Friday, 10 May 2024
Starlink

จีนวีนแตก!! หลังต้องย้ายสถานีอวกาศหนี เหตุดาวเทียมของ​ 'อีลอน มัสก์'​ โฉบใกล้บ่อยเกิน

ขึ้นชื่อว่า "สงครามเย็น" เหล่าชาติมหาอำนาจย่อมพร้อมจะทะเลาะกันได้ที่ทุก ที่เวลา ตั้งแต่บนพื้นผิวโลกยันนอกชั้นอวกาศ 

ล่าสุดรัฐบาลจีนปักกิ่งส่งเรื่องฟ้องร้องถึงองค์การสหประชาชาติ อันเนื่องมาจากดาวเทียม Starlink ของ อีลอน มัสก์ ถึง 2 ดวง ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้วงโคจรของสถานีอวกาศเทียนกงของจีนมากเกินไป และหวุดหวิดที่จะชนกันอยู่ถึง 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคม และ ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา จนต้องย้ายตำแหน่งสถานีอวกาศหนี ทางรัฐบาลจีนไม่ไหวจะทน ต้องส่งหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานด้านอวกาศขององค์การสหประชาชาติ ให้สหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ 

ซึ่งสถานีอวกาศเทียนกง ถือเป็นความสำเร็จก้าวใหญ่ของการพัฒนาด้านอวกาศของจีน หลังจากที่จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศฉางเอ๋อ - 5 ไปลงบนดวงจันทร์ด้านที่ไม่เคยมีชาติใดสำรวจมาก่อน และ ส่งยานสำรวจจู้หรง ลงพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 2 ของโลกต่อจากสหรัฐอเมริกา โดยสถานีอวกาศเทียนกงมีกำหนดพร้อมปฏิบัติการจริงอย่างเป็นทางการในกลางปี 2022 

แต่จากเหตุการณ์ที่สถานีอวกาศจีนต้องหลบวงโคจรของดาวเทียมเอกชนของค่าย SpaceX ถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 3 เดือน ทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก ที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน และความปลอดภัยของนักบินอวกาศจีนที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีเทียนกงในอนาคตได้ 

ทางฝ่ายจีนได้ระบุในจดหมายร้องเรียนถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติให้สหรัฐอเมริกาปฏิบัติตามสนธิสัญญาอวกาศสากล แม้จะอยู่ในพื้นที่นอกโลกก็ตาม 

'อีลอน มัสก์' เผย Starlink ต้องถือสิทธิ์เจ้าของกิจการในไต้หวัน 100%  แลกอินเทอร์เน็ตดาวเทียมแบบเร่งด่วน เพื่อทำสงครามกับจีน

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บริหารเบอร์ต้นๆ ของโลก การจะเจรจาเรื่องธุรกิจใดสักอย่าง จึงย่อมไม่ธรรมดาอยู่แล้วสำหรับ อีลอน มัสก์ ที่ตอนนี้ดูแลกิจการยักษ์ใหญ่ ทั้ง Tesla, SpaceX และล่าสุดกับระบบอินเตอร์เนตดาวเทียม Starlink ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ 

โดยไม่นานมานี้ อีลอน มัสก์ ได้นำเสนอไอเดียให้รัฐบาลไต้หวัน พิจารณาดาวเทียม Starlink เป็นระบบ Backup สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตสำรอง กันการโจมตีจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อให้ไต้หวันมั่นใจว่าการสื่อสาร และ ส่งผ่านข้อมูลสำคัญในประเทศยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ติดขัดแม้จะมีความพยายามตัดระบบเคเบิลพื้นฐานจนได้รับความเสียหาย

ข้อเสนอของอีลอน มัสก์ เกิดขึ้นหลังจากที่สายเคเบิลใต้ทะเล 'ไต้หวัน-มัทสุ' ทั้ง 2 เส้น ที่ลากผ่านใกล้พรมแดนทางทะเลระหว่างจีน และ ไต้หวันถูกตัดขาด โดยเรือประมงจีนลำหนึ่ง และเรือขนส่งจีนอีกลำหนึ่ง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทางไต้หวันตั้งข้อสงสัยว่าจีนจงใจแล่นเรือผ่านเพื่อตัดเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลของไต้หวัน ทำให้ชาวไต้หวันกว่า 14,000 คน ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ 

จากเหตุการณ์นี้ จึงนำไปสู่การพิจารณาในการพัฒนาระบบอินเตอร์เนตดาวเทียมเป็นกรณีเร่งด่วน ไว้เป็นแผนสำรองเตรียมรับมือกับจีน 

โดยก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลไต้หวันได้ริเริ่มโครงการระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของตัวเองตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2565) โดยเล็งเห็นตัวอย่างจากสงครามในยูเครน ที่ระบบสื่อสารออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศจะขาดไม่ได้ และต้องการให้มีเน็ตเวิร์กสำรองในยามสงคราม เช่นเดียวกับโมเดล Starlink ในยูเครน 

แต่ด้วยเหตุการณ์สายเคเบิลใต้ทะลขาดที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไต้หวันเห็นว่า แผนพัฒนาอินเทอร์เน็ตดาวเทียมเป็นสิ่งที่รอไม่ได้อีกต่อไป และอาจต้องพึ่งพาบริการของ Starlink ที่มีดาวเทียมเครือข่ายพร้อมใช้ และเปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดถึง 7 ทวีป รวมถึง แอนตาร์กติกา ด้วย 

ทว่า ด้วยความเป็นคนไม่ธรรมดาของ อีลอน มัสก์ ก็ได้ใช้โอกาสนี้ยื่นข้อเสนออย่างเด็ดขาดมายังรัฐบาลไต้หวันว่า Starlink ต้องเป็นเจ้าของกิจการในระบบที่ไต้หวัน 100% เท่านั้น หากไม่แล้ว ก็จะล้มเลิกข้อตกลงทั้งหมด 

ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงปี 2019 สื่อไต้หวันได้รายงานว่า อีลอน มัสก์ เริ่มนำเสนอธุรกิจอินทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ให้กับรัฐบาลไต้หวันมาแล้วตั้งแต่ตอนนั้น แต่ตามกฎหมายของไต้หวันระบุว่า ธุรกิจโทรคมนาคมที่ต้องร่วมค้ากับบริษัทต่างชาติ จำเป็นต้องมีบริษัทไต้หวันถือหุ้นส่วนอย่างน้อย 51% 

แต่เมื่ออีลอน มัสก์ ยืนยันว่า Starlink ต้องการดำเนินธุรกิจในไต้หวัน ด้วยสิทธิ์การเป็นเจ้าของกิจการ 100% เท่านั้น โดยอีลอน มัสก์ ยืนยันว่าเป็นโมเดลธุรกิจของ Starlink ที่ทำในทุกประเทศทั่วโลก นั่นก็หมายความว่า หากรัฐบาลไต้หวันต้องการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ Starlink ก็ต้องแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้กับธุรกิจของอีลอน มัสก์

นี่ถือเป็นเงื่อนไขที่ไม่ง่ายทั้งสำหรับ รัฐบาลไต้หวัน และ ธุรกิจ Starlink เอง และปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความต้องการระบบดาวเทียม แต่อยู่ที่เงื่อนเวลาว่าทางไต้หวันรอได้หรือไม่ ที่ต้องรับมือกับความกดดันจากจีน 

เพราะตอนนี้ ไต้หวันก็กำลังพัฒนาอินเทอร์เน็ตดาวเทียมร่วมกับ OneWeb บริษัทของอังกฤษ และมีการทดลองใช้ในบางพื้นที่บ้างแล้ว แต่อาจต้องรอเวลาอีก 2-3 ปี ในการเปิดให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ 

ขณะเดียวกัน หากไต้หวันรอไม่ได้แล้ว เพราะสถานการณ์ความตึงเครียดกับจีน ไม่น่าไว้วางใจ Starlink อาจเป็นคำตอบที่เร็วที่สุดในเวลานี้ ที่ต้องแลกกับอธิปไตยเหนือสิทธิ์การควบคุมธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศ

ก็ต้องยอมรับว่า การสร้างความกดดัน หวั่นไหว สั่นประสาท ในลักษณะนี้ อีลอน เจ้าของ Twitter คนปัจจุบัน เขาปั่นเก่งนักแล...

'กสทช.' ไฟเขียว!! 'ม.อ.' ได้ใช้ Starlink ของ 'อีลอน มัสก์' รายแรกในไทย หนุนภารกิจช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและพื้นที่ห่างไกล 6 เดือน

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink : 14-14.5 GHz และ Downlink : 10.7-12.7 GHz) ของดาวเทียมต่างชาติกลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO)

สำหรับใช้ในการทดลองทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่นในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นดินไปไม่ถึง เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน

Starlink เป็นโครงการสร้างโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โดยไม่ต้องใช้สาย ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX ของมหาเศรษฐี ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของ Tesla และทวิตเตอร์ หรือ X ในปัจจุบัน โครงข่าย Starlink สามารถปล่อยสัญญาณบรอดแบนด์ได้ราว 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่สงครามอย่างยูเครน-รัสเซีย

ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันโครงข่ายของ Starlink เข้าถึงประชากร 2.3 ล้านคน ใน 70 ประเทศแล้ว

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณีนี้ว่า เป็นการพิจารณาตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร้องขอ ซึ่งเดิมมหาวิทยาลัยเคยได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการพัฒนา 5G Usecase มาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

“ครั้งนี้ต้องการทดลองทดสอบนวัตกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตามเกาะแก่ง หรือตามป่าเขา ที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือโครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาดังกล่าว และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม Starlink มาทดลองทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Broadband)”

แม้ว่าจะใช้คลื่นความถี่ในย่าน Ku Band เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 8 ที่ใช้งานแพร่ภาพโทรทัศน์ (Broadcast) แต่ก็ไม่ทับซ้อนกัน โดยที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้ Downlink : 12.272-12.604 GHz และไทยคม 8 ใช้ Downlink : 11.48-11.70 GHz

“กสทช. ก็มีข้อสังเกตในการทดลองทดสอบครั้งนี้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดคลื่นความถี่รบกวนกันด้วย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้งานจริงควรทดสอบก่อน โดยมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมโครงข่ายกรณีภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตเรือที่ประสบภัย”

การทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เป็นกลุ่มดาวเทียมใช้งาน Broadband เช่นนี้

สำหรับดาวเทียมสัญชาติไทยที่ กสทช.ประมูลและอนุญาตในต้นปีที่ผ่านมาเป็นดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geo-Stationary Earth Orbit : GEO) และการอนุญาตในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการอนุญาตเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

“หากให้มหาวิทยาลัยได้ทำการทดลองทดสอบเพื่อได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีความแตกต่างกัน และได้องค์ความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้นหาและช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัย จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์กล่าว

‘ยูเครน’ โวย!! Starlink ให้กองทัพรัสเซียใช้ได้ไง ด้าน ‘อีลอน มัสก์’ แจง!! “มันเป็นแค่ข่าวปลอม”

สำนักหน่วยข่าวกรองของยูเครน ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน Telegram ว่า ตอนนี้กองทัพรัสเซียกำลังใช้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ของ อีลอน มัสก์ ในเขตพื้นที่ยึดครองของรัสเซียในยูเครน พร้อมแนบหลักฐานเป็นคลิปสนทนาสั้น ๆ ที่ระบุว่าเป็นทหารรัสเซียที่คุยกันว่า ‘พวกเขากำลังใช้อินเทอร์เน็ตของ Starlink อยู่’ 

ด้าน อังเดรย์ ยูซอฟ ตัวแทนจากหน่วยข่าวกรองของยูเครนออกมากล่าวว่า ทางยูเครนมีหลักฐานการแอบใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ของกองทัพรัสเซียเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ปัญหาในเชิงระบบในไม่ช้า อีกทั้งยังเปิดเผยด้วยว่า กองกำลังฝ่ายรัสเซีย และพื้นที่ที่พบการใช้งาน ก็คือ กองพลจู่โจมทางอากาศที่ 83 ที่ปักหลักโจมตีในเมือง Klishchiivka และ Andriivka ในเขตแคว้นโดเนตสค์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย

Starlink เป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของอีลอน มัสก์ ปัจจุบันมีดาวเทียมส่งสัญญาณมากถึง 5,289 ดวง ครอบคลุมการใช้งานถึง 70 ประเทศในทุกทวีปทั่วโลก โดยอีลอน มัสก์ ได้เปิดให้ยูเครนใช้บริการ Starlink เป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่ช่วงเริ่มสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อสนับสนุนการตอบโต้ของกองทัพยูเครน 

แต่ทว่า ต่อมาความสัมพันธ์ของอีลอน มัสก์ และ รัฐบาลยูเครนเริ่มเย็นชาต่อกัน ตั้งแต่ที่อีลอน มัสก์ สั่งให้ระงับสัญญาณในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทางคาบสมุทรไครเมีย ทำให้กองทัพยูเครนต้องพับแผนการโจมตีไครเมียด้วยโดรนพิฆาตไป โดยอีลอน อ้างว่า การโจมตีของฝ่ายยูเครนในพื้นที่ไครเมียอาจทำให้สงครามเข้าสู่จุดที่เลวร้ายมากกว่าเดิม จนถึงขั้นสงครามนิวเคลียร์ได้ 

จนกระทั่งวันนี้ที่หน่วยข่าวกรองยูเครนออกมาแถลงว่า พบหลักฐานว่ากองทัพรัสเซียสามารถเข้าถึงบริการ Starlink ของอีลอน มัสก์ ได้แล้ว พร้อมข่าวลือแพร่สะพัดว่า รัสเซียซื้ออุปกรณ์สัญญาณถูกลิขสิทธิ์ของ Starlink ผ่านทางรัฐบาลดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เป็นเหตุให้อีลอน มัสก์ ต้องออกมาโพสต์ผ่าน X ว่า “มีการปล่อยข่าวปลอมมากมายว่า SpaceX กำลังจะเปิดสัญญาณ Starlink ให้รัสเซีย ซึ่งมันเป็นแค่ข่าวปลอม สิ่งที่พวกคุณควรรู้ไว้คือ เราไม่เคยขาย Starlink ให้รัสเซีย ไม่ว่าจะทางตรง หรือ ทางอ้อม ใด ๆ ทั้งสิ้น”

เช่นเดียวกับทางรัสเซีย ดมิตริ เพสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบเครมลิน ก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของยูเครนที่ว่า กองทัพรัสเซียแอบมาขโมยเสาสัญญาณ Starlink ไปใช้ หรือได้ใช้อินเทอร์เน็ต Starlink ในเขตยึดครองโดเนตสค์

แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ฝ่ายกองทัพรัสเซียจะเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตของ Starlink ได้ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ส่งสัญญาณตามขอบเขตทางภูมิศาสตร์ ทหารรัสเซียก็มีโอกาสเข้าถึง Starlink ในพื้นที่ของยูเครน และอาจทำการปลอมแปลงข้อมูลเขตภูมิศาสตร์ให้แสดงว่ากำลังใช้งานอยู่ในพื้นที่ที่ถูกบล็อก หรืออยู่นอกเขตบริการ Starlink ก็ทำได้เช่นกัน

ในยุค Internet of Things ทุกอย่างเสกสรรได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ไม่เว้นแต่ความได้เปรียบในการทำศึกสงครามที่ไม่ได้วัดด้วยปริมาณกำลังพลเสมอไป ดังนั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสมอกันของฝั่งศัตรู ไม่ว่าจะซื้อใช้เอง ขอยืมใช้ หรือแอบใช้ ก็สร้างความระแวงได้เหมือนกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top