Sunday, 20 April 2025
Iran

‘อิหร่าน’ กร้าว!! พร้อมหนุนทุกการตัดสินใจของ ‘กลุ่มฮามาส’ ชี้!! ถ้า ‘อิสราเอล’ ผิดข้อตกลงหยุดยิง สงครามลุกลามแน่นอน

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 66 ‘ฮอสเซน อามีร์-อับดอลลาเฮียน’ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ได้ออกมาเตือนในการให้สัมภาษณ์ ขณะเดินทางเยือนกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ว่า ขอบเขตสงครามกาซาอาจลุกลามบานปลาย จนกว่าข้อตกลงหยุดยิงระหว่าง ‘อิสราเอล’ และ ‘ฮามาส’ จะมีความยั่งยืน

“ถ้าข้อตกลงหยุดยิงเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (23 พ.ย. 66) ทว่าหากมันไม่เดินหน้าต่อ เงื่อนไขต่างๆ ในภูมิภาคจะไม่เหมือนกับตอนก่อนหน้ามีข้อตกลงหยุดยิง และขอบเขตของสงครามจะขยายวงกว้างขึ้น” อามีร์-อับดอลลาเฮียน บอกกับสถานีโทรทัศน์อัล-มายาดีน ของเลบานอน อ้างอิงรายงานข่าวจากสำนักข่าวฟาร์สนิวส์ของอิหร่าน

“เราไม่ได้หาทางขยายขอบเขตของสงคราม” เขากล่าว “แต่หากความรุนแรงของสงครามหนักหน่วงขึ้น มีทุกความเป็นไปได้ที่ขอบเขตของสงครามที่จะลุกลามขยายวงกว้าง”

อิสราเอลกับฮามาสตกลงหยุดยิง 4 วันในสงครามกาซา แลกกับการปล่อยตัวประกันอย่างน้อย 50 คน ที่ถูกจับตัวไปในเหตุฮามาสโจมตีนองเลือดเล่นงานอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา

ในทางกลับกัน อิสราเอลจะปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ 150 คนเป็นการตอบแทน ตลอดจนถึงการอนุญาตให้จัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา หลังจากที่ทำการทิ้งบอมบ์ถล่มแหลก มีการสู้รบกันอย่างหนักหน่วง และปิดล้อมดินแดนชายฝั่งทะเลแห่งนี้ มานานกว่า 6 สัปดาห์

อามีร์-อับดอลลาเฮียน บอกว่า “อิหร่านมองเห็น 2 ทางเลือก อย่างแรก คือ การหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมที่เเปลี่ยนเป็นการหยุดยิงอย่างถาวร ส่วนแนวทางที่ 2 คือ คุกคามประชาชนปาเลสไตน์ และเมื่อนั้นประชาชนปาเลสไตน์จะตัดสินใจด้วยตนเอง” เขากล่าว พร้อมระบุว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล “คงไม่อาจเติมเต็มความฝันทำลายพวกนักรบฮามาสได้”

“เราจะสนับสนุนทุกการตัดสินใจของฮามาส” เขากล่าว

ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ชี้ศาลอาญาโลก แค่ออกหมายจับนายกฯ อิสราเอลไม่พอ

(26 พ.ย. 67) อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันจันทร์ (25 พ.ย.) โดยระบุว่าการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และนายโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหม ยังไม่เพียงพอ พร้อมเรียกร้องให้ศาลสั่งโทษประหารชีวิตผู้นำเหล่านี้จากข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา

“การออกหมายจับไม่เพียงพอ ผู้นำอาชญากรเหล่านี้สมควรถูกประหารชีวิต” คาเมเนอี กล่าว

คำพูดดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง ICC ออกหมายจับผู้นำอิสราเอลเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน โดยกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีอย่างรุนแรงต่อพลเรือนในฉนวนกาซา รวมถึงการสังหาร การประหัตประหาร และการทำให้ประชาชนอดอยาก ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมสงครามในรูปแบบการโจมตีอย่างเป็นระบบ

อิหร่าน ซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ในการต่อสู้กับอิสราเอล แสดงท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้ ขณะที่อิสราเอลปฏิเสธอำนาจของ ICC และยืนยันว่ายังไม่ได้ก่ออาชญากรรมสงคราม

นอกจากนี้ ICC ยังออกหมายจับนายอิบราฮิม อัล-มาสรี ผู้นำฮามาสที่เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอล โดยกล่าวหาเขาในคดีฆาตกรรมหมู่ การข่มขืน และการจับตัวประกันจากเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566

โดรนอิหร่าน บอลลูนจีน มิสไซล์รัสเซีย ย้อนคำอ้างที่ไร้มูลความจริงของสหรัฐฯ

(16 ธ.ค. 67) เมื่อไม่กี่วันก่อนสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน เจฟเฟอร์สัน แวน ดรูว์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งของรายการทางช่อง Fox News ว่าพบโดรนต้องสงสัยบินเหนือน่านฟ้ารัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งคาดว่าโดรนดังกล่าวถูกส่งมาจากเรือแม่ของอิหร่านที่ลักลอบสอดแนมนอกชายฝั่งสหรัฐ โดยนายแวน ดรูว์ ได้อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อถึงกิจกรรมสอดแนมดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ อเลฮานโดร มายอร์คัส เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ไม่พบหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีกิจกรรมโดรนสอดแนมจากต่างชาติบนแผ่นดินสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐออกมาให้ข่าวสร้างความหวาดกลัวที่ไร้มูลควาจริงต่อสาธารณะ

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวสปุตนิกพบว่า เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่าน ก็มีรายงานจากคำอ้างของวุฒิสมาชิกริค สก็อตต์ ที่ส่งถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยว่า กระเทียมที่นำเข้าจากจีนอาจปลูกในสภาพที่ไม่สะอาดและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในสหรัฐ อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ จึงสมควรมีการสอบสวน แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐไม่ได้มีการสั่งระงับการนำเข้ากระเทียมจากจีนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มีประเด็นเรื่อง บอลลูนอากาศจากจีนหลุดเข้ามาในอากาศเขตสหรัฐฯ โดยขณะนั้นรัฐบาลไบเดนออกมากล่าวโทษว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสอดแนมรัฐบาลปักกิ่ง แต่ในภายหลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่า บอลลูนดังกล่าวไม่ได้ทำการเก็บข้อมูลข่าวกรองใดๆ ขณะบินอยู่ในเขตอเมริกา  และก็ยังไม่ทราบถึงที่มาว่าบอลลูนดังกล่าวถูกส่งมาจากที่ใด

อีกหนึ่งภัยคุกคามที่สปุตนิกพบว่ารัฐบาลสหรัฐมักกล่าวอ้างคือ นิวเคลียร์จากอวกา โดยในดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สื่อของสหรัฐฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแผนการที่อ้างว่า รัสเซียมีแผนที่จะนำอาวุธต่อต้านดาวเทียมที่มีพลังนิวเคลียร์ไปใช้ในอวกาศ โดยอ้างหลักฐานเดียวคือคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลไบเดน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานด้านอวกาศแห่งอื่นใดออกมาให้ข้อมูลดังกล่าว ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในระหว่างการกล่าวปราศรัยในรัฐสภา โดยระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง 

อิหร่านเลือก 'มักราน' ตั้งเมืองหลวงใหม่ หวังหนีปัญหาแออัด - ขยายเขตเศรษฐกิจ

(10 ม.ค.68) รัฐบาลอิหร่านประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงเตหะรานไปยัง 'มักราน' หวังสร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่และแก้ปัญหาหลายด้าน

รัฐบาลอิหร่านเปิดเผยว่าจะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเตหะรานที่ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลากว่า 200 ปี ไปยังเมืองมักรานที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ โดยกล่าวว่าแผนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น ประชากรที่ล้นเกิน ขาดแคลนพลังงาน และปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ตามคำกล่าวของรัฐบาล, เมืองมักรานมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญและเส้นทางการเดินเรือที่สามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ และลดภาระทางเศรษฐกิจที่กรุงเตหะรานต้องเผชิญ

นอกจากนี้ เมืองมักรานยังมีข้อได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์เนื่องจากใกล้กับอ่าวโอมาน ซึ่งเป็นประโยชน์ทางกลยุทธ์ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่รองประธานาธิบดี โมฮัมหมัด เรซา อารีฟ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคอย่างมาก และยังถือว่าเมืองมักรานมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยจักรวรรดิอาเคเมนิดด้วย

แนวคิดการย้ายเมืองหลวงนี้เริ่มได้รับการพูดถึงตั้งแต่ปี 2000 และมีความพยายามในการดำเนินการมาตลอดหลายปี แต่ก็เงียบหายไปจนกระทั่งในสมัยของประธานาธิบดี มาซูด เปเซชเคียน ที่ได้รื้อฟื้นแนวคิดนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยอ้างถึงความไม่สมดุลของการใช้ทรัพยากรในกรุงเตหะราน

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย มีนักวิจารณ์บางคนที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการย้ายเมืองหลวง รวมถึงปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งอาจขัดแย้งกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาของประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top