เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามรายงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดย ศปถ. รายงานสรุป 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ สะสม 5 วัน (11 - 15 เมษายน 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,478 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,452 คน ผู้เสียชีวิต 204 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ จักรยานยนต์ 81.47% รองลงมา คือรถกระบะบรรทุก 4 ล้อ 7.17% และรถยนต์นั่ง 2.79% จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุ/ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต สะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่
นายธนกร กล่าวว่า จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 12 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครพนม บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้คุมเข้มโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุและมีผู้สูญเสียสูงสุด ให้เข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม
นายธนกร กล่าวว่า ประชาชนได้เริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ทำให้มีปริมาณรถหนาแน่นในเส้นทางหลัก และเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ ศปถ.ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางควบคู่กับมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง คุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วและง่วงหลับใน พร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจร โดยเปิดช่องทางพิเศษเพื่อเร่งระบายรถ และปิดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ ตั้งกรวยริมไหล่ทาง ปิดจุดกลับรถ เป็นต้น
นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. 65 ประเทศไทยจะเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ทำให้สภาพถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำขอให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยทหารในพื้นที่ ภาคประชาสังคม รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อมในช่วงเทศกาลให้เหลือน้อยที่สุด