Tuesday, 30 April 2024
6ระบบเศรษฐกิจใหม่

ประชาธิปัตย์ทันสมัย พูดคุยกับ ‘อลงกรณ์’ ในบริบทใหม่ของ ศก.ไทย ใต้ ‘6 ระบบเศรษฐกิจ-18 ฐานการพัฒนา’

ในห้วงเวลาที่นโยบายหลากพรรคต่างช่วงชิงกระแส ‘ตัวเลข’ ออกมาปั้นเป็นวิสัยทัศน์กันอย่างไวว่อง ในฟากของประชาธิปัตย์ก็มิได้ตกขบวนแต่อย่างใด หากแต่ตัวเลขของ ปชป. อาจจะไม่ใช่ตัวเลขหรือหวาเชิงประชานิยม แต่กลับเป็นตัวเลขภายใต้บริบทที่เรียกว่า ‘6 ระบบเศรษฐกิจใหม่ - 18 ฐานการพัฒนาใหม่’ ซึ่งทางพรรควางไว้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศไทยตัวใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มที่ประชาธิปัตย์ได้ดีไซน์เพื่อความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยในวันนี้

บริบทจาก ‘6 ระบบเศรษฐกิจใหม่ - 18 ฐานการพัฒนาใหม่’ ที่ว่านั้น ทาง THE STATES TIMES ได้รับความกระจ่างผ่านมุมมองของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ / อดีต ส.ส.6สมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

เมื่อถามถึงบริบทดังกล่าว นายอลงกรณ์ ก็ได้เริ่มเกริ่นนำว่า “ในมุมมองของผม โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย คือ  อัตราการเติบโดทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้ต่อหัวของประชาชนขยายตัวในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศ การคอร์รัปชันสูงเกินไป การกระจายรายได้ต่ำ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมากในลำดับต้นๆ ของโลก

“สรุปคือระบบเศรษฐกิจและระบบภาครัฐดั้งเดิมของประเทศไทยเหมือนเครื่องยนต์เก่าที่กำลังไม่พอต่อการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้าง ‘เครื่องยนต์ตัวใหม่’ ที่ทันต่อการแข่งขันและความท้าทายใหม่ๆ เช่น ปัญหาโลกร้อน, ปัญหาสังคมสูงวัย, ปัญหาความยากจนและหนี้สิน, ปัญหาความเหลื่อมล้ำปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ, ปัญหาการคอร์รัปชัน, ปัญหาคุณภาพการศึกษา และปัญหาโรคระบาดและฝุ่นพิษ รวมถึงปัญหาUrbanization และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ”

นายอลงกรณ์ เผยต่อว่า “ถ้าจะยกระดับอัพเกรดให้ก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง เราต้องมีแพลตฟอร์มใหม่และสร้าง”พิมพ์เขียวปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนา”ที่มีเป้าหมายชัดเจนเป็นตัวชี้วัด (Benchmark) บนโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจใหม่ 6 ระบบได้แก่ 1.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 2.เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 3.เศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) 4.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 5.เศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy) และ 6.เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy)

“โดยทั้ง 6 ระบบนี้ คือ เครื่องยนต์ใหม่ที่จะตอนโจทย์ต่ออนาคตของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้ดังนี้...1.การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5 %ใน 4 ปีแรกและ 7 %ในปีที่ 5 / 2.สร้างมูลค่าGDPเป็น 20 ล้านล้านบาทภายใน 4 ปี / 3.สร้างความสมดุลหนี้สาธารณะและงบประมาณสมดุลภายใน 8 ปี / 4.เกิดการจ้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านตำแหน่งภายใน 8 ปี  และ 5. เพิ่มรายได้ประชากรสู่ระดับ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปี...นี่คือในส่วนของ ‘6 ระบบเศรษฐกิจใหม่’ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top