Friday, 25 April 2025
CarbonWatch

‘ไทยคม’ ประกาศความสำเร็จแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองเป็น 'เครื่องมือวัดคาร์บอนเครดิต' รายแรกในไทย

(11 ก.ค. 67) บริษัท บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งเตรียมให้บริการคาร์บอนเครดิตและขยายความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก.ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ภายใต้ชื่อ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ไทยคมได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกลจาก อบก. ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือและกลาง เครื่องมือนี้เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการปลูกฟื้นฟูป่าจากภาคธุรกิจเอกชน สร้างแรงจูงใจในการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซ มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โครงการนี้ยังเป็นแรงจูงใจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีผลบังคับใช้และยั่งยืน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมยินดีที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย ตอกย้ำความสำเร็จในการนำความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมมาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML เพื่อประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และตรวจสอบได้ แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริการ Earth Insights ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG) ได้รับรางวัล Sustainability Award 2023 และระดับ AAA จาก SET ESG Rating แพลตฟอร์มนี้จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศชาติสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

"ไทยคม ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากผู้นำด้านดาวเทียมสู่ผู้นำเทคโนโลยีอวกาศ เน้นความสำคัญของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยใช้เทคโนโลยีสเปซเทคตอบสนองความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการคาร์บอน ไทยคมได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นำความรู้เรื่องดาวเทียมมาสร้างแพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งได้รับการรับรองจาก อบก. ช่วยให้การประเมินการกักเก็บคาร์บอนเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในราคาเริ่มต้นที่ 100-300 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถขยายความสามารถนี้ไปยังต่างประเทศได้ การใช้เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ลดต้นทุนและเพิ่มความแม่นยำเท่านั้น แต่ยังเสริมความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สนับสนุนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน" นายปฐมภพ กล่าว

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน 290,000 ไร่ตั้งแต่ปี 2563 และมีแผนขยายไปทั่วประเทศ การประเมินการกักเก็บคาร์บอนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆ มูลนิธิฯ ได้ผนวกความเชี่ยวชาญในภาคสนามกับเทคโนโลยีของไทยคม สร้างเครื่องมือที่ได้รับการรับรองซึ่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำ มีความเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะช่วยประเมินการกักเก็บคาร์บอนได้มีประสิทธิภาพและเร่งพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าอื่น ๆ ด้วย ร่วมกันรับมือกับภาวะโลกร้อนและส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นหลัง

"โครงการคาร์บอนเครดิตเริ่มต้นจากประสบการณ์การจัดการป่านานกว่า 30 ปี ซึ่งได้พัฒนากระบวนการปลูกและดูแลป่าอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ที่นำมาใช้ได้ช่วยปรับปรุงความแม่นยำในการประเมินคาร์บอนให้ถึง 90% ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งยังสร้างรายได้และความยั่งยืนให้ชุมชนท้องถิ่น โดยการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ และเปิดโอกาสให้ไทยเป็นผู้นำในการจัดการคาร์บอนในอาเซียน การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิภาค และเป็นโมเดลที่สามารถขยายผลไปยังประเทศอื่นในอนาคตได้" ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

'ไทย' เจ๋ง!! ดึง Carbon Watch เทคโนโลยี AI มาใช้ครั้งแรกในไทย-อาเซียน อีกขั้นพาไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดย 'อบก.-ไทยคม-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง'

(14 ก.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมของเรื่อง 'เงินบาทแข็ง' และอีกเรื่องสำคัญอย่าง 'Carbon Watch' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง...

เรื่องแรก เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ประกอบกับคำกล่าวของ Jerome Powell ประธาน Federal Reserve ในการรายงานภาวะเศรษฐกิจต่อสภา Congress ว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานานสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและศักยภาพในการเจริญเติบโต ตลาดการเงินจึงคาดว่าจะต้องมีการลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างแน่นอนภายในเดือนกันยายนนี้

กลับมาดูประเทศไทย ธปท. ยังคงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อของไทยที่ผ่านมาอยู่ใกล้ศูนย์หรือติดลบด้วยซ้ำ ความตึงตัวของนโยบายการเงินในประเทศเมื่อเทียบกับนโยบายการเงินทั่วโลกจึงเป็นสาเหตุหลักของการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทดังกล่าวย่อมเป็นการซ้ำเติมความอ่อนแอและหน่วงรั้งโอกาสการเติบโตของประเทศ

แต่เป็นที่น่ายินดีที่การพัฒนาการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ของไทยได้มีการยกระดับการพัฒนาโครงการสูงขึ้นอีกก้าวใหญ่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน หรือ TGO) ได้ร่วมมือกับ 'บริษัทไทยคม' และ 'มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง' นำวิธีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) โดยเทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า Carbon Watch มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนมีความถูกต้องแม่นยำ มีความรวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำลง

ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของไทย จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น Carbon Watch จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สมควรได้รับการชื่นชม เป็นความร่วมมืออย่างลงตัวระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยการสนับสนุนของ อบก. และกลไกคาร์บอนเครดิต เราจึงเชื่อมั่นว่าจะมีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ดี ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อขับเคลื่อนการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนของไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top