Saturday, 19 April 2025
Uniqlo

ธุรกิจการ์เมนต์เมียนมาสะเทือน เมื่อ 3 เจ้าใหญ่ต่างทยอยถอนตัว

นับจากการประกาศของ Mark & Spencer เมื่อปีที่แล้วที่จะถอนธุรกิจออกจากเมียนมาในเดือนมีนาคมนี้ ล่าสุดทางนิเกอิ ก็ได้รายงานว่า บริษัทฟาสต์ รีเทลลิงของญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ 'ยูนิโคล่' (Uniqlo) ได้กลายเป็นอีกบริษัทที่ตัดสินใจถอนธุรกิจออกจากเมียนมาด้วยเช่นกัน 

โดย Uniqlo ได้ถอดรายชื่อกลุ่มพันธมิตรในเมียนมาออกจากรายชื่อโรงงานผลิตเสื้อผ้า ซึ่งที่ผ่านมาฟาสต์ รีเทลลิงรายนี้ ได้จ้างผลิตเสื้อแจ็กเก็ตและเสื้อเชิ้ตสำหรับแบรนด์ GU แต่ก็จะยุติการผลิตสินค้าสำหรับฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวปี 2566 ไปโดยปริยาย  

ไม่เพียงเท่านั้น ด้านบริษัทเรียวฮิน เคคะคุ เจ้าของแบรนด์ 'มูจิ' (Muji) จากญี่ปุ่น ก็มีแผนที่จะยุติการจ้างผลิตเสื้อแจ็กเก็ตและสินค้าชนิดอื่น ๆ จากเมียนมาภายในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย 

สำหรับการถอนตัวของแบรนด์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มาจากเหตุผลเพียงหนึ่งเดียว นั่นก็คือ บริษัทไม่สามารถละเลยต่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้ 

‘Uniqlo’ เอาจริง!! ยื่นฟ้อง ‘Shein’ ปมก๊อปกระเป๋ารุ่นฮิต เรียกร้องให้หยุดขาย พร้อมชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

(18 ม.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศ บีบีซี รายงานว่า Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าดังในเครือบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิง ของญี่ปุ่น ยื่นฟ้อง Shein แบรนด์ฟาสต์แฟชันยักษ์ใหญ่จีน ปมก๊อปกระเป๋าสะพายข้างของ Uniqlo ที่เป็นไวรัลในโลกโซเชียลจนได้ฉายาว่ากระเป๋า Mary Poppins ขาย

ตามรายงานเบื้องต้น เผยว่า Uniqlo ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแขวงโตเกียว เพื่อฟ้อง Shein Japan และบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง หลังกระเป๋าบางรุ่นของ Shein มีความคล้ายคลึงกับกระเป๋าสะพายข้างของ Uniqlo ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในแบรนด์สินค้าได้

นอกจากนี้ ทางยูนิโคล่ยังเรียกร้องให้ Shein หยุดขายกระเป๋ารุ่นดังกล่าว พร้อมทั้งยังเรียกค่าชดเชยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนทาง Shein ยังไม่ได้ตอบสนองหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม กระเป๋าสะพายข้างรุ่นนี้ของ Uniqlo ได้รับความนิยมอย่างมากบนโลกออนไลน์ โดยกระเป๋ารุ่นนี้สามารถจุของได้หลายชิ้น เปรียบได้กับกระเป๋าวิเศษของ แมรี ป๊อปปินส์ ตัวละครเอกในภาพยนตร์แนวแฟนตาซีชื่อดังเมื่อปี 1964

โดยคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นการใช้งานกระเป๋ารุ่นนี้ยังเรียกยอดกดไลก์ได้หลายล้านครั้งในปีที่แล้ว สำหรับราคาของกระเป๋าสะพายรุ่นนี้ที่ทำจากไนลอน มีราคาขายในอังกฤษที่ใบละ 14.90 ปอนด์หรือราว 674 บาท และถือว่าเป็นสินค้าขายดีที่สุดของ Uniqlo ณ ขณะนี้

ทั้งนี้ ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ Shein เป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชันของจีนก่อตั้ง เมื่อปี 2551 มียอดขายสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ผลจากการล็อกดาวน์ที่ทำให้คนหันมาจับจ่ายซื้อของทางออนไลน์อย่างก้าวกระโดด และกลยุทธ์ทางการตลาดของ Shein ที่มุ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

อีกทั้ง ปัจจุบัน Shein มีพนักงานอยู่ทั่วโลกรวมกันประมาณ 10,000 คน และจำหน่ายสินค้าในมากกว่า 150 ประเทศ โดยมีฐานดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์และมีรายงานข่าวว่า Shein กำลังพิจารณาที่จะเข้าสู่ตลาดหุ้นนิวยอร์กอีกด้วย

ขณะที่ ทางบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิง ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ได้เปิดร้าน Uniqlo สาขาแรกในปี 2527 ปัจจุบันมีร้านสาขาราว 2,500 แห่งทั่วโลก โดยสาขาส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน

CEO ยูนิโคล่หลุดยอมรับ "ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียง" ชาวเน็ตแผ่นดินใหญ่เดือดแห่ไม่ซื้อสินค้า

(3 ธ.ค. 67) ผ้าฝ้ายซินเจียง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผ้าที่ดีที่สุดของโลก กลับกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สร้างแรงกดดันให้กับแบรนด์แฟชั่นระดับโลก โดยเฉพาะจากตะวันตก หลังจากมีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนใช้แรงงานบังคับชาวอุยกูร์ในการผลิตผ้า  

ล่าสุด ยูนิโคล่ (Uniqlo) แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นรายใหญ่ของโลกจากญี่ปุ่น กำลังเผชิญกระแสความไม่พอใจจากลูกค้าชาวจีน หลังจาก ทาดาชิ ยาไน (Tadashi Yanai) ซีอีโอของ Fast Retailing บริษัทแม่ของยูนิโคล่ ให้สัมภาษณ์กับ BBC โดยระบุว่าบริษัทไม่ได้ใช้ผ้าฝ้ายซินเจียง แต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะยืนยันหรือปฏิเสธชัดเจนว่าผ้าฝ้ายซินเจียงถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ของยูนิโคล่หรือไม่ พร้อมทั้งย้ำว่าต้องการรักษาจุดยืนเป็นกลางระหว่างจีนและสหรัฐฯ  

คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวกลายเป็นไวรัลบน Weibo โซเชียลมีเดียยอดนิยมในจีน ทำให้ผู้ใช้งานจำนวนมากออกมาประณาม พร้อมประกาศว่าจะไม่สนับสนุนสินค้าของยูนิโคล่  

แม้ยูนิโคล่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ แต่ซีอีโอก็ยอมรับว่า “ยูนิโคล่ไม่ใช่แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก” โดยเอเชียยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะจีน ซึ่งถือเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ Fast Retailing รวมกับไต้หวันและฮ่องกง มีสัดส่วนรายได้ถึง 20% ปัจจุบันยูนิโคล่มีสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ประมาณ 900-1,000 แห่ง และซีอีโอเชื่อว่าจีนยังมีศักยภาพในการขยายสาขาได้ถึง 3,000 แห่ง นอกจากนี้ จีนยังเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นนี้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2022 หลังจากสหรัฐฯ ออกมาตรการแบนการใช้ผ้าฝ้ายซินเจียงเนื่องจากข้อสงสัยเรื่องการใช้แรงงานบังคับ ส่งผลให้แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ เช่น H&M หยุดใช้ผ้าฝ้ายซินเจียง จนถูกผู้บริโภคชาวจีนแบน ร้านค้าในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่ถูกถอด และบางสาขาถูกสั่งปิดไม่มีกำหนด  

ในขณะเดียวกัน ยูนิโคล่ยังต้องเผชิญการแข่งขันสูงในตลาดฟาสต์แฟชั่นจากแบรนด์จีนอย่าง Shein และ Temu ที่เน้นการขายสินค้าราคาถูก ซึ่งส่งผลให้ความท้าทายของยูนิโคล่ในตลาดจีนยิ่งเพิ่มขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top