวัด ส่งผลให้แหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 25,885 แห่ง ได้รับการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เกิดแหล่งเรียนรู้การเรียนการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 746 อำเภอ และเกิดครูสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 38,816 คน

นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์โดยตรง ได้แก่ เด็ก 998,587 คน ได้เรียนว่ายน้ำ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเอาชีวิตรอด เมื่อตกลงไปในน้ำ ประชาชนและเด็ก 74,886 คน ได้รับการฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการช่วยคนที่หัวใจหยุดเต้น ทั้งจากการจมน้ำและจากสาเหตุอื่น ๆ

“การดำเนินการจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต้องเกิดจากความตระหนักรู้ และความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยกันสร้างเกราะป้องกัน สร้างทักษะให้ประชาชนสามารถเอาตัวรอดได้ โดยรัฐบาลได้ร่วมกับทุกภาคส่วนสร้างการรับรู้ให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการจมน้ำ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและประชาชนทั่วไปมีทักษะความปลอดภัยทางน้ำ โดยดำเนินมาตรการให้ครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด” น.ส.รัชดากล่าว

‘หมอยง’ เผย WHO กำหนดชื่อฝีดาษลิงเป็น Mpox แล้ว ช็อก!! ‘ไทย’ พบผู้ป่วยมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(2 ส.ค. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ฝีดาษวานร Mpox’ ระบุว่า

วานร องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อเป็น Mpox เพื่อไม่ต้องการให้ใช้ชื่อสัตว์ สถานที่ บุคคลมาตั้งชื่อ ให้เป็นตราบาป ดังเช่นถ้าเรียกฝีดาษลิง ทุกคนจะไปโทษลิง ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้

การระบาดทั่วโลกของฝีดาษ Mpox รวมทั้งสิ้น รวม 90,000 ราย พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยมีรายงานแล้วมากกว่า 120 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะยอดในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเดือนมิถุนายน ที่มีเทศกาล

โรคไม่รุนแรงจึงเห็นได้ว่าอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบาดวิทยา สำหรับโรคที่ไม่รุนแรง จะยากในการควบคุม ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการตรวจกรองเฝ้าระวัง การดูแลรักษา และวัคซีนป้องกัน ได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนกว่า

ในอนาคต โรคนี้คงไม่หมดไป เพราะเกี่ยวข้องกับสัมผัส เพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ และจะยังคงมีการระบาดในประเทศที่ระบบสาธารณสุข ที่ การควบคุม ป้องกัน และการศึกษา รวมทั้งวัคซีนในการป้องกันที่มีทรัพยากรน้อยกว่า

ประเทศไทยที่พบกว่า 100 ราย ก็ไม่ได้น้อย และยังมีการพบประปรายอยู่ตลอด แต่ความตื่นตัว ของโรคนี้ในปัจจุบัน น้อยกว่าในระยะแรกๆ เราจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจ การระบาดของโรคโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการระบาดในประเทศไทย

WHO เตือน!! คนทำงานเกิน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เสี่ยง 'โรคหลอดเลือดหัวใจ-เส้นเลือดในสมองแตก'

‘งานหนักไม่เคยฆ่าใครตาย’ หากมีใครมาพูดประโยคนี้ใส่มนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน คงเถียงสุดใจขาดดิ้นว่า ‘การทำงานหนัก สามารถทำให้ตายได้’

การทำงานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ‘Work from home, Work from anywhere เข้าออฟฟิศ หรือ การทำงานแบบ Hybrid เข้าออฟฟิศด้วยและทำงานที่ไหนก็ได้นั้น’ ยิ่งทำให้ทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งการทำงานแบบ Work from home, Work from anywhere ที่หลายคนบอกว่าสบาย ทำงานที่บ้าน หรือ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นเหมือนต้องทำงาน 24 ชั่วโมง

ปัจจุบัน สังคมมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม การต่อสู้เพื่อดิ้นรนให้อยู่รอดยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 'เงิน' กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ทำให้ทุกชีวิตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย และแน่นอนว่ายิ่งต้องการเงินมากเท่าไรก็ยิ่งทำงานเยอะมากขึ้นเท่านั้น จนบางคนอาจเผลอทำงานหนักมากเกินไป พักผ่อนน้อย และละเลยในการดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเอง

จากการศึกษาล่าสุดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ พบว่า คนที่ทำงานเกิน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและเส้นเลือดในสมองแตก 

>> สัญญาณอันตรายเตือน คุณกำลังมีปัญหากับการ Work-Life Balance จากการทำงานหนักมากเกินไป มีดังนี้...

1. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานได้นานๆ เหมือนแต่ก่อน 

2. อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหาย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรืออยู่ดีๆ ก็หงุดหงิดใส่เพื่อนร่วมงานที่ทำอะไรผิดหูผิดตา ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยเป็น จนทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีตามไปด้วย

3. ปลีกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใคร ทั้งที่แต่ก่อนเป็นคนสนุกสนานร่าเริง ทั้งกับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัว แต่กลับกลายเป็นอยากอยู่ตัวคนเดียว ไม่อยากคุยกับใคร เบื่อที่จะคุยกับคนอื่น เมื่อมีคนเข้ามาคุยก็จะรู้สึกหงุดหงิดและไม่อยากพูดคุยด้วย

4. รู้สึกผิดกับงานที่ทำไม่สำเร็จมากขึ้น งานที่เคยเสร็จทันกำหนดเวลาก็เริ่มไม่ทันเวลามากขึ้น ผลงานที่เคยดีก็ไม่ดีเหมือนเดิม แม้ใส่ความพยายามเท่าเดิมแต่กลับแย่ลง ไม่ถึงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จนรู้สึกแย่ลงไปเรื่อยๆ และโทษตัวเองมากขึ้น

5. ป่วยบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวไมเกรน ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดตัว ปวดตา คลื่นไส้อาเจียน มึน ออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ

6. คุณเลิกสนใจหรือไม่ใส่ใจตัวเอง ไม่ให้ความสำคัญกับตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง

7. คุณนอนไม่เป็นเวลา หลายคนอาจจะนอนไม่หลับ หรือจำนวนงานที่มากเกินไป ทำให้เวลาที่ควรค่าแก่การพักผ่อนก็ต้องมานั่งทำงาน และหันไปพึ่งยานอนหลับ ยาแก้เครียด หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อรู้สึกว่าทุกอย่างมันท่วมท้น

8. คุณทานไม่เป็นเวลา หรือ ทานน้อยกว่าปกติ  มีความเบื่ออาหาร ไม่มีความสนุก หรือความสุขในการทานอาหาร

9. คุณออกกำลังกายไม่เพียงพอ ความเหนื่อยจากการทำงานและความเครียดอาจจะทำให้ใครหลายๆ คนละเลยในการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ

10. คุณไม่ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ หรือแม้แต่พลาดนัดสำคัญๆ บ่อยๆ

เมื่อรู้ถึงโทษของการทำงานหนักกันแล้ว หวังว่าคนวัยทำงานทุกคนจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจของตนเองมากขึ้น ทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ไม่ใช่ทำงานเพื่อนำเงินมารักษาตัว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top