Thursday, 24 April 2025
TDRI

'นายกฯ' ถก!! 'ปธ.ทีดีอาร์ไอ' หารือนโยบาย ยัน!! รับฟังทุกข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์

(24 พ.ย. 66) ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือประเด็นนโยบายด้านการวิจัย โดยมี นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในการหารือ

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ทำงานอย่างหนัก เดินสายไปทั่วโลกทำให้ประเทศไทยกลับสู่เวทีโลก ในฐานะที่ทีดีอาร์ไอทำการวิจัยเชิงนโยบาย โดยในบางเรื่องมีองค์ความรู้และข้อแนะนำที่อาจจะเป็นประโยชน์กับทางรัฐบาล จึงขอนำเสนอ 4 เรื่องต่อรัฐบาล ได้แก่ 

1.การปฏิรูปกฎระเบียบภาครัฐ 
2.การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
3.ประเทศไทยควรจะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD 
4.ยุโรปจะเก็บภาษีคาร์บอนนำเข้าจากสินค้าของประเทศต่าง ๆ

ซึ่งกลไกทางกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ดังนั้นจะต้องเตรียมการ ทั้งนี้ หากรัฐบาลเห็นว่ามีเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ ทีดีอาร์ไอมีความยินดีที่จะทำงานศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอด้านการวิจัยจากประธานทีดีอาร์ไอ โดยได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ชัดเจน เข้าใจดีว่าบางเรื่องทีดีอาร์ไอก็เห็นด้วย บางเรื่องก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล โดยในการดำเนินการใด ๆ ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งเป็นสำคัญ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีรับฟังข้อเสนอแนะทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ เพราะถือว่าเป็นการติเพื่อก่อ ซึ่งขอขอบคุณสำหรับข้อเสนอด้านการวิจัยจากทีดีอาร์ไอในวันนี้ โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรายละเอียดไปพิจารณา เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไป 

'นักวิชาการทีดีอาร์ไอ' ตั้งคำถาม? ทางออกใดเหมาะสม หากต้องแก้ปัญหาวัย 'ทำงานไทยหด-แก่เพิ่ม-เกิดลด'

เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.67) ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ประเทศไทยแก่ตัวเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เด็กเกิดน้อยลงอย่างรวดเร็ว

ถ้าต้องแก้ปัญหา 'มีคนทำงานน้อยลง' ท่านจะเลือกทางใด?

ก. นำเข้าแรงงาน (ทั้งมีฝีมือและค่าแรงถูก) มากขึ้น

ข. แปลงแรงงานต่างด้าวในไทยให้เป็นสัญชาติไทย โดยเฉพาะเด็กต่างด้าวที่เกิดในไทย หรือมาอยู่ไทยแต่เล็กจนเห็นตัวเองเป็นคนไทยมากกว่า

ค. ทำให้คนแก่ทำงานได้นานขึ้น (อย่างมีฝีมือจริง ๆ).. ซึ่งหมายถึงต้องมีชีวิตนานขึ้นด้วยสุขภาพที่ดีพอควรด้วย

ง. ทุ่มทรัพยากรมหาศาลเพื่อเร่งพัฒนา Robotics & AI จนไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในประเทศและส่งออก

จ. ส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น (ทำไงหว่า?)

ฉ. อื่น ๆ (จงอภิปรายว่าแก้ปัญหาได้ไง)

TDRI เตือนรัฐหยุดแจกเงินดิจิทัล หลังไปไม่ช่วยกระตุ้น ศก. แนะใช้งบแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวแทน

(21 มี.ค. 68) ดร.สมชัย จิตสุชน เตือนรัฐ หยุดเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลในเฟสต่อไป แนะใช้งบแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวแทน ขณะที่เฟส 3 หนุนทบทวนเงื่อนไขเปิดทางใช้เงินหมื่นซื้อคอร์สอัปสกิล-รีสกิลได้ หวังพัฒนาทักษะคน เตือน รัฐบาลรับมือเศรษฐกิจซบเซา จากปัจจัยภายนอก-ในประเทศ โดยเฉพาะความปั่นป่วนจากสงครามการค้า – หนี้ครัวเรือนสูง ห่วงภาระการคลัง ทำเรตติงประเทศตก

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัลเฟส 3 ที่ให้กับผู้มีอายุ 16-20 ปีว่า มีการคาดการณ์กันว่าในเฟสที่ 3 นี้อาจได้ผลบ้าง เพราะกลุ่มคนที่แจกยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ที่ไม่มากนัก เมื่อได้เงินมาอาจจะใช้เร็ว แต่เชื่อว่าไม่น่าจะได้ผลมากกว่าเฟส 1 ที่มอบให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตามหากอยากให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจริง ๆ รัฐบาลควรละทิ้งแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น และไม่ควรเปิดทางให้นำเงินจำนวนนี้ไปซื้ออะไรก็ได้ แต่ควรกำหนดให้ใช้ไปกับการหาความรู้ อัปสกิล รีสกิล ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มเยาวชนพอดี เพราะเป็นกลุ่มที่กำลังจะเข้าสู่กำลังแรงงานซึ่งอาจจะนำเงินจำนวนนี้ไปเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งแม้จะไม่เห็นผลในระยะสั้นมากนัก แต่ผลในระยะยาวจะดีกว่ากันมากเพราะเป็นการดึงศักยภาพของคนซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่าทุกคนที่เข้าเงื่อนไขจะได้รับสิทธิทั้งหมดนั้น ดร.สมชัย กล่าวว่า เป็นการทำให้ตรงกับที่หาเสียงไว้ แต่เห็นชัดแล้วว่าการดำเนินโครงการทั้งเฟส 1- 2 รวมทั้งเฟส 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีจริงอย่างที่หาเสียงไว้ จึงควรทบทวน  

“ตอนที่หาเสียงไว้ และตอนที่เป็นรัฐบาลใหม่ ๆ บอกว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู บางคนบอกจะทำให้ไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่มีคนเชื่อ และวันนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ในเมื่อมันพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ก็ไม่ควรจะเดินหน้าต่อ เรามองว่าเงินนี้นำไปทําอย่างอื่นที่มีประโยชน์ได้มากกว่าเยอะ” ดร.สมชัยระบุ

เตือนหยุดสุรุ่ยสุร่ายแจกเงินหมื่น แนะใช้งบพัฒนาดิจิทัล อินเทอร์เน็ตฟรี ดึงศักยภาพคน หนุนเศรษฐกิจ ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากงบประมาณหลายแสนล้านที่ต้องเสียไปจากการใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความสูญเสียที่มากกว่าตัวเงินเสียอีก เพราะอย่าลืมว่าวันนี้ภาคการคลังของไทยอ่อนแอมาก ประเทศไทยมีเงินน้อยลง ประชาชนก็มีเงินน้อยลง เพราะฉะนั้นนำเงินงบประมาณไปใช้ต้องคิดอย่างระมัดระวัง ถ้านำไปใช้ในเรื่องที่ไม่สมควรใช้ จนทำให้เรื่องที่สมควรใช้จะถูกตัดทิ้งไปก็น่าเสียดาย เช่น เรื่องการพัฒนาทักษะของคน การปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งระบบสวัสดิการสังคมของไทยก็ยังมีปัญหาในบางจุด และเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งกันดีขึ้น ทั้งหมดนี้จําเป็นต้องใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลในการเดินหน้า แต่อาจถูกชะลอออกไปเพราะเอาเงินมาใช้ในเรื่องที่ไม่สมควรใช้แบบนี้ ดังนั้นไม่สนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าเงินดิจิทัลในเฟสต่อไปอีก

“รัฐบาลควรนำงบประมาณไปลงทุนในเรื่องของดิจิทัล ทําอินเทอร์เน็ตฟรี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยได้มาก ในเรื่องของผลิตภาพของประชาชน เพราะเกิดการพัฒนาตัวเองและสร้างรายได้ ผมเชื่อว่ามีอัจฉริยะที่ซ่อนอยู่ตามซอกมุมต่าง ๆ ของประเทศอยู่มาก เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้รับโอกาส รัฐบาลก็ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่เขามีอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าทํา แต่คงไม่ได้ทํา ถ้าเกิดว่าต้องมาจ่ายเงินแบบสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ” ดร.สมชัยระบุ

สงครามการค้าจะทำเศรษฐกิจไทยซบเซา ห่วงภาคการคลังมีปัญหา หนี้รัฐ-ครัวเรือนสูงชนเพดาน ดร.สมชัย ในฐานะอดีตกนง.ยังมีข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า ต้องพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น อย่าเน้นระยะสั้น เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต กาสิโน พนันออนไลน์ แต่ควรเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มมาตรการระยะยาวมากขึ้น และจะต้องเตรียมรับมือกับความยากลําบากที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้าที่คาดว่าจะมาแบบเต็มรูปแบบเมื่อเทียบกับยุคทรัมป์ 1.0  ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในหลายปีที่ผ่านมาถูกมองว่าดีเกินไปจนน่าจะมาถึงอาจจะซบเซาลงตามวัฏจักร รวมทั้งเรื่องของสงครามยูเครนในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อไทยในฐานประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยวมาก ขณะที่ในประเทศเองหนี้ครัวเรือนสูง ความสามารถในการผลิตไม่ได้ดีมากนัก เพราะฉะนั้นจะมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเข้ามาพร้อมกัน

“เศรษฐกิจคงซบเซาต่อไป และมองไป 4 ปีถัดไป ภาพก็จะคล้ายกันถ้าไม่ได้มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว และถ้ามีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่ระมัดระวังแบบนี้ ภาคการคลังจะมีปัญหา หนี้สาธารณะก็คงจะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีภายในไม่กี่ปีนี้ ในขณะที่ภาระการจ่ายหนี้ของรัฐบาล ทั้งดอกเบี้ย และเงินต้น ก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นไปใกล้ ๆ ชน 15 เปอร์เซ็นต์ที่กําหนดในกฎหมาย ทั้งหมดนี้จะทําให้เรตติ้งของภาครัฐไทยแย่ลงในสายตาของบริษัทประเมินเรตติง ซึ่งเป็นผลเสียระยะยาว เพราะว่าหมายถึง ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล และจะลามไปถึงภาคเอกชนอาจจะสูงขึ้น ซึ่งก็จะซ้ำเติมเรื่องของเศรษฐกิจเข้าไปอีก” ดร.สมชัยกล่าว

‘ทีดีอาร์ไอ’ หนุนแนวคิด ‘พีระพันธุ์’ ปฏิรูปกองทุนน้ำมันฯ สู่ระบบ SPR ยกเลิกอุดหนุน แก้ปัญหาน้ำมันแพงอย่างยั่งยืน

(18 เม.ย. 68) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกโรงสนับสนุนนโยบายของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ผลักดันแนวคิดเปลี่ยนระบบสำรองน้ำมันจากรูปแบบการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นการจัดเก็บน้ำมันจริงในรูปแบบ "คลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์" หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ระบบ SPR มีข้อได้เปรียบเหนือกว่ากองทุนน้ำมันฯ แบบเดิมที่ใช้กลไกการอุดหนุนราคาน้ำมัน เพราะช่วยให้รัฐบาลบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอิงต้นทุนจริง ไม่ต้องแทรกแซงหรือใช้งบประมาณจำนวนมากเหมือนในอดีต ทั้งยังสามารถรับมือกับวิกฤตพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงครามหรือภัยธรรมชาติ

“วัตถุประสงค์หลัก คือ รองรับวิกฤตด้านพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงคราม การปิดเส้นทางขนส่ง หรือภัยธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศมีน้ำมันเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน”

จากข้อมูลปี 2567 พบว่าคลังน้ำมันของไทยมีความจุรวม 16,545 ล้านลิตร แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 7,500 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 9,000 ล้านลิตร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการสำรองในระดับ 90 วันตามมาตรฐานของระบบ SPR ที่ต้องการสำรอง 14,000 ล้านลิตร (น้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 2,000 ล้านลิตร)

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอแนะให้รัฐเริ่มต้นจากการสำรองน้ำมันขั้นต่ำ 30 วัน และค่อย ๆ ขยับเพิ่มเป็น 60-90 วัน เพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนสูงเกินไปกับภาคเอกชน และสามารถทยอยปรับโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเหมาะสม

“ภาครัฐควรจัดทำแผนเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการตั้งเป้าสำรองขั้นต่ำที่ 30 วันของปริมาณการใช้น้ำมันต่อวันในประเทศ และขยายเป็น 60-90 วัน ในระยะกลางและระยะยาว”

แนวทางสำคัญในการสร้าง SPR คือการเปลี่ยนการเก็บค่าภาคหลวงจากเงินสดเป็นน้ำมันจริง โดยอาศัยกฎหมายปิโตรเลียมที่เปิดช่องให้ผู้รับสัมปทานสามารถชำระค่าภาคหลวงเป็นน้ำมันได้ ซึ่งหากจัดเก็บในอัตรา 12.5% จากปริมาณส่งออกปิโตรเลียมเฉลี่ย 19 ล้านลิตรต่อวัน จะได้น้ำมันสำรองราว 2.4 ล้านลิตรต่อวัน

อีกทางเลือกคือการนำส่วนอุดหนุนที่เคยเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ และภาษีบางส่วน มาใช้จัดซื้อและบริหารน้ำมันสำรอง โดยให้เอกชนเป็นผู้รับภาระแทนรัฐ ซึ่งต้องมีการชดเชยที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นมากในระยะยาว

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้จัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบ SPR เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าหากดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นการวางรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมันของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ และลดความผันผวนของราคาน้ำมันในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top