Tuesday, 6 May 2025
Indonesia

ผู้นำอิเหนาเปิดแผนดันอินโดนีเซียเป็นชาติสมาชิก เผยอยากเข้าร่วม BRICS ตั้งแต่ 10 ปีก่อน

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต กล่าวต่อสื่อรัสเซียว่า เขามีแผนอยากให้ประเทศเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ปี 2014 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียสมัยแรก

"จริง ๆ แล้ว ผมเคยประกาศในช่วงตอนหาเสียงปี 2014 ว่าหากผมได้เป็นประธานาธิบดี ผมจะพาอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS” ซูเบียนโตกล่าวต่อสื่อรัสเซียในระหว่างการประชุม G20 ที่ประเทศบราซิล

ซูเบียนโตย้ำถึงความตั้งใจของอินโดนีเซียที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS และเสริมว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ซูเบียนโตได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาเผยว่าเขาได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง พร้อมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศบินไปยังเมืองคาซาน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ ... ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ว่าเราต้องการเข้าร่วมกับ บราซิล อินเดีย และประเทศ BRICS อื่น ๆ เราคิดว่านี่จะเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก” ประธานาธิบดีกล่าว 

ผลการเข้าร่วมประชุมที่คาซาน ส่งผลให้อินโดนีเซียได้กลายเป็นรัฐพันธมิตรกลุ่ม BRICSในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งที่ 16 ของกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานของรัสเซีย

ในฐานะชาติหุ้นส่วนจะช่วยให้อินโดนีเซีย สามารถเข้าร่วมการประชุมในวาระต่าง ๆ ของ  BRICS และการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มชาติ BRICS ได้มากขึ้น อาทิ การค้าและความมั่นคงแห่งชาติ และฟอรัมรัฐสภา ซึ่งในฐานะชาติหุ้นส่วนถือว่าเป็นก้าวแรกสู่การเข้าเป็นชาติสมาชิก BRICS ได้อย่างเต็มตัว

BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของกลุ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ปีเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมของสมาชิกใหม่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม นอกจากรัสเซีย บราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้แล้ว ปัจจุบัน BRICS ยังมีชาติหุ้นส่วนคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ตามเว็บไซต์ของตำแหน่งประธาน BRICS ของรัสเซียในปี 2024 มีรายงานว่าซาอุดีอาระเบียไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม แต่ได้เข้าร่วมการประชุม BRICS ที่เมืองคาซานที่ผ่านมา

Apple ง้อ อิเหนา!! ทุ่มเงินลงทุนอีก 100 ล้านดอลลาร์ หวังอินโดนีเซียปลดแบนขายไอโฟน 16

บริษัทแอปเปิล (Apple) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,400 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งห้ามขายไอโฟน 16

ตามรายงานจากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วันนี้ (19 พ.ย.67)  แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ข้อเสนอใหม่นี้มีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นจำนวนเงิน 10 เท่าจากแผนการลงทุนเดิม

ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเคยมีแผนการลงทุนมูลค่าเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 346 ล้านบาท) ในการตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์เสริมและส่วนประกอบในเมืองบันดุง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงจาการ์ตา

อย่างไรก็ตาม หลังจากแอปเปิลยื่นข้อเสนอใหม่เพื่อเพิ่มการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียที่เคยสั่งห้ามการขายไอโฟน 16 ได้เรียกร้องให้แอปเปิลปรับแผนการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียมากขึ้น กระทรวงยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอล่าสุดจากแอปเปิล

การห้ามขายไอโฟน 16 เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียระบุว่าแอปเปิลไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการใช้วัสดุภายในประเทศในการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลจากรัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่า แอปเปิลลงทุนในประเทศนี้เพียง 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,200 ล้านบาท) ผ่านศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งยังไม่ถึงข้อตกลงที่กำหนดไว้ที่ 107 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,700 ล้านบาท) โดยมีกรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับการระงับการขายโทรศัพท์พิกเซลของกูเกิล

การดำเนินนโยบายเข้มงวดของอินโดนีเซียดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จ โดยการห้ามจำหน่ายไอโฟน 16 ได้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ใช้กดดันให้บริษัทต่างชาติลงทุนและเพิ่มการผลิตในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

รัสเซียยินดี 'อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย' ร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า นายอเล็กซานเดอร์ ปันกิน รองรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า แสดงความยินดีต่อ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่กลายเป็นชาติพันธมิตรรายใหม่ของกลุ่ม BRICS แล้ว

นายปันกิน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่จะสร้างระเบียบโลกที่ยุติธรรม ปฏิรูปสถาบันระดับโลก และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม อีกทั้งมีการบรรลุข้อตกลงชุดหนึ่งที่มั่นคงเกี่ยวกับการค้า การลงทุน ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานและสภาพอากาศ และโลจิสติกส์

พวกเรามีเพื่อนร่วมงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้กลายเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการของกลุ่มเราแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานกลุ่มแบบหมุนเวียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกับกลุ่มมากขึ้นหลายประเทศ

ผู้นำอินโดฯ เล็งอภัยโทษคนทุจริต หากนำทรัพย์สินที่ขโมยไปกลับมาคืน

ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต แห่งอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เขาอาจพิจารณาให้อภัยผู้ที่กระทำการทุจริต หากพวกเขานำทรัพย์สินที่ขโมยไปกลับมาคืน

(19 ธ.ค.67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักศึกษาอินโดนีเซียที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันพุธที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ปธน.ปราโบโวกล่าวว่า เขาจะดำเนินการเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบในไม่กี่สัปดาห์หรือเดือนข้างหน้า

ปธน.ปราโบโวกล่าวว่า “หากผู้ที่ทุจริต หรือผู้ที่รู้ตัวว่าได้ฉกชิงทรัพย์สินจากประชาชน หากนำสิ่งที่ขโมยไปคืนมา เราอาจให้อภัยได้ กรุณานำมันกลับมาคืน”

อย่างไรก็ตาม ปธน.ปราโบโวยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว โดยกล่าวเพียงว่ารัฐบาลอาจหาวิธีการต่าง ๆ ให้ผู้กระทำผิดสามารถคืนทรัพย์สินที่ขโมยไปได้อย่างลับ ๆ

ปธน.ปราโบโว ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ให้คำมั่นว่าจะขจัดการทุจริตและนำเสนอแนวทางที่ 'สามารถปฏิบัติได้จริง' ในการป้องกันการทุจริต ซึ่งรวมถึงการขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลงบประมาณจำนวนมาก

จนถึงขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายของอินโดนีเซียยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวของปธน.ปราโบโว

อินโดนีเซียเปิดตัวใช้ 'ไบโอดีเซล B40' สะท้อนชาติเบอร์หนึ่งผลิตปาล์มน้ำมัน

(20 ธ.ค.67) ยูลิออต ตันจุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียเริ่มผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซล บี40 (B40) ที่ประกอบด้วยน้ำมันปาล์ม 40% และน้ำมันดีเซล 60% ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มมากกว่าปัจจุบันที่ใช้น้ำมันปาล์มเพียง 35% โดยไบโอดีเซล บี40 จะเริ่มนำมาใช้จริงในปี 2025

ตันจุงกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซล บี40 ไว้ที่ 15.62 ล้านกิโลลิตรภายในปี 2025 และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 โดยหลังจากนั้นจะมีการพัฒนาไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มถึง 50% ต่อไปในอนาคต

ด้านเอเนีย ลิสเตียนี เดวี อธิบดีฝ่ายการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ ยืนยันว่า การผลิตไบโอดีเซล บี40 ได้เริ่มต้นแล้วและผ่านการทดสอบการใช้งานทั้งในยานยนต์และการใช้งานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยานยนต์

แผนการเพิ่มการใช้ปาล์มน้ำมันเพื่อพลังงานสะอาดได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากการผลิตน้ำมันปาล์มในปริมาณมากของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับน้ำมัน B40 ประกอบด้วยไบโอดีเซล 40% และดีเซล 60%

BRICS ประกาศรับ 'อินโดนีเซีย' เป็นชาติสมาชิกเต็มรูปแบบรายล่าสุด

(7 ม.ค.68) รัฐบาลบราซิล ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ของปีนี้ ได้ประกาศให้ประเทศอินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS ในฐานะรัฐสมาชิกเต็มรูปแบบ ตามคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศบราซิลเมื่อวันที่ 6 มกราคม

"ในฐานะที่บราซิลดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม BRICS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2025 รัฐบาลบราซิลได้ประกาศในวันนี้ว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของ BRICS" กระทรวงระบุ

การตัดสินใจรับอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่มได้รับการเห็นชอบจากสมาชิก BRICS ทุกประเทศแล้ว กระทรวงการต่างประเทศบราซิลย้ำ

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ส่วนแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2010 ในปี 2024 BRICS มีการขยายกลุ่มครั้งที่สอง โดยรับสมาชิกใหม่ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย 

อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้ดำเนินการขั้นสุดท้ายในการเป็นสมาชิก แต่ได้เข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม BRICS แล้ว

ก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2024 รัสเซียในฐานะประธานกลุ่ม BRICS เมื่อปีที่แล้ว ได้ให้การรับรอง ไทย มาเลเซีย และชาติอื่น ๆ อีก 9 ประเทศร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนพันธมิตรอย่างเป็นทางการ

ความน่าสนใจของกลุ่มประเทศBRICS คือ การมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่าง จีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล

ขณะเดียวกัน เมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก

หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ คือ ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย

นายอำเภออินโดนีเซีย ลั่นขอบริจาคเงินเดือนทั้งหมดช่วยผู้ยากไร้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม

(7 มี.ค.68) ฟาห์มี มูฮัมหมัด ฮานิฟ (Fahmi Muhammad Hanif) นายอำเภอเมืองปูร์บาลิงงา ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจาการ์ตา ของประเทศอินโดนีเซีย ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะบริจาคเงินเดือนทั้งหมดของตนเองให้กับผู้ยากไร้ และองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม

โดยในการประกาศที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของฟาห์มี ระบุว่า “การช่วยเหลือสังคมและแบ่งปันสิ่งที่เรามีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต” เขาเชื่อว่าเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือนนั้นสามารถนำไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือมากกว่าแค่การเก็บสะสมไว้เป็นของตัวเอง

การบริจาคเงินเดือนทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มีเป้าหมายในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในสภาพยากจน โดยเขามุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นในการร่วมแบ่งปันพร้อมเข้ามาช่วยเหลือสังคม

ฟาห์มียังเสริมว่า “การเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในสังคม คือการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมอย่างจริงจัง” โดยเขาได้กำหนดให้โครงการการกุศลนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในชุมชนและประเทศ

ทั้งนี้ บริจาคเงินเดือนทั้งหมดของฟาห์มี มูฮัมหมัด ฮานิฟ ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก ทั้งจากสาธารณชนและคนในวงการต่างๆ ซึ่งมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำที่ใส่ใจต่อความยากจนและสังคม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top