Tuesday, 22 April 2025
HPV

‘ชลน่าน’ เดินหน้าลุยฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส ฟรี!! ปกป้องหญิงไทยห่างไกลมะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ

‘หมอชลน่าน’ ประกาศเดินหน้านโยบาย 100 วันแรก เร่งฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้หญิงไทยอายุตั้งแต่ 11 - 20 ปีทั่วประเทศ จำนวน 1 ล้านโดสฟรี หลังตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มปีละประมาณ 6,500 ราย

เมื่อวานที่ 16 ก.ย. 66 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเดินหน้าโครงการ Quick Win ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 100 วัน หลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขโดยหนึ่งในนั้น คือ การฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับหญิงไทยที่มีอายุ 11 - 20 ปีทั่วประเทศอย่างน้อย 1 ล้านโดส หลังพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 6,500 ราย

นายแพทย์ชลน่าน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม  มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 2,000 รายโดยมะเร็งชนิดนี้ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human papillomavirus (HPV) ที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่ต้องฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้บริการฉีดวัคซีน HPV จำนวน 2 เข็ม เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับนักเรียนหญิงชั้น ป. 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 (ปัจจุบันมีอายุ 17 ปี) ดังนั้น ผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ประกอบกับในปี 2562-2565 ทั่วโลกประสบปัญหาวัคซีนขาดชั่วคราวในช่วงโควิดระบาด ทำให้กลุ่มเป้าหมาย ป.5 ในปีนั้น ซึ่งปัจจุบันอายุ 13-15 ปีไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

จึงได้กำหนดให้การฉีดวัคซีน HPV เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win “มะเร็งครบวงจร” โดยเร่งรัดการฉีดวัคซีนสำหรับหญิงอายุ 11-20 ปี ซึ่งได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเร่งกำหนดแนวทางการให้วัคซีน และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประเมินจำนวนกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมอบให้ สปสช. เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

“การฉีดจะมี 2 ส่วน คือ กลุ่มเด็ก ป.5 - ม.6 จะฉีดผ่านสถานศึกษา (School-based program) โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการฉีดเป็นกลุ่มเหมือนกับที่เคยฉีดวัคซีนโควิด ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นเด็กนอกระบบการศึกษา รวมถึงหญิงอายุ 18-20 ปี ที่จบชั้น ม.6 แล้ว จะได้รับการฉีดที่สถานพยาบาล ตั้งเป้าหมายว่าต้องฉีดวัคซีน HPV ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านโดสภายในเวลา 100 วัน” รมว.สาธารณสุข กล่าวสรุปทิ้งท้าย

‘หมอชลน่าน’ เตรียมชี้แจงแนวทางฉีดวัคซีน HPV ก่อนคิกออฟพร้อมกันทั่วประเทศ 1 พ.ย.นี้

(11 ต.ค.66) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ชลน่านแถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ทั้ง 13 ประเด็น ซึ่งทุกประเด็นมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ 

ยกตัวอย่าง ประเด็นยาเสพติด/สุขภาพจิต พบว่า มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว 35 จังหวัด คิดเป็น 46% รวมถึงเรื่องให้มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยเฉพาะผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ หรือ ประเด็นมะเร็งครบวงจร จะมีการชี้แจงแนวทางการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกทม. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ เพื่อคิกออฟฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

ส่วนประเด็นดิจิทัลสุขภาพ ทีมส่วนกลางได้ร่วมกับทีมโรงพยาบาลในพื้นที่ จัดทำเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การให้บริการ และความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาโรงพยาบาล รองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ตามที่ประกาศนำร่องไว้ มั่นใจว่าจะมี Smart Hospital ไม่น้อยกว่า 200 แห่งในระยะเริ่มแรก

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน 2 เรื่อง คือ 1.เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งคนไทยชุดแรกจะกลับมาถึงประเทศไทยวันที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 10.35 น. จะมีทีมแพทย์คัดกรองสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่สนามบิน หากมีปัญหาสุขภาพกายจะส่ง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน หรือ รพ.นพรัตนราชธานี

หากมีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้เตรียมโรงพยาบาลด้านจิตเวชไว้รองรับ คือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานจนอาการเป็นปกติ

นอกจากนี้ได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ลงไปดูแลญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทุกแห่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา และ 2.การติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งยังมีสถานการณ์ในหลายจังหวัดส่วนใหญ่เป็นอุทกภัยซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลง

ทั้งนี้ ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ดูแลผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 19 แห่ง ยังเปิดให้บริการตามปกติ 18 แห่ง ต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนนายาง จ.กาฬสินธุ์

‘สธ.’ คิกออฟ!! ฉีดวัคซีน HPV สกัดมะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ ตั้งเป้า 1 ล้านโดส ใน 100 วัน ‘หญิงไทย’ ต้องปลอดภัยจากมะเร็ง

(8 พ.ย. 66) ที่โรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแทพย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นาย Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย, นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค, แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดกิจกรรมความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร ‘Kick Off’ การรณรงค์สร้างภูมิ HPV นักเรียนไทยสุขภาพดี ปลอดมะเร็ง ‘Save Our Children by 1 Million HPV Vaccines’ โดยจัดฉีดวัคซีน HPV ให้นักเรียนหญิงประมาณ 700 คน เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วย

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2567 สธ.ได้กำหนดนโยบาย ‘มะเร็งครบวงจร’ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจ โดยเฉพาะมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ในอายุ 11-20 ปี, การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง อายุ 30 ปีขึ้นไป ส่วนในกลุ่มผู้อายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการอัลตราซาวนด์คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี และการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ เป็นต้น

“โดยการขับเคลื่อนควิกวิน (Quick Win) 100 วันแรก จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ที่ก่อมะเร็งปากมดลูก ในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส เริ่มคิกออฟสำหรับนักเรียนหญิงในสถานศึกษาพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มนักเรียน ให้มีภูมิคุ้มกัน ลดอาการป่วย และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในอนาคต สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่อายุไม่เกิน 20 ปี สามารถรับวัคซีน HPV ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันมะเร็งในสตรีไทย ตามสโลแกน ‘สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง’ หรือ ‘Women Power No Cancer’ ซึ่งหากพบว่าป่วยจะได้รับการรักษาทันท่วงที ช่วยลดการเสียชีวิต รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกคน และปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้ประชากรสูญเสียการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุข รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต้องทำในทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกันโรค ตรวจคัดกรอง พัฒนาวิธีการรักษา และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

“สำหรับการจัดกิจกรรมคิกออฟวันนี้ ได้ร่วมกับ สพฐ. ให้บริการฉีดวัคซีน HPV สำหรับนักเรียน พร้อมให้ความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกสำหรับประชาชนทั่วไป การคัดกรองโรคมะเร็งต่างๆ สำหรับประชาชนตามช่วงวัย จะใช้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน รวมถึงมีบริการเอกซเรย์ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองมะเร็งได้สะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นตัวอย่างการดำเนินงานและการนำร่องให้บริการในชุมชน” นพ.โอภาส กล่าว

ขณะที่ พญ.ปรียาพร คงจรรักษ์ นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาล (รพ.) ไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวว่า วันนี้ รพ.ไทรน้อยได้จัดฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 ให้กับนักเรียนกว่า 700 คน โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับการฉีดวัคซีนของเด็กนักเรียนกว่า 50 คน เป็นทั้งเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน แพทย์ รพ.ไทรน้อย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งจะมีขั้นตอนตั้งแต่การลงทะเบียนฉีดวัคซีน การคัดกรองสุขภาพก่อนฉีด จุดฉีดวัคซีนและจุดพักสังเกตอาการ 15-30 นาที

ทั้งนี้ จากการติดตามผลหลังฉีด ยังไม่มีนักเรียนที่เกิดอาการแพ้วัคซีน จะมีเพียงอาการปวดบริเวณจุดที่ฉีด โดยการฉีดวัคซีน HPV จะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงสุดควรมารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนดเวลา

“สำหรับ รพ.ไทรน้อย จะมีการประกาศให้ผู้หญิงไทยอายุ 11 – 20 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลประมาณเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะรวมทั้งนักเรียนที่อยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา สามารถไปลงทะเบียนฉีดที่โรงพยาบาลได้เลย” พญ.ปรียาพร กล่าว

ด้าน น.ส.พิมพ์ณดา เลิศโกสิตรุจ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน HPV กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นครั้งแรกของตน โดยที่ผ่านมาตนยังไม่เคยเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อ HPV มาก่อน แต่เมื่อทางโรงเรียนเปิดให้สมัครใจฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้กับเด็กนักเรียนหญิงอายุ 11 ปี จนถึงนักเรียนหญิงชั้น ม.6 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตนเลยตัดสินใจมาฉีดเพื่อความปลอดภัยในอนาคต ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการได้ฉีดวัคซีนฟรีเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะครอบคลุมไปถึงคนที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการไปเสียเงินฉีดเอง ส่วนอาการหลังฉีดก็มีรู้สึกปวดที่แขนเล็กน้อยเหมือนกับการฉีดวัคซีนโควิด-19


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top