‘ภูมิใจไทย’ ดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ สำเร็จ หนุนจัดการศึกษาตลอดชีวิต-เพื่ออาชีพ-ตามอัธยาศัย เพิ่มบทบาทกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้สนับสนุน เปิดทางองค์กรอื่นเป็นผู้จัดการศึกษาเอง เพื่อสร้างคนตามความต้องการ พร้อมตั้งธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อเทียบโอน-พักเรียน เล็งจัดตั้ง ‘ครูหมู่บ้าน’ จำนวน 800,000 คนทั่วประเทศ เป็นอาสาสมัครให้ความรู้กับชุมชน
(1 เม.ย.66) ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘พลิกโฉมการศึกษาไทย ด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้’ โดย ดร.กมล รอดคล้าย คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย ได้กล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ไว้ว่า…
“โดยทั่วไปแล้ว การจัดการศึกษามีกรอบแนวทาง ซึ่งจะมีแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนดทิศทางเนื้อหา สาระ และสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ไว้ แต่มันจะต้องมีกฎหมายหลักอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนการจัดการศึกษา เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ’ แต่เนื่องจากว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไป โลกของการเรียนรู้ได้ออกไปนอกห้องเรียนมากขึ้น ทุกคนสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ และยังมีวิธีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้น จึงมีพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้’ ”
ดร.กมล ได้กล่าวต่อว่า “แม้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา แต่พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เราได้ขับเคลื่อน พ.ร.บ ฉบับนี้จนประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ประมาณ 3-4 เรื่อง ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น
เรื่องที่ 1 รูปแบบการจัดการศึกษา ซึ่งเดิมทีใช้ระบบการจัดการศึกษาแบบตามคุณวุฒิ คือ เรียนประถมฯ มัธยมฯ ซึ่งการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เราเรียกว่า ‘การศึกษาเพื่ออาชีพ’ สำหรับนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพต่าง ๆ และการจัดการการศึกษาเพื่อส่งเสริมความรู้ตามอัธยาศัย ตามความสนใจ รูปแบบการจัดการศึกษาในอนาคต จึงเปลี่ยนไปจากเดิม และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ เข้าถึงการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น รวมถึงสามารถที่จะไปเรียนต่อในต่างประเทศ ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้
ประการต่อไป คือ ผู้จัดการศึกษา ต้องไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว กระทรวงศึกษาธิการอาจทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาตามคุณวุฒิ แต่เราสามารถสนับสนุนให้ผู้อื่นจัดการศึกษาเพิ่มเติมได้ เช่น โรงงาน บริษัทใหญ่ ๆ หรือภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการผู้ที่มีความชำนาญในอาชีพเฉพาะทาง เราสามารถที่จะให้งบในการซัพพอร์ตบางส่วน เพื่อให้หน่วงงานเหล่านั้นไปเป็นคนจัดการศึกษา และจากนั้น เด็กจึงนำวิชาที่เรียนมาเทียบโอนกับการศึกษาในระบบได้ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดเก็บไว้ในระบบที่เรียกว่า ‘ธนาคารหน่วยกิต’ หรือ ‘เครดิตแบงก์’ (Credit Bank) ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเตรียมพร้อมที่จะจัดตั้ง ‘สถาบันพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต’ ขึ้นในโอกาสต่อไป หากพรรคภูมิใจไทยได้เข้าไปเป็นรัฐบาล เราจะต้องพัฒนาส่งเสริมให้หน่วยงานมีพิพิธภัณฑ์ มีศูนย์วิทยาศาสตร์ มีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มีห้องสมุด ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่เราจะจัดการศึกษาให้กับทุกคน และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต สามารถที่จะหยุดพักการเรียนเพื่อไปทำงานแล้วเก็บหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต เพื่อให้สามารถกลับมาเรียนในโอกาสต่อไปได้”