Saturday, 10 May 2025
USABC

นายกฯ หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน  โชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal ภาคเอกชนสหรัฐฯ ยืนยันเดินหน้าสนับสนุนและร่วมมือกับไทยทุกด้าน 

ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. - ASEAN Business Council: USABC) ผ่านรูปแบบผสมระหว่างการเข้าพบหารือและการประชุมทางไกล (hybrid) โดยมีนาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC พร้อมด้วยผู้แทนจาก USABC และผู้บริหารภาคเอกชนสหรัฐฯ จำนวน 49 บริษัท เข้าร่วมการประชุมฯ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

นาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สอท. สหรัฐฯ ประจำประเทศไทย การหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ไทยเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานและความมั่นคงอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นหลัก พร้อมชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยที่บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำคณะธุรกิจสหรัฐฯ มาได้ในครั้งนี้ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยืนยันว่าต้องการจะขยายการลงทุนในไทย และยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า

นายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้พบหารือกับผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิก USABC ซึ่งถือเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในการเยือนภูมิภาคประจำปีของ USABC และถือเป็นมิตรของไทยที่พบกันเป็นประจำทุกปี รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นว่าร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงธุรกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวมกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวร้อยละ 6.19 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมทั้งในทางนโยบายทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญ การส่งเสริมพลังงานสะอาด การพัฒนา เทคโนโลยี EV และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง ยั่งยืน และหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่ดีในการสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกบริษัทอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน 

นายกรัฐมนตรีนำเสนอ 3 ประการหลักที่ไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal อย่างยั่งยืน มั่งคั่ง และเข้มแข็ง ดังนี้

1. การเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจโดยมุ่งดูแลฐานทรัพยากร และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งด้านพลังงานสะอาด ไทยจะเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และการพัฒนาอุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ของโลก    

2.  การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคง ในภูมิภาค โดยเฉพาะในสาขาแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับไทยและภูมิภาคในระยะยาว ผ่านการพัฒนาความร่วมมือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเป็นจุดหมายปลายทางของ Medical Tourism อันดับต้นของโลก

3. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และรับมือกับความท้าทายในยุค Next Normal มุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง data center และศูนย์กลางคลาวด์ในระดับภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจแบบแบ่งปันและบริการคลาวด์ ส่งเสริม e-commerce ธุรกิจ digital startups และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 15 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนากำลังพลด้านดิจิทัลด้วยการเสริมทักษะแก่บุคลากร ขณะเดียวกันได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกันขับเคลื่อน Digital Thailand ผ่านการลงทุน ณ Digital Valley และ IoT Institute ใน EEC อาทิ การรักษาแบบ Telemedicine    

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ภายใต้แนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและทุกภาคส่วน จึงหวังว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมทำงาน และสนับสนุนประเด็นที่ให้ความสำคัญร่วมกันเพื่อส่งต่อวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากไทยไปสู่วาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี 2566 อย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่าไทยเป็นตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ และยืนยันความร่วมมือในการส่งเสริมและขยายการส่งออกต่อไป โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสาธารณสุข ยินดีจะยืนเคียงข้างไทย รวมทั้งชื่นชมการเปิดประเทศและความมุ่นมั่นของไทยที่จะเพิ่มเติมบทบาทด้านการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า ซึ่งทางคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ยินดีที่จะสร้างความร่วมมืออย่างมีความรับผิดชอบและใกล้ชิดในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการต่อสู้สถานการณ์โควิด-19 ร่วมกัน และจะติดตามการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยต่อไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน ซึ่งขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นต่อไป

'พิชัย' ต้อนรับ ทัพนักธุรกิจรายใหญ่สหรัฐฯ USABC ชวนลงทุน-ตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ในไทย ย้ำ!ไทยกำลังฮอต พาณิชย์พร้อมอำนวยความสะดวกการค้า-ลงทุนเต็มที่

(25 พ.ย. 67) ณ ห้องประชุมมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน หรือ US-ASEAN Business Council (USABC) จำนวนกว่า 57 ราย จาก 30 บริษัท ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ การท่องเที่ยว อาหารและเกษตร พลังงาน เทคโนโลยี สารสนเทศ สุขภาพและการเงิน อาทิ บริษัท Amazon, Boeing, ExxonMobil, Citi, Google, Mastercard, Pfizer, Philip Morris, Seagate และ Tyson ที่นำโดยเอกอัครราชทูตเท็ด โอเซียส (Ambassador Ted Osius) เพื่อมาหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน แก้ปัญหาสิ่งที่เป็นอุปสรรคทางการค้าร่วมกัน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า

นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้มีนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา-อาเซียน หรือ USABC เข้ามาพบตนที่กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากทราบดีว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนไหลเข้ามามากโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ อาทิ Western Digital และ Seagate จะมาขยายการลงทุน HP จะย้ายฐานการลงทุนมาไทย ก่อนหน้านี้ตนได้ไปประชุมทูตพานิชย์ในภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา ที่สหรัฐฯ ได้รับข้อมูลตรงกันคือ สหรัฐฯจะมีการลงทุนมาไทยเยอะ และตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสูงมากเป็นเลขสองหลัก ซึ่งน่าพอใจและเรายังมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นอีก

ประเทศไทยจะเป็น Investment Destination หรือ จุดหมายปลายทางของการลงทุนที่สหรัฐฯอยากจะมาลงทุน โดยในการหารือตนได้ขอให้ทางนักธุรกิจไปคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องของ GSP (สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศไทยอยู่ในบัญชี Watch List (ประเทศที่ต้องจับตามอง) ซึ่งตนก็ได้หารือกับนางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งท่านก็รับปากจะไปดำเนินการให้ และประเด็นที่ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯเยอะ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทางสหรัฐฯมาตั้งฐานการผลิตที่ไทยแล้วส่งกลับไปที่สหรัฐฯ ทั้งจาก Western Digital และ Seagate  ขอให้ทางนักธุรกิจสหรัฐฯช่วยแจ้งไปยังท่านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทางไทยอยากได้รับการส่งเสริมเพราะไทยมีความเป็นมิตรกับทุกประเทศทั้ง สหรัฐฯ UAE จีน อินเดีย เรามีโอกาสที่จะได้รับการลงทุนจากหลายประเทศ ซึ่งจากที่ตนไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ที่สาธารณรัฐเปรู ทุกประเทศต่างบอกว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการลงทุน PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) เราจะผลิต PCB มากที่สุดในโลก จะมีการโยกย้ายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เข้ามาเยอะมาก 

และจากนี้ตนจะเดินทางไปที่ญี่ปุ่นในเดือนหน้าเพื่อพบกับนักลงทุนและทางมหาวิทยาลัยโตเกียว (the University of Tokyo) ก็ได้เชิญตนไปบรรยายทิศทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งตนจะไปเชิญชวนนักลงทุน นักวิชาการ สมาคมการค้าต่างๆของญี่ปุ่น ให้เห็นถึงความพร้อมของไทยในการต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลก อยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทยอีกครั้ง จะเชิญชวนให้มาลงทุนไทยมากขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่

รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ เรามีคนเก่งเยอะพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้กับนักธุรกิจเต็มที่และเราก็เร่งเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA ให้เรามี FTA มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ FTA ระหว่างไทยกับเอฟตาก็น่าจะจบได้ในเดือนมกราคมนี้ แล้วหลังจากนั้นจะตามมาด้วย อียู อาเซียน-แคนาดา ซึ่งมีโอกาสสำเร็จสูง และในเดือนพฤษภาคม ท่านรัฐมนตรีแคนาดาจะนำนักลงทุนจากแคนาดากว่า 100 คน มาเมืองไทย เพื่อหาช่องทางลงทุนในไทย

“ตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังฮอต ตนได้พบกับท่านรองนายกฯคลัง (พิชัย ชุณหวชิร) ท่านเดินทางไปจีน มีบริษัทจีนอยากย้ายเข้ามาเมืองไทยเต็มไปหมด เรากำลังไปได้ดีประเทศไทยกลับมาฮอตใหม่เหมือนอย่างในอดีต ขอให้สภาวะนี้เป็นไปเรื่อยๆ ให้เราเจริญ รายได้ของประชาชนจะได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทำให้ประเทศเราเจริญต่อได้“นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

โดยองค์กร USABC เป็นองค์กรที่มีสมาชิกเป็นบริษัทชั้นนำสหรัฐฯที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจกับประเทศในอาเซียน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน และสำนักงานสาขา 7 แห่งในนครนิวยอร์ก กรุงเทพฯ กรุงฮานอย กรุงจาการ์ตา กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงมะนิลา และสิงคโปร์ ทั้งในปี 2566 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของไทยรองจากจีน โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯมีมูลค่า 67,659.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 3.65 ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 48,352.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 1.72 ทั้งนี้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 55,681.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 9.84 ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯมีมูลค่า 40,610.98 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 12.48 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องบิน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top