Sunday, 20 April 2025
Landbridge

‘ไทย’ ปิดจ๊อบ!! 7 บิ๊กเนม ‘มะกัน’ ปักธงลงทุน ‘Landbrigde’

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ (Landbridge) วงเงินลงทุนโครงการ 1 ล้านล้านบาท ไปนำเสนอในงานเอเปค ครั้งที่ 30 ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12-19 พ.ย.66 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากมาย และมี 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังของสหรัฐฯ ที่ตกลงร่วมลงทุนในโครงการนี้แล้ว 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวมมาให้แล้ว จะมีบริษัทไหนบ้าง มาดูกัน!!

‘ธนกร’ ฟาด!! ‘4 สส.ก้าวไกล’ จงใจสร้างดรามา ลาออก ‘กมธ.แลนด์บริดจ์’ ติง จ้องจะเล่นแต่เกมการเมือง ชี้!! ประโยชน์ของชาติ-ปชช.ต้องมาก่อน

(13 ม.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่ 4 สส.พรรคก้าวไกล มี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล, นายจุลพงศ์ อยู่เกษ, นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ และนายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ได้แถลงลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน หรือ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ นั้น โดยอ้างว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาโครงการตอบคำถามไม่ครบถ้วนชัดเจน และอ้างว่าโครงการไม่เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศนั้น ตนจึงมองว่า สส.พรรคก้าวไกล จงใจสร้างดราม่า เล่นแต่เกมการเมือง ให้ข้อมูลผิดๆ ทำให้ประชาชนสับสน ทั้งที่กรรมาธิการส่วนใหญ่ได้ออกมาชี้แจงแล้ว ว่าในคณะกรรมาธิการมีระดับรองผู้อำนวยการ สนข. อยู่ในที่ประชุมคอยตอบคำถามอย่างครบถ้วนชัดเจนมาโดยตลอด เพราะมีเอกสารข้อมูลยืนยันทุกเรื่องที่ กรรมาธิการยังมีข้อสงสัย

ทั้งนี้ ในชั้นการทำงานของกรรมาธิการเป็นเพียงการศึกษาให้เกิดความครบถ้วนรอบด้าน ไม่ได้เป็นการเห็นชอบโครงการแลนบริดจ์ แต่เป็นรายงานที่จะประกอบการตัดสินใจให้กับรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เองก็ชูเมกกะโปรเจกต์นี้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในบ้านเรา ให้เกิดการสร้างโอกาส สร้างงานสร้างรายได้ ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่พี่น้องชาวใต้รอคอย การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการวางรากฐานตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ด้านการขนส่งสินค้าและบริการการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม และยังกระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้และภาพรวมของประเทศ

เมื่อถามว่า โครงการแลนด์บริดจ์หากเปิดใช้ระยะแรกในปี 73 จะสร้างเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน นายธนกร กล่าวว่า คาดการณ์ไว้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้ง 2 ระยะ (เฟส) แค่ระยะที่ 1 ประมาณมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู จะส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ทั้งท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ กระจายสินค้าในภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินเรือ และการขนส่งสินค้าทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะทางและเวลาขนส่งลงได้ 4 วัน เมื่อเทียบจากช่องแคบมะละกา จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นรับเรือฟีดเดอร์ ขนาด 8,000-9,000 ทีอียู สินค้าประเภทถ่ายลำ เพื่อเป็นเกตุเวย์ เชื่อมการขนส่งสินค้า จากยุโรป-แลนด์บริดจ์-จีน กลายเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา สร้างรายได้ให้กับพื้นที่และประเทศอย่างมหาศาล

โดยในโครงการแลนด์บริดจ์ ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

“การออกมาแถลงข่าวลาออกจากคณะกรรมาธิการของ 4 สส.พรรคก้าวไกล จึงถือว่าเป็นการเล่นเกมการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์ เอาแต่ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองตลอดเวลา แต่ไม่มองถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่จะได้รับมาก่อน อยากให้พรรคการเมืองรุ่นใหม่ทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติเป็นที่ตั้งมากกว่า” นายธนกร ระบุ

‘อนุทิน’ สอน ‘ก้าวไกล’ ปม 4 สส.ลาออกจาก กมธ.แลนด์บริดจ์ หากมองทุกอย่างเป็นการเมือง ประเทศคงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

(13 ม.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ของพรรคก้าวไกล ลาออกจากการเป็นกรรมาธิการ 4 คน ว่า เรื่องแลนด์บริดจ์เรามองในมิติที่เป็นบวก เพราะไม่ใช่เรื่องของการคุ้มทุน หรือไม่คุ้มทุนจากการก่อสร้างโครงการ แต่เรามองไปถึงเศรษฐกิจในประเทศ การจ้างงาน การผลิตวัสดุต่างๆ ในประเทศ รวมถึงเรื่องของโอกาสต่างๆ เราต้องมองภาพรวมของประเทศในฐานศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน มันไม่ใช่แค่เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยเท่านั้น แต่เราสามารถใช้โครงการแลนด์บริดจ์กระจายสินค้าต่างๆ ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อถามว่า มองการลาออกวันสุดท้ายในการลงมติเห็นชอบรายงานการ ส่งผลการศึกษาไปยังสภาฯ อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละคน คนที่เข้าใจเขาก็จะต้องช่วยกันผลักดัน ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขออกมาชี้ชัดเลยว่าจะเป็นอย่างไร มันจะไปด่วนสรุปแบบนี้ไม่ได้ ความจริงการลาออกไปของพรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้ทำให้ผลการพิจารณาล่ม มันก็เดินต่อไป ตนมองว่า แทนที่จะอยู่ช่วยกัน อย่าไปเล่นอะไรที่เป็นเกมการเมืองไปหมด ถ้าทุกอย่างเป็นเกมการเมืองไปหมด ประเทศมันไปไหนไม่ได้

‘ดร.สามารถ’ ชี้!! หาก ‘แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร’ สำเร็จ อาจขึ้นแท่นเป็นประตูสู่เอเชีย แทน ‘ช่องแคบมะละกา’

(14 ม.ค.67) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ ในหัวข้อ ‘แลนด์บริดจ์ ‘ระนอง-ชุมพร’ หรือ ‘ช่องแคบมะละกา’ ประตูสู่เอเชีย’ โดยระบุว่า…

ในขณะที่รัฐบาลกำลังทุ่มสรรพกำลังผลักดันโครงการ ‘แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร’ ให้เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร เกิดขึ้นจริง จะช่วงชิงประตูสู่เอเชียจาก ‘ช่องแคบมะละกา’ ได้หรือไม่?

‘ช่องแคบมะละกา’ ตั้งอยู่ระหว่างประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา) เป็นเส้นทางการเดินเรือที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก 
ท่าเรือสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการรองรับเรือที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกา โดยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมานานหลายปี ไม่ว่าจะพิจารณาจากน้ำหนักสินค้าทุกประเภท หรือจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม

ปัจจัยหลักที่จูงใจให้เรือมาใช้บริการที่ท่าเรือสิงคโปร์จำนวนมากก็คือ มีทำเลที่ดีทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมของเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกกว่า 200 สาย ให้บริการเชื่อมโยงท่าเรือกว่า 600 แห่งทั่วโลก

ปัจจัยอื่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของท่าเรือสิงคโปร์ คือ มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร มีคุณภาพการให้บริการที่ดี และมีการบริหารงานที่โปร่งใส

คาดกันว่า ถ้ามีแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยร่นระยะทางและระยะเวลาการเดินเรือ ระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของไทยได้ เมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา หลายคนเห็นด้วยว่าระยะทางนั้นสั้นกว่า แต่ไม่แน่ใจว่าระยะเวลาจะสั้นกว่าหรือไม่?

ที่ไม่แน่ใจก็เพราะว่า จะต้องมีการขนถ่ายสินค้าหรือน้ำมันจากเรือสู่รถไฟ รถบรรทุก หรือท่อส่งน้ำมันที่ฝั่งทะเลด้านหนึ่ง แล้วขนสินค้าหรือน้ำมันด้วยรถไฟ รถบรรทุก หรือท่อส่งน้ำมันไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นก็ขนสินค้าหรือน้ำมันขึ้นเรือเพื่อขนไปส่งยังจุดหมายปลายทางต่อไป

จึงน่าห่วงว่า จะประหยัดเวลาได้จริงหรือ?

ลองคิดดูว่า ถ้ามีเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 100,000 ตัน จะใช้เวลานานเพียงใดที่จะสูบน้ำมันจากเรือลงสู่ท่อ หรือถ้ามีเรือบรรทุกสินค้าขนาด 50,000 ตัน จะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะขนสินค้าจากเรือสู่รถ และจะต้องใช้รถบรรทุกจำนวนมากขนาดไหน…

ข้อเป็นห่วงนี้ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้กระจ่าง

เวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะจูงใจให้เรือมาใช้บริการ เพราะเวลาหมายถึงค่าใช้จ่าย ไม่ว่าเวลาที่แล่นเรืออยู่ในทะเลหรือเวลาที่จอดเทียบท่า ล้วนต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งนั้น

ถ้าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร สามารถประหยัดเวลาได้ ก็จะสามารถจูงใจให้เรือมาใช้บริการแทนการแล่นผ่านช่องแคบมะละกา แต่ถ้าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ไม่ทำให้ประหยัดเวลาได้ ก็ยากที่จะจูงใจให้เรือมาใช้บริการ

คำตอบต่อข้อกังวลนี้ ติดตามดูได้จากผลตอบรับของเอกชนว่าสนใจจะมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่? ถ้าลงทุนแล้วได้กำไร เขาก็จะลงทุน นั่นหมายความว่าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยร่นระยะเวลาได้ ทำให้มีเรือมาใช้บริการในปริมาณที่มากพอที่จะทำกำไรได้

แต่ถ้าลงทุนแล้วขาดทุน เขาก็จะไม่ลงทุน นั่นหมายความว่า แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ไม่สามารถจูงใจให้เรือมาใช้บริการแทนช่องแคบมะละกาได้

ด้วยเหตุนี้ ปริมาณเรือที่จะมาใช้บริการ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจที่จะลงทุนในโครงการนี้ของเอกชน ซึ่งเขาจะต้องคาดการณ์ว่าจะมีเรือมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยแค่ไหนนั้น โดยคำนึงถึงประเภทของสินค้าที่เรือจะขนมา และจุดต้นทางและปลายทางของสินค้า เช่น

1.) เรือบรรทุกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสู่ประเทศญี่ปุ่น จะเปลี่ยนเส้นทางจากช่องแคบมะละกามาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยเพียงใด

2.) เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์จากยุโรป (ท่าเรือร็อตเตอร์ดัม) สู่ญี่ปุ่น จะเปลี่ยนเส้นทางจากช่องแคบมะละกา มาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยเพียงใด

3.) เรือบรรทุกแร่เหล็กจากอินเดียสู่ตะวันออกไกลจะเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่

4.) เรือบรรทุกถ่านหินจากแอฟริกาสู่ตะวันออกไกลจะเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่

วันนี้ ‘ประตูสู่เอเชียทางน้ำ’ ยังอยู่ที่ช่องแคบมะละกา แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร เป็นรูปธรรมขึ้นมาคงต้องรอดูกันว่าประตูสู่เอเชียจะเปลี่ยนไปหรือไม่

ถึงวันนั้นคนไทยจะได้ไชโย!!

สำรวจผลโพล ‘วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต’ ประเด็นนโยบายรัฐ ‘แลนด์บริดจ์’ ฉลุย!! คนอยากให้เดินหน้า ส่วน ‘แจกเงินดิจิทัล’ อยากให้ระงับ

(3 ก.พ. 67) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวโครงการ ‘Leadership Poll’ ภายในงานมีการแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นลีดเดอร์ชิพโพล ครั้งที่ 1/2567 โดย รองศาสตราจารย์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ในฐานะหัวหน้าลีดเดอร์ชิพโพลล์ นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ 

สำหรับ Leadership Poll หรือ โพลผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง จัดทำโดยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน 

โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 จากกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ...

1.) ผู้นำภาคธุรกิจ : ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
2.) ภาคประชาสังคม : ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย
3.) ภาคการเมือง : นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาคของประเทศ
4.) ภาคการศึกษา : นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

สำหรับสาระสำคัญในการสอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ประกอบไปด้วยประเด็นดังต่อไปนี้...

1.) ความคิดเห็นต่อนโยบาย ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ ของรัฐบาล ผลการสำรวจพบว่า...
- 62.20 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 21.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 13.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 3.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่แน่ใจ)
(ไม่ค่อยสนใจ)

2.) ความคิดเห็นต่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...

- 36.70 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 29.60 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 28.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 5.70 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(ต้องการข้อมูลที่ศึกษา)
(ไม่แน่ใจ)

3.) ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...
- 41.10 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 37.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 14.50 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
-1.40 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(เห็นด้วยเป็นบางอย่าง)
(ยังเข้าใจไม่ชัดเจน)

4.) ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลสำรวจพบว่า...
- 52.40 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
- 28.8 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
- 14.5% ไม่เห็นด้วย
- 4.3% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112)
(แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ)
(นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา)

5.) ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผบ.สำรวจพบว่า...
- 51.20 % ยังคงขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ
- 34.90 % มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
- 9.40 % มีความมุ่งมั่น
- 4.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่ทราบแน่ชัด)
(ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน)

>> สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจ...
1.) เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร อย่างน้อยนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ควรมีการดำเนินการตามที่เคยพูดไว้ยังมองไม่ออกว่าอะไรที่ทำไปแล้ว และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง

2.) รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการรักษาความยุติธรรม ไม่ให้อภิสิทธิ์ใครให้อยู่เหนือกฎหมาย

3.) การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ นโยบายสาธารณะที่ดีบางครั้งเกิดจากนวัตกรรมทางกระบวนการ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล
 
4.) รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน

5.) รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน

6.) รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ

7.) โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องขนของจากเรือที่ฝั่งอ่าวไทย ขนขึ้นรถไฟ แล้วขนลงเรืออีกครั้งที่ฝั่งอันดามัน ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติจริง ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย

8.) ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรกๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อนาคตของประเทศไทยดูแล้วมีแต่ถอยหลังเพราะเยาวชนของชาติไม่มีคุณภาพ คนไทยไม่ชอบใช้เหตุผล ใช้อารมณ์และความชอบส่วนตัวในการตัดสินใจปัญหา สนใจไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์

9.) เข้าใจว่าผู้นำหลายท่านกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากไม่มีแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะตกอยู่ในภาวะ Burnout และเลือกที่จะชะลอการสร้างผลผลิต (Productivity) หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาศักยภาพ (Capacity) ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้

10.) เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ถ้าจะแจก ควรกำหนดกลุ่มผู้เดือดร้อนให้ชัดเจน และเมื่อเป็นเงินกู้ เหตุใดจึงต้องจ่ายเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินบาท ใครเป็นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการแลกเปลี่ยน และมีค่าใช้จ่ายในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร

‘หอการค้าไทย’ ประกาศ!! สนับสนุนผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร–ระนอง ชี้!! ไม่เพียงท้องถิ่นจะได้ประโยชน์ แต่ยังส่งผลดีต่อ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

(23 มี.ค. 68) ที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายกมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร ได้ให้การต้อนรับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายสลิล โตทับเที่ยง รักษาการประธานหอการค้าภาคใต้ และคณะผู้บริหารระดับสูงหอการค้าไทย เพื่อประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการหอการค้าไทย คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดชุมพร และ YEC หอการค้าจังหวัดชุมพร ณ ห้องเกาะเสม็ด ศาลากลางจังหวัดชุมพร ชั้น 4

ช่วงบ่าย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายสลิล โตทับเที่ยง รักษาการประธานหอการค้าภาคใต้ นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดชุมพร และคณะกรรมการหอการค้าไทย เดินทางไปหาดแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อลงพื้นที่ที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร(แหลมริ่ว)ในโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อรับฟังข้อมูลในการดำเนินงานของโครงการจากทาง ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข) และผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตลอดจนข้อมูล

ของประชาชนในพื้นที่ นำโดย นายจีรศักดิ์ แสงหอย นายอำเภอหลังสวน นายสุชาติ ตังสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืด เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมให้มีความสอดคล้องกัน อยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

นายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวว่า ได้รับฟังปัญหาในหลายๆด้าน โดยทางหอการค้าไทยให้การสนับสนุนการสร้างโครงการ แลนด์บริดจ์ ชุมพร –ระนอง ซึ่งคิดว่าถ้าโครงการออกมาแล้วจะสร้างประโยชน์ไม่เพียงแต่ให้ท้องถิ่นเท่านั้น แต่โครงการโดยรวมแล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ประโยชน์ เรายินดีที่จะสนับสนุนเต็มที่

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติม เป็นโครงการสมัยท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาซึ่งหอการค้าเราก็ได้ให้การสนับสนุนและเพื่อที่จะแก้ไขปรับปรุงเพื่อจะให้มีโครงการแลนด์บริดจ์ขึ้นอย่างสมบูรณ์โดยควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะเป็นโครงการระหว่างจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ทั้งสองจังหวัดจะต้องพร้อมโครงการก็จะดำเนินเดินหน้าไปได้หากจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งไม่พร้อมโครงการก็อาจจะเกิดการสะดุดได้จึงลงมาดูพื้นที่และแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนองเพื่อที่จะดำเนินการต่อไป 

นายกมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงการแลนด์บริดจ์ นอกจากส่วนท่าเรือน้ำลึกแล้ว ส่วนที่สำคัญมากที่ทำให้เกิดgame changer คือ พื้นที่หลังท่าเรือชุมพร ที่มีจำนวนมากหลายหมื่นไร่ ที่จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขนาดใหญ่ คำนึงถึงพลังงานสะอาดและสิ่งเเวดล้อม จะเปลี่ยนทิศทางsupply chain ประเทศไทยจากผู้ซื้อเป็นผู้ผลิตได้เลย เช่น ด้านเกษตร เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร โดยเฉพาะชุมพรและภาคใต้เป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรและประมงมหาศาลพร้อมแปรรูป หรือด้านอาหารฮาลาล หรือ ด้านอุตสาหกรรมไฮเทค หรือ ผลิตภัณฑ์ด้านอื่นๆที่สามารถขนส่งผ่านทางรางจากเหนือลงใต้(รถไฟรางคู่ปัจจุบันถึงชุมพรแล้ว)และทางหลวงแผ่นดิน(อนาคตจะขยายเป็น8เลน) จะทำให้พื้นที่นี้มีศักยภาพสูงในการหาวัตถุดิบป้อนแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หากมีการพัฒนาจัดสรรใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มที่ เช่น โครงการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ นิคมอุตสาหกรรมของเอกชนขนาดใหญ่ สินค้าที่สำเร็จรูปผลิตแล้วจัดส่งที่ท่าเรือน้ำลึกชุมพรหรือระนองเพื่อส่งตลาดโลกได้ทันที ทำให้มีการใช้ประโยชน์ท่าเรืออย่างคุ้มค่า ไม่ต้องหวังลูกค้าจากสายเรืออย่างเดียว อีกส่วนที่สำคัญ คือ เส้นทางวางท่อส่งน้ำมัน หากพิจารณาให้ดีจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศ ดังนั้น หากจะมองความคุ้มค่าของโครงการ อย่ามองเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดจะทำให้หลงทาง บางส่วนอาจขาดทุนก่อน บางส่วนอาจกำไรเร็วกว่า บางส่วนไม่หวังกำไรแต่ต้องมี ต้องถอยมามองภาพใหญ่ให้ครอบคลุมทุกมิติแล้วจะเห็นทั้งหมด หากโครงการแลนด์บริดจ์เสร็จสมบูรณ์ในทุกส่วนแล้ว ยามที่เครื่องจักรทางเศรษฐกิจของไทยอ่อนแรงแทบทุกตัวแล้ว เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นหัวรถจักรตัวใหม่ที่จะฉุดเศรษฐกิจของไทยให้กลับทะยานไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง สร้างชีวิตใหม่ให้กับชาวไทยได้ครั้งใหญ่อีกครั้ง 

อนึ่ง วันนี้จึงนับเป็นข่าวดีมากสำหรับชาวไทย ที่ทางหอการค้าไทยได้ประกาศชัดเจน เดินหน้าสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเต็มที่ ตามนโยบายรัฐบาล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top