Thursday, 16 May 2024
True

กฎหมายปวกเปียก!! ‘ศิริกัญญา’ ชี้ กรณีควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สำเร็จ สะท้อน 'กฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาด' ล้มเหลว

‘ศิริกัญญา’ ชี้ ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สำเร็จ สะท้อนกฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาดล้มเหลว แนะ ฝ่ายการเมืองต้องถือธงนำ ดึงระบบขออนุญาตรวมธุรกิจกลับมา ยกเครื่อง กขค. เรียกร้องความกล้าหาญ-ซื่อตรงหลักการสู้ทุนผูกขาด

(2 มี.ค.66) ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคเสร็จสมบูรณ์ และมีการตั้งบริษัทใหม่ ใช้ชื่อว่า ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ รวมถึงกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้อง คดีที่มีการยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค เข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ศิริกัญญา กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณี ทำให้ประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพียง 2 เจ้าอย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม

ผลกระทบจากการควบรวมที่จะเกิดขึ้น คงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำ เพราะผลการศึกษาจากทั้งสถาบันวิชาการ และผลการศึกษาจากทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่าจะส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้น 10-200% สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา และคุณภาพการให้บริการอาจจะด้อยลงจากการแข่งขันที่ลดลง และตลาดมือถือจะอยู่ในจุดที่สภาวะการแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในจุดเดิม

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาจึงอยู่ที่กฎหมายที่ กสทช. ใช้ในการกำกับดูแลตลาดที่อ่อนปวกเปียก นำไปสู่ช่องโหว่รูใหญ่ที่ภาคเอกชนมองเห็นลู่ทางที่จะสามารถควบรวมกันได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น และศาลอาญาคดีทุจริตฯ เองก็ใช้บรรทัดฐานเดียวกัน

โดยช่องโหว่รูใหญ่ เริ่มจากการแก้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เมื่อปี 2561 โดย กสทช. ตัดอำนาจการอนุญาตควบรวมธุรกิจออกไป เหลือไว้แค่การรับทราบและแค่กำหนดมาตรการเยียวยา แม้จะมีประกาศอีกฉบับเพื่อป้องกันการผูกขาดที่ให้อำนาจอนุญาตไว้ แต่ถ้าเอกชนยืนยันว่านี่คือการควบรวม ไม่ใช่การเข้าซื้อธุรกิจโดยผู้ถือใบอนุญาต ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ซึ่งก็คือกรณีนี้ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น (เดิม) เลือกที่จะไม่เทคโอเวอร์ดีแทค แต่ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อซื้อหุ้นต่อจากบริษัททั้ง 2 เพียงเท่านี้ก็หลุดพ้นจากขั้นตอนการขออนุญาต แล้วค่อยเปลี่ยนชื่อบริษัทที่ตั้งใหม่เป็น ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ อย่างที่ทำไปเมื่อวานนี้ (1 มีนาคม)

“เพื่อเช็กว่าเรื่องนี้ขัดกับสามัญสำนึกแค่ไหน ลองจินตนาการว่าในอนาคต หากทรู และเอไอเอส จะควบรวมธุรกิจกันจนค่ายมือถือเหลือ 1 เจ้า ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น” ศิริกัญญาระบุ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า แนวทางที่จะขันน็อตปิดรูรั่วช่องโหว่ทางกฎหมาย คือการสังคายนากฎหมายแข่งขันทางการค้าครั้งใหญ่ เพื่อให้ทุกกฎหมายอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เพราะอย่างน้อยในกรณีนี้ ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกับ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ยังจำเป็นต้องขออนุญาตเพื่อควบรวมกิจการก่อน

‘พิธา’ ขอยกเครื่องกฎหมายต่อต้านผูกขาด ปิดช่องโหว่ กสทช. เปลี่ยนจาก ‘รบ.เกรงใจกลุ่มทุน’ เป็น ‘รบ.ที่เกรงใจประชาชน’

‘พิธา’ ชี้ ค่ามือถือ-เน็ตบ้านเสี่ยงแพงขึ้น จากบรรทัดฐานที่เลวร้ายของ กสทช. เผย ‘ก้าวไกล’ เป็นรัฐบาล พร้อมยกเครื่องกฎหมายต่อต้านผูกขาด ปิดช่องโหว่ กสทช. ปฏิเสธอำนาจตัวเอง เปลี่ยน ‘รัฐบาลเกรงใจกลุ่มทุน’ เป็น ‘รัฐบาลเกรงใจประชาชน’

(21 เม.ย.66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบหลักการกรณี AIS เข้าซื้อหุ้น JAS และ 3BB ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ TRUE-DTAC ว่า ในข่าวไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก ยิ่งทำให้ประชาชนเป็นกังวลว่า ‘หลักการ’ ทิศทางเดียวกับ TRUE-DTAC หมายความว่า กสทช.จะยอมให้ควบรวมแบบไม่ต้องขออนุญาตเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะ กสทช. ได้สร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายว่าการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม มีช่องโหว่ให้สามารถรวมกันได้ โดยไม่มีหน่วยงานใดในประเทศนี้สามารถยับยั้งได้ และกำลังจะใช้บรรทัดฐานนี้กับการควบรวมครั้งใหม่ของ AIS และ 3BB หรือไม่

นายพิธากล่าวว่า การควบรวมครั้งใหม่นี้จะส่งผลต่อค่าอินเทอร์เน็ตบ้านอย่างไร อธิบายง่ายๆ ก็คือการที่บริษัท AIS ที่ขาหนึ่งทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน จะเข้าซื้อบริษัท 3BB ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านอีกราย ทำให้ AIS จะกลายเป็นบริษัทที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจนอาจมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งในระยะยาวจะลดการแข่งขันลงและทำให้ค่าเน็ตบ้านที่ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น

อธิบายให้ละเอียดกว่านั้น คือในขณะนี้ตลาดของอินเทอร์เน็ตบ้าน มีผู้แข่งขันอยู่ 4 ราย ได้แก่ TRUE ครอบครองส่วนแบ่งตลาด 36%, 3BB ครองส่วนแบ่งตลาด 28%, NT (TOT เดิม) ครองส่วนแบ่งตลาด 20% และ AIS ครองส่วนแบ่งตลาด 13% การที่ AIS จะเข้าซื้อ 3BB จะทำให้ AIS+3BB ครองส่วนแบ่งตลาด 41% มากเป็นอันดับหนึ่ง แทนที่ TRUE ถ้าเรายังจำกันได้ ก่อนที่จะมี AIS Fiber และมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านแค่ 3 ราย ค่าบริการสูงกว่าในปัจจุบัน และคุณภาพการให้บริการก็แย่กว่าในปัจจุบัน

นายพิธากล่าวต่อว่า เราคงต้องจับตากันว่ากรณีนี้ กสทช. จะมีมติออกมาเร็ว ๆ นี้หรือไม่ แต่หลังเลือกตั้งหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะต้องมีการยกเครื่องกฎหมายต่อต้านการผูกขาดใหม่ทั้งหมด ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อปิดช่องโหว่ที่ กสทช.จะปฏิเสธอำนาจตัวเอง แล้วปล่อยปละละเลยหน้าที่การกำกับดูแลของตัวเอง ให้เกิดการควบรวมที่จะลดการแข่งขัน สร้างภาระค่าครองชีพให้ประชาชนด้วยราคาสินค้าค่าบริการที่แพงขึ้น

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่ง ศาลปกครองชั้นต้น ให้รับฟ้องคดีควบรวม TRUE-DTAC ชี้!! เข้าข่ายผูกขาด

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอถอนมติ กสทช. เรื่องการควบรวม TRUE-DTAC ชี้ การควบรวมส่งผลกระทบวงกว้าง - เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีลักษณะกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ

(30 ต.ค. 66) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. กรณีขอให้เพิกถอนมติ กสทช.ในการประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค. 65 ที่รับทราบเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน)และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งประกาศ และนิติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 65

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 จะเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ แต่ บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายจึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้างจึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่งกฎหมายเดียวกัน 

ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป

ผลสำรวจชี้ ‘เน็ตช้าลง’ หลังทรูควบรวมดีแทค ผู้บริโภควอน!! ได้เท่าก่อนควบรวมกิจการก็ยังดี

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน หลัง ‘ทรู’ ควบรวม ‘ดีแทค’ พบว่า ผลกระทบที่ผู้บริโภคสะท้อนเป็นอันดับ 1 คือ ‘อินเทอร์เน็ตลดสปีด’ ผิดเงื่อนไข ร้อยละ 81 ทางมูลนิธิฯ เตรียมนำผลสำรวจนี้เสนอให้ ‘กสทช.’ เร่งดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา

(15 ธ.ค. 66) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นผลกระทบของผู้บริโภค หลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง ทรูกับดีแทค (TRUE-DTAC) โดยสำรวจตั้งแต่วันที่ 9-23 พ.ย.2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 3,000 คน พบว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ คอลเซ็นเตอร์โทร.ติดยาก
.
ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจกลุ่มนี้ มีข้อเสนอแนะไปยังผู้ให้บริหารโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ต้องปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีกว่าเดิม หรือ ดีเท่ากับช่วงก่อนควบรวมกิจการ และสัญญาณความเร็วต้องใช้ได้จริงตามแพ็กเกจที่ลูกค้าซื้อ ส่วนเพดานค่าบริการต้องลดเฉลี่ยลงร้อยละ 12 ทันที รวมทั้งเสาสัญญาณควรนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายจุดรับสัญญาณ

จากผลสำรวจนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนำไปเสนอต่อผู้ให้บริการและ ‘กสทช.’ ให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา 

ด้าน ‘นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา’ อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนปัญหาจากผู้ใช้บริการจริง ทาง กสทช.ควรเร่งตรวจสอบศึกษาผลกระทบ การควบรวมเครือข่ายมือถือ กำหนดบทลงโทษจริงจังกับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเอาผิดผู้ประกอบการ

อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า กรณีมีผู้ร้องเรียนเรื่องการลดจำนวนเสาสัญญาณที่อยู่ใกล้กัน เพื่อบริหารต้นทุน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ของเสาสัญญาณทรูและดีแทค แต่จำนวนผู้ใช้สัญญาณมาจาก 2 โครงข่ายจึงแย่งกันใช้มากขึ้น ทำให้ความเร็วสัญญาณลดลง ซึ่ง กสทช. ควรเข้าไปตรวจสอบ เพราะการลดจำนวนเสาสัญญาณ ต้องขออนุญาต กสทช. หากไม่ขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุว่า การพักหรือหยุดให้บริการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจะต้องขอความเห็นชอบก่อน

‘กสทช.’ ยัน!! ตรวจผลทำงาน ‘ทรู-ดีแทค’ ละเอียดยิบ พบ ‘คุณภาพสัญญาณ-ค่าบริการ’ ยังทำตามเงื่อนไข

(19 ธ.ค.66) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ทางสำนักงาน กสทช. ยืนยันว่าคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินตามมาตรการเยียวยาของการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC ได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการตรวจสอบจะต้องเสนอรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. รับทราบก่อนจึงจะมีการเปิดเผยได้ หลังรวมธุรกิจฯ ทาง TRUE ก็ได้มีการส่งรายงานมาแล้วและมีการจัดทำรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ หมดวาระลงในวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่า TRUE ยังคงยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขภายหลังการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มาโดยตลอด แต่ปัญหาอาจเกิดจากการสื่อสารที่ออกไปยังสาธารณะ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดก่อให้เกิดความสับสนของผู้ได้รับข้อมูล อาทิ ประเด็นการลดเสาสัญญาณ ทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง ซึ่ง TRUE ได้มีการชี้แจงข้อมูลในประเด็นที่มีการร้องเรียนเรื่องของเสาสัญญาณที่มีจำนวนมาก โดยภายหลังการรวมธุรกิจรวม TRUE-DTAC จะต้องมีการสำรวจพื้นที่จุดซ้ำซ้อน และทำการโยกย้ายสถานีฐาน ไปในจุดที่สัญญาณดีกว่าไปรวมไว้กับเสาที่คงไว้ ก่อนจะยุบเสาเปล่าออกไป เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษทางสายตา และยืนยันว่าคุณภาพการส่งสัญญาณยังคงเดิม แต่ได้มีการตำหนิ TRUE เกี่ยวกับการแจ้งดำเนินการยุบเสาสัญญาณและย้ายสถานีฐานให้ผู้ใช้บริการรับทราบก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของการประเด็นเกี่ยวกับอัตราค่าบริการที่เฉลี่ยลดลง 12% จะใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละรายการส่งเสริมด้านการขายภายใน 90 วัน หลังจากที่ได้มีการรวมธุรกิจ ทาง TRUE ได้ส่งข้อมูลให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบ โดย กสทช.ได้ทำการสุ่มตรวจสอบข้อมูล ซึ่งการลดราคาในการลดค่าเฉลี่ยว่าแพ็กเกจไหนประชาชนใช้เยอะ กสทช.จะนำมาเฉลี่ยผลลัพธ์ออกมา จากการตรวจสอบก็พบว่า TRUE ยังทำตามมาตรฐานที่ได้กำหนด

สำหรับการเฉลี่ยราคาโดยการถ่วงน้ำหนักจากแพ็กเกจที่มีผู้ใช้มาก ที่ว่าลดลง 12% นั้น ค่าเฉลี่ยนั้นคือราคาเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ต้องเสนอ บอร์ด กสทช. รับทราบก่อน ขณะที่ประเด็นของแพ็กเกจราคา 299 บาท และมีแพ็กเกจอื่นๆ ที่หายไปยืนยันว่าปัจจุบันยังมีการให้บริการอยู่ เมื่อครบกำหนดใช้บริการ 30 วัน แพ็กเกจจะหมดอายุ ผู้ให้บริการจะให้ผู้บริโภคเลือกว่าจะต่อแพ็กเกจเดิม หรือใช้แพ็กเกจใหม่ที่กำหนดได้ไม่มีการบังคับการเลือกใช้แพ็กเกจ รวมถึงข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณที่ก่อนควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มีจำนวน 944 เรื่อง แบ่งเป็นของ TRUE  637 เรื่อง และ DTAC 307 เรื่อง และหลังควบรวมธุรกิจมี 836 เรื่อง โดยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณแค่ 17 เรื่อง

ด้าน พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า หลังการรวมธุรกิจของ TRUE-DTAC นั้น จากข้อมูลได้มีการตรวจสอบที่ชัดเจนเริ่มที่กระบวนการติดตามการดำเนินการเรื่องควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ตามเงื่อนไขหลังควบรวมทั้งสิ้น 19 ข้อ ซึ่งที่ผ่านมา TRUE ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขในระยะเวลาที่กำหนด มีเพียงเรื่องการว่าจ้างคณะที่ปรึกษามาประเมินเรื่องราคาและคุณภาพ ตามเงื่อนไข ซึ่งติดที่คณะอนุฯ หมดวาระและได้ขยายระยะเวลาการทำงานของคณะอนุฯ นี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลของประธานอนุกรรมการผู้บริโภค ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการติดตามฯ เป็นเหตุที่ทำให้บอร์ด กสทช.ทั้ง 4 ท่าน ทำเรื่องเสนอประธาน กสทช. นำเรื่องเข้าที่ประชุม โดยเรื่องการติดตามหลังควบรวมธุรกิจฯ ได้ถูกบรรจุในวาระการประชุมมาโดยตลอด แต่การประชุมครั้งที่ผ่านๆมา ยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งในการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ จะมีการนำเรื่องนี้มาหารือ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top