Sunday, 5 May 2024
CallCenter

ตร.เตือน!! อย่าเชื่อ แก๊ง Call Center โทรขู่ อ้างเป็น “โฆษกตำรวจ” หลอกให้โอนเงิน!!

5 พ.ย.64 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจํานงค์ โฆษก ตร. เผยว่า จากกรณีที่มีผู้เสียหาย มาพบพนักงานสอบสวน แจ้งความร้องทุกข์ ว่าถูกคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้โทรหาผู้เสียหาย แล้วแจ้งว่าผู้เสียหายนั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการฟอกเงิน หลังจากที่ผู้เสียหายไม่เชื่อ ก็ได้มีการโอนสายให้กับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งอ้างตัวเป็น “พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์” หรือ “พ.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์” โฆษก ตร. และเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้ทำการโอนเงินไปให้กับบัญชีของคนร้าย ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการแอบอ้างชื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ จึงขอให้ผู้ที่ได้รับสายในลักษณะดังกล่าวนี้ “มีสติ อย่าหลงเชื่อ” ตามคำกล่าวอ้างของคนร้าย และอยากแจ้งเตือนไปยังผู้ที่กระทำความผิดว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษหนักถึงขั้นจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็น “อั้งยี่”  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

มาตรา 210 ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็น “ซ่องโจร” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิด ที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เตือนภัย!! มิจฉาชีพ อ้างเป็นพนักงานบริษัทขนส่งสินค้า - เจ้าหน้าที่ Call Center - ส่ง SMS หลอกลวงข้อมูลส่วนตัว และให้โอนเงิน!!

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนประชาสัมพันธ์ภัยมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโทรศัพท์ผ่าน Call Center แสดงตนอ้างว่าเป็นพนักงานบริษัทขนส่งหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งมายังผู้รับหรือส่งพัสดุไปยังต่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ยินยอมส่งข้อมูลส่วนตัวและโอนเงินไปให้ สร้างความเสียหายห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนเป็นปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือแอปพลิเคชันมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกันเหล่ามิจฉาชีพได้อาศัยช่องว่างหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะต่าง ๆ  อาทิ ส่ง SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโทรศัพท์ผ่านมือถือ ดังเช่นกรณีเมื่อเดือน พ.ย.64 ที่ผ่านมามิจฉาชีพแสดงตนว่าเป็นพนักงานบริษัทขนส่งหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โทรผ่านโทรศัพท์มือมาแจ้งกับผู้เสียหายว่ามีพัสดุที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายส่งมายังที่อยู่ของผู้รับและมีการส่งพัสดุไปต่างประเทศ โดยทางบริษัทและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐจะขอเข้าไปทำการตรวจสอบและดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย ทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัวและหลงเชื่อ จึงยินยอมส่งข้อมูลส่วนตัวและโอนเงินไปยังบัญชีที่แก๊งมิจฉาชีพได้แจ้ง เพื่อให้ทำการตรวจสอบเงินดังกล่าว ต่อมาภายหลังผู้เสียหายจึงรู้ว่าตนนั้นถูกหลอก  ซึ่งในเบื้องต้นพบผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเกือบ 50 ราย  มูลค่าความเสียหายกว่า 17 ล้านบาท โดยผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายไว้แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวภัยการจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในลักษณะดังกล่าว ซึ่งประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อและเป็นการสร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการและดำเนินการป้องกันปราบปรามตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจัง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลโดยสั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ให้ทำการสืบสวนสอบสวน ปราบปราม กลุ่มมิจฉาชีพ สืบสวนขยายผลถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาดจริงจังต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้วยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันออนไลน์ SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือผ่านทางโทรศัพท์ ดังนี้

1.หากมีการกล่าวอ้างว่าท่านไปเกี่ยวข้องการกระทำผิด ให้ตั้งสติ อย่าพึ่งตื่นตระหนกและหลงเชื่อ

2.ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพหรือวิดีโอ ข้อมูลการโอนเงิน เอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการดำเนินคดี

3.หากมีการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ โดยหลักจะไม่มีการให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคลโดยเด็ดขาด

 

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เตือนภัย!! แนะนำผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลาน เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันหาคู่ อาจเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยจากแอฟพลิเคชันหาคู่ แนะนำผู้ปกครองควรดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเสี่ยงถูกมิจฉาชีพล่อลวงสร้างความเสียหายในหลายรูปแบบ

ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีบทบาทช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเรื่องการหาคู่ก็เช่นกัน  จึงมีผู้คิดค้นแอปพลิเคชันหาคู่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่   ซึ่งแอปพลิเคชันหาคู่ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ได้แก่  Tinder ,Omi ,Bumble เป็นต้น แอปพลิเคชันเหล่านี้จะช่วยจับคู่หนุ่มสาวที่มีความชอบคล้ายๆกัน ให้ได้พูดคุยกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่เหรียญก็มักจะมีทั้ง 2 ด้านเสมอ กลุ่มมิจฉาชีพมักใช้โอกาสจากช่องทางนี้ในการหลอกล่อเหยื่อเช่นกัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เหยื่อเป็นเด็กและเยาวชน   ตามที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออื่นๆ หากรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพัฒนาจนเป็นการค้ามนุษย์และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นได้

ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 65 ในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ ได้มีเด็กหญิงอายุ 14 ปี หายตัวไป จนผู้ปกครองได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน และได้ทำการติดตามค้นหาจนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบเด็กหญิงคนดังกล่าวอยู่กับชายอายุ 18 ปี ซึ่งทั้งสองได้พูดคุยกันผ่านแอพพลิเคชัน Litmatch และได้มีการนัดเจอกัน ซึ่งเป็นเหตุให้เด็กหญิงคนดังกล่าวหายตัวไป ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมชายคนดังกล่าวพร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีฯ และ พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปจากบิดามารดาฯ ก่อนจะนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

และในกรณีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกันจับกุมตัวชายอายุ 28 ปี ในข้อหา รีดเอาทรัพย์,กรรโชกทรัพย์,    ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ,ทำให้ผู้อื่นเกิดความหวาดกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ สืบเนื่องจากได้รับแจ้งจากหญิงสาวหลายรายว่าได้รู้จักกับผู้ต้องหาผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ชื่อดังก่อนจะนัดหมายเจอกัน จากนั้นก็ออกอุบายตีสนิท เมื่อคบหากันก็ได้ถ่ายคลิปตอนมีเพศสัมพันธ์ พอผ่านไปสักระยะก็จะขอยืมเงิน หากไม่ยินยอมให้ ก็จะขู่เผยแพร่คลิปดังกล่าว เมื่อฝ่ายหญิงขอเลิกผู้ต้องหาก็จะขอค่าเลิกเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท จะเห็นได้ว่าอันตรายไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการใช้บริการแอปพลิเคชันหาคู่ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงไปกระทำชำเราแล้ว การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็เสี่ยงต่อการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด หรืออาจถูกนำไปขายต่อบน Dark Web และนำไปใช้ในการกระทำความผิด ทำให้ท่านอาจตกเป็นผู้ต้องหา โดยท่านไม่รู้ตัวก็เป็นได้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิดต่างๆ พร้อมเร่งทำการสืบสวนปราบปรามจับกุม  ผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและตัดโอกาสในการกระทำความผิดอย่างจริงจังต่อเนื่องโดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนะนำผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน            ถึงแนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงผ่านแอปพลิเคชั่นหาคู่ ดังนี้

1.ควรระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดกับคนที่เพิ่งรู้จัก เมื่อใช้บริการแอปพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ต่าง ๆ

2.ไม่ควรหลงเชื่อ หรือไว้ใจบุคคลใดง่าย ๆ หากมีความจำเป็นต้องนัดเจอควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองไปด้วยเพื่อความปลอดภัย

3.ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือเพียงลำพัง, ควรพูดคุยทำความเข้าใจถึงขอบเขตการใช้งานว่าแอปพลิเคชั่นไหนใช้ได้บ้างหรือแอปพลิเคชั่นใดควรหลีกเลี่ยง, หมั่นเช็คประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชั่นของบุตรหลานว่ามีการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือมีการพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือไม่

4.พึงระลึกไว้เสมอว่า อะไรที่ดีเกินไป เร็วเกินไป มักจะลงเอยไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยง่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์และขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ให้ระมัดระวังในเรื่องการมีความสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์หรือ Chat Application ในรูปแบบต่าง ๆ

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top