Sunday, 20 April 2025
PM25

‘ดร.เอ้’ โพสต์เฟซ!! เสนอแนะ วิธีปราบฝุ่นพิษ PM2.5 ย้ำ!! เคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ‘ขอเสนออีกครั้ง’

(25 ม.ค. 68) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก …

ฝุ่น PM2.5 วิกฤตเเล้ว! ผมเคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ขอเสนออีกครั้ง...

‘การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ 6 ข้อ’  ให้มลพิษ PM2.5 ลดลง คือ

1.ประชาชนทุกคนต้องรับรู้ข้อมูลและอันตรายของ PM2.5 
วันนี้เราสามารถเช็กค่าฝุ่นเบื้องต้นเพื่อทราบข้อมูล จากแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อตรวจเช็กค่าฝุ่นจากจุดใกล้ตัว ว่าค่าฝุ่นที่แสดงมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรา ทราบค่าฝุ่นได้แม่นยำมากขึ้น ก็ต้องมาจาก ‘จำนวนจุดวัดคุณภาพอากาศ ที่มากเพียงพอ’ ซึ่งควรมีอย่างน้อย ‘2000 จุดทั่วกรุงเทพ’ เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบค่าได้อย่างแม่นยำ และต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่น ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขอประเมินคุณภาพอากาศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องเเนะนำให้ประชาชน ‘ป้องกัน’ ตัวเองด้วยหน้ากากอย่างจริงจัง  ในปัจจุบันหน้าการที่ป้องกันโควิดบางแบบสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้บ้างถึงแม้จะไม่ดีเท่า N95 โดยเมื่อเรารู้ว่าตัวเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ใส่หน้าเพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย  โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ ประมาทไม่ได้เลย ฝุ่น PM2.5 อันตรายถึงชีวิต แต่ที่เห็น เรายังไม่สนใจที่จะป้องกันตัวเอง และคนที่เรารักเท่าที่ควร

2.กำจัดฝุ่นที่ ‘ต้นกำเนิด’ อย่างจริงจัง 
วันนี้เรายังเห็นรถเมล์เก่า รถบรรทุกควันดำ วิ่งเต็มกรุงเทพ อยู่ทุกวัน จริงไหมครับ แสดงว่า เราไม่เคยจริงจังกับเรื่องฝุ่นพิษเลย รถควันดำ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษ จะต้องไม่มีในกรุงเทพอีกต่อไป ไม่ใช่ปล่อย PM2.5 ตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่ อากาศจะดีขึ้น ไม่มีทาง ‘รถบรรทุกควันดำ’ เป็นส่วนใหญ่ วิ่งเข้าออก ‘ไซต์งานก่อสร้าง’ ทุกวัน วันละไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเที่ยว  กทม.มีข้อบัญญัติความปลอดภัย ความสะอาด และป้องกันสิ่งแวดล้อมในมือ จัดการได้ทันที ถึงระงับใบอนุญาตก่อสร้างได้ เป็นการแก้ปัญหาถึง ‘ต้นตอ’

3.กฎหมายต้อง ‘เข้มแข็ง จัดการผู้กระทำความผิด’
แน่นอนครับการปลูกฝังจิตสำนึกเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา เเต่การใช้กฎหมาย ปรับให้เหมาะสมและต้องบังคับให้ใช้จริงเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้เรากำลังจะมี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ ตามหลักสุขภาพสากล กฎหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ กฎหมายอากาศสะอาดจะใช้มาตรการ 'ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม' กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ กฎหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด
ทั้งหมดนี้ ผู้มีอำนาจจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในต่างประเทศที่เคยประสบวิกฤตฝุ่นพิษ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เขาใช้ กฎหมายอากาศสะอาด เป็นเครื่องมือที่ได้ผลที่สุด ในการต่อสู้กับมลพิษ เเละเขาจริงจังเเละเข้มงวด ใครทำผิดเขาจัดการทันที เเต่ประเทศไทยยังไม่เข้มงวดมากพอ

4.ใช้เทคโนโลยี ‘มีดาวเทียม รู้ทันที ใครเผา’
เทคโนโลยีดาวเทียม ‘ไม่โกหก’ เมื่อปีก่อน ไทยเราส่ง ‘ดาวเทียมธีออส 2’ ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ เวียนมา ‘สอดส่องดู’ พื้นที่ประเทศไทย ใครเผาป่า เผ่าไร่ ตรงจุดไหน ที่แปลงใด รู้ทันที ‘ใครต้องรับผิดชอบ’ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้ดูแลดาวเทียม ระบุว่าข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส 2 มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล 50 เซนติเมตร ถือว่า ‘ความละเอียดสูงมาก’  ไม่มีอะไรรอดพ้นสายตา จะใช้หรือไม่ ก็เท่านั้นเอง เมื่อเทคโนโลยี ‘มีแล้ว’ เราต้องใช้แก้ปัญหา ให้คุ้มค่า

5.กำหนดเขตมลพิษต่ำ ‘Bangkok Low Emission Zone’
นี่คือ 'เป้าหมาย' และ 'วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม' ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้ เพราะกรุงเทพมี 'ความหนาแน่นขึ้น' ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และ มลพิษทางอากาศก็ตามมา โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพลเมือง

การประกาศ 'เขตมลพิษต่ำ' จะทำให้สามารถจำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงที่จะเข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกเก่าควันดำ รถเมล์ควันโขมง หรือรถอื่น ๆ ที่ปล่อยมลพิษอันตรายน่ากลัว โดยจะมีการมีกำหนดอัตราค่าธรรมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด ยิ่งรถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี ขับได้ตามปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ทำให้สามารถลดมลพิษจากท้องถนนได้

สำหรับกทม. ผมขอเสนอให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ 'Bangkok Low Emission Zone' นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้ครับ

ทำไมต้อง 16 เขต กรุงเทพชั้นใน?

เพราะเขตชั้นในนี้ มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน ที่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก

เพราะพื้นที่นี้มีการก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพ

และเพราะพื้นที่นี้อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากว่าพื้นที่อื่น

6.กำหนด ‘เป้าหมาย’ ลดฝุ่นอย่างจริงจัง ต้องชัดเจน
ผมไม่เห็นใครออกมา 'ตั้งเป้าหมาย' เลยว่า อีกกี่เดือน กี่ปี ฝุ่นพิษ PM2.5 จะลดลง ให้อากาศกรุงเทพกลับมาสะอาดพอ ให้ลูกหลานเราจะหายใจได้อย่างปลอดภัย

เมื่อบ้านเมืองไร้เป้าหมาย สุดท้ายคือ อยู่ไปวันๆ ตายผ่อนส่ง ไม่มีอนาคต จริงไหมครับ ?

เมื่อ PM2.5 คือ อันตราย ตายจริง และขอย้ำ 'ปล่อยฝุ่นว่าโหดร้าย ปล่อยไว้โหดยิ่งกว่า' หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แสดงว่าเราไม่ได้ห่วงลูกหลานคนไทยเลย

ด้วยความห่วงใยมากครับ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 แนะแต่ละจังหวัดควรมี ‘Mr.ฝุ่น’ ช่วยอ่านทิศทางลม

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ตั้ง 'คณะกรรมการลุ่มอากาศ'- กลไกการตลาดรวมพลังผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าเชื่อมแหล่งกำเนิดมลพิษ - ยกเว้นภาษีที่ดินให้พื้นที่ใช้พักฟาง แนะควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมืองและเขตต่าง ๆ ถ้าทุกคนอ่านทิศเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ รู้ว่าแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและปลายลม จะได้คุยหาทางออกร่วมกัน

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา Policy Forum : Policy Dialogue ฝ่าทางตัน 'วาระฝุ่น' 2568 ( 11 ก.พ. 68) โดยได้นำเสนอ 6 มาตรการในการแก้ปัญหาที่มองว่าสามารถทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ประกอบด้วย

1.ข้อมูลการตลาด ภาคประชาสังคมและพลังผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ด้วยการช่วยกันค้นหาเปิดเผยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดPM 2.5 และไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้น เป็นการลดแหล่งกำเนิดจากการเผาต่าง ๆ เช่น จากโรงงานน้ำตาล 60 แห่งมี 20 แห่งที่ยังรับซื้ออ้อยที่มีการเผา ก็เปิดเผยชื่อโรงงานและยี่ห้อน้ำตาล เป็นต้น 

2.ลดแหล่งกำเนิดจากการใช้รถ เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันEURO 5 เป็น EURO 6 ในราคาที่ไม่แพงมากนัก ร่วมกับการกวดขันและติดตามรถควันดำร่วมกับภาคประชาชนยกเว้นภาษีที่ดี พื้นที่พักฟาง

3.ภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีการพูดน้อยถึงว่าเป็นแหล่งก่อ PM 2.5 ควรมีการนำโดรนมาบินปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อวัดปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมาแทนการใช้วิศวกรปีนขึ้นไปวัด

4.ขอให้กระทรวงการคลัง ออกระเบียบเรื่องภาษีที่ดิน ในการกำหนดพื้นที่ยกเว้นภาษีที่ดิน ให้กับพื้นที่พักฟาง ก็จะได้พื้นที่ว่างของภาคเอกชนมาให้เกษตรกรพักฟางทุกตำบลทั่วประเทศจะได้ไม่ต้องมีการเผาพื้นที่เกษตร แต่จะต้องมีการดูแลที่ดีไม่ให้ฟางเกิดไฟไหม้ และรอให้ผู้มาซื้อฟางไปทำอาหารสัตว์ หรือโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

5.จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มอากาศ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจังหวัดที่อยู่ในทิศทางลมทั้ง 3 แบบคือ ลมหนาว, ลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมตะเภาที่ส่งผลต่อการพัดพาฝุ่น PM2.5 โดยก่อนที่จะถึงช่วงเวลาของสภาพอากาศและทิศทางลมแต่ละแบบที่จะเกิดขึ้น คณะกรรมการนี้ก็มาบริหารจัดการร่วมกันภายใต้สูตร 8/3/1 โดยร่วมวางแผนลดปัญหาล่วงหน้า 8 เดือน ส่วนช่วง 3 เดือนที่สภาพอากาศปิดเป็นฝาชีก็ไม่ให้มีการเผา และ 1 เดือนหลังจากนั้นใช้ในการถอดบทเรียนเพื่อปรับในปีต่อไป

และ6.ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งสภาลมหายใจให้เกิดขึ้นทุกจังหวัด ลงลึกถึงระดับพื้นที่ และนำไปสู่การจัดตั้งสภาลมหายใจCLMV เพื่อร่วมขับเคลื่อนปัญหาระหว่างประเทศ 

"สภาลมหายใจ เราเสนอว่าควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมือง และเขตต่าง ๆ เพราะลมเปลี่ยนทิศ และป่าแห้งตามช่วงเวลา ซึ่งแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและเมืองปลายลม ในขณะเดียวกัน ต้องทำให้ทุกคนรู้ด้วยว่า ถ้าเขาอ่านทิศทางเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ อย่างฝุ่นของเราเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาจากหมู่บ้านนั้นอำเภอนี้ จังหวัดนั้น แล้วที่จังหวัดนั้นเขาปลูกอะไร หรือเป็นช่วงเทศกาลอะไรอยู่ ทำให้เราต้องรับฝุ่นแบบนี้ จะได้คุยกับเมืองต้นลมถูก

ในเดือนมกราคม, มีนาคม และเมษายน อย่างน้อยทิศทางลมจะเปลี่ยน 3 หน จึงอยากชวนรัฐบาลกลางพิจารณาว่าควรจะตั้งคณะกรรมการที่ให้จังหวัดปลายลมและข้างเคียงรวมตัวเป็นฝ่ายหัวโต๊ะ แล้วชวนจังหวัดต้นลม ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงมา มานั่งหัวโต๊ะ อธิบายให้เข้าใจว่าท่านกำลังปลูกอะไร แล้วอยากให้เมืองปลายลมช่วยอะไร เพราะถ้าจังหวัดปลายลมไม่อยากรับลมนั้น จะได้ระดมพลังประชาชนมาช่วยแก้กัน โดยต้องดำเนินตามหลัก '8-3-1' 

‘กฟผ.’ ผนึกกำลังพันธมิตร ยกระดับความร่วมมือดูแลคุณภาพอากาศ บูรณาการ!! ข้อมูลภาค ‘พื้นดิน-อวกาศ’ เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ให้ปชช.

(15 ก.พ. 68) กฟผ. ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ GISTDA และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลภาคพื้นดินและอวกาศ วิเคราะห์สาเหตุมลพิษและฝุ่น PM2.5 มุ่งกำหนดนโยบายปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างตรงจุด เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและลมหายใจสะอาดของคนไทย

กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศ 'Breathe Our Future: Space & Sensor Synergy' รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยวางโครงสร้างพื้นฐานของยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาป การยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การนำชีวมวลมาผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการเผาในที่โล่ง และสนับสนุนหน่วยงานภาคีเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Sensor for ALL) เพื่อหาสาเหตุจากแหล่งการเกิดฝุ่น และใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อออกนโยบายแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การป้องกันที่แหล่งกำเนิดเป็นสิ่งจำเป็นในการลดมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ในขณะที่การขยายความร่วมมือและการพัฒนาเครื่องมือก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้วจำนวน 100 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 69 จังหวัด และคาดว่าจะมีครบทุกจังหวัดในปี 2569 พร้อมร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งที่มา และสื่อสารข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัดแต่ละชนิด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า GISTDA มีดาวเทียมที่สามารถติดตามความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศรายชั่วโมง จึงสามารถช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดได้ พร้อมกันนี้ยังได้ใช้ AI ในการพยากรณ์และสื่อสารถึงประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” โดย GISTDA มุ่งหวังและตั้งเป้าหมายที่จะผสานการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากดาวเทียมและภาคพื้นดิน เพื่อให้ได้สาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืนมากขึ้น

รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยวางนโยบายเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนานวัตกรรม Sensor for ALL ที่เดินหน้าต่อเนื่องมาแล้ว 7 ปี โดยติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ และกระจายฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีแผนที่จะใช้ Sensor สอดประสานความแม่นยำของข้อมูลกับภาคีเพื่อขยายผลการตรวจวัดตั้งแต่ภาคพื้นดินสู่อวกาศต่อไป

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินภารกิจผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม การดูแลคุณภาพอากาศที่ปล่อยจากการผลิตไฟฟ้าจึงถูกควบคุมดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้การปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้าดีกว่าเกณฑ์ค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งผลักดันการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ การนำร่องใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมมาตรฐานฉลากเบอร์ 5 การสนับสนุนจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 การติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ City Tree การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น และสนับสนุนภารกิจป้องกันไฟป่าและหมอกควัน โดย กฟผ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตั้ง Sensor for All ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาและลด PM2.5 ได้ จึงต้องผนึกกำลังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยกันนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทบทวนและกำหนดมาตรการเสริมในการลดมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ของประเทศต่อไป

สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศในครั้งนี้ ทั้ง 5 หน่วยงานได้บูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ให้ตรงจุดมากขึ้น นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านคุณภาพอากาศของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และส่งเสริมการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ เพื่อลมหายใจสะอาดและสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top