Tuesday, 22 April 2025
Startup

'บิ๊กตู่' ลุย!! แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 ชู!! 'เศรษฐกิจดิจิทัล' พาเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

(4 ก.พ.66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ในการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย และพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค เป็นต้น ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้รับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 - 2570) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง ให้ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ที่สานต่อจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3 ได้คำนึงถึงปัจจัยความท้าทาย และทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยในอนาคต ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 29 แผนงาน ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (Competitiveness) เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 11 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ (Accessibility) เป็นตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วย 8 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New Economy) กลุ่มธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต (New S-curve) และกลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) การระดมทุนผ่าน LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs และ Startup เป็นต้น 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล (Digitalization) เป็นการส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน ประกอบด้วย 6 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น โครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมและพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน (Financial well-being) เป็นการมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย (Financial Literacy) ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 การปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เป็นต้น

9 ขั้นตอนธุรกิจสตาร์ทอัพ ปั้นสินค้าออกสู่ตลาด

>> PRELAUNCH เตรียมพร้อมก่อนนำสินค้าออกสู่ตลาด
-ตั้งเป้าหมายที่ถูกต้อง
-ทำความเข้าใจลูกค้าและึุณค่าของสินค้า
-เริ่มต้นในตลาดที่เหมาะสม
.
>> PRODUCT LAUNCH STRATEGY กลยุทธ์การนำสินค้าออกสู่ตลาด
-ใช้เครื่องมือและช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
-สื่อสารถึงลูกค้าด้วย STORYTELLING
-ทำให้กลุ่มเป้าหมานสนใจทดลองสินค้า
.
>> AFTER LAUNCH PRODUCT WITH GROWTH MARKETING เร่งการเติบโตด้วยตลาด
-เก็บ FEEDBACK เพื่อนำมาปรับปรุง
- สินค้าเริ่มตอบโจทย์ตลาด วัดจาก ORGANIC GROWTH 
-เร่งการเติบโตด้วย GROWTH MARKETING


ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
 

‘วิชัย ทองแตง’ แชร์ 3 เคล็ดไม่ลับปั้น Startup ไทยให้แกร่ง ‘พันธมิตร-เครือข่าย-ควบรวม’ ต้องปึ้ก!! ในยุคโลกหมุนไว

(20 มิ.ย.67) จากช่อง ‘GodfatherOfStartup’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอช่วงหนึ่งจากโครงการ ‘Chiangmai Web3 City And Metaverse เปิดสปอตไลท์ส่องหา Unicorn’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2565 ณ สถานที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลแม่เหียะ โดยคลิปดังกล่าวเป็นการบรรยายของ 'คุณวิชัย ทองแตง' Godfather of Startup ซึ่งมีเนื้อหาที่ให้มุมมองสำคัญต่อ Startup ไทยไว้อย่างน่าสนใจมากๆ โดยเนื้อหาในวันนั้นมีรายละเอียดดังนี้...

“เมื่อได้ฟังข้อสรุปสุดท้ายของท่านรัฐมนตรี (คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น) ที่ว่า ‘เดินเร็วหรือเดินช้า ไม่สำคัญเท่าเดินให้ถูกทาง การจับมือเดินร่วมกัน ของพวกเราในครั้งนี้ จะเป็นการจับมือเดินเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ดีกว่าเดิม และ Startup ของไทยเหล่านี้ คือ อนาคตที่ประเทศมองข้ามไม่ได้” ถ้อยคำจากคุณวิชัยที่ต้องการส่งสารไปถึง Startup ไทย

คุณวิชัย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า “หลายท่านคงจะเคยอ่านหนังสือ 2 เล่มของผม (‘ลงทุนสไตล์ วิชัย ทองแตง’ และ ‘ปั้นหุ้น’) ผมอยากจะแนะนำให้กลับไปอ่านดูหน่อย แล้วเราจะเข้าใจบริบทของการทำธุรกิจเพื่อนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดทุนได้อย่างถูกต้อง เพราะคำตอบทั้งหลายอยู่ในหนังสือสองเล่มนี้หมดแล้ว”

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้เผยถึงเศรษฐกิจช่วงดังกล่าวด้วยว่า “ช่วงนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ Startup หลายรายเริ่มปลดพนักงานออก เพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ในมือ ดังนั้นผมจึงอยากจะนำสูตรหนึ่งมาแชร์เป็นเคล็ดลับเพื่อความมั่นคงแก่บรรดา Startup โดยผมอยากให้จับตามอง 3 สิ่ง ได้แก่ Recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) / Inflation (เงินเฟ้อ) และ Stagflation (ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว)...

“เราหนี 3 สิ่งนี้ไม่ได้ในช่วงเวลานี้ ยังไงเราก็ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอย และเงินเฟ้อขึ้นสูง อย่างวันนี้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไป 7.1% เมื่อปี 2013 เงินเฟ้อ 12% ว่างงาน 9% แต่ที่น่ากลัวคือ เรากำลังเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันระหว่าง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ เงินเฟ้อ บวกกับ GDP ประเทศลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แถมคนว่างงานมีเพิ่มขึ้น ของแพงขึ้น นี่เป็นสิ่งที่พวกเราควรต้องระวัง ศึกษาให้ถ่องแท้ จะมามัวตกใจไม่ได้ ต้องมีแผนสำรองใหม่ๆ อยู่ตลอด เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง ไม่ต้องคาดหวังสูง แต่ต้องเดิน ต้องปลุกใจ ให้กล้า เผชิญหน้า ท้าทาย ไม่ว่าจะยากแค่ไหน”

เกี่ยวกับประเด็น Startup ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความปรารถนาสูงส่งในการสร้างความฝันอันยิ่งใหญ่ของตนเองแค่ไหน? คุณวิชัย ได้กล่าวในฐานะผู้กำลังปลุกปั้น Startup / SMEs และบริษัทที่จะมีศักยภาพเติบโตด้วยว่า “ก็ต้องถามกลับว่า พวกเรายังคงรักษาความฝันนี้ไว้หรือเปล่า เคยมีคำกล่าวจากอดีตประธานาธิบดีเยอรมนี (Angela Merkel) เคยบอกไว้ว่า [กำแพงเบอร์ลิน ไม่สามารถจำกัดความคิด ความเป็นตัวตนความฝัน และจินตนาการของฉัน เธอบอกให้พังกำแพงแห่งความเขลาและจิตใจที่คับแคบ ให้กับสิ่งที่มันมิอาจเป็นอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง]” 

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้ให้หลักการสำคัญผ่านคีย์เวิร์ดที่เรียกว่า ‘2G’ ไว้ด้วยว่า “ผมขอฝาก 2G เล็ก ที่จะทำให้กลายเป็น 2G ใหญ่ ไว้ดังนี้ ได้แก่ 1.Growth และ 2.Gain คุณต้องสามารถสร้างกำไรและการเติบโตให้ได้ เพราะถ้าคุณสร้าง Growth ได้แปลว่าคุณเข้าใจตลาด เข้าใจเส้นทางของธุรกิจ และถ้าคุณเข้าใจ Gain ได้ แสดงว่าคุณมีความสามารถในการบริหาร หรือก็คือถ้าคุณมี 2 องค์ประกอบนี้เมื่อไร โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อได้อย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้น บาง Startup สตาร์ทเท่าไหร่ก็ไม่อัป ส่วนบาง Startup พออัปแล้ว แต่ก็ไม่ต่อไม่ถูก ฉะนั้นต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า ‘What’s Next’ คำถามนี้ใช้ได้กับทุกๆ ธุรกิจ แล้วเราจะทำยังไงกันต่อไป”

เกี่ยวกับประเด็น ‘What’s Next’ ของ Startup คุณวิชัยก็ได้ให้หลักการสำคัญเพื่อสร้าง 2G ให้ใหญ่ขึ้นได้ด้วยว่า “เราต้อง ‘Collaboration’ หรือ ทำงานร่วมกัน หาพันธมิตร เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน จับมือกันเติบโต ต่อมาคือ ‘Connection’ ทุกคนล้วนมีคอนเน็กชัน จะมากน้อยแค่ไหนเพียงใดไม่สำคัญ อยู่ที่คุณจะขยายเครือข่ายของตัวเองได้หรือไม่ เพราะนี่คือการลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญอย่างมาก และสุดท้าย ‘Mergers & Acquisition’ หรือ การควบรวม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสูตรที่สามารถทำให้เราไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างที่ผมเองได้ตัดสินใจควบรวมกับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นการ M&A ที่ใหญ่มาก นั่นก็เพราะหากเราต้องการอะไรบางอย่าง (Wealth) เราก็ต้องยอมสูญเสียอะไรบางอย่าง ถ้าต้องการที่กระโดดให้ไกลกว่าเดิม ก็ต้องพร้อมที่จะย่อเข่า”

ท้ายสุด คุณวิชัย ยังได้ฝากถึง Startup รุ่นใหม่ด้วยว่า “แม้ความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ขอให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ทำลายคุณธรรม 3 ข้อ ได้แก่...

1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น
2. เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม
3. เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยกว่า

พวกเราจงกระตุ้นตัวเองอยู่เสมอ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า”

เปิดใจ 'มาเฟียสายขาว' ที่ Startup รุ่นใหม่ต้องรู้ หากหวังชนะใจ 'วิชัย ทองแตง' 'โปร่งใส-ทุ่มเท' พร้อมพาเฮเข้าตลาดใน 3 ปี แง้ม!! 'เฮลท์เทค' โอกาสรุ่งสูง

เชื่อได้ว่าหลาย ๆ คนที่กำลังทำบริษัทสตาร์ตอัปอยู่ คงอยากจะรู้ว่าคุณวิชัย ทองแตง เศรษฐีพอร์ตหุ้นระดับหมื่นล้าน ผู้ได้ฉายา 'มาเฟียสายขาว' แห่งวงการสตาร์ตอัปท่านนี้ จะอยากสนับสนุนใครบ้าง โดยช่วงหนึ่งที่คุณวิชัย เคยแชร์ไว้ในงาน Beartai Best Buy ผ่านหัวข้อ The Money For Startup ระบุว่า…

“จริง ๆ คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มถอยห่างจากการเป็นพนักงานกินเงินเดือนมาเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากจะทดสอบและใช้ความรู้ความสามารถของตัวเอง เดินอยู่บนเส้นทางที่ตัวเองเป็นผู้กําหนด ซึ่งผมก็มองเห็นว่าศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และคิดว่าเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย จึงได้ตัดสินใจเข้าไปช่วยส่งเสริม ผลักดัน ให้คำแนะนำ และในบางบริษัทก็เข้าไปร่วมลงทุนด้วย”

คุณวิชัยได้กล่าวถึงเป้าหมาย ขอบเขต และอนาคตของสตาร์ตอัปในมุมมองของตัวเองว่า “คำว่า ‘สตาร์ตอัป’ ในความหมายของผม ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ IT เท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย แต่ที่ให้น้ำหนักกับธุรกิจ IT มากนั้น บอกตรง ๆ เลยว่าเวลาเราดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ ‘ตัวคูณ’ เยอะ และเป้าหมายการลงทุนของผม ในทุก ๆ การลงทุน จะมองไปยังเป้าหมายสุดท้ายคือเรื่องการเข้าตลาดทุนอยู่เสมอ”

“ผมเชื่อมั่นว่าสตาร์ตอัปสาย ‘เฮลท์เทค’ หรือธุรกิจสายสุขภาพในประเทศไทย สามารถเติบโตและก้าวเป็นผู้นำในระดับนานาชาติได้ ฉะนั้นผมจึงเปิดกว้างสำหรับสตาร์ตอัปที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบของการทำธุรกิจทางด้านสุขภาพ เพราะผมเชื่อว่าอย่างไรแล้วก็ไม่มีวันตกเทรนด์ สามารถเติบโตได้  และหากทำสำเร็จก็จะยั่งยืน เป็นจุดแข็งของประเทศได้เลย”

คุณวิชัยยังได้เผยถึงขั้นตอนการเข้าพบ เพื่อนำเสนอไอเดียธุรกิจ และเกณฑ์การตัดสินใจไว้ว่า “การเข้ามาพูดคุยกับผม เรียนตามตรงว่าจะยุ่งยากสักหน่อย ขั้นตอนแรกก็ต้องผ่านผู้ช่วยของผมก่อน 2 ท่าน หากผู้ช่วยเห็นว่าเหมาะสมและดูมีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต ก็จะพาเข้ามาพรีเซ็นต์กับผม”

“ส่วนเรื่องเกณฑ์การตัดสินใจก็คือ ‘ความถูกใจ’ ผมจะมองถึงเรื่องความคิดใหม่ ๆ ที่ผ่านการทุ่มเทมามากพอสมควร เพราะคนที่จะเข้ามาทำสตาร์ตอัปได้นั้น หากขาดความอดทน ทุ่มเทอย่างแท้จริง ก็ยากที่จะทำได้ ไม่ว่ากับธุรกิจใด ๆ ก็ตาม” คุณวิชัยกล่าว

นอกจากนี้ คุณวิชัยยังได้กล่าวถึงการพาธุรกิจสตาร์ตอัปที่ผ่านเกณฑ์เข้าตลาดทุน แม้ว่าเจ้าของธุรกิจนั้น ๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเข้าตลาดทุนว่า “ก่อนอื่นคือต้องปรับจูนความเข้าใจ ให้เห็นตรงกันก่อน ว่าการจะเดินเข้าสู่ตลาดทุนได้ ต้องมีการปรับตัวเอง เพราะมีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างชัดเจน แต่หัวใจหลักใหญ่ก็คือ ‘ต้องโปร่งใส’ ไม่ว่าจะทําธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องคํานึงถึงความโปร่งใส ไม่เอาเปรียบ…

“อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เวลาผมจะลงทุนในธุรกิจใดก็ตาม สิ่งที่มองเป็นหลักสำคัญคือหากเอาเข้าตลาดทุน ต้องมองไปที่อนาคตว่าสามารถไปต่อได้หรือไม่? ธุรกิจนั้นมีอุปสรรคหรือมีข้อขัดข้องอะไรบ้าง หรือมีคู่แข่งมากเกินไปหรือไม่? ซึ่งตอนนี้ผมกําลังพยายามที่มอบความรู้เหล่านี้ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำสตาร์ตอัปอยู่…”

สุดท้าย คุณวิชัยได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับระยะเวลาพาบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหลักทรัพย์ไว้ว่า “กว่าจะเข้าตลาดทุนได้นั้น ใช้เวลาปกติประมาณ 3 ปี แต่ก็มีโอกาสเร็วกว่านั้นหากว่ามีจังหวะที่เหมาะสม ธุรกิจนั้น ๆ แมตช์กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยมีทิศทางที่สอดคล้องกัน และสามารถไปด้วยกันได้ เพื่อให้ธุรกิจนั้น ๆ แข็งแรงและเติบโตได้ตามความฝันของคนรุ่นใหม่”

ฟังบอสใหญ่ 'WHA' เปิดอีกมุมเจ็บจาก Startup ไทย ไปไม่รอด เพราะฝันล้น พยายามต่ำ นำเงินไปใช้ผิดๆ

เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนไม่น้อย หลังจาก 'คุณจูน จรีพร จารุกรสกุล' ประธานกรรมการบริหารของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ที่ได้ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบ ‘BT beartai’ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 โดยหนึ่งในเรื่องที่ให้สัมภาษณ์เป็นประสบการณ์เจ็บ ๆ เมื่อได้ร่วมลงทุนใน Startup ไทย ซึ่งมีเนื้อหาที่ดุเดือด ดังนี้…

พี่มักพูดเสมอว่า สมัยที่ทําธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม ต้องหาทุนจากการกู้แบงก์ เพราะไม่มีทุนสนับสนุนใด

แบบปัจจุบัน โดยตัวแปรสำคัญที่ช่วยทำให้ธุรกิจเบ่งบานได้เช่นทุกวันนี้ ก็คือ เครดิต 

ถามว่าเครดิตเกิดจากอะไร?

เครดิตไม่ได้เกิดจากมีนามสกุลใหญ่โต ไม่ได้เกิดจากการที่มีเงินมากมาย แต่มันเกิดจากคําพูดของเรา หรือก็คือ เราต้องไม่ผิดคําพูดกับใครแม้แต่คําเดียว

อย่างการทำธุรกิจ ถ้าหากจะต้องพึ่งเงินทุนจากแบงก์ หรือต้องไปกู้เงิน เราต้องมีเครดิต เราต้องมีสินทรัพย์ค้ำ มีผลประกอบการ มีผลกำไรค้ำ แบงก์ถึงจะยอมให้กู้ พี่จึงต้องทําทุกอย่างด้วยความระมัดระวังทั้งหมดเลย หรือแม้แต่การใช้เงินทุกอย่างอย่างก็ต้องใช้อย่างมีคุณค่า เพื่อให้เครดิตตรงนี้เกิดขึ้น เหนื่อยมาก พยายามมาก และใช้เวลานานมาก

ดังนั้นภาพที่ว่ามาเหล่านี้ จึงแตกต่างกับการดำเนินธุรกิจแบบ Startup ในปัจจุบัน ซึ่งมีโอกาสได้เงินทุนจากนักลงทุนที่แค่เห็นโอกาส ภายใต้ภาพโมเดลธุรกิจในอนาคตที่ฉายออกมาให้เห็นถึงกําไร และความสำเร็จ เพียงแต่ก็ต้องไม่คิดว่านักลงทุนเหล่านี้ คือ มูลนิธิ

เพราะอันที่จริงบริษัทใหญ่ ๆ เฉกเช่นเดียวกันกับ WHA นั้น ล้วนสามารถทำ Startup เองได้ทั้งสิ้น แต่เหตุผลที่ไม่ทำเพราะเราอยากให้โอกาสธุรกิจที่เกิดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่จริง ๆ ได้ฉายแสง เพราะพวกเขาจะเป็นอนาคตของประเทศต่อไป

นั่นคือ ความตั้งใจจากผู้ใหญ่ที่มีแต่โรยรา แต่ประเด็นคือ เมื่อสิ่งที่เราลงทุนไป และได้กลับมา มันสวนทาง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เช่น กรณีหนึ่งที่เราสนับสนุน คือ ได้เงินพี่ไปแล้ว และพี่ดันไปเห็นในเฟซบุ๊ก เขาไปเที่ยวต่างประเทศ ไปซื้อรถสปอร์ต โดยที่เราแทบไม่เห็นมุมการทำงานผ่านโลกโซเชียลเหล่านั้น ทำให้เราผิดหวังมาก

ตรงนี้มันจึงย้อนกลับมาเรื่องเครดิต การที่คุณได้เงินไป เพราะเราเชื่อใจคุณ เชื่อว่าคุณจะสร้างผลประกอบการ สร้างกําไรในอนาคต เพราะว่ากันตามตรง จะเงินกู้ หรือเงินทุนที่ได้รับนั้น ผู้ให้ย่อมคาดหวัง ซึ่งอาจจะไม่ใช่หวังเงินที่ให้ไปคืน แต่หวังที่จะเห็นความตั้งใจของ Startup นั้น ๆ ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

ทั้งนี้ คุณจูนเล่าด้วยว่า ตนได้มีการให้ทุนไป 60 ล้านบาท ใน Startup 5 รายที่มีความเกี่ยวเนื่องในการต่อยอดธุรกิจของ WHA ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่ลงเงินไป อาจจะดูผิดหวังพอสมควร เนื่องจากบางรายตอนมาขอทุน มาพร้อมคำมั่นสัญญามากมาย แต่สุดท้าย บางรายพอทำไม่สำเร็จ ก็ถอนตัว แถมบางรายก่อนถอนตัวก็มีการขอระดมทุนอีก บางรายตั้งทีมงานเพื่อมาทำงานแทนตน ทั้ง ๆ ที่หากต้องการได้ทีมหรือได้คำปรึกษา ขอจากตนได้ทันที นั่นจึงให้คุณจูนอดเกิดคำถามไม่ได้ว่า ได้ทุนไป สุดท้ายทำตัวลอย ๆ ทั้ง ๆ ที่ผู้ให้ทุนเชื่อใจ แบบนั้นเท่ากับอะไร หรือบางคนทำแล้วไม่มีความอดทนจะต่อยอดมันต่อไป แบบนั้นหมายถึงอะไร

คุณต้องเข้าใจถ้าคุณคิดจะโต คุณต้องมองภาพธุรกิจให้ได้ว่ามันคืออะไร มันต้องสู้ มันต้องอึด มันต้องอดทน ใคร ๆ ก็อยากรวยใช่ไหม แต่จะถึงจุดนั้นมีกี่คน มันไม่ได้ฟลุ้ก ตอนพี่เริ่มธุรกิจก็ต้องลงแรงอย่างมากเป็นหลายสิบปี ทำงานแบบที่เรียกว่า มุทะลุ เลยก็ว่าได้ จึงไม่แปลกที่ตรงนี้จะเป็นความรู้สึกผิดหวังในมุมผู้ลงทุน ที่เห็นผู้รับทุนไม่มีความผิดชอบเงินในเงินของพี่ 

อย่างไรก็ตาม คุณจูนก็ยังคงให้โอกาสกับ Startup ทุกคน แม้จะเกิดความรู้สึกที่ย่ำแย่ไปบ้าง แต่ก็ยังให้คำปรึกษา และชี้มุมมองที่ถูกต้องแก่ Startup ที่รับทุน ซึ่งใครที่รับไม่ได้ ก็จำใจต้องปล่อยมือ ส่วนบางรายที่เข้าใจ ก็ขอบคุณในการเตือนสติด้วยความเต็มใจ และกลับลำสร้างเครดิต สร้างความเชื่อมั่นผ่านการทำงานให้โมเดล Startup นั้น ๆ เดินหน้าต่อไป

>> เมื่อถามถึงนิยามของ Satrtup หรือผู้ที่จะการมาขอเงินลงทุนจาก WHA นั้น จะต้องไม่ขาดทุนเลยใช่หรือไม่? คุณจูน เผยว่า...

ขาดทุนได้ พี่ไม่ได้บอกว่าพี่ลงทุนพี่ต้องได้ผลกําไรเสมอ แต่พี่ต้องดูสิ่งที่คุณทํา ว่าเป็นการทำที่สุดความสามารถแค่ไหน ทำอย่างมีสติไหม ไม่ใช่ได้เงินไปแล้ว ก็ไปเพิ่มคนนู่นนี่ เอามานั่งทำงานแทนตัวเอง แล้วสุดท้ายอีกภายในไม่กี่เดือนคุณต้องลดคน เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ธุรกิจ เงินทุนเริ่มหาย ซึ่งพี่ก็งงกับการทํางานแบบนี้ ว่ามันคืออะไร 

เพราะอย่างที่บอก พี่ดูที่ประสิทธิภาพของธุรกิจ พี่กล้าลงทุนโดยมองกำไรเป็นเรื่องหลัง แล้วถ้าตั้งใจมุ่งมั่นทำ แต่ติดขัด เราก็พร้อมเข้าไปช่วยด้วยความเต็มใจ

>> เมื่อถามถึง Startup ไทยมักจะมองภาพความสำเร็จของอเมริกาโมเดล โดยเฉพาะเรื่องของการได้เงินทุนที่ง่ายดาย? คุณจูน มองว่า...

บางทีเรามองภาพความสําเร็จของอเมริกา ประเภทได้เงินทุนแล้วสามารถเบิร์นทิ้งได้ ทำแคมเปญ แจกนั่นนี่ ฟรีนั่นโน่น แต่สําหรับตลาดประเทศไทย

เมื่อหลายปีก่อนพี่ไปซิลิคอนวัลเลย์ ก็เห็นเด็กหนุ่ม ๆ Startup รุ่นใหม่ ๆ เขียน White Paper มาแผ่นหนึ่งแล้วก็ไปขอเงินทุนหลักร้อยล้าน แล้วก็ให้กันได้ง่าย ๆ ด้วย แม้บางรายจะไม่ได้สร้างโอกาสที่ดีเลยก็ตาม แต่คำถามคือ ระบบนิเวศของไทยเต็มไปด้วย Deep Technology หรือเต็มไปด้วยความคิดเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ขนาดเขาหรือไม่?

แน่นอน!! ผู้ใหญ่ทุกคน อยากจะให้โอกาสอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยเรามีคนแบบนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งกลับกันกับที่นั่น มันคือความไว้ใจที่คนของเขา สภาพแวดล้อมของเขา สร้างขึ้นมาไว้มากมาย จนเกิดเป็นความเชื่อใจ แต่ไทยเราไม่ได้เป็นแบบนั้น

>> เมื่อถามถึงแนวทางในการ Set up มุมคิดที่ควรจะเป็นแก่ Startup ไทยต่อจากนี้? คุณจูน เผยว่า... 

วงการ Startup ต้องมองเงินลงทุนของนักลงทุนเป็นภารกิจในการที่จะทําให้ธุรกิจของคุณเข้าใกล้ความสําเร็จ ไม่ใช่มองเป็นเงินรางวัล และพยายามอย่าไปมองชัยชนะของคนที่นำเสนองานบนเวทีต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบจนเกินไป เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า Start และต้อง Up คุณต้องมองไปให้ไกลถึงตอนที่ลงสนามจริง ว่ามันจะมีความยากแค่ไหน อย่าขายไอเดียแล้วสุดท้ายเมื่อถึงเวลากลับปฏิบัติไม่ได้

คุณจูน เสริมอีกว่า เอาจริง ๆ พี่เป็นคนเชื่อมั่นในตัวเด็ก ๆ นะ แล้วพี่ก็เป็นคนเชื่อมั่นในเด็กไทย แล้วพี่เป็นคนเชื่อมั่นในคนไทย พี่เชื่อมั่นว่าคนเราสามารถคว้าทุกโอกาสที่มาถึงเราได้ อย่างพี่เองก็เติบโตจากที่ไม่มีอะไร แต่พี่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ของพี่ที่ต้องการสร้างธุรกิจตามความฝัน เพียงแต่ความฝันของพี่อยู่บนความเป็นจริง ไม่ใช่ไปนั่งดูหนังไทยแล้วเจอเจ้าชายได้แต่งงานแล้วก็เลยรวยคือพี่ไม่เพ้อฝัน

ฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากสำหรับคนที่ต้องการลุย Startup จริง ๆ คือ คุณต้องวางแผนชีวิตของคุณ บนพื้นฐาน 3 สิ่ง...

สิ่งแรก ต้องรู้ตัวคุณเองให้ได้ก่อนรู้ว่าคุณมีความสามารถกับอะไรและมากขนาดไหน

สิ่งที่สอง คุณมีความชอบอะไร เพราะพี่ขอบอกเลยว่า คนเราต้องทํางานด้วยความสุข ด้วยความรัก หากคุณทํางานทั้งวันแล้วคุณทุกข์กับมัน จะทําไปทำไม 

สุดท้าย เติมจุดอ่อนจากความสามารถและความชอบที่คุณมี หากมันยังไม่ดีพอ ก็เติมมัน เรียนรู้มัน ไม่รู้ก็ถาม ไม่รู้ก็ฝึก ยุคนี้ความรู้เข้าถึงง่ายมากกว่ายุคพี่ ข้อมูลทั่วโลกถูกเชื่อมมาอยู่ในมือเราแค่ค้นหา

ททท. จัด Workshop 12 StartUp แลกเปลี่ยนแนวคิดพัฒนาอุตฯ ท่องเที่ยว

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 22 ต.ค. 67 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้จัดกิจกรรม Founder First Date ภายใต้โครงการ TAT TRAVEL TECH STARTUP 2024 ณ ท่าเรือ ICONSIAM คลองสาน กรุงเทพฯ โดยมีนางจิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมทั้งคุณกิตติ พรศิวะกิจ กรรมการ ททท. ร่วมแสดงความยินดีและกล่าวเปิดงาน

กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ Travel Tech Startup ทั้ง 12 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครทั้งหมด 76 ทีม ได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกัน โดยได้รับคำแนะนำจากองค์กรพันธมิตรด้านการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวหลากหลายภาคส่วน

รายชื่อทีมผู้ผ่านคัดเลือกทั้ง 12 ทีมได้แก่
1. AAppoint (บริษัท แอพพ้อยท์เม้นท์ เอนี่แวร์ จำกัด)
2. Ascend Travel (บริษัท แอสเซนด์ แทรเวิล จำกัด)
3. Carbonwize (บริษัท คาร์บอนไวซ์ จำกัด)
4. CARMEN (บริษัท คาร์เมน ซอฟต์แวร์ จำกัด)
5. CERO (บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด)
6. CFoot (บริษัท แพลนเน็ตซี จำกัด)
7. Giant Stride (บริษัท ไจแอนท์ สไตรด์ จำกัด)
8. HAUP (บริษัท ฮ๊อปคาร์ จำกัด)
9. SHIN Platform (บริษัท ชิบะรูม จำกัด)
10. Socialgiver (บริษัท โซเชียลโมชั่น วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด)
11. YACHT ME Platform (บริษัท ยอร์ช มี คอร์เปอเรชั่น จำกัด)
12. สะอาดทริป (นายสิทธิเดช เฑียรแสงทอง)

ในงานยังมีผู้แทนจากองค์กรพันธมิตรเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ธนาคาร SME D BANK, สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, SCBx NEXT TECH, The Able By KING POWER, ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC), บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย, Mission To The Moon, Greenery Media และ THE STATES TIMES

ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะเข้าร่วมกิจกรรม TAT Startup Bootcamp 1-2 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันรอบสุดท้ายซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ SCBX Space สยามพารากอน ชิงเงินรางวัลรวม 350,000 บาท พร้อมสิทธิประโยชน์จากพันธมิตรในโครงการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top