Tuesday, 7 May 2024
Recession

'กอบศักดิ์' ชี้ สหรัฐฯ เหลือเวลาน้อยในการจัดการเงินเฟ้อ หลัง 'เฟด' รับ!! ไม่รู้ต้องแก้ปัญหานี้บนพื้นฐานอะไร

'ดร.กอบศักดิ์' ชี้ สหรัฐฯ เหลือเวลาน้อยในการจัดการเงินเฟ้อ หลัง 'เฟด' รับ!! ไม่รู้ต้องแก้ปัญหานี้บนพื้นฐานอะไร และจะออกจากปัญหาได้อย่างไร

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพโพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” ระบุว่า …

เตรียมตัวให้พร้อม !!!

เมื่อคืนนี้ ได้ฟังท่านประธานเฟด ท่านประธาน ECB ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ และผู้จัดการใหญ่ของ BIS ร่วมเสวนาในเรื่อง Challenges for Monetary Policy in Rapidly Changing World หรือ ความท้าทายสำหรับนโยบายการเงิน ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่น่าสนใจในการเสวนา ก็คือ ความในใจของนายธนาคารกลางชั้นนำของโลก โดยเฉพาะท่านประธานเฟด 

ท่านบอกว่า

Clock is running out to bring inflation down

เวลาเริ่มเหลือน้อยแล้ว ในการจัดการกับเงินเฟ้อ 

It’s gotten harder ... The pathways have gotten narrower.’

สำหรับโอกาสของการ Soft Landing นั้น "ยากขึ้น และเส้นทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้แคบลงมาก"

There’s no guarantee the central bank can tame runaway inflation without hurting the job market.  

ท่านไม่สามารถรับประกันได้ว่า "สงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ" จะไม่สร้างปัญหาใหญ่ให้ตลาดแรงงาน ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะไม่มีคนตกงาน

We now understand better how little we understand about inflation

เราเข้าใจแล้วว่า เราเข้าใจเงินเฟ้อน้อยแค่ไหน !!!!

Our model is not capable of producing high inflation. 

โมเดลที่เราใช้ ไม่สามารถจำลองสถานการณ์เงินเฟ้อสูง ที่กำลังเกิด

It is a deep in the tail kind of risk. Very hard to predict and access.

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ขณะนี้ เป็นเหตุการณ์เฉพาะ ที่ยากจะประเมินและคาดการณ์ได้

สรุปว่า ยิ่งฟัง ก็ยิ่งเข้าใจว่า ธนาคารกลางมีปัญหาในการประเมินสถานการณ์ว่ากำลังสู้กับอะไร และจะออกจากปัญหาได้อย่างไร

ทำให้มีคำถามต่อไปว่า ที่เฟดบอก "เอาอยู่ จัดการเงินเฟ้อได้แน่ และให้เชื่อเฟด" นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไร?

หากโมเดลที่เฟดและธนาคารกลางใช้ในการสู้ศึก มีข้อจำกัด ไม่ใช่ตัวแทนของโลกจริง 

หรือว่าที่ท่านกำลังพูด อธิบายกันอยู่นั้น เป็นเพียง "คำปลอบใจ" 

ที่กระทั่งตัวท่านเอง ก็ไม่มั่นใจว่า "จะทำได้ตามที่พูดหรือไม่"

สำหรับที่ท่านประธานเฟดบอกว่า เวลาเหลือน้อยเต็มทนแล้ว สำหรับการจัดการกับเงินเฟ้อ เฟดต้องเร่งการดำเนินนโยบายให้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น นั้น

อันนี้ คงเกิดขึ้นจริง 

ซึ่งหมายความต่อไปว่า เราก็เหลือเวลาไม่มากในการเตรียมตัวรับกับผลพวงที่จะตามมา 

‘ธนาคารกลางทั่วโลก’ ตุนทองคำสำรองเพิ่มขึ้น 176% เครื่องชี้วัดความกลัวเศรษฐกิจถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

‘สภาทองคำโลก’ ระบุไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มปริมาณทองคำสำรองขึ้น 176% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วน ‘จีน’ เพิ่มทองคำสำรองติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ด้านกูรู ชี้ทองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วน

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ‘ราคาทองคำ’ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,082.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะย่อตัวลงมาเล็กน้อย โดยเป็นการเคลื่อนไหวของราคาที่ตอบสนองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีก 0.25% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ ‘ดอกเบี้ยนโยบายของเฟด’ ขยับขึ้นแตะ 5-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ก่อนวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ 

ทั้งนี้เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมมูลค่าของเงินดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศที่ยังอยู่ในขาขึ้น ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งวิกฤติในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ทั้งหมดจึงส่งผลให้รัฐบาลกลางของหลายประเทศ เดินหน้าสะสมสินทรัพย์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ด้านสภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่า จีน, สิงคโปร์ และตุรกี เป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ของโลก โดยสภาทองคำโลก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 228.4 ตัน หรือประมาณ 176% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ส่วนสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ก็ได้รายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 ว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) เพิ่มปริมาณทองคำสำรองในประเทศเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนพ.ย. ปีที่แล้ว โดยล่าสุดในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 8.09 ตัน ส่งผลให้ปริมาณทองคำสำรองในคลังทั้งหมดของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,076 ตัน

สอดคล้องกับข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนในเดือนเม.ย. เพิ่มจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 2.09 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.897 แสนล้านบาท) มาอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 105.6 ล้านล้านบาท) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่เสื่อมลง สวนทางกลับราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกที่ปรับตัวสดใสมากขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในเกณฑ์ดีหลังจากการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid)

ขณะที่บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวโกลบอล ไทม์ส (Global Times) ของทางการจีน กล่าวว่า “ทองคำยังคงเป็นเหมือนหลุมหลบภัยที่มีประสิทธิภาพ สำหรับเงินทุนระหว่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลต้องการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความเสี่ยงอื่น ๆ มากมาย”

ฟาก ตง เติ้งซิน (Dong Dengxin) ผู้อํานวยการสถาบันการเงิน และหลักทรัพย์ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อู่ฮั่น ประเทศจีน กล่าวว่า ท่าทีของบรรดาธนาคารกลางของหลายประเทศครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนทั่วโลกสูญเสียความไว้วางใจในการถือครองสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์เหล่านี้ และเข้าซื้อทองคำอย่างร้อนแรง

“ที่สำคัญ ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกที่เฟื่องฟู และการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศ” ตง ระบุ

ด้าน นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ประเทศไทย กล่าวว่า ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นตอบรับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งยังสะท้อนว่านักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับภาคการเงินของสหรัฐฯ และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยหากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐยังไม่คลี่คลาย และมีข่าวร้ายเพิ่มเติมอีก ราคาทองคำก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ จากความต้องการที่สูงขึ้น ดันราคาทองไปยืนใกล้ระดับ 2,000 ต่อออนซ์อีกครั้ง และเพิ่มสูงขึ้นราว 11% นับจากต้นปี และเพิ่มขึ้น 24% จากระดับต่ำสุดในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ทองคำมองว่า ราคาทองจะยังอยู่ระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ส่วนการคงอัตราดอกเบี้ยสูงของสหรัฐฯ จะมีส่วนกดดันให้ภาคธนาคารยังอ่อนแอต่อไป

ที่มา: บลูมเบิร์ก / กองทุนบัวหลวง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top