Saturday, 5 April 2025
PUTIN

ทรัมป์หารือผู้นำรัสเซีย ให้คำมั่นสงครามยูเครนต้องจบ

(11 พ.ย.67) สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และแนะนำไม่ให้เพิ่มความรุนแรงของสงครามในยูเครน ขณะเดียวกันมีรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะขอให้ทรัมป์ไม่หยุดสนับสนุนยูเครน

แหล่งข่าวระบุว่า ปูตินและทรัมป์ได้สนทนากันเมื่อไม่นานมานี้ และทรัมป์ยังได้พูดคุยกับโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน โดยทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์ความช่วยเหลือทางทหารและการเงินจำนวนมากของสหรัฐฯ แก่ยูเครน และให้คำมั่นว่าจะยุติสงครามโดยเร็ว แต่ไม่ได้ระบุวิธีการอย่างชัดเจน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุว่าไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับการสนทนาระหว่างปูตินกับทรัมป์ จึงไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพูดคุยดังกล่าวได้

ขณะเดียวกัน สตีเวน เฉิง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของทรัมป์ กล่าวเมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ว่า “เราไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสนทนาส่วนตัวระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับผู้นำประเทศอื่น ๆ” รายงานดังกล่าวมีการเปิดเผยครั้งแรกโดยสื่อวอชิงตันโพสต์

ทรัมป์มีกำหนดเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า และปธน.ไบเดนได้เชิญทรัมป์ไปที่ทำเนียบขาวในวันพุธที่ 13 พฤศจิกายนนี้

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ไบเดนจะยืนยันถึงการถ่ายโอนอำนาจที่ราบรื่น พร้อมทั้งหารือกับทรัมป์ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง

ปูติน ไม่แคร์แซงก์ชั่น เล็งเยือนอินเดีย หารือนายกฯโมดี ชี้สองผู้นำเป็น 'เพื่อนสนิท'

(20 พ.ย.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตรียมเดินทางเยือนอินเดียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขามีคำสั่งให้รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565 โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเยือนนี้เป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของความพยายามจากสหรัฐฯ ในการกีดกันปูตินจากเวทีโลก

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวกับสำนักข่าวเอเอ็นไอ (ANI) ของอินเดีย และยืนยันกับบลูมเบิร์กว่า แม้ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย แต่รัสเซียตั้งตารอที่จะได้พบปะในเร็ว ๆ นี้

เปสคอฟกล่าวว่า “หลังจากที่นายกรัฐมนตรีโมดีเดินทางเยือนรัสเซียถึง 2 ครั้ง ตอนนี้ปธน.ปูตินเตรียมเยือนอินเดียแล้ว … เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการติดต่อเหล่านี้”

ก่อนหน้านี้นายกโมดี เคยยอมรับปูตินและเรียกเขาว่า “เพื่อน” ในการหารือดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่รัสเซียโจมตีโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟด้วยขีปนาวุธจนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับนานาประเทศ

ทั้งนี้ อินเดียและรัสเซียเคยจัดการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่างผู้นำสองประเทศก่อนที่การรุกรานยูเครนจะเริ่มขึ้น โดยแหล่งข่าวในขณะนั้นเผยว่า นายกรัฐมนตรีโมดีหลีกเลี่ยงการพบปะกับปูตินแบบตัวต่อตัวในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากที่ปูตินขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงคราม

แม้จะมีความวิตกกังวลจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการพบปะของผู้นำทั้งสอง ซึ่งอาจทำให้ปูตินได้รับการยอมรับในเวทีโลกจากสงครามในยูเครน แต่ทางการสหรัฐฯ ก็ยังตระหนักถึงความสำคัญของการที่อินเดียจะเข้ามามีบทบาทในการคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หากปูตินเดินทางไปอินเดียจริง จะถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของเขาในการเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับเขาในข้อหาอาชญากรรมสงครามในยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

"การโจมตียูเครนไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของ วลาดิมีร์ ปูติน ตามที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้"

ศ.เจฟฟรี่ แซคส์ ศาสตราจาร์ยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

(21 พ.ย. 67) ศ.เจฟฟรี่ แซคส์ ศาสตราจาร์ยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวในตอนหนึ่งของงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมโต้วาที Cambridge Union Society ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีตอนหนึ่งที่ศ.แซคส์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในยูเครนว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นในยูเครนทุกวันนี้ ไม่ใช่ฝีมือของวลาดิมีร์ ปูติน ในแบบที่เราได้ยินกันมา

แซคส์ อธิบายว่า ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็นช่วงที่เยอมนีตะวันออกและตะวันตกยังคงแบ่งแยก นายมิคฮาอิล กอบาชอฟ ผู้นำโซเวียตในเวลานั้นเห็นพ้องที่จะยุติ ภาวะตึงเครียมของชาติมหาอำนาจสองฝ่าย จึงยอมให้มีการควบรวมชาติเยอรมนีขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรจะไม่ขยายขอบเขตอิทธิพลของตนในยุโรปมากขึ้น 

กระทั่งในช่วงยุคปี 1994 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ได้ลงนามคำสั่งขยายอิทธิพลของนาโต้ในยูเครนหรือที่เรียกว่าคำสั่ง 'neocons took power' 

หลังจากนั้นในปี 1999 นาโต้เริ่มขยายตัวมากขึ้นผ่านการเริ่มเข้าไปมีบทบาทในโปแลนด์ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และฮังการี เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ จากนั้นสหรัฐเริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในเซอร์เบียปี 1999 ส่งทหารเข้าไปเซอร์เบียเพื่อจัดการความขัดแย้งภายใน แสดงให้เห็นถึงการรุกคืบของอิทธิพลของสหรัฐผ่านนาโต้ที่ค่อยๆประชิดยุโรปตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ

ศ.แซคส์ อธิบายต่อว่า ปูตินเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกช่วงปี 2000 ในขณะนั้นเขายังมีจุดยืนสนับสนุนนาโต้และสนับสนุนสหรัฐ ถึงขึ้นที่อาจจะนำรัสเซียร่วมเป็นพันธมิตรนาโต้ กระทั่งปี 2002 ถึงจุดที่ทำให้ปูตินต้องเปลี่ยนความคิด หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ ซึ่งทำให้สหรัฐสามารถนำขีปนาวุธเข้าไปในยุโรปตะวันออกมากขึ้น ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคาม

ในปี 2009 วิกเตอร์ ยานูโควิช ขึ้นเป็นประธานาธิบดียูเครน เขามีนโยบายเป็นกลางที่ทำให้ยูเครนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งมีส่วนบรรเทาความตึงเครียดในยุโรปตะวันออกลงเนื่องจากชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้เข้าร่วมนาโต้

ต่อมาในปี 2014 สหรัฐมีความพยายามอย่างหนักในการแทรกแซงยูเครนเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดียานูโควิช เพื่อหวังขยายอิทธิพลของนาโต้ในยุโรปตะวันออก ซึ่งในเวลานั้นเป็นผลให้รัสเซียตัดสินใจรุกคืบยุโรปกลับด้วยการประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียในปีเดียวกัน

แซคส์อธิบายต่อว่า ในวันที่ 15 ธันวาคม 2021 ปูตินได้ร่างข้อตกลงความมั่นคงรัสเซีย-สหรัฐ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐกับรัสเซียจะให้คำมั่นว่าต่างฝ่ายจะไม่ขยายอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามในยูเครน แต่ทำเนียบขาวภายใต้การนำของรัฐบาลโจ ไบเดน ปฏิเสธการเจรจาข้อตกลงดังกล่าว 

ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดอธิบายว่า ที่ผ่านมาผู้นำรัสเซียพยายามหลีกการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ แต่สหรัฐกลับเป็นฝ่ายขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออกเสียเองโดยผ่านทางนาโต้ ซึ่งผลสุดท้ายคือการบีบให้ผู้นำรัสเซียต้องทำสงครามกับยูเครนในที่สุด

ปูตินลั่นนาโต้สกัดมิสไซล์ Oreshnik ไม่ได้ ท้าชาติตะวันตกลองดวลกัน แล้วจะรู้ฤทธิ์

(19 ธ.ค.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวช่วงสิ้นปีต่อบรรดาผู้สื่อข่าวในกรุงมอสโก โดยหนึ่งในผู้สื่อข่าวได้ถามผู้นำรัสเซียว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ที่บรรดาชาติตะวันตกสมาชิกนาโต้ นำขีปนาวุธหลากชนิดเข้ามาประจำการทางตอนเหนือของโปแลนด์และโรมาเนีย

เรื่องดังกล่าวผู้นำรัสเซียตอบว่า "สมมติว่าระบบ Oreshnik ของเราตั้งอยู่ห่างจากพิกัดขีปนาวุธของพวกเขา 2,000 กิโลเมตร (1,243 ไมล์)  แม้แต่ขีปนาวุธต่อต้านที่ตั้งอยู่ในโปแลนด์ก็จะไม่สามารถทำลายมันได้" ผู้นำรัสเซียกล่าวโดยนัยว่า ยังไม่มีระบบขีปนาวุธชนิดใดของตะวันตกที่สามารถยิงไกลและมีความเร็วมากพอจะสกัดขีปนาวุธ Oreshnik ของรัสเซียได้

ปูตินยังกล่าวอีกว่า "งั้นลองให้พวกเขา (นาโต้) ลองใช้เทคโนโลยีจากตะวันตกหรือสหรัฐ มาดวลกับ Oreshnik ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ให้พวกเขา (นาโต้) ลองระบุเป้าหมายของเราดู แล้วรวมสรรพกำลังโจมตี ส่วนเราจะตอบกลับด้วย Oreshnik แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น" 

นอกจากนี้ในการแถลงข่าว ผู้นำรัสเซียยังได้ยกย่องอาวุธมิสไซล์ความเร็วเหนือเสียงนี้ว่า "Oreshnik นี้เป็นอาวุธใหม่ที่ทันสมัยมาก ระบบขีปนาวุธนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงการออกแบบขีปนาวุธทุกรูปแบบที่รัสเซียเคยใช้" เมื่อถามว่าเหตุใดถึงตั้งชื่อว่า Oreshnik ปูตินตอบเชิงติดตลกว่า แม้เขาจะอนุมัติสร้าง แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันเหตุใดจึงชื่อนี้

ปูตินแถลงข่าว 4 ชม. ลั่นควรบุกยูเครนเร็วขึ้น พร้อมถกทรัมป์จบขัดแย้งเคียฟ

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงข่าวสิ้นปีผ่านทางโทรทัศน์เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมเนียมประจำปีที่ผู้นำรัสเซียเปิดเวทีให้ประชาชนและสื่อมวลชนซักถาม โดยมีประเด็นสงครามในยูเครนเป็นหัวข้อสำคัญ พร้อมแสดงจุดยืนเปิดกว้างต่อการเจรจากับยูเครนและว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ

ปูตินกล่าวถึงการรุกรานยูเครนที่เริ่มเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยยอมรับว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ รัสเซียควรเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษทางทหารให้เร็วและมีการเตรียมพร้อมที่เป็นระบบมากกว่านี้ พร้อมเสริมว่าสถานการณ์สงครามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรัสเซียยังคงรุกคืบและยึดครองพื้นที่ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ว่าการยึดคืนดินแดนจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปูตินระบุว่าไม่ได้พูดคุยกับทรัมป์มานานกว่า 4 ปี แต่พร้อมเปิดการเจรจาทันทีหากอีกฝ่ายต้องการ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าการสนทนาจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากทรัมป์เคยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยเร็ว

ปูตินยอมรับว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและปัญหาข้าวยากหมากแพงเป็นประเด็นที่น่าวิตกสำหรับรัสเซียในปัจจุบัน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในปี 2567 อยู่ที่ 9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 9.3% ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและวิกฤตสงคราม

ปูตินยังเน้นย้ำถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับจีน ซึ่งทั้งสองประเทศมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเวทีโลก พร้อมระบุว่าความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ยังคงพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า พร้อมเปิดกว้างต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการปรองดองที่พูดถึงจะมีรูปแบบใด ทั้งนี้การเจรจาทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำที่ชอบธรรมของยูเครนเช่นกัน

การแถลงข่าวครั้งนี้สะท้อนถึงความหวังในการหาทางออกของวิกฤตที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"

ทรัมป์ไม่เอ่ยถึง ‘ยูเครน’ ในสปีชรับตำแหน่ง จับตา 'ปูติน' ส่งสัญญานพร้อมเจรจา

(21 ม.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ไม่ได้เอ่ยถึงความขัดแย้งในยูเครนโดยตรงระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ขณะวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจจะร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ในการจัดการความขัดแย้งดังกล่าว

“สหรัฐฯ เคยมีรัฐบาลที่จัดสรรเงินเพื่อปกป้องพรมแดนของต่างประเทศแต่ปฏิเสธจะปกป้องผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันหรือประชาชนของตัวเอง” ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์จากทรัมป์ที่เหมือนพาดพิงถึงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ซึ่งสนับสนุนยูเครนเพื่อชัยชนะของยูเครนในความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

ทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ จะวัดความสำเร็จทั้งด้วยชัยชนะในการสู้รบและการยุติสงครามที่ไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยว โดยทรัมป์นั้นกล่าวอ้างหลายครั้งว่าความขัดแย้งเรื้อรังในยูเครน ซึ่งเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จะไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก หากเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น

บรรดานักวิเคราะห์ของสื่อมวลชนสหรัฐฯ พากันขบคิดหาสาเหตุว่าทำไมทรัมป์ดูเหมือนจงใจไม่เอ่ยถึงยูเครนโดยตรง ทั้งที่เขาเคยคุยโวก่อนหน้านี้ว่าเขาจะยุติความขัดแย้งในยูเครนโดยเร็วหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ โดยเมื่อไม่นานนี้ ทรัมป์เผยว่ามีการเตรียมการประชุมหารือระหว่างเขากับปูติน

แถลงการณ์จากทำเนียบเครมลินของรัสเซียระบุว่าปูตินกล่าวระหว่างการประชุมกับสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งรัสเซียเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ว่ารัสเซียไม่เคยปฏิเสธการเจรจาและเปิดกว้างสู่ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ มาโดยตลอด พร้อมใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับทรัมป์ที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทรัมป์ขู่!! หากปูตินเมินเจรจายุติขัดแย้งยูเครน เตรียมเจอมาตรการคว่ำบาตรสุดโหด

(22 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กล่าวถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินมายาวนานเข้าสู่ปีที่ 3 โดยระบุว่า หากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจาเพื่อยุติสงคราม รัฐบาลสหรัฐอาจพิจารณาขยายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย

ทรัมป์ชี้ว่า การที่ปูตินยังไม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพถือเป็นการสร้างความเสียหายให้กับรัสเซียเอง และกระตุ้นให้ปูตินเข้าร่วมกระบวนการเจรจาโดยเร็ว เพราะหากต้องเผชิญมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม เศรษฐกิจของรัสเซียที่อ่อนแอจากผลกระทบของสงครามจะได้รับความเสียหายหนักขึ้นไปอีก

ในขณะเดียวกัน ปูตินแสดงความชื่นชมต่อความตั้งใจของทรัมป์ที่จะหลีกเลี่ยงการนำโลกเข้าสู่ความเสี่ยงของสงครามโลกครั้งที่ 3 และได้แสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

เกี่ยวกับแนวทางการยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปูตินเน้นย้ำว่า การหยุดยิงชั่วคราวไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะอาจเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายรวบรวมกำลังพลกลับมาอีกครั้ง แต่ควรมุ่งสู่ 'ข้อตกลงสันติภาพระยะยาว' บนพื้นฐานของการเคารพต่อ 'ผลประโยชน์อันชอบธรรม' ของประชาชนในพื้นที่ขัดแย้ง

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีปูตินได้ต่อสายตรงพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการหารือแบบทวิภาคี โดยการพูดคุยดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการแถลงการณ์ของทรัมป์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่

ยูเครนยอมรับแพ้รัสเซียแน่ หากสหรัฐระงับความช่วยเหลือ

(7 ก.พ.68) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยอมรับว่าสถานการณ์ของประเทศอาจย่ำแย่ลงอย่างมาก หากสหรัฐฯ ยุติการให้ความช่วยเหลือทางทหารและการเงิน

คำกล่าวของเซเลนสกีมีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อยูเครน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งระงับโครงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับต่างประเทศเกือบทั้งหมด

สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักของยูเครนตั้งแต่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนยูเครน อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีโต้แย้งว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 76,000 ล้านดอลลาร์

ระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เซเลนสกียืนยันว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไปและยังไม่ถูกระงับ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มของมาตรการช่วยเหลือในอนาคต

“ผมไม่อยากคิดเลยว่าหากเราไม่ได้รับการสนับสนุนต่อไป สถานการณ์จะเป็นอย่างไร” เซเลนสกีกล่าว “แน่นอนว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการป้องกันประเทศของเราอย่างรุนแรง และผมไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถรับมือได้หรือไม่”

ทรัมป์อ้าแขนต้อนรับรัสเซียคืนสู่ G7 รับขับออกไปคือความผิดพลาด

(14 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) ว่า เขาอยากเห็นรัสเซียกลับเข้าร่วมกลุ่ม G7 อีกครั้ง โดยมองว่าการขับไล่รัสเซียออกจากกลุ่มในอดีตเป็น 'ความผิดพลาด'

รัสเซียเคยเป็นสมาชิกของ G8 แต่ถูกถอดออกในปี 2014 หลังการผนวกไครเมียของยูเครน ทำให้เหลือเพียง G7 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เชื่อว่ารัสเซียสมควรได้รับที่นั่งกลับคืน

"ผมยินดีมากถ้าพวกเขากลับมา" ทรัมป์กล่าวจากทำเนียบขาว "มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะชอบรัสเซียหรือไม่ แต่มันคือเรื่องของกลุ่ม G8 เราคุยกันเรื่องรัสเซียอยู่ตลอด ถ้าอย่างนั้นทำไมพวกเขาถึงไม่มีที่นั่งที่โต๊ะเจรจาล่ะ?"

ทรัมป์ยังเสริมว่าเขาคิดว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็น่าจะอยากกลับมาเช่นกัน ขณะที่แคนาดา ซึ่งเป็นประธาน G7 ปีนี้ ยังไม่ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวของทรัมป์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top