Saturday, 5 April 2025
PEA

อยุธยา - PEA ร่วมส่งกำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ประชาชน ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา นายบดินทร์ เกษมศานติ์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา นายสุวัฒน์ สรรพโกศลกุล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมคณะ ที่ได้เดินทางมาให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลวาสุกรี บริเวณวัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้จัดกิจกรรม PEA ขอร่วมส่งกำลังใจให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย จากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” โดยมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 600 ครัวเรือน ที่ผ่านมา PEA  ได้ส่งพนักงานลงพื้นที่ยกระดับมิเตอร์ไฟฟ้าให้พ้นน้ำท่วม แก้ไขระบบไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหาย จำนวนกว่า 8,000 เครื่อง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งแนะนำประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดให้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย

 

คว้างานจาก PEA ให้ปรับปรุงสถานีไฟฟ้านนทรี เพิ่มยอดงานโครงการวิศวกรรมมูลค่า 314.8 ล้านบาท

ภายหลังจาก บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชัน (ILINK) ได้ร่วมกับบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (บริษัทย่อย) ในนาม “INTERLINK CONSORTIUM” เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับหนังสือสั่งจ้าง “งานจ้างก่อสร้างปรับปรุงสถานีไฟฟ้านนทรี จังหวัดปราจีนบุรีตามโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 แผนที่ 2 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)” จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ (25 ก.ค. 65) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ได้ร่วมลงนามกับ นายประพันธ์ สีนวล รองผู้ว่าการวิศวกรรม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อก่อสร้างปรับปรุงสถานีไฟฟ้านนทรี จังหวัดปราจีนบุรี มูลค่างาน 314,800,000 บาท โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดใน 510 วัน นับจากวันลงนามสัญญา โดย INTERLINK CONSORTIUM จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

‘PEA’ เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘CARBONFORM’ เครื่องมือช่วยประเมิน-บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

(14 พ.ค. 67) นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ‘CARBONFORM’ พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘PEA กับการเดินทางไปสู่แผน PEA Carbon Neutrality และทิศทางของ PEA กับ Net Zero ในอนาคต’ โดยมีแขกผู้มีเกียรติ หน่วยงานภายนอก ผู้บริหาร พนักงาน PEA ร่วมงาน ณ อาคาร 4 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และถ่ายทอดสดผ่านระบบ WebEx 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีภารกิจในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘Net Zero’ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายในปี 2580 ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

PEA จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CARBONFORM เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA 74 จังหวัด (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ) ที่สนใจหรือจำเป็นต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM สามารถประเมินและบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์กร ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและครอบคลุม สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การใช้พลังงาน การขนส่ง จนถึงห่วงโซ่อุปทาน ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเรียลไทม์ วิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แพลตฟอร์ม CARBONFORM เป็นนวัตกรรมของ PEA เหมาะสำหรับองค์กรทุกขนาด ใช้งานง่าย ปรับแต่งได้ สามารถทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM ฟรี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด) ได้ที่ https://bufferbox.pea.co.th/ มี Feature การใช้งานที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ระบบแสดงผลแบบ REAL-TIME พร้อม Dashboard Infographic 
2. ข้อมูล Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา) แบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ (เฉพาะลูกค้าที่มิเตอร์อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ PEA)
3. สามารถสร้างขอบเขตการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ได้ตามโครงสร้างขององค์กร 
4. การใช้งานสะดวก และคำนวณได้ถูกต้อง แม่นยำ
5. ออกรายงานได้อัตโนมัติตามมาตรฐาน อบก. Green Office
6. เริ่มต้นได้ง่ายโดยมี template ให้เลือกตามความเหมาะสมตามขอบเขตขององค์กร 
7. คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามหลักการมาตราฐาน ISO 14064-1 CFO และ อบก. 

‘3 การไฟฟ้า’ ร่วมกับ ‘ก.ศึกษาธิการ’ ติดตั้ง ‘Solar Cell’ ในสถานศึกษา หวังลดค่าใช้จ่าย ‘ด้านพลังงาน’ ส่งเสริม ‘การใช้พลังงานทดแทน’

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค. 67) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมี นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง คณะผู้บริหาร 3 การไฟฟ้า และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธี ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือที่จะช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์และการจัดการพลังงานไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ และปลูกฝังเยาวชนให้ช่วยลดการใช้พลังงานและรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้พลังงานทดแทน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานในสถานศึกษา และหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ สอดคล้องกับการส่งเสริมของรัฐบาลในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยรูปแบบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และแบบผลิตใช้เองบนพื้นดิน (Solar Ground Mount) นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการบริหารจัดการพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และนวัตกรรมเทคโนโลยีอื่น ๆ มาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป

PEA แจงขายไฟฟ้าให้เมียนมาทำถูกขั้นตอน ลั่น งดจ่ายไฟฟ้าทันทีหากพบกระทำความผิดจริง

(24 ม.ค.68) PEA ชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศใกล้เคียง ทำถูกขั้นตอนตามความร่วมมือไทย-เมียนมา พร้อมงดจ่ายไฟฟ้าแนวตะเข็บชายแดน หากพบกระทำความผิดจริง

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ชี้แจงว่า ปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 5 จุด ในพื้นที่

1. บ้านเจดีย์สามองค์ - เมืองพญาตองซู รัฐมอญ
2. บ้านเหมืองแดง - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
5. บ้านห้วยม่วง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด - บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สำหรับอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน - เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้า ทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

PEA มิได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยดำเนินการประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในไทยและเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อมิให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพ นำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการของไทยไปใช้ในการกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความไม่สงบและอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การพิจารณางดจ่ายกระแสไฟฟ้าของ PEA จะไม่กระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ใช้บริการระบบสื่อสารทั่วไปภายในประเทศ

กฟภ. ตั้งโต๊ะแจงยิบ ปมขายไฟฟ้าให้ ‘เมียนมา’ ลั่น ยังตัดไฟไม่ได้เหตุยังไม่พบการทำผิดที่ชัดเจน

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เตรียมหารือหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศครั้งสำคัญ ต้นเดือน ก.พ. 2568  หาแนวทางตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา ใช้ไฟฟ้าไทยดำเนินการหลอกลวงเงินประชาชน ยอมรับที่ผ่านมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ เหตุยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเป็นประจักษ์พยาน และไทยยังไม่เคยใช้เหตุผลด้านความมั่นคงเพื่อตัดไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้านมาก่อน คาดหลังหารือจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ขณะที่บอร์ด PEA เตรียมออกร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่ ที่รัดกุมมากขึ้นและสามารถเลิกสัญญาได้ทันทีหากพบทำผิด

เมื่อวันที่ (29 ม.ค.68) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แถลงชี้แจงกรณียังไม่ตัดไฟฟ้าที่ส่งไปยังประเทศเมียนมา แม้จะเกิดกรณีกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มธุรกิจสีเทา ใช้ไฟฟ้าจากไทยดำเนินการเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงเงินประชาชนมานาน โดยสาระสำคัญของการแถลงข่าวระบุเกี่ยวกับการไม่มีเอกสารหลักฐานที่เป็นประจักษ์ในการกระทำผิดสัญญา และยังไม่มีหนังสือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงสั่งการมา ทำให้ PEA ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อดำเนินมาตรการให้เข้มข้นขึ้นและเตรียมทำร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่ที่รัดกุม ป้องกันการลักลอบใช้ไฟฟ้าผิดวัตถุประสงค์  

นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และในฐานะโฆษกประจำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เตรียมหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ ช่วงวันที่ 4 หรือ 6 ก.พ. 2568 นี้ เพื่อหามาตรการจัดการปัญหาด้านไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมา PEA เคยส่งหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งแต่ปลายปี 2567 เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการหารือที่จะถึงนี้คาดว่าจะได้ผลลัพธ์เร็วๆ นี้ เนื่องจากปัญหาธุรกิจสีเทาในประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างมาก

ทั้งนี้ตามกฎหมายทาง PEA ไม่สามารถตัดไฟฟ้าโดยทันทีได้ เพราะการตัดไฟฟ้าต้องมีประจักษ์พยานหรือเอกสารที่ชัดเจนต่อการตัดไฟฟ้า ใน 2 กรณี คือ 1.การทำผิดสัญญา เช่น การไม่จ่ายค่าไฟฟ้า 2.กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยตัดไฟฟ้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในประเทศมาก่อน ดังนั้นจึงต้องมีหนังสือเอกสารจากหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ระบุชัดเจนถึงสาเหตุการตัดไฟฟ้าส่งมายัง PEA อย่างเป็นทางการก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยหากมีการตัดไฟฟ้าจะต้องตัดในพื้นที่ประเทศไทยบริเวณชายแดนกับเมียนมา ซึ่งเป็นการตัดไฟฟ้าทั้งสาย

สำหรับปัจจุบัน PEA มีลูกค้าทั้งหมดในไทยและต่างประเทศ 22 ล้านราย คิดเป็นรายได้ 6 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่การจ่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา 5 จุด สร้างรายได้เพียง 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา PEA จ่ายไฟฟ้าให้เมียนมา เพราะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรองรับในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงชายแดนเป็นหลัก  

สำหรับความเป็นมาในการจ่ายไฟฟ้าให้ประเทศเมียนมานั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2539 เห็นชอบหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ทั้งนี้ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทราบ ยกเว้นมีประเด็นนโยบาย  ที่สำคัญให้เสนอพิจารณา

ปัจจุบัน PEA จ่ายกระแสไฟฟ้าให้เมียนมา จำนวน 5 จุด ดังนี้

1. บ้านเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองซู รัฐมอญ บริษัท Mya Pan Investment and Manufacturing Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

2. บ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด   เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริษัท Nyi Naung Oo Company Limited และ Enova Grid Enterprise (Myanmar) Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

5. บ้านห้วยม่วง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มีบริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited (SMTY) เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ทั้งนี้การจ่ายไฟฟ้าในจุดซื้อขายไฟฟ้าไปยังเมียนมา คู่สัญญาทุกจุดซื้อขายไฟฟ้าเป็นผู้ได้รับสิทธิสัมปทานการซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยผ่านการรับรองความถูกต้องและความน่าเชื่อถือด้านเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ และ PEA ประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยในพื้นที่ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา

กรณีการงดจ่ายไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญา มี 2 กรณี ได้แก่ 1)  คู่สัญญาดำเนินการผิดสัญญา เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด หรือไม่วางหลักประกันสัญญา และ 2)  กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

ดังนั้น PEA จำเป็นต้องมีหนังสือเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนการดำเนินการบังคับใช้ข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับการเริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากเป็นในเรื่องนโยบาย PEA จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

สำหรับในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด – บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ส่วนอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน – เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

“การตรวจสอบว่ามีการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศไทยนั้น PEA ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศของคู่สัญญาได้ จึงต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจประสานงานในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และแจ้ง PEA เพื่อดำเนินการต่อไป”

นอกจากนี้ PEA ยังได้จัดทำหนังสือเป็นทางการผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังหน่วยงานของเมียนมา เพื่อขอให้กำกับดูแลและควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปตามสิทธิสัมปทาน ณ จุดซื้อขายไฟฟ้า หากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศไทยตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย และ แจ้งให้ PEA ทราบ ก็จะดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า ที่ผ่านมา PEA เคยส่งหนังสือผ่านกระทรวงการต่างประเทศในไทยไปยังสถานทูตในเมียนมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่ามีธุรกิจสีเทามาใช้ไฟฟ้าหรือไม่ และได้ขายไฟฟ้าต่อในธุรกิจที่ตกลงตามสัญญาถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง PEA จะเข้มข้นในการติดตามเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) PEA เห็นควรให้มีการแก้ไขรายละเอียดในสัญญาขายไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้ทำร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่แล้ว และอยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตรวจสอบ โดยร่างสัญญาฉบับใหม่จะรัดกุมมากขึ้น โดยต้องยืนยันว่าซื้อไฟฟ้าไปแล้วจะนำไปขายให้กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าด้านใดได้บ้าง เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งหากใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ง่ายขึ้น ส่วนด้านความมั่นคงของประเทศนั้น สัญญาขายไฟฟ้าจะต้องระบุให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สามารถงดจ่ายไฟฟ้าได้เร็วขึ้นด้วย

ทั้งนี้หากอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่แล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด PEA และจัดทำเป็นสัญญาฉบับใหม่ ที่จะใช้เป็นการทั่วไปทันที

‘อินเตอร์ลิ้งค์ฯ’ ต้อนรับศักราชใหม่!! คว้างานจาก ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)’ ปรับปรุงก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน เมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

(22 ก.พ. 68) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญ งานโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ต้อนรับศักราชแห่งปี 2568 ด้วยการเริ่มงานโครงการเคเบิลใต้ดิน จากการเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และเข้าลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการก่อสร้าง และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในพื้นที่เทศบาลเมืองตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

การลงนามในสัญญาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า ร่วมลงนามในสัญญา (MOU) กับนายธนา ตั้งสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ILINK ที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า และพลังงาน เป็นตัวแทนเซ็นลงนามในครั้งนี้

โดยโครงการฯ นี้ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเริ่มงาน โดยมีมูลค่างานเป็นจำนวนเงิน 275,400,000 บาท (สองร้อยเจ็ดสิบห้าล้านสี่แสนบาทถ้วน) นับว่าโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินนี้ เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเพิ่มความสวยงามของเมือง 
ซึ่ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะงานระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องการมาตรฐานสูง ทั้งด้านการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนต้องการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เสริมศักยภาพระบบจำหน่ายไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเมือง หรือ เทศบาลเมืองขนาดใหญ่

"อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ โดยที่เรามีความพร้อมทั้งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลักษณะนี้มาแล้วหลายโครงการ รวมทั้งเรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้" นายสมบัติ ประธานกรรมการ กล่าวเสริมตอนท้าย   


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top