Saturday, 11 May 2024
Microsoft

เปิด Resume รุ่นลายครามของพ่อมดไอที 'บิลเกตส์' สะท้อน!! รั้วการศึกษาแคบเกินไปสำหรับเขาจริงๆ

'บิล เกตส์' (Bill Gates) อยู่ดีๆ นึกครึ้มใจในวัยเกษียณ ขอแชร์จดหมายสมัครงาน หรือ Resume ของตัวเองที่เขียนขึ้นในปี 1974 ลงในเว็บ LinkedIn มาให้คนทั่วไปลองได้อ่านกัน ซึ่งในขณะนั้น บิล เกตส์ เพิ่งเข้าเรียนปีแรกในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

โดย Resume ฉบับนั้น ได้เปิดเผยส่วนสูง และน้ำหนักของบิล เกตส์ในวัย 19 ปี รวมถึงที่อยู่บ้านเก่าของพ่อ-แม่ของเขา และประสบการณ์เขียนโปรแกรมกับเพื่อนๆ สมัยมัธยม 

บิล เกตส์ ได้พูดแบบถ่อมตนว่า "ตัวผมตอนนั้นยังเขียน Resume ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เด็กรุ่นใหม่ๆ สมัยนี้ ซึ่งต่อให้ยังไม่จบมหาวิทยาลัยก็เถอะ แต่รับรองว่า เขียน Resume ได้ดีกว่าผมทุกคน"

แต่ความมหัศจรรย์ของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ทักษะการเขียน Resume หากแต่อยู่ที่เนื้อหาที่เขียนลงไปต่างหาก ที่ทำให้เราได้เห็นภาพจุดเริ่มต้นของ บิล เกตส์ ก่อนที่จะกลายเป็นพ่อมดแห่งวงการ IT ของโลกในเวลาต่อมา 

เริ่มต้นจากตัวเลขเงินเดือนที่เขาหาได้ แม้เพิ่งเข้าเรียนปีแรกที่ฮาร์วาร์ด ก็สูงถึง 12,000 เหรียญ (4.3 แสนบาท) ที่แม้แต่ยุคสมัยนี้ก็ถือเป็นรายได้ที่สูง ยิ่งย้อนกลับไปเมื่อ 48 ปีก่อน ยิ่งนับว่าเป็นรายได้ที่สุดยอดมากจริงๆ สำหรับเด็กมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเข้าเรียนปี 1 

แต่พอให้ระบุรายได้ หรือสถานที่ทำงานที่ต้องการ เขากลับตอบกว้างๆ ว่า "รายได้เท่าไหร่ หรือทำงานที่ไหนก็ได้" และ บิล เกตส์ หมายความเช่นนั้นจริงๆ เพราะหลังจากนั้นเพียง 1 ปี บิล เกตส์ ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไปตั้งบริษัท Microsoft กับเพื่อนสนิทอีกคน คือ 'พอล อัลเลน' ไกลถึงเมืองแอลบูเคอร์คี ในรัฐนิวเม็กซิโก 

ส่วนด้านการเรียน บิล เกตส์ ได้แจกแจงคอร์สที่เขาได้ลงเรียนในปีแรกที่ ฮาร์วาร์ดไว้ใน Resume ด้วย ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับระบบจัดการคอมพิวเตอร์ ฐานข้อมูลและกราฟิก แถมยังระบุด้วยว่า ตนเป็นนักเรียนดีเด่น และได้เกรด A ทุกวิชา 

‘นายกฯ’ ขอบคุณ ‘Microsoft’ ร่วมมือ-ลงทุนในไทยมายาวนาน ด้าน Microsoft ชมจุดแข็งไทย เป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาค

(22 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับผู้บริหารบริษัท Microsoft เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ Microsoft ที่มีความร่วมมือ และมีการลงทุนในไทยมาอย่างยาวนาน และพร้อมจะร่วมมือต่อไปให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ผู้บริหารบริษัท Microsoft กล่าวชื่นชมไทยที่มีจุดแข็งสามารถเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค (Regional Hub) มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของภูมิภาค

“บริษัทฯ ต้องการสนับสนุนให้ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐในการใช้ Cloud ซึ่งการมี Cloud investment ในไทย จะช่วยส่งเสริมความสามารถของคนไทย ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สายงาน IT สาขาวิศวกร และจะช่วยพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล ที่ใช้ระบบงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทย”

‘Microsoft’ เล็งใช้ไทยเป็น ‘ฮับ AI’ ในภูมิภาคเอเชีย ‘ตั้งศูนย์ฯ AI - พัฒนาระบบคลาวด์’ พาไทยโบยบินด้วยดิจิทัล AI

(24 พ.ย.66) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยการพบหารือระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับผู้บริหารบริษัทภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ หลายบริษัท ระหว่างการเยือนนครซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2566 

โดยในส่วนของบริษัท Microsoft ประเทศไทย วางแผนที่ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในภูมิภาคเอเชีย โดยจะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI และพัฒนาข้อมูลระบบคลาวด์ภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลไทย และบริษัท Microsoft ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิทัล AI 

โดยบริษัท Microsoft เห็นว่า ไทยมีศักยภาพที่จะเป็น 1 ในศูนย์กลาง AI ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็พร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ภายในปี พ.ศ. 2568 ศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ทั้งหมดของ Microsoft ทั่วโลกจะใช้พลังงานหมุนเวียน 

ส่อง 3 ยักษ์เทคฯ 'Google-Microsoft-Amazon' ปักหมุดไทย ความฝันสู่ศูนย์กลาง 'เทคโนโลยี-นวัตกรรม' แห่งเอเชีย ไม่ไกล!!

(29 พ.ย. 66) เพจ ‘BOI News’ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เปิดเผยถึงกรณี ‘ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชีย’ ระบุว่า…

ด้วยการลงทุนจากยักษ์ใหญ่ของวงการเทคโนโลยีระดับโลก เช่น #Google #Microsoft และ #Amazon Web Services หรือ #AWS ที่อาจพูดได้ว่า เป็นการพาประเทศไทยเข้าสู่ #DigitalTransformation เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในยุคดิจิทัลได้อย่างทันโลก 

#ไทยผนึกกำลังกับ 3 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระดับโลก 🌎
1️⃣ #Google

🔺 แผนลงทุน Data Center ในไทย: ประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ Google กำลังพิจารณาสร้าง Data Center เป็นประเทศที่ 11

🔺Google Cloud Region ในกรุงเทพฯ: แผนก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกในไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) และสร้างงานได้อีกกว่า 50,000 ตำแหน่งในปี พ.ศ. 2573

🔺การนำเทคโนโลยี Google Cloud ที่รวดเร็วและปลอดภัยมาใช้กับองค์กรภายในประเทศ: ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้ง National CyberShield Alliance เพื่อป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศทางไซเบอร์

🔺การพัฒนาด้าน AI ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: โดยเบื้องต้นบริษัทได้เซ็น MOU เป็นที่เรียบร้อยเพื่อส่งเสริมการใช้งาน AI ในการบริการภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการเงิน การพัฒนาภาคสาธารณสุข การศึกษา การขนส่งมวลชน

🔺การพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย: มอบทุนการศึกษา Google Career Certificate ให้กับคนไทย 

โดย Google ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และบีโอไอมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพของ Google เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skills เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในสาขาที่มีความต้องการสูง อาทิ การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ อีคอมเมิร์ซและหลักสูตร ‘Introduction to Generative AI Path’ จาก Google Cloud Skills Program ที่เปิดให้เรียนออนไลน์ฟรี

2️⃣ #Microsoft

🔹โครงการ Microsoft Data Center ไทย: ศึกษาความเป็นไปได้ของแผนการลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ในไทยเพื่อสนับสนุนการให้บริการภาครัฐสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

🔹การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ในประเทศไทย: พัฒนาทักษะทางดิจิทัลผ่านโครงการและการฝึกอบรมต่าง ๆ

🔹การสนับสนุนด้านพลังงานสะอาดและ ESG: สนับสนุนพลังงานสะอาดและนโยบาย ESG ในการดำเนินธุรกิจ และปรับปรุงการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีที่ยั่งยืน

3️⃣ #Amazon Web Services (#AWS)

🔸AWS Asia Pacific (Bangkok) Region: สร้างศูนย์ข้อมูล #Hyperscale ระดับโลกแห่งแรกในไทยด้วยงบประมาณกว่า 190,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี เพื่อให้เกิดการใช้ Cloud ให้ครบในทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการบริการด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน

🔸 การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล: เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

🔸 การพัฒนาเทคโนโลยี AI, Machine Learning, Data Analytics และ IoT: ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่สำคัญที่จะสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ 

#บีโอไอ ได้มีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมการลงทุน รวมถึงยังสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานที่อาศัยทักษะทางดิจิทัลให้กับคนไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีให้กลายเป็นแรงดึงดูดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย

‘Microsoft’ ขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก แซงหน้า!! ‘Apple’ หลังได้รับแรงหนุนจากเอไอ

(15 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก Business Tomorrow โพสต์ข้อความระบุว่า…

‘Microsoft’ แซงหน้า ‘Apple’ สู่บริษัทที่มีมูลค่าบริษัทมากที่สุดในโลกถือเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการบริษัทตามราคาหุ้น (Market Cap.) สูงที่สุดในโลก แซงแอปเปิล (Apple) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังปิดการซื้อขายในตลาดหุ้นคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา จากที่แซงได้ชั่วคราวเมื่อวันก่อน

ซึ่งมูลค่ากิจการของไมโครซอฟท์อยู่ที่ 2.89 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่แอปเปิลอยู่ที่ 2.87 ล้านล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้แอปเปิลจึงมีโอกาสกลับมาแซงได้เช่นกัน ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์มีมูลค่ากิจการสูงกว่าแอปเปิลช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทั้งในปี 2018 และปี 2021

โดยปัจจัยบวกที่ทำให้มูลค่ากิจการไมโครซอฟท์เพิ่มสูงขึ้นคือ AI โดยเฉพาะจากการลงทุนใน OpenAI และการประกาศผลักดันฟีเจอร์ด้าน AI ต่าง ๆ ออกมาโดยตลอด ทำให้ไมโครซอฟท์ได้รับความเชื่อมั่นสูงว่าจะได้โอกาสจากการเติบโตของ AI ที่เป็นธีมสำคัญทางเทคโนโลยีในปีนี้ ขณะที่แอปเปิลนั้นมีข่าวที่ส่งผลกระทบหลายอย่าง ตั้งแต่ Apple Watch อาจถูกสั่งห้ามขายในอเมริกา, บทวิเคราะห์ของธนาคาร Barclays ที่ปรับลดมูลค่าของแอปเปิลลง, ข่าวอุปกรณ์ถูกสั่งแบนจากหน่วยงานของรัฐบาลจีน และอื่น ๆ

‘ไมโครซอฟท์’ เดินหน้าขยายความเป็นผู้นำโลกด้านการแข่งขัน จ่อลงทุน 'โครงสร้างพื้นฐาน AI' ใน ‘เยอรมนี’ 1.24 แสนล้านบาท

(16 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดเผยแผนการลงทุนระยะ 2 ปี มูลค่า 3.2 พันล้านยูโร (ราว 1.24 แสนล้านบาท) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในเยอรมนี ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในประเทศนี้

ไมโครซอฟท์จะขยายภูมิภาคคลาวด์ที่มีอยู่ในแฟรงก์เฟิร์ต อัมไมน์ ของรัฐเฮสส์ และเพิ่มขีดความสามารถด้านคลาวด์ในนอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเรีย มากกว่าสองเท่า ผ่านโครงสร้างพื้นฐานใหม่ พร้อมกับวางแผนฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัลแก่ประชาชนในเยอรมนีมากกว่า 1.2 ล้านคนภายในสิ้นปี 2025

ด้าน แบรด สมิธ รองประธานและประธานของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์อยากทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีได้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเดินหน้าขยายความเป็นผู้นำโลกในด้านความสามารถทางการแข่งขัน โดยความต้องการปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้นในภาคส่วนสำคัญอย่างการผลิต ยานยนต์ และเภสัชภัณฑ์

โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า การลงทุนมูลค่านับพันล้านยูโรของไมโครซอฟท์ถือเป็นข่าวดีมากสำหรับเยอรมนี โดยโครงการดังกล่าวสะท้อนว่าเยอรมนีมีทำเลที่ตั้งอันน่าดึงดูดใจและได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อสิ้นปี 2023 รัฐบาลเยอรมนีประกาศการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ มูลค่า 1.6 พันล้านยูโร (ราว 6.22 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2025
ไมโครซอฟท์เสริมว่าบริษัทเยอรมนีชื่อดังหลายแห่ง เช่น ซีเมนส์ ไบเออร์ และคอมเมิร์ซแบงก์ กำลังใช้งานแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์แล้ว

ผลสำรวจจากบิตคอม (Bitkom) สมาคมดิจิทัล พบว่าชาวเยอรมนีส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างชัดเจนภายในไม่กี่ปีข้างหน้า และมีทัศนคติเปิดกว้างต่อปัญญาประดิษฐ์ในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์

‘เศรษฐา’ เตรียมเปิดทำเนียบรัฐบาล รับ ‘ซีอีโอใหญ่ ไมโครซอฟท์’ เยือนไทย 1 พ.ค.นี้ คุยโครงการ ‘ดาต้าเซนเตอร์ คลาวด์’ ดึงงบลงทุน ‘แสนล้าน’

(5 เม.ย.67) ‘นายสัตยา นาเดลลา’ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของไมโครซอฟท์ มีกำหนดเดินทางมาไทยวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมงาน Microsoft Build : AI Day พร้อมตอกย้ำความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ระหว่างไมโครซอฟท์ และรัฐบาลไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ในงาน Microsoft Build : AI Day นายสัตยา ได้เทียบเชิญบรรดาซีอีโอชั้นนำระดับประเทศเข้าร่วมพบปะ นอกเหนือจากพันธกิจหลักที่คาดว่า ซีอีโอ ไมโครซอฟท์จะเล่าถึงความคืบหน้า รายละเอียดความร่วมมือกับรัฐบาลไทย พร้อมเปิดโอกาสให้นักพัฒนาไทยรวมถึงองค์กรต่างๆ เข้าร่วมพูดคุย โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจในการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้งาน นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะขึ้นเวทีนี้ พร้อมกล่าวคีย์โน๊ตด้วย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับซีอีโอของไมโครซอฟท์ที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งจะได้หารือถึงความคืบหน้าของโครงการที่ไมโครซอฟท์มีแผนจะลงทุนในไทย ตามที่ได้หารือ และลงนามในความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทยและตัวแทนของบริษัทไมโครซอฟท์ ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ช่วงเดือน พ.ย.ปีก่อน

ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยเคยได้พบกับนายสัตยาแล้วครั้งหนึ่ง ที่การประชุมเอเปค ซานฟรานซิสโก เดือน ก.ย. 2566 และได้พูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และไมโครซอฟท์มาแล้ว รวมทั้งมีการเปิดเผยถึงแผนการลงทุนว่าจะมีการลงทุนหลักแสนล้านบาทในประเทศ โดยเป็นการทยอยลงทุนต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ก่อนที่ใน เดือนพ.ย.2566 นายกรัฐมนตรี จะได้พบกับผู้บริหารของไมโครซอฟท์อีกครั้ง แล้วได้ลงนามความร่วมมือร่วมกัน พร้อมระบุว่า พันธกิจของประเทศไทยนับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน มีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน

ย้อนเอ็มโอยู ไทย-ไมโครซอฟท์

ทั้งนี้ เอ็มโอยูที่ไทย และไมโครซอฟท์ลงนามร่วมกันมีรายละเอียด ดังนี้ 
1.ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัลไมโครซอฟท์ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมพิจารณาแผนลงทุนก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์ และ เอไอต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท

2.ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี เอไอ เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน เอไอ (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี เอไอของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี เอไอมาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

3.เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้าไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

4.ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

สร้างผลกระทบเชิงบวกให้ไทย

ก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพูดคุยและสัญญาระหว่างผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่า จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งการทำงานร่วมกันจากนี้มีอยู่หลายเรื่องอย่างมาก รวมถึงการนำคลาวด์และเอไอมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพระบบงานของภาครัฐ เดินหน้าสู่อีกอฟเวอร์เมนท์ และการพัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ

ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดการใช้งานเอไออย่างเป็นรูปธรรมในหน่วยงานต่างๆ และแน่นอนว่าที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะด้านเอไอ ทั้งจะมีการแบ่งปันความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกันและต่อยอดต่อไป

โดยไมโครซอฟท์จะมีการประชุมกับนายกฯ ทุก 3 เดือน เพื่อหารือ ขอความช่วยเหลือในสิ่งที่ติดขัดและทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้ตามแผน ภาพรวมมีโจทย์ที่สำคัญคือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลกระทบเชิงบวก มีส่วนสำคัญต่อการลดค่าใช้จ่าย ยกระดับการทำงานภาครัฐ และการให้บริการภาคประชาชน

ส่วนของการจัดสรรงบประมาณ หลักๆ ทางไมโครซอฟท์จะตั้งเป็นรายปี (CAPEX) ด้านการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ จะสอดคล้องไปกับนโยบายการให้บริการระดับภูมิภาค และแผนงานด้านคลาวด์แฟบริก มีการเชื่อมโยงเพื่อใช้งานในระดับภูมิภาคไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งยังมีความท้าทายคือ ภาครัฐจะมีแนวทางที่สามารถปลดล็อกเรื่องการทำสัญญา ที่สามารถสนับสนุนให้การทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ อย่างไร เช่น หากเป็นสัญญาแบบข้ามปีจะทำได้ไหม จะมีแนวทางปลดล็อกเมื่อต้องมีความร่วมมือแบบระยะกลางหรือระยะยาวอย่างไร

สำหรับการร้องขอและเงื่อนไข รวมถึงข้อเสนอและสิทธิประโยชน์ เช่นด้านภาษี เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดระหว่างกันเพิ่มเติม โดยภาพรวมเฟสแรกจะเป็นการพูดคุยหารือถึงเงื่อนไขและจัดลำดับความสำคัญของงาน หลังจากนั้นเฟส 2 เดินหน้าสู่การโรลเอาท์ ผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม

Microsoft ลุยสร้าง Generative AI ที่ไม่ต้องเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ต ช่วยองค์กรลับสหรัฐฯ วิเคราะห์ข้อมูลลับสุดยอดได้อย่างปลอดภัย

(8 พ.ค. 67) Business Tomorrow เผย Microsoft กำลังสร้างโมเดล Generative AI ที่แยกออกจากโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเตรียมเข้าไปใช้ในหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เพื่อนำเทคโนโลยีอันทรงพลังเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นความลับสุดยอดได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ หน่วยงานสายลับทั่วโลกต้องการ AI เชิงสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจและวิเคราะห์ปริมาณข้อมูลลับที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ยังคงต้องการข้อมูลโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ทำให้เมื่อมีการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตอาจเสี่ยงการถูกแฮ็กหรือข้อมูลที่รั่วไหลออกไปได้

ทั้งนี้ Microsoft ได้ปรับใช้โมเดลที่ใช้ GPT4 และองค์ประกอบสำคัญที่รองรับบนคลาวด์ด้วยการแยกข้อมูลที่สำคัญและการวิเคราะห์ออกจากอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรลับของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม Microsoft ใช้เวลา 18 เดือนที่ผ่านมาในการพัฒนาระบบ รวมถึงการยกเครื่อง Super Computer AI ที่มีอยู่ในไอโอวาให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top