Friday, 9 May 2025
Neuralink

'นิวรัลลิงก์' ฝังชิปในสมองของมนุษย์คนแรก ด้าน 'อีลอน' ฟุ้ง!! การทดสอบเป็นที่น่าพอใจ

(30 ม.ค.67) บริษัทนิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบประสาทของสหรัฐ ที่ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ เปิดเผยว่า นิวรัลลิงก์ ได้ทำการปลูกถ่ายฝังไมโครชิปในสมองคนไข้มนุษย์รายแรกแล้วและคนไข้ฟื้นตัวเป็นอย่างดีเยี่ยม 

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทนิวรัลลิงก์ ได้โพสต์ข้อความลงใน X ส่วนตัว ข้อความว่า การทดสอบในเบื้องต้นพบการทำงานของเซลล์ประสาทในระดับที่น่าพอใจ ผลิตภัณฑ์แรกของพวกเขาชื่อว่า Telepathy จะทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ได้โดยใช้ความคิด โดยเริ่มต้นจะใช้กับผู้ที่ไม่สามารถใช้แขนและขาได้ อีลอน มัสก์ หวังว่ามันจะช่วยให้พวกเขาสื่อสารได้เร็วเท่ากับการพิมพ์จากมืออาชีพ

โดยเมื่อปีที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติ ให้ทางนิวรัลลิงก์ (Neuralink) สามารถดำเนินการการทดลองทางคลินิกในมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงถึงก้าวแรกที่สำคัญ ที่จะทำให้เทคโนโลยีของเราสามารถช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากได้ในอนาคต ซึ่งนิวรัลลิงก์ ดำเนินการใช้หุ่นยนต์ฝังชิปเข้าไปที่สมองส่วนที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหว โดยเป้าหมายในเบื้องต้นคือการทำให้คนสามารถควบคุมเคอร์เซอร์ของคอมพิวเตอร์ หรือแป้นพิมพ์ คีย์บอร์ด ด้วยการใช้ความคิดเพียงอย่างเดียว

‘อีลอน มัสก์’ ทำนายอนาคต การพูดคุยผ่าน ‘มือถือ’ จะล้าสมัย มนุษย์จะสื่อสารกันผ่านความคิด ด้วยการฝังชิปในสมองแทน

(19 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในอนาคต และจะถูกแทนที่ด้วยชิปที่จะถูกฝังลงในสมองของมนุษย์โดยตรงแทน จากคำทำนายเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี

บริษัทด้านเทคโนโลยีประสาท Neuralink ของ มัสก์ ทำการฝังชิปสมองเป็นครั้งแรกในตัวของนายโนแลนด์ อาร์โบห์ ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก วัย 30 ปี ย้อนกลับไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขั้นตอนการผ่าตัดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใส่ชิปคอมพิวเตอร์ขนาดพอ ๆ กับเหรียญดอลลาร์ เข้าไปในพื้นที่ของสมองซึ่งควบคุมความเคลื่อนไหว จากนั้นชิปถูกใช้บันทึกและถ่ายทอดสัญญาณสมองแบบไร้สายไปยังแอปพลิเคชันหนึ่งที่ถอดรหัสความเคลื่อนไหวตามเจตนาของผู้ป่วย

คำทำนายล่าสุดของ มัสก์ เป็นการตอบโต้ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ โดยบัญชีล้อเลียนชื่อว่า ‘ไม่ใช่ อีลอน มัสก์’ ในวันอาทิตย์ (16 มิ.ย. 67) ซึ่งข้อความดั้งเดิมเขียนว่า "คุณจะติดตั้ง Neuralink interface (เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์) ในสมองของคุณ เพื่อเปิดทางให้คุณควบคุม X phone ใหม่ ผ่านทางความคิดหรือไม่?"

อีลอน มัสก์ ตอบกลับคำถามดังกล่าว โดยบอกว่า "ในอนาคตจะไม่มีโทรศัพท์มือถือ มีเพียงแค่ Neuralink"

ในเอกสารประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว Neuralink ระบุว่าโครงการ PRIME (Precise Robotically Implanted Brain-Computer Interface) เป็นการทดลองระดับคลินิก เพื่อศึกษาความปลอดภัยของกระบวนการฝังชิปลงในสมองของมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ และความปลอดภัยของตัวชิปเอง

เป้าหมายของการพัฒนาการฝังส่วนต่อประสานสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ไร้สายอย่างสมบูรณ์ จะเป็นครั้งแรกที่ช่วยให้มนุษย์มีขีดความสามารถในการควบคุมเคอร์เซอร์คอมพิวเตอร์ หรือคีย์บอร์ดผ่านทางความคิด จากนั้นมันจะเปิดทางสำหรับการบำบัดเชิงปฏิวัติสำหรับคนที่ป่วยพิการทางกายต่าง ๆ อย่างเช่นอัมพาตและตาบอด เช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ อย่างเช่นโรคอ้วน ออทิสติก ซึมเศร้า และโรคจิตเภท

ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2018 มัสก์ เคยบ่งชี้ว่าด้วยเทคโนโลยี Neuralink มันอาจทำให้วันใดวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถสื่อสารกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดใด ๆ และมีความเป็นไปได้ของการบรรลุเป้าหมายสถานะของการอยู่ร่วมกันกับปัญญาประดิษฐ์

สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ อนุมัติการทดลองฝังชิปเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลายสัปดาห์หลังการผ่าตัดเมื่อเดือนมกราคม มัสก์เปิดเผยว่าบุคคลรายดังกล่าว ‘ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากผลข้างเคียงใดๆ’ และมีศักยภาพในการเคลื่อนเมาส์คอมพิวเตอร์ไปรอบๆ จอผ่านความคิด

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม Neuralink ยอมรับว่าพวกเขาประสบกับปัญหาทางเทคนิคบางประการ หลังสายไฟขนาดเล็กจิ๋วที่ฝังลงไปในสมองเคลื่อนที่หลุดจากตำแหน่ง

กระนั้นก็ตามทางสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ได้ไฟเขียวให้ทดลองกับมนุษย์เป็นครั้งที่ 2 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อเดือนที่แล้ว โดยที่การทดลองครั้งถัดไป ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน จะมีการแก้ไขปรับปรุงในกระบวนการต่างๆ โดยที่ชิปจะถูกฝังลึกเข้าไปในสมองมากกว่าเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้มันหลุดออกมา

เกิดขึ้นแน่!! Internet of Bodies อนาคตมนุษยชาติที่มิอาจแยกร่างจากอินเทอร์เน็ต โลกสุดล้ำที่กำลังส่งสัญญาณแห่งความเหลื่อมล้ำระหว่าง 'คนรวย-คนจน' ชัดขึ้น

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญอย่างมากในการเชื่อมต่อสังคมมนุษย์ทั่วโลกเข้าด้วยกัน เป็นสื่อกลางในการรับส่งคลังข้อมูล ข่าวสารที่ทรงพลัง และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมนุษย์ แต่นั่นยังไม่สุดขีดความพัฒนาของโลกอินเทอร์เน็ต เพราะอีกไม่นาน นอกจากเราจะขาดอินเทอร์เน็ตในชีวิตไม่ได้แล้ว เราอาจแยกตัวออกจากมันไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้ เราคงเคยได้ยินคำว่า 'Internet of Things' หรือ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งรอบตัวเรา แต่ทว่าในปี 2016 ได้เกิดนิยามศัพท์ใหม่ของโลกยุคอินเทอร์เน็ตขึ้น

โดย ด็อกเตอร์ แอนเดรีย แมทไวชิน นักวิชาการด้านกฎหมาย นโยบายเทคโนโลยี และ คอมพิวเตอร์ จาก The Pennsylvania State University ได้ให้คำนิยามของโลกอินเทอร์เน็ตในอนาคต ว่ากำลังพัฒนาสู่ระดับ 'Internet of Bodies' หรือ IoB โดยได้อธิบายว่า มันคือเครือข่ายของร่างกายมนุษย์ที่บูรณาการ หรือมีฟังก์ชันการทำงานอย่างน้อย 1 ส่วนที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์

ซึ่งนั่นหมายความว่า อีกไม่นาน อินเทอร์เน็ต จะไม่ใช่เพียงแค่อุปกรณ์เสริมสำหรับใช้งานภายนอกเท่านั้น แต่ในไม่ช้า จะมีอุปกรณ์ที่สามารถผสานเข้ากับการทำงานของร่างกายคนเราได้อย่างสมบูรณ์ และเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอกได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วสัมผัสอีกต่อไป

คลื่นลูกใหม่ของ Internet of Bodies ในปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่...

ยุคที่ 1 - อุปกรณ์ที่ยังใช้ได้เพียงภายนอกร่างกาย อาทิ Apple Watch ที่สามารถตรวจสอบการเต้นของหัวใจ จำนวนก้าว หรือการเผาผลาญแคลอรีของผู้สวมใส่ได้

ยุคที่ 2 - อุปกรณ์ที่ใช้ภายในร่างกาย อาทิ ประสาทหูเทียม เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า หรือ ยาดิจิทัล ที่ทำหน้าติดตาม หรือควบคุมการทำงานของร่างกายเราจากภายในและส่งข้อมูลออกมายังภายนอกได้

ยุคที่ 3 - อุปกรณ์ที่ฝังตัวเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ ที่สามารถเชื่อมโยง และควบคุมอุปกรณ์ภายนอกได้แบบเรียลไทม์ 

และหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีในยุคที่ 3 ที่โดดเด่นที่สุดคือ Neuralink ของ อีลอน มัสก์ ที่กำลังพัฒนาชิปรุ่นพิเศษขนาดเท่าเหรียญเงิน ให้สามารถฝังไว้ใต้กะโหลกศีรษะเพื่ออ่านสัญญาณสมอง จากนั้นก็จะเชื่อมต่อสัญญาณสมอง เข้ากับการทำงานของคอมพิวเตอร์หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายนอก ที่เรียกว่า 'The Link'

โดย Neuralink ได้ทำการทดสอบกับมนุษย์รายแรก ซึ่งเป็นผู้พิการอัมพาตตั้งแต่ไหล่ลงไป โดยได้ทดลองใช้อุปกรณ์นี้เล่นหมากรุกบนแล็ปท็อปของเขา แม้ว่าการทดลองครั้งนั้น ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจาก Neuralink พบการทำงานผิดปกติบางอย่างหลังจากการทดสอบขั้นนี้ไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่นี่เป็นเพียงก้าวแรกของคลื่นลูกใหม่ในยุค Internet of Bodies ที่ยังต้องพัฒนากันต่อไป 

ด้านผู้ที่สนับสนุนเทคโนโลยี IoB กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากการผสานเทคโนโลยียุคใหม่เข้ากับร่างกายมนุษย์นั้นชัดเจนมาก ที่ทำให้เราปรับปรุงการรับรู้ของสมอง และการทำงานของร่างกายเราได้ดียิ่งขึ้น ที่จะช่วยประหยัดต้นทุนในการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมการทำงานของผู้คน และ องค์กร

แต่สำหรับผู้ที่เห็นต่าง และกังขาการมาถึงของ Internet of Bodies มองว่า อันตรายจากการฝังอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์แปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่ยังต้องใส่ใจ แต่ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ตราบใดที่อุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ สามารถติดตาม สอดแนมหรือ ส่งต่อข้อมูลไปยังบุคคลที่ 3 ได้ แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดปัญหาการแฮ็กข้อมูลจากอัตลักษณ์ และร่างกายของแต่ละคนในภายหลัง 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความเท่าเทียมของผู้คนในสังคม หากกลุ่มคนร่ำรวยมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ได้มากกว่า ซึ่งยุค Internet of Bodies สามารถสร้างความแตกต่าง และความได้เปรียบในศักยภาพร่างกายของมนุษย์ได้ และจะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนร่ำรวย และ คนยากจน ขยายตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ซึ่งประเด็นที่ยังถกเถียงอยู่นี้ คงไม่อาจหยุดยั้งการพัฒนาในโลกยุคอินเทอร์เน็ตในร่างกายของคนเราได้ ในปัจจุบันธุรกิจอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ในยุคเริ่มต้นของ IoB สร้างมูลค่าได้ถึง 6.6 หมื่นล้านเหรียญในปี 2024 และคาดว่าธุรกิจนี้จะโตได้ถึง 1.32 แสนล้านเหรียญภายในอีก 5 ปีข้างหน้า คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงเกือบ 15% ต่อปีเลยทีเดียว

‘Neuralink’ ปลูกถ่ายชิปสมองให้มนุษย์สำเร็จเป็นรายที่ 2 ให้ผลลัพธ์ถึงขั้นผู้ป่วยออกแบบวัตถุ 3 มิติและเล่นเกมได้

(22 ส.ค.67) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ‘นิวรัลลิงก์’ (Neuralink) บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีประสาท ของ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) ประกาศว่า การผ่าตัดปลูกถ่าย ‘ชิปฝังสมองครั้งที่สอง’ ให้กับมนุษย์เป็นไปด้วยดี และผู้ป่วยสามารถออกแบบวัตถุ 3 มิติ และเล่นเกมวิดีโออย่าง Counter-Strike 2 ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การผ่าตัดครั้งที่สองนี้ยังประสบความสำเร็จในการหลีกเลี่ยงปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ทดลองคนแรก อย่าง ‘โนแลนด์ อาร์เบา’ ซึ่งเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่คาดคิดอย่าง เมื่อเส้นใยบางส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องเชื่อมกับเนื้อสมองได้หลุดออก

“เพื่อลดความเสี่ยงของเส้นใยอุปกรณ์หลุดจากเนื้อสมองของผู้ป่วยคนที่สอง เราได้นำมาตรการหลายอย่างมาใช้ เช่น การลดการเคลื่อนไหวของสมองระหว่างการผ่าตัด และการลดช่องว่างระหว่างอุปกรณ์ปลูกถ่ายกับผิวสมอง” บริษัทกล่าวในบล็อกโพสต์

นอกจากนี้ ในกรณีของอาร์เบา Neuralink ได้ปรับปรุงซอฟต์แวร์หลังการผ่าตัด ซึ่งช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น

ทางบริษัทยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้กำลังพัฒนาฟังก์ชันใหม่สำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ชื่อ Link ซึ่งปัจจุบันช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมเคอร์เซอร์บนหน้าจอและอุปกรณ์ดิจิทัลได้ทีละคลิก ในอนาคต พร้อมทั้งระบุด้วยว่า Link จะสามารถถอดรหัสความตั้งใจในการเคลื่อนไหวหลายอย่างพร้อมกัน และจดจำความตั้งใจในการเขียนเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเขียนได้เร็วขึ้น

“ความสามารถเหล่านี้ จะไม่เพียงช่วยฟื้นฟูอิสระทางดิจิทัลสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้แขนขาได้เท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูความสามารถในการสื่อสารสำหรับผู้ที่ไม่สามารถพูดได้ เช่น ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาท” Neuralink เขียน 

ในปัจจุบัน อุปกรณ์ Link ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตทั้งสี่ข้าง และผู้ที่มีภาวะอื่น ๆ ที่การเคลื่อนไหวถูกจำกัดอย่างรุนแรง โดย มัสก์ กล่าวว่า อุปกรณ์ปลูกถ่ายของ Neuralink อาจช่วยเพิ่มความสามารถของคนที่มีสุขภาพดีได้ในอนาคต เช่น ช่วยในการเรียกคืนความทรงจำ 

บล็อก Neuralink ระบุชื่อจริงของผู้ป่วยว่า ‘อเล็กซ์’ และระบุว่าเขาเป็นช่างเทคนิคยานยนต์ที่เคยประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บไขสันหลัง เขาออกจากสถาบันระบบประสาท Barrow Neurological Institute ในเมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนาในสหรัฐฯ เพียงหนึ่งวันหลังจากได้รับการผ่าตัด โดยอเล็กซ์สามารถใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบตัวยึดสำหรับเครื่องชาร์จ Neuralink แบบกำหนดเองได้แล้ว

มัสก์ หวังว่า จะสามารถปลูกถ่ายอุปกรณ์ให้กับผู้ป่วยเพิ่มเติมได้หลายคนภายในสิ้นปี โดยผู้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา Prime ของ Neuralink ซึ่งเป็นการทดลองอุปกรณ์ทางการแพทย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top