Sunday, 20 April 2025
DigitalPlatform

‘ดีอีเอส’ เดินหน้าพัฒนากฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มความปลอดภัย คุ้มครองประชาชน มีผล 21 ส.ค.นี้

‘ดีอีเอส’ ประกาศ กฎหมาย Digital Platform จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลาง อาทิ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ sharing economy บริการสืบค้น (search engine) บริการรวมรวมข่าว โฮสติ้ง คลาวด์ แจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ‘ETDA’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อรองรับ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ ‘กฎหมาย Digital Platform’ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 5,000 รายต่อเดือน มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร

โดยกฎหมาย Digital Platform จะกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ และกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน 90 วันซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“กฎหมาย Digital Platform กำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้มีมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม มีการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนั้น ขอย้ำว่าผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ หรือคนไลฟ์สด หรือคนทำ content เผยแพร่ บนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาแจ้งให้ ETDA ทราบตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด” นายชัยวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ETDA จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.ฎ. Digital Platform (Public hearing) รวม 4 ครั้ง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาจนถึงครั้งที่ 4 ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 เกี่ยวกับ (ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหลอกลวง การไม่ทราบตัวคนที่ต้องรับผิด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดโต๊ะหารือ 2 ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ‘Pantip – Blockdit’ ถึงวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการผ่าน User ID เร่งดัน ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ สู่การสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) และการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ภายใต้ กฎหมาย Digital Platform Services ด้วย

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการดูแล ป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ ผ่านกลไกการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งาน เนื่องจาก Pantip และ Blockdit ถือเป็นตัวอย่างผู้ให้บริการ social media ที่มีการใช้กลไกการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการ หรือ User ID ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องและมีบัญชีผู้ใช้บริการที่ยังใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก จากพูดคุยพบว่า ทั้ง 2 ผู้ให้บริการได้มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งานตามความเสี่ยงของการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปที่มีความเสี่ยงน้อย ก็จะเน้นลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ชื่อ-สกุล อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ขายสินค้า ก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ อย่าง Digital ID ที่ออกโดยแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง ซึ่งจากการให้บริการของ 2 แพลตฟอร์ม พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความตระหนักในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน หรือ สมัครเข้าใช้บริการ โดยเฉพาะการกรอกเลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมครั้งนี้ จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะที่จะนำไปปรับปรุง ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ กฎหมายลำดับรองภายใต้ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น Public Hearing ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ลดการฉ้อโกงออนไลน์

โดยเนื้อหาของร่างคู่มือฉบับนี้ จะครอบคลุมทั้ง การจัดประเภทผู้ใช้งานที่ควรพิสูจน์และยืนยันตัวตน กำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน List ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล การแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่าดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว โดย (ร่าง) คู่มือ ฉบับดังกล่าว นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของการสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม สอดคล้องตามเจตนารมณ์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
 

‘คธอ.-ETDA’ เสนอเพิ่มมาตรการดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมช่องทางในการให้ข้อมูล รองรับผู้ประกอบการออนไลน์

(5 ก.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้หารือกับผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล E-Marketplace ได้แก่ Lazada, AirAsia Super App, Noc Noc, และ Shopee เข้าร่วมการประชุมทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ ถึงความสำคัญของ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

โดย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากที่ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) และ ETDA ได้เสนอให้มีการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้มาตรา 32 พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้กลไกการกำกับดูแลในระดับการแจ้งให้ทราบ กฎหมายนี้เป็นกฎเกณฑ์กลางในการควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อน การประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักร จะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักรด้วย โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะการให้บริการ และผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ ETDA จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best-practice) หรือมีกลไกการกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) ที่เหมาะสม อีกทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ กฎหมายนี้ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย สำหรับแผนการรองรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อยู่ก่อนแล้ว ให้แจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎหมายนี้บังคับใช้ หรือภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566

โดยทาง ETDA อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดกลไก self-regulate ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะเน้นสำหรับบริการ Social Media และ e-Commerce ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ลดการฉ้อโกงออนไลน์) และการดำเนินคดี (ระบุตัวผู้กระทำความผิด) และอยู่ในระหว่างการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ETDA ได้จัดงานรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ และเปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมายจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ETDA ในฐานะ Co-Creation Regulator ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่อ กฎหมายลําดับรอง ภายใต้ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ มาอย่างต่อเนื่อง การรับความความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้น ETDA จะเปิดเวทีชี้แจ้งและสรุปภาพรวมของกฎหมายลําดับรองทั้ง 9 ฉบับ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นในระยะแรกนี้ต่อสาธารณะอีกครั้ง ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ที่สนใจได้ทําความเข้าใจภาพรวมของกฎหมายร่วมกันอีกครั้ง

และก่อนที่ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ จะมีผลใช้บังคับในเดือนหน้านี้ เพื่อเป็นการปิดข้อสงสัยและให้เกิดความชัดเจนในข้อปฏิบัติภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ETDA จึงเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อช่วยประเมินเบื้องต้นว่า เป็นบริการที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมก่อนดําเนินการแจ้งให้ ETDA ทราบ ผ่าน Checklist ออนไลน์ ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment

ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ และรายเล็กเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และ ในเร็วๆ นี้เตรียมขยายผลสู่การจัดกิจกรรม Pre-Consultation Checklist ที่จะมีทีมงานคอยให้คําปรึกษา แก่ผู้ให้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจด แจ้งข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมาย ผ่านทางระบบ e-Meeting โดยจะเริ่มเปิดระบบให้จองนัดประชุม ทางเว็บไซต์ของ ETDA ก่อนเปิดให้บริการให้คําปรึกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566

นอกจากนี้ ยังเตรียมยกระดับบทบาทของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA สู่การเป็นช่องทางกลางในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยผู้ประกอบการ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย DPS เพื่อให้ผู้ร้องเรียนเข้าถึงกระบวนการดูแลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top