Saturday, 15 March 2025
TEMU

รู้จัก ‘Colin Huang Zheng’ ผู้ก่อตั้ง ‘PDD Holding’ เจ้าของ ‘TEMU’ แพลตฟอร์ม E-commerce เขย่าโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันทุกวันนี้นี้ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะจับจ่ายซื้อขายผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Platform E-commerce ชื่อดังในบ้านเราอย่าง LAZADA และ SHOPEE แต่ไม่นานมานี้มีน้องใหม่เข้ามาในตลาด E-commerce เพิ่มขึ้นอีกหลายราย อาทิ SHIEN และที่มาแรงที่สุดคือ ‘TEMU’

‘TEMU’ เป็น Platform E-commerce ที่ดำเนินการโดย PDD Holdings ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซจีน แต่จดทะเบียนในหมู่เกาะเคย์แมน และยังระบุว่าเป็นสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงดับลิน (ซึ่งทั้งสองแห่งมีมาตรการทางภาษีที่เอื้อต่อเจ้าของกิจการที่จดทะเบียนในแต่ละแห่งอย่างมากมาย) โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตั้งราคาลดพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่จัดส่งจากจีนถึงผู้บริโภคโดยตรง รูปแบบธุรกิจของ ‘TEMU’ ช่วยให้บริษัทได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แรงงานบังคับ ทรัพย์สินทางปัญญา และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในตลาด บริษัทมีข้อพิพาททางกฎหมายกับคู่แข่งอย่าง SHEIN

นอกจากนี้แล้ว PDD Holdings ยังเป็นเจ้าของ Pinduoduo ซึ่งเป็น Platform E-commerce ยอดนิยมในประเทศจีนอีกด้วย โดย ‘TEMU’ เริ่มใช้งานในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2022 ในเดือนมีนาคม 2023 เปิดตัวในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเดือนต่อมาได้เปิดตัวในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และสหราชอาณาจักร ในที่สุด ‘TEMU’ ก็ขยายเข้าสู่ตลาดละตินอเมริกา และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2024 ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ 49 เดือนกุมภาพันธ์ 2024 ‘TEMU’ ได้ลงโฆษณา Super Bowl หลายรายการ เป็นมูลค่าราว 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีการค้นหาชื่อและการเข้าชม ‘TEMU’ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีผู้ใช้งานจริงในสหรัฐอเมริกากว่า 100 ล้านคน มีดาวน์โหลด Application มากกว่า 130 ล้านครั้งทั่วโลก และมีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ประมาณ 420 ล้านครั้งต่อเดือน ตามข้อมูลของ Semrush 

รูปแบบธุรกิจของ ‘TEMU’ ยินยอมให้ผู้ขายในประเทศจีนขายและจัดส่งโดยตรงถึงลูกค้าโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้จัดจำหน่ายคนกลางในประเทศปลายทาง ทำให้สินค้ามีราคาถูกลง แต่ผู้ขายหลายรายระบุว่า ‘TEMU’ ขอให้พวกเขาลดราคาลงจนกระทั่งถึงจุดที่ขายสินค้าขาดทุน นอกจากนั้น ‘TEMU’ เสนอสินค้าฟรีให้กับผู้ใช้รายที่แนะนำผู้ใช้ใหม่ผ่านรหัสพันธมิตรโซเชียลมีเดีย และเกมมิฟิเคชัน การซื้อออนไลน์บน ‘TEMU’ สามารถทำได้โดยใช้เบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ตหรือผ่านแอปมือถือเฉพาะ และ ‘TEMU’ ยังใช้แคมเปญโฆษณาออนไลน์ขนาดใหญ่บน Facebook และ Instagram

นอกจากนี้แล้ว ‘TEMU’ ยังกำหนดให้ผู้ขายต้องเสนอผลิตภัณฑ์ของตนในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่พบใน AliExpress เมื่อผู้ขายหลายรายเสนอขายผลิตภัณฑ์เดียวกัน ‘TEMU’ จะอนุญาตเฉพาะผู้ขายที่เสนอราคาต่ำที่สุดเท่านั้น สินค้าที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดการขายขั้นต่ำของ ‘TEMU’ (30 ชิ้นและ 90 ดอลลาร์ใน 14 วัน) จะถูกลบออกจากแพลตฟอร์ม การโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างหนักในแอปมือถือ และลงโฆษณาทางทีวีในรายการ Super Bowl ส่งผลให้ ‘TEMU’ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากผลการวิจัยของ Sensor Tower เปิดเผยว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ผู้ใช้ ‘TEMU’ ใช้เวลาเฉลี่ย 23 นาทีต่อสัปดาห์บนแอป เมื่อเทียบกับ 18 นาทีบน Amazon และ 22 นาทีบน eBay 

‘Colin Huang Zheng’ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1980 ในเขตชานเมืองหางโจวเจ้อเจียง พ่อแม่ของเขาเป็นพนักงานระดับกลางในโรงงาน เข้าเรียนที่โรงเรียนภาษาต่างประเทศหางโจว เป็นนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง ‘PDD Holding’ เจ้าของ ‘TEMU’ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัท Pinduoduo ซึ่งปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีน หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เขาได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison หลังจากนั้นได้เข้าทำงานกับ Google ในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ในปี 2004 เวลานั้น Microsoft มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ Google ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ Huang ก็เลือกเดินทางไปกับ Google

ในปี 2006 Huang กลับสู่มาตุภูมิในฐานะส่วนหนึ่งของทีมเปิดตลาดเมืองจีนให้กับ Google อย่างไรก็ตาม 1 ปีต่อมา Huang ก็ตัดสินใจตามสัญชาตญาณตัวเองอีกครั้ง เขาเลือกลาออกจาก Google โดยไม่แม้กระทั่งจะรอให้ตัวเองมีความพร้อมเสียก่อนด้วยซ้ำ นั่นคือจุดเริ่มต้นของวิถีผู้ประกอบการของเขา ในปี 2015 Huang ได้ตั้งบริษัท Pinduoduo ขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ มีรายได้ 1.4 พันล้านหยวน (280 ล้านดอลลาร์) ในปี 2017 และในปี 2019 บริษัทสร้างรายได้ 4.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.14 พันล้านหยวน) ธุรกิจเติบโต และบริษัทเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หลังการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในเดือนกรกฎาคม 2018 ในชื่อหลักทรัพย์ว่า ‘PDD’ เปิดขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (IPO) ด้วยมูลค่ามากถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มสูงขึ้นในเวลาต่อมา Huang ซึ่งมีหุ้นอยู่ในบริษัท 47% มีมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 13 ของจีนในปี 2018

วันที่ 1 กรกฎาคม 2020 Huang ได้ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของ Pinduoduo แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเช่นเดิม ต่อมาเมื่อ 17 มีนาคม 2021 Huang ได้ทำการสละตำแหน่งประธาน และมอบสิทธิในการออกเสียงของหุ้นของเขาให้กับคณะกรรมการบริหาร โดยบริษัท Pinduoduo ระบุว่า Huang ต้องการที่จะแสวงหา ‘โอกาสใหม่ในระยะยาว’ ต่อไป ในเดือนมิถุนายน 2020 หลังจาก Huang ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้น Pinduoduo ของเขาลงเหลือ 29.4% โดยบริจาค 2.37% ให้กับมูลนิธิการกุศล และ 7.74% ให้กับบรรดาหุ้นส่วนของ Pinduoduo

หุ้น 2.37% ที่เขาบริจาคให้กับองค์กรการกุศลเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ใจบุญชั้นนำในรายชื่อ Hurun China Philanthropy List ในปี 2021 หลังจากที่เขาให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน 1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตามรายงานของ Bloomberg ระบุว่า Huang และทีมผู้ก่อตั้ง Pinduoduo ได้บริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.37% ของหุ้น Pinduoduo) ให้กับ Starry Night Charitable Trust เพื่อ “สนับสนุนการวิจัยพื้นฐานในวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ เกษตรกรรม และอาหาร”

“การตัดสินใจที่ถูกต้องนั้นสำคัญกว่าการทำงานหนัก การมีสามัญสำนึกนั้นสำคัญกว่าการมีความรู้”  ‘Colin Huang Zheng’

‘รมว.พาณิชย์’ รับ!! แพลตฟอร์ม ‘TEMU’ สะเทือน SME ชี้ ไม่นิ่งนอนใจ ลุยถก 8 หน่วยงาน วางมาตรการรับมือ

(13 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยผ่านเฟชบุ๊กวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ว่า การเข้ามาของ TEMU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ในประเทศไทยถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอีคอมเมิร์ซอย่างมาก

ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เนื่องจาก TEMU เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง

ซึ่งผมคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SME

นี่คือ แนวโน้มและทิศทางการค้าของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจ รู้ทัน และ ปรับตัว ในยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าใหม่โดยเฉพาะ E-commerce ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) การปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความตระหนักที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องให้ความสำคัญเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในตลาดที่แข่งขันสูงขึ้น

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนในภาพรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใด ๆ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนจาก กระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลฯ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

เพื่อหารือและพิจารณาถึงผลกระทบของผู้บริโภค และผู้ประกอบการ จาก E-Commerce ทุก platform ที่ส่งเข้ามานั้นว่าได้มาตรฐานตามข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่ อาทิ มาตรฐาน มอก. มาตรฐานของ อย. เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

รวมทั้งยังพิจารณาถึง การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน คือการส่งเสริมและสนับสนุน SME ทั้งการพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนการเข้าถึงตลาดใหม่โดยสร้างช่องทางการตลาดใหม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการบุกตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME

อาทิ การจัดมหกรรม Live – Commerce ในช่วงเดือนกันยายน โดยให้ Influencer จากต่างประเทศ เข้ามาคัดเลือกสินค้าไทย นำไปจัด Live เพื่อขายสินค้าจากประเทศไทยไปยังผู้บริโภคในประเทศจีน

ซึ่งขณะนี้ได้มีการสำรวจสินค้าไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของคนจีนจำนวนกว่า 500 รายการสินค้า เพื่อทำการซื้อขายดึงเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเข้าสู่ประเทศ ซึ่ง เป้าหมายครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณมากกว่า1,500 ล้านบาท

การค้าของโลกในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยน ผมคิดว่าเมื่อเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในคลื่นของการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้อยู่ในสถานะที่มีความสามารถแข่งขันได้ หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้แต่มุ่งแสวงหาความร่วมมือ อันน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการค้าในโลกปัจจุบัน

การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพื่อช่วยปกป้องดูแลภาคธุรกิจไทย และพิจารณา ให้ครอบคลุมเพื่อรับมือกับผลกระทบและส่งเสริมโอกาสที่เกิดขึ้น เพื่อการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค การสนับสนุน SME และการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว

“ขอให้มั่นใจรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเร่งด่วนที่สุด”

เอฟเคไอไอ.เตรียมเสนอวาระเร่งด่วนต่อนายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

'อลงกรณ์' ชี้โมเดลค้าออนไลน์แบบ TEMU เป็นปัญหาความเป็นความตายของเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์(FKII Thailand) เปิดเผยวันนี้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเปรียบเสมือนโควิดทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นความตายของ เอสเอ็มอี.กว่า 3 ล้านกิจการและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและอาเซียนโดยรวม ”สถาบันเอฟเคไอไอ.จึงได้จัดสัมนาFKII NATIONAL DAILOGUEเรื่อง “อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ภัยคุกคามเศรษฐกิจไทย ปัญหาและทางออก“ ในวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 13.30-17.00 น. ณ สวนเสียงไผ่ ทาวน์อินทาวน์ โดยระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในประเด็นต่างๆเช่น หัวข้อ“โอกาสและภัยคุกคามเศรษฐกิจไทย”โดย ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตสว.  อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
หัวข้อ“มาตรการรับมือ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธาน FKII ร่วมด้วยวิทยากรท่านอื่นๆได้แก่

นายชยดิฐ หุตานุวัชร์
ประธานสถาบันทิวา
นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งตลาดดอตคอม และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด
นายภาวัต พุฒิดาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท GoShip จำกัด
และผู้แทนองค์กรต่าง ๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเสนอปัญหาและทางออก

“โรงงานปิดเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจากปีที่แล้วเป็นกว่า100 แห่งต่อเดือนเกือบทั้งหมดเป็นเอสเอ็มอี. เรารอต่อไปไม่ได้
เอฟเคไอไอ.ฯ.จะเสนอเป็นวาระเร่งด่วนต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทั้งในมุมโอกาสและภัยคุกคามจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเช่นTEMU ในฐานะประธานFKIIและ อดีตรองปธ.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตรมช.พาณิชย์ ทำหน้าที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ผมยืนยันว่า ประเทศไทยเคารพหลักการเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม การคุ้มครองเศรษฐกิจในประเทศ(Domestic economy)เป็นมาตรการที่อยู่ภายใต้กติกาขององค์การการค้าโลก ดังนั้นข้อเสนอของเอฟเคไอไอ.จะเป็นมาตรการที่เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาและไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และส่วนหนึ่งของมาตรการจะต้องเป็นความร่วมมือระดับอาเซียนด้วย”
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธาน FKII อดีตรองปธ.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตรมช.พาณิชย์ กล่าวในท้ายที่สุด

'ทูตจีน' แจง TEMU กำลังจดทะเบียนจัดตั้งในไทยอย่างเป็นทางการ วอนเชื่อมั่น!! จีนไม่นิ่งเฉย เพื่อความร่วมมือการค้า 'ไทย-จีน' เชิงบวก

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทย-จีน

โดยได้มีการหารือถึงความกังวลในเรื่องของสินค้าจีน ที่ทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งทางจีนรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยหารือกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยไว้ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่าไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย และหลังการอภิปราย ตนได้ติดต่อกับทางสถานทูตจีน

ตนได้ติดต่อกับทางสถานทูตจีน ซึ่งจีนรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยกัน เพื่อหาทางออก และหาทางขยายความร่วมมือทางการค้า และการลงทุนระหว่างกันให้ได้เพิ่มขึ้น เพราะไทย และจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด และจะต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์จีนเองก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะยิ่งโตมากขึ้น ไทยจึงต้องร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของสองประเทศ

“ไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย ซึ่งไทย และจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ถ้าเรามีช่องทางที่ดีเขายินดีให้ความร่วมมือ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และกับทุกประเทศที่เข้ามา เราจะมีมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ทั้ง มอก. / อย. ซึ่งจะใช้บังคับกับทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะจีน ทางจีนยินดีทำตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลสุขภาพความปลอดภัยของประชาชนคนไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังขอให้ทางจีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุล ซึ่งในรายละเอียดการนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนที่เราเอาไปผลิต และขายต่อ เป็นสัดส่วนหลายแสนล้าน ซึ่งเราอยากเห็นการลงทุนจากจีนใน EEC มากขึ้น ขณะนี้ทางจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดแซงญี่ปุ่น และได้เชิญชวนให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภท เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก ช่วยยกระดับรายได้คนไทย

รวมทั้งขอให้จีนเปิดช่องทางให้สินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-Commerce จีนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการจัดงาน International Live Commerce Expo 2024 ‘มหกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซนานาชาติ 2567’ ที่นำอินฟลูฯ จีน มาไลฟ์ขายสินค้าไทย ที่สามย่านมิตรทาวน์ 25 - 29 ก.ย.67 นี้ เมื่อวานวันเดียวขายได้ถึง 320 ล้านบาท คาดว่าจะทะลุ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการค้าของโลก และไทยก็จะเพิ่มปริมาณอินฟลูฯ ในการขายสินค้ามากขึ้น เพื่อขายสินค้าไปจีน และได้หารือเรื่องการลงทุน และการท่องเที่ยวที่ผ่านมา 7-8 เดือนแรกปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยแล้วถึง 5 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีปริมาณถึง 8 ล้านคน เป็นรายได้หลักของไทย

นอกจากนี้ได้ขอให้ทางจีนช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากไทย เพราะประชากรจีนเยอะสามารถรองรับสินค้าเกษตรจากไทยได้มาก ซึ่งทางจีนยินดี อยากให้ทางจีนช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลในไทยรองรับเทคโนโลยีด้วย และช่วยส่งเสริมนโยบายของรัฐเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ภาพยนตร์ ล่าสุดเรื่อง หลานม่า ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทย และจีน

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ประชาชนชาวไทยมองเห็นได้ว่าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย จะนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาให้กับคนไทย ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น ซึ่งจีนยินดีที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนา และผลประโยชน์ให้กับคนไทย ยินดีให้ไทยใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ไปจำหน่ายสินค้าไทย

เรื่องการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย ทางจีนกับไทยเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พยายามหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม หามาตรการมาควบคุมจัดการ ไม่อยากให้ไปเหมารวมความร่วมมือการค้าการลงทุนในเชิงลบ ทำลายผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และขอชื่นชมรัฐบาลไทย และกระทรวงพาณิชย์ที่มีท่าทีถูกต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา คำนึงภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน

ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ TEMU นั้น ขณะนี้ บริษัท TEMU ได้รับทราบกฎระเบียบ และข้อร้องต่าง ๆ ทาง TEMU กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย และกำลังจัดตั้งบริษัท และลงทะเบียนอย่างเป็นทางการที่ไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และกฎหมายของไทย

รัฐบาลอินโดนีเซียสวมใจสิงห์!! สั่งแบน Temu หวั่น!! สร้างความเสียหายจากการ 'ทุ่มตลาด'

(9 ต.ค. 67) หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้สั่ง “แบน” แอปพลิเคชัน "เทมู" (Temu) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีน เพื่อปกป้องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศจากการถูกทำลาย และเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าราคาถูกท่วมตลาด

Temu ถือเป็นบริษัทในเครือของ PDD Holdings เชื่อมต่อโรงงานในจีนกับผู้บริโภคในกว่า 50 ประเทศ เช่น มาเลเซีย ไทย และสหรัฐโดยตรง
สำหรับเหตุผลของการแบน ทางการอินโดนีเซียระบุว่าโมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์ม Temu ทำให้ผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในประเทศอย่าง “ผู้ค้าส่ง” และ “ผู้ขนส่ง” ถูกตัดออกไป จนทำให้บริษัทต่างชาติสามารถรักษาราคาสินค้าให้ต่ำได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยในอินโดนีเซีย

“ถ้า Temu เข้ามาสร้างความเสียหาย จะมีประโยชน์อะไร? เราจะแบน โดยธุรกิจขนาดย่อมและกลางของเราจะพังทลายได้ หากปล่อยให้ Temu ดำเนินไปโดยไม่มีการควบคุม” บุดดิ อารี เซเทียดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของอินโดฯ กล่าว

ด้านนานดี เฮอร์เดียมาน ประธานสมาคมผู้ประกอบการท้องถิ่น IPKB มองว่า “Temu จะทำลายอุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในอินโดนีเซีย จากการนำเข้าขนาดใหญ่และการทุ่มตลาด”

นานดีกล่าวต่อว่า “อุตสาหกรรมสิ่งทอได้บูรณาการจากธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ และระบบนิเวศนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายโดยการเข้ามาของสินค้าราคาถูกอย่างไม่ควบคุมในตลาด ความเสี่ยงของการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย และสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ”

“อุตสาหกรรมสิ่งทอในอินโดนีเซียมีงานให้หลายล้านคน หากแพลตฟอร์ม Temu ครองอุตสาหกรรมสำเร็จ อุตสาหกรรมนี้จะมีความเสี่ยงที่จะประสบกับการลดลงของผลิตภาพและการเพิ่มขึ้นของอัตราว่างงาน” นานดีอธิบาย

นานดียังแนะนำให้รัฐบาลจับตาดูธุรกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นไปตามกฎระเบียบท้องถิ่น อีกทั้งรัฐบาลควรช่วยอุตสาหกรรมท้องถิ่น เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจโดยการให้แรงจูงใจ ลงทุนในเทคโนโลยี และผลักดันการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทวิจัย Momentum Works ระบุว่า อินโดนีเซียมีมูลค่าธุรกรรมอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 52,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

ตลาด E-Commerce จีนแข่งกันเดือด งัดกลยุทธ์ ‘คืนเงินโดยไม่ต้องคืนสินค้า’

(24 ต.ค. 67) นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล Founder & CEO บริษัท Fire One One ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์การแข่งขันในตลาด E-Commerce จีน ว่า

เมื่อชะลอตัว จีนก็แข่งกันเดือด Pinduoduo - อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่ใช้กำลังซื้อมหาศาลมาซื้อของสต็อกเพื่อให้ได้ราคาถูกมาก ๆ (เจ้าของ TEMU) เปิดเกมส์เมื่อเดือนสิงหาคมให้ลูกค้าที่ไม่พอใจสินค้าขอ Refund ได้โดยไม่ต้องส่งของคืน ... เล่นเอาทั้งคู่แข่งและหน่วยงานรัฐเต้นทันที

Taobao บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อีกราย หนึ่งในธุรกิจหลักของอาลีบาบา ส่งกระดาษโน้ตไปในทุกแพ็กเกจเพื่อประกาศว่า "เราไม่มีนโยบาย No-return Refund ถ้าคุณจะขอเงินคืนแต่ไม่คืนสินค้ากลับมา เราจะดำเนินคดีทันที" ... เนื่องจากเดือนที่ผ่านมาพวกเขาเจอการขอ Refund มากผิดปกติ (ตัวเลขจาก Nikkei คือเจอลูกค้าของเงินคืนแบบไม่ส่งของกลับมาราว 400,000 ครั้ง) ... พวกเขามองว่านี่เป็นการตัดขาคู่แข่งเพราะ Taobao ต้องชดใช้ให้ผู้ขายถึง 300 ล้านหยวนในช่วงเวลาดังกล่าว

หน่วยงานรัฐมองว่า Pinduoduo กำลังสร้างพฤติกรรมไม่ดีให้กับลูกค้าที่ไม่พอใจก็ขอเงินคืนได้ตลอดเวลา จะทำให้เกิดการซื้อแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ขึ้นมา ... แต่แน่นอนว่าถูกใจผู้บริโภค แต่จะไม่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในระยะยาว

Pinduoduo แย้งว่าพวกเขาไม่ใช่รายแรกที่ทำ (Amazon ก็ทำในสินค้าบาง Segments ที่ราคาถูกมาก ๆ จนไม่คุ้มต่อค่าส่ง) 

ผู้ขายก็ได้เงินคืนละครับแต่ว่ามันจะไม่ดีกับพวกเขา เช่นผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ขายตัวเดียวกันทั้งใน Pinduoduo และใน Taobao มียอดขอคืนเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มแรก มากกว่าทั้งปีที่เธอขายมาเมื่อปีที่แล้วทั้งที่สินค้าเป็นตัวเดิม ... "ลูกค้าแค่บอกว่าสินค้าของเราไม่ดี เลยขอเงินคืน สกอร์ของเราจะเป็นยังไง? ลูกค้าก็เอาไปใช้ใช่ไหม? แล้วจะทำยังไงถ้าเราเจอการสั่งซื้อสินค้าเดิมแล้วทำแบบเดิมอีกรอบ"

หน่วยงานรัฐเจอพฤติกรรม "เปิดกลุ่มสอน" เริ่มจากการขอรีฟันด์อย่างถูกต้องโดยระบุว่าสินค้าประเภทไหนจากผู้ค้ารายไหนต้องแจ้งยังไง ตอนนี้กลายเป็นการสอนอย่างเป็นระบบว่าจะใช้ของฟรีกันในแต่ละวันอย่างไร

ความขัดแย้งจะเริ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนครับ

เวียดนามขู่บล็อก Temu-Shein ไม่จดทะเบียนบริษัทสิ้นเดือนนี้สวนทางไทยถก Temu เดินหน้าตั้งบริษัท

(11 พ.ย.67) เวียดนามประกาศเตรียมบล็อกโดเมนอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันของ Shein และ Temu ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซจากจีน หากทั้งสองแพลตฟอร์มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศโดยยังไม่ได้จดทะเบียนการดำเนินงานกับกระทรวงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

รอยเตอร์รายงานว่าการเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของแพลตฟอร์มออนไลน์จากจีนต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น เนื่องจากการตลาดของ Temu และ Shein ค่อนข้างเข้มข้น โดยมีการเสนอส่วนลดจำนวนมากให้กับผู้บริโภค รวมถึงปัญหาคุณภาพสินค้าที่มักเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์

ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามนำโดยทีมของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงในการประชุมว่ากระทรวงได้ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มจีนทั้ง Shein และ Temu ในเรื่องการขอใบอนุญาตแล้ว

สรุปได้ว่า หลังจากที่กระทรวงได้แจ้งเตือนแล้ว หากแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตาม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้มาตรการทางเทคนิค เช่น การบล็อกแอปพลิเคชันและโดเมน ดังนั้นทางเลือกเดียวที่ Temu และ Shein มีในเวียดนามตอนนี้คือการจดทะเบียนการดำเนินงานกับกระทรวงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

‘กระทรวงพาณิชย์’ เผย!! TEMU จดทะเบียนนิติบุคคล ในไทยแล้ว พร้อมเดินหน้า แก้ไขปัญหานอมินี ลั่น!! ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

(10 ธ.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสินค้าไร้คุณภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

ให้เพิ่มความเข้มงวด และเพิ่มความเข้มข้นต่อไป หลังจากผลการทำงานที่ผ่านมา ได้ผลเป็นอย่างดี และแก้ไขปัญหาลงไปได้มาก สามารถดูแลผู้บริโภค และผู้ประกอบการ SME ได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TEMU ล่าสุดตนได้รับรายงานว่า เมื่อ 11 พ.ย.67 ที่ผ่านมาทาง TEMU ได้ดําเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ชื่อบริษัท เวลโค เทคโนโลยี จํากัด

ส่วนการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้นมี  2 ช่องทางคือ ช่องทางการส่งเสริมการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)และตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ทั้งนี้ทางจีนก็ยินดีที่จะส่งเสริมการส่งออกสินค้า SME ไทยให้เข้าไปจำหน่ายในจีนทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) และคณะอนุกรรมการส่งเสริม และยกระดับ SME ไทยและแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ทำให้สินค้าไร้คุณภาพเข้าสู่ประเทศลดลง โดยช่วงก่อนมีมาตรการ ม.ค. - มิ.ย.2567 มีการนำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 3,112 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนก.ค.- ปัจจุบัน การนำเข้าลดลงเหลือ 2,279 ล้านบาท ลดลง 27% ลดลงทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่มีมาตรฐาน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มมาตรการในการกำกับดูแล โดยสินค้าเกษตร ให้เพิ่มการตรวจสอบสารปนเปื้อน สารเคมีตกค้าง แมลงตกค้าง จาก 500 ครั้งต่อเดือน เป็น 5,000 ครั้งต่อเดือน

และระยะกลาง เพิ่มการตรวจสอบเป็นวันละ 200 ครั้ง หรือปีละ 7.2 หมื่นครั้ง สินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ให้ อย. และ สคบ. ตรวจสอบการติดสลาก คุณภาพสินค้า จากปกติ 1,200 ครั้ง เป็น 1,600 ครั้งต่อเดือน และเพิ่มเป็น 3,000 ครั้งต่อเดือน

ส่วนที่นำเข้า ให้ตรวจเข้ม 100% ในบางสินค้า และ 20-30% ในบางสินค้า และให้ชะลอการจ่ายเงินไว้ 5 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบสินค้า รวมทั้งต้องตรวจสอบการติดสลาก อย. มอก. อย่างเข้มข้น

ส่วนการดำเนินคดี กรมศุลกากรได้ดำเนินคดีแล้ว 12,145 ราย มูลค่าความเสียหาย 529 ล้านบาท สมอ. 59 คดี 33 ล้านบาท สคบ. 159 คดี 27.8 ล้านบาท กรมทรัพย์สินทางปัญญา 177 คดี 153 ล้านบาท และ อย. 30,393 รายการ ยังประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้

นายนภินทร กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหานอมินี ได้แบ่งกลุ่มตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจขนส่งทางบก ธุรกิจโกดัง และคลังสินค้า ธุรกิจซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตร และธุรกิจอื่นๆ โดยผลการตรวจสอบตั้งแต่ 1 ก.ย. - 4 ธ.ค.2567 สามารถดำเนินคดีได้ 747 ราย มูลค่า 11,720 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าของธุรกิจที่ได้เข้าไปตรวจสอบ

“ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่กระทำการเป็นนอมินีให้กับคนต่างด้าว เข้ามาทำธุรกิจในไทย ขอให้หยุดการกระทำ และแจ้งข้อมูลมายังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 จะกันตัวไว้เป็นพยาน แต่ถ้ายังขืนดื้อดึง และทำผิดต่อไป หากจับกุมได้ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่มีละเว้น” นายนภินทร กล่าวทิ้งท้าย

Temu ครองยอดดาวน์โหลดสูงสุด บน App Store ในสหรัฐฯ

(18 ธ.ค.67) แอปเปิล (Apple) เปิดเผยผลการจัดอันดับแอปพลิเคชันและเกมที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดบนแอปสโตร์ (App Store) ในสหรัฐฯ ซึ่งพบว่า 'เทมู' (Temu) แอปพลิเคชันชอปปิงของจีนครองอันดับหนึ่งอีกครั้งในฐานะแอปพลิเคชันฟรีที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐฯ ในปี 2024

รายงานระบุว่าเทมูขึ้นมาครองอันดับหนึ่งในปี 2023 แทนที่ติ๊กต็อก (TikTok) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันฟรีที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐฯ ในปี 2022 โดยติ๊กต็อกครองอันดับสามในปี 2024 รองจากแอปพลิเคชันเธรดส์ (Threads) ในเครืออินสตาแกรมของเมตา (Meta) ที่ขึ้นมาอยู่อันดับสองหลังจากอยู่อันดับสามในปี 2023

ด้านแอปพลิเคชันแชตจีพีที (ChatGPT) เป็นแอปพลิเคชันฟรีที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดอันดับ 4 ในสหรัฐฯ ในปี 2024 แซงหน้าแอปพลิเคชันเสิร์ช (Search) สำหรับค้นหาข้อมูลของกูเกิล

หลายแอปพลิเคชันของเมตายังคงติดการจัดอันดับแอปพลิเคชันที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในปี 2024 แต่ครองอันดับต่ำลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยอินสตาแกรมและวอตส์แอป (WhatsApp) ครองอันดับ 6 และอันดับ 7 ตามด้วยแคปคัต (CapCut) ของไบต์แดนซ์ (ByteDance) ยูทูบ จีเมล กูเกิลแมปส์ ชีอิน และเฟซบุ๊กในอันดับ 13

ส่วนอันดับ 14-20 ได้แก่ เทเลแกรม (Telegram) สแนปแชต (Snapchat) แคชแอป (Cash App) สปอติฟาย (Spotify) แม็กซ์ (Max) แม็คโดนัลด์ และแอมะซอน

ทรัมป์เพ่งเล็ง 'Shein-Temu' สั่งไปรษณีย์สหรัฐฯ หยุดรับพัสดุจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว

(5 ก.พ. 68) ไปรษณีย์สหรัฐฯ (USPS) ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า จะระงับการรับพัสดุขาเข้าจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว โดยไม่ระบุเหตุผลอย่างชัดเจน และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อไป โดยในเบื้องต้น USPS ยืนยันว่า การจัดส่งจดหมายและพัสดุทั่วไปจากทั้งสองประเทศยังคงดำเนินการตามปกติ ส่วนทำเนียบขาวยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับพัสดุขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน/คน หรือที่เรียกว่า “de minimis” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากจีนสามารถหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า

การยกเลิกข้อยกเว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกง ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มชื่อบริษัทอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง 'ชีอิน' (Shein) และ 'เทมู' (Temu) ในรายชื่อบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS)

แหล่งข่าวระบุว่า แม้รัฐบาลทรัมป์จะยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ก็อาจตัดสินใจไม่เพิ่มชื่อทั้งสองบริษัทในรายชื่อดังกล่าว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยการกำหนดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และเตือนถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทสหรัฐฯ รวมถึงกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท อิงค์ (Alphabet Inc.)

ทั้งนี้ ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นจาก DHS, เทมู หรือชีอิน ต่อรายงานข่าวดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top