Monday, 21 April 2025
2475DawnofRevolution

‘ผู้เขียนบท 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เผยความโชคร้ายของไทยคือการเกิด ‘ศาลพิเศษ’ ในยุคของ จอมพล ป.

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้น หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นบรรยายได้แก่ นางสาวปัณฑา สิริกุล ผู้เขียนบทภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้เล่าถึงเส้นเรื่องของประวัติศาสตร์และตั้งข้อสังเกตถึงบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏในตำราและหนังสือใด ๆ โดยเฉพาะการฉ้อโกง และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะราษฎร ประกอบกับการนำข้อมูลของศาลพิเศษของหลวงพิบูลสงครามมาเป็นข้อมูลประกอบในหนังสือซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลพบว่า การให้การภายในศาลพิเศษนั้น ล้วนเต็มไปด้วยคำให้การเท็จเป็นจำนวนมาก

ในบางช่วงบางตอน โดยนางสาวปัณฑาระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุกบฏบวรเดชว่า “ความโชคร้ายของประเทศไทย คือ…กบฏบวรเดชทำให้เกิดหลวงพิบูลสงครามขึ้น และต่อมาก็เกิดศาลพิเศษ ที่จำเลยไม่มีทนาย ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา เมื่อพิพากษาเสร็จให้บังคับคดีได้เลย”

ทีมงานแอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โพสต์!!ขอบคุณ ‘พี่เกลือ เป็นต่อ’ ให้เกียรติพากย์บท ‘พระยาทรงฯ’ ชี้!! ‘ห้าว-ปากแจ๋ว’ สมใจ ยินดีมากที่ได้ร่วมงาน

(23 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘2475 Dawn of Revolution’ ได้โพสต์ข้อความประทับใจ เกี่ยวกับ ‘พี่เกลือ เป็นต่อ’ โดยมีใจความว่า ...

พี่เกลือ กับ แอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ

ตอนเราคิดจะหาคนพากย์ งานแอนิเมชัน๒๔๗๕ เรามีพี่นกสินจัยและฉัตรชัย ที่วางไว้ตั้งแต่ต้น รวมทั้ง พี่ดี้และพี่สุเมธ ที่ยินดีร่วมงานอย่างมาก ซึ่งพี่ๆเหล่านี้ เราได้คุยไว้ตั้งแต่ตอนทำงานเพลงในหลวงครับ 

พี่เกลือล่ะมาไง?

งานหินของแอนิเมชันคือ เราต้องหาคนพากย์เป็น “ลุงดอน” ซึ่งเป็นผู้ดำเนินเรื่อง และมีบทพูดเยอะมาก สุดท้ายเราได้อาวอ มาพากย์และช่วยคุมงานพากย์ทั้งหมดครับ 

ระหว่างพากย์กันอยู่ อาวอแกก็อยากได้ดารามาเพิ่ม จึงลองโทรหาพี่เกลือ ถามว่าว่างมั้ย มาพากย์การ์ตูนกันหน่อย ปกติพี่เกลือจะไม่ค่อยว่าง งานเยอะ แต่วันนั้นพี่เกลือว่างพอดี และบ้านก็อยู่ไม่ไกล พี่เกลือเลยแวะมาแจม 

มาถึงห้องอัดก็นั่งเลือกว่าจะให้พากย์เป็นอะไร (เลือกกันสดๆหน้างาน) เราก็เห็นบทพระยาทรงฯ คู่ปรับปรีดีที่เป็นคนห้าวๆ และปากแจ๋ว ก็เลยให้พี่เกลือพากย์บทพระยาทรงฯ ซึ่งก็ออกมาปากแจ๋วสมใจครับ  (และพี่เกลือยังพากย์เป็นทหารหนวดที่ชอบชักปืนขู่ด้วยครับ) 

พากย์เสร็จผมก็ใส่ซองให้พี่เกลือ แกยังถามว่า ได้เงินด้วยเหรอ ผมก็บอกว่าต้องให้สิครับ (ถึงจะมีไม่มาก แต่ต้องให้) และผมไม่กล้ารบกวนมาก เลยขอถ่ายรูปเก็บไว้รูปเดียว 

หลังจาก แอนิเมชัน ออก ดูพี่เกลือจะประทับใจมาก คอยแชร์คอยติดตามผลงานเราตลอด และถ้ามีการทำภาคต่อหรือเรื่องใหม่ พี่เกลือบอกว่ายินดีมาร่วมงานกันอีก 

ขอขอบคุณพี่เกลือมาอีกครั้งครับ 

ปล.พี่เกลือได้ค่าพากย์เท่าพี่ดี้เลยครับ

คืบหน้า บ.ผู้ผลิต ‘2475 Dawn of Revolution’ ฟ้องประชาไท ปมเสนอข่าวให้คนอ่านเชื่อว่า “รับเงินจากกองทัพบกมาจัดทำแอนิเมชัน”

เมื่อวันที่ (25 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘2475 Dawn of Revolution’ ได้โพสต์ข้อความว่า แจ้งความคืบหน้า กรณี บจก.นาคราพิวัฒน์ ผู้ผลิตแอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ฟ้อง มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (ประชาไท) คดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากนำเสนอข่าว ให้คนอ่านเชื่อว่า “รับเงินจากกองทัพบกมาจัดทำแอนิเมชัน”

ล่าสุด ศาลอาญารัชดาสั่งประทับรับฟ้อง ชี้คดีมีมูล!

ทีมงานแอนิเมชัน ๒๔๗๕ ขออธิบายเรื่องราวดังนี้ 

หลังจากเราเผยแพร่แอนิเมชันทางออนไลน์ไปในวันที่ 13 มีนาคม 2567 ทางเว็บไซต์ข่าวประชาไท ก็ได้เสนอรายงานข่าวว่า ผู้ผลิตแอนิเมชัน ๒๔๗๕ รับจ้างกองทัพ 11 สัญญาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า แอนิเมชัน ๒๔๗๕ ได้รับการสั่งจ้างจากกองทัพ จนเกิดผลกระทบตามมาสู่ทีมงาน ผู้ร่วมงาน และบริษัทของเราอย่างมาก เราจึงตัดสินใจฟ้อง ประชาไท ผู้บริหารประชาไท และ อินฟลูเอนเซอร์บางรายที่แชร์ข่าวออกไป ทำให้ขยายความเข้าใจผิดในวงกว้าง 

ในวันเบิกความ เรามีหลักฐานคอมเมนท์ของผู้รับสาร ที่อ่านข่าวประชาไทและโพสต์โจมตีแอนิเมชันจำนวนมาก อาทิ "ทหารจ้างทำไอโอ" "เอาภาษีมาอวยกันเอง" หรือ "เอาภาษีประชาชนมาสร้างความแตกแยก" ซึ่งสื่อฯดังกล่าวก็ละเลยที่จะแก้ไขความเข้าใจผิด แต่กลับปล่อยคอมเมนท์เหล่านั้นไว้ในโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นว่า การนำเสนอข่าวนี้มีส่วนชี้นำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจเช่นนั้นจริงๆ

ล่าสุดวันนี้ 25 มีนาคม 2568 ศาลสั่งประทับรับฟ้อง ชี้คดีมีมูล
และให้เดินหน้า สอบคำให้การ และสืบพยานต่อไป

นี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น การต่อสู้คดียังอีกยาวไกล หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดี ทีมงาน ๒๔๗๕ จะนำมาเสนอทุกท่านในโอกาสต่อไป

สำหรับคดีดังกล่าว บริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด ซึ่งมี วิวัธน์ จิโรจน์กุล กรรมการผู้มีอำนาจ และผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนประวัติศาสตร์ “2475 Dawn of Revolution” เป็นโจทก์ฟ้อง มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน จำเลยที่ 1, เกษม ศิริสัมพันธ์ จำเลยที่ 2 และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย อดีตบรรณาธิการบริหารประชาไท จำเลยที่ 3 และฟ้องบุคคลทั่วไปที่แชร์ข่าวอีก 3 รายเป็นจำเลยที่ 4,5 และ 6
ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14(1) และ (5) จากการนำเสนอข่าว “พบเจ้าของแอนิเมชัน '2475 Dawn of Revolution' รับโครงการทำสื่อแบบวิธีเฉพาะเจาะจง 'กองทัพบก' 11 สัญญา” เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567

‘ผู้สร้าง 2475’ ลั่น!! ต้องรับผิดชอบต่อคำพูด หลังศาลรับฟ้อง ‘ประชาไท’ หมิ่นประมาท

(19 เม.ย. 68) เพจ iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ศาลอาญามีคำสั่งรับฟ้องคดีที่บริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด ผู้ผลิตแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ เป็นโจทย์ ยื่นฟ้องเว็บไซต์ประชาไทและผู้แชร์ข่าว รวม 6 ราย ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากโพสต์ของเพจประชาไท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งระบุว่า “ผ่านไป 1 วัน ยอดวิวแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ ทะลุ 3 แสน ขณะที่เช็คผ่าน ACT AI พบเจ้าของแอนิเมชันรับโครงการทำสื่อแบบวิธีเฉพาะเจาะจง 11 สัญญา ระหว่าง 2563 ถึง 2565” โดยมีภาพประกอบสรุปประเด็นเดียวกัน

โจทย์เห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าแอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในการผลิตโดยตรง ซึ่งไม่เป็นความจริง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต

ภายหลัง iLaw เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งรับฟ้อง นาย วิวัธน์ จิโรจน์กุล เจ้าของบริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด และเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทของแอนิเมชัน ได้โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า

> “ก็ถ้าคนอ่านข่าวเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก แสดงว่าต้นทางข่าวทำให้เข้าใจผิดไงครับ… ควรถามประชาไทดูนะครับ ว่าตอนไต่สวนมูลฟ้อง พยานให้เหตุผลอะไร ทนายไปพูดแบบไหน ศาลจึงตัดสินใจรับฟ้อง คือมันมีมูลเหตุให้ ‘ศาลรับฟ้อง’ ไง... ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของหลักฐานที่จะนำสืบกันต่อไปครับ”

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาไทเคยนำเสนอเนื้อหาในประเด็นนี้แล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคม หลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และล่าสุดทาง iLaw ได้นำเสนอซ้ำในลักษณะที่ใกล้เคียงเดิม

ในช่วงท้ายของโพสต์ นายวิวัธน์ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก โดยระบุข้อความเต็มว่า

> **“เสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่ใบอนุญาตให้ทำร้ายใครโดยไม่ต้องรับผิดชอบ
การอ้างเสรีภาพเพื่อปกป้องการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ไม่ว่าจะด้วยข้อมูลบิดเบือน คำพูดชี้นำ หรือการเผยแพร่โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสิทธิขั้นพื้นฐานนี้

เสรีภาพนั้นมีคุณค่า เพราะอยู่ภายใต้กรอบของความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพราะใครอยากพูดอะไรก็พูดได้โดยไม่ต้องใส่ใจผลกระทบต่อผู้อื่น

ถึงเวลาแล้วที่สังคมควรแยกให้ออกระหว่าง ‘เสรีภาพ’ กับ ‘การละเมิด’ เพราะถ้าเราใช้สิทธิเพื่อกดทับสิทธิของคนอื่น สังคมที่ควรเปิดกว้าง ก็จะกลายเป็นพื้นที่แห่งความอยุติธรรมที่ถูกอ้างด้วยชื่อของประชาธิปไตย”**

ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top