Tuesday, 20 May 2025
Weekly

รู้จัก ‘สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (D.O.G.E.)’ หน่วยงานระดับกระทรวงล่าสุดภายใต้รัฐบาล Trump ชุดใหม่

ประธานาธิบดี Donald Trump มีกำหนดจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคม 2025 โดยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา Trump ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021 มีกำหนดจะเข้ารับตำแหน่งหลังจากที่เขาเอาชนะ Kamala Harris รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 โดยชนะทั้งคะแนนนิยม (Popular vote) และคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) เมื่อเข้ารับตำแหน่ง เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งไม่ติดต่อกันต่อจากอดีตประธานาธิบดี Grover Cleveland ในปี 1893 และเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุด (78 ปี) ทั้งยังเป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งหลังจากถูกฟ้องร้องเพื่อถอดถอนและเป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

ความแปลกและแตกต่างจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนอื่น ๆ ที่ผ่านมาของประธานาธิบดี Donald Trump ด้วยพื้นฐานภูมิหลังจากการเป็นนักธุรกิจและทำงานด้านสื่อมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน กอปรกับประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วหนึ่งสมัย ทำให้เกิดคำมั่นสัญญาในการหาเสียงของประธานาธิบดี Trump ที่จะลดการใช้จ่าย ลดขนาด และการขาดดุลการคลังของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยแนวคิดในการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า ‘สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (Department of Government Efficiency : D.O.G.E.)’ เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยหารือระหว่าง Elon Musk ผู้บริหาร TESLA และประธานาธิบดี Trump โดย Musk ได้เสนอแนวคิดในการตั้งสำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐในเดือนสิงหาคม 2024 ประธานาธิบดี Trump ได้กล่าวในการหาเสียงว่า หากเขาได้รับการเลือกตั้ง เขาจะให้ Musk รับตำแหน่งที่ปรึกษาเสริมสร้างประสิทธิภาพในรัฐบาล และเพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ Musk ได้เขียนโพสต์บน X ระบุว่า "ผมเต็มใจที่จะให้บริการ" พร้อมกับภาพของเขาที่สร้างโดย AI ซึ่งยืนอยู่หน้าแท่นปราศรัยที่มีข้อความว่า "สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ" ต่อมาประธานาธิบดี Trump ได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวและให้ Musk และ Vivek Ramaswamy (ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Roivant Sciences CEO ของ OnCore Biopharma และ Arbutus Biopharma) เป็นผู้รับผิดชอบ

Musk ระบุว่า D.O.G.E. จะสามารถช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดความสูญเปล่า การยกเลิกหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน และการจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง Ramaswamy ยังระบุด้วยว่า D.O.G.E. อาจจะยุบหน่วยงานของรัฐบาลกลางทั้งหมด และลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางลงได้มากถึง 75% และ Musk ยังเสนอให้รวมหน่วยงานของรัฐบาลกลางจากมากกว่า 400 หน่วยให้เหลือต่ำกว่า 100 หน่วย ซึ่ง Musk ได้อธิบายว่าการยกเลิกและปรับปรุงกฎระเบียบเป็นเส้นทางเดียวที่จะไปสู่โครงการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารของ SpaceX และให้สัญญาว่าเขาจะ "ทำให้รัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระและเงินของประชาชนอีกต่อไป" 

สำนักงานนี้จะมีลักษณะเป็นคณะทำงานซึ่งคล้ายกับความพยายามก่อนหน้านี้ อาทิ คณะกรรมาธิการ Keep ในสมัยอดีตประธานาธิบดี Theodore Roosevelt หรือคณะกรรมาธิการ Grace ในสมัยอดีตประธานาธิบดี Ronald Reagan และคณะกรรมาธิการ National Partnership for Reinventing Government ของอดีตรองประธานาธิบดี Al Gore และ 14 พฤศจิกายน 2024 Musk ได้เชิญชวนให้บุคคลที่สนใจเข้าทำงานให้กับ D.O.G.E. โดยสามารถส่ง CV ไปยังบัญชี X ของ D.O.G.E. บนโซเชียลมีเดีย และแม้จะเรียกว่า ‘กระทรวง (Department)’ แต่ก็ไม่ใช่หน่วยงานบริหารระดับรัฐบาลกลางซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อนจึงจะจัดตั้งหน่วยงานนี้ได้ แต่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาที่ปฏิบัติงานนอกรัฐบาลแทน โดยหน่วยงานนี้อาจดำเนินงานภายใต้รัฐบัญญัติคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับรัฐบาลกลาง (The Federal Advisory Committee Act)

แม้ว่า D.O.G.E ไม่น่าจะมีอำนาจในการควบคุมใด ๆ ด้วยตัวเอง แต่แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าหน่วยงานแห่งนี้สามารถมีอิทธิพลต่อฝ่ายบริหารชุดใหม่และมีกระบวนการกำหนดงบประมาณได้ ประธานาธิบดี Trump กล่าวว่าหน่วยงานดังกล่าวจะช่วย “ปรับปรุงแก้ไข ยุบเลิกระบบรัฐการ ลดกฎระเบียบที่มากเกินไป ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย และปรับโครงสร้างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง” นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่ามัสก์และรามาสวามีจะทำงานร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการและงบประมาณเพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "การฟุ่มเฟือยและการฉ้อโกงครั้งใหญ่" ในการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2024 Musk ได้เสนอให้ยุบสำนักงานคุ้มครองทางการเงินผู้บริโภค (The Consumer Financial Protection Bureau) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ 1,600 นาย ใช้งบประมาณปีละราว 600ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แนวคิดของ Musk และ Ramaswamy เป้าหมายสูงสุดของ D.O.G.E. คือการมีประสิทธิภาพมากพอที่จะขจัดความจำเป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด และมีการกำหนดวันสิ้นสุดการทำงานของ D.O.G.E ไว้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ Ramaswamy ที่ว่าโครงการของรัฐบาลส่วนใหญ่ควรจะต้องมีวันสิ้นสุดโครงการที่ชัดเจน สอดคล้องกับประธานาธิบดี Trump ที่กล่าวว่างานของ D.O.G.E. จะ "เสร็จสิ้น" ไม่เกินวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 250 ปีการลงนามในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาตรงกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 250 ปีของสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี Trump เรียกผลลัพธ์ที่เสนอโดย D.O.G.E. ว่าเป็น "ของขวัญที่สมบูรณ์แบบสำหรับอเมริกา" จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในอันที่จะเห็นว่า D.O.G.E. จะทำให้ภารกิจของกระทรวงต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

สำหรับบ้านเราแล้ว มีหน่วยงานในลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 22 ปีก่อน จากการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารงานและการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการในทุกกระทรวง ทบวง กรม ครั้งใหญ่ อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ทำให้เกิดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ ริเริ่ม ผลักดัน และเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาระบบราชการ ผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ผลงาน 22 ปีของสำนักงาน ก.พ.ร.ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยราชการตามที่เราท่านได้ใช้บริการและประสบพบเจอในปัจจุบันทุกวันนี้

‘โอเดสซา’ เป้าหมายสำคัญ!! ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อพลังอำนาจ คุมเมืองนี้ได้!! หมายถึง การปิดล้อมยูเครน จากทะเลโดยสมบูรณ์

(7 เม.ย. 68) เมืองโอเดสซา (Odesa) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครนริมฝั่งทะเลดำ เป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากบทบาททั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร และประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หากโอเดสซาถูกยึดครองโดยรัสเซีย ความมั่นคงของยูเครนและโครงสร้างพลังงาน-การค้าของยุโรปจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

เราสามารถเห็นตลอดสงครามที่ผ่านมาโอเดสซาเป็นเป้าหมายสำคัญของการการโจมตีของฝั่งรัสเซียมาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าโอเดสซามีความสำคัญ 5 ด้านด้วยกัน

1) โอเดสซาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลและการค้าโลก
โอเดสซา (Odessa หรือ Odesa) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลดำในตอนใต้ของยูเครน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำเลของโอเดสซาเอื้อให้เมืองนี้ทำหน้าที่เป็น “ประตู” สำคัญของยูเครนในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ ยุโรปตอนใต้ (ผ่านช่องแคบบอสฟอรัส) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) รวมถึงเครือรัฐเอกราช (CIS) และตลาดยูเรเซียน ในแง่นี้ โอเดสซาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และ จุดผ่านส่งออกสินค้าเกษตร พลังงาน และสินค้าอุตสาหกรรมของยูเครน โดยเฉพาะธัญพืช เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งยูเครนถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

ท่าเรือโอเดสซา (Odesa Port) เป็นหนึ่งในท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของทะเลดำ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานครบครันทั้งสำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าเหลว สินค้าเทกอง และเรือโดยสารรองรับการขนส่งมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายรางและถนนที่เชื่อมต่อกับยุโรปตะวันออก มีเขตปลอดภาษีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่น ๆ เช่น มิโคลาอีฟ(Mykolaiv) หรือ โครโนมอรสก์ Chornomorsk โอเดสซามีบทบาทสำคัญกว่าทั้งในแง่ของขนาด ความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่และการเป็นศูนย์ควบคุมด้านการค้า

โอเดสซาจึงเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของยูเครนและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เป็นท่าเรือส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันพืช ไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบาทสำคัญใน "ข้อตกลงธัญพืช" (Black Sea Grain Initiative) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างยูเครน–ตุรกี–สหประชาชาติ–รัสเซีย เพื่อให้การส่งออกผ่านทะเลดำดำเนินต่อไปได้แม้ในช่วงสงคราม หากโอเดสซาถูกปิดล้อมหรือยึดโดยรัสเซียจะทำให้ระบบส่งออกของยูเครนล่มสลาย และตลาดอาหารโลกเกิดความปั่นป่วน แสดงให้เห็นว่าโอเดสซาไม่ได้มีความสำคัญเพียงสำหรับยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ เสถียรภาพทางอาหารของโลกโดยตรงอีกด้วย

2) โอเดสซาเป็นจุดเชื่อมสำคัญของ NATO และตะวันตก
โอเดสซาอยู่ใกล้พรมแดนมอลโดวาและอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มประเทศ NATO ในยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนียและบัลแกเรีย ดังนั้นโอเดสซาจึงมีบทบาทเป็นแนวหน้าในการต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซียทางทะเล การควบคุมโอเดสซาจะทำให้รัสเซียสามารถคุกคามน่านน้ำของ NATO ได้มากขึ้น และอาจกลายเป็นจุดตัดเส้นทางการขนส่งยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือจากตะวันตกผ่านทะเลดำ

3) การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ "Land Bridge" สู่ทรานส์นิสเตรีย
ทรานส์นีสเตรีย (หรือ “ПМР” – Приднестровская Молдавская Республика) เป็นดินแดนที่ประกาศเอกราชจากมอลโดวาในช่วงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และยังคงมีทหารรัสเซียประจำการอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทรานส์นิสเตรียมีประชากรเชื้อสายรัสเซียและยูเครนจำนวนมาก มีรัฐบาลเฉพาะกิจและนโยบายที่ใกล้ชิดกับเครมลิน มีกองกำลังรัสเซียจำนวน1,500 นายประจำการในนาม “กองกำลังรักษาสันติภาพ” ดังนั้น ทรานส์นีสเตรียจึงเป็น “ด่านหน้าของรัสเซีย” ในยุโรปตะวันออก และอาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการขยายอิทธิพลไปยังมอลโดวาและคาบสมุทรบอลข่าน

ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน แนวคิด “Land Bridge” หมายถึงการสร้างแนวต่อเนื่องของพื้นที่ควบคุมทางบกของรัสเซียจากดอนบาส ผ่านแคว้นเคอร์ซอน–ซาปอริซเซีย–ไครเมีย และลงมาทางโอเดสซา จนไปถึง ทรานส์นีสเตรีย (Transnistria) — ดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการในมอลโดวาตะวันออก หากรัสเซียสามารถควบคุมดินแดนนี้ได้ทั้งหมด จะทำให้เกิด “โค้งอิทธิพล” เชิงพื้นที่ที่เชื่อมรัสเซียกับดินแดนมอลโดวาตะวันออกโดยไม่ขาดตอน สามารถเสริมเส้นทางส่งกำลังทหาร/ข่าวกรอง/ทรัพยากร ระหว่างรัสเซีย–ไครเมีย–ทรานส์นีสเตรีย โดยไม่พึ่งทางอากาศหรือทะเลที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตี ซึ่งถือเป็นชัยชนะเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ สามารถเชื่อมอิทธิพลทางทหารจากทะเลดำเข้าสู่ยุโรปตะวันออกตอนล่างและปิดกั้นทางออกทะเลของยูเครนอย่างสมบูรณ์ นี่จึงเป็นหนึ่งใน “Grand Strategy” ของรัสเซีย ที่ไม่ได้หยุดแค่ดอนบาสหรือไครเมีย แต่ครอบคลุมถึงการสร้าง “แนวต่อเนื่องแห่งอิทธิพล” บนแผ่นดินยุโรปตะวันออก

ซึ่งเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของ พลโทรุสตัม มินเนคาเยฟ (Rustam Minnekayev) รองผู้บัญชาการกองทัพภาคกลางของรัสเซีย ที่กล่าวต่อสาธารณะในปี 2022 ว่า “เป้าหมายประการหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารพิเศษคือการสร้างการควบคุมอย่างเต็มรูปแบบเหนือพื้นที่ทางใต้ของยูเครน ซึ่งจะช่วยให้มีทางออกอื่นสำหรับทรานส์นีสเตรีย” แสดงให้เห็นว่า "Land Bridge" ไม่ใช่แนวคิดสมมุติ แต่เป็น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในการพิจารณาของกองทัพรัสเซีย

4) ความหมายเชิงประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์
โอเดสซาเป็นเมืองที่มีความสำคัญในสมัยจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต มีประชากรรัสเซียจำนวนมากในอดีต แม้ว่ายูเครนจะเป็นรัฐอธิปไตยตั้งแต่ปี 1991 แต่โอเดสซายังคงมีประชากรจำนวนมากที่ใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก และมีประวัติของการสนับสนุนแนวคิดนิยมรัสเซียในบางช่วงเวลา หลังการปฏิวัติยูโรไมดานในปี 2014 และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย มีความตึงเครียดในโอเดสซาระหว่างกลุ่มสนับสนุนยูเครนกับกลุ่มนิยมรัสเซีย เช่นเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสหภาพแรงงานในเดือนพฤษภาคม 2014 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 ราย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัสเซียใช้เพื่อชี้ถึงการ “ปราบปรามชาวรัสเซีย” ในยูเครน

นอกจากนี้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม การค้า และการทหารที่เคยเป็นของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 18  โอเดสซาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1794 โดยคำสั่งของจักรพรรดินีแคเธอรีนมหาราชา หลังจากรัสเซียได้ดินแดนจากอาณาจักรออตโตมันผ่านสงคราม ในช่วงศตวรรษที่ 19 เมืองนี้กลายเป็นท่าเรือสำคัญและเมืองพหุวัฒนธรรมภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย มีบทบาทโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิและในเวลาต่อมาของสหภาพโซเวียต โดยมีประชากรพูดภาษารัสเซียจำนวนมาก สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และชีวิตทางวัฒนธรรมของโอเดสซาสะท้อนอัตลักษณ์รัสเซียอย่างลึกซึ้ง โอเดสซายังเป็นบ้านของนักเขียนชื่อดัง เช่น อิสฮัก บาเบล (Isaac Babel) ซึ่งสะท้อนภาพเมืองในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของรัสเซียทางตอนใต้

ดังนั้นโอเดสซาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญใน “นโยบายรวมชาติชาวรัสเซีย” (русский мир) หรือ “Russian World” ของเครมลินซึ่งเป็นแนวคิดเชิงภูมิรัฐศาสตร์-วัฒนธรรมที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา แนวคิดนี้เสนอว่ารัสเซียมีหน้าที่และสิทธิในการปกป้อง “โลกของชาวรัสเซีย” ซึ่งหมายถึงประชาชนเชื้อสายรัสเซีย ชาวสลาฟอีสเทิร์น-ออร์โธดอกซ์ และผู้ใช้ภาษารัสเซียในประเทศอื่น ๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน และประเทศในคอเคซัสและบอลติก ภายใต้นโยบาย (русский мир) โอเดสซาไม่ได้ถูกมองเพียงในมิติภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการ “กู้คืน” เมืองประวัติศาสตร์ที่ถูก “แยก” ออกจากโลกของรัสเซียโดยความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในมุมมองของผู้นำรัสเซียซึ่งเชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็น “โศกนาฏกรรม” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ในปี 2021 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้เขียนบทความชื่อว่า “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ซึ่งกล่าวถึงยูเครนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกเดียวกัน” กับรัสเซีย เมืองอย่างโอเดสซาจึงถูกตีความว่าเป็น “เมืองรัสเซียโดยธรรมชาติ” ที่ควรกลับคืนสู่โลกของรัสเซีย

5) สถานการณ์ทางทหารและการโจมตี
ตั้งแต่เริ่มสงครามในปี 2022 โอเดสซาเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธจากรัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่า โครงสร้างพื้นฐานพลังงานและท่าเรือถูกโจมตีหลายครั้งมีความพยายามในการใช้โดรนโจมตีท่าเรือและโกดังธัญพืชอย่างต่อเนื่องเป็นจุดที่ยูเครนพยายามตั้งระบบป้องกันทางอากาศอย่างเข้มข้น 

โดยเหตุการณ์การโจมตีที่สำคัญมีดังนี้

6 มีนาคม 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียระเบิดใกล้กับสถานที่ที่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี และนายกรัฐมนตรีกรีซ คีเรียกอส มิตโซตากิส กำลังประชุมกันในโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน

17 พฤศจิกายน 2024: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 โดยยิงขีปนาวุธประมาณ 120 ลูกและโดรน 90 ลำ ไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครน รวมถึงโอเดสซา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนในโอเดสซา และตัดการจ่ายน้ำและไฟฟ้าในเมือง 

18 พฤศจิกายน 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียโจมตีโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 44 คน โดยผู้เสียชีวิตรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นาย เจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คน และพลเรือน 2 คน 

31 มกราคม 2025: รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของโอเดสซา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารประวัติศาสตร์ 

11 มีนาคม 2025: การโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียทำให้เรือบรรทุกสินค้าธัญพืชในท่าเรือโอเดสซาได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน 

21 มีนาคม 2025: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งต่อโอเดสซา ทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และมีผู้บาดเจ็บ 3 คน
การโจมตีต่อเมืองนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียในการควบคุมเส้นทางการค้าและตัดยูเครนออกจากการเข้าถึงทางทะเล

สรุป โอเดสซาไม่ได้เป็นเพียงเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของยูเครนเท่านั้น แต่คือ "จุดยุทธศาสตร์" ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างพลังอำนาจในทะเลดำและยูเรเซีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อทั้ง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ในสงครามรัสเซีย–ยูเครน การควบคุมเมืองนี้จะทำให้รัสเซียได้เปรียบเชิงโครงสร้างทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ การยึดครองโอเดสซาอาจหมายถึงการปิดล้อมยูเครนจากทะเลโดยสมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมดุลอำนาจระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ขณะที่สำหรับยูเครน การรักษาโอเดสซาไว้ได้ คือการคงไว้ซึ่งเส้นทางสู่ทะเลดำและความอยู่รอดในระดับชาติ

การเจรจาข้อตกลงแร่ธาตุสำคัญ!! ระหว่าง ‘ยูเครน – สหรัฐอเมริกา’ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม และการปะทะเชิงภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2025 ที่ผ่านมายูเครนและสหรัฐอเมริกาได้ประกาศความคืบหน้าในการเจรจาความร่วมมือด้านแร่ธาตุสำคัญ (critical minerals) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งออกแร่เชิงยุทธศาสตร์ เช่น ลิเธียม, นิกเกิล, โคบอลต์, และกราไฟต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ พลังงานสะอาด และระบบอาวุธขั้นสูง การเจรจานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการลงทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง และการฟื้นฟูยูเครนหลังจากสงครามที่ดำเนินมายาวนานกับรัสเซีย ทำให้การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสหรัฐอเมริกาและยูเครนว่าด้วยความร่วมมือด้านแร่ธาตุได้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติโดยเฉพาะจากฝ่ายรัสเซียซึ่งมองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้มิได้เป็นเพียงข้อตกลงทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นยุทธศาสตร์การแผ่อิทธิพลของตะวันตกในพื้นที่ยุโรปตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยูเครนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งแร่หายากที่อาจกลายเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ของตะวันตก ในขณะที่รัสเซียมองว่าการแทรกซึมของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาคทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนเป็นการคุกคามต่ออิทธิพลของมอสโกในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ในบริบทนี้ นักคิด นักวิเคราะห์ และสื่อรัสเซียจำนวนมากจึงพยายามให้ภาพข้อตกลงดังกล่าวในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐฯ กำลังใช้ทรัพยากรของยูเครนเป็นเครื่องมือต่อรองทางยุทธศาสตร์มากกว่าการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของชาวยูเครนโดยตรง โดยสาระสำคัญของข้อตกลง มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องประกอบด้วย

1) การจัดตั้งกองทุนร่วมเพื่อการฟื้นฟู (Joint Investment Fund) โดยยูเครนจะนำรายได้ 50% จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เข้ากองทุนร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และอุตสาหกรรมภายในยูเครน การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามในการผสมผสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพันธมิตรกับเป้าหมายการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ถูกทำลายจากสงคราม
2) การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ: สหรัฐฯ ได้ลดข้อเรียกร้องในการชดเชยความช่วยเหลือจาก $300 พันล้าน เหลือ $100 พันล้าน เพื่อให้ข้อตกลงเป็นที่ยอมรับของยูเครนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยแสดงความคาดหวังว่ายูเครนควรจะให้สิทธิหรือผลประโยชน์บางอย่างเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการทหาร การเงิน และเทคโนโลยี โดยมีข่าวว่ามีการคาดการณ์มูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากฝั่งยูเครนสูงถึง $300 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่อาจเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่อง reconstruction bonds หรือการ “แปรค่า” ทรัพยากรเพื่อใช้หนี้หรือเป็นหลักประกันการฟื้นฟูหลังสงคราม การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นผลจาก 1) แรงกดดันภายในสหรัฐฯ เห็นได้จากความลังเลของรัฐสภาและกระแสต่อต้านการช่วยเหลือยูเครนที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้อง “ปรับท่าที” ให้มีลักษณะของ win-win deal มากขึ้น 2) แรงต้านจากยูเครน ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าข้อเรียกร้องที่มากเกินไปอาจละเมิดอธิปไตยทางเศรษฐกิจของยูเคร และกลายเป็นกับดักการพึ่งพิงระยะยาว และ 3) บริบทระหว่างประเทศ เมื่อจีนและรัสเซียเริ่มเคลื่อนไหวสร้างกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน-แร่ธาตุกับประเทศกำลังพัฒนา สหรัฐฯ จึงต้อง ลดแรงกดดัน และ ปรับกลยุทธ์เพื่อไม่ให้สูญเสียพันธมิตร การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯลงเหลือ $100 พันล้าน สื่อถึงความพยายามสร้าง “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์” มากกว่าการเอาเปรียบ การเปลี่ยนผ่านจาก “ความช่วยเหลือเพื่อความอยู่รอด” สู่ “ความร่วมมือเพื่อการลงทุนและฟื้นฟู” รวมถึงอาจมีข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการแฝงอยู่ เช่น สหรัฐฯ ได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงแร่สำคัญอย่างลิเทียม แรร์เอิร์ธ หรือยูเรเนียมในภูมิภาคของยูเครน
3) การเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญ ข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีขั้นสูง และความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

ในแง่เศรษฐกิจ ข้อตกลงนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการระดมทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศในระยะกลางและยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาคโดยตรงจากภายนอก ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีขั้นสูง และความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

ในทางความมั่นคง ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะสานต่อการมีบทบาทในภูมิภาคยุโรปตะวันออก แม้จะไม่มีการให้หลักประกันด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ แต่ก็สื่อถึง “พันธสัญญาแฝง” (implicit commitment) ในการสนับสนุนยูเครนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์

ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ข้อตกลงนี้ไม่ใช่เพียงเรื่อง “ทรัพยากร” แต่เป็นการล็อกพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว โดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวประกัน สหรัฐฯ พยายามลดข้อขัดแย้งเพื่อสร้าง “เสถียรภาพความร่วมมือ” ในระยะยาว และกันไม่ให้ยูเครนเปิดดีลทางเลือกกับจีนหรือกลุ่ม BRICS ในทางกลับกันรัสเซียมองว่าการทำข้อตกลงเช่นนี้คือ การบ่อนทำลายภูมิรัฐศาสตร์พลังงานในยูเรเซียที่รัสเซียเคยครองอิทธิพลอยู่

นัยทางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันกับรัสเซีย ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน ความตกลงนี้มีนัยที่ลึกซึ้งในระดับโครงสร้าง กล่าวคือสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่สนับสนุนยูเครนในเชิงทหารเท่านั้นแต่ยังวางรากฐานความร่วมมือเชิงโครงสร้าง (structural alignment) ที่อาจเปลี่ยนแปลงสถานะของยูเครนในระบบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัสเซีย

ในมุมของรัสเซีย ความร่วมมือระหว่างยูเครนและสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการ “ครอบงำยูเรเชีย” ของตะวันตกและเป็นการท้าทายต่ออิทธิพลของรัสเซียในอดีตพื้นที่หลังโซเวียต ข้อตกลงนี้จึงอาจถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามตัวแทนทางเศรษฐกิจ” (economic proxy conflict) โดยสามารถแยกประเด็นในการวิเคราะห์ออกเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
1) การมองว่าข้อตกลงฯดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลของรัสเซียในยูเครน นักวิเคราะห์รัสเซียหลายคนมองว่าข้อตกลงนี้เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการลดอิทธิพลของรัสเซียในยูเครน โดยการเข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของรัสเซียในการควบคุมภูมิภาคนี้ในระยะยาว
2) ข้อเสนอของรัสเซียในการร่วมมือด้านแร่ธาตุกับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้แสดงความพร้อมที่จะเสนอความร่วมมือด้านแร่ธาตุหายากและอลูมิเนียมแก่สหรัฐฯ โดยเน้นว่ารัสเซียมีทรัพยากรเหล่านี้มากกว่ายูเครนและสามารถเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินยังได้แสดงความพร้อมที่จะเสนอความร่วมมือด้านแร่ธาตุหายากและอลูมิเนียมแก่สหรัฐฯ โดยเน้นว่ารัสเซียมีทรัพยากรเหล่านี้มากกว่ายูเครนและสามารถเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้ เห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้กล่าวต่อสาธารณะหลายครั้งว่า รัสเซียมีศักยภาพในการเป็นแหล่งจัดหาทรัพยากรแร่หายาก (rare earth elements) และโลหะอุตสาหกรรม เช่น อลูมิเนียม ไทเทเนียม และนิกเกิล ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีขั้นสูง  เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นนี้รัสเซียมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากร เพราะมีแหล่งแร่ธาตุหายากจำนวนมาก โดยเฉพาะในไซบีเรียและตะวันออกไกล เช่น Yttrium, Neodymium, Dysprosium เป็นผู้ส่งออกอลูมิเนียมรายใหญ่ ผ่านบริษัท Rusal ซึ่งเคยเป็นผู้จัดหาสำคัญให้กับสหรัฐฯ รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตครบวงจร ตั้งแต่เหมือง การแปรรูป ไปจนถึงโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะทางรถไฟและทะเล) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วรัสเซียยังคงมีจุดแข็งที่เหนือกว่ายูเครน เนื่องจาก ปริมาณทรัพยากรแร่และโลหะหายากมากกว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมพร้อมกว่า และเสถียรภาพในบางภูมิภาคของรัสเซีย (เช่น ไครเมียตอนนี้) อาจมากกว่ายูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอนด้านความมั่นคง 
แม้ในเชิงเศรษฐกิจข้อเสนอของรัสเซียจะดูน่าสนใจ แต่ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ มีอุปสรรคสำคัญดังนี้ 1) ข้อจำกัดเชิงนโยบาย สหรัฐฯ มีนโยบายลดการพึ่งพาทรัพยากรจากประเทศ “ศัตรูเชิงยุทธศาสตร์” มีมาตรการกีดกันต่อบริษัทรัสเซียหลายแห่งในภาคเหมืองแร่และโลหะ เช่น Rusal, Norilsk Nickel นอกจากนี้การทำข้อตกลงกับรัสเซียอาจถูกวิพากษ์อย่างรุนแรงจากพันธมิตร NATO และ EU ในขณะที่การเลือกยูเครนนั้นเป็นการสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยสหรัฐฯ ต้องการลงทุนระยะยาวในประเทศที่สามารถควบคุมเชิงระบบได้มากกว่าและยูเครนถูกมองว่าเป็น “รัฐในกระบวนการสถาปนาใหม่” ที่สามารถสร้าง dependency model ได้ง่าย
3) การเน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนของทรัพยากรในยูเครน แม้ว่ายูเครนจะถูกกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่ “อุดมด้วยทรัพยากรใต้ดิน” โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและตอนใต้ แต่ในทางวิชาการและอุตสาหกรรม ยังมีข้อจำกัดหลายประการ นักวิชาการรัสเซียบางคนชี้ให้เห็นว่าทรัพยากรแร่ธาตุในยูเครนอาจไม่มีปริมาณหรือคุณภาพที่เพียงพอสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยอ้างถึงข้อมูลที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณสำรองของแร่ธาตุหายากในยูเครน แหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับ REEs (rare earth elements) ของยูเครนจำนวนมากยังอยู่ในขั้น “preliminary estimates” (การประเมินเบื้องต้น) โดยไม่มีการสำรวจทางธรณีวิทยาเชิงลึก (deep exploration drilling) หรือ การประเมินเชิงปริมาณ (proven reserves) ที่ได้รับการรับรองในระดับสากลข้อมูลที่ปรากฏในสื่อยูเครนจำนวนมาก เช่น การกล่าวว่า “ยูเครนมีแร่หายาก 117 ชนิด” นั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นทางการ และไม่ปรากฏในฐานข้อมูลของ USGS หรือ IAEA แม้บางแหล่งจะมี REEs แต่หากระดับความเข้มข้นต่ำ (low-grade ores) การสกัดจึงต้องใช้ต้นทุนสูงและอาจไม่คุ้มกับการลงทุนระยะยาว

นอกจากนี้มีรายงานจากนักธรณีวิทยาท้องถิ่นยูเครนว่าแหล่งแร่บางแห่งใน Zhytomyr และ Kirovohrad มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อน (impurities) เช่น thorium และ uranium ทำให้ต้องใช้กระบวนการแยกที่ซับซ้อนและแพง ยูเครนยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านเหมืองแร่และการแปรรูป ยูเครนไม่มีโรงงาน separation plant สำหรับแร่หายาก ซึ่งจำเป็นในการแยกธาตุเฉพาะออกจากแร่ดิบ การขนส่งโลจิสติกส์ในบางพื้นที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เขตความขัดแย้งทางทหาร (Donbas, Kharkiv) พื้นที่ที่อ้างว่ามีศักยภาพแร่ เช่น Donetsk, Luhansk, Zaporozhzhia ล้วนอยู่ในเขตความขัดแย้งที่ยังไม่สงบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางความมั่นคง ปัญหาคอร์รัปชัน และข้อจำกัดด้านกฎหมายในยูเครน แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากสหรัฐฯ
ข้อตกลงฯดังกล่าวยังคงมีข้อกังวลและประเด็นที่ยังต้องเจรจาอีกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 
1) การควบคุมท่อส่งก๊าซ สหรัฐฯ มีข้อเสนอให้ควบคุมท่อส่งก๊าซสำคัญที่ผ่านยูเครน ซึ่งเป็นประเด็นที่ยูเครนยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ
2) การให้หลักประกันด้านความมั่นคง แม้ข้อตกลงจะไม่มีการให้หลักประกันด้านความมั่นคงโดยตรง แต่ยูเครนหวังว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว
3) การให้สัตยาบันโดยรัฐสภายูเครน ข้อตกลงนี้ยังต้องได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐสภายูเครนก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 
แม้ข้อตกลงนี้จะเป็นเพียงกรอบเบื้องต้น แต่หากได้รับการให้สัตยาบันและดำเนินการจริง อาจเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุน และเป็นกรณีศึกษาสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ–การเมืองระหว่างประเทศขนาดกลางกับมหาอำนาจในโลกหลังความขัดแย้งในขณะเดียวกัน ยูเครนจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ข้อตกลงนี้ขัดแย้งกับพันธะสัญญาต่อสหภาพยุโรป หรือเงื่อนไขของ IMF ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรของรัฐ

บทสรุป การลงนามข้อตกลงแร่ธาตุระหว่างยูเครนกับสหรัฐฯ ถูกจับตามองจากรัสเซียอย่างใกล้ชิด โดยนักวิเคราะห์รัสเซียมองว่าข้อตกลงนี้เป็นการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ เข้ามาในภูมิภาคที่มีความละเอียดอ่อนทั้งด้านประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งยังสะท้อนถึงการใช้ยูเครนในฐานะเครื่องมือทางภูมิยุทธศาสตร์ของตะวันตกเพื่อสกัดกั้นรัสเซียในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน โลจิสติกส์ หรือทรัพยากรแร่ธาตุ แม้ว่ารัสเซียจะพยายามเสนอความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านเดียวกันเพื่อรักษาฐานอำนาจของตน แต่พลวัตของภูมิภาคยุโรปตะวันออกกลับเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องไปสู่การจัดระเบียบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเอื้อประโยชน์ต่อมอสโกอีกต่อไป บทวิเคราะห์เหล่านี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงอำนาจในศตวรรษที่ 21 ที่รัสเซียจำเป็นต้องเผชิญหน้าและปรับตัว ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์และวาทกรรม

จากความหลากหลายสู่ภัยความมั่นคงทางศีลธรรม กับวาทกรรมต่อต้าน LGBT ในยุทธศาสตร์อำนาจของรัสเซีย

(24 เม.ย. 68) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหพันธรัฐรัสเซียได้ผลักดันนโยบายและวาทกรรมทางการเมืองที่แสดงออกถึงการต่อต้านขบวนการ LGBT อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ในเชิงวัฒนธรรมและสังคม หากแต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีการจัดให้ "ขบวนการ LGBT" เป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ของชาติ ศีลธรรมดั้งเดิม และความมั่นคงของรัฐ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการขึ้นบัญชี LGBT movement เป็น “องค์กรหัวรุนแรง” หรือแม้แต่ “องค์กรก่อการร้าย” สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของวาทกรรมอำนาจ ซึ่งมุ่งเน้นการผูกโยง “ความหลากหลาย” เข้ากับ “ความเสี่ยงทางความมั่นคง” โดยจะอธิบายผ่านบริบททางการเมืองและสังคมของรัสเซียต่อประเด็น LGBT ดังนี้

ในสมัยสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศถือเป็น “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” และถูกทำให้เป็นอาชญากรรมภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ตามนโยบายของโจเซฟ สตาลิน ซึ่งมาตรา 121 ของกฎหมายอาญาโซเวียตระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน (เฉพาะในผู้ชาย) มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แนวคิดของโซเวียตสะท้อนการมองว่า LGBT เป็นภัยต่อโครงสร้างครอบครัวแบบสังคมนิยม และถูกเชื่อมโยงกับ “ความเสื่อมทรามของทุนนิยมตะวันตก” แม้ในยุคหลังสงครามเย็นภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน แม้รัสเซียจะยกเลิกมาตราดังกล่าวในปี ค.ศ. 1993 แต่อคติทางสังคมและการตีตราก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

กฎหมายปี ค.ศ. 2013 หรือที่รู้จักในชื่อ “กฎหมายต่อต้านการโฆษณาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชน” (Law on the Propaganda of Non-Traditional Sexual Relationships to Minors) มีสาระสำคัญคือการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ “ส่งเสริมความสัมพันธ์รักร่วมเพศ” ต่อเด็กและเยาวชน โดยมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา เช่น ปรับเงิน หรือจำกัดสิทธิ์ทางสื่อสารมวลชน ต่อมาในปี ค.ศ. 2022 กฎหมายดังกล่าวได้ถูกขยายขอบเขตให้ครอบคลุม “การโฆษณา LGBT ในที่สาธารณะ” ทั้งหมดไม่จำกัดเฉพาะต่อผู้เยาว์ ซึ่งหมายความว่าการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในเชิงบวก การจัดกิจกรรม หรือสื่อที่เกี่ยวข้องสามารถถูกปรับโทษตามกฎหมายได้อย่างกว้างขวาง นี่เป็นพัฒนาการสำคัญที่รัฐรัสเซียได้บูรณาการวาทกรรมต่อต้าน LGBT เข้าสู่กลไกของกฎหมายอย่างเป็นทางการ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของรัสเซียได้มีคำวินิจฉัยให้ “ขบวนการ LGBT International Public Movement” เป็น “องค์กรสุดโต่ง” «экстремистская организация» ตามคำร้องจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มดังกล่าว “ทำลายคุณค่าดั้งเดิมของชาติและเป็นภัยต่อศีลธรรม” ต่อมาในปี ค.ศ. 2024 มีการประกาศโดยทางการบางระดับว่าการแสดงออกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอาจเข้าข่าย “การก่อการร้ายทางวัฒนธรรม” (cultural terrorism) หรือ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอารยธรรมของรัสเซีย” นี่ไม่ใช่แค่การกำหนดให้ LGBT movement เป็นกลุ่มผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับการต่อต้าน LGBT ไปสู่ระดับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงจาก “วาทกรรมทางศีลธรรม” ไปสู่วาทกรรมความมั่นคงและรัฐนิยม

เมื่อเราวิเคราะห์ในมิติของวาทกรรมความมั่นคง (Security Discourse) และทฤษฎีวาทกรรม (Discourse Theory) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โอเล่ วีเวอร์ (Ole Wæver) และสจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) โดยเฉพาะเมื่อรัฐใช้วาทกรรมในการกำหนดว่า “อะไรคือภัยคุกคาม” และ “ใครคือศัตรูของชาติ” พบว่าในทศวรรษที่ผ่านมารัฐรัสเซียได้ใช้วาทกรรมที่ร้อยเรียง LGBT เข้ากับภาพของ “ภัยต่อความมั่นคงทางศีลธรรม” ตัวอย่างวลีสำคัญที่ปรากฏในสื่อและกฎหมายรัฐ ได้แก่

1) “ภัยต่อเด็ก”: โดยเฉพาะในกฎหมายปี ค.ศ.2013 ที่เน้นการปกป้องเยาวชนจาก “โฆษณา” ความหลากหลายทางเพศ กรอบนี้ทำให้รัฐสามารถนำเสนอการต่อต้าน LGBT ในฐานะการปกป้องเด็กแทนที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) “สงครามอารยธรรม”: รัฐบาลและสื่อกระแสหลักใช้แนวคิดว่าค่านิยมตะวันตกที่ยอมรับ LGBT คือการรุกรานทางวัฒนธรรม (Cultural Aggression) และรัสเซียต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์ดั้งเดิม
3) “ภัยจากตะวันตก”: LGBT ถูกโยงเข้ากับภาพลักษณ์ของ “ตะวันตกที่เสื่อมทราม” ที่ต้องการแทรกแซงและทำลายโครงสร้างครอบครัวของรัสเซีย

วาทกรรมเหล่านี้ทำหน้าที่ จัดระเบียบความคิดของประชาชน และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามภายใต้กรอบของ “การปกป้องชาติ”

การวิเคราะห์แนวนี้สามารถวางอยู่บนฐานความคิดของซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) 
ซึ่งมองว่าโลกหลังสงครามเย็นจะเข้าสู่การขัดแย้งระหว่าง “อารยธรรม” แทนอุดมการณ์ รัสเซียได้หยิบยืมกรอบนี้มาใช้ในเชิงวาทกรรมเพื่อวาดภาพความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมรัสเซีย (ที่เน้นความเป็นครอบครัว, ศีลธรรม, ศาสนาออร์โธดอกซ์) กับอารยธรรมตะวันตกที่เสื่อมทราม (ที่ยอมรับเสรีภาพทางเพศ) ดังน้น LGBT จึงถูกนำเสนอในฐานะเครื่องมือหรือผลพวงของลัทธิฝรั่งนิยม (Westernism) ที่คุกคามคุณค่าของโลกสลาฟ เป็นส่วนหนึ่งของ “การรุกรานด้วยซอฟต์พาวเวอร์” (soft power invasion) ที่มุ่งทำลายอัตลักษณ์ของรัสเซียจากภายใน

ในเชิงทฤษฎีอัตลักษณ์ (Identity Politics) และวาทกรรมของเออร์เนสโต้ ลาคลาวและชองทัล มูฟเฟ (Ernesto Laclau & Chantal Mouffe) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในสาย post-Marxist ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์การเมืองแบบวาทกรรม โดยเฉพาะในประเด็นอัตลักษณ์ ความขัดแย้ง และอำนาจของรัฐ 
พวกเขาปฏิเสธแนวคิดที่มองวาทกรรมเป็นเพียงการใช้ภาษาหรือการสื่อสารทั่วไป แต่เสนอว่า “วาทกรรมคือโครงสร้างของความหมาย” ที่มีผลต่อการจัดระเบียบโลกความจริง (social reality) โดยวาทกรรมคือกลไกที่ สร้างความจริง มากกว่าที่จะสะท้อนความจริง การผลิตอัตลักษณ์ของชาติรัสเซียยุคปูตินอาศัยการสร้าง “คู่ตรงข้าม” อย่างเข้มข้น โดย“เรา” คือประชาชนรัสเซียที่ยึดมั่นในคุณค่าดั้งเดิมของชาติ ศาสนา ครอบครัว ในขณะที่ “พวกเขา” คือกลุ่มเคลื่อนไหว LGBT, นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน, ตะวันตก และ NGO ต่างชาติ ซึ่งการกำหนดว่าใคร “ไม่ใช่พวกเรา” คือกลไกสำคัญในการรวมพลังชาติผ่านศัตรูร่วม ซึ่งในกรณีนี้ LGBT ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการคุกคามความมั่นคงทางวัฒนธรรมทั้งในด้านศีลธรรม ครอบครัว และอธิปไตย

เมื่อเราพิจารณา “LGBT ในฐานะศัตรูที่ผลิตได้” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญในรัฐศาสตร์เชิงวิพากษ์และทฤษฎีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) จิออจิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) และฌาคส์ เดอริดา (Jacques Derrida) ที่มองว่ารัฐสามารถ “ผลิตความจริง” และ “กำหนดศัตรู” เพื่อควบคุมสังคมได้ เราพบว่า รัฐรัสเซียได้ใช้ประเด็น LGBT มาจัดระเบียบทางศีลธรรม (Moral Ordering of Society) ของสังคม รัฐชาติในยุคหลังสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐที่มีแนวโน้มอำนาจนิยมแบบอนุรักษนิยม มักใช้อำนาจทางวาทกรรมในการกำหนดขอบเขตของ "ศีลธรรมที่ถูกต้อง" ซึ่งเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ชาติ เช่น ศีลธรรมแห่งครอบครัว (Familial Morality) ศาสนาออร์โธดอกซ์ และเพศตามกำเนิดและบทบาททางเพศที่ชัดเจน กลุ่ม LGBT จึงถูกจัดให้อยู่นอกกรอบนี้และถูกใช้เป็น “คนอื่น” (Other) ที่รัฐสามารถจัดความหมายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมและจริยธรรม เช่นเดียวกับการที่รัฐเคยจัด “กลุ่มศัตรูของชนชั้น” หรือ “กลุ่มแปลกแยกทางอุดมการณ์” ในยุคสงครามเย็น วาทกรรมแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงนโยบายทางเพศแต่เป็นการควบคุมความจริงในระดับอัตลักษณ์ของประชาชน

นอกจากนี้ LGBT ยังถูกกำหนดให้อยู่ในฐานะเป้าเบี่ยงเบนความสนใจจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่รัฐใช้อธิบายและควบคุมความไม่พอใจจากประชาชนคือ “การผลิตศัตรูภายใน” เพื่อเบี่ยงประเด็นจากความล้มเหลวของรัฐในด้านอื่น เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ความสูญเสียในสงครามหรือความไม่พอใจของสาธารณะในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในกรณีรัสเซียตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2022 เป็นต้นมา กลุ่ม LGBT ถูกนำเสนอผ่านสื่อรัฐในฐานะสัญลักษณ์ของความเสื่อมทรามที่รุกรานจากตะวันตก และเป็น “เป้าหมายที่ง่าย” ต่อการโจมตีได้โดยไม่ต้องเผชิญแรงต้านจากผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุน แนวทางนี้คล้ายกับกลไกของ “แพะรับบาป” (scapegoating) ที่ใช้ในระบอบอำนาจนิยมหลายแห่ง เช่น การต่อต้านยิวของเยอรมนียุคนาซี 

การสร้างศัตรูภายในยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจให้กับวลาดิมีร์ ปูตินผู้นำ ลดทอนการถ่วงดุลจากฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคม รวมถึงกำหนดกรอบของ “ความรักชาติ” ให้หมายถึง “การปกป้องค่านิยมต่อต้าน LGBT” ผู้นำสามารถ “ผูกขาดคุณค่าทางศีลธรรม” ได้ภายใต้กรอบว่าเป็น “ผู้พิทักษ์ชาติจากภัยเสื่อมทราม” วาทกรรมนี้ยังส่งเสริมการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยม ศาสนา และชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับการปกป้องชาติ โดยไม่ต้องเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจหรือการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อเราพิจารณาในระดับนานาชาติ รัสเซียไม่ได้เป็นรัฐเดียวที่ใช้วาทกรรมต่อต้าน LGBT เพื่อยืนยัน “อัตลักษณ์ของรัฐ” หรือ “ปกป้องศีลธรรม” ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้วาทกรรมการต่อต้าน LGBT ยกตัวอย่างเช่นฮังการี ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ฮังการีได้ผ่านกฎหมายห้ามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ LGBT ในสื่อที่เด็กเข้าถึงได้ในปี ค.ศ. 2021 วาทกรรมเน้นว่า LGBT เป็นภัยคุกคามต่อครอบครัวแบบดั้งเดิมและค่านิยมของชาติ รัฐบาลออร์บานยังอ้างว่า ยุโรปตะวันตกพยายาม “บังคับ” ค่านิยมเสรีนิยมเข้าสู่ประเทศยุโรปตะวันออก ในขณะที่อิหร่าน การมีเพศสัมพันธ์เพศเดียวกันยังคงผิดกฎหมายและมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต กลุ่ม LGBT ต้องดำรงชีวิตใน “พื้นที่เงา” โดยไม่มีการคุ้มครองจากรัฐ และถูกกีดกันจากการศึกษา การทำงาน และบริการสาธารณะ รัฐมักใช้ศาสนาและกฎหมายชารีอะห์เป็นเครื่องมือในการควบคุมอัตลักษณ์และศีลธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับรัสเซีย รัสเซียตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮังการี (แนวอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง) และอิหร่าน (รัฐศาสนา) รัฐใช้ “ศีลธรรมรัสเซียดั้งเดิม” เป็นกรอบการจัดระเบียบทางอุดมการณ์ โดยนำเสนอ LGBT เป็นภัยต่ออารยธรรมสลาฟ-ออร์โธดอกซ์ และ “ภัยจากตะวันตก”

ดังนั้นวาทกรรมต่อต้าน LGBT ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อการดำรงชีวิต กฎหมาย “ต่อต้านโฆษณา LGBT” (ในปี ค.ศ. 2013 และขยายในปี ค.ศ. 2022) ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรม การให้ข้อมูล และการแสดงออกทางอัตลักษณ์ถูกตีความว่า “ผิดกฎหมาย” ปี ค.ศ. 2023-2024 กลุ่ม LGBT ถูกจัดเป็น “องค์กรสุดโต่ง” ส่งผลให้องค์กรช่วยเหลือและพื้นที่ปลอดภัยต้องปิดตัว มีรายงานว่ากลุ่ม LGBT ถูกตำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้นในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน กลุ่มอนุรักษนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมักใช้ความรุนแรงกับกลุ่ม LGBT โดยไม่มีการลงโทษทางกฎหมายพื้นที่ออนไลน์ที่กลุ่ม LGBT เคยใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือช่วยเหลือกัน กำลังถูกตรวจสอบและแบนอย่างเป็นระบบ

องค์กรสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น Human Rights Watch และ Amnesty International ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียหลายครั้งว่า “ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของ LGBT ในรัสเซีย ซึ่งถูกใช้ในการนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ ในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงท่าทีประณามและกำหนดมาตรการจำกัดความร่วมมือทางวัฒนธรรมบางด้าน UN Human Rights Council ตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียมีแนวโน้มละเมิดหลักการ “non-discrimination” ตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรของรัสเซียบางแห่ง เช่น เบลารุส, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย กลับสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของรัสเซีย โดยอ้างเรื่อง “อธิปไตยทางวัฒนธรรม”

บทสรุป ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลก รัสเซียได้ใช้ LGBT ไม่เพียงในฐานะกลุ่มประชากร แต่ในฐานะ “วาทกรรมทางการเมือง” ที่สามารถจัดระเบียบอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับโลกภายนอก ภายใต้ยุทธศาสตร์ของอำนาจแบบอนุรักษนิยม รัฐบาลรัสเซียได้ลดทอน “ความหลากหลายทางอัตลักษณ์” ให้กลายเป็น “ภัยความมั่นคงของชาติ” ผ่านการสร้างศัตรูภายใน การควบคุมทางศีลธรรม และการประกาศใช้กฎหมายที่มีลักษณะกดทับพื้นที่ของกลุ่มเพศหลากหลาย กลไกของรัฐอาศัย วาทกรรมความมั่นคง (securitization discourse) โดยผูกโยง LGBT เข้ากับแนวคิด “ภัยจากตะวันตก”, “ภัยต่อเด็ก”, และ “สงครามอารยธรรม” เพื่อทำให้ประชาชนยอมรับมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพได้ภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคงและศีลธรรมของชาติ การสร้าง “เรา–พวกเขา” (us–them) ดังกล่าวยังทำหน้าที่ผลิต “ศัตรูที่จัดการได้” (manageable enemy) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การคว่ำบาตร หรือภาวะสงคราม อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตชี้ให้เห็นว่า การเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) กำลังกลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญในการกำหนดทิศทางของระเบียบโลกใหม่ รัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจที่ต่อต้านเสรีนิยมตะวันตกอาจหันมาใช้วาทกรรมแบบเดียวกันนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบอำนาจที่รวมศูนย์และต่อต้านสิทธิมนุษยชน ในบริบทนี้ LGBT ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่กลายเป็นจุดตัดของอุดมการณ์ อำนาจ และภูมิรัฐศาสตร์ ที่ควรถูกทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#15 ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุด ในสงครามเวียตนาม

การรุกตรุษญวน (Tet Offensive) เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามเวียตนาม เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 1968 โดยกองกำลังเวียตกง (VC) และกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) กับกองกำลังเวียตนามใต้ สหรัฐอเมริกา และพันธมิตร เป็นการรบแบบการจู่โจมต่อที่ตั้งของกองบัญชาการทหารและพลเรือน ตลอดจนศูนย์ควบคุมและสั่งการทั่วประเทศเวียตนามใต้ การรุกนี้ได้ชื่อจากวันหยุดตรุษญวน (Tết) ด้วยกำลังผสมของกองกำลังเวียตกงและกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือประมาณ 5 แสนนาย เปิดฉากการบุกโจมตีพร้อมกันหลาย ๆ จุดในหลาย ๆ เมืองของเวียตนามใต้ จนเป็นการสู้รบที่ดุเดือดต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 1968

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้มีการตระเตรียมกำลังพลถึง 1 ใน 3 (กว่าสี่แสนนาย) ของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และระดมกำลังพลของเวียตกงอีกประมาณ 70,000 คน โดยผู้บัญชาการทหารของฝ่ายเวียตนามเหนือ พลเอกโวเหงียนเกี๊ยบได้เลือกเอาวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในปฏิทินจันทรคติของชาวเวียตนามเป็นการเปิดฉากจู่โจมในครั้งดังกล่าว โดยพลเอกเกี๊ยบได้วาดหวังผลทางยุทธศาสตร์เอาไว้ว่า การบุกจู่โจมดังกล่าวจะสามารถพิชิตกองทัพของฝ่ายเวียตนามใต้ (ARVN : Army of the Republic of Vietnam) ลงได้ ทั้งยังจะสามารถสร้างความวุ่นวายและปลุกปั่นกระแสต่อต้านรัฐบาลเวียตนามใต้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องการที่จะกระตุ้นตอกย้ำรอยร้าวของความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างรัฐบาลเวียตนามใต้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ หาทางเจรจาและต้องถอนกำลังทหารออกไปจากเวียตนามใต้

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทำการโจมตีเป็นระลอกในกลางดึกของวันที่ 30 มกราคมในเขตยุทธวิธีที่ 1 และที่ 2 ของกองทัพเวียตนามใต้ การโจมตีช่วงแรกนี้ไม่นำไปสู่มาตรการป้องกันอย่างกว้างขวาง เมื่อปฏิบัติการหลักของคอมมิวนิสต์เริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้น การรุกก็ลามไปทั่วประเทศและมีการประสานงานอย่างดี จนสุดท้ายมีกำลังคอมมิวนิสต์กว่า 80,000 นายเปิดฉากโจมตีเมืองต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมเมืองหลักของ 36 จาก 44 จังหวัด เขตปกครองตนเอง 5 จาก 6 แห่ง เมืองรอง 72 จาก 245 แห่ง และกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียตนามใต้ ในเวลานั้น การโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารใหญ่ที่สุดของทั้งสองฝ่าย การโจมตีในระยะแรกทำให้กองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้สับสนจนเสียการควบคุมในหลายเมือไปชั่วคราว แต่ที่สุดก็สามารถจัดกำลังใหม่จนสามารถต่อต้านการโจมตีและตีโต้จนฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยกลับไป 

แผนการบุกจู่โจมของฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นตรงตามที่ได้มีการวางวางแผนไว้ ในกรุงไซง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียตนาม ที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเวียตนามใต้ เช่น สถานทูตสหรัฐฯ ถูกก่อวินาศกรรมโดยหน่วยกล้าตายเวียตกงประมาณ 19 นาย หน่วยจู่โจมดังกล่าวปะทะกับทหารเวียตนามใต้และสหรัฐฯ และสามารถยึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายเวียตนามใต้แห่งนี้ได้นานถึง 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายเวียตนามใต้และสหรัฐฯ จนเสียชีวิตหมด หน่วยกล้าตายเวียตกงอีกหน่วยสามารถบุกไปยังทำเนียบประธานาธิบดี สถานีวิทยุ ศูนย์กลางกองทัพเรือ กองพลทหารพลร่ม ศูนย์กลางตำรวจ รวมถึงคลังน้ำมันที่ 4, 5. 6, 7, 8 ในกรุงไซง่อน ความสำเร็จในการบุกจู่โจมกรุงไซง่อนของเวียตกงได้แสดงให้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของสงครามว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอย่างที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ เคยบอกตลอดมา นอกจากนี้ความจริงดังกล่าวยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของทหารอเมริกัน ในวันเดียวกันของการเริ่มปฏิบัติการที่เมืองเว้ ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถบุกยึดเมืองดังกล่าวได้สำเร็จ และปล่อยนักโทษที่ถูกฝ่ายตรงข้ามคุมขังให้เป็นอิสระได้ถึง 2,000 คน

ในกรุงไซง่อนการขับไล่กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ของทหารเวียตนามใต้และอเมริกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก หน่วยจู่โจมฝ่ายคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ทั่วกรุงไซง่อนมาหลายสัปดาห์แล้ว อาศัยเสบียงที่พอจะประทังชีวิตได้ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ กองทัพอเมริกันได้โต้กลับด้วยวิธีการที่รุนแรงด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่เข้าทำลายพื้นที่ทั้งหมดในทั้งกรุงไซง่อนและพื้นที่อื่น ๆ ที่มีกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ ระหว่างยุทธการที่เมืองเว้มีการสู้รบอย่างดุเดือดกินเวลาถึงหนึ่งเดือน ทำให้กองกำลังสหรัฐต้องทำลายเมืองเว้จนเสียหายอย่างหนัก และระหว่างการยึดครองเมืองเว้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ประหารชีวิตประชาชนหลายพันคน (เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เมืองเว้) 

ขณะเดียวกัน ยังมีการสู้รบบริเวณรอบ ๆ ฐานทัพสหรัฐฯ ที่เคซานต่อมาอีกสองเดือน แม้ว่าปฏิบัติการจู่โจมดังกล่าวจะไม่ได้ประสบกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องสูญเสียกำลังพลมหาศาล และถือเป็นความพ่ายแพ้ทางทหารสำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่กลับสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะทำให้สาธารณชนชาวอเมริกันต้องตกตะลึงจากความเชื่อซึ่งถูกผู้นำทางการเมืองและการทหารบอกว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังปราชัย และไม่สามารถดำเนินความพยายามขนาดมโหฬารเช่นนี้ได้ การสนับสนุนสงครามของสาธารณชนชาวอเมริกันจึงลดลงเรื่อย ๆ และในที่สุดสหรัฐฯ ต้องแสวงหาการเจรจาเพื่อยุติสงคราม

การรุกในวันตรุษญวนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และเวียตกง (VC) เสียชีวิตกว่า 1 แสนนาย ทหารของกองทัพสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และพันธมิตรเสียชีวิตกว่า 10,000 นาย เหตุการณ์นี้กองกำลังทหารไทยในเวียตนามใต้ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบด้วย แม้ว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่การรุกในวันตรุษญวนส่งผลในทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดยเป็นการแสดงศักยภาพด้านการทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดกระแสต่อต้านสงครามเวียตนามในสหรัฐฯ จนติด และนำไปสู่การถอนทหารสหรัฐฯ จากเวียตนามใต้ และที่สุดนำไปการล่มสลายของเวียตนามใต้ (สาธารณรัฐเวียตนาม) ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1975

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#16 ‘พลอากาศโท Pham Tuân’ เสืออากาศแห่งกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ

สหรัฐฯ ถือเป็นผู้ครองอากาศทั้งหมดทั้งมวลเหนือดินแดนเวียตนามทั้งเหนือและใต้ในระหว่างสงคราม และแทบจะไม่มีปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพอากาศเวียตนามเหนือในดินแดนเวียตนามใต้เลย และการปฏิบัติบนน่านฟ้าเวียตนามเหนือเป็นเพียงการต่อสู้กับเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ซึ่งมาจากกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองกำลังนาวิกโยธิน แต่กระนั้นแล้ว กองทัพอากาศเวียตนามเหนือก็ยังมีนักบินขับไล่ซึ่งสามารถยิงเครื่องบินรบสหรัฐฯ ตกตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไปกลายเป็นเสืออากาศถึง 19 นาย ส่วนกองทัพสหรัฐฯ มีนักบินขับไล่ที่เป็นเสืออากาศในสงครามเวียตนาม 5 นาย

พลอากาศโท Pham Tuân เป็นหนึ่งในเสืออากาศอันดับต้น ๆ ของกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ ด้วยผลงานยิงเครื่องบินของศัตรูตกไป 8 ลำ (อันดับหนึ่งมีสถิติ 9 ลำ) แต่เป็นนักบินขับไล่กองทัพอากาศเวียตนามเหนือคนแรกที่ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 ของสหรัฐฯ ตก และต่อมาเขาเป็นชาวเวียตนามคนแรกและเป็นคนแรกของภูมิภาค ASEAN ที่ได้เดินทางไปในอวกาศ

พล.อ.ท. Pạm Tuân เกิดที่เมือง Kiến Xương จังหวัด Thái Bình ทางตอนเหนือของเวียตนาม เข้าร่วม VPAF หรือกองทัพอากาศเวียตนาม (กองทัพอากาศเวียตนามเหนือ) ในปี 1965 เริ่มต้นจากนักเรียนช่างเรดาร์ จากนั้นก็ได้รับเลือกให้เข้ารับการฝึกเป็นนายทหารนักบินชั้นสัญญาบัตร เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนการบิน Krasnodar ในสหภาพโซเวียต เป็นนักบิน MiG-17 ในปี 1967 จากนั้นจึงย้ายไปฝึกบิน MiG-21 และได้รับมอบหมายให้ประจำหน่วยฝึกบิน VPAF 910 ระหว่างปี 1968-69 เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคนิคการสกัดกั้นในเวลากลางคืนเพื่อต่อต้านการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ จากนั้นจึงย้ายมาประจำกรมการบินที่ 932 ระหว่างปี 1969-1970 และสุดท้ายประจำกรมการบินที่ 921 ระหว่างปี 1970-1973

ระหว่างคืนวันที่ 18-27 ธันวาคม 1972 ในปฏิบัติการ Linebacker II (the Christmas Bombing) นาวาอากาศตรี Pham Tuân ได้นำเครื่องบินขับไล่แบบ MiG-21 ติดขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบแสวงความร้อนเข้าต่อสู้กับเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 Stratofortress ของสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง วันที่ 27 เขาบิน MiG-21MF (หมายเลข 5121) ด้วยความเร็วเหนือเสียง และสามารถเจาะเข้าไปในขบวนบินของ B-52 ยิงขีปนาวุธ 2 ลูกในระยะน้อยกว่า 4 กม. ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาแล้วรายงานว่า ขีปนาวุธของเขายิงถูก B-52D จนตกเหนือเขตติดต่อของจังหวัด Hoa Binh กับ Vinh Phuc การอ้างชัยชนะนี้ ทำให้ B-52 ลำนี้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดเพียงลำเดียวที่ถูกยิงตกในการสู้รบทางอากาศ แต่กลับถูกโต้แย้งโดยบันทึกของสหรัฐฯ ซึ่งอ้างว่า B-52 ลำนี้ถูกยิงโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศเช่นเดียวกับ B-52 ลำอื่น ๆ ที่ถูกยิงระหว่างสงคราม ในหนังสือชื่อ "Hà Nội - Điện Bien Phủ trên không" (ฮานอย - ยุทธการเดียนเบียนฟูในอากาศ) โดย Nguyễn Minh Tâm จัดพิมพ์โดย Nhà xuất bản Quân đội Nhân dân Việt Nam (Viet Publishing House's) ผู้เขียนยืนยันว่า นต. Pham Tuân ยิง B-52 ด้วยขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบ K-13 สองลูกภายในระยะ 4 กิโลเมตร

นต. Pham Tuân เล่าว่า “เมื่อผมตรวจพบเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินของผมอยู่ห่างจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ประมาณ 10 กม. ผมจึงทิ้งถังเชื้อเพลิงภายนอก และขอคำสั่งโจมตีทันที แม้ว่าผมจะเข้าใกล้เครื่องบินทิ้งระเบิดแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้ามาก โชคดีที่ฝูงบินคุ้มกัน F-4 ของศัตรูก็ไม่มองเห็นผม แต่เพื่อความแน่ใจ ผมยังคงบินเข้าใกล้ต่อไปจนเหลือระยะ 3 กม. แล้วถึงได้ปล่อยขีปนาวุธ ในขณะที่ผมกำลังหลบหนี ผมก็เห็นตอนที่ขีปนาวุธทั้งสองพุ่งชนเข้ากับ B-52 แล้วระเบิด ซึ่งตอนนั้นไฟกำลังลุกไหม้ B-52 และมีเครื่อง F-4 พยายามไล่ตามผมมา แต่ตอนนี้ผมก็รอดแล้ว" Tuân เล่าว่า เนื่องจาก B-52 ติดตั้งอุปกรณ์ลวงอินฟราเรดจำนวนมาก เขาจึงต้องเข้าใกล้เป้าหมาย (ในระยะ 2-3 กิโลเมตร) เพื่อให้แน่ใจว่า จรวดจะไม่พลาด แม้ว่าระยะปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับการยิงขีปนาวุธคืออย่างน้อย 8 กิโลเมตร การอ้างชัยชนะทางอากาศโดยนักบิน MiG ของ VPAF ต่อเครื่องบินรบของสหรัฐฯ มักได้รับการโต้แย้งว่าเป็นการสูญเสีย B-52 มาจากขีปนาวุธพื้นสู่อากาศหรือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เนื่องจากถือว่า "น่าอับอายน้อยกว่า" การที่ถูกนักบินฝ่ายศัตรูยิงตก ปฏิบัติการ Linebacker II มีนักบินและลูกเรือเสียชีวิต 33 นาย โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 Stratofortress จำนวน 15 ลำถูกยิงตก และจนทุกวันนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ ก็ยังไม่ยืนยันว่า Tuân เป็นผู้ยิง B-52 ตกระหว่างปฏิบัติการ Linebacker II

Tuân ได้รับรางวัลและคำชื่นชมในการปฏิบัติงานที่มีความโดดเด่นมากมาย ในปี 1973 Tuân ได้รับตำแหน่ง "วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชน" ของเวียตนามเหนือ รวมทั้ง Ho Chi Minh Order นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัล Order of Lenin และได้รับเกียรติอันหาได้ยากด้วยการเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติไม่กี่คนที่ได้รับ "Hero of the Soviet Union" จากภารกิจในอวกาศ Interkosmos program โดยทำหน้าที่เป็นนักบินผู้บังคับยานอวกาศในเที่ยวบิน Soyuz 37 ซึ่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23  กรกฎาคม 1980 ไปยังสถานีอวกาศ Salyut 6 และกลับสู่เพื่อโลกเมื่อ 31 กรกฎาคม 1980 รวมเวลาที่เขาอยู่ในอวกาศ 7 วัน 20 ชั่วโมง 42 นาที Tuân นำสิ่งของหลายอย่างติดตัวไปด้วยในเที่ยวบิน Soyuz 37 ซึ่งรวมถึงรูปภาพของอดีตประธานาธิบดี Hồ Chí Minh, Lê Duân เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม, ประกาศเจตจำนงของ Hồ Chí Minh, ธงชาติเวียตนาม โดยเขาได้นำสิ่งของทั้งหมดเอาไปไว้บนสถานีอวกาศแล้วนำพวกมันกลับมายังโลก ในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้รับรางวัล "วีรบุรุษแรงงานแห่งเวียดนาม"  ต่อมาในปี 1989 เขาได้รับตำแหน่ง "รองผู้บัญชาการ" กองทัพอากาศเวียดนาม ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลอากาศโทในปี 1999 และดำรงตำแหน่ง "อธิบดีกรมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ" ในปี 2000 และเกษียณจากตำแหน่งในปลายปี 2007 ปัจจุบัน พลอากาศโท Pham Tuân ยังคงมีชีวิตอยู่ และใช้ชีวิตกับภรรยาอย่างมีความสุข

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#17 สหรัฐฯ ถอนทหารออกจาก เวียตนามใต้

หลังจากให้ความช่วยเหลือทางการทหารทางอ้อมโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเวลาสองทศวรรษ ในปี 1961 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐฯ ได้ตัดสินส่งกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมากชุดแรกในฐานะ “ที่ปรึกษาทางทหาร” ไปสนับสนุนระบอบเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพของเวียตนามใต้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เหนือ สามปีต่อมา เมื่อรัฐบาลเวียตนามใต้ล่มสลาย ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันจึงสั่งโจมตีเวียตนามเหนือด้วยการทิ้งระเบิดในจำนวนจำกัด หลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติการใช้กำลังทหารโดย “มติอ่าวตังเกี๋ย” ในปี 1965 การรุกคืบของเวียตนามเหนือทำให้ประธานาธิบดีจอห์นสันต้องเลือกระหว่างเพิ่มจำนวนทหารสหรัฐฯ หรือถอนทัพ ประธานาธิบดีจอห์นสันตัดสินใจเลือกสั่งอย่างแรก และในไม่ช้าจำนวนกำลังทหารสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 300,000 นาย แล้วกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มต้นปฏิบัติการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา สงครามเวียตนามที่ยาวนาน ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และการเปิดเผยการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในอาชญากรรมสงคราม เช่น การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านไมไล จึงทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านสงครามเวียตนาม กอปรกับการรุกช่วงเทศกาลตรุษญวนของฝ่านคอมมิวนิสต์ในปี 1968 ทำลายความหวังของสหรัฐฯ ที่จะยุติความขัดแย้งโดยเร็ววัน และกระตุ้นให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต่อต้านสงคราม คะแนนนิยมของประธานาธิบดีจอห์นสันลดลงจาก 48% เหลือเพียง 36% เพื่อเป็นการตอบสนองมติมหาชน ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ประกาศในเดือนมีนาคม 1968 ว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก โดยอ้างถึงสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของเขาในการสร้างความแตกแยกในระดับชาติอันน่ากลัวเกี่ยวกับเวียตนาม นอกจากนี้ เขายังอนุมัติให้เริ่มการเจรจาสันติภาพอีกด้วย 

ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1969 ขณะที่การประท้วงต่อต้านสงครามทวีความรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ กำลังทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามแห่งนี้ถึงจุดสูงสุดที่เกือบ 550,000 นาย ริชาร์ด นิกสันประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จึงเริ่มสั่งให้มีการถอนทหาร และ “ทำให้เวียตนามเป็นเวียตนาม”  ในความพยายามทำสงครามในปีนั้น แต่เขากลับเพิ่มการทิ้งระเบิด การถอนทหารจำนวนมากของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันขยายการปฏิบัติการทางอากาศและทางบกเข้าไปในกัมพูชาและลาวเพื่อพยายามปิดกั้นเส้นทางส่งกำลังบำรุงของคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนเวียตนาม การขยายสงครามครั้งนี้ให้ผลเชิงบวกเพียงเล็กน้อย แต่กลับนำไปสู่การประท้วงระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ

ในที่สุด ในเดือนมกราคม 1973 ผู้แทนของสหรัฐฯ เวียตนามใต้ เวียตนามเหนือ และเวียตกงได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ยุติการมีส่วนร่วมทางทหารโดยตรงของสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม สานะสำคัญ ได้แก่ การหยุดยิงทั่วทั้งเวียตนาม การถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ การปล่อยเชลยศึก และการรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกันโดยสันติวิธี รัฐบาลเวียตนามใต้จะคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และกองกำลังของเวียตนามเหนือในเวียตนามใต้จะต้องไม่รุกคืบต่อไปหรือได้รับการเสริมกำลังอีก การยุติสงครามทำให้สหรัฐฯ สามารถถอนตัวออกจากสงคราม และนำเชลยศึกชาวอเมริกันกลับบ้าน ประธานาธิบดีนิกสันได้รับรับรองว่าจะให้การสนับสนุนเวียตนามใต้ข้อตกลงผ่านจดหมายทางการทูตหลายฉบับในกรณีที่เวียตนามเหนือละเมิดข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงท่าทีเพื่อรักษาน้ำใจของรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น ก่อนที่กองทหารสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายจะออกเดินทางในวันที่ 29 มีนาคม ฝ่ายเวียตนามทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเวียตนามเหนือได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงจึงทำให้สงครามยังคงดำเนินต่อไป และในช่วงต้นปี 1974 สงครามเต็มรูปแบบก็ได้กลับมาปะทุอีกครั้ง ช่วงปลายปี 1974 ทางการเวียตนามใต้รายงานว่าทหารและพลเรือนของตนเสียชีวิตจากการสู้รบถึง 80,000 นาย ทำให้เป็นปีที่สูญเสียมากที่สุดในสงครามเวียตนาม

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1973 หน่วยทหาร สหรัฐฯ ชุดสุดท้าย ออกจากเวียตนามเมื่อถึงเวลานั้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ได้เปิดฉากสงครามที่นักข่าวเรียกกันว่า "สงครามหลังสงคราม" โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงสันติภาพอย่างต่อเนื่องสหรัฐฯ ยังคงดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวียตนามใต้อย่างเต็มที่ แต่ความสามารถในการมีบทบาทต่อเหตุการณ์ในเวียตนามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกจำกัดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่สถานะส่วนตัวของประธานาธิบดีนิกสันพังทลายลงจากการเปิดเผยกรณี “วอเตอร์เกต” ทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ เคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางความเป็นไปได้ใด ๆ ของการดำเนินการทางทหารเพิ่มเติมในเวียตนาม ในช่วงฤดูร้อนของปี 1973 รัฐสภาฯ ได้ผ่านมาตรการห้ามปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในหรือเหนืออินโดจีนหลังจากวันที่ 15 สิงหาคม รัฐสภาฯ ได้ดำเนินการอีกขั้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1973 เมื่อเพิกถอนการยับยั้งของประธานาธิบดีนิกสันในการผ่านรัฐบัญญัติอำนาจสงคราม ซึ่งตามทฤษฎีแล้วกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องหารือกับรัฐสภาก่อนที่จะส่งกองกำลังสหรัฐฯ ไปประจำการนอกสหรัฐฯ

วันที่ 30 เมษายน 1975 ชาวอเมริกันกลุ่มสุดท้ายที่ยังอยู่ในเวียตนามใต้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศโดยเฮลิคอปเตอร์ในขณะที่กรุงไซง่อนถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดครองได้สำเร็จ พันเอกบุ้ยตินแห่งเวียตนามเหนือ ซึ่งยอมรับการยอมแพ้ของเวียตนามใต้ในเวลาต่อมา กล่าวว่า “คุณไม่ต้องกลัวอะไรเลย ระหว่างเวียตนามไม่มีผู้ชนะและพ่ายแพ้ มีแต่ชาวอเมริกันเท่านั้นที่พ่ายแพ้” สงครามเวียตนามเป็นสงครามต่างประเทศที่ยาวนานที่สุดและไม่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 58,000 ราย ทหารและพลเรือนเวียตนามทั้งเหนือและใต้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#18 ‘ซวนล็อก’ สมรภูมิสุดท้ายของ ‘กองทัพเวียตนามใต้’

เมื่อสงครามเวียตนามใกล้จะสิ้นสุดมีการรบที่ดุเดือดที่สุด แต่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงเลย ด้วยหลังจากการรบครั้งนั้น 9 วัน เวียตนามใต้ก็ล่มสลายเมื่อกองกำลังเวียตนามเหนือและเวียตกงเข้ายึดครองกรุงไซ่ง่อนได้สำเร็จ “สมรภูมิซวนล็อก (Battle of Xuân Lộc)” เป็นการสู้รบใหญ่ครั้งสุดท้ายในสงครามเวียตนาม โดยตั้งแต่ต้นปี 1975 กองทัพประชาชนเวียตนาม (PAVN) ได้ปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังเวียตนามใต้ (Army of the Republic of Vietnam : ARVN) ในจังหวัดทางตอนเหนือของเวียตนามใต้บริเวณที่ราบสูงตอนกลาง ทำให้กองพลที่ 2 ของกองทัพบกเวียตนามใต้ถูกทำลายอย่างย่อยยับในขณะที่พยายามเคลื่อนพลไปยังพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง การรบที่เมืองเว้และดานัง กองกำลังเวียตนามใต้นั้นละลายโดยแทบจะไม่มีการต่อต้าน ความพ่ายแพ้อย่างหนักของกองทัพบกแห่งสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) ทำให้สมัชชาแห่งชาติเวียดนามใต้ตั้งกระทู้ถามกับประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวถึงกรณีดังกล่าวจนทำให้ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวต้องลาออกจากตำแหน่ง

หลังจากการล่มสลายของกองพลที่ 1 และ 2 ของกองทัพบกเวียตนามใต้ กองทัพปลดปล่อยเวียตนาได้เคลื่อนพลเข้าสู่กรุงไซง่อน โดยมีกองพลทหารราบที่ได้รับการเสริมกำลังอย่างหนักจำนวน 15 กองพล โดยกองพล 3 กองพลได้เข้าโจมตีเมือง “ซวนล็อก” ซึ่งอยู่ห่างจากไซง่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือบนทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 30 ไมล์ กองกำลังเวียตนามใต้เคลื่อนกำลังที่เหลือเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกองพลทหารราบที่ 18 ภายใต้พลจัตวา Lê Minh Đảo เพื่อป้องกันเมือง "ซวนล็อก" อันเป็นสี่แยกยุทธศาสตร์ ด้วยหวังที่จะชะลอการบุกของกองทัพประชาชนเวียตนาม การสู้รบครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ถึง 21 เมษายน 1975 และจบลงเมื่อกองทัพประชาชนเวียตนามสามารถยึดครองเมืองนี้ โดยกำลังพลจากกองทัพน้อยที่ 4 นำโดยพลตรี Hoàng Cầm เมือง "ซวนล็อก" ถือเป็นแนวป้องกันด่านสุดท้ายของกองทัพภาคที่ 3 ของเวียตนามใต้ให้การคุ้มกันแนวรบทางตะวันออกของกรุงไซ่ง่อนเมืองหลวงของเวียตนามใต้ ด้วยเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเมือง Bình Dương ฐานทัพอากาศ Bien Hoa, เมือง VũngTàu, เมือง Long An และ เมือง lynchpin อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "ซวนล็อก" ซึ่งกำลังทหารเวียตนามใต้ได้ร่วมกันในความพยายามทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายเพื่อป้องกันกรุงไซ่ง่อนและปกป้องเวียดนามใต้ ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวได้สั่งให้กองพลทหารราบที่ 18 รักษาเมือง "ซวนล็อก" ให้ได้ด้วยทุกวิธี 

กองกำลังเวียตนามใต้ทำการป้องกันกรุงไซ่ง่อน โดยครอบคลุมถนนสายหลักทั้ง 5 ที่นำไปสู่กรุงไซ่ง่อน ทางตอนเหนือของไซ่ง่อน กองพลที่ 5 ป้องกันการโจมตีของศัตรูบนทางหลวงหมายเลข 13 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง กองพลที่ 18 ป้องกันเมือง "ซวนล็อก" ครอบคลุมทางหลวงหมายเลข 1 และเมือง Bình Dương และฐานทัพอากาศ Bien Hoa ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงไซ่ง่อน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบินและกองกำลังจู่โจม (ซึ่งทั้งหมดมีศักยภาพในการรบเหลือประมาณ 50 %) และทางหลวงหมายเลข 15 ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงไซ่ง่อน กองพลที่ 22 ป้องกันทางหลวงหมายเลข 4 เส้นทางหลักจากสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงไปยังกรุงไซ่ง่อนและตะวันตกเฉียงเหนือ กองพลที่ 25 ป้องกันเส้นทางหมายเลข 1 ระหว่างเมือง Tay Ninh และกรุงไซ่ง่อน

กองทัพน้อยที่ 4 ของกองทัพประชาชนเวียตนามได้รับคำสั่งให้ยึด "ซวนล็อก" เพื่อเปิดประตูสู่กรุงไซ่ง่อน ในช่วงเริ่มต้นของการรบกองพลทหารราบที่ 18 สามารถเอาชนะกองทัพน้อยที่ 4 ของกองทัพประชาชนเวียตนามได้ ทหารเวียตนามใต้ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญท่ามกลางอุปสรรคมากมาย กองทัพอากาศของเวียตนามใต้ให้การสนับสนุนด้วยเฮลิคอปเตอร์และการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้ระเบิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ และระเบิด "เดซี่คัตเตอร์" และระเบิดเพลิงอบบ CBU-55B ซึ่งเป็นระเบิดเพลิงอากาศแบบแรกที่ใช้ในการสู้รบ จนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามหนึ่งกองพลต้องล่าถอยด้วยความสูญเสียอย่างหนัก เพื่อยึดครองเมือง "ซวนล็อก" ให้สำเร็จ ผู้บัญชาการกองทัพน้อยที่ 4 จึงได้เปลี่ยนแผนการรบ แต่แล้วในวันที่ 19 เมษายน 1975 กองกำลังของพลจัตวา Đảo ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวหลังจากเมือง "ซวนล็อก" ถูกโดดเดี่ยวเกือบทั้งหมด โดยหน่วยของเวียตนามใต้ที่เหลือทั้งหมดถูกทำลายอย่างย่อยยับ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นจุดสิ้นสุดของอาชีพทางการเมืองของประธานาธิบดีเหงียนวันเทียว โดยที่เขาลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1975 ด้วยประโยคที่ว่า "ผมขอลาออก แต่ผมจะไม่หนี" แล้ว 5 วันต่อมา เขาก็ขึ้นเครื่องบินลำเลียง C-118 หนีไปไต้หวันพร้อมด้วยกระเป๋าที่หนักอึ้งเป็นจำนวนมาก

ทหารฝ่ายป้องกันของเวียดนามใต้ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญท่ามกลางอุปสรรคมากมาย Xuan Loc ได้รับการปกป้องโดยกองพลที่ 18 ของเวียดนามใต้ ซึ่งประกอบด้วยกรมทหารราบ 3 กรม ได้แก่ กรมที่ 43 กรมที่ 48 และกรมที่ 52 นอกจากนี้ยังมีกองพลยานเกราะอีก 5 กองพัน กองกำลังภูมิภาคอีก 4 กองพัน (กองพันที่ 340 กองพันที่ 342 กองพันที่ 343 และกองพันที่ 367) หน่วยปืนใหญ่ 2 หน่วย (กองพันปืนใหญ่ที่ 181 และ 182) พร้อมปืนใหญ่ 42 กระบอก และกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชนอีก 2 กองร้อย  ในวันที่ 12 เมษายน ยังได้รับการเสริมกำลังด้วยกองพลทหารราบทางอากาศที่ 1 กองพลยานเกราะ 3 กองพล (กองพลยานเกราะที่ 315, 318 และ 322) กองกำลังเฉพาะกิจที่ 8 จากกองพลที่ 5 และกองพันทหารพรานที่ 33 การสนับสนุนทางอากาศมาในรูปแบบของกองพลอากาศโยธินอีก 2 กองพล ได้แก่ กองพลอากาศโยธินที่ 5 ประจำการที่ฐานทัพอากาศเบียนฮัว และอากาศโยธินที่ 3 ฐานทัพอากาศเตินเซินเญิ้ต นอกจากนี้ยังมีกองทัพอากาศของเวียดนามใต้ให้การสนับสนุนทางเฮลิคอปเตอร์และการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้ระเบิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่และระเบิด "เดซี่คัตเตอร์" และระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ CBU-55B ซึ่งเป็นระเบิดเชื้อเพลิงอากาศลูกแรกที่เคยใช้ในการสู้รบ เนื่องจากกองกำลังเวียตนามใต้ที่ทำหน้าที่ป้องกันสูญเสียกำลังพลไป 30% 

วันที่ 23 เมษายน 1975 กองพลที่ 18 ได้เคลื่อนพลถอยไปยังกรุงไซง่อนบนทางหลวงหมายเลข 2 โดยที่หน่วยสนับสนุนและปืนใหญ่ยังคงอยู่ครบถ้วน ทำให้เมือง “ซวนล็อก” ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังคอมมิวนิสต์ในวันเดียวกัน แม้ว่าครั้งหนึ่ง กองทัพสหรัฐฯ จะไม่ให้การยอมรับทหารกองพลที่ 18 แต่ภายใต้การนำของพลจัตวา Lê Minh Đảo กองพลนี้ได้กลายเป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันกรุงไซง่อน สมรภูมิ "ซวนล็อก" สิ้นสุดลงลงในวันที่ 21 เมษายน 1975 โดยกองทัพน้อยที่ 4 ของเวียตนามเหนือสามารถเอาชนะกำลังผสมชุดสุดท้ายของกองทัพภาคที่ 3 ของเวียตนามใต้ แล้วอีก 9 วันต่อมาเมื่อรถถัง T-54 ของกองทัพประชาชนเวียตนามชนผ่านประตูทำเนียบประธานาธิบดีเวียตนามใต้ในวันที่ 30 เมษายน 1975 จึงเป็นการสิ้นสุดสงครามเวียตนามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#19 'Saigon, the Last Day' 30 เมษายน 1975 วันสุดท้าย 'กรุงไซ่ง่อนและสาธารณรัฐเวียตนาม'

วันนี้ ย้อนหลังไป 50 ปีก่อนเป็นวันล่มสลายของสาธารณรัฐเวียตนามหรือเวียตนามใต้ รำลึกนึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยบทความที่แปลจากบันทึกของคุณ Loren Jenkins อดีตบรรณาธิการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศของสำนักข่าว NPR ขณะเป็นนักข่าวของ Newsweek ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขณะกรุงไซ่ง่อนล่มสลายจากการยึดครองของกองทัพเวียตนามเหนือ และกองกำลังเวียตกงในปลายเดือนเมษายน 1975 เขาเล่าให้ฟังถึงชั่วโมงสุดท้ายที่สุดวุ่นวายในสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐฯ ซึ่งเขาเขียนและเผยแพร่ในขณะที่ยังเป็นบรรณาธิการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศของสำนักข่าว NPR

สิ่งที่ผมจำได้เกี่ยวกับวันสุดท้ายในเวียตนาม ผมตื่นขึ้นมาก่อนรุ่งสางจากเสียงและแรงระเบิด ในช่วงครึ่งหลับครึ่งเคลิ้มผมกลิ้งไปบนพื้น ดึงที่นอนที่อยู่ด้านบนแล้วนอนหลับต่อ ปฏิกิริยานั้นเป็นสัญชาตญาณ Pavlovian Reflex เพื่อหลีกเลี่ยงเศษกระจกที่แตกกระจายหากมีการระเบิดใกล้ ๆ แต่แล้วผมก็ตื่นขึ้น และตระหนักว่า การระเบิดนั้นเป็นการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ไปยังสนามบิน Ton Son Nhut กองกำลังเวียตนามเหนือเคลื่อนที่ไปทางใต้เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว โดยก่อนหน้านั้นคลื่นขนาดยักษ์ของผู้ลี้ภัย ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็มาถึงกรุงไซ่ง่อน หลังจากเวลาผ่านไปสิบปีสงครามก็กำลังจะสิ้นสุดลง

เมื่อฝ่ายเวียตนามเหนือกำลังเข้ายังมีนักข่าวมากมายที่พูดคุยกันไม่หยุดหย่อนในลานของโรงแรม Continental Palace ซึ่งเป็นที่พักของนักข่าวต่างประเทศ เราควรจะอยู่เพื่อบันทึกการเข้ายึดครองกรุงไซ่ง่อนที่เราอยู่มานานของกองทัพเวียตนามเหนือเป็นครั้งสุดท้ายแล้วหรือไม่? หรือเราควรปฏิบัติตามแผนการของสถานทูตสหรัฐฯ ที่จะส่งรถบัสมารับไปยังสนามบิน Ton Son Nhut เพื่อขึ้นเครื่องบินอพยพไปยังเกาะกวมซึ่งบินมารอแล้วหลายสัปดาห์หรือไม่? แผนการอพยพของสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนการผจญภัยในสหรัฐอเมริกา แต่เกิดขึ้นในเวียตนาม เมื่อมีการตัดสินใจที่จะดึงปลั๊กปฏิบัติการในเวียตนามใต้เป็นครั้งสุดท้าย เพลง "White Christmas" จะถูกเปิดโดยสถานีวิทยุของกองทัพสหรัฐฯ นั่นจะเป็นสัญญาณให้คนอเมริกันหลายพันคนที่ยังคงอยู่ในกรุงไซ่ง่อนรีบเดินทางไปยังสถานที่ที่ได้รับการเตรียมการทั่วเมืองเพื่อรอรถบัสที่จะมารับและพาไปยังสนามบิน Ton Son Nhut

แต่ในฐานะผู้สื่อข่าวของ Newsweek ซึ่งติดตามปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของอเมริกาในเวียตนาม การไปสนามบินเป็นความคิดที่ตัดทิ้งไปเลย ขณะที่กรุงไซ่ง่อนล่มสลายสิ่งสุดท้ายที่ผมอยากทำ เมื่อประธานาธิบดี ฟอร์ดสั่งให้การอพยพของชาวอเมริกันในกรุงไซ่ง่อนเริ่มต้น เนื่องจากการโจมตีสนามบินผมเลือกที่จะบันทึกนาทีสุดท้ายของปฏิบัติการของสหรัฐฯในเวียตนามที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไซ่ง่อนแทน สถานทูตฯ ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตสีขาวยาว 15 ฟุต เสริมด้วยขดลวดหนาม อาคารสถานทูตหกชั้นเป็นป้อมปราการที่ทันสมัยตั้งตระหง่านอยู่เหนืออาคารทรงเตี้ยที่ล้อมรอบ ที่นั่นนโยบายของสหรัฐฯ ถูกนำมาปฏิบัติมายาวนาน และที่นี่ในที่สุด Graham Martin เอกอัครรัฐทูตประจำสาธารณรัฐเวียตนาม ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามนโยบายฯ เป็นคนสุดท้าย

ผมจำได้ว่า เมื่อเช้านั้นได้พบกับ David Greenway แห่ง The Washington Post ที่แผนกต้อนรับของ Continental Palace เขาค่อย ๆ ควักเงินเวียตนามที่กำลังจะหมดค่าออกมาจ่ายค่าโรงแรม โดยพูดว่า ไม่มีสุภาพบุรุษคนไหนออกจากโรงแรมโดยไม่จ่ายบิล และเราขับรถไปที่สถานทูตฯ ด้วยรถยนต์โตโยต้าของ The Washington Post ไปตามถนนที่ไม่มีการจราจรซึ่งผิดปกติ บนถนนเกลื่อนไปด้วยเครื่องแบบและรองเท้าบู๊ทของทหารเวียตนามใต้ถอดทิ้งเอาไว้ เมื่อเรามาถึงสถานทูตฯ ประตูปิดอยู่ และนาวิกโยธินติดอาวุธยืนเฝ้าอยู่เหนือกำแพงคอนกรีต เมื่อชาวเวียตนามนับพันเริ่มร้องขอให้นำอพยพออกมาพร้อมกับชาวอเมริกัน เราทั้งผลักทั้งดันกลุ่มคนเวียตนาม แสดงหนังสือเดินทางของสหรัฐฯ และกดบัตรที่ประตู แล้วมีคนมาเปิดและให้พวกเราเข้าไปในสถานทูตฯ

ภายในมีความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนาวิกโยธิน เจ้าหน้าที่ซีไอเอ และอาสาสมัครของกระทรวงการต่างประเทศเดินไปมาทั่วบริเวณ และจัดวางกำลังพร้อมอาวุธหลากหลายประเภท ตั้งแต่ปืนกลมือทอมสันโบราณไปจนถึงมีดล่าสัตว์ติดกับเข็มขัด ชาวเวียตนามหลายพันคนที่กำลังสิ้นหวัง กรีดร้อง และกำลังพยายามปีนกำแพง และมุดผ่านขดลวดหนาม ซึ่งก็ถูกผลักกลับเข้าไปในถนนด้วยปืน M16 อย่างไร้ความปราณี ต้นมะขามขนาดใหญ่ที่บังเงาให้รถของเอกอัครรัฐทูตพึ่งถูกตัดและลากไปไว้ด้านข้างเพื่อเปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นจุดลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้นมีคนหลายร้อยถูกปล่อยให้เข้ามา เพราะทำงานร่วมกับชาวอเมริกันรวมตัวกันอยู่กลางกองกระเป๋าเดินทาง กล่องกระดาษแข็งและเสื้อผ้า มีนายพลเวียตนามใต้อย่างน้อยสามคนในชุดเครื่องแบบกับครอบครัว นักการเมืองเวียตนามใต้ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไซ่ง่อน หัวหน้าหน่วยดับเพลิงและคนของเขาอีกสิบคนยังคงสวมหมวกเหล็ก ชาวเวียตนามคนอื่น ๆ บุกเข้าไปในโรงอาหารของสถานทูตเพื่อค้นหาเครื่องดื่ม และอาหารเท่าที่พวกเขาสามารถหาได้

ชั้นบนสุดของอาคารซึ่งจัดเก็บเอกสารลับสุดยอดไว้ เอกสารที่ถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ เรียงซ้อน และทิ้งออกนอกหน้าต่างออก มีควันจากสำนักงานบางแห่งที่มีการเผาเอกสารอื่น ๆ และจนถึงจุดหนึ่งเจ้าหน้าที่ซีไอเอสามคนในเสื้อแจ็กเก็ตเลื่อนรถเข็นที่เต็มไปด้วยธนบัตรร้อยดอลลาร์จากตู้เซฟ และทิ้งลงในเตาเผาขยะด้านนอก จากนั้นก็มีเสียงของใบพัดเฮลิคอปเตอร์ที่บินลงมาจากท้องฟ้าสีคราม เฮลิคอปเตอร์ CH-46 ขนาดใหญ่บินจากเรือรบของกองเรือที่ 7 แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ลอยลำอยู่ในทะเลจีนใต้ ความวุ่นวายเป็นกิจวัตรเช่นนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืน เฮลิคอปเตอร์บินเข้ามาและบินจากไป ในที่สุดเวลา 18 ชั่วโมงหลังจากการอพยพเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีฟอร์ดได้สั่งให้ยุติการอพยพโดยทีมเฮลิคอปเตอร์ 80 ลำที่บินแล้วจนหมดแรงแล้ว 495 เที่ยว มีการบอกกล่าวอย่างเงียบ ๆ กระจายออกไปว่าจะมีเพียงชาวอเมริกันที่เหลือเท่านั้นที่จะได้รับการอพยพ ทหารนาวิกโยธินบนกำแพงถอยกลับเข้าไปในอาคารสถานทูตฯ ประตูถูกปิดและพวกเราข้างในก็ขยับขึ้นไปบนหลังคา

ในที่สุดประมาณตี 4 ทูต Graham Martin ปรากฏตัวเงียบ ๆ พร้อมกับทีมงานบนหลังคาอาคารอย่างเงียบ ๆ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและอิดโรย มีธงชาติสหรัฐฯ ของสถานทูตฯ ที่พับแล้วอยู่ใต้วงแขนของเขา ผมเข้าไปร่วมกับเลขานุการส่วนตัวของเขาและ Nitnoy สุนัขพุดเดิ้ลสีดำสัตว์เลี้ยงของเขา (น่าจะเป็นชื่อไทยว่า “นิดหน่อย” ด้วยตัวทูต Graham Martin เคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย) ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ CH-46 ลำหนึ่งบนหลังคา ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์ CH-46 ยกตัวออกมา มุมมองสุดท้ายต่อประเทศที่เขาเป็นดั่งอุปราชอเมริกันคือ ภาพของพลุดอกไม้ไฟขนาดยักษ์ที่เกิดจากบรรดากระสุนที่ทิ้งไว้ในค่าย Bien Hoa ทางทิศเหนือเกิดระเบิดขึ้น และแสงไฟจากรถบรรทุกที่ยาวเหยียดไกลสุดสายตา ซึ่งสามารถเห็นได้ว่า ขบวนรถของกองทัพเวียตนามเหนือมุ่งลงไปทางใต้เพื่อชัยชนะ

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#20 'ทำไมสหรัฐฯ จึงไม่ชนะในสงครามอินโดจีน'

สงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมคงต้องใช้คำว่า “ไม่ชนะ” แทนคำว่า “พ่ายแพ้” เพราะอันที่จริงแล้วศักยภาพของกองทัพอเมริกันและพันธมิตรสามารถเอาชนะสงครามอินโดจีนได้ หากเป็นการรบตามแบบ และไม่คำนึงถึงปัญหาอุปสรรคอันเกิดจากข้อจำกัดต่าง ๆ ตลอดจนการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศของสหรัฐฯ เอง รวมทั้งการไม่สามารถเอาชนะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และจิตวิทยาภายในเวียตนามทั้งเหนือและใต้อีกด้วย สงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ผ่านการบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 5 คน ได้แก่ Truman, Eisenhower, Kennedy, Johnson และ Nixon

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วย OSS (ต้นกำเนิดของ CIA ในปัจจุบัน) ได้ขบวนการเวียตมินห์ (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกองทัพประชาชนเวียตนาม) ซึ่งโฮจินมินห์เป็นผู้ก่อตั้งเป็นพันธมิตรในการสู้รบกับญี่ปุ่น ด้วยการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้เวียตมินห์ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกและหาข่าวให้กับ OSS หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในปี 1945 ความผิดพลาดของสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1946 เมื่อประธานาธิบดี Truman ได้ปฏิเสธคำขอความช่วยเหลือของโฮจิมินห์ในการขับไล่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม โดยเลือกที่จะสนับสนุนฝรั่งเศสแทน ทั้ง ๆ ที่ตัวโฮจิมินห์เองรู้สึกขอบคุณและชื่นชมสหรัฐฯ ที่ช่วยขบวนการเวียตมินห์จนสามารถขับไล่ญี่ปุ่นจากการยึดครองเวียตนามต่อจากฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเดิม อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถเอาชนะทั้ง “จิตใจและแนวคิด” ของชาวเวียตนามได้ ซ้ำร้ายผลจากสงครามเย็นทำให้สังคมอเมริกันโดยรวมถูกกระแสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเวียตนามเหนือไม่เป็นไปด้วยดีตาม แล้วก็เข้าสู่สงครามในที่สุด

ประธานาธิบดี Harry S. Truman จึงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1945 เขาได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการเอเชีย ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt (ผู้ซึ่งต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมหรือการล่าอาณานิคม) ซึ่งเสียชีวิตในตำแหน่ง ว่า การกลับมาปกครองเวียตนามของฝรั่งเศสจะนำไปสู่ "การนองเลือดและความไม่สงบ" แต่ประธานาธิบดี Truman กลับยอมรับต่อการกลับเข้าปกครองอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสอีกครั้ง ด้วยหวังว่า เรื่องดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนเศรษฐกิจและเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับฝรั่งเศส (ซึ่งพ่ายแพ้ต่อเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหมดรูป) อีกครั้งหนึ่ง ไม่ช้าฝรั่งเศสก็กลับมาปกครองเวียตนามพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดฉากสู้รบกับกองทัพประชาชนเวียตนามหรือเวียตมินห์ของของโฮจิมินห์ในทันที โดยแรก ๆ นั้น สหรัฐอเมริกายังคงดำรงความเป็นกลางอย่างเป็นทางการ หลีกเลี่ยงการติดต่อใด ๆ กับโฮจิมินห์ อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 1947 ประธานาธิบดี Truman ยืนยันว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ คือการช่วยเหลือประเทศที่ยืนหยัดต่อการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ สงครามเกาหลีในปี 1950 รวมถึงความช่วยเหลือจากจีนและสหภาพโซเวียตต่อเวียตหมินห์ทำให้ประธานาธิบดี Truman กลับมาพิจารณาและให้จัดเวียตนามเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำสงครามเย็น ด้วยความกลัวว่า ที่สุดเวียตนามจะกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ เขาได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมกับที่ปรึกษาทางทหารจำนวน 35 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดความช่วยเหลือมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้แก่ฝรั่งเศส และยิ่งถลำลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปลายสมัยที่สองของประธานาธิบดี Truman สหรัฐฯ ได้ทุ่มงบมากกว่าหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายในการทำสงครามในเวียตนามให้กับฝรั่งเศส และในที่สุดได้เพิ่มจำนวนเงินงบประมาณเป็นประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม

ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 2 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1954 ฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ชนิดหมดรูปที่เดียนเบียนฟู ทำให้ความพยามในการครอบครองอาณานิคมของพวกเขาสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนได้เสนอให้ทำการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อรักษาสถานภาพของฝรั่งเศส แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ปฏิเสธ เพราะสงครามเกาหลีพึ่งจะสงบลงได้ไม่นานนัก ประธานาธิบดี Eisenhower ได้เขียนไว้ในบันทึกของเขา ว่า “ผมเชื่อมั่นว่าจะไม่มีชัยชนะทางทหารเกิดขึ้นเหมือนอดีตอีกแล้ว” แต่ด้วยเขาเป็นผู้ที่เชื่อใน "ทฤษฎีโดมิโน" ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า หากประเทศใดประเทศหนึ่งพ่ายแพ้ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามมา จึงปฏิเสธที่ปล่อยเวียตนามโดยสิ้นเชิง ที่สุดเวียตนามถูกแบ่งเป็นสองประเทศโดยมีโฮจินมินห์เป็นผู้นำเวียตนามเหนือ และ Ngo Dinh Diem ผู้ซึ่งเป็นพวกนิยมชาติตะวันตกได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานาธิบดีของเวียตนามใต้ แต่เขาเป็นชาวเวียตนามเชื้อสายจีนจากตระกูลที่มั่งคั่ง ซ้ำยังเป็นแคทอลิก ในขณะที่ชาวเวียตนามใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและมีฐานะยากจน การเลือกตั้งซึ่งควรจะเกิดขึ้นเพื่อรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน แต่ถูกประธานาธิบดี Diem หยุดไว้ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วยเกรงว่า โฮจินมินห์จะชนะการเลือกตั้งและมีความชอบธรรมที่จะรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน

แม้ว่า ประธานาธิบดี Diem จะถูกขุดคุ้ยตรวจสอบและประจักษ์ชัดว่า เป็นพวกเผด็จการและทุจริตโกงกิน แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ก็เรียกเขาว่า "รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด" และ "ตัวอย่างของผู้คนที่เกลียดชังทรราชและรักเสรีภาพ" ที่สำคัญกว่านั้นเขายังได้จัดหาเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ ประธานาธิบดี Diem โดยมอบเงินช่วยเหลือจำนวนมากในระหว่างปี 1955 ถึง 1960 และเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางทหารเพิ่มเป็น 1,000 นาย เมื่อประธานาธิบดี Eisenhower หมดวาระการดำรงตำแหน่ง การสู้รบอย่างเปิดเผยระหว่างกองกำลังทหารของประธานาธิบดี Diem กับเวียตกง ในเวียตนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียตนามเหนือก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี John F. Kennedy หลังจากไปเยือนเวียตนามในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1951 เขาได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝรั่งเศสในเวียตนาม โดยเขากล่าวว่า การกระทำนั้น “เป็นการท้าทายความเป็นชาตินิยมโดยรู้ล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวอยู่แล้ว” และอีก 3 ปีต่อมาเขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ผมเชื่อในความเชื่อที่ว่า ไม่มีความช่วยเหลือทางทหารของอเมริกันจำนวนมาก…จะสามารถพิชิตศัตรูได้ทุกที่ในเวลาเดียวกัน” ท่าทีของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1960 ด้วยความกังวลว่า จะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Kennedy ได้จัดหาเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียง เรือลาดตระเวนลำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ให้กับเวียตนามใต้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้ Napalm และ สารพิษ เช่น ฝนเหลือง (Agent Orange) และเพิ่มที่ปรึกษาทางทหารเป็น 16,000 คน บางนายมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการรบอย่างลับ ๆ ต่อมาประธานาธิบดี Diem ผู้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนถูกรัฐประหารและสังหารในปี 1963 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดี Kennedy จะถูกลอบสังหาร โดยก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาเคยบอกกับคณะทำงานของเขาว่า เขาอาจจะถอนกำลังและการสนับสนุนออกจากเวียตนามภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า เขาจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่

ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 4 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม หลังการลอบสังหารของประธานาธิบดี Kennedy การมีส่วนร่วมในสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ยังค่อนข้างจำกัด แต่สิ่งนั้นได้เปลี่ยนไปในเดือนสิงหาคม 1964 “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย” ทำให้รัฐสภาอเมริกันมอบอำนาจในการทำสงครามอย่างไม่จำกัดให้กับประธานาธิบดี Johnson ผู้ซึ่งพึ่งเข้าดำรงตำแหน่ง เพราะตระหนักว่า รัฐบาลและกองทัพเวียตนามใต้กำลังจะล่มสลาย ประธานาธิบดี Johnson ได้ส่งกำลังรบสหรัฐเข้าสู่สนามรบในเวียตนามเป็นครั้งแรกในต้นปี 1965 และให้มีการทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในชื่อรหัสว่า Operation Rolling Thunder ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องมาอีกหลายปี ในไม่ช้าร่างรัฐบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย พร้อมกับการต่อต้านร่างกฎหมายเหล่านั้น ในปี 1967 มีทหารอเมริกันราว 500,000 นายในเวียตนามใต้ และในปีเดียวกันนั้นมีก็การประท้วงต่อต้านสงครามครั้งใหญ่ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต่างยืนยันกับประธานาธิบดี Johnson ว่า ชัยชนะกำลังใกล้เข้ามา แต่ต่อมาเมื่อเอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถูกเปิดเผยในภายหลังกลายเป็นว่า ความคิดเห็นเหล่านี้ทำให้เข้าใจผิดอย่างมากมาย ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบในเวียตนามใต้นั้นได้กลายเป็นหลุมใหญ่และลึกไปเสียแล้ว สงครามเวียตนามกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก และประธานาธิบดี Johnson ก็กลายเป็นพวกกระหายสงคราม ในที่สุดประธานาธิบดี Johnson ก็ตัดสินใจที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1968

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 5 คนสุดท้ายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี Richard Nixon ในการรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี Nixon สัญญาว่า จะยุติสงครามเวียตนาม อย่างไรก็ตามภายหลังปรากฏว่า มีพยายามขัดขวางการเจรจาสันติภาพเพื่อทำให้คะแนนเสียงของเขาดีขึ้น ในฐานะประธานาธิบดี ประธานาธิบดี Nixon ค่อยๆ ทยอยถอนทหารอเมริกันออกจากเวียตนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Vietnamization” แต่เขาก็เพิ่มความขัดแย้งในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การอนุมัติการโจมตีทางอากาศอย่างลับ ๆ ในกัมพูชาในปี 1969 ต่อมาส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปยังกัมพูชาในปี 1970 และอนุมัติการบุกลาวในปี 1971 ทั้งหมดล้วนแต่เป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์อย่างยิ่งในการทำลายเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยกองกำลังเวียตกง นอกจากนั้นแล้วประธานาธิบดี Nixon ยังสั่งให้มีการโจมตีทางอากาศที่รุนแรงที่สุดในสงคราม ซึ่งส่งผลเวียตนามเหนือถูกทิ้งระเบิดถึง 36,000 ตัน ในช่วงปลายปี 1972 ในเดือนมกราคมปี 1973 เมื่อกรณีอื้อฉาว Watergate ถูกเปิดเผย ประธานาธิบดี Nixon จึงยุติบทบาทการมีส่วนร่วมโดยตรงของสหรัฐฯ ในเวียตนาม โดยกล่าวว่า ปฏิบัติการ "สันติภาพอย่างมีเกียรติ" ประสบความสำเร็จ แม้จะปรากฏว่า การสู้รบในเวียตนามยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 1975 กระทั่งกองกำลังทหารเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกงสามารถยึดกรุงไซ่ง่อนได้เมื่อ 30 เมษายน 1975 เมืองหลวงของเวียตนามใต้ และรวมประเทศเข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม

สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในอินโดจีนด้วยเหตุผลคือ การป้องกันการแผ่อำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ โดยยอมละเลยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของตนด้วยการสนับสนุนให้กองทัพที่เป็นพวกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและยอมทำตามสหรัฐฯ ทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นี้คือ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ พ่ายแพ้ในภูมิภาคนี้ด้วยผู้นำทางทหารเหล่านั้นเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วแทนที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง กลับกลายเป็นเผด็จการทรราชทำการทุจริตโกงกินคอร์รัปชันกันอย่างมากมายมหาศาล เมื่อนายทหารใหญ่ ๆ กลายเป็นเผด็จการทรราชทุจริตโกงกินแล้ว คุณภาพของกองทัพก็ลดลงทั้งวินัย ขวัญกำลังใจ และความสามารถในการรบ อุดมการณ์รักชาติกลายเป็นอุดมกินแสวงหาผลประโยชน์เงินทองในหมู่ทหารทุกระดับชั้น เมื่อมีความสุขสบาย ความรักตัวกลัวตายจึงเกิด อีกทั้งความช่วยเหลือที่ได้รับจากสหรัฐฯ นั้นมากมายมหาศาล ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังคงยึดถืออุดมการณ์รักชาติ เพื่อชาติ อยู่เช่นเดิม

เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโดจีนถูกเผยแพร่ตีแผ่ในสื่อต่าง ๆ ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ชาวอเมริกันได้เห็นปฏิบัติการรบ ทำให้ส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจจึงการเกิดการประท้วงต่อต้านสงครามอยู่ตามมหาวิทยาลัยและตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เด็กหนุ่มอเมริกันซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯ ใช้ระบบการเกณฑ์ทหารต่างก็หวาดกลัวจึงพากันต่อต้านและอพยพหลบหนีออกจากประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ไปรบในเวียตนาม ความเบื่อหน่ายต่อสงครามซึ่งสหรัฐฯ เข้าร่วมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องมา ทั้งอเมริกันชนไม่เห็นประโยชน์ในการทำสงครามเวียตนาม ทั้งสูญเสียชีวิตทหารอเมริกันเกือบหกหมื่นนาย รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยอมเจรจาสงบศึกและทยอยถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกจากเวียตนามในปี 1973 แต่ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลเวียตนามใต้ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาล โดยหวังว่า กองทัพเวียตนามใต้จะนำประชาชนจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกง ด้วยความผิดพลาดจากการทำให้กองทัพเวียตนามใต้เสพติดการทุจริตคอร์รัปชันโกงกิน ใช้อำนาจในการรังแกประชาชนจนขาดความยกย่อง นับถือ และเชื่อมั่น จึงไม่มีใครร่วมที่จะต่อสู้เลย ซ้ำร้ายทหารเวียตนามใต้เองเมื่อขาดวินัย ขวัญกำลังใจต่ำมาก ๆ จึงพากันถอดเครื่องแบบหนีทัพ ที่สุดแล้วอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลเหล่านั้นก็ตกอยู่มือของกองทัพเวียตนามเหนือ (กองทัพเวียดนามในปัจจุบัน) แม้จะสูญเสียไปในการรบกับจีนในสงครามจีนสั่งสอนเวียตนาม สงครามในกัมพูชา รบกับกองทัพไทย ไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ก็ยังคงมีเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมากและบางส่วนยังไม่เคยได้นำออกมาใช้งานเลย

การที่สหรัฐฯ ไม่สามารถเอาชนะในสงครามครั้งนั้นได้ ด้วยเพราะการบริหารที่ผิดพลาดทั้งการทหารและการเมือง เมื่อบริหารร่วมกันในการทำสงครามเวียตนามแล้วยิ่งผิดพลาดจนไปกันใหญ่ แม้จนปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯ จะยังคงเป็นกองทัพอันดับหนึ่งของโลกก็ตาม หากแต่พิจารณาถึงสงครามที่สงครามต่าง ๆ ในระยะหลังที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทนั้น กองทัพสหรัฐฯ จะถูกมองในบทบาทของผู้รุกรานมากกว่าบทบาทของผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปลดปล่อย ภาพปรากฏจึงกลายเป็นศัตรูมากกว่ามิตร เปรียบเหมือนกับกองทัพสหรัฐฯ นั้นใช้พระเดช (อำนาจ) มากกว่าพระคุณ (ไมตรีจิต-มิตรภาพ-จริงใจ-ช่วยเหลือ-ห่วงใย-ใส่ใจ) ความสำเร็จในการทำสงครามในมุมมองของผู้เขียนคือ การบริหารพระเดชและพระคุณให้เกิดความเหมาะสมสมดุล ไม่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยจนเกินไป แต่ใช้ทั้งสองอย่างให้เหมาะสม ตามแต่บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ๆ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) คือ สัจธรรมที่มนุษยชาติต้องประสบพบเจอ ไม่เว้นแม้แต่ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเราท่านน่าจะมีโอกาสได้เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไป

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top