Tuesday, 22 April 2025
TheSatesTimes

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (11 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 249 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,547 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 138 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 6,566 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,914 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 205 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากสหราชอาณาจักร 2 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 2 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ,ตุรกี 1 ราย ,ฮังการี 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 1 ราย ,บาห์เรน 1 ราย ,เดนมาร์ก 1 ราย และมาเลเซีย 1 ราย

เดินทางมาจากต่างประเทศ ผ่านเส้นทางธรรมชาติเป็นคนไทย 13 ราย สัญชาติเมียนมา 1 ราย จากเมียนมา เข้ารับการรักษาตัวใน รพ.แม่สอด

ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 176 ราย

ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 48 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 173 ราย รักษาหายแล้ว 153 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 391 ราย รักษาหายแล้ว 374 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.28 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.81 แสน เสียชีวิต 24,129 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.36 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.08 แสน ราย เสียชีวิต 551 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.31 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.14 แสน ราย เสียชีวิต 2,846 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.88 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.58 แสน ราย เสียชีวิต 9,405 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,907 ราย รักษาหายแล้ว 58,636 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,514 ราย รักษาหายแล้ว 1,361 ราย เสียชีวิต 35 ราย

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ กับภารกิจการเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน ย้ำปณิธาน “มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัวผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน

และด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485 อีกทั้งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรค ให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และได้มอบให้หน่วยงานราชการใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในประเทศมากกว่า 100,000 ชุด

ก้าวสำคัญต่อมาคือ การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก

ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ , บริษัท เอสซีจี , แอสตร้าเซเนก้า และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือเพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน จากหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว ได้นำไปสู่สัญญารับจ้างผลิตระหว่าง แอสตร้าเซเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์

ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซเนก้า ส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก

สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้ และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศและส่งออก

โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะรองรับการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าได้ทุกขั้นตอน และเป็นโรงงานทีใช้เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต

สยามไบโอไซเอนซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า

ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัท เอสซีจี 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตร้าเซเนก้า เป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป

นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า “สยามไบโอไซเอนซ์มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซเนก้าให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลก ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสยามไบโอไซเอนซ์ทุกคนเร่งทำงานแข่งกับเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ตัดสินใจปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม โดยทุ่มสรรพกำลังในการผลิตวัคซีนที่ได้ตรงตามมาตรฐานของแอสตร้าเซเนก้าในเวลารวดเร็วที่สุด เพื่อที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ เศรษฐกิจไทย รวมถึงประชาชนและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ดังปณิธานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” 

‘น้องนัท-น้องฮาบาส’ สุดยอด 2 เด็กไทย คว้าเหรียญเงิน จากการแข่งขันกระโดดเชือกคู่ผสม ใน ‘IJRU 2023 WC’ สำเร็จ

‘สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย’ ขอแสดงความยินดีกับน้องนัท ด.ญ.พรกมล เอียดประดิษฐ์ และน้องฮาบาส ด.ช.วรเวช โลเกตุ ที่สามารถคว้าเหรียญเงิน🥈 ในการเเข่งขันในรายการ ‘Single Rope Double Unders Relay 2x30 seconds’ คู่ผสม ในรุ่น ‘Junior World Jump Rope Championship 2023’ ได้สำเร็จ

แค่ตั้งใจและมีความพยายาม ไม่ว่าอุปสรรคระหว่างทางจะมากมายขนาดไหน เราก็เอาชนะมันมาได้ น้องทั้ง 2 คนเก่งมาก!!

Congratulations for the ‘FIRST SILVER Medal’ of THAILAND TEAM
YOU DID IT‼️ @nut_ponkamon @loketworavet 
YOU MAKE COUNTRY PROUD OF YOU 🇹🇭

นักวิชาการ จี้รัฐ!! เร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ‘เมียนมา’ แย่ง!! อาชีพคนไทย-ตั้งธนาคารเอง-ตั้งตัวเป็นเจ้าของตลาด

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ และฝ่ายความมั่นคง เห็นตรงกันว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่ง สพฐ.ต้องให้เด็กต่างด้าวเรียนฟรีถึง 15 ปี อีกทั้งเข้ามาแย่งสารพัดอาชีพของไทย ผันตัวสู่เจ้าของธุรกิจ เดินรถสองแถว รับเหมาก่อสร้าง ปล่อยเช่าคอนโด ‘พล.ท.นันทเดช’ เผย ‘เมียนมา’ ล้ำเส้น ถึงขั้นตั้งธนาคาร มีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง ตั้งตัวเป็นเจ้าของตลาด แถมมี สส.บางพรรค อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ด้าน ‘รศ.ดร.อัทธ์’ แนะ เร่งจัดระเบียบ ขึ้นทะเบียน จัดทำฐานข้อมูล เพื่อง่ายต่อการควบคุมและจัดเก็บภาษี

กล่าวได้ว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวกลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องมานานนับเดือน โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเกินขอบเขต บ้างก็รวมตัวจัดกิจกรรมระดมทุนโดยไม่ขออนุญาต บ้างก็โชว์กร่างข่มขู่คุกคามคนไทย ขณะที่บางพื้นที่มีการลักลอบเปิดโรงเรียน อีกทั้งยังร้องเพลงชาติเมียนมาแบบไม่เกรงใจเจ้าของประเทศ จนเริ่มเกิดกระแสต่อต้านจากคนไทยถึงขั้นที่อยากให้ผลักดันแรงงานเหล่านี้ออกจากประเทศ จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย และเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาจัดการก่อนที่จะสายเกินไป

ส่วนว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยอย่างไร รวมทั้งจะมีหนทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่นั้น คงต้องไปฟังความเห็นจะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าว ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และรวมกันเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยากต่อการควบคุม โดยปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3-5 ล้านคน รองลงมาคือ แรงงานกัมพูชา 1-2 ล้านคน ตามด้วยแรงงานลาวไม่เกิน 1 ล้านคน ขณะที่แรงงานเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งแรงงานที่เริ่มสร้างปัญหาคือแรงงานเมียนมาเนื่องจากจับกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก จึงเริ่มมีการชุมนุมเคลื่อนไหวที่นั่นที่นี่ มีการนัดรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเมือง บ้างทำตัวเป็นมาเฟีย เกะกะระราน ทำให้เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรมตามมา

ซึ่งแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นมีทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายและลักลอบทำงาน แน่นอนว่าคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ไม่อยู่ในระบบภาษี ไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งต่างด้าวที่ลับลอบทำธุรกิจในไทยก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่เขาใช้ระบบสาธารณูปโภคของไทย ใช้บริการการแพทย์ของไทย แรงงานเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่แล้วบางคนก็จะมีลูกมีหลาน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพราะหากเจ็บป่วย เด็กเหล่านี้ก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของไทย และเมื่อถึงวัยเรียนก็มีสิทธิเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีนโยบายให้เด็กต่างด้าวสามารถเข้ารับการศึกษาได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งถือเป็นภาระด้านงบประมาณของไทยอย่างมาก

สอดคล้องกับ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งระบุว่า การที่ชาวเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากนั้นส่งผลกระทบต่องบประมาณและการบริการด้านสาธารณสุขของไทย เพราะเรามีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อชาวเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยใช้บริการสาธารณสุขที่เราเตรียมไว้เพื่อดูแลคนไทย งบประมาณและบุคลากรการแพทย์ของไทยก็จะถูกแบ่งไปดูแลแรงงานต่างด้าวเหล่านี้รวมถึงลูกหลานที่เกิดขึ้นมา เพราะแม้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะใช้สิทธิการรักษาตามระบบประกันสังคมที่เขาส่งเงินสมทบ แต่ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย รวมถึงบรรดาลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ส่งเงินสมทบแต่ใช้บริการสาธารณสุขด้วยเหมือนกัน ทำให้คนไทยได้รับบริการไม่เต็มที่ แม้แต่ชาวเมียนมาที่อยู่ในพม่าเมื่อเจ็บป่วยหรือจะคลอดบุตรก็เข้ามารักษาและทำคลอดที่โรงพยาบาลในประเทศไทย มาใช้ระบบสาธารณสุขในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

นอกจากนั้นแรงงานเหล่านี้ยังพยายามเรียกร้องให้แรงงานเมียนมาสามารถขอต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย(Work Permit) โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางคือประเทศเมียนมาก่อน ซึ่งไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะขัดกับระเบียบของไทย และเชื่อว่าจะมีปัญหาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเพราะชาวเมียนมากำลังเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งเมื่อประกาศขึ้นค่าแรงไปแล้วผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับแรงงานไทย เพราะงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือนั้นแรงงานส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย ขณะเดียวกันผลกระทบที่ตามมาคือภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือเวียดนาม อีกทั้งคนไทยยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินปรับตัวสูงขึ้น

“ปัญหาที่หนักมากในขณะนี้คือชาวเมียนมาเข้ามาประกอบอาชีพต่าง ๆ แข่งกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเปิดร้านขายอาหาร ขายสินค้าต่าง ๆ ตลาดสดบางแห่งพ่อค้าแม่ค้ามีแต่คนเมียนมา บางพื้นที่เจ้าของตลาดเป็นเมียนมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันผิดกฎหมายของไทย แต่ขบวนการควบคุมแรงงานต่างด้าวของเรามันล้าหลังมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ใต้อิทธิพลของชาวเมียนมา เพราะเขาจ่ายเงินให้” พล.ท.นันทเดช กล่าว

สำหรับปัญหาที่ต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย โดยเฉพาะแรงงานเมียนมานั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' มองว่า ชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม โดยยุคแรกจะเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะกิจการที่คนไทยไม่นิยมทำ เช่น ประมง ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ยุคที่สองแรงงานเมียนมาเริ่มเข้าไปสู่ภาคบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานปั๊มน้ำมัน แม่บ้าน ลูกจ้างขายของ และปัจจุบัน คือยุคที่สาม ได้ขยายไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งแบ่งเป็น 1.ธุรกิจที่คนไทยทำอยู่แล้ว เช่น เปิดร้านขายของ เปิดบริษัททัวร์ รับเหมาก่อสร้าง บริษัทรับจัดสวนตัดแต่งต้นไม้ 2.ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมียนมา เช่น เปิดร้านขายสินค้าให้ชาวเมียนมาโดยเฉพาะ ขับรถสองแถวรับส่งชาวเมียนมาในไทย ซื้อคอนโดฯและปล่อยให้นักธุรกิจชาวเมียนมาเช่า ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกระหว่างไทยกับเมียนมา ธุรกิจท่องเที่ยว และ 3.ธุรกิจที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อทำธุรกิจกับประเทศอื่น

“นักธุรกิจเมียนมาจะเข้ามาหลายรูปแบบ บ้างก็เข้ามาแต่งงานกับคนไทยและหาลู่ทางทำธุรกิจ บางคนก็เข้ามาทำธุรกิจโดยตรง เช่น เข้ามาซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า เนื่องจากกฎหมายของไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคอนโดได้ 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมด และตอนนี้เรากำลังจะแก้สัดส่วนให้ซื้อได้ถึง 75% ของพื้นที่ ต่างด้าวบางคนก็เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างโดยซับงานจากผู้รับเหมาไทยอีกที พวกนี้มีทั้งที่เป็นเมียนมาและกัมพูชา บ้างก็เปิดบริษัทรับทำความสะอาดและรับจัดสวนแบบเหมาทำทั้งหมู่บ้านเลย ซึ่งบางธุรกิจอาจจะผิดกฎหมายแต่เขามีวิธีซิกแซ็ก และให้บริการในราคาที่ถูกกว่าของไทย หรือบางธุรกิจคนไทยก็ไม่ทำ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ขณะที่ พล.ท.นันทเดช ชี้ว่า ปัจจุบันมิติของแรงงานต่างด้าวไม่ได้อยู่แค่ปัญหาแรงงานแต่ขยายไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะแรงงานเมียนมาซึ่งขณะนี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในหลายประเด็น เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัญชาติไทยแก่เด็กเมียนมาที่เกิดในไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งปัญหาแรงงานเมียนมาอาจจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากไทย เมียนมา และ สปป.ลาว นั้นมีสัญญาชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน แต่แรงงานเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยส่วนใหญ่จะต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า อีกทั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองไทยบางพรรค โดยมี สส.ของพรรคดังกล่าวเข้าไปยุยงแรงงานเมียนมาให้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว และมีการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ

“เรามีชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายนับล้านคน พอมีลูกก็พยายามจะเรียกร้องสิทธิให้ลูก อยากให้ลูกได้สัญชาติไทย บางส่วนก็ออกเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว ระดมทุน ขณะเดียวกันในชุมชนที่มีแรงงานเมียนมาอยู่เยอะๆก็จะมีธนาคารของตัวเอง โดยมีคนที่เป็นโต้โผรับฝาก-ถอนเงิน มีตลาดซื้อขายสินค้าของตัวเอง อย่างเช่นที่ตลาดพระโขนง นอกจากนั้นยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง เช่น ที่ จ.สมุทรสาคร โดยจะมีไลน์กลุ่มชาวเมียนมา คนเมียนมาไปทำงานที่ไหน เขาเข้าไปดูแลหมด” พล.ท.นันทเดช ระบุ

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันเราไม่รู้ว่าแรงงานแต่ละคนทำงานที่ไหน อย่างไร และพักอยู่ที่ไหน เราจึงต้องมีการสำรวจ ขึ้นทะเบียน และจัดทำฐานข้อมูลว่าปัจจุบันมีแรงงานประเทศใดเข้ามาในไทยบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ทำงานอะไรหรือเข้ามาทำธุรกิจอะไร พักอยู่ที่ไหน มีลูกหรือเปล่า ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว หากแรงงานเหล่านี้สร้างปัญหาอะไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้สามารถจัดการได้ทัน

โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานเมียนมานั้นรัฐควรจะแยกกลุ่มให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.แรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งต้องสำรวจให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ในอุตสาหกรรมใดบ้าง 2.แรงงานที่มีทักษะฝีมือ จบปริญญาตรี กลุ่มนี้สามารถบรรจุเข้าไปในสายงานที่ไทยขาดแคลนแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทยและช่วยพัฒนาประเทศ และ 3.กลุ่มนักธุรกิจที่มีเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคลื่นลูกที่สามของเศรษฐกิจเมียนมา กลุ่มนี้มีศักยภาพด้านเงินทุนแต่ต้องมาจัดระเบียบว่าธุรกิจอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งหากแต่ละกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีที่ชัดเจนจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น

“เมื่อแรงงานเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีพลังในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องต่างๆ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเร่งจัดระเบียบ ไม่อย่างงั้นเละแน่ ๆ ส่วนแรงงานที่ชอบเคลื่อนไหวหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นเมื่อจัดระบบแล้ว เราก็จะสามารถติดตามพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น หากพบว่ามีการกระทำผิดก็สามารถดำเนินการได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ด้าน ‘พล.ท.นันทเดช’ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ควรเข้าไปดูแลและควบคุมแรงงานเมียนมาที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากไม่จัดการก็จะลุกลามไปยังแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชา ส่วนแรงงานจาก สปป.ลาวนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเขาอยู่ในกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งในยุค 20 ปีก่อนไทยเคยมี 'หน่วยปฏิบัติงานพิเศษ' ที่ทำหน้าที่ควบคุมชาวเมียนที่อยู่ในประเทศไทย เป็นการทำงานรูปแบบหนึ่งของหน่วยข่าวกรอง โดยชาวเมียนมาทุกคนต้องมารายงานตัวต่อหน่วยงานดังกล่าวว่าเข้ามาทำอะไรในประเทศไทย พักอยู่ที่ไหน หน่วยงานนี้จะรู้หมดว่ามีชาวเมียนมาเข้ามาในไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง เราสามารถลงไปตรวจว่ายังอยู่ที่เดิมไหม สร้างปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำให้เรามีฐานข้อมูลที่ชัดเจนและสามารถควบคุมแรงงานเหล่านี้ได้ แต่ภายหลังได้ยกเลิกไป โดยปัจจุบันหน่วยงานที่ทำงานด้านข่าวกรองของไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระ แต่เป็นหน่วยงานที่ทำงานเพื่อตอบสนองฝ่ายการเมือง จึงละเลยเรื่องความมั่นคง ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำงานโดยยึดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

“แนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้นรัฐบาลไทยสามารถดำเนินการในรูปแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาทำ คือออกกฎหมายให้ต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยทุกคนต้องแจ้งต่อหน่วยงานความมั่นคงภายใน 7 วัน ทำให้รัฐมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว สามารถส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่าเข้าอยู่แล้วได้ทำงานไหม ทำงานอะไร ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือยัง ถ้าไม่มีใบอนุญาตก็ต้องผลักดันออกนอกประเทศ” พล.ท.นันทเดช กล่าว

ปทุมธานี ผู้ว่าฯ ปทุมธานี พบปะเยาวชน โครงการ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' รุ่นที่ 43 ให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด

(10 ต.ค.67) เวลา 09.30 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ต้อนรับกลุ่มเยาวชนในโครงการ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' รุ่นที่ 43 ที่มาพักอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในจังหวัดปทุมธานี พร้อมให้โอวาทให้เยาวชนทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสิ่งที่ดี นำไปพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดี นำความรู้ประสบการณ์ไปพัฒนาสังคมบ้านเกิดให้มีความเจริญก้าวหน้า โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้กล่าวขอบคุณครอบครัวอุปถัมภ์ ทั้ง 19 ครอบครัวที่ดูแลเยาวชนเป็นอย่างดี และมอบของที่ระลึกให้แก่เยาวชนฯ โดยมี นางสาวกันตรัตน์ เริ่มสูงเนิน ปลัดจังหวัดปทุมธานี  หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมบัวหลวง ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี  

ทั้งนี้ โครงการ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' รุ่นที่ 43 ได้นำเยาวชน จำนวน 320 คน จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และจังหวัดสงขลา (เฉพาะ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาทวี จะนะ เทพา และอำเภอสะบ้าย้อย) มาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเยาวชนมาพักอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในจังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 2 – 15 ตุลาคม 2567 รวม 38 คนเป็นชาย 12 คน และหญิง 26 คน โดยพักอาศัยในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จำนวน 8 ครอบครัว เยาวชนอิสลามเพศชาย จำนวน 8 คน เยาวชนอิสลามเพศหญิง จำนวน 6 คน และเยาวชนพุทธเพศหญิง จำนวน 2 คน รวม 16 คน อำเภอธัญบุรี จำนวน 4 ครอบครัว เยาวชนพุทธเพศหญิง จำนวน 8 คน รวม 8 คน  อำเภอหนองเสือ จำนวน 6 ครอบครัว เยาวชนอิสลามเพศชาย จำนวน 4 คน และเยาวชนอิสลามเพศหญิง จำนวน 8 คน รวม 12 คน และอำเภอลาดหลุมแก้ว จำนวน 1 ครอบครัว เยาวชนอิสลามเพศหญิง จำนวน 2 คน และมีกิจกรรมนำคณะเยาวชนไปทัศนศึกษา ณ แหล่งเรียนรู้และสถานที่สำคัญต่างๆ ในพื้นจังหวัดปทุมธานี  พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และเข้าค่ายเปิดโลกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ฯ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ค่ายเพลง HYBE เอกสารหลุดนับหมื่นหน้า จ้างปั่นข่าวดิสเครดิต-ด้อยค่า 'ลิซ่า' ดูถูกคนไทย

(4 พ.ย.67) กลายเป็นมหากาพย์ใหญ่ดราม่าสะเทือนวงการ K-POP ครั้งใหญ่เมื่อค่ายเพลง 'HYBE Corporation' ปรากฏเอกสารลับรั่วไหลที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลของศิลปินค่ายอื่น ๆ ในวงการเพลงทั้งยังมีเนื้อความส่อไปในเชิงสร้างข่าวปลอมรวมถึงเหยียดหยามศิลปินหลายราย

หนึ่งในศิลปินที่ถูกกล่าวหา ก็คือ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หรือ 'ลิซ่า BLACKPINK' รวมถึงสมาชิกในวงดังกล่าว โดยมีเนื้อหาแสดงออกเชิงเหยียดเชื้อชาติคนไทย ชาวอาเซียน การตลาดที่หากินกับทุกคนเพราะมองว่า ติ่งคนไทยเสมือนเบี้ยในมือนายทุนชาวเกาหลี

ประเด็นที่ทาง HYPE กล่าวหาลิซ่ามีหลายเรื่องตั้งแต่ การที่ลิซ่ามีข่าวเดท เลยเป็นเหตุไม่ต่อสัญญา, มีการโกงผลโหวตเลยได้รางวัล Best K-Pop จากงาน MTV กลุ่มแฟนคลับลิซ่ามีแต่ชาวอาเซียน ไม่ถือว่าเธอเป็นศิลปินระดับโลก เพราะเป็นคนไทย เลยไม่แปลกใจที่ไปเต้นคาบาเร่ต์โชว์ที่ CRAZY HORSE รวมไปถึงการจ้างนักข่าวปั่นข่าวเฟคนิวส์เพื่อทำลายชื่อเสียง

หลังมีประเด็นนี้ออกไปทางด้านนาย อีแจซัง ผู้บริหารของ HYBE ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริงและขอโทษไปยัง ศิลปิน ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการ และแฟน ๆ ทุกท่าน โดยระบุ

"ในฐานะซีอีโอของ HYBE ขออภัยเกี่ยวกับเอกสารการติดตามของ HYBE ผมอยากก้มหัวและขอโทษศิลปิน เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรม และแฟนๆ เราตระหนักดีว่าผู้บริหารที่รับทราบเอกสารฉบับนี้ ขาดความตระหนักรู้ในประเด็นดังกล่าว และในฐานะซีอีโอ ได้หยุดจัดทำเอกสารติดตามดังกล่าวทันที ฉันสัญญาว่าจะกำหนดแนวทางปฏิบัติและเสริมการควบคุมภายในเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก"

ทั้งนี้ แม้ทางซีอีโอของ HYBE จะออกมาขอโทษไปยังต้นสังกัดของศิลปินที่ถูกพาดพิง และก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด โดยสาธารณชนได้วิพากษ์วิจารณ์  การกระทำของ HYBE เป็นเหมือนมะเร็งร้ายทำลายอุตสาหกรรมบันเทิง K-pop โดยเฉพาะประเด็นโจมตีเรื่องหน้าตาและภาพลักษณ์ศิลปินจากค่ายอื่น ทั้ง ๆ ที่ศิลปินของค่ายตัวเองก็เคยประสบกับปัญหานี้ รวมถึงการกว้านซื้อหุ้นของค่ายอื่น แล้วยุบวงเก่าสร้างวงใหม่ เป็นต้น

มท. อิ่ม ยืนยัน กระทรวงมหาดไทยพร้อมจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 22 ม.ค. นี้

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยในการเปิดให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมแก่ประชาชนทุกคู่สมรส โดยนายทะเบียนทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ได้รับการอบรมและซักซ้อมการให้บริการอย่างครบถ้วน พร้อมระบบรองรับที่จัดเตรียมไว้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร พร้อมในการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ตามกฎหมายฉบับใหม่ที่มีการบังคับใช้ ในวันที่ 22 มกราคม 2568 นี้ ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม โดยมีการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล

นางสาวธีรรัตน์ระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ทั้งยังแสดงความยินดีกับคู่รักทุกคู่ ที่จะเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างเท่าเทียมกัน ผ่านการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายฉบับใหม่นี้

"นี่คือก้าวสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมของสังคมไทย ที่เปิดรับทุกความหลากหลาย และขออวยพรให้คู่รักทุกคู่ ที่จะมาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ ประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตคู่" นางสาวธีรรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเขต ทุกเขต และที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ทั่วประเทศ

ประธานวุฒิสภาต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูต้นแบบประชาธิปไตยวุฒิสภา ในโอกาสเยี่ยมชมวุฒิสภา

เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.67) เวลา 10.00 นาฬิกา ณ สถาปัตยกรรมเครื่องยอด อาคารรัฐสภา ชั้น 11 นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้เกียรตินำคณะผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูต้นแบบประชาธิปไตยวุฒิสภา เยี่ยมชมวุฒิสภา ภายหลังเป็นประธานในพิธีปิดและมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา โดยประธานวุฒิสภากรุณานำคณะเข้าชมสถาปัตยกรรมเครื่องยอด อาคารรัฐสภาและโถงพิธี ในการนี้ นางปัณณิตา สท้านไตรภพ นายสาธิต วงศ์อนันต์นนท์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ และนายอธิภัทร พุกเศรษฐี ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ ร่วมให้การต้อนรับด้วย

จากนั้น นายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา ให้การต้อนรับคณะฯ ที่เข้าเยี่ยมชมห้องประชุมวุฒิสภา ณ ห้องฟังการประชุมสำหรับประชาชน ชั้น 4 โดยมีนายสาธิต  วงศ์อนันต์นนท์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ร่วมให้การต้อนรับ และคณะฯได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้องค์กรต้นแบบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยลำดับ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เวลา 09.00 นาฬิกา คณะฯ ได้เข้าสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 พร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชั้น MB1

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมชาวบ้านได้ใช้ไฟราคาถูก

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

จากการลงพื้นที่ภาคใต้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ได้เปิดเผยถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การแปลงพลังงานน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนแล้ว ความแรงของกระแสน้ำยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรได้ด้วย

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า จากการไปตรวจเยี่ยมและพบปะประชาชนครั้งนี้ ตนเห็นว่าในบางพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากและไหลแรงสามารถนำกระแสน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีต้นทุนถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติหลายเท่า โดยตนได้มอบหมายให้ทางพลังงานจังหวัดศึกษาข้อมูลรายละเอียดและประสานงานกับส่วนกลางเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป 

“จากการที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ บ้านห้วยน้ำเน่า อ.สิชล ผมก็ได้แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกวิธีหนึ่ง พื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณน้ำเยอะและไหลแรง แต่ผมไม่ได้เห็นเป็นแค่น้ำ ผมเห็นเป็นไฟฟ้า ผมเลยคิดว่าตรงนี้น่าจะทำเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กให้ชาวบ้าน ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำเวลาถึงฤดูน้ำหลาก และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน แรงของน้ำที่ไหลผ่านยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างน้อย 2 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 400 ครัวเรือน และจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเพราะผลิตจากก๊าซ ขณะที่ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่ประมาณ 1 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ผมกำลังให้กระทรวงพลังงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดทำเป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกแนวทางหนึ่ง” นายพีระพันธุ์กล่าว

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top