‘Picostim’ ก้าวสำคัญแห่งความสำเร็จในการรักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ ด้วยเครื่องกระตุ้นประสาทขนาดจิ๋ว ชาร์จไฟผ่านหูฟังไร้สาย
‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ (Epilepsy) เกิดจากเซลล์สมองที่ทำงานเชื่อมโยงกันเหมือนวงจรไฟฟ้าและปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้ระบบประสาทเกิดความผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมตนเองหรือเกิดอาการชักซ้ำ ๆ โดยอาการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้น และอาการจะเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาไม่นาน มักเกิดขึ้นทันทีและหยุดเอง แต่ส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นซ้ำเรื่อย ๆ ถือเป็นโรคทางระบบประสาทซึ่งพบได้ 70 คนจาก 1,000 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมาก แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต โดยพบได้ในทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในเด็กเล็ก 4 - 6 ขวบ หรือกระทั่งผู้สูงอายุที่มีอาการของสมองเสื่อม
สาเหตุที่ทำให้เกิด ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ นอกเหนือจากความผิดปกติของสมองแล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักได้ อาทิ กรรมพันธุ์ที่มักมีอาการชักร่วมด้วย การติดเชื้อทางสมอง การเกิดสภาวะสมองขาดออกซิเจน การได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนจนทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง ภาวะสมองพิการแต่กำเนิดซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์ เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่น ๆ มาสู่สมอง หลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบอุดตันเฉียบพลัน โรคไต การรับยาเกินขนาด การติดเชื้อในสมอง เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย การติดเชื้อโปรโตซัว หรือพยาธิในสมอง รวมไปถึงผู้ที่ป่วยด้วยอาการพิษสุราเรื้อรัง กระทั่งไม่ทราบสาเหตุด้วยเมื่อทำการตรวจแล้วแต่กลับไม่พบร่องรอยของโรคในสมอง
อาการของ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ มีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติตรงส่วนใดของสมองและมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางอาการสังเกตได้ยากว่ามีอาการชักอยู่ โดยอาการชักมี 2 ลักษณะ ดังนี้
อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว จากการส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าจากส่วนลึกของสมองผิดปกติกระจายไปทั่วสมอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการชักเกร็ง กระตุก หมดสติทันทีทันใด กล้ามเนื้อลำตัวและแขนขาเกร็ง หยุดหายใจชั่วขณะ หน้าเขียว กัดลิ้น ปัสสาวะราด และหลับไป เมื่อตื่นรู้ตัวจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เพลีย ปวดศีรษะ บางรายยังไม่ทันตื่นก็เกิดอาการชักซ้ำ
อาการชักเฉพาะที่ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย อาการชักที่เกิดจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติบนผิวสมอง เช่น อาการกระตุกใบหน้า มุมปาก แขนหรือขา มีอาการชานอกจากนี้อาจมีอาการ เห็นแสงสว่างหรือเห็นเป็นรูปร่าง เห็นภาพหลอน คลื่นไส้ ปวดท้อง ความรู้สึกเหมือนฝัน หูแว่ว หรือใจสั่น ใจหวิว หรือบางครั้งมีอาการเหม่อและนิ่ง เรียกแล้วไม่รู้สึกตัว พร้อมกับอาการเคี้ยวปาก มีการใช้มือคลำไปมาโดยไม่มีสาเหตุที่ต้องคลำ
อันตรายของ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ หากผู้ป่วยแสดงอาการอยู่บ่อยๆ และไม่ได้รับการรักษา กระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองจะทำให้เกิดการหลั่งสารออกมาแล้วทำลายเซลล์สมอง นาน ๆ เข้าอาจทำให้เนื้อสมองตาย จนทำให้ความจำมีปัญหา หากทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ขับรถหรือว่ายน้ำ ก็จะเป็นอันตราย และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ จึงไม่ควรที่จะขับรถหรือทำกิจกรรมหนัก ๆ
แนวทางในการรักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ซึ่งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษาแพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ป่วยจากสาเหตุใด เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้อง ด้วยการ...
การใช้ยากันชัก เพื่อช่วยกดสมองส่วนที่มีการปล่อยคลื่นลมชักออกมา ทำให้ไม่ชัก โดยปัจจุบันมียากันชักหลากหลายชนิด ซึ่งการเลือกใช้ยากันชัก แพทย์ก็จะเลือกตามความเหมาะสมของชนิดการชัก และผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
การใช้อาหารสูตรพิเศษ แบบคีโตเจนิค ไดเอท (Ketogenic Diet) คือ อาหารที่มีสัดส่วนของไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และโปรตีนที่เพียงพอเหมาะสม
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในกรณีที่พบเนื้องอกในสมองหรือหลอดเลือดผิดปกติ หรืออาการชักที่ควบคุมไม่ได้ด้วยยากันชัก และตรวจเพิ่มเติมพบว่ามีจุดกำเนิดชัก ที่สามารถผ่าตัดออกได้
และขณะนี้ โลกกำลังก้าวสู่ความสำเร็จในรักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ด้วยความร่วมมือ 4 ฝ่าย ระหว่างโรงพยาบาล Great Ormond Street, โรงพยาบาล King's College, UC London และ U of Oxford ช่วยกันทำให้ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้น ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘Picostim’ ซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นประสาทที่มีขนาดเล็กมาก ผลิตโดยบริษัท Amber Therapeutics แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งจะถูกใส่เข้าไปในช่องว่างของกะโหลกศีรษะของผู้ป่วยในบริเวณที่เนื้อกระดูกของกะโหลกนั้นได้ถูกผ่าตัดเอาออกแล้ว โดย ‘Picostim’ เป็นอุปกรณ์รักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ เครื่องแรกของโลกถูกติดตั้งในกะโหลกศีรษะของ Oran Knowlson เด็กชายชาวอังกฤษ ผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ขั้นรุนแรง เพื่อควบคุมอาการชัก
‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาททำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าลึกเข้าไปในสมองของผู้ป่วย สามารถลดอาการลมชักในเวลากลางวันของ Oran Knowlson ได้ถึง 80% โดย Justine มารดาของเขาเล่าว่า เขามีความสุขมากขึ้น และมี ‘คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก’ การผ่าตัดใส่ ‘Picostim’ นี้ ได้ดำเนินการครั้เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2023 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองที่โรงพยาบาล Great Ormond Street ในกรุงลอนดอน เมื่อ Oran Knowlson ขณะที่รับการผ่าตัดอายุ 12 ปี เขามีอาการ Lennox-Gastaut syndrome ซึ่งเป็นโรคลมบ้าหมูที่ดื้อต่อการรักษา เขาเริ่มมีอาการเมื่ออายุได้ 3 ขวบ ตั้งแต่นั้นมา Oran มีอาการชักหลายครั้งในแต่ละวันตั้งแต่ 24 ครั้งไปจนถึงหลายร้อยครั้ง
(Oran (ขวา) อยู่กับมารดา น้องชาย และน้องสาว)
ทั้งนี้ Justine มารดาของเขาเล่าว่า ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดนั้น ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของ Oran Knowlson ได้พรากเอาชีวิตวัยเด็กของเขาไปจนหมด เขามีอาการชักหลายอย่าง รวมถึงการที่เขาล้มลงกับพื้นแล้วมีอาการสั่นอย่างรุนแรงจนหมดสติ เธอกล่าวว่าบางครั้งเขาจะหยุดหายใจและต้องใช้ยาฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตเขา Oran Knowlson ยังเป็นโรคออทิสติกและสมาธิสั้น แต่มารดาของ Oran กล่าวว่า ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของเขาคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุด “เด็กอายุ 3 ขวบที่สดใส แต่ภายในไม่กี่เดือนต่อมาเขาเริ่มมีอาการชัก แล้วก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนสูญเสียทักษะต่าง ๆ ไปมากมาย” ทั้งนี้ Oran Knowlson เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CADET ซึ่งเป็นชุดการทดลองที่ประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของการกระตุ้นสมองส่วนลึกสำหรับ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ขั้นรุนแรง ทั้งนี้ ‘Picostim’ ผลิตโดยบริษัท Amber Therapeutics ในสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการชักจาก ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของกิจกรรมทางไฟฟ้าในสมองที่มีความผิดปกติ เครื่องกระตุ้น ‘Picostim’ ซึ่งปล่อยกระแสพัลส์ (Pulse คือสัญญาณทางไฟฟ้าที่มีรูปร่างหรือลักษณะเป็นคลื่นรูปสี่เหลี่ยม (Square wave) ที่) คงที่เพื่อป้องกันหรือรบกวนสัญญาณที่ผิดปกติ ก่อนการผ่าตัด Justine บอกว่า เธอต้องการให้ Oran Knowlson ค้นพบตัวเองอีกครั้งท่ามกลางปัญหาจากอาการชัก และเธอก็อยากได้ลูกชายของเธอกลับมามีชีวิตเช่นเด็กปกติทั่วไป การผ่าตัดติดตั้ง ‘Picostim’ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2023 ทีมงานนำโดย นายแพทย์ Martin Tisdall ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาระบบประสาทเด็กได้ทำการสอดขั้วไฟฟ้าสองอันเข้าไปในสมองของ Oran จนกระทั่งไปถึงฐานซึ่งเป็นสถานีถ่ายทอดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเส้นประสาท โดยระยะขอบของความผิดพลาดสำหรับตำแหน่งเป้าหมายต้องน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตร ปลายสายเชื่อมต่อกับเครื่องกระตุ้นประสาทซึ่งเป็นอุปกรณ์สี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 3.5 ซม. และหนา 0.6 ซม. วางอยู่ในช่องว่างของกะโหลกศีรษะของ Oran ซึ่งเป็นบริเวณที่เนื้อกระดูกส่วนนั้นได้ถูกนำเอาออกแล้ว จากนั้นจึงยึด ‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทให้เข้าที่กับกะโหลกศีรษะ
(Oran Knowlson สามารถชาร์จอุปกรณ์ได้ทุกวันผ่านหูฟังไร้สาย
ขณะเดียวกันก็ยังทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้ เช่น ดูทีวี)
แต่ก่อนการใช้เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกสำหรับ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ในเด็ก ด้วยการวางเครื่องกระตุ้นประสาทไว้ที่บริเวณหน้าอก มีสายไฟวิ่งไปถึงสมอง นพ. Martin Tisdall กล่าวว่า “การศึกษานี้หวังว่าจะช่วยให้เราระบุได้ว่าการกระตุ้นสมองส่วนลึกเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคลมบ้าหมูชนิดรุนแรงนี้หรือไม่ และยังพิจารณาถึงอุปกรณ์ประเภทใหม่ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในเด็กด้วย เพราะ ‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทอยู่ในกะโหลกศีรษะเลย ไม่ใช่บริเวณหน้าอกเช่นที่ใช้กันอยู่ เราหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้” รวมถึงการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดและจากอุปกรณ์ซึ่งอาจทำงานล้มเหลว Oran Knowlson มีเวลา 1 เดือนในการฟื้นตัวจากการผ่าตัด ก่อนที่จะเปิดเครื่องกระตุ้นประสาท และเมื่อเปิดเครื่องแล้วเขาจะไม่รู้สึกผิดปกติเลย และสามารถชาร์จอุปกรณ์ได้ทุกวันผ่านหูฟังไร้สาย ขณะเดียวกันก็ยังทำกิจกรรมที่เขาชื่นชอบได้ เช่น ดูทีวี
หลังจาก Oran Knowlson และครอบครัวของเขารับการผ่าตัดเป็นเวลา 7 เดือน Justine บอกว่า ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของ Oran ดีขึ้นมาก เขามีอาการตื่นตัวมากขึ้น ทั้งยังไม่มีอาการชักระหว่างวัน แต่ยังคงมีอาการชักในตอนกลางคืนอยู่ ซึ่งสั้นและรุนแรงน้อยลง โดยมารดาของเขากล่าวว่า “ฉันจะพาเขาให้ค่อย ๆ กลับมาเป็นเด็กปกติได้อย่างแน่นอน”
(นพ. Martin Tisdall ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาระบบประสาทเด็ก โรงพยาบาล Great Ormond Street)
ด้าน นพ. Martin Tisdall กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Oran Knowlson และครอบครัวของเขาได้เห็นประโยชน์มหาศาลจากการรักษานี้ และช่วยให้อาการลมชักและคุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างมาก” ตอนนี้ Oran Knowlson กำลังเรียนขี่ม้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาชอบ แม้ว่าจะมีพยาบาลถือออกซิเจนอยู่ในมือ และครูคนหนึ่งของเขาคอยอยู่ใกล้ ๆ เสมอ ซึ่งเผื่อแม้จะยังไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลย
(‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทผลิตโดย Amber Therapeutics)
ในการทดลองนี้ เด็ก ๆ อีก 3 คนที่มีอาการ Lennox-Gastaut จะได้รับการติดตั้งเครื่องกระตุ้นประสาทสมองส่วนลึก ปัจจุบัน Oran Knowlson ได้รับการกระตุ้นทางไฟฟ้าจากอุปกรณ์ของเขาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตทางทีมงานมีแผนที่จะทำให้เครื่องกระตุ้นระบบประสาทตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมองแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันอาการชักที่กำลังจะเกิดขึ้น
มารดาของ Oran Knowlson กล่าวว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นมากที่สุดกับการทดลองในระยะต่อไป “ทีมงานของโรงพยาบาล Great Ormond Street ให้ความหวังกับเราอีกครั้ง…ทำให้อนาคตในตอนนี้ดูสดใสยิ่งขึ้น” โดยครอบครัวรู้ว่า แม้การรักษาของเขาในขณะนี้อาจไม่ใช่วิธีรักษาที่ทำให้หายขาด แต่พวกเขายังมองโลกในแง่ดีที่ว่า Oran Knowlson จะสามารถหลุดพ้นจากเงามืดที่เกิดจาก ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของเขาได้ต่อไปในอนาคต เครื่องกระตุ้นประสาท ‘Picostim’ ซึ่งผลิตโดย Amber Therapeutics ยังสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย ดังนั้น ‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทจึงเป็นสุดยอดความหวังของผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ซึ่งเมื่อได้รับการผ่าตัดติดตั้ง ‘Picostim’ แล้ว ในที่สุดอาการป่วยของพวกเขาจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน