Friday, 9 May 2025
NewsFeed

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#17 สหรัฐฯ ถอนทหารออกจาก เวียตนามใต้

หลังจากให้ความช่วยเหลือทางการทหารทางอ้อมโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเวลาสองทศวรรษ ในปี 1961 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐฯ ได้ตัดสินส่งกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมากชุดแรกในฐานะ “ที่ปรึกษาทางทหาร” ไปสนับสนุนระบอบเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพของเวียตนามใต้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เหนือ สามปีต่อมา เมื่อรัฐบาลเวียตนามใต้ล่มสลาย ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันจึงสั่งโจมตีเวียตนามเหนือด้วยการทิ้งระเบิดในจำนวนจำกัด หลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติการใช้กำลังทหารโดย “มติอ่าวตังเกี๋ย” ในปี 1965 การรุกคืบของเวียตนามเหนือทำให้ประธานาธิบดีจอห์นสันต้องเลือกระหว่างเพิ่มจำนวนทหารสหรัฐฯ หรือถอนทัพ ประธานาธิบดีจอห์นสันตัดสินใจเลือกสั่งอย่างแรก และในไม่ช้าจำนวนกำลังทหารสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 300,000 นาย แล้วกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มต้นปฏิบัติการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา สงครามเวียตนามที่ยาวนาน ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และการเปิดเผยการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในอาชญากรรมสงคราม เช่น การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านไมไล จึงทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านสงครามเวียตนาม กอปรกับการรุกช่วงเทศกาลตรุษญวนของฝ่านคอมมิวนิสต์ในปี 1968 ทำลายความหวังของสหรัฐฯ ที่จะยุติความขัดแย้งโดยเร็ววัน และกระตุ้นให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต่อต้านสงคราม คะแนนนิยมของประธานาธิบดีจอห์นสันลดลงจาก 48% เหลือเพียง 36% เพื่อเป็นการตอบสนองมติมหาชน ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ประกาศในเดือนมีนาคม 1968 ว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก โดยอ้างถึงสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของเขาในการสร้างความแตกแยกในระดับชาติอันน่ากลัวเกี่ยวกับเวียตนาม นอกจากนี้ เขายังอนุมัติให้เริ่มการเจรจาสันติภาพอีกด้วย 

ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1969 ขณะที่การประท้วงต่อต้านสงครามทวีความรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ กำลังทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามแห่งนี้ถึงจุดสูงสุดที่เกือบ 550,000 นาย ริชาร์ด นิกสันประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จึงเริ่มสั่งให้มีการถอนทหาร และ “ทำให้เวียตนามเป็นเวียตนาม”  ในความพยายามทำสงครามในปีนั้น แต่เขากลับเพิ่มการทิ้งระเบิด การถอนทหารจำนวนมากของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันขยายการปฏิบัติการทางอากาศและทางบกเข้าไปในกัมพูชาและลาวเพื่อพยายามปิดกั้นเส้นทางส่งกำลังบำรุงของคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนเวียตนาม การขยายสงครามครั้งนี้ให้ผลเชิงบวกเพียงเล็กน้อย แต่กลับนำไปสู่การประท้วงระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ

ในที่สุด ในเดือนมกราคม 1973 ผู้แทนของสหรัฐฯ เวียตนามใต้ เวียตนามเหนือ และเวียตกงได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ยุติการมีส่วนร่วมทางทหารโดยตรงของสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม สานะสำคัญ ได้แก่ การหยุดยิงทั่วทั้งเวียตนาม การถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ การปล่อยเชลยศึก และการรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกันโดยสันติวิธี รัฐบาลเวียตนามใต้จะคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และกองกำลังของเวียตนามเหนือในเวียตนามใต้จะต้องไม่รุกคืบต่อไปหรือได้รับการเสริมกำลังอีก การยุติสงครามทำให้สหรัฐฯ สามารถถอนตัวออกจากสงคราม และนำเชลยศึกชาวอเมริกันกลับบ้าน ประธานาธิบดีนิกสันได้รับรับรองว่าจะให้การสนับสนุนเวียตนามใต้ข้อตกลงผ่านจดหมายทางการทูตหลายฉบับในกรณีที่เวียตนามเหนือละเมิดข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงท่าทีเพื่อรักษาน้ำใจของรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น ก่อนที่กองทหารสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายจะออกเดินทางในวันที่ 29 มีนาคม ฝ่ายเวียตนามทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเวียตนามเหนือได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงจึงทำให้สงครามยังคงดำเนินต่อไป และในช่วงต้นปี 1974 สงครามเต็มรูปแบบก็ได้กลับมาปะทุอีกครั้ง ช่วงปลายปี 1974 ทางการเวียตนามใต้รายงานว่าทหารและพลเรือนของตนเสียชีวิตจากการสู้รบถึง 80,000 นาย ทำให้เป็นปีที่สูญเสียมากที่สุดในสงครามเวียตนาม

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1973 หน่วยทหาร สหรัฐฯ ชุดสุดท้าย ออกจากเวียตนามเมื่อถึงเวลานั้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ได้เปิดฉากสงครามที่นักข่าวเรียกกันว่า "สงครามหลังสงคราม" โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงสันติภาพอย่างต่อเนื่องสหรัฐฯ ยังคงดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวียตนามใต้อย่างเต็มที่ แต่ความสามารถในการมีบทบาทต่อเหตุการณ์ในเวียตนามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกจำกัดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่สถานะส่วนตัวของประธานาธิบดีนิกสันพังทลายลงจากการเปิดเผยกรณี “วอเตอร์เกต” ทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ เคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางความเป็นไปได้ใด ๆ ของการดำเนินการทางทหารเพิ่มเติมในเวียตนาม ในช่วงฤดูร้อนของปี 1973 รัฐสภาฯ ได้ผ่านมาตรการห้ามปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในหรือเหนืออินโดจีนหลังจากวันที่ 15 สิงหาคม รัฐสภาฯ ได้ดำเนินการอีกขั้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1973 เมื่อเพิกถอนการยับยั้งของประธานาธิบดีนิกสันในการผ่านรัฐบัญญัติอำนาจสงคราม ซึ่งตามทฤษฎีแล้วกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องหารือกับรัฐสภาก่อนที่จะส่งกองกำลังสหรัฐฯ ไปประจำการนอกสหรัฐฯ

วันที่ 30 เมษายน 1975 ชาวอเมริกันกลุ่มสุดท้ายที่ยังอยู่ในเวียตนามใต้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศโดยเฮลิคอปเตอร์ในขณะที่กรุงไซง่อนถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดครองได้สำเร็จ พันเอกบุ้ยตินแห่งเวียตนามเหนือ ซึ่งยอมรับการยอมแพ้ของเวียตนามใต้ในเวลาต่อมา กล่าวว่า “คุณไม่ต้องกลัวอะไรเลย ระหว่างเวียตนามไม่มีผู้ชนะและพ่ายแพ้ มีแต่ชาวอเมริกันเท่านั้นที่พ่ายแพ้” สงครามเวียตนามเป็นสงครามต่างประเทศที่ยาวนานที่สุดและไม่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 58,000 ราย ทหารและพลเรือนเวียตนามทั้งเหนือและใต้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#18 ‘ซวนล็อก’ สมรภูมิสุดท้ายของ ‘กองทัพเวียตนามใต้’

เมื่อสงครามเวียตนามใกล้จะสิ้นสุดมีการรบที่ดุเดือดที่สุด แต่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงเลย ด้วยหลังจากการรบครั้งนั้น 9 วัน เวียตนามใต้ก็ล่มสลายเมื่อกองกำลังเวียตนามเหนือและเวียตกงเข้ายึดครองกรุงไซ่ง่อนได้สำเร็จ “สมรภูมิซวนล็อก (Battle of Xuân Lộc)” เป็นการสู้รบใหญ่ครั้งสุดท้ายในสงครามเวียตนาม โดยตั้งแต่ต้นปี 1975 กองทัพประชาชนเวียตนาม (PAVN) ได้ปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังเวียตนามใต้ (Army of the Republic of Vietnam : ARVN) ในจังหวัดทางตอนเหนือของเวียตนามใต้บริเวณที่ราบสูงตอนกลาง ทำให้กองพลที่ 2 ของกองทัพบกเวียตนามใต้ถูกทำลายอย่างย่อยยับในขณะที่พยายามเคลื่อนพลไปยังพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง การรบที่เมืองเว้และดานัง กองกำลังเวียตนามใต้นั้นละลายโดยแทบจะไม่มีการต่อต้าน ความพ่ายแพ้อย่างหนักของกองทัพบกแห่งสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) ทำให้สมัชชาแห่งชาติเวียดนามใต้ตั้งกระทู้ถามกับประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวถึงกรณีดังกล่าวจนทำให้ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวต้องลาออกจากตำแหน่ง

หลังจากการล่มสลายของกองพลที่ 1 และ 2 ของกองทัพบกเวียตนามใต้ กองทัพปลดปล่อยเวียตนาได้เคลื่อนพลเข้าสู่กรุงไซง่อน โดยมีกองพลทหารราบที่ได้รับการเสริมกำลังอย่างหนักจำนวน 15 กองพล โดยกองพล 3 กองพลได้เข้าโจมตีเมือง “ซวนล็อก” ซึ่งอยู่ห่างจากไซง่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือบนทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 30 ไมล์ กองกำลังเวียตนามใต้เคลื่อนกำลังที่เหลือเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกองพลทหารราบที่ 18 ภายใต้พลจัตวา Lê Minh Đảo เพื่อป้องกันเมือง "ซวนล็อก" อันเป็นสี่แยกยุทธศาสตร์ ด้วยหวังที่จะชะลอการบุกของกองทัพประชาชนเวียตนาม การสู้รบครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ถึง 21 เมษายน 1975 และจบลงเมื่อกองทัพประชาชนเวียตนามสามารถยึดครองเมืองนี้ โดยกำลังพลจากกองทัพน้อยที่ 4 นำโดยพลตรี Hoàng Cầm เมือง "ซวนล็อก" ถือเป็นแนวป้องกันด่านสุดท้ายของกองทัพภาคที่ 3 ของเวียตนามใต้ให้การคุ้มกันแนวรบทางตะวันออกของกรุงไซ่ง่อนเมืองหลวงของเวียตนามใต้ ด้วยเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเมือง Bình Dương ฐานทัพอากาศ Bien Hoa, เมือง VũngTàu, เมือง Long An และ เมือง lynchpin อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "ซวนล็อก" ซึ่งกำลังทหารเวียตนามใต้ได้ร่วมกันในความพยายามทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายเพื่อป้องกันกรุงไซ่ง่อนและปกป้องเวียดนามใต้ ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวได้สั่งให้กองพลทหารราบที่ 18 รักษาเมือง "ซวนล็อก" ให้ได้ด้วยทุกวิธี 

กองกำลังเวียตนามใต้ทำการป้องกันกรุงไซ่ง่อน โดยครอบคลุมถนนสายหลักทั้ง 5 ที่นำไปสู่กรุงไซ่ง่อน ทางตอนเหนือของไซ่ง่อน กองพลที่ 5 ป้องกันการโจมตีของศัตรูบนทางหลวงหมายเลข 13 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง กองพลที่ 18 ป้องกันเมือง "ซวนล็อก" ครอบคลุมทางหลวงหมายเลข 1 และเมือง Bình Dương และฐานทัพอากาศ Bien Hoa ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงไซ่ง่อน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบินและกองกำลังจู่โจม (ซึ่งทั้งหมดมีศักยภาพในการรบเหลือประมาณ 50 %) และทางหลวงหมายเลข 15 ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงไซ่ง่อน กองพลที่ 22 ป้องกันทางหลวงหมายเลข 4 เส้นทางหลักจากสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงไปยังกรุงไซ่ง่อนและตะวันตกเฉียงเหนือ กองพลที่ 25 ป้องกันเส้นทางหมายเลข 1 ระหว่างเมือง Tay Ninh และกรุงไซ่ง่อน

กองทัพน้อยที่ 4 ของกองทัพประชาชนเวียตนามได้รับคำสั่งให้ยึด "ซวนล็อก" เพื่อเปิดประตูสู่กรุงไซ่ง่อน ในช่วงเริ่มต้นของการรบกองพลทหารราบที่ 18 สามารถเอาชนะกองทัพน้อยที่ 4 ของกองทัพประชาชนเวียตนามได้ ทหารเวียตนามใต้ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญท่ามกลางอุปสรรคมากมาย กองทัพอากาศของเวียตนามใต้ให้การสนับสนุนด้วยเฮลิคอปเตอร์และการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้ระเบิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ และระเบิด "เดซี่คัตเตอร์" และระเบิดเพลิงอบบ CBU-55B ซึ่งเป็นระเบิดเพลิงอากาศแบบแรกที่ใช้ในการสู้รบ จนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามหนึ่งกองพลต้องล่าถอยด้วยความสูญเสียอย่างหนัก เพื่อยึดครองเมือง "ซวนล็อก" ให้สำเร็จ ผู้บัญชาการกองทัพน้อยที่ 4 จึงได้เปลี่ยนแผนการรบ แต่แล้วในวันที่ 19 เมษายน 1975 กองกำลังของพลจัตวา Đảo ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวหลังจากเมือง "ซวนล็อก" ถูกโดดเดี่ยวเกือบทั้งหมด โดยหน่วยของเวียตนามใต้ที่เหลือทั้งหมดถูกทำลายอย่างย่อยยับ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นจุดสิ้นสุดของอาชีพทางการเมืองของประธานาธิบดีเหงียนวันเทียว โดยที่เขาลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1975 ด้วยประโยคที่ว่า "ผมขอลาออก แต่ผมจะไม่หนี" แล้ว 5 วันต่อมา เขาก็ขึ้นเครื่องบินลำเลียง C-118 หนีไปไต้หวันพร้อมด้วยกระเป๋าที่หนักอึ้งเป็นจำนวนมาก

ทหารฝ่ายป้องกันของเวียดนามใต้ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญท่ามกลางอุปสรรคมากมาย Xuan Loc ได้รับการปกป้องโดยกองพลที่ 18 ของเวียดนามใต้ ซึ่งประกอบด้วยกรมทหารราบ 3 กรม ได้แก่ กรมที่ 43 กรมที่ 48 และกรมที่ 52 นอกจากนี้ยังมีกองพลยานเกราะอีก 5 กองพัน กองกำลังภูมิภาคอีก 4 กองพัน (กองพันที่ 340 กองพันที่ 342 กองพันที่ 343 และกองพันที่ 367) หน่วยปืนใหญ่ 2 หน่วย (กองพันปืนใหญ่ที่ 181 และ 182) พร้อมปืนใหญ่ 42 กระบอก และกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชนอีก 2 กองร้อย  ในวันที่ 12 เมษายน ยังได้รับการเสริมกำลังด้วยกองพลทหารราบทางอากาศที่ 1 กองพลยานเกราะ 3 กองพล (กองพลยานเกราะที่ 315, 318 และ 322) กองกำลังเฉพาะกิจที่ 8 จากกองพลที่ 5 และกองพันทหารพรานที่ 33 การสนับสนุนทางอากาศมาในรูปแบบของกองพลอากาศโยธินอีก 2 กองพล ได้แก่ กองพลอากาศโยธินที่ 5 ประจำการที่ฐานทัพอากาศเบียนฮัว และอากาศโยธินที่ 3 ฐานทัพอากาศเตินเซินเญิ้ต นอกจากนี้ยังมีกองทัพอากาศของเวียดนามใต้ให้การสนับสนุนทางเฮลิคอปเตอร์และการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้ระเบิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่และระเบิด "เดซี่คัตเตอร์" และระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ CBU-55B ซึ่งเป็นระเบิดเชื้อเพลิงอากาศลูกแรกที่เคยใช้ในการสู้รบ เนื่องจากกองกำลังเวียตนามใต้ที่ทำหน้าที่ป้องกันสูญเสียกำลังพลไป 30% 

วันที่ 23 เมษายน 1975 กองพลที่ 18 ได้เคลื่อนพลถอยไปยังกรุงไซง่อนบนทางหลวงหมายเลข 2 โดยที่หน่วยสนับสนุนและปืนใหญ่ยังคงอยู่ครบถ้วน ทำให้เมือง “ซวนล็อก” ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังคอมมิวนิสต์ในวันเดียวกัน แม้ว่าครั้งหนึ่ง กองทัพสหรัฐฯ จะไม่ให้การยอมรับทหารกองพลที่ 18 แต่ภายใต้การนำของพลจัตวา Lê Minh Đảo กองพลนี้ได้กลายเป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันกรุงไซง่อน สมรภูมิ "ซวนล็อก" สิ้นสุดลงลงในวันที่ 21 เมษายน 1975 โดยกองทัพน้อยที่ 4 ของเวียตนามเหนือสามารถเอาชนะกำลังผสมชุดสุดท้ายของกองทัพภาคที่ 3 ของเวียตนามใต้ แล้วอีก 9 วันต่อมาเมื่อรถถัง T-54 ของกองทัพประชาชนเวียตนามชนผ่านประตูทำเนียบประธานาธิบดีเวียตนามใต้ในวันที่ 30 เมษายน 1975 จึงเป็นการสิ้นสุดสงครามเวียตนามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งร่างตำรวจกล้าที่เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก ไปบำเพ็ญกุศลยังภูมิลำเนา พร้อมดูแลพิธีต่าง ๆ ทุกแห่งอย่างสมเกียรติ 

(27 เม.ย. 68) พล.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่า จากการที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ดูแลครอบครัวข้าราชการตำรวจ 6 นาย ที่เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตำรวจตก ขณะปฏิบัติภารกิจทดสอบการบิน ฝึกกระโดดร่ม ในพื้นที่ทะเล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจัดพิธีอย่างสมเกียรตินั้น จึงได้สั่งการกำชับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ให้ดูแลการดำเนินการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมเกียรติแก่ผู้วายชนม์และครอบครัว , จัดกำลังตำรวจอำนวยความสะดวกการจราจรในเส้นทางจนถึงสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา และจัดกำลังตำรวจอำนวยความสะดวกในงานพิธี จนกว่าจะเสร็จพิธี

ทั้งนี้ ญาติของผู้วายชนม์ได้กำหนดให้มีการจัดพิธีบำเพ็ญกุศล ทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิลำเนา โดยในวันประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ จะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินทางไปเป็นประธานในพิธี ดังนี้

1. พ.ต.อ.ประธาน เขียวขำ นักบิน (สบ 4) งกบ.บ.ตร. และ ร.ต.ท.ธนวรรษ เมฆประเสริฐสุข  วิศวกรอากาศยาน (สบ 1) จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดตรีทศเทพวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 เวลา 15.00 น. โดยมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธี

2. พ.ต.ท.ปานเทพ มณิวชิรางกูล นักบิน (สบ 3) งกบ.บ.ตร. ออกเดินทางจาก บ.ตร.(ดอนเมือง) โดยเครื่องบินฟอกเกอร์ ในวันนี้ (27 เมษายน 2568)  เวลา 12.00 น. นำส่งไปยังสนามบินลำปาง เพื่อจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดบ้านต้า ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง และประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. โดยมี พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธี

3. ร.ต.อ.จตุรงค์ วัฒนไพรสาณฑ์ นักบิน (สบ 1) งกบ.บ.ตร. ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร โดยรถยนต์ของศูนย์ส่งกลับ โรงพยาบาลตำรวจ ในวันนี้ (27 เมษายน 2568) นำส่งเพื่อจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี และประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 เวลา 16.00 น. โดยมี พล.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รอง ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธี

4. จ.ส.ต.ประวัติ พลหงสา ผบ.หมู่ งชอ.บ.ตร. ออกเดินทางจาก บ.ตร. (ท่าแร้ง)โดยเฮลิคอปเตอร์เบลล์ 412 EP ในวันนี้ (27 เมษายน 2568) เวลา 12.00 น. นำส่งไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว เทศบาลตำบลโคกล่าม อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด เพื่อจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดราชวรี บ้านโคกล่าม ต.โคกล่าม อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด และประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 30 เมษายน 2568 เวลา 15.00 น. โดยมี พล.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นประธานในพิธี

5. ส.ต.ต.จิราวัฒน์ มากสาขา ผบ.หมู่ งชอ.บ.ตร. ออกเดินทางจาก บ.ตร. (ดอนเมือง) โดยเครื่องบินฟอกเกอร์ ในวันนี้ (27 เมษายน 2568) เวลา 12.00 น. นำส่งไปยังท่าอากาศยานสงขลา เพื่อจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดปะโอ ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา และประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เวลา 15.00 น. โดยมี พล.ต.ท.สำราญ  นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เสียสละจากเหตุการณ์ครั้งนี้

สวนนงนุชพัทยา โดย “กัมพล ตันสัจจา” จัดโปรโมชั่นพิเศษต้อนรับเดือนพฤษภาคม พร้อมกิจกรรมสุดพิเศษวันแรงงานแห่งชาติ

(27 เม.ย. 68) สวนนงนุชพัทยา ภายใต้การบริหารของ นายกัมพล ตันสัจจา เดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ด้วยโปรโมชั่นสุดคุ้มและกิจกรรมพิเศษเอาใจนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม

1.สิทธิพิเศษสำหรับนิสิต นักศึกษาตลอดทั้งเดือน พฤษภาคม 2568เพียงแสดงบัตรนักศึกษา ณ จุดจำหน่ายบัตร จะได้รับสิทธิ ส่วนลด 50% สำหรับบัตรผ่านประตู เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใกล้ชิดธรรมชาติและเสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน

2. ผู้ที่เกิดในเดือนพฤษภาคม รับบัตรผ่านเข้าฟรีตลอดทั้งเดือน!เพื่อร่วมฉลองเดือนเกิด สวนนงนุชพัทยามอบของขวัญสุดพิเศษสำหรับผู้ที่เกิดในเดือนพฤษภาคม

3.กิจกรรมสุดพิเศษ “วันแรงงานแห่งชาติ” 1 พฤษภาคม 2568
ร่วมเฉลิมฉลองวันแรงงานแห่งชาติด้วยกิจกรรมสนุกสนาน ลูกทุ่งวันแรงงานการแสดงวัฒนธรรมไทย และการแสดงของน้องช้างแสนรู้

นายกัมพล ตันสัจจา เผยว่า “เราต้องการมอบความสุข ความคุ้มค่า และความประทับใจให้กับทุกคนที่มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวทั่วไปหรือครอบครัวให้สวนนงนุชพัทยาเป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนในทุกโอกาส”โปรโมชั่นอื่นๆสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โทร: 038-238061-63
เว็บไซต์ : www.nongnoochtropicalgarden.com
Facebook: สวนนงนุชพัทยา Nongnooch Garden Pattaya
 

น้ำมันอาเซอร์ไบจานยังส่งผ่านตุรกีสู่ท่าเรือไฮฟา ท่ามกลางมาตรการตัดสัมพันธ์การค้าของอังการา

(28 เม.ย. 68) สื่ออิสราเอลรายงานว่า แม้รัฐบาลตุรกีประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการค้าทั้งหมดกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการ เพื่อตอบโต้การโจมตีฉนวนกาซ่า แต่การส่งออกน้ำมันจากสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานไปยังอิสราเอลผ่านท่าเรือตุรกียังคงดำเนินต่อไป

Globes สื่อเศรษฐกิจของอิสราเอลเปิดเผยว่า น้ำมันดิบจากอาเซอร์ไบจานยังคงส่งผ่านท่อบากู-ทบิลิซี-เจฮานถึงท่าเรือเจฮานในตุรกี ก่อนถูกลำเลียงต่อไปยังท่าเรือไฮฟาในอิสราเอลโดยเรือบรรทุกน้ำมัน ทั้งนี้ อิสราเอลนำเข้าน้ำมันดิบจากอาเซอร์ไบจานมากกว่า 523,000 ตันในเดือนมกราคม คิดเป็นมูลค่าเกือบ 297 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตึงเครียด ฮิกเมต ฮาจิเยฟ ผู้ช่วยฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน ได้พบกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูที่สถานทูตอาเซอร์ไบจานในกรุงเทลอาวีฟ เพื่อหารือเรื่อง "การพัฒนาในภูมิภาค" โดยเน้นความพยายามไกล่เกลี่ยกับตุรกีเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรีย

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ฮาจิเยฟเดินทางต่อไปยังกรุงอังการา เพื่อพบกับฟาเรตติน อัลตุน หัวหน้าสำนักงานสื่อสารแห่งชาติของตุรกี และผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีเออร์โดกัน โดยทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระดับโลก ท่ามกลางความพยายามฟื้นฟูเสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

‘คิม จองอึน’ ยอมรับส่งทหารไปช่วย ‘รัสเซีย’ ในสงครามกับยูเครน มอสโกซูฮกพันธมิตรเกาหลีเหนือ ช่วยปลดปล่อยแคว้นเคิร์สก์

(28 เม.ย. 68) รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า ได้ส่งทหารไปร่วมสงครามกับยูเครนภายใต้คำสั่งของผู้นำ “คิม จองอึน” โดยมีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยดินแดนที่ถูกยูเครนยึดไป เช่น ภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “มิตรภาพอันแน่นแฟ้น” ระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย

สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) รายงานว่า การเข้าร่วมของทหารเกาหลีเหนือในสงครามครั้งนี้สอดคล้องกับสนธิสัญญาพันธมิตรที่ผู้นำคิมได้ลงนามกับปูตินเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกาหลีเหนือเห็นว่าดินแดนของรัสเซียเป็นเสมือนประเทศของตน และยืนยันความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างทั้งสองชาติ

มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า การส่งทหารจากเกาหลีเหนือแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในระดับสูง และการช่วยเหลือมอสโกในการปลดปล่อยแคว้นเคิร์สก์จากการรุกรานของยูเครน ซึ่งถือเป็นการยืนยันถึงมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเกาหลีเหนือได้ส่งทหารประมาณ 14,000 นาย รวมถึงกำลังเสริม 3,000 นาย

ทั้งนี้ การยอมรับอย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นหลังจากรัสเซียยืนยันเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ว่าทหารเกาหลีเหนือต่อสู้เคียงข้างรัสเซียในภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองประเทศไม่เคยยืนยันหรือปฏิเสธการส่งทหารเข้าร่วมการรบในยูเครน

ACFTA 3.0 นำพาอาเซียนและจีนเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้าเสรี สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ขยายตลาดขนาดใหญ่รับมือวิกฤตการค้าทั่วโลก

(28 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ไม่แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซียและจีนได้ย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะในการใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ร่วมกันเพื่อบูรณาการภูมิภาคและต่อต้านกระแสการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ในเวทีสัมมนาอาเซียน-จีนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้เห็นพ้องกันถึงศักยภาพของการร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

โลว์ เคียน ชวน ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย–จีน กล่าวว่าการที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค และการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ฉบับ 3.0 จะเป็นจุดสำคัญในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยช่วยขยายความร่วมมือในหลายมิติ

นับตั้งแต่การเปิดตัวเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนในปี 2010 ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากการค้าโลก แต่ในไตรมาสแรกของปี 2025 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนยังเติบโตขึ้นถึง 7.1% ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ในอนาคต ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจังจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้

‘ธีระชัย’ ชี้การกู้เงิน 5 แสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ยั่งยืน เตือนรัฐบาลหยุดแจกเงินหมื่นเฟส 3 หันปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว

(28 เม.ย. 68) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตือนรัฐบาลเกี่ยวกับแผนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่อ้างว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจจากการหั่นคาดการณ์จีดีพีของไทยโดย IMF โดยเตือนว่าการกู้เงินครั้งนี้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 64.21% ของจีดีพี ไปอีกประมาณ 3% ซึ่งจะสร้างภาระให้กับประชาชนที่ต้องรับผิดชอบหนี้สาธารณะจำนวนมาก

นายธีระชัยกล่าวว่า หนี้ที่รัฐบาลกู้ไปก่อนหน้านี้ทำให้แต่ละคนต้องแบกรับภาระกว่า 160,000 บาทแล้ว จึงแนะนำให้ประชาชนคัดค้านการกู้เงินเพิ่มถ้าหากไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ที่แท้จริงได้ โดยแนะนำให้รัฐบาลหยุดแจกเงินหมื่นเฟส 3 และเริ่มเก็บกระสุนการคลังเพื่อใช้ในยามจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน

พร้อมเสนอว่า รัฐบาลควรลดการกู้เงินเพื่อแจกอุดหนุนอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวและไม่มีผลต่อการเพิ่มรายได้ในอนาคต รวมทั้งแนะนำให้รัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศในระยะยาว โดยเน้นการพัฒนาการศึกษาและทักษะของแรงงาน

สุดท้าย นายธีระชัยแนะนำให้รัฐบาลยกเลิกการแจกเงินหมื่นเฟส 3 และให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งระบุว่าประชาชนควรจับตาดูการกระทำของรัฐบาลในช่วงวิกฤตนี้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่

‘ทรัมป์’ กดดันปานามาและอียิปต์ เปิดทางให้เรือสินค้าและเรือรบสหรัฐฯ ผ่านคลอง ‘ปานามา-สุเอซ’ ไม่เสียค่าธรรมเนียม อ้างเพื่อปกป้องความมั่นคงชาติ

(28 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้เรือสินค้าและเรือกองทัพของสหรัฐฯ สามารถผ่านคลองปานามาและคลองสุเอซได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยอ้างว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญต่อการอยู่รอดของเส้นทางเดินเรือเหล่านี้ และถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา

ทรัมป์ระบุว่าทั้งคลองปานามาและคลองสุเอซจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากการสนับสนุนจากสหรัฐฯ พร้อมย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของคลองสุเอซ ในการจำกัดอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้ โดยได้มอบหมายให้มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ดำเนินการจัดการสถานการณ์อย่างเร่งด่วน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะส่งมอบการควบคุมคลองปานามาให้แก่ปานามาในปี 1999 ตามสนธิสัญญาปี 1977 แต่ล่าสุด พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เสนอแนวคิดให้กองทัพสหรัฐฯ กลับไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลเรื่องอิทธิพลของจีน

สำหรับคลองสุเอซ ซึ่งรองรับการค้าโลกประมาณ 12–15% กำลังเผชิญวิกฤต หลังจากรายได้จากการดำเนินงานลดลงกว่า 50% เนื่องจากการโจมตีของกลุ่มฮูตีในเยเมน ทรัมป์ประกาศว่าจะเดินหน้ากดดันกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เพื่อฟื้นฟูเส้นทางเดินเรือที่สำคัญนี้

ทั้งนี้ ทางการปานามาได้ยืนยันหนักแน่นว่าจะรักษาความเป็นกลางและสิทธิ์การควบคุมคลองปานามาอย่างสมบูรณ์ ขณะที่อียิปต์ยังคงพึ่งพารายได้จากคลองสุเอซ แม้จะต้องเผชิญแรงกดดันจากความไม่สงบในภูมิภาคทะเลแดงอย่างต่อเนื่อง

‘รองนายกฯ ลาว’ ลุยเจรจา Rosatom สร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมพัฒนาความร่วมมือการศึกษา-อวกาศ-เศรษฐกิจกับรัสเซีย

(28 เม.ย. 68) นายสะเหลิมไซ กมมะสิด (Saleumxay Kommasith) รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เดินทางเยือนรัสเซียเพื่อสานสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติร่วมกับ Rosatom บริษัทพลังงานปรมาณูของรัสเซีย ในระหว่างการเยือนระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน ที่ผ่านมา 

นอกจากการหารือด้านพลังงานแล้ว นายสะเหลิมไซยังได้พบกับ ดิมิตรี บาคานอฟ (Dmitry Bakanov) ผู้อำนวยการ Roscosmos และหารือถึงการส่งนักศึกษาลาวไปเรียนต่อในสาขาวิชาอวกาศที่รัสเซีย นอกจากนี้ยังมีการพบปะกับ อานาโตลี ทอร์คูนอฟ (Anatoly Torkunov) อธิการบดี MGIMO และ เซียร์เกย์ ลัฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสองประเทศ

ในการเยือนครั้งนี้ นายสะเหลิมไซยังได้พบกับ อเล็กเซย์ โอเวอร์ชุค (Alexey Overchuk) รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ซึ่งมีการหารือถึงการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเน้นที่การเพิ่มความร่วมมือในสาขาพลังงานสะอาด การท่องเที่ยว และการขนส่ง รวมถึงพัฒนาการเชื่อมโยงด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศที่ยังไม่ได้สูงพอ

ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว จะเดินทางไปรัสเซียเพื่อเข้าร่วมในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี Victory Day ซึ่งรัสเซียจะจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงชัยชนะในสงครามป้องกันปิตุภูมิ หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพรัสเซียสามารถพิชิตกองทัพนาซีเยอรมันได้

นอกจากนี้ กองทัพสหพันธรัฐรัสเซียยังได้เชิญกองทัพประชาชนลาวส่งทหารเข้าร่วมเดินสวนสนามในพิธีดังกล่าว โดยกองทัพประชาชนลาวได้ส่งทหารจำนวน 60 นาย ไปยังกรุงมอสโก โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศลาว เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top