Saturday, 24 May 2025
Huawei

HUAWEI Pura 70 Ultra ขายหมดเกลี้ยงใน 1 นาที ส่งสัญญาณยอดขาย iPhone ทรุดกว่าเดิมในจีน

เมื่อวานนี้ (18 เม.ย. 67) HUAWEI เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในตระกูล HUAWEI Pura 70 ที่รีแบรนด์มาจาก P-series เดิม รวม 4 รุ่น ประกอบด้วย HUAWEI Pura 70, Pura 70 Pro, Pura 70 Pro+ และตัวท็อป Pura 70 Ultra ซึ่งได้กลายมาเป็นที่จับตามองของสื่อต่างประเทศทันที ด้วยความที่มือถือเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็น ‘ตัวแทน’ ของจีน ท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ความก้าวหน้าในการพัฒนาชิปเซตของจีน และการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในจีนที่เป็นสมรภูมิสำคัญของโลก

โดยปีที่แล้ว HUAWEI ส่งสัญญาณคัมแบ็กระลอกแรก และเป็นระลอกใหญ่ โดยการเปิดตัว HUAWEI Mate 60 Pro+ ในจีน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับถล่มทลาย สินค้าขาดตลาดทุกช่องทางทั่วประเทศอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่นาน จนทำให้ยอดขาย iPhone 15 Pro Max ลดลงทันตาเห็น และ Apple ต้องอัดโปรฯ ลดราคาสู้ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว

แต่ HUAWEI Mate 60 Pro+ ก็แฝงไปด้วยปริศนาที่ทำให้ทั้งโลกมึนงง เกี่ยวกับชิป Kirin 9000S ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีการเก็งกันว่าจีนไม่น่าจะผลิตเองได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่กีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยได้ จนรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเข้ามาตรวจสอบในช่วงต้นปี พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า SMIC ที่เป็นผู้ผลิตชิป อาจมีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง และจนถึงตอนนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ในขณะที่ HUAWEI เองก็รูดซิปปิดปากเงียบ พยายามไม่พูดถึงตัวชิปในทุกวิถีทาง และเลี่ยงการตอบคำถามกับสื่อ

นอกจากนี้ หน่วยงาน Semiconductor Industry Association (SIA) ยังตรวจเจออีกว่า HUAWEI พยายามใช้วิธีซิกแซก โดยการเข้าซื้อหุ้นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์และหน่วยความจำในจีนหลังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล โดยการปกปิดความเกี่ยวโยงกับบริษัทแม่ เพื่อหลบเลี่ยงการแซงก์ชันจากสหรัฐฯ โดยทางสหรัฐฯ ก็แก้เกมด้วยการเพิ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าไปในบัญชีดำ Entity List เรียบร้อย แต่ยังไม่ดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม เพราะเกรงว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจจะตึงเครียดกว่าเดิม

สำหรับ HUAWEI Pura 70 Ultra หนนี้ HUAWEI ยังคงใช้แนวทางเดิมเป๊ะ คือไม่มีการโปรโมตเรื่องชิปอีกเช่นเคย รวมถึงประเด็นเรื่องการรองรับ 5G ก็หลีกเลี่ยงโดยการไม่ระบุข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับภาคการเชื่อมต่อเซลลูลาร์เลย แม้จะมีการนำเสนอถึงจุดขายว่าตัวเครื่องรับสัญญาณมือถือได้ดีมากก็ตาม

เบื้องต้นสื่อต่างประเทศให้ข้อมูลว่า HUAWEI Pura 70 Ultra น่าจะมาพร้อมชิปตัวใหม่ ที่อาจใช้ชื่อว่า Kirin 9010 ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ทางการสหรัฐฯ จะยื่นมือเข้ามาตรวจสอบเหมือนเดิม

แต่ไม่ว่าชิปข้างในจะเป็นอะไร ก็ดูเหมือนจะไม่ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในจีนแม้แต่น้อย เพราะล่าสุดมีรายงานว่า HUAWEI Pura 70 Ultra และ Pura 70 Pro ที่เปิดขายวันนี้เป็นวันแรก ต่างขายหมดเกลี้ยงในเวลาไม่ถึง 1 นาทีตั้งแต่ช่วงสาย (ตามเวลาท้องถิ่น) ส่วน HUAWEI Pura 70 Pro+ และ Pura 70 รุ่นมาตรฐาน จะวางขายตามมาภายหลังในวันที่ 22 เมษายน 2024

มีเกร็ดน่าสนใจเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คือ ลูกค้าที่ซื้อ HUAWEI Pura 70 จะต้องทำการแกะกล่อง เปิดเครื่อง เพื่อทำการลงทะเบียนกับทาง HUAWEI ให้เรียบร้อยตั้งแต่หน้าร้าน ทั้งนี้คาดว่า HUAWEI ต้องการป้องกันพ่อค้าที่นำเครื่องไปรีเซลขายโก่งราคาในภายหลัง

‘ผู้บริหาร Huawei’ ออกมาประกาศความสำเร็จของชิพ AI รุ่นใหม่  ชี้!! มีศักยภาพเหนือกว่า ชิพประมวลผลรุ่นดังของค่ายยักษ์ใหญ่ Nvidia

(9 มิ.ย.67) หวัง เถา COO ของบริษัท Huawei Ascend ได้แสดงผลทดสอบของชิพรุ่น Ascend 910B ในงานประชุม Nanjing World Semiconductor Conference เมื่อวันพฤหัส (6 มิถุนายน 2024) ที่ผ่านมา พบว่าการประมวลผลของชิพรุ่นนี้มีศักยภาพแทบไม่ต่างจาก Nvidia A100 และในการใช้งานกับบางรูปแบบ ยังแสดงผลลัพธ์เหนือกว่าชิพตัวดังของ Nvidia ถึง 20% 

ส่วนการทดสอบด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของ AI นั้นพบว่า ชิพ ของ Huawei แสดงประสิทธิภาพใกล้เคียงกับชิพของ Nvidia ตั้งแต่ 80% ถึงเหนือกว่าเล็กน้อย จึงสรุปได้ว่า Huawei Ascend 910B เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการใช้งานชิพประมวลผลขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถทดแทนชิพของค่าย Nvidia ซึ่งมีราคาสูงกว่า แถมยังถูกปิดกั้นจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

การประกาศความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ Huawei ถูกจับตามองอีกครั้ง หลังจากที่บริษัทกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และเทคโนโลยีของบริษัท Huawei ถูกขึ้นบัญชีดำโดยรัฐบาลอเมริกัน 

ทาง Huawei ก็ได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีในแนวทางพึ่งพาตัวเอง และได้เปิดตัวชิพ Ascend ของตัวเองครั้งแรกในปี 2019 ที่มากับความพยายามในยกระดับระบบนิเวศน์ทั้งซอฟท์แวร์ และฮาร์ดแวร์ของตนเอง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม AI ในประเทศที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูงของชาติตะวันตก 

ดังนั้นการเปิดตัว Ascend 910B ของ Huawei ในครั้งนี้ ก็เป็นเหมือนการขิงกลายๆว่า ชิพจีน ถึงจะพัฒนาช้าแต่ก็มานะ ทำถึง ทำทัน ชิพตัวดังของค่ายดังสหรัฐเหมือนกัน ต่อให้คว่ำบาตร Huawei หนักแค่ไหน ดอกไม้ 9 ชีวิตแดนมังกรตัวนี้ก็กลับมาได้ 
ถึงแม้ชิพ AI ของ Huawei จะไม่ได้กระทบยอดขายชิพของ Nvidia มากนัก ที่กินส่วนแบ่งชิพ AI ในตลาดจีนได้ถึง 90% อีกทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐยังเป็นตัวกดให้ชิพจีนขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ยาก 

แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของความทะเยอทะยานแบบสู้ขาดใจของ Huawei นั้นทำให้นักพัฒนาAI จีนได้ติดปีก ที่มีโอกาสสร้างผลงาน AI ของตนบนชิพที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับชิพตัวท็อปของสหรัฐได้เหมือนกัน

อาทิ iFlytek หนึ่งในบริษัทด้าน AI ของจีนได้ปล่อยแพลทฟอร์มคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ชื่อว่า Feixing One ที่พัฒนาบนชิพ Ascend ของ Huawei และจะนำเสนอรูปแบบการใช้งาน AI ที่คล้ายคลึงกับ ChatGPT ในเร็วๆนี้

ด้าน Nvidia เองก็ปรับกลยุทธ หลังรู้ข่าวการเปิดตัว Ascend 910B ของ Huawei ด้วยการเปิดตัว ชิพ AI รุ่นพิเศษอีก 3 รุ่น รวมถึงรุ่น H20 ที่ออกแบบมาเพื่อขายในตลาดจีนโดยเฉพาะ และพยายามไม่ติดเงื่อนไขการคว่ำบาตรของสหรัฐ แถมยังประกาศลดราคาชิพของตนในตลาดจีนลงอีกมากกว่า 10% เพื่อทำราคาให้ใกล้เคียงกับ Huawei และค่ายคู่แข่งจีน 

ซึ่งเป้าหมายการตลาดของ Nvidia ก็เบาๆ เราไม่ขออะไรมาก แค่ส่วนแบ่ง 100% ของตลาดชิพ AI ทั่วโลกเท่านั้นเอง  
แหล่งข่าวแวดวงเซมิคอนดัคเตอร์จีนยังบอกอีกว่า ค่ายยักษ์ใหญ่อีกค่ายอย่าง Tencent ก็เตรียมปล่อย ชิพ AI ของตนลงมาแข่งเพื่อขอแบ่งเค้กในตลาดจีนกับเขาด้วย

ไม่น่าเชื่อว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ จะเป็นตัวเร่งให้ตลาดชิพในจีนมีการแข่งขันกันสูงยิ่ง ทั้งในแง่การพัฒนา และ การตลาด กลายเป็นศึกชิงเจ้ายุทธจักร AI อันดุเดือดที่ไม่มีใครยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว 

‘Huawei’ เผยโฉมศูนย์ R&D เฉียด 5 หมื่นล้าน ปูฐานสู่ผู้นำโลกนวัตกรรม ปลดล็อกอำนาจกีดกันจากสหรัฐฯ ทั้ง 'ชิป-มือถือ-OS-เน็ตเวิร์ก-อื่นๆ'

(17 ก.ค. 67)  Huawei Technologies ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก เดินหน้าก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) มูลค่า 10,000 ล้านหยวน (ราว 49,776 ล้านบาท) ในเซี่ยงไฮ้ จนแล้วเสร็จ ท่ามกลางการถูกสหรัฐอเมริกากีดกันทางการค้าอย่างหนัก

Lianqiu Lake R&D Center ของ Huawei ศูนย์ R&D ตั้งอยู่ในศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่สำคัญของเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในปี 2568 ประกอบด้วย 8 โซน มีอาคาร 104 หลัง เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการ สำนักงาน 40,000 แห่ง และพื้นที่พักผ่อนที่เชื่อมต่อกันผ่านระบบรถไฟภายในศูนย์

แม้ว่าการก่อสร้างสะพานและโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางโครงการยังคงอยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่การพัฒนาป้าย ถนน และการบริการรถไฟสำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนานี้ก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว

คาดว่าบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 35,000 คน จะย้ายไปยังศูนย์แห่งนี้ เพื่อทำงานเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ เครือข่ายไร้สาย และ Internet of Things (IoT)

Lianqiu Lake R&D Center ของ Huawei ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 2,400 เอเคอร์ (ราว 6,072 ไร่) และพื้นที่ก่อสร้างรวม 2.06 ล้านตารางเมตร (มีขนาดใหญ่กว่า Apple Park และสำนักงานใหญ่ Redmond Campus ของ Microsoft ในซีแอตเทิล รวมกัน) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาระดับโลก และเริ่มดำเนินการในปีนี้ ตามประกาศก่อนหน้านี้ของรัฐบาลท้องถิ่น

“เรามุ่งมั่นที่จะสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติในการทำงานและอยู่อาศัย” Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท บอกกับพนักงานในการประชุมภายในปี 2021 ซึ่งหัวเว่ยเปิดเผยต่อสาธารณะในเวลาต่อมา ตามรายงานของ South China Morning Post

Ren Zhengfei คาดหวังว่าจะดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติด้วยสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น ร้านกาแฟมากกว่า 100 แห่ง ที่เปิดให้บริการภายในศูนย์ฯ

ศูนย์ R&D นี้ จะรวมความพยายามด้านการวิจัยของ Huawei ในด้านเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีไร้สาย การพัฒนาสมาร์ทโฟนเรือธง การขับขี่อัจฉริยะ/ส่วนประกอบยานยนต์ พลังงานดิจิทัล และด้านอื่น ๆ ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การสนับสนุนที่เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจที่กำลังขยายตัวของ Huawei เช่น 5G/6G พลังงานดิจิทัล และโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ

การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศจีนของ Huawei ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำในสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นถึงความไม่ย่อท้อของบริษัทที่มีฐานบัญชาการในเซินเจิ้นแห่งนี้กำลังดำเนินการเพื่อเอาชนะมาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีที่ขัดขวางการเติบโตของบริษัท

ท่ามกลางการแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และการคว่ำบาตรต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา Huawei ยิ่งจะต้องสนับสนุนความพยายามในการวิจัยและพัฒนาของตน การรวมศูนย์การวิจัยหลายแห่งเข้าด้วยกันเช่นนี้ ทำให้ Huawei สามารถปรับปรุงการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างแผนกต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และแน่นอนว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัทได้อย่างมาก

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา Huawei เผชิญชะตากรรมอันเลวร้าย โดยในปี 2563 TSMC ซึ่งเป็นผู้จัดหาชิปสมาร์ทโฟนของ Huawei มากกว่า 90% ได้หยุดส่งชิ้นส่วนสำคัญนี้ให้กับ Huawei เนื่องจากการควบคุมการส่งออกของสหรัฐอเมริกา ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ Huawei ต้องออกจากสายธุรกิจทั้งหมดที่อาศัยเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในที่สุด

ข้อจำกัดดังกล่าวยังส่งผลให้รายได้ของ Huawei ลดลงอย่างมาก โดยลดลง 23% จากปี 2562 ถึง 2564 ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของบริษัทในการลงทุนในกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา

การคว่ำบาตรยังจำกัดความสามารถของ Huawei ในการร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศและมีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มการวิจัยระดับโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจชะลอกระบวนการสร้างนวัตกรรมของบริษัท เพื่อตอบโต้ผลกระทบของการคว่ำบาตร Huawei ต้องลงทุนมหาศาลในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและเทคโนโลยีทางเลือก

โครงการเรือธงนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนของ Huawei ในเทคโนโลยีแห่งอนาคต และความไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของสหรัฐอเมริกาที่บังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ทำให้ผู้บริหารชาวอเมริกันของบริษัทชิปจีนที่เป็นเป้าหมายตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากวอชิงตันสั่งห้าม ‘บุคคลในสหรัฐฯ’ ให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านั้น

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้กล่าวถึงการจ้างงาน แต่กฎเกณฑ์นี้ได้จำกัดความสามารถของบุคคลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตชิปที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์บางแห่งในจีนโดยไม่มีใบอนุญาต

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ Huawei เสนอแพ็คเกจเงินเดือนที่แข่งขันได้ และได้จ้างวิศวกรจากประเทศอื่นที่มีประสบการณ์ในการผลิตเครื่องมือผลิตชิปและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาชิปชั้นนำแล้ว 

"แม้จะถูกไล่บี้อย่างหนัก Huawei สร้างความประหลาดใจอีกครั้งในตลาดสมาร์ทโฟน 5G จากการที่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อเปิดตัวโทรศัพท์มือถือที่ขับเคลื่อนโดยโปรเซสเซอร์ 7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่ได้รับการยกย่องในแผ่นดินใหญ่ และแน่นอนว่านวัตกรรมนี้ได้จุดประกายการตรวจสอบอย่างเข้มงวดอีกครั้งจากวอชิงตันในแง่ของการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่"

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของสหรัฐอเมริกาที่บังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ทำให้ผู้บริหารชาวอเมริกันของบริษัทชิปจีนที่เป็นเป้าหมายตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากวอชิงตันสั่งห้าม 'บุคคลในสหรัฐฯ' ให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านั้น

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้กล่าวถึงการจ้างงาน แต่กฎเกณฑ์นี้ได้จำกัดความสามารถของบุคคลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตชิปที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์บางแห่งในจีนโดยไม่มีใบอนุญาต

เมื่อปีที่แล้ว Huawei ลงทุน 23% ของรายได้ทั้งหมดหรือ 164,700 ล้านหยวน ในโครงการริเริ่มด้านการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ตามรายงานประจำปีของบริษัท พนักงานประมาณ 114,000 คนหรือ 55% ของพนักงาน Huawei ทั้งหมด มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เพิกถอนใบอนุญาต 8 ฉบับในปีนี้ ทำให้บริษัทสหรัฐอเมริกาบางแห่งสามารถจัดส่งสินค้าให้กับ Huawei ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อต้นเดือนนี้

ไม่เพียงเท่านี้ Huawei ต้องการจะทำลายการครอบงำระบบปฏิบัติการมือถือแบบตะวันตกในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อเปิดตัว HarmonyOS Next ซึ่งจะยุติการสนับสนุนแอปฯ Android แม้จะเป็นเรื่องยากมากก็ตาม

อีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าชื่นชมคือในไตรมาสแรกของปีนี้ Huawei แซงหน้า Samsung Electronics กลายเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนจอพับได้ที่ขายดีที่สุดในโลก

'หัวเว่ย' ส่งสัญญาณโอเปอเรเตอร์ไทย ขานรับ '5.5G' หนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ 'ทรู-เอไอเอส' จ่อแจม หลัง 60 โอเปอเรเตอร์ทั่วโลกเปิดตัวในเชิงพาณิชย์แล้ว

(15 ส.ค. 67) นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการ ฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Huawei กล่าวในงาน Asia-Pacific ICT Summit 2024 ถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5.5G และบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่าในขณะที่ 4G เคยสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่และโอกาสในการทำงานของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ 5G จะยิ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้งาน 5G ทุก ๆ 10% จะทำให้ GDP เติบโต 1% ถึง 1.8% และ 5G สามารถเพิ่มผลผลิตให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมได้ 10% ถึง 20% สถิติเหล่านี้จึงสะท้อนทิศทางที่สดใสของตลาด 5.5G ในภูมิภาค

"เทอร์มินัลมากกว่า 30 ประเภทรองรับ 5.5G และผู้ให้บริการมากกว่า 60 รายได้เปิดตัว 5.5G ในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยโอเปอเรเตอร์บางรายได้นำ 5.5G มาใช้ในเครือข่ายขนาดใหญ่ จึงชัดเจนว่าการผสมผสานระหว่าง AI และ 5.5G จะขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ซึ่งในการจัดส่งสมาร์ทโฟน AI ทั่วโลกที่จะสูงถึง 170 ล้านเครื่องในปี 2024 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจคิดเป็น 40-50% ของการจัดส่งเหล่านี้"

อาเบลย้ำว่าวันนี้มีโครงการ 5G B2B มากกว่า 13,000 โครงการทั่วโลก ทำให้บริการด้าน 5G รูปแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด โอเปอเรเตอร์จึงเริ่มสร้างรายได้จากการมอบประสบการณ์ที่หลากหลายให้ผู้ใช้ ที่จะได้ใช้งานดิจิทัลแบบลื่นไหลบนความสามารถของ 5.5G ตั้งแต่การปรับปรุงความเร็วแบนด์วิดท์ การรองรับความหนาแน่นของการเชื่อมต่อได้มากขึ้น ความแม่นยำในการระบุตำแหน่งที่ทำให้เล่นเกมได้ดีขึ้น และประสิทธิภาพด้านพลังงานที่ประหยัดกว่าเมื่อเทียบกับ 5G

5.5G ของ Huawei จะรองรับแอปพลิเคชันใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี XR (extended reality) เสมือนจริง การส่งสัญญาณระบบภาพความละเอียดสูงพิเศษ และการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ IoT ที่ทุกสิ่งล้วนต้องออนไลน์ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 10 กิกะบิตต่อวินาที (เร็วกว่า 5G ถึง 10 เท่า) ความหน่วงต่ำกว่า 1 มิลลิวินาทีจนผู้ให้บริการสามารถรับประกันคุณภาพหรือ SLA ได้แบบกำหนดเอง ที่สำคัญคือรองรับ AI และเครือข่ายอัตโนมัติดีกว่าเพราะประสิทธิภาพและการจัดการเครือข่ายที่ดีขึ้น

ในขณะที่ย้ำว่าเทคโนโลยี 5.5G ช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถให้บริการแนวใหม่ เช่น Massive IoT ประสบการณ์ 3D/MR/XR การสื่อสาร V2X และแอปพลิเคชัน AI ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ Huawei ได้ส่งสัญญาณกำลังร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างระบบนิเวศ 5.5G ที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ทั้งเอไอเอสและทรูที่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีงานประชุมเมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานที่จัดแสดงการใช้งานเทคโนโลยี 5G และ 5.5G ในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่โรงงานอัจฉริยะ รถแท็กซี่ไร้คนขับ และการชอปปิ้งด้วย AI

มาร์ก ชง ชิน กก (Mark Chong Chin Kok) รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่าเครือข่าย 5G ของ AIS นั้นครอบคลุมพื้นที่ 95% ของไทย ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่เครือข่าย 5G ครอบคลุมมากที่สุด และบริษัทจะยังคงขยายการลงทุนเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในศักยภาพของเครือข่าย ขณะที่ นายฮาว ริ เร็น (How Lih Ren) หัวหน้าสายงานการพาณิชย์ พันธมิตรเชิงกลยุทธ์และเทเลคอม-เทค บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทใช้ AI ในการพัฒนาบริการลูกค้าทั้งดีแทคและทรูอย่างเป็นเนื้อเดียว และในปี 2024 คนไทยจะได้เห็นบริการแชตบอตของบริษัทในรูปผู้ช่วยส่วนตัวชื่อมะลิ ซึ่งแม้ทั้งคู่จะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการลงทุน แต่ก็ถือเป็นสัญญาณการเปิดทางให้บริการและโอกาสทางธุรกิจใหม่ในไทยในช่วง 5 ปีที่ 6G จะยังไม่เกิด

สำหรับงาน Asia-Pacific ICT Summit 2024 นั้นเป็นงานแสดงโมเดลอัจฉริยะหลากหลายสำหรับชีวิตดิจิทัล ทั้งด้านการทำงาน การแพทย์ รวมถึงบ้านอัจฉริยะ Wi-Fi 7 และนวัตกรรมระดับอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เปิดให้งานในหลายเมืองใหญ่ของจีนเรียบร้อย

‘Huawei’ เปิดตัว Mate XT สมาร์ตโฟน 'จอพับ 3 ทบ' รุ่นแรกของโลก ชู!! เทคโนโลยี ‘กลไกบานพับคู่’ พร้อมคุณสมบัติ ‘หน้าจอโค้ง’

(11 ก.ย. 67) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.67) ‘หัวเหวย’ (Huawei) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เปิดตัวสมาร์ตโฟนแบบจอพับสามทบรุ่นแรกของโลก รุ่น Mate XT ในนคร ‘เซินเจิ้น’ มณฑล ‘กว่างตง’ (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งมาพร้อมกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น กลไกบานพับคู่ และคุณสมบัติหน้าจอโค้ง

‘อวี๋เฉิงตง’ กรรมการบริหารของหัวเหวย กล่าวว่าเทคโนโลยีที่รุดหน้าไปอย่างต่อเนื่องเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาสมาร์ตโฟนจอพับ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

ไอดีซี (IDC) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก เผยว่าตลาดโทรศัพท์มือถือจอพับของจีนมียอดการจัดส่งเติบโตร้อยละ 114.5 เมื่อปี 2023 ด้วยจำนวนกว่า 7 ล้านเครื่อง

'สุริยะ' หารือ 'Huawei' ดึงเทคโนโลยี AI แก้ปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมช่วยผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง

(27 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ณ Huawei Da Vinci Exhibition Hall สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในประเทศไทย ที่มีความยากลำบากในการแก้ไข ทั้งนี้หากเทคโนโลยีของ Huawei สามารถช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง มีเทคโนโลยีในการทำนายภัยพิบัติและเตรียมการล่วงหน้าได้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการส่งเสริมไทยพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล และหาก Huawei สนใจจะเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว กระทรวงคมนาคมมีความยินดีที่จะให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยต่อไป

Mr. Richard Liu ผู้บริหารบริษัท Huawei กล่าวว่า ภายหลังประเทศไทยประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารบริษัท Huawei ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงได้มีการเดินทางเข้ามาศึกษาและเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยหลายหน่วยงาน และนำเสนอเทคโนโลยีระบบ IoT (Internet of thing) ระบบ Cloud และ AI ของ Huawei ซึ่งได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการจราจรทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนตรวจจับหรือคาดการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการใช้งานระบบดังกล่าวในมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน โดยระบบดังกล่าวลดการใช้แรงงานคนไปได้ถึง 66% ลดต้นทุนได้ถึง 30% และลดการใช้พลังงานได้ถึง 17% 

ทั้งนี้ บริษัท Huawei ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวของภูมิภาค ผ่านระบบ Smart Plan ซึ่งจะลดระยะเวลาเตรียมการในการขนส่งจากหลักชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที Intelligent Security Protection เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการขนถ่ายสินค้า Ultra remote control ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบต่าง ๆ ได้มากถึง 80% และระบบ Intelligent horizontal transportation

ขณะเดียวกันจะช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 10% ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติ ที่สามารถทำให้การขนย้ายสินค้ามีประสิทธิภาพได้ตลอด 24 ชม. โดยดำเนินการผ่านระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลางที่รวบรวมข้อมูล และถ่ายทอดสถานการณ์สดจากถนน ท่าเรือสนามบิน และสถานีรถไฟ ผ่านศูนย์ Transportation Operation Coordination Center (TOCC) เพื่อเชื่อมโยงทุกช่องทางการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน และวิเคราะห์โดย AI เพื่อบริหารจัดการการจราจรและการขนส่งให้มีความคล่องตัว ซึ่งจะสอดคล้องนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการเสริมสร้างด้าน Connectivity ในการขนส่ง อีกทั้ง สอดรับกับความต้องการของรัฐบาลไทยในการยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในปัจจุบัน

‘Huawei’ เปิดตัว ‘HarmonyOS NEXT’ สลัด!! ‘Android’ ทิ้งอย่างสิ้นเชิง

(23 ต.ค. 67) แกนหลักของ HarmonyOS เป็นการพัฒนาของ Huawei ด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งทำให้จีนสามารถหลุดพ้นจากการพึ่งพา Android และจะสามารถพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ ต่อยอดตามความต้องการของตนเองได้ โดยไม่ถูกจำกัดจากปัจจัยอื่นๆ

ตามข้อมูลที่เปิดเผยในงานแถลงข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ HarmonyOS เวอร์ชันก่อนหน้านี้ยังคงใช้โค้ดบางส่วนจากโครงการ Android Open Source Project (AOSP) ทำให้ต้องรองรับแอปพลิเคชัน Android บางส่วน

แต่ HarmonyOS NEXT ที่เพิ่งเปิดตัวได้พัฒนาระบบพื้นฐานขึ้นเองทั้งหมด ทำให้บรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองและการควบคุมระบบปฏิบัติการภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน ความลื่นไหลของระบบ ประสิทธิภาพ และคุณสมบัติด้านความปลอดภัยก็ได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ

ตามรายงานของสื่อ มีแอปพลิเคชันและบริการเมตามากกว่า 15,000 รายการที่เปิดตัวบน HarmonyOS NEXT ครอบคลุม 18 อุตสาหกรรม และแอปพลิเคชันสำนักงานทั่วไปได้ครอบคลุมบริษัทมากกว่า 38 ล้านแห่งทั่วประเทศ

ตามรายงาน HarmonyOS NEXT ลดอุปสรรคและต้นทุนในการเข้าถึงระบบ โดยได้ปรับปรุงให้มีความคล่องตัวขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และแอปพลิเคชันจำนวนมากได้รับการอัปเดตแบบต่อเนื่องวันละครั้ง

หยู เฉิงตง (Yu Chengdong) หรือ Richard Yu กรรมการบริหารของ Huawei และประธานคณะกรรมการของกลุ่มธุรกิจผู้บริโภค กล่าวระหว่างการประชุมว่า "HarmonyOS NEXT ที่เปิดตัวในครั้งนี้ ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ในแง่ของอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ความปลอดภัย และการปกป้องความเป็นส่วนตัว ปัจจุบัน แอปพลิเคชันที่เปิดตัวบนแพลตฟอร์มได้รับการอัปเดตเกือบทุกวัน สามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์และสถานการณ์หลากหลาย เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และห้องโดยสารรถยนต์

ปัจจุบัน จำนวนอุปกรณ์ที่รองรับ HarmonyOS มีมากกว่า 1 พันล้านเครื่อง มีนักพัฒนาที่ลงทะเบียน 6.75 ล้านคน ในขณะเดียวกัน Huawei ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศจีนเพื่อเร่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

HarmonyOS เปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 โดยใช้กับจอแสดงผลอัจฉริยะของ Huawei   และเริ่มใช้กับโทรศัพท์มือถือ Huawei ในปี 2021

ในไตรมาสแรกของปี 2024 HarmonyOS ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง และส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกเกิน 4 เปอร์เซ็นต์ ตามสถิติจาก Counterpoint บริษัทวิจัยตลาดเทคโนโลยีระดับโลก

ในตลาดจีน ด้วยความนิยมในผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ของ Huawei ทำให้ HarmonyOS มีส่วนแบ่งตลาด 17 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรก และ iOS ของ Apple มีส่วนแบ่งตลาด 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าส่วนแบ่งตลาดของ HarmonyOS แซงหน้า iOS เป็นครั้งแรก กลายเป็นระบบปฏิบัติการอันดับสองในตลาดจีน ตามรายงานของ Counterpoint

ตามรายงานการวิเคราะห์ของ Zhongtai Securities เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมระบุว่า ระบบนิเวศแอปพลิเคชันของ HarmonyOS กำลังเติบโต  และการทำตลาดในวงกว้างของ HarmonyOS กำลังจะมาถึงในปี 2024 ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันจำนวนมากปรับตัว ย้ายแพลตฟอร์ม และพัฒนาต่อยอด

Huawei สานต่อพันธกิจ ‘TECH4ALL’ ปลดล็อกโอกาสการศึกษา ขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้โรงเรียนประถมในเคนยา 21 แห่ง

(26 มี.ค. 68) หัวเหวย (Huawei) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศความสำเร็จของโครงการ “เชื่อมต่อดิจิทัลระยะที่สอง” ในโรงเรียนประถมศึกษาของเคนยาจำนวน 21 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลเคนยาและองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มระยะยาว “TECH4ALL” ของหัวเหวย ซึ่งมุ่งเน้นการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดย สตีเวน จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกิจการสาธารณะของหัวเหวยในเคนยา กล่าวว่า “การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน แต่ยังเปิดโอกาสให้ครูและผู้บริหารสามารถเข้าถึงระบบการจัดการออนไลน์ได้ง่ายขึ้น”

ก่อนหน้านี้ หัวเหวยได้ดำเนินโครงการดิจิสคูล (DigiSchool) ในระยะที่หนึ่ง โดยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กับ 13 โรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนและครู กว่า 6,000 คน ได้รับประโยชน์ โดยมีการสำรวจพบว่า 98% ของนักเรียนเห็นว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตช่วยตอบสนองความต้องการทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะที่สองนี้ โครงการ “เคนยา ดิจิสคูล คอนเน็กต์วิตี้” (Kenya DigiSchool Connectivity) ได้ขยายการเชื่อมต่อไปยัง 6 โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการลดช่องว่างทางดิจิทัลของประเทศ

“ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนคือหัวใจสำคัญของการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน” หลุยส์ แฮ็กซ์เฮาเซน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกของยูเนสโก กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top