Monday, 6 May 2024
6ตุลา

'ปิยบุตร' ถามหากองหนุน วอนอย่าให้เด็กสู้ลำพัง หวั่นซ้ำรอย 45 ปีก่อน ที่นักศึกษาถูกบดขยี้จนหายวับ

6 ต.ค. 64 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ถึงการร่วมเสวนาหัวข้อ “45 ปี มาตรา 112” ส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ ทาง Clubhouse เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่กล่าวตอนหนึ่งว่ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา แต่คือภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลายคนที่เที่ยวไปแจ้งความคนอื่นทั้งที่ตนเองไม่ได้โดนดูหมิ่น ไม่ได้เสียหายเอง นั่นเพราะสำหรับพวกเขามองว่าคือการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดูหมิ่นความเชื่อถือ (Blasphemy)

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ การแก้ และการเพิ่มโทษที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง คือปฏิกิริยาสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ ยกตังอย่างเช่น การแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 ให้เพิ่มขึ้นจนมากกว่าสมัยการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังการรัฐประหารของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ช่วงต่อมาคือการใช้มาตรา 112 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาถึงหลังการรัฐประหาร 2549 และล่าสุดถูกนำมาใช้ใหม่อย่างกว้างขวางอีกครั้งหลังการชุมนุมปี 2563 

ดังนั้นมาตรา 112 จึงไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเดียว แต่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองและกลุ่มคนที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ย้อนไปถึงการรณรงค์ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ในตอนนั้น เคยมีคนเป็นรอยัลลิสต์มาเสนอว่าหากต้องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ให้มานั่งคุยกันปิดลับ โดยไม่ต้องเข้าชื่อเสนอกฎหมายในทางสาธารณะ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไม่อยากให้มีการเข้าชื่อ เมื่อมาวิเคราะห์ดูก็พบว่านี่คือวิธีคิดของรอยัลลิสต์และพวกอนุรักษ์นิยม คือคิดว่าถ้ายอมโอนอ่อนให้ข้อนึง ความต้องการจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปถึงเรื่องอื่นเรื่อยๆ จนไปถึงสุดทางเลย เขาไม่คิดว่าถ้ายอมปฏิรูปข้อนึง แล้วคนจะหยุด วิธีคิดของรัฐไทยขีดเส้นชัดเจน ไม่ขยับถอยเลย ต้องรอให้เกิดความสูญเสีย ถึงจะมายอมถอยเหมือนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในอดีต” 

'ธนาธร'​ ย้อน​รำลึก​ 45 ปี 6 ตุลา 19 บทเรียนจากอดีต ชนชั้นนำไทยไม่ยอมเรียนรู้ แม้โลกเปลี่ยน

6​ ต.ค. 64​ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก​ 'Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ'​ ระบุว่า... 

(45 ปี 6 ตุลา 19 : บทเรียนจากอดีตที่ชนชั้นนำไทยไม่ยอมเรียนรู้ ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม)​

“6 ตุลา 2519 นี่คือผลของการผลักเขาออกไปแล้วไม่มีใครได้อะไร เราต้องส่งเสียงไปถึงชนชั้นนำ ส่งเสียงไปถึงกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ถือครองอำนาจในประเทศนี้ ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว จิตวิญญาณของยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนในสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้รวดเร็วฉับไว ไม่มีทางที่คุณจะฉีกประวัติศาสตร์หน้าใดหน้าหนึ่งจากสังคมไทยได้อีก

เหมือนที่ยุคหนึ่งคุณทำให้ประชาชน ลืมเหตุการณ์ 6 ตุลา ไป เหตุการณ์ 6 ตุลาไม่เคยอยู่ในหนังสือเรียน 24 มิถุนา 2475 ไม่เคยอยู่ในหนังสือเรียน พวกเขาต้องการลบประวัติศาสตร์เหล่านี้ออกไป แล้วเขียนเล่านิทานว่าประเทศไทยมีความสุขสงบ แต่ภายใต้ความสุขสงบที่ชนชั้นนำให้เราเชื่อ มันเต็มไปด้วยความอยุติธรรม ความเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น คุณต้องปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนไป อะไรที่มันไม่สามารถปรับตัวตามโลกได้มันก็ต้องย่อมหายไปตามธรรมชาติ

ยุคนี้เป็นยุคที่มีคดีความทางการเมืองมากที่สุด มีการถูกตั้งข้อหาคดีชุมนุม คดี 112 คดี พ.ร.บ.โรคระบาด เรียกว่ามีคดีทางการเมืองที่มากที่สุด มากกว่ายุคสมัยใด มันแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำกำลังหวาดกลัวและไม่รู้จะจัดการกับคลื่นกระแสความคิดใหม่อย่างไร สิ่งที่ทำคือไล่ฟ้อง ไล่จับ ไล่ขังประชาชน การทำแบบนี้ยิ่งจะทำให้เกิดความโกรธแค้น ยิ่งจะทำให้พวกเขาสุดโต่ง ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดี

“เทพไท” โพสต์เตือน อย่าผูกขาดเป็นเจ้าของวีรชนเดือนตุลา ชี้ต้องแยกแยะอดีตกับปัจจุบัน

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ผมคนหนึ่ง ที่เป็นคนเดือนตุลาเช่นกัน เพราะตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ผมยังเป็นนักเรียน อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา และได้ร่วมกิจกรรมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)ที่ กรุงเทพฯอีกด้วย หลังจากนั้นก็มาเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำนักศึกษาในตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) และเลขาธิการองค์การบริหารองค์การนักศึกษา 20 สถาบัน อีกด้วย จึงมีความผูกพันกับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา และถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่ได้สืบทอดเจตนารมย์ของวีรชนเดือนตุลามาเช่นกัน 

“ในวันนี้เป็นวันครบรอบ 45 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยังอยู่ในความทรงจำ ยังระลึกถึงวีรกรรมของวีรชนเดือนตุลา อย่างไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าในช่วงหลังนี้ จะไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัวมากนัก เพราะมีความรู้สึกลึกๆว่า การจัดงานรำลึกวีรชนเดือนตุลา กำลังผูกขาดแสดงความเป็นเจ้าของ จากคนเพียงกลุ่มเดียว ทำให้คนที่มีความคิดแตกต่างกัน ไม่กล้าเข้าร่วมกิจกรรม เพราะมีความรู้สึกแปลกแยก กับคนที่จัดงานรำลึกวีรชนเดือนตุลา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”

'พิธา' ร่วมวางพวงมาลารำลึก 6 ตุลา 19 เตือนรัฐอย่าทำซ้ำ เพราะจุดจบจะไม่เหมือนเดิม

'พิธา' พร้อม 'ชัยธวัช' และ 'พรรณิการ์' เป็นตัวแทน ก้าวไกล-ก้าวหน้า รำลึกเหตุการณ์สังหารณ์หมู่ 6 ตุลา ชงข้อเสนอแก้กติกา-สร้างระบบ ยุติเงื่อนไขรัฐในการปราบปราม-เข่นฆ่า-ยึดอำนาจประชาชน พร้อมเตือนชนชั้นนำอย่าคิดปลุกโมเดล 6 ตุลาอีก มั่นใจจุดจบไม่เหมือนเดิม

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ร่วมเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า วางพวงมาลารำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยบนพวงมาลามีข้อความที่สอดคล้องกันคือ 'ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน' สำหรับพวงมาลาของพรรคก้าวไกล และ 'ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย' บนพวงมาลาของคณะก้าวหน้า

หลังการร่วมพิธีทำบุญในช่วงเช้าตรู่และการวางพวงมาลาที่ลานปฏิมานุสรณ์ 6 ตุลา พิธาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คือบทเรียนว่าสังคมไทยจะต้องร่วมกันทบทวนเงื่อนไขในการปราบปรามของรัฐ การรัฐประหาร ไปจนถึงการเข่นฆ่าประชาชน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอทางการเมืองเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเกิดความสมานฉันท์ ให้ความคิดที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยจริง ๆ และเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา ไม่เกิดขึ้นอีก นั่นคือจะต้องมีการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อคดีการเมือง ผู้ต้องคดีการเมืองต้องได้นับการยุติการดำเนินคดี ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และจะต้องมีการเสาะหาข้อเท็จจริง ทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 และทุกเหตุการณ์การเมือง รวมถึงเหตุการณ์ในปี 2557 ด้วย

'ไอติม' ชี้!! 'อำนาจกองทัพ - กม.ปิดปาก - ส.ว.แต่งตั้ง' มรดกตกทอดจาก 6 ตุลาฯ 19 ที่ต้องรื้อถอน

'ไอติม' ขึ้นเวทีเสวนา 46 ปี 6 ตุลา ชี้ระบบ ส.ว. แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร - กฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพหลายฉบับ - การแทรกแซงการเมืองของกองทัพ เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 6 ตุลาฯ และยังส่งทอดมรดกมาถึงปัจจุบัน แนะต้องรื้อทิ้งเพื่อคืนความปกติให้บ้านเมือง

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย” ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ยังส่งมรดก 3 ประการมาถึงระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน

โดยพริษฐ์ยกตัวอย่างประการแรก ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่เขียนขึ้นหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ในแง่ของเนื้อหาและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เช่น กลไกของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งแต่มีอำนาจในการกุมทิศทางประเทศ ผ่านการร่วมโหวตกฎหมายสำคัญ และร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.

ประการที่สอง เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ลิดรอนการแสดงเสรีภาพ ซึ่งมีหนึ่งในคำสั่งคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กว่า 47 ที่ยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือคำสั่งฉบับที่ 41 ที่แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ ให้เพิ่มโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาททั้งบุคคลธรรมดา เจ้าพนักงาน ศาล ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยมีโทษหนักกว่าสากลและเปิดช่องให้ถูกบังคับใช้ด้วยมาตรฐานที่ไม่คงเส้นคงวา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top