Monday, 19 May 2025
TikTok

‘จีน’ ประณาม ‘สหรัฐฯ’ หลังผ่านร่าง กม.แบน ‘TikTok’ พร้อมเตือน!! ท้ายสุดเรื่องนี้จะย้อนกลับมาเล่นงานตัวเอง

(14 มี.ค.67) จากกรณีสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 352 ต่อ 65 ก่อนที่จะส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป โดยสมาชิกรัฐสภาสหรัฐที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวมองว่า TikTok เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เนื่องจากถูกควบคุมโดยชาติที่เป็นศัตรูของสหรัฐ

ทางด้าน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาพร้อมที่จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าว หากผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส

ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมากล่าวหาสหรัฐว่า พยายามปราบปราม TikTok ทั้งที่ไม่เคยพบหลักฐานว่า TikTok เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

“พฤติกรรมรังแกกันแบบนี้ เพราะไม่สามารถเอาชนะในการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ เป็นตัวขัดขวางกิจกรรมทางธุรกิจปกติของบริษัทต่างๆ, สร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนระหว่างประเทศในสภาพแวดล้อมการลงทุน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการซื้อขาย ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะย้อนกลับมาเล่นงานสหรัฐเอง" นายหวัง กล่าว

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กฎหมายปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาติ’ (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act) ยังจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐและให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนาม เพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาพร้อมที่จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าว หากผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส

โดยสหรัฐแสดงความกังวลมาตลอด ว่า TikTok อาจแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้กับรัฐบาลจีน ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ ไบต์แดนซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok ปฏิเสธเรื่องความเสี่ยงใดๆ และยืนยันว่าพวกเขาปรับโครงสร้างบริษัทไปแล้ว เพื่อให้ข้อมูลของชาวอเมริกันอยู่แต่ในสหรัฐเท่านั้น

‘TikTok’ อ่วม!! โดน ‘อิตาลี’ ปรับเงิน 10 ล้านยูโร เหตุไม่ควบคุม ‘เนื้อหาอันตราย’ ต่อเยาวชน

(19 มี.ค.67) TikTok กำลังเผชิญกับปัญหาจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นคำถามจากการให้บริการในสหรัฐอเมริกา และล่าสุดทางการอิตาลีสั่งปรับเป็นเงิน 10 ล้านยูโร เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ที่อายุน้อยหรือผู้ใช้งานอื่นๆ อย่างเหมาะสม

แพลตฟอร์มที่มี ByteDance บริษัทแม่สัญชาติจีนเป็นเจ้าของกำลังเผชิญกับความล้มเหลวในการสร้างมาตรการปลอดภัยต่อและการปกป้องผู้เยาว์ที่ยังไม่สามารถแยกแยะเนื้อหาที่เหมาะสมได้ และอาจได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมการโน้มน้าวชักจูงจากกระแสไวรัล ตามรายงานของหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดด้านการแข่งขันของอิตาลีหรือ AGCM

ทั้งนี้ หน่วยงานเฝ้าระวังดังกล่าวได้จับตามอง และกล่าวถึงวิดีโอไวรัลที่กำลังเป็นปัญหา โดยมีเนื้อหาในการท้าให้ผู้เข้าร่วมทำภารกิจที่เรียกว่า ‘French scar’ โดยเฉพาะ ผู้ใช้งานเยาวชน ด้วยการหยิกแก้มตัวเองเพื่อสร้างรอยช้ำบนโหนกแก้ม ในเนื้อหานี้ TikTok ไม่ได้มี ‘มาตรการที่เพียงพอ’ ในการควบคุมและจัดการ เพื่อให้แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน AGCM กล่าว หลังจากการสอบสวนในเรื่องนี้ที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลของอิตาลีเรียกร้องให้ TikTok ระงับวิดีโอดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม หลังจากภารกิจ ‘French scar’ ดังกล่าวส่งผลที่เป็นอันตรายและกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความกังวลใจ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ TikTok ถูกพิจารณาว่าไม่ปลอดภัย และถูกปรับจากการขาดประสิทธิภาพในมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา อังกฤษได้ปรับ TikTok เป็นเงินจำนวน เกือบ 16 ล้านเหรียญฐานใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานที่เป็นเยาวชนในทางที่ไม่เหมาะสม และละเมิดข้อจำกัดอายุของผู้ใช้แพลตฟอร์ม

ด้านองค์กรอิสระดังกล่าวยังพบว่า ฟีเจอร์ ‘For you’ ของ TikTok สามารถกระตุ้นให้ผู้ใช้ที่เป็นเด็กเข้าสู่เนื้อหาที่เป็นอันตรายได้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ Eric Adams นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กฟ้อง TikTok พร้อมด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น Meta ในข้อหาเป็นต้นเหตุของวิกฤติสุขภาพจิตของเยาวชน

ผู้แทนจาก TikTok ออกมาให้ความเห็นว่า แม้ว่าจะมีหลายกรณีที่ TikTok ล้มเหลวในการทำให้แอปโซเชียลมีเดียปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทุกคน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ AGCM ในอิตาลี

“เนื้อหาที่เรียกว่า 'French scar' มีการค้นหาเฉลี่ยเพียง 100 ครั้งต่อวันในอิตาลีก่อนที่จะมีการประกาศของ AGCM เมื่อปีที่แล้ว และทาง TikTok จำกัดการเปิดเผยเนื้อหานี้ไว้นานแล้วโดยกำหนดให้ผู้เข้าถึงเนื้อหาต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี” โฆษกของ TikTok กล่าวกับ Fortune

TikTok กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งคือ สหรัฐฯ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติลงมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ที่มีอำนาจสั่งห้ามแพลตฟอร์มให้บริการในสหรัฐฯ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้ผ่านการอนุมัติ และกำลังถูกพิจารณาจากวุฒิสภา โดยที่ผลลัพธ์ยังคงไม่แน่นอน

ในบรรดาข้อกังวลหลายประการนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน ซึ่ง TikTok ได้ปฏิเสธมาตลอด ความกังวลดังกล่าวทำให้รัฐบาลหลายแห่งสั่งห้ามให้มีการติดตั้งแพลตฟอร์มบนอุปกรณ์ของรัฐบาล

แม้ว่าอนาคตของ TikTok จะแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ TikTok ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ทรงอิทธิพลที่สุดโดยมีผู้ใช้มากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย วิธีที่แพลตฟอร์มจะรับมือกับข้อร้องเรียนจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการขาดความปลอดภัยอาจชี้ให้เห็นทิศทางในอนาคตของการดำเนินงานของแพลตฟอร์ม

‘มิสแกรนด์ฯ’ ประกาศร่วมมือกับ ‘Tiktok’ เอาผิดคนสั่งซื้อสินค้าแล้วกดยกเลิก หลังผู้เข้าประกวดไลฟ์ขายของแล้วโดนกันอ่วม ชี้!! จะดำเนินการตาม กม.ต่อไป

(25 มี.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก Miss Grand Thailand ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

จากการกรณีที่มีผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024 บางส่วนโดนยกเลิกคำสั่งซื้อในการ Live ขายของบนแพลตฟอร์ม TikTok ทางองค์กรมิสแกรนด์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว และได้ร่วมมือกับทาง TikTok เพื่อเอาผิดผู้ที่สร้างคำสั่งซื้อสินค้าแล้วยกเลิก โดยการกระทำในลักษณะนี้ถือว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา และจะดำเนินการในขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป 

‘Tiktok’ มุ่งเน้น ‘รักษาความปลอดภัย’ ของผู้ใช้งานบนออนไลน์ ครอบคลุมในด้าน ‘ความเป็นส่วนตัวข้อมูล-การกลั่นกรองเนื้อหา’

(11 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ติ๊กต็อก (TikTok) แอปพลิเคชันคลิปวิดีโอขนาดสั้น กล่าวย้ำถึงความทุ่มเทในการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้งานขณะใช้งานทางออนไลน์

ด้าน ฟอร์จูน แมกวิลี-สิบันดา ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลและนโยบายสาธารณะของติ๊กต็อก ประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา กล่าวว่า ติ๊กต็อกพัฒนาหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน นโยบายผู้ใช้งาน และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

แมกวิลี-สิบันดา ระบุว่า เราจะจัดอบรมวิธีการทำงานของติ๊กต็อกสำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแล โดยมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และวิธีการกลั่นกรองเนื้อหาบนแพลตฟอร์มนี้

แมกวิลี-สิบันดา เน้นย้ำว่า ศูนย์รักษาความปลอดภัยของติ๊กต็อกยังมอบทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งานเดิมและผู้ใช้งานรายใหม่ ครอบครัว และผู้ดูแล เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่เหมาะกับผู้ใช้งาน

ปัจจุบันติ๊กต็อกมีผู้เชี่ยวชาญด้านความไว้วางใจและความปลอดภัยมากกว่า 40,000 คนทั่วโลก ที่ทำงานแข่งกับเวลาเพื่อคุ้มครองชุมชนบนโลกออนไลน์ โดยติ๊กต็อกให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นลำดับแรก ๆ ในการจัดทำแพลตฟอร์มซึ่งมีส่วนจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และนำความสุขมาสู่ผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

ชาวอเมริกันกว่า 50% เห็นด้วยให้แบน Tiktok ออกจากสหรัฐฯ หวั่น!! จีนใช้ 'จูงใจ-สร้างอิทธิพล-สอดแนมชีวิต' คนอเมริกัน

(4 พ.ค.67) Business Tomorrow เผยว่า ไม่นานมานี้ ทาง Reuters ร่วมกับบริษัทวิจัยผู้บริโภค Ipsos ได้สอบถามชาวอเมริกัน 1,022 คน ว่าคิดอย่างไรกับกรณีการแบน TikTok ของรัฐบาล?

- 58% เห็นด้วยว่า รัฐบาลจีนใช้ TikTok มาสร้างอิทธิพลต่อชาวอเมริกัน โดยกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้ 13%
- 50% เห็นด้วยกับการแบน TikTok, 32% ไม่เห็นด้วย และที่เหลือ 18% ตอบว่าไม่แน่ใจ
- 46% เห็นด้วยว่า รัฐบาลจีนใช้ TikTok สอดแนมชีวิตของคนอเมริกันทั่วไป
- 60% เห็นด้วยว่า การที่นักการเมืองอเมริกันใช้ TikTok ชักจูงคนไปเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ Reuters ได้ออกตัวก่อนว่า โพลดังกล่าวสอบถามเฉพาะวัยผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งอาจไม่สะท้อนมุมมองของวัยรุ่นต่ำกว่า 18 ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ TikTok

ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริการาว 170 ล้านคน บริษัทมีเวลา 270 วันในการหาผู้ซื้อรายใหม่ ซึ่งบริษัทระบุว่าจะต่อสู้กับกฎหมายนี้ในชั้นศาล

TikTok ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ หลังบีบให้ ‘ขาย’ หรือ ‘ถูกแบน’ ลั่น!! เป็นการละเมิดสิทธิ ด้วยคำอ้างความมั่นคงของชาติ

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค. 67) ติ๊กต็อก (TikTok) ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะสกัดกั้นการบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งพยายามบีบให้ติ๊กต็อกต้องเลือกว่าจะขายกิจการหรือจะถูกแบน โดยเอกสารฟ้องร้องที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวหาว่า กฎหมายดังกล่าวซึ่งได้แก่ กฎหมายการปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาตินั้น ละเมิดการคุ้มครองเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ

เอกสารฟ้องร้องระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ติ๊กต็อกระบุในเอกสารฟ้องร้องว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สภาคองเกรสได้ตรากฎหมายที่มุ่งเป้าแบนแพลตฟอร์มสำหรับการแสดงออกเพียงแพลตฟอร์มเดียวเป็นการถาวร…และห้ามชาวอเมริกันจากการมีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก”

ติ๊กต็อกโต้แย้งว่า การอ้างถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติไม่ใช้เหตุผลที่เพียงพอในการจำกัดเสรีภาพในการพูด และรัฐบาลกลางมีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่า การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้

ด้านนายจอห์น มูเลนาร์ สส.จากรัฐมิชิแกนและประธานคณะกรรมการสภาผู้แทนฯ ด้านการคัดเลือกที่เกี่ยวกับจีนกล่าวว่า “สภาคองเกรสและฝ่ายบริหารได้สรุปจากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลที่เป็นความลับว่า ติ๊กต็อกมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและชาวสหรัฐ โดยข้อมูลระบุว่า ติ๊กต็อกยอมที่จะใช้เวลา เงิน และความพยายามในการต่อสู้ในชั้นศาล มากกว่าการแก้ปัญหาโดยการตัดสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมมั่นใจว่ากฎหมายของเราจะมีผลบังคับใช้”

ฟากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การฟ้องร้องในวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินความพยายามมาหลายปีที่จะแบนติ๊กต็อก โดยความพยายามที่จะควบคุมแอปฯ ยอดนิยมนี้ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้การบริหารประเทศของทั้ง อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และ ปธน.โจ ไบเดน

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เปิดบัญชี TikTok มีผู้ติดตามทันทีกว่า 3 ล้าน คลิปแรกมีคนดูกว่า 56 ล้าน  เผย!! เปิดไว้ใช้สื่อสารกับชาวอเมริกัน ทั้งที่เมื่อก่อนนั้น เคยพยายามสั่งแบน แต่ไม่สำเร็จ

(3 มิ.ย.67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดตาม TikTokจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน ทันทีที่เขาเปิดบัญชีใช้แพลตฟอร์ม TikTok แอปพลิเคชันสำหรับแชร์คลิปวิดีโอสั้นเป็นวันแรก พร้อมกับลงคลิปลงใน TikTok เมื่อช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ผ่านมา ตามวันเวลาในสหรัฐฯ โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ วัย 77 ปี เปิดใช้บัญชี TikTok ในชื่อว่า @realdonaldtrump และได้โพสต์คลิปวิดีโอสั้นคลิปแรกลงใน TikTok

เป็นภาพวิดีโอที่เขาพบปะกับเหล่าบรรดาผู้สนับสนุน ขณะไปชมรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานของยูเอฟซี ที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งปรากฏว่า มีผู้รับชมคลิปดังกล่าวใน TikTok จำนวนมากกว่า 56 ล้านคน พร้อมกันนี้ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวหลังจากเปิดบัญชี TikTok ว่า ตนจะใช้เครื่องมือทุกประเภทที่มีอยู่ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับชาวอเมริกัน สำหรับ ประวัติความสัมพันธ์ของนายทรัมป์ กับ TikTok นั้น ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฐฯ เคยพยายามแบน TikTok เมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) แต่ถูกศาลขัดขวาง จึงทำให้แบนไม่สำเร็จ

‘เจ้าของแบรนด์สกินแคร์’ อัดคลิปแฉ!! พฤติกรรม ‘แท็กซี่ย่านเอกมัย’ หลังโดนราคาเหมา 400 บาท ทั้งที่ไปไม่ไกล คนขับตะคอกใส่ ‘ที่นี่ไม่มีมิเตอร์’

(25 ส.ค.67) ผู้ใช้ TikTok ‘jha_eves’ หรือ คุณจ๋า เจ้าของแบรนด์สกินแคร์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาวเกือบ 3 นาที หลังโดนแท็กซี่ตะคอกใส่หน้าบอกที่นี่ไม่มีมิเตอร์ โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า …

ประชาชนทั้งประเทศรู้ แต่ผู้ใหญ่ไม่เคยรู้!! เหมือนไปที่ไหนก็ไม่ใช่ที่สำหรับคนไทยแล้ว ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปบอกตรงๆประชาชนเดือดร้อนค่ะ!! ยังไงรบกวนผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องช่วยออกมาให้คำตอบคนไทยด้วยกันด้วยนะคะ

โดยเจ้าตัวได้บอกว่า มีโอกาสมาเที่ยวเอกมัยไม่ได้มาหลายปีแล้ว สิ่งที่ทำให้ตนตกใจคือมีคนไทยน้อยมากประมาณ 20% คนต่างชาติ 80% ก็ไปเที่ยวปกติ และออกมาโบกแท็กซี่เพื่อที่จะไปกินข้าว ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที คนขับแท็กซี่คิด 400 บาท

เราเลยบอกว่า ทำไมแพงจัง ไม่มีมิเตอร์เหรอคะ สิ่งที่เจอคือ คนขับแท็กซี่ตะโกนใส่หน้ากลางถนนที่คนเยอะมากว่า ที่นี่ไม่มีมิเตอร์หรอกนะ

เราเป็นคนไทย เขาเป็นคนไทย ที่นี่แผ่นดินไทย ที่นี่ถนนเอกมัย โดนคนขับแท็กซี่ตะคอกใส่หน้า กฎหมายเมืองไทยไม่มีมิเตอร์กันแล้วเหรอ อยากฝากผู้ใหญ่ที่ดูแลเรื่องนี้ ลงพื้นที่ดูแลกันหน่อย ถ.เอกมัย ไม่ต้องมีมิเตอร์แล้วใช่หรือไม่ ถ้าจะไปใกล้ๆ ก็คือ 400 บาท แล้วคนไทยก็คิดราคานี้ ไม่มีมิเตอร์จริงๆแล้วใช่ไหม จะได้เข้าใจตรงกัน ทุกคนที่ยืนอยู่บนแผ่นดินไทยจะได้ทราบว่าตรงนี้ไม่ต้องใช้มิเตอร์แล้ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนหากิน ที่ต้องใช้แท็กซี่ในการเดินทาง นี่ขนาดมีเงินยังไม่ไหวเลย กะรวยเลยไปแค่นี้ 400 บาท ถ้าเป็นจริงก็ออกกฎหมายมาให้ชัดว่าประเทศไทยไม่ต้องใช้มิเตอร์ แต่ถ้าไม่จริง ก็ช่วยจัดการให้ด้วยนะคะ

ทั้งนี้ คลิปวิดีโอดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก มียอดวิวแล้วกว่า 2.4 ล้านครั้ง พร้อมกับคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปล่อยปละละเลยจนทำให้พฤติกรรมเช่นนี้ฝังรากลึกจนยากจะแก้ไข

อัยการ 14 รัฐในสหรัฐรุมฟ้อง TikTok หวั่นอันตรายต่อเด็ก-เยาวชน ด้าน TikTok สวนอัยการเลือกฟ้องข้อหาหนัก แทนร่วมมือกันแก้ปัญหา

(9 ต.ค. 67) อัยการสูงสุดของ 14 รัฐในสหรัฐอเมริกา นำทีมโดย รัฐนิวยอร์ก และ แคลิฟอร์เนียได้ยื่นฟ้องต่อศาลประจำรัฐเมื่อวันอังคาร (8 ต.ต. 67) กล่าวหา TikTok โซเชียลมีเดียชื่อดังสัญชาติจีน เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้งานกลุ่มเด็กและ เยาวชน รวมถึงละเมิดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวผู้เยาว์ที่เก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเด็กโดยไม่ได้รับอนุญาต

นับเป็นอีกครั้งที่มีการใช้กฎหมายโจมตีโซเชียลมีเดียชื่อดัง ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือจากทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่สหรัฐฯ ใน 14 รัฐ ด้วยข้อกล่าวหาว่า TikTok กระทำผิดกฎหมาย ด้วยคำเคลมที่ระบุว่าแพลทฟอร์มของตนมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานเด็ก และ เยาวชน 

เลติเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดของนิวยอร์ก หนึ่งในทีมอัยการรัฐที่ยื่นฟ้อง TikTok กล่าวว่า ในความเป็นจริงนั้น ห่างไกลจากสิ่งที่ทางผู้ให้บริการได้เคลมไว้มาก เนื่องจาก มีกรณีผู้ใช้ TikTok รุ่นเยาว์ ในสหรัฐฯ จำนวนมาก กำลังทุกข์ทรมานจากปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นผลจากการใช้งานโซเชียลมีเดียดังกล่าว 

คดีฟ้องร้องมุ่งเน้นไปที่ฟีเจอร์ที่ก่อให้เกิดอาการเสพติดโซเชียล รวมถึงการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง และการเล่นวิดีโอต่อเนื่องอัตโนมัติ กิจกรรมเกม "challenges" ในแพลทฟอร์มที่เป็นอันตราย และการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 13 ปีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวออนไลน์ของรัฐบาลกลาง

ไบรอัน ชวาล์บ อัยการสูงสุดจากวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า เป้าหมายของการดำเนินคดีเพื่อต้องการให้ TikTok ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่มีต่อสภาพจิตใจของเด็ก และวัยรุ่น ที่ถูกแรงกระตุ้นให้ใช้ TikTok ส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ และความผิดปกติของร่างกายอื่นๆ โดย อัยการ ชวาล์บ ยังกล่าวอีกว่า TikTok ทำให้เกิดอาการเสพติดโซเชียล ที่เรียกว่า “ดิจิทัลนิโคติน”  หากรัฐไม่เข้ามาควบคุม เด็กรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ ก็จะตกเป็นเหยื่อ จนนำไปสู่สังคมที่เสื่อมทรามและอ่อนแอ 

ด้านโฆษกของ TikTok ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า “เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อกล่าวหาเหล่านี้ และมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด"  

อีกทั้งย้ำว่า TikTok มีมาตรการดูแลการใช้งานของเด็ก และเยาวชนอย่างเข้มงวดมาตลอด และมีการลบบัญชีผู้ใช้งานที่ต้องสงสัยว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอยู่เสมอ และเพิ่มฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย ที่สามารถจำกัดเวลาตั้งค่าหน้าจอเริ่มต้นได้ จับคู่ใช้งานกับคนในครอบครัวได้ หรือ ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี  

และตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ทีมงาน TikTok ก็ให้ความร่วมมือกับทางสำนักงานอัยการอย่างดี แต่มาวันนี้รู้สึกผิดหวังที่ทางอัยการเลือกที่จะดำเนินคดีกับ TikTok แทนที่จะหาทางทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกแพลทฟอร์มอย่างสร้างสรรค์ 

ปัจจุบันมากกว่าครึ่งของเด็กวัยรุ่นสหรัฐ ที่มีอายุ 13-17 ปี เล่น TikTok แอปพลิเคชั่นที่มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านบัญชีทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นของการให้บริการแชร์คลิปวิดีโอสั้น จนถึงปัจจุบันมีฟีเจอร์ให้บริการมากมาย ทั้งการไลฟ์สด ซื้อขายสินค้า ทำธุรกรรมผ่านโซเชียล เป็นช่องทางการพบปะไอดอล บริการส่งเหรียญ และ สติกเกอร์ของขวัญให้กับศิลปินคนโปรด และกิจกรรมชาเล้นจ์ชิงรางวัลมากมาย ที่สร้างรายได้ให้แก่แพลตฟอร์มแตะระดับหมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2023 ที่ผ่านมา 

แต่การขยายตัวของ TikTok ในตลาดสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการครอบงำจากรัฐบาลจีนผ่านแอปพลิเคชั่น TikTok 

จนกระทั่งเมื่อเดือน มีนาคม 2024 ที่ผ่านมาสภาคองเกรซได้ลงมติอย่างท่วมท้น บีบให้ ByteDance บริษัทแม่ผู้พัฒนา TikTok ในจีน ขายกิจการ TikTok ให้แก่ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ภายในวันที่ 19 มกราคม 2025 มิฉะนั้นจะถูกแบนการใช้งานในสหรัฐฯ อย่างถาวร   

บัณฑิตจีน สิ้นหวัง เกษียณกลับบ้านเกิด ด้วยความท้อแท้ เหตุ!! อุตสาหกรรมทรุดตัว บริษัทเลิกจ้าง แรงงานล้นตลาด

(14 ต.ค. 67) หากคิดว่าหางานใน ‘ไทย’ ยากแล้ว ใน ‘จีน’ กลับยิ่งหางานยากกว่ามาก แม้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่หนุ่มสาวจบใหม่ในจีนตอนนี้กลับหางานลำบากยิ่งนัก โดยอัตราว่างงานของหนุ่มสาวจีนในเดือนสิงหาคม “ทำสถิติใหม่” ที่ 18.8% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบบันทึกสถิติใหม่ในเดือนธันวาคม โดยเพิ่มขึ้นจาก 17.1% ในเดือนกรกฎาคม

มีเรื่องราวของสาวจีนที่จบการศึกษามาไม่นาน เธอชื่อ สวี่อวี่ (Xu Yu) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในฮ่องกง และใช้เวลาหางานเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว

แม้เธอจะมีผลการเรียนดีเยี่ยมและประสบการณ์ฝึกงานถึงสามครั้ง สวี่อวี่ก็ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อแข่งขันในตลาดงานที่ดุเดือด เธอลงทุนเงินกว่า 20,000 หยวน หรือราว 90,000 บาทเพื่อเข้าฝึกอบรมเทคนิคการสัมภาษณ์ แต่กลับต้องเผชิญกับความผิดหวังเมื่อได้รับจดหมายปฏิเสธจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Tencent Holdings และ JD.com

ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ ถังฮุ่ย (Tang Hui) เธอได้รับข้อเสนองานด้านบัญชีจากผู้ผลิตรถพลังงานใหม่ชั้นนำก่อนจบการศึกษา แต่ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดให้กับผู้จบใหม่ ถังฮุ่ยได้รับเงินชดเชยเป็นค่าแรงหนึ่งเดือน แต่หลังจากนั้น แม้ว่าเธอจะสมัครงานไปกว่า 50 บริษัทแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้รับข้อเสนอใด ๆ กลับมา เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของบัณฑิตใหม่จีนหลังจบการศึกษา

ในปีนี้ เหล่าบัณฑิตจีนที่จบออกมามีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านคน และกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อ่อนแอที่สุดที่จีนเคยเผชิญมาหลายปี จากการที่บรรดาบริษัทด้านอินเทอร์เน็ต การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกระดูกสันหลังของจีน ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง 

ยกตัวอย่าง ‘เหล่าบริษัทเทคโนโลยี’ อย่าง  Alibaba, Tencent และ Baidu ก่อนหน้านี้เคยขยายการจ้างงาน แต่ปัจจุบันตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง โดย Alibaba ตัดพนักงานลงมากกว่า 13%

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ ‘ธุรกิจกวดวิชา’ ที่เคยเป็นดาวรุ่ง ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลออกระเบียบลดภาระการบ้านและการติวหลังเลิกเรียน อีกทั้ง ‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์’ ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีจีนก็ยังคงซบเซา จนทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ได้หายไปในปีนี้

ส่วนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น พลังงานทดแทนและเซมิคอนดักเตอร์ ยังไม่สามารถทดแทนด้านการจ้างงานได้ เพราะการสรรหาบุคลากรเหล่านี้ ‘ต้องการความสามารถเฉพาะทาง’ ซึ่งมักมีวุฒิขั้นสูง เช่น BYD ผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า ในปีนี้ได้ลดการรับสมัครนักศึกษาลงมากกว่าครึ่งจาก 30,000 คนในปี 2023

หลายคนอาจมีค่านิยมว่า จบจากมหาวิทยาลัยดังมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ปัจจุบันนี้อาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้นอีกต่อไป หลายบริษัทต้องการคนมีประสบการณ์และเคยผ่านงานด้านนั้นมากกว่า  

จากที่เคยเป็นเพียงส่วนเสริม ‘ประสบการณ์การฝึกงานที่ผ่านมา’ ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดโอกาสในการทำงาน หลิว จื่อเฉา (Liu Zichao) บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ เมื่อเขาคว้าตำแหน่งงานเทคโนโลยีมาครองได้สำเร็จหลังจากฝึกงานที่ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok 

เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่การฝึกงานเฉพาะทาง กำลังกลายเป็นตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญยิ่งกว่าวุฒิการศึกษา

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนอันซบเซาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ บัณฑิตจบใหม่หลายคนกำลังเผชิญปัญหาการหางานที่ไม่ตรงกับความสามารถของตนเอง โดยมีคุณสมบัติเกินกว่างานระดับล่าง แต่ขาดประสบการณ์สำหรับงานระดับสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ความคาดหวังด้านอาชีพที่สูงขึ้นของบัณฑิตในปัจจุบัน กำลังทำให้ความไม่ลงรอยกันในตลาดแรงงานของจีนเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลหลายคนรายงานว่า ความทะเยอทะยานที่เกิดจากโซเชียลมีเดียสำหรับงานเทคโนโลยีที่มีรายได้สูงได้นำไปสู่การเรียกร้องเงินเดือนที่สูงเกินจริง ทำให้บัณฑิตจำนวนมากไม่พอใจกับตำแหน่งงานที่มีอยู่

จาง (Zhang) ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า บัณฑิตที่สอบข้าราชการไม่ผ่านมักเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่พร้อม และเรียกร้องเงินเดือนสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมมาก

ในทำนองเดียวกัน หยาง เจียน (Yang Jian) ซึ่งทำงานด้านการสรรหาบุคลากรสำหรับบริษัทอัตโนมัติขนาดเล็กกล่าวว่า ความคาดหวังที่ไม่สมจริงของบัณฑิตจบใหม่ และความลังเลในการยอมรับงานที่มีรายได้ต่ำกว่า ทำให้บริษัทของเธอหยุดรับสมัครบัณฑิตใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองดูมุมมองของเหล่าบัณฑิต ผู้หางานรุ่นใหม่รู้สึกไร้อำนาจในตลาดแรงงาน สวัสดิการพื้นฐานเช่น วันทำงานแปดชั่วโมงและประกันสังคมที่ได้รับกลับถูกมองว่าเป็นสิ่งหรูหรา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนพบว่า พนักงานรุ่นใหม่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นการทำงานเฉลี่ย 251.9 ชั่วโมงต่อเดือน และมีความคุ้มครองด้านประกันสังคมที่ต่ำจากนายจ้าง

ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และรู้สึกสิ้นหวังในตลาดแรงงาน ชาวจีนรุ่นใหม่จึงถอยกลับไปยังชนบท โดยหลังจากประกาศว่าตนถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือว่างงาน ชาวจีนเจน Z และ Y ก็บันทึกชีวิตประจำวันแบบ ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทของตนบนโซเชียลมีเดีย  

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เกษียณอายุที่ประกาศตนเองวัย 22 ปี ซึ่งใช้ชื่อแฝงว่า เหวินจือ ต้าต้า (Wenzi Dada) ได้ตั้งถิ่นฐานในกระท่อมไม้ไผ่ริมหน้าผาในมณฑลกุ้ยโจวของจีน เหวินจือ ซึ่งเคยทำงานในหลากหลายสาขา เช่น ซ่อมรถยนต์ ก่อสร้าง และการผลิต บอกกับสื่อท้องถิ่นว่าเขารู้สึกเหนื่อยกับการต้องจัดการกับเครื่องจักรทุกวัน จึงลาออกเพื่อกลับบ้านเกิด

นอกจากนี้ บัณฑิตบางคนหันไปทำงานอิสระ เช่น เป็นคนขับส่งของหรือพี่เลี้ยงเด็ก ในขณะที่อีกหลายคนก็เลื่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top