Thursday, 24 April 2025
Boeing

‘Boeing’ เล็งจัดหาเครื่องบิน ‘Boeing 787’ ให้ ‘การบินไทย’ หนุนแผนพัฒนาฟื้นฟูองค์กร เพิ่มขีดการแข่งขันตลาดการบิน

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 66 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ‘Boeing’ กำลังมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการหารือกับ ‘การบินไทย’ เพื่อจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้าง ‘Boeing 787 Dreamliner’ ประมาณ 80 ลำให้กับสายการบิน

รายงานที่เกิดขึ้น บ่งชี้ถึงความได้เปรียบของ ‘Boeing’ ที่มีเหนือ ‘Airbus’ ในการเจรจาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแผนการพัฒนาฝูงบินของการบินไทย ซึ่งนี่จะถือเป็นหนึ่งในคำสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นจะถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นของ Boeing ในตลาดการบินที่มีการแข่งขันสูง

การเจรจาจัดหาเครื่องบินใหม่นี้ รายงานโดยรอยเตอร์เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน โดยเน้นย้ำถึงความตั้งใจของการบินไทยที่จะขยายฝูงบินด้วยเครื่องบินลำตัวกว้างสูงสุด 80 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 15 ลำ แผนการปรับปรุงฝูงบินนี้ จุดชนวนให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner จาก Boeing และเครื่องบินรุ่น Airbus A350 จาก Airbus ทั้งนี้ Boeing, Airbus และรวมถึงการบินไทย ยังคงงดแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ 

ด้านการบินไทย ตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการปรับปรุงเส้นทางบินในภูมิภาคด้วยฝูงบินที่ได้รับการปรับปรุงใหม่

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถของผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อย่าง Boeing และ Airbus ในการเพิ่มการผลิตเครื่องบิน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น การตัดสินใจของสายการบินในการจัดหาฝูงบิน Boeing 787 Dreamliners จำนวนมาก ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของตนในตลาดการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต

'เจจูแอร์' 737-800 ตก ผู้เชี่ยวชาญชี้เครื่องรุ่นเก่าแต่ยังปลอดภัยสูง

(30 ธ.ค. 67) เครื่องบินของสายการบินเจจูแอร์ที่ประสบอุบัติเหตุในสนามบินทางตอนใต้ของเกาหลีใต้เป็นรุ่น โบอิ้ง 737-800 ซึ่งเป็นรุ่นที่นิยมใช้กันทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Cirium ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลการบินชี้ว่า มีเครื่องบินรุ่นดังกล่าวราว 28,000 ลำให้บริการอยู่ทั่วโลก ในจำนวนนี้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4,400 ลำ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800s ซึ่งเป็นเครื่องบินในตระกูล Next-Generation 737 ของบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นคนละรุ่นกับ 737 Max ที่เคยประสบอุบัติเหตุตกช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนต้องสั่งระงับการใช้งานทั่วโลก

รายงานระบุว่า มีสายการบินเกือบ 200 แห่งที่ใช้เครื่องบินรุ่น 737-800 นี้ รวมถึงสายการบิน 5 แห่งในเกาหลีใต้ ได้แก่ เจจูแอร์, ทีเวย์แอร์, จินแอร์, อีสตาร์เจ็ต และโคเรียนแอร์ โดยเครื่องบินรุ่นนี้ยังได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ และนับตั้งแต่ปี 1998 โบอิ้งได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ให้กับลูกค้าประมาณ 5,000 ลำ

Najmedin Meshkati ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาประวัติด้านความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง 737 ให้สัมภาษณ์ว่า เครื่องบินรุ่น 737-800 นี้มีความปลอดภัยและมีสถิติด้านความปลอดภัยที่ดีมาก

อายุการใช้งานของเครื่องบิน 737-800 ทั่วโลกอยู่ระหว่าง 5 ปี ถึงกว่า 27 ปี โดยเครื่องบินโดยสารที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีสามารถใช้งานได้ 20 ถึง 30 ปี หรือมากกว่านั้น ส่วนข้อมูลเว็บไซต์ติดตามการบิน Flightradar24 รายงานว่า เครื่องบินที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้มีอายุการใช้งาน 15 ปี โดยก่อนหน้านี้สายการบิน Ryanair นำเครื่องบินลำที่เกิดเหตุมาใช้ก่อน และบริษัท SMBC Aviation Capital ได้นำไปปล่อยเช่าให้กับเจจูแอร์ในปี 2017

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า กำลังสืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงความเป็นไปได้ที่นกชนเครื่องบิน อาจเป็นสาเหตุทำให้ระบบลงจอดเกิดความผิดปกติของล้อ ด้านบริษัทโบอิ้งระบุในแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทได้ติดต่อกับเจจูแอร์และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม นกชนเครื่องบินเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ้างในอุตสาหกรรมการบิน ในบางกรณีอาจทำให้กระจกหน้าต่างแตกร้าว สนามบินบางแห่งจึงใช้วิธีส่งนกล่าเหยื่อ เช่น เหยี่ยว หรือใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการชนของนก อย่างที่สนามบินนานาชาติมูอัน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ใช้วิธีเปิดเสียงที่รบกวนนกและยิงปืนเพื่อขับไล่นก

ศาสตราจารย์ Meshkati เปิดเผยว่า  ระบบลงจอดของเครื่องบินรุ่น 737-800 ได้รับการออกแบบมาอย่างดีและมีประวัติด้านความน่าเชื่อถือ แต่ก็อาจเกิดปัญหาหากการบำรุงรักษาไม่ดีพอ ดังนั้นการบำรุงรักษาจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุทางการบิน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเร่งสรุปเหตุการณ์ดังกล่าว อุบัติเหตุมักเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีในการค้นหาผ่านการสืบสวนเชิงลึก

จีนยกเลิกดีล ‘โบอิ้ง’ 179 ลำ มูลค่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมส่งคืนรัวๆ ยักษ์บินอเมริกันเครื่อง ‘737 MAX’

(21 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกคำสั่ง “ล้มโต๊ะ” ข้อตกลงซื้อเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐฯ ที่มูลค่าพุ่งสูงถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 24 ล้านล้านบาทไทย) โดยในวันนี้ มีรายงานว่า เครื่องบิน ‘โบอิ้ง 737 MAX’ อย่างน้อย 2 ลำ ได้ถูกส่งคืนให้แก่โบอิ้งอย่างเป็นทางการแล้ว

ดีลนี้ถือเป็นหนึ่งในคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบินพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจระหว่างสองชาติมหาอำนาจ ทว่าการยกเลิกในครั้งนี้กำลังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบินโลก

แหล่งข่าวจากรัฐบาลจีนระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145% ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% ซึ่งรวมถึงเครื่องบินโบอิ้งด้วย

ล่าสุด แรงสะเทือนจากสถานการณ์ดังกล่าวยังลุกลามไปยังสายการบินอื่นๆ นอกเหนือจากจีน โดย ไมเคิล โอเลียรี (Michael O'Leary) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของสายการบินต้นทุนต่ำชื่อดัง Ryanair กล่าวกับ Financial Times ว่า บริษัทของเขาอาจ เลื่อนการรับมอบเครื่องบินจาก Boeing หากราคายังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เราอาจจะเลื่อนการรับมอบออกไป และหวังว่าสามัญสำนึกจะเข้ามาแทนที่” O'Leary ระบุ พร้อมชี้ว่า Ryanair มีกำหนดรับเครื่องบินอีก 25 ลำตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้งานจนกว่าจะถึงเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2026

การระงับการรับมอบเครื่องบินและการส่งคืนเครื่องบินที่ผลิตเสร็จแล้วกลับสู่สหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโบอิ้ง ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการเงินและการแข่งขันจากผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่น เช่น แอร์บัส (Airbus) และ โคแม็ค (COMAC) ของจีน

ขณะเดียวกัน จีนมีแนวโน้มจะหันไปหนุน COMAC (ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติจีน) อย่างเต็มตัว โดยมีการคาดการณ์ว่า เครื่องบินรุ่น C919 จะเข้ามาทดแทนการนำเข้าเครื่องจากตะวันตกในอนาคตอันใกล้ 787
.
ด้าน Airbus คู่แข่งจากฝั่งยุโรปก็ไม่ได้รอดพ้นจากแรงกระแทกของห่วงโซ่อุปทานที่สั่นคลอน โดย กิลเลียม โฟรี (Guillaume Faury) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Airbus กล่าวกับผู้ถือหุ้นเมื่อวันอังคารว่า บริษัทกำลังเผชิญปัญหาในการรับชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์สัญชาติอเมริกันอย่าง Spirit AeroSystems ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการผลิตเครื่องบินรุ่น A350 และ A220

“เรากำลังจับตาดูสถานการณ์ภาษีและความผันผวนทางการค้าอย่างใกล้ชิด” โฟรีระบุ

ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่า การยกเลิกคำสั่งซื้อครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลต่อยอดขายของโบอิ้ง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่นับวันยิ่งห่างไกลจากคำว่า “พันธมิตร” มากขึ้นทุกที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top