Friday, 29 March 2024
ASIA

พลิกปูมตำนานชุดนักเรียนญี่ปุ่น เบื้องหลังแฟชั่นสุดคาวาอี้ ที่นักเรียนทั่วโลกใฝ่ฝัน

หากจะนึกถึงชุดนักเรียน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ชุดนักเรียนญี่ปุ่นต้องติดโผเป็นต้นแบบชุดนักเรียนในฝันของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากมีความน่ารัก มุ้งมิ้ง คิขุ คาวาอี้ ที่แม้แต่คนวัยเกินเกณฑ์รั้วโรงเรียนเห็นแล้วยังอยากลองใส่ดูมั่ง ถ้าไม่เกรงใจโลก

แต่ทราบหรือไม่ว่า เบื้องหลังเรื่องราวของชุดนักเรียนญี่ปุ่น กว่าที่จะมาเป็นรูปแบบในปัจจุบันได้ ผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในญี่ปุ่นมาแล้วมากมาย

ตั้งแต่การปฏิรูปประเทศ ปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม สงครามโลก ขบถความคิดของเหล่าบุปผาชน ที่สะท้อนผ่านรูปแบบของชุดนักเรียนญี่ปุ่น จากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างน่าทึ่ง และวันนี้ เรามาพลิกปูมตำนานกว่า 150 ปี ของชุดนักเรียนญี่ปุ่นกันดีกว่า

ประวัติความเป็นมาของต้นกำเนิดชุดนักเรียนญี่ปุ่น สามารถย้อนไกลได้ถึงสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912)  เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสนิยม หลังจากที่ญี่ปุ่นปิดประเทศนานถึง 220 ในสมัยเอโดะ ภายใต้การปกครองในระบอบโชกุนตระกูลโทกุกาวะ

ก่อนสมัยเมจิ ญี่ปุ่นไม่เคยมีกำหนดชุดเครื่องแบบนักเรียนมาก่อน และโอกาสด้านการศึกษาก็จะจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มราชสำนัก ขุนนางชั้นปกครอง ซามุไร ซึ่งในสมัยนั้น นักเรียนชายจะสวมชุดแบบญี่ปุ่น สวมกางเกงฮากามะ ที่เป็นเหมือนชุดจำลองของชนชั้นซามุไร ส่วนนักเรียนหญิงจะสวมกิโมโนไปโรงเรียน

แต่รูปแบบการแต่งกายของชนชั้นปกครองญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไป ตั้งแต่การมาถึงของเรือดำ ของกองทัพเรือสหรัฐที่นำโดย พลเรือจัตวา แมทธิว แพร์รี่ ในปี ค.ศ. 1854 ที่บังคับให้ญี่ปุ่นต้องยอมเปิดประเทศเพื่อติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก และนำไปสู่การปฏิรูปเมจิ รื้อถอนระบอบโชกุน ฟื้นฟูพระราชอำนาจให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิในปีค.ศ. 1868 ในเวลาต่อมา

.

และในยุคสมัยเมจินี่เอง ที่วัฒนธรรมของชาติตะวันตก หลั่งไหลเข้าไปในญี่ปุ่นอย่างมากมายราวทำนบแตก ที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายของข้าราชสำนัก และผู้นำชั้นปกครอง ที่เริ่มเปลี่ยนเครื่องแบบจากแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมกลายเป็นสไตล์ตะวันตก และยังส่งผลต่อแนวคิดการออกแบบชุดนักเรียนของญี่ปุ่น ที่เริ่มมีการกำหนดมาตรฐานของชุดนักเรียนเป็นครั้งแรกในสมัยนี้เช่นกัน

ซึ่งโรงเรียนนำร่องแห่งแรกที่มีข้อกำหนดให้ใช้ชุดนักเรียนแบบมาตรฐานคือ โรงเรียนกักคุชูอิน ที่เป็นโรงเรียนชั้นสูงสำหรับลูกหลานชาววัง และข้าราชการระดับสูง ในปี 1879

ชุดนักเรียนญี่ปุ่นในยุคแรก มีต้นแบบมาจากเครื่องแบบทหารตะวันตก ชุดนักเรียนชายจะเป็นเสื้อแขนยาวสีดำ ปกตั้ง ติดกระดุมหน้าทำด้วยโลหะ กางเกงขายาวสีดำ สวมหมวกแก๊บ ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า กะคุรัน  (学ラン) ที่แปลว่าชุดนักเรียนแบบตะวันตก

ซึ่งชุดกะคุรัน เป็นชุดนักเรียนที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเครื่องแบบนักเรียนญี่ปุ่น และยังมีใช้ในบางโรงเรียนที่จีน และ เกาหลีใต้อีกด้วย

ส่วนนักเรียนหญิง ไม่ได้ใส่กะคุรัน แต่จะสวมเสื้อแบบกิโมโน แต่ทับด้วยกางเกงฮากามะ แบบผู้ชายแต่ปรับรูปแบบสีสันให้สวยงาม และสวมรองเท้าบูทหนัง ทั้งนี้เพราะมีการบรรจุวิชาพลศึกษา เป็นวิชาภาคบังคับทั้งชาย-หญิง และการสวมกางเกงก็ช่วยให้นักเรียนหญิงสามารถเรียนวิชาพละได้อย่างคล่องตัวกว่าชุดกิโมโนแบบเก่า

แต่ชุดนักเรียนสมัยแรกมีราคาแพงมาก ที่ครอบครัวชั้นสูง ที่มีฐานะดีเท่านั้น ถึงสามารถซื้อเครื่องแบบเหล่านี้ให้บุตรหลานได้โดยไม่เดือดร้อน

หลังจากสิ้นสุดยุคเมจิ เข้าสู่ยุคไทโช (ค.ศ.1912 - ค.ศ.1926) เป็นช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 รูปแบบชุดนักเรียนญี่ปุ่นก็ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากชุดทหารตะวันตก และเริ่มมีหลักสูตรฝึกทหารสำหรับสตรีชาวญี่ปุ่น จึงมีการปรับเครื่องแบบนักเรียนหญิงให้เข้ากับยุคสมัยโดยใช้รูปแบบของชุดของทหารเรือมาใช้ ที่เรียกว่า "เซย์ฟุคุ" (制服)

.

และโรงเรียนที่ใช้ชุดนักเรียนทรงทหารเรือเป็นที่แรกของญี่ปุ่นคือ วิทยาลัยสตรีฟุกุโอกะ ต้นกำเนิดไอเดียเป็นของอลิซเบธ ลี ครูใหญ่ของโรงเรียน ที่เห็นว่าชุดนักเรียนหญิงแบบเก่าที่สวมกางเกงฮากามะทับกิโมโน ร้อนเกินไปสำหรับช่วงหน้าร้อน จึงออกแบบชุดใหม่ให้กับนักเรียนโดยใช้เครื่องแบบทหารเรือของราชนาวีอังกฤษเป็นต้นแบบ กับกระโปรงแบบตะวันตกเข้าชุดกัน

และก็ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก เนื่องจากชุดทรงทหารเรือ มีความน่ารัก เรียบร้อย ภูมิฐาน และตัดเย็บง่าย ราคาถูกกว่าชุดแบบดั้งเดิม เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอของญี่ปุ่นในยุคนี้ ที่ทำให้เครื่องแต่งกายมีราคาถูกลง ผู้คนจับต้องง่ายขึ้น

จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง นักเรียนจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานช่วยครอบครัว โดยเฉพาะนักเรียนหญิงที่ต้องรับหน้าที่มากขึ้น เครื่องแบบนักเรียนยุคนี้จึงต้องปรับเปลี่ยน อนุญาตให้นักเรียนหญิงสวมกางเกงขายาวแทนกระโปรงมาเรียนได้ ความน่ารักสดใสในเครื่องแบบอาจหายไป แต่ก็สะท้อนความยากเข็ญของสังคมในยุคสงครามได้เป็นอย่างดี

.

เมื่อหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปหลายสิบปี และเข้าสู่ยุคเสรีนิยมแบบตะวันตก ตามรูปแบบการปกครองแบบใหม่ที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาวางกรอบให้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวบนพื้นฐานการแข่งขันแบบทุนนิยม ที่เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเกิดการแพร่หลายของแนวคิดเสรีชน ต่อต้านกรอบสังคมแบบเก่าของกลุ่มบุปผาชนสายขบถในญี่ปุ่น ที่เรียกว่ากลุ่มสุเคบัน แยงกี้ ที่เป็นการรวมกลุ่มนักเรียนต่อต้านสังคม และแสดงออกด้วยการเอาชุดนักเรียนมาดัดแปลงตามใจฉัน สวมเสื้อสั้นเต่อ กระโปรงยาวลากพื้น หรือกางเกงทรงสุ่ม ย้อมสีผม  เป็นเชิงสัญลักษณ์ของการแหกจารีตของสังคม

.

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าของโลก และมีมาตรฐานการศึกษาที่ดีเยี่ยม เข้าถึงทุกพื้นที่ ดังนั้นการแข่งขันจึงกลายเป็นระดับโรงเรียนด้วยกัน โดยการออกแบบชุดให้มีความทันสมัย จากชุดเสื้อกะลาสี ผูกโบว์แดง หรือกะคุรันแบบเก่า ก็เริ่มเป็นชุดเสื้อเชิ้ต ผูกเนคไทด์ สวมทับด้วยสูทแบบตะวันตก หรือชุดเอี๊ยมผูกโบว์ เพื่อดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาสมัครเรียน เพราะชอบชุดก็มีไม่น้อย

.

จึงทำให้เกิดเป็นแฟชั่นชุดนักเรียน หลากหลายรูปแบบ สดใส คาวาอี้ ที่ทำให้เด็กนักเรียนทั่วโลกชื่นชอบในวัฒนธรรมชุดนักเรียนของญี่ปุ่น และนำมาแต่งเล่นเป็นชุดคอสเพลย์กันอย่างสนุกสนาน

และนี่ก็คือความเป็นมาของชุดนักเรียนญี่ปุ่น ที่อยู่คู่กับนักเรียนญี่ปุ่นมานานกว่า 150 ปี และยังคงอยู่ตลอดไป อย่างไม่จำกัดรูปแบบ และพร้อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ


แหล่งข้อมูล

https://www.nippon.com/en/column/g00554/

https://learnjapanese123.com/japanese-school-uniforms/

https://seifuku.neocities.org/index_e.html

https://medium.com/@katier.jiang/development-and-evolution-of-japanese-school-uniform-12bf9c7856af

https://jpninfo.com/64959

https://medium.com/@katier.jiang/development-and-evolution-of-japanese-school-uniform-12bf9c7856af

เรื่องเล่าจากแดนไกล ’เมือง Sost’ แห่งปากีสถาน เมืองท่าชายแดนที่มีชื่อเล่นว่า เมืองขี้เกียจ วันนี้แม้จะต้องต่อสู้กับโควิด-19 รอบข้าง แต่เมืองนี้ไม่มีใครติดโควิด-19 แม้แต่คนเดียว

คอลัมน์ ริมทางถนนคาราโครัมไฮเวย์

วันนี้จะพาไปเที่ยวเมือง​ Sost เมืองท่าแห่งการคมนาคมของประเทศปากีสถานกับประเทศจีน (เส้นทางสายไหมโบราณ)  บนถนนคาราโครัมไฮเวย์​ จริง ๆ แล้วภารกิจหลักคือ มาซื้อถ่านหินไปใช้หน้าหนาวจัด​ ขาดไม่ได้ไม่อย่างนั้น แข็งตายแน่นอน

เมือง​ Sost  อ่านว่า ซอส​ หรือบางคนออกเสียงว่า ซูส  ซึ่งแปลความหมายในภาษาอูรดู แปลว่า ขี้เกียจ

ผู้คนในเมืองใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เกือบทั้งหมดเป็นชาววาคี มีบางส่วนเป็นชาวบูเชสกี้ มาจากฮุนซ่า ภาษาที่ใช้เลยจะเป็นภาษาวาคี และบูเชสกี้

เราอาศัยอยู่เมือง​ Passu ห่างจากเมือง Sost ประมาณ​ 40​ กิโลเมตร แต่ไม่ใช่ ​40 กิโลเมตร​ จากกรุงเทพ​- นครปฐม​ ​นะ เพราะวันนี้ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบชั่วโมงกว่า เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยหิมะ และถนนลื่นมาก ๆ เลยต้องใส่โซ่ที่ล้อรถ และใช้ความระมัดระวังมาก​ ไม่สามารถทำความเร็วได้

ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยหิมะสีขาว ตัดกับแม่น้ำกุลจิราฟ ที่สีฟ้าสดใส ท่ามกลางหุบเขาสูงใหญ่ของเทือกเขาคาราโครัม จะพบเจอฝูงแกะ และฝูง Yak (จามรี) ตลอดเส้นทาง โชคดีหน่อย ก็จะเจอแพะภูเขา (Himalayan Ibex) ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เดินลงมาหาหญ้ากินข้างล่าง

ในฤดูหนาวจะเห็นฝูงแพะภูเขาได้ง่ายกว่าฤดูร้อน เดินทางมาสักพัก ก็เห็นฝูงแพะภูเขา สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เรามากเลย​ นี่ขนาดเดินทางเข้าออกปากีสถานตอนเหนือมาหลายปี​ เห็นกี่ครั้งก็อดตื่นเต้นกับธรรมชาติ​ที่อุดมสมบูรณ์​ของดินแดนหลังคาโลกไม่ได้

สักพักเดินทางมาถึงเมือง ​Sost ปกติเมืองนี้จะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจจากประเทศจีน แต่เพราะโควิด-19 ตัวดี​ ทำให้รัฐบาลปิดด่านชายแดนกุลจิราฟ​ ซึ่งเป็นชายแดนที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงประมาณ 4700 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ทำให้ผู้คนทั้งสองประเทศไปมาหาสู่กันไม่ได้ และที่สำคัญรถสินค้าจากจีนก็มาปากีสถานไม่ได้เช่นกัน  การท่องเที่ยวที่คึกคักทั้งฝั่งปากีสถานและจีน​ก็เงียบสนิท

ปกติเมือง​ Sost คือศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่ง จะมีรถรับจ้างคอยบริการจากเมืองนี้ ข้ามไปเขตปกครองตนเอง​ซินเจียง ประเทศจีนได้ไม่ยาก เข้าไปเมืองทัชคาร์กันและเมืองหลวงอุรุมมูฉี

นักท่องเที่ยวจะจองรถบัสประจำทาง Hunza-Xinjiang  หรือจะเช่ารถส่วนตัวข้ามไปเขตซินเจียงก็ได้ ที่นี่มีคนขับผู้ชำนาญเส้นทางเยอะมาก ๆ

และเมือง Sost ยังมี​ Dry Port หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ท่าเรือบก​ ท่าเรือนี้เป็นที่เก็บสินค้าจีนที่ส่งมาขายที่ปากีสถาน เป็นเหมือนโกดังสินค้าขนาดมหึมา

ตามข้อมูล ท่าเรือบกที่นี่​มีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี​ เพราะมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศจีน​และปากีสถาน​ผ่านด่านกุลจีราฟ​ มีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี​ และเส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักของนโยบาย​ One Belt, One Road. ของจีน​ที่ขยายเส้นทางการค้าสมัยใหม่

ปากีสถาน​คือประเทศหลักประเทศหนึ่งตามยุทธศาสตร์​การค้าของจีน

ท่าแห่งนี้ห้ามคนนอกเข้า เราเลยไม่เคยได้เข้าไป แต่ชาวบ้านบอกว่าสินค้าจีนเยอะมาก ๆ คุณอาของสามีเราก็เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานที่นั่นด้วย

ทุกอย่างในเมืองนี้ เหมือนเป็น​  Mini China ทีเดียว

ที่นี่ได้รับผลกระทบจากโควิดเข้าขั้นรุนแรง สาหัส​ ร้านค้าส่วนใหญ่ปิดร้าน โรงแรมมากมายที่ปิดกิจการ ​(บางโรงแรมเปิดรับเฉพาะคนจีน) ร้านอาหารก็เปิดเพียงไม่กี่ร้าน และผู้คนเป็นหมื่นคนตกงาน ไม่ว่าจะเป็นล่าม พ่อค้า ไกด์ คนงาน คนขับรถประจำทาง คนขับรถสิบล้อ และคนอื่น ๆ ต่างรอคอยการกลับมาของการเปิดด่านชายแดนอีกครั้ง รถสิบล้อที่ข้ามด่านไปไม่ได้จอดรอที่เมืองนี้เป็นร้อย ๆ คัน สร้างความสะเทือนใจให้ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก บางเวลาขณะเราเดินอยู่ในเมืองจะได้ยินเสียง Go Corona Go ไปโคโรน่า ไปโคโรนา​ เสียงนี้มาจากคนที่ตกงาน​จนไม่มีกินจริงๆ

แต่ก็มีความโชคดีจากการปิดด่านชายแดน คือผู้คนที่นี่ไม่มีใครเป็นโควิด-19 ไม่เป็น และไม่เคยเป็น ไม่มีตัวเลขนับ ​1 ด้วย

มันมหัศจรรย์มากนะคะ ที่มีพื้นที่ติดชายแดนจีนเพียงแค่เอื้อม แต่กลับไม่มีโควิด-19 ที่นี่​ อาจจะเป็นเพราะมณฑลซินเจียง ​คือดินแดนตะวันตก​สุด ​ไกลสุดจากอูฮั่น ​มณฑลหูเป่ย​ ที่มีข่าวว่าเป็นต้นทางของโควิด-19 ​ก็ได้

ถนนคาราโครัมไฮเวย์ที่เคยเต็มไปด้วยรถเล็ก รถใหญ่ วันนี้กลายเป็นสนามฟุตบอลให้ชาวบ้านได้เล่นฟุตบอลคลายหนาวแทน

เราเดินซื้อของสักพัก ตั้งใจมาซื้อถ่านหินจากเมืองนี้ เพื่อไปก่อไฟที่บ้านให้ความอบอุ่น และเราก็เดินไปเจอเพื่อน ๆ ไกด์ที่ตกงานมากมาย ทุกคนก็รอความหวังให้โควิด-19 หายไปสักที ในฐานะที่ตัวเองก็ทำทัวร์ ก็อยากให้โควิด-19 หมดไปเช่นกัน

แต่สิ่งที่พบเจอวันนี้ในระหว่างการเดินทาง​ ทุกคนที่เจอยังมีความหวังในการต่อสู้ชีวิตต่อไป​ และคอยการมาของวัคซีน​เพื่อป้องกันไวรัสตัวร้าย​ ให้มนุษย์​ได้ทำมาหากินกันตามปกติสักที

เราจะรอดไปด้วยกัน​ และผู้หญิงไทยคนเดียวบนถนนคาราโครัมไฮเวย์​ ดินแดนหลังคาโลก​ ก็ต้องรอดเหมือนกัน​ เพราะแม่คอยเราอยู่ที่เมืองไทยอันเป็นที่รัก


กุลไลล่า

ไกด์สาวชาวไทย​ สะใภ้​ปากี​สถาน จากหัวหิน​พบรักหนุ่มปากีเชื้อสายวาคี อาศัยอยู่เมืองพาสสุ​ ดินแดนเหนือสุดของประเทศปากีสถาน ปัจจุบันเปิดร้านอาหารริมถนนคาราโครัมไฮเวย์​ ถนนที่ได้รับการขนานนามว่าสูงที่สุดในโลก​ หรือเส้นทางสายแพรไหมในอดีต​

คอยต้อนรับแขกที่ผ่านทางมา​ แวะกินอาหารไทย​และชิมชา​ เบเกอรี่ชื่อดัง​ ทางเหนือของปากีสถานได้​ พร้อมให้บริการท่องเที่ยวปากีสถาน​หลังโควิด​-19 ผ่านไป

สิ้นชื่อ ‘Sergi Mingote’ นักปีนเขาชื่อดัง ประสบอุบัติเหตุในขณะปีนยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสองของโลก จบชีวิตลงในวัยเพียง 49 ปี

คอลัมน์ ริมทางถนนคาราโครัมไฮเวย์

เกิดข่าวช็อคกับแวดวงนักปีนเขา เมื่อ Sergi Mingote ยอดนักปีนเขาที่มีชื่อเสียง พลาดประสบอุบัติเหตุขณะขึ้นปีนยอดเขาก็อดวิน ออสเท็น (Godwin Austen) หรือยอดเขาเคทู (K2) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสองของโลก ส่งผลให้เจ้าตัวเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน

Sergi Mingote ได้ชื่อว่าเป็นนักปีนเขาที่มีความเชี่ยวชาญในการปีนเขาโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน รวมทั้งเป็นหนึ่งในนักปีนเขาที่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้นิยมกิจกรรมชนิดนี้อย่างมาก โดยล่าสุด เจ้าตัวได้ขึ้นไปปีนยอดเขา K2 แต่เกิดประสบอุบัติเหตุโดนหินตกใส่ ภายหลังเกิดเหตุ มีเพื่อนนักปีนเขาพยายามช่วยเหลือ แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็เสียชีวิตลง นำความโศกเศร้า และถือเป็นการสูญเสียบุคลากรในแวดวงการนักปีนเขาไปอย่างกระทันหัน

กล่าวถึง Godwin Austen หรือยอดเขา K2 ถือเป็นยอดเขาสูงที่อยู่ในเทือกเขาคาราโคราม (Karakoram) ซึ่งเป็นเทือกเขาสาขาของเทือกเขาหิมาลัย ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของประเทศปากีสถานและประเทศจีน สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 8,611 เมตร หรือ 28,251.3 ฟุต และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นยอดเขาที่มีความสูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่เป็นหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัยด้วยเช่นกัน


กุลไลล่า

ไกด์สาวชาวไทย​ สะใภ้​ปากี​สถาน จากหัวหิน​พบรักหนุ่มปากีเชื้อสายวาคี อาศัยอยู่เมืองพาสสุ​ ดินแดนเหนือสุดของประเทศปากีสถาน ปัจจุบันเปิดร้านอาหารริมถนนคาราโครัมไฮเวย์​ ถนนที่ได้รับการขนานนามว่าสูงที่สุดในโลก​ หรือเส้นทางสายแพรไหมในอดีต​

คอยต้อนรับแขกที่ผ่านทางมา​ แวะกินอาหารไทย​และชิมชา​ เบเกอรี่ชื่อดัง​ ทางเหนือของปากีสถานได้​ พร้อมให้บริการท่องเที่ยวปากีสถาน​หลังโควิด​-19 ผ่านไป

เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ในประเทศปากีสถาน ถนนสู่ยอดเขา ‘Passu Cones Trails’ ส่งนักท่องเที่ยวสู่การเดินเขาผจญภัยที่แท้จริง

คอลัมน์ ริมทางถนนคาราโครัมไฮเวย์

สายขาแรง รักการผจญมาทางนี้ เพราะครั้งนี้จะพาไปชมเส้นทางเดินสู่เขา Passu Cones Trek ที่เขตโกจาล ประเทศปากีสถานค่ะ ที่นี่ไม่มีการแพร่ระบาดของ Covid 19 การท่องเที่ยวเลยคึกคักเป็นพิเศษ

เมื่อวานคุณพ่อสามีไปเปิดงาน สร้างถนนและเส้นทางเดินเขา Passu Cones Trek คุณพ่อเป็นผู้มีอิทธิพลของพาสสุ ท่านจะถูกเชิญไปร่วมเปิดงานของหมู่บ้านตลอด และคุณพ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องทำพิธีแบบโบราณของคนวาคี(ชาวเมืองพื้นถิ่น) และได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก

การเปิดถนนสู่ยอดเขา Passu Topupadan “Passu Cones Trails′′ ตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหมู่บ้าน Passu 

ซึ่งในการเปิดเส้นทางสายผจญภัยครั้งนี้ มีบุคคลระดับสููงมาร่วมมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ช่วยผู้บัญชาการ Gujal Muhammad Zulqarnain Khan GBRSPK Amjad Wali หัวหน้า PDO  Pakhtunkhwa Development Organization และเจ้าหน้าที่ของ PHSU Youth and Sports Organization

รวมไปถึงผู้นำหมู่บ้าน รวมทั้งสมาชิกของคณะกรรมการอนุรักษ์ PHSU ที่ได้ร่วมไม้ร่วมมือเพื่อทำเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ เส้นทาง Passu Cones Trails ที่มุ่งพัฒนานักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าถึง Passu Cones และการเดินเขาผจญภัยที่แท้จริง

จะบอกเลยตอนนี้โซนโกจาล แต่ละหมู่บ้านพร้อมที่จะเปิดเส้นทางเดินเขาและนำเสนอความสวยงามของหมู่บ้านของตัวเอง แค่เฉพาะในเขตโกจาลยังแข่งขันกันเองแล้ว เพราะที่นี่ไม่มีการแพร่ระบาดของ Covid ค่ะ และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กระทรวงท่องเที่ยวของปากีสถาน ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวในโซนนี้ มั่นใจเลยว่า เกิดแน่นอน และเป็นกำไรของนักท่องเที่ยวเต็มๆ

Inauguration of the road to the Phasu Topupadan Peak “Passu Cones Trails′′ located in the famous tourist place Phasu Topupadan Phasu village. Assistant Commissioner Sub Division Gujal Muhammad Zulqarnain Khan GBRSPK Amjad Wali, Heads of PDO and officials of PHSU Youth and Sports Organization. Village leaders including the members of the PHSU Conservation Committee did it collectively. The Passu Cones Trail is a km long track aimed at improving tourists to tourist destinations as well as promoting tourists access to Passu Cones and adventure sports


กุลไลล่า

ไกด์สาวชาวไทย​ สะใภ้​ปากี​สถาน จากหัวหิน​พบรักหนุ่มปากีเชื้อสายวาคี อาศัยอยู่เมืองพาสสุ​ ดินแดนเหนือสุดของประเทศปากีสถาน ปัจจุบันเปิดร้านอาหารริมถนนคาราโครัมไฮเวย์​ ถนนที่ได้รับการขนานนามว่าสูงที่สุดในโลก​ หรือเส้นทางสายแพรไหมในอดีต​

คอยต้อนรับแขกที่ผ่านทางมา​ แวะกินอาหารไทย​และชิมชา​ เบเกอรี่ชื่อดัง​ ทางเหนือของปากีสถานได้​ พร้อมให้บริการท่องเที่ยวปากีสถาน​หลังโควิด​-19 ผ่านไป

ซุส (Sost) เมืองชายแดนปากีสถาน ติดพรมแดนจีน กลายเป็นเมืองร้าง ร้านค้ามากมายปิดให้บริการ คนตกงานระนาว จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

คอลัมน์ ริมทางถนนคาราโครัมไฮเวย์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบเมืองซุส (Sost) ประเทศปากีสถานอย่างหนัก จากภาพถนนหลักคาราโครัมย์ ที่มีรถวิ่งไปมาขวักไขว่ ก่อนโควิด วันนี้เป็นได้แค่สนามฟุตบอลให้ชาวบ้านได้ออกกำลังกายคลายหนาวแทน แทบจะเรียกได้ว่าเกือบเป็นเมืองร้าง ร้านค้ามากมายปิดให้บริการ

เหตุใดเมืองซุส (Sost) ถึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนแทบจะกลายเป็นเมืองร้างแบบนี้  ?

เมืองซุส ( Sost) คือ เมืองชายแดนของปากีสถาน ระหว่าง 2 ประเทศ คือ ประเทศปากีสถาน-ประเทศจีน ซึ่งจะมีด่านชายแดนกุลจิราฟ ในการเดินทางข้ามพรมแดนและขนส่งสินค้า แต่หลังจากเหตุการณ์โรคระบาด ด่านพรมแดนแห่งนี้ ก็ถูกปิดไปตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงทุกวันนี้ (เปิดด่านเฉพาะกิจไปเพียง 2 ครั้ง ในปี 2020 เพื่อให้ทางการจีนส่งเครื่องมือแพทย์มาช่วยเหลือ ช่วงเดือนเมษายน และเดือนกันยายนเท่านั้น )

ชาวเมืองทั้งหมดโซนนี้ ทำงานร่วมกับคนจีน ไม่ว่าจะเป็นล่าม ไกด์นำเที่ยว คนขับรถ บริษัทขนส่ง พนักงานตำแหน่งต่างๆ ในท่าสินค้า ซึ่งมีท่าสินค้าและโกดังสินค้าจากประเทศจีนขนาดใหญ่มาก ชื่อว่า Dry Port เป็นจุดพักสินค้า ก่อนขนส่งลงไปทางตอนใต้

เพราะฉะนั้น ชาวเมืองเกือบทุกคน ที่เป็นอยู่ในวัยแรงงาน ได้รับผลกระทบเต็มๆ เช่น เจ้าของบริษัททัวร์ที่จีน (ซินเจียง) ลูกทัวร์ก็เดินทางข้ามพรมแดนไม่ได้ เพราะด่านปิด กิจการได้รับความเสียหายอย่างหนัก หรือคนที่ทำงานที่ท่าสินค้า ก็ถูกพักงานไปหลายเดือน

จากผลกระทบอย่างหนักในครั้งนี้ ทำให้ผู้นำฝ่ายค้านโซนGB ทำหนังสือส่งไปที่รัฐบาลกลาง ขอให้เปิดด่านพรมแดนกุลจิราฟ ในวันที่1 เมษายน เพื่อผลประโยชน์และกระตุ้นเศรษฐกิจของโซนเหนือ

ถือเป็นความหวังของชาวเมืองเหนือ หากทางการอนุญาตให้เปิดด่านพรมแดน ชาวเมืองก็จะได้กลับไปทำมาหากินกัน

แม้ว่าประเทศปากีสถาน และเมืองซุส (Sost) จะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด19 แต่พวกเราก็ได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีงานทำ ผู้คนที่นี่ตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานผู้ชาย โดยส่วนใหญ่ผู้ชายปากีสถานเป็นผู้นำครอบครัว มีหน้าที่ทำงานเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลครอบครัวเท่านั้น ถ้าผู้นำครอบครัวตกงาน ก็หมายถึงความเป็นอยู่ของคนทั้งครอบครัวเช่นกัน

ชีวิตได้อย่างเสียอย่างเสมอ

ทุกวันนี้รอคอยข่าวดีอยู่ทุกวัน

ถึงที่นี่จะไม่มีโควิด แต่โดนผลกระทบจากโควิดหนักที่สุด!!!

รายงานจากคนไทยคนเดียวที่อยู่เมืองนี้


กุลไลล่า

ไกด์สาวชาวไทย​ สะใภ้​ปากี​สถาน จากหัวหิน​พบรักหนุ่มปากีเชื้อสายวาคี อาศัยอยู่เมืองพาสสุ​ ดินแดนเหนือสุดของประเทศปากีสถาน ปัจจุบันเปิดร้านอาหารริมถนนคาราโครัมไฮเวย์​ ถนนที่ได้รับการขนานนามว่าสูงที่สุดในโลก​ หรือเส้นทางสายแพรไหมในอดีต​

คอยต้อนรับแขกที่ผ่านทางมา​ แวะกินอาหารไทย​และชิมชา​ เบเกอรี่ชื่อดัง​ ทางเหนือของปากีสถานได้​ พร้อมให้บริการท่องเที่ยวปากีสถาน​หลังโควิด​-19 ผ่านไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top