Sunday, 20 April 2025
Shein

‘Uniqlo’ เอาจริง!! ยื่นฟ้อง ‘Shein’ ปมก๊อปกระเป๋ารุ่นฮิต เรียกร้องให้หยุดขาย พร้อมชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

(18 ม.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศ บีบีซี รายงานว่า Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าดังในเครือบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิง ของญี่ปุ่น ยื่นฟ้อง Shein แบรนด์ฟาสต์แฟชันยักษ์ใหญ่จีน ปมก๊อปกระเป๋าสะพายข้างของ Uniqlo ที่เป็นไวรัลในโลกโซเชียลจนได้ฉายาว่ากระเป๋า Mary Poppins ขาย

ตามรายงานเบื้องต้น เผยว่า Uniqlo ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแขวงโตเกียว เพื่อฟ้อง Shein Japan และบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง หลังกระเป๋าบางรุ่นของ Shein มีความคล้ายคลึงกับกระเป๋าสะพายข้างของ Uniqlo ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในแบรนด์สินค้าได้

นอกจากนี้ ทางยูนิโคล่ยังเรียกร้องให้ Shein หยุดขายกระเป๋ารุ่นดังกล่าว พร้อมทั้งยังเรียกค่าชดเชยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนทาง Shein ยังไม่ได้ตอบสนองหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม กระเป๋าสะพายข้างรุ่นนี้ของ Uniqlo ได้รับความนิยมอย่างมากบนโลกออนไลน์ โดยกระเป๋ารุ่นนี้สามารถจุของได้หลายชิ้น เปรียบได้กับกระเป๋าวิเศษของ แมรี ป๊อปปินส์ ตัวละครเอกในภาพยนตร์แนวแฟนตาซีชื่อดังเมื่อปี 1964

โดยคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นการใช้งานกระเป๋ารุ่นนี้ยังเรียกยอดกดไลก์ได้หลายล้านครั้งในปีที่แล้ว สำหรับราคาของกระเป๋าสะพายรุ่นนี้ที่ทำจากไนลอน มีราคาขายในอังกฤษที่ใบละ 14.90 ปอนด์หรือราว 674 บาท และถือว่าเป็นสินค้าขายดีที่สุดของ Uniqlo ณ ขณะนี้

ทั้งนี้ ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ Shein เป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชันของจีนก่อตั้ง เมื่อปี 2551 มียอดขายสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ผลจากการล็อกดาวน์ที่ทำให้คนหันมาจับจ่ายซื้อของทางออนไลน์อย่างก้าวกระโดด และกลยุทธ์ทางการตลาดของ Shein ที่มุ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

อีกทั้ง ปัจจุบัน Shein มีพนักงานอยู่ทั่วโลกรวมกันประมาณ 10,000 คน และจำหน่ายสินค้าในมากกว่า 150 ประเทศ โดยมีฐานดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์และมีรายงานข่าวว่า Shein กำลังพิจารณาที่จะเข้าสู่ตลาดหุ้นนิวยอร์กอีกด้วย

ขณะที่ ทางบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิง ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ได้เปิดร้าน Uniqlo สาขาแรกในปี 2527 ปัจจุบันมีร้านสาขาราว 2,500 แห่งทั่วโลก โดยสาขาส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ยกเคส SHEIN แบรนด์แฟชันจีนสุดแรงแซงทุกโค้ง สะท้อนโลกธุรกิจยุคใหม่ อยากคว้าชัยเร็ว ก็ต้อง 'ปรับตัวไวและโคตรไว'

(29 ม.ค.67) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ในหัวข้อ 'ผู้ชนะวงการ Fashion' ระบุว่า...

ยุค 90 Giordano, Esprit, Mango, Benetton
ยุค 2000 Zara, H&M, Topshop, Uniqlo 
Today Is Shein

วงการเสื้อผ้ายุคดั้งเดิม เขาจะมีเสื้อขายปีละ 3-4 Seasons Summer, Spring, Autumn,Winter 1 ฤดูกาลจะมีเสื้อวางขายในร้าน 90 วัน+/- ของเข้าร้านใหม่ New Arrival ผ่านไปสักเดือนนิด ๆ ก็ Sale และก่อนปิดฤดูก็จะมี Final sale พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเดินเข้าไปเจอเสื้อเดิม ๆ 3 ตัว 

แต่คนเดินห้างเขาชอบเข้าร้านพวกนี้จนกระทั่ง...

ZARA ส่งเสื้อใหม่เข้าร้านทุก 2 สัปดาห์และเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็น Fast fashion 

UNIQLO เองแม้จะไม่ถึงกับเป็น Fast fashion แต่เขาก็ตั้งบริษัทชื่อ Fast retail ซึ่งกลุ่มนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกธุรกิจแฟชั่นจนร้านค้าเดิม ๆ เซไปเลย

วันนี้ SHIEN เข้ามาเปลี่ยนโลก Fast Fashion เป็น Ultra fast fashion ด้วยการใช้ internet, AI และ Online platform ส่งเสื้อเข้ามาสู่สายตาลูกค้าไวกว่าเดิม ผลิตไวกว่า ใช้ AI ส่องแฟชันตาม Social media และออกแบบทันที ผลิตไว และมีจำนวนสินค้าผลิตตาม Data Analysis วันนี้บริษัทนี้เป็นผู้ชนะแล้วครับ

นักธุรกิจรุ่นใหม่ต้องปรับตัวไว
พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
มือเศรษฐกิจจุลภาค

ทรัมป์เพ่งเล็ง 'Shein-Temu' สั่งไปรษณีย์สหรัฐฯ หยุดรับพัสดุจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว

(5 ก.พ. 68) ไปรษณีย์สหรัฐฯ (USPS) ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า จะระงับการรับพัสดุขาเข้าจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว โดยไม่ระบุเหตุผลอย่างชัดเจน และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อไป โดยในเบื้องต้น USPS ยืนยันว่า การจัดส่งจดหมายและพัสดุทั่วไปจากทั้งสองประเทศยังคงดำเนินการตามปกติ ส่วนทำเนียบขาวยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับพัสดุขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน/คน หรือที่เรียกว่า “de minimis” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากจีนสามารถหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า

การยกเลิกข้อยกเว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกง ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มชื่อบริษัทอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง 'ชีอิน' (Shein) และ 'เทมู' (Temu) ในรายชื่อบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS)

แหล่งข่าวระบุว่า แม้รัฐบาลทรัมป์จะยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ก็อาจตัดสินใจไม่เพิ่มชื่อทั้งสองบริษัทในรายชื่อดังกล่าว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยการกำหนดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และเตือนถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทสหรัฐฯ รวมถึงกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท อิงค์ (Alphabet Inc.)

ทั้งนี้ ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นจาก DHS, เทมู หรือชีอิน ต่อรายงานข่าวดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top