Tuesday, 6 May 2025
OKMD

‘OKMD’ ผนึก ‘ธรรมศาสตร์’ ปั้นโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัป  พัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา ยกระดับไทยเท่าทันสากล

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับ 88 SANDBOX มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างโอกาสในการพัฒนา นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาไทย เพื่อยกระดับความสามารถและศักยภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน ภายใต้ ‘โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา (LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program)’ พร้อมระดมกูรูในระบบนิเวศการศึกษา และเทคโนโลยีร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต่อยอดไอเดียตั้งแต่เริ่มต้น สู่เป้าหมาย เชื่อมต่อนักลงทุนคู่ค้า ที่มีศักยภาพต่อไป  

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ต้องควบคู่ไปกับการลงมือทำ ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยให้กระบวนการเรียนรู้สะดวกขึ้น และทำให้ให้การลงมือปฏิบัติสำเร็จง่ายขึ้นอย่าง Education Technology หรือ EdTech หรือนวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญและเหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ในสมัยก่อนเรามี EdTech ในรูปแบบการศึกษาผ่านระบบดาวเทียม ต่อมาเป็นการเรียนรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ผู้คนสามารถเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต ถัดมาเป็นเทคโนโลยีใหม่อย่าง Zoom Meeting จนมาถึงตอนนี้นักเรียนนักศึกษาสามารถทำ Report จาก AI กันได้แล้ว OKMD จึงต้องดำเนินงานส่งเสริมและสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ควบคู่ไปกับ EdTech เพื่อช่วยให้การเข้าถึงความรู้และการเรียนรู้เป็นเรื่องง่าย ๆ”  

ดร.ทวารัฐ กล่าวต่อไปว่า “ความร่วมมือระหว่าง OKMD และ 88 SANDBOX ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการบ่มเพาะกลุ่มสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมการเรียนรู้และการศึกษา ให้มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ และเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ รวมทั้งเกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับประเทศไทย และเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทักษะในอนาคต รวมทั้งการส่งมอบประสบการณ์และการบูรณาการจุดเด่นของทั้ง 2 หน่วยงาน ในรูปแบบการจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพต้นทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติต่อไปครับ”

ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึงความคาดหวัง ในการร่วม มือในโครงการ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program ว่า เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงความรู้อย่างกว้างขวางและรอบด้าน ด้วยโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาให้กับประเทศไทย โดยการสร้างและส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ และการศึกษาในสังคมให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งการบ่มเพาะผู้ประกอบการทุกคนที่ต้องการสร้างไอเดียจากศูนย์สู่ความสำเร็จ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศไทย

“ปริญญาในโลกอนาคตไม่ค่อยมีความหมาย องค์กรยุคใหม่ไม่สนใจว่าเราจบอะไรมา เท่ากับทำอะไรเป็น เพราะฉะนั้นเวลาคัดเลือกคนเข้าทำงาน จะพิจารณาจากความสามารถในการแก้ปัญหา การจัดการสถาน การณ์ที่ยากซับซ้อน การทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program จะเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุก ๆ คน ตั้งแต่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ไปจนถึงนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป ให้ได้รับการสนับสนุนต่อยอดไอเดียธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมและมีศักยภาพในการนำออกสู่ตลาดในระดับนานาชาติต่อไป” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

โครงการ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program จะเริ่มบ่มเพาะธุรกิจด้านการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ในรูปแบบของ 1) Training & Workshop เพื่อพัฒนาธุรกิจ ด้านต่างๆ รวมถึงการเพิ่มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการพัฒนาธุรกิจด้านการศึกษาของตนเอง โดยในกระบวนการจะมี Workshop จากวิทยากรทั้งด้านการศึกษา และด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

2) Education Experts เพื่อเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านการศึกษา ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของครู นักเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในระบบนิเวศการศึกษา

และ 3) Community Activities เพื่อเชื่อมต่อกับนักลงทุน คู่ค้า และลูกค้าที่มีศักยภาพ ช่วยผู้ประกอบการสร้างความสัมพันธ์และทำให้ธุรกิจเติบโต 

โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 100 ทีม (237 คน) และผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 20 ทีม (76 คน) โดยจะได้รับการบ่มเพาะทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและเปิดมุมมองทางด้านการศึกษาอย่างเข้มข้น จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนกว่า 30 คน อาทิ รศ.ดร.พิภพ อุดร, ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) วรุตม์ นิมิตยนต์ (Co-Founder,Deschooling Game) โตมร ศุขปรีชา (OKMD) และมีเงินรางวัลรวมกว่า 2 แสนบาท มอบให้กับ 5 ทีมสุดท้ายทีได้รับการคัดเลือก

ในวันร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน ‘โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา (LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program)’ ระหว่าง 88 SANDBOX ภายใต้การดูแลของฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ OKMD ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

• DMii, For Future Education Model โมเดลการจัดการเรียนรู้ในยุค ‘ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยาว’ โดย รศ. ดร. พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• Learnovation to Learnlab จากนวัตกรรมการศึกษา สู่พื้นที่แห่งการสร้างโอกาสด้านการศึกษาแห่งอนาคต โดยโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้, OKMD

• 88 SANDBOX พื้นที่ผลักดันขีดจำกัดการศึกษาไทย ให้มุ่งสู่ Better Life, Better Society

• Discover the Future of Education ค้นหา และค้นพบศักยภาพของการศึกษาแห่งอนาคต

• Innovative Edtech Lab Lab นอกห้องเรียน ที่พาคุณไปทดลอง และทำจริง กับนวัตกรรมการศึกษาแห่งอนาคต

• Integrated Education Platform บูรณาการของ 5 องค์กรนวัตกรรมชั้นนำ เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับนวัตกรรม

• Master from Failure เชี่ยวชาญให้สุด จาก ‘ความล้มเหลว’ แบบเฮียๆ โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

 

‘ดร.คณิศ’ เผย เหตุผลที่ ‘OKMD’ อยู่รอดมา 20 ปี เพราะการทำงานขององค์กรมีประโยชน์ต่อสังคม

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค. 67) ที่ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือ OKMD จัดงาน 20 years of Thailand Knowledge Creation: Past and Future

โดยบรรยากาศเวลา 13.00 น. น.ส.ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ OKMD โดยมี ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD พร้อมด้วย นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมให้การต้อนรับ ท่ามแขกผู้มีเกียรติคับคั่ง

ต่อมาเวลา 14.10 น. เริ่มเสวนา หัวข้อ ‘20 years of Thailand knowledge creation: Past’ นำโดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี,พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพล อดีตผู้อำนวยการ OKMD, ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตประธานกรรมการ OKMD

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตประธานกรรมการ OKMD กล่าวว่า Brain Based Learning หรือขบวนการการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ไม่ใช่การศึกษาโดยตรง การเรียนรู้เป็น Alternative (ทางเลือก) ประคองระบบการศึกษา การเรียนรู้ตอนนี้และในอนาคต จะไม่ใช่การเข้าห้อง การพัฒนาสมองของคนแต่ละยุคไม่เหมือนกัน อย่าหวังให้เด็กเก่งเหมือนผู้ใหญ่เป็นไปไม่ได้ เลยไปทำโครงการอบรมกับแรงงานในโรงงาน และเกษตรกร

ดร.คณิศ กล่าวว่า งานของ OKMD มีอยู่ 3-4 ขั้นตอน 1.ทำงานวิจัยเชิงวิชาการให้ผลการศึกษามาก่อน จากนั้น Crack ให้เป็นหลักสูตรที่ทำได้จริง แล้วไปทำ Sandbox แล้วนำไปขยายผล ซึ่งต้องใช้กระทรวงต่างๆ ที่เป็นองค์กรหลัก เป็นผู้ขยายผล

“เข้าใจว่าคำว่า 20 ปี ผ่านขบวนการนี้มา ทำให้ OKMD TK Park มิวเซียมสยาม อยู่ได้มาถึงทุกวันนี้” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวว่า พล.อ.เอก ประจิน พูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง ‘เขาส่งมือสังหารมานะ วันนั้นเกือบแย่แล้วนะ’ จะมีการนำ OKMD ไปอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ TK Park ไปอยู่กระทรวงวัฒนธรรม TCDC ไปอยู่กระทรวงพาณิชย์ เป็นเรื่องที่แปลกมาก ตอนที่ตนเข้ามาทำงานตรงนี้เจอกระแสการเมืองแรงมาก คุณไม่รู้ว่าอนาคตจะเจออีกหรือไม่ แต่โชคดีที่ พล.อ.เอก ประจิน อยู่ไม่งั้นจะวุ่นวายกว่านี้ รวมถึงมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ช่วยองค์กรไว้

National knowledge Center หรือศูนย์การเรียนแห่งชาติเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จะก่อตั้งที่สามย่าน สภาพัฒน์ฯ สวนลุมพินี ก่อนที่จะมาตั้งที่กองสลาก ถ.ราชดำเนินกลาง ความต่อเนื่องเหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ 20 ปี ถ้าพวกเราไม่ได้ทำ ก็คงไม่มาถึงวันนี้ ‘เชื่อว่ารากยิ่งลึกต้นไม้ยิ่งสูง’

ดร.คณิศ กล่าวว่า มีเรื่องนึงที่ทำให้ OKMD หลุดพ้นมาได้ คือการทำงานกับชุมชน สิ่งที่ทำให้อยู่รอดคือ ต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน คนก็ลืม มีการแนะนำให้มีการกระจายงานออกไปต่างจังหวัด ต้องไปทุกกลุ่ม

“วันก่อนดีใจลงไปที่โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น จ.สงขลา มีนักเที่ยวไปกันเยอะแยะ สิ่งเหล่านี้อยู่กับพวกเรา มันทำให้พวกเราได้เข้าใจว่าการอยู่ในสังคมต้องมีประโยชน์ ส่วนเรื่องการบริหารเชื่อว่าองค์กรต้องมีความต่อเนื่อง ถ้ายิ่งมีเครือข่ายมากก็ยิ่งช่วยทำงาน” ดร.คณิศกล่าว

ดร.คณิศ กล่าวว่า สำหรับความอยู่รอดของ OKMD เรารองบประมาณไม่ได้ ภารกิจที่ทำยิ่งใหญ่มาก การทำงานร่วมกับเอกชนเป็นเรื่องสำคัญ การจัดการแฟชั่นวีคที่เชียงใหม่ OKMD ใช้เงิน 30% เอกชนใช้เงิน 70% อีกทั้งการตั้งกองทุนก็ไม่เหมาะสม เพราะเมื่อมีเงินเยอะ ก็ถูกรัฐบาลดึงไปใช้ รวมถึงเทคโนโลยี AI กำลังเปลี่ยนชีวิตพวกเรา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top