Monday, 7 April 2025
14ตุลา

‘อัษฎางค์’ ยกคำกล่าว ‘พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร’ มีผู้จงใจจุดชนวนให้เกิด 14 ตุลาหรือแค่อุบัติเหตุ?

14 ต.ค. 64 - นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "มีผู้จงใจจุดชนวนให้เกิด 14 ตุลาหรือแค่อุบัติเหตุ?" โดยระบุว่า ผมขออนุญาตย่อความจากเหตุการณ์ 14 ตุลา จากปากของพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร หนึ่งในบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้กุมความลับของเหตุการณ์

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล แถลงการณ์ฉบับนั้นที่สำคัญที่สุดก็เป็นการประณามรัฐบาลที่ยึดอำนาจอยู่โดยไม่ยอมคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน พูดง่ายๆ ว่าเป็นเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้จับนิสิตนักศึกษาและผู้ที่ร่วมเรียกร้อง แต่ข้อหาที่ตั้งคือกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าจำไม่ผิดคือจับไปทั้งหมด 13 คน

พอถูกจับไปแล้ว ปฏิกิริยาของนิสิตนักศึกษาก็เริ่มขึ้น เริ่มมีการชุมนุม ตั้งแต่จำนวนพันไปถึงจำนวนหมื่น การชุมนุมเริ่มมีมากขึ้นๆ จนเป็นจำนวนแสนคน

พล.ต.อ.วสิษฐ เข้าวังสวนจิตรลดา ตอนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม โดยได้รับคำสั่งให้ไปคอยรับผู้แทนของนิสิตนักศึกษาที่จะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว

เวลา 17.30 น. พระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จฯ มา และนิสิตนักศึกษาเข้าเฝ้าฯ กันอยู่จนเกือบสองทุ่มจึงกลับออกมา 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่ารัฐบาลยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนแล้ว

นอกจากจะปล่อยแล้วยังมีข้อตกลงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังเป็นลายลักษณ์อักษร และจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปีตามที่รัฐบาลเคยบอก

ในขณะที่นิสิตนักศึกษาที่เข้าเฝ้าในวังพูดกันรู้เรื่องดีแล้ว แต่กลุ่มนิสิตนักศึกษาข้างนอกกลับไม่รู้เรื่อง

มีคนไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกว่า “ม่องหมดแล้วพวกในวัง”

มีคนมากระซิบนิสิตนักศึกษาที่อยู่ข้างนอกว่าเขาจัดการคน (นิสิตนักศึกษา) ในวังหมดแล้ว

พอเป็นอย่างนั้นพล.ต.อ.วสิษฐก็ขอร้องพวกที่อยู่ในวังที่พูดกันรู้เรื่องแล้วให้ไปเจรจากับคนที่อยู่ข้างนอกหน่อยว่าบัดนี้อะไรๆ ก็เรียบร้อยหมดแล้ว

ต่อมาพล.ต.อ.วสิษฐ ขึ้นไปอ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว และแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว สมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้

พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกันและร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ก็ได้ยินเสียงระเบิดตูมขึ้น เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา เป็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนผู้ชุมนุมกำลังจะกลับโดยแยกย้ายกันเดินออกไปทุกทิศ

ผู้ที่ประสบเหตุปะทะกับตำรวจเหล่านั้นคือผู้ที่เดินกลับจากวังไปทางถนนราชวิถี เหตุที่เกิดปะทะกันขึ้น เพราะตำรวจได้รับคำสั่งว่าให้ปิดทางไม่ให้ประชาชนผ่านทางนั้น ตำรวจใช้กระบองกับแก๊สน้ำตา เกิดการตีกันขึ้นที่หน้าวัง

พอเกิดการตีกันขึ้นก็เกิดข่าวปากต่อปากแจ้งว่าตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเองการจลาจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ 

'โบว์-ณัฏฐา' ชี้!! พฤติกรรมของด้อมส้มตอนนี้ พ้องกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตสมัย 14 ตุลาฯ

(17 ก.ค. 66) คุณโบว์ ณัฏฐา มหัทธนา ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง กล่าวถึงกรณีด้อมส้มที่ตามคุกคาม ส.ว. กับ กกต. ไว้ว่า...

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ คนเดือนตุลาคมหลายคนเขาบอกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่พ้องกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตอนสมัย 14 ตุลาคม ขบวนการนักศึกษากระแสสูงมาก ได้รับการสนับสนุนกับสังคมสูงมาก ๆ เสร็จแล้วเกิดอะไรขึ้น? ก็เกิดอาการกร่างหลังจากทำลายรัฐบาลเผด็จการตอนนั้นไปได้แล้ว เกิดอาการกร่าง 

แล้วกร่างยังไง? คือทุกคนต้องคิดเหมือนเขา ต้องเห็นตามเขา และต้องทำตามเขา และเขาก็เอานักศึกษาไปจัดการองค์กรต่าง ๆ จนกระทั่งมันเกิดกระแสต้าน จึงนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ในที่สุด เราจะไม่พูดว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่นี่คือสิ่งที่คนเดือนตุลาคมหลาย ๆ คน พูดตรงกัน ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ พฤติกรรมของด้อมส้มตอนนี้ มันคล้าย ๆ กับตอนนั้นเลยนะ คือความกร่าง และไปก้าวร้าวใส่คนอื่นเต็มไปหมด 

คราวนี้สิ่งที่ทำกับ ส.ว. คือผิดอยู่แล้ว มันคือการคุกคาม จะบอกว่ากติกาที่ ส.ว. มาร่วมโหวตนายกฯ โบว์เป็นคนที่ต่อต้านมาตั้งแต่ต้นจนจบเลย จนกระทั่งวาระสุดท้าย นาทีสุดท้ายที่จะเสนอแก้กฎหมายข้อนี้ได้ เราเป็นคนเสนอแก้พร้อมกับอาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร แต่เมื่อเราทำไม่สำเร็จ แล้วตอนนั้นโบว์จะบอกว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ เพราะว่าขบวนการเคลื่อนไหวไม่สนใจเรื่องนี้เลย ขบวนการเคลื่อนไหวไปโฟกัสกับอะไร? ไปโฟกัสกับการด่าเจ้า ไปโฟกัสกับอเจนด้าเกี่ยวกับการปฎิรูปสถาบัน แต่ด้วยท่าทีสิ่งที่ทำคือการด่าเจ้า นั่นคือสิ่งที่พวกคุณทำ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ทำอะไรในตอนนั้น คุณเปิดแคมเปญยกเลิก 112 ซึ่งไม่ใช้แก้ไขนะ ตอนนั้นคณะก้าวหน้า เปิดแคมเปญยกเลิก 112 ออนไลน์ คุณไปโฟกัสกับสิ่งนั้นไง และไม่มาโฟกัสกับ ส.ว. ในการโหวตนายกฯ กับสิ่งที่โบว์ทำอยู่ แต่คราวนี้เมื่อมันทำและพลังของประชาชนที่มาผลักดันเรื่องนี้มันไม่ได้มากพอ มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ มันก็แพ้เสียง ส.ว. นั่นแหละ เพราะว่าการกดดันจากข้างนอกแทบไม่มีเลย 

ดังนั้นเมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขกติกาแล้ว แนวทางของโบว์นะคะ คือต้องเคารพกติกา เพราะว่าเราแก้ไม่ได้ บ้านเมืองมันต้องอยู่บนความเอาแต่ใจตนเองไม่ได้ บ้านเมืองมันตั้งอยู่ความพยายามที่จะขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ แต่เมื่อไหร่ที่ทำไม่ได้แล้วมันมีกติกาอยู่ คนทั้งประเทศต้องเคารพกติกา ไม่อย่างงั้นคุณก็คิดดูแล้วกัน ว่าคนทั้ง 70 ล้านคน 70 ล้านความต้องการ มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกคนเอาความต้องการตัวเอง และเอาแต่ใจตัวเอง เอาตัวเองเป็นใหญ่ แล้วคุณจะคอนโทล 70 ล้านคนได้ยังไง? 

ดังนั้นเรื่องอำนาจ ส.ว. ตรงนี้มันมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแล้วมันแก้ไม่ได้ มันก็ต้องเคารพ เมื่อเคารพก็แปลว่าอะไร? แปลว่าต้องเคารพสิทธิ์ของ ส.ว. พวกนั้น ซึ่งเขาไม่ได้ไปเอาปืนจี้ใคร เพื่อที่จะมานั่งเป็น ส.ว. เพราะเขามาตามรัฐธรรมนูญ ใน 250 คนนั้น มีทั้งอดีตข้าราชการ อดีตนายพลอะไรต่าง ๆ หรือนายพลปัจจุบันก็มี เขามาตามรัฐธรรมนูญ 60 ที่เราไม่ประสบความสำเร็จในการสกัดมาตั้งแต่ปี 59 และเราไม่ประสบความสำเร็จในการแก้มาตรา 272 ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้เขามาตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคุณหาเสียงได้ ว่า อยากให้ ส.ว. โหวตให้พิธา เพราะอะไร คุณสามารถบอกได้ แต่คุณจะไปกดดันข่มขู่ไม่ได้ เมื่อเขาใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนญของเขาโหวตแล้ว คุณจะไปกดดันข่มขู่ธุรกิจครอบครัวเขา ไปบูลลี่ลูกของเขา รวมถึงไปข่มขู่ญาติพี่น้องเขา ซึ่งมันไม่ได้ คุณกำลังทำตัวเป็นอนาธิปไตยแล้ว จะบ้าหรือเปล่า? 

มันเป็นสิ่งที่ต้องพูด แล้วมันพูดเบา ๆ ไม่ได้ มันต้องพูดแรง ๆ เพราะว่าสิ่งที่ทำมันละเมิดรุนแรง ถ้าสิ่งที่ทำไม่ใช่การละเมิดรุนแรง เราก็จะไม่พูดแรง ๆ แต่สิ่งที่ทำเป็นการละเมิดรุนแรง เป็นการตามกันไปถึงบ้านแล้วในบางจังหวัด แล้วจะบอกว่าวันนี้ ส.ว. เขาไม่อยู่เฉยแล้วนะคะ เขามีการประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว สถานีตำรวจทุกจังหวัดพร้อมดูแลบ้าน ส.ว. ทุกบ้าน ใครไปคุกคามธุรกิจเขา คุกคามลูกเมียเขา หรือแม้แต่กระทั่งคุมคามทางออนไลน์ก็ตาม เขามีการตั้งทีมทนายมาเป็นสิบแล้วนะคะ แล้วประสานองค์กรทนายความหลายองค์กรมาช่วยกันแล้วค่ะ ถามว่าแนวร่วมพรรคก้าวไกลทำให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ในบ้านเมืองได้ยังไง? แล้วพรรคก้าวไกลคุณไม่สามารถที่จะคอนโทลแนวร่วมของคุณ แล้วมันมีแนวร่วมของพรรคการเมืองอยู่พรรคเดียวที่มีพฤติกรรมคุกคามชาวบ้านเขา ทำไมกองเชียร์พรรคเพื่อไทยเขาไม่เป็นล่ะ กองเชียร์พรรคเพื่อไทยเนี่ยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเขาโดนอะไรมาหนักกว่าคุณเยอะเลยนะ ทำไมเขายังมีอารยะได้ในระดับที่ฝ่ายตรงข้ามเขาก็ยอมรับว่ากองเชียร์พรรคเพื่อไทยยังคุยรู้เรื่อง แล้วทำไมกองเชียร์ก้าวไกลถึงเป็นอย่างงี้ เพราะว่าแนวทางของพรรคก้าวไกลตลอดเวลาที่ผ่านมามันไม่เป็นมิตรกับใครเลยค่ะ 

ดังนั้น ที่บอกว่า ส.ว. ไม่ยอมรับ พรรคก้าวไกลเพราะแก้มาตรา 112 หรือเปล่า? มันไม่ใช่แค่นั้นค่ะ บางคนบอกว่า การมาพูดเรื่องมาตรา 112 ในสภาฯ ตอนนี้ไม่เหมาะสม เพราะว่ามันไม่ใช่วาระการแก้กฎหมาย มันเป็นวาระการเลือกนายกฯ แต่โบว์จะบอกว่ามันเชื่อมโยงกันเป็นอย่างยิ่ง เพราะการโหวตนายกฯ มาตรา 159 ตามรัฐธรรมนูญบอกให้พิจารณาบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเขาจึงต้องอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อยคุณสมบัติ การถือหุ้นสื่อ หรือคุณสมบัติในความมีจริยธรรมทางการเมืองที่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันนี้เหตุผลของ ส.ว. นะคะ แต่โบว์จะอธิบายให้ฟังว่า เขาจึงได้เอาร่างแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลมาชำแหละในรายละเอียด รายละเอียดที่แฟนคลับพรรคก้าวไกลไม่เคยอ่านนั่นแหละ เขามาชำแหละให้ดูว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 อย่างไร และถ้าเกิดว่าแคนดิเดตนายกฯ สังกัดพรรคการเมืองที่นำเสนอกฎหมายที่มันขัดกับรัฐธรรมนูญเนี่ย เขาก็ยอมต้องตั้งคำถามกับคุณสมบัติของแคนดิเดตคนนั้น ว่าคุณเหมาะหรือเปล่าที่จะมาเป็นนายกฯ ในการปกครองระบอบที่เรามีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ นี่คือเหตุผลของการที่ทำไมต้องใช้เวลาทั้งวันในวันนั้นอภิปรายเรื่องมาตรา 112 เป็นหลัก ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเสนอแก้กฎหมายก็ไม่ได้เหรอ? ไม่ใช่ค่ะ เสนอแก้กฎหมายได้ค่ะ แต่ถ้าคุณเสนแก้กฎหมายที่เนื้อหาของมันขัดกับรัฐธรรมนูญ เขาจึงมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามได้ว่าคุณเหมาะที่จะเป็นนายกฯ ของประเทศนี้ไหม นายกฯ ของวันนี้ นายกฯ ของยุคสมัยใหม่ ต้องไม่ใช่นายกฯ ที่สร้างแต่ความแตกแยก ต้องไม่ใช่นายกฯ ที่มาจากพรรคการเมืองที่มีแนวทางนโยบายหลาย ๆ อย่าง แนวทางการขับเคลื่อนหลาย ๆ อย่าง สร้างปัญหาขึ้นมามากมายในสังคมตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นั่นคือเหตุผลที่เขาอภิปรายคุณสมบัติคุณแบบนั้น เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอีกเรื่องนึง แต่โบว์เล่าให้ฟังว่าที่มาที่ไปมันเป็นอย่างไร

ย้อนรำลึก 50 ปี 14 ตุลา 2516 มองหน้า รธน.ฉบับใหม่ แพงเว่อร์!!

ปั่นต้นฉบับวันนี้…ตอนสายวันที่ 14 ต.ค. 2566 ก็ขอร่วมรำลึก 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  กับเขาด้วยคน...50 ปีที่แล้ว ‘เล็ก เลียบด่วน’ อายุ 17 ปีเต็ม..เดาเอาเองว่าวันนี้ เล็ก เลียบด่วน  ยังหนุ่มฟ้อขนาดไหน...55

ในมุมมองของ ‘เล็ก เลียบด่วน’ สถานภาพของ 14 ตุลา 2516 จะว่าไปยิ่งใหญ่และมีคุณูปการมากกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ด้วยซ้ำไป...24 มิ.ย.ในมิติหนึ่งก็คือการรัฐประหารครั้งแรก ช่วงชิงอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เตรียมการที่จะเปลี่ยนแปลงการบริหารบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ส่วน 14 ตุลา เป็นการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนทั้งเรียกร้องรัฐธรรมนูญและสลัดอำนาจเผด็จการที่ครอบครองประเทศไทย…

และเหตุการณ์นองเลือด..ที่เกิดขึ้นแบบไม่ควรจะเกิด ก็เกิดจากการฉวยใช้สถานการณ์ของกลุ่มอำนาจที่ขัดแย้งกันในขณะนั้น แต่ที่สุดเหตุการณ์จบลงด้วยพระบารมีพระเมตตาของเสด็จพ่อที่อยู่บนฟ้า…ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยเดินหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่มีความเจริญก้าวหน้า ตามแบบแผนไทย

พูดถึงรัฐธรรมนูญ...ก็ต้องรายงานท่านผู้อ่านท่านผู้ฟังให้รับทราบถึงการประชุมคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566  โดยมี ‘รองอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ เป็นการประชุมนัดแรก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง รับเบี้ยประชุมกันไปคนละ 1,600 บาท ที่ประชุมมีมติตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด 

ชุดแรก - ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
ชุดที่สอง - ศึกษากระบวนการ ขั้นตอน การจัดทำประชามติ

พูดไปทำไมมี…หลับตานึกภาพตามที่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ จะนั่งทางในเล่าให้ฟังว่า...ผลการศึกษาคงจะเห็นหน้าเห็นหลังตอนต้นปี 2567 จากนั้นการจัดทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นอย่างเร็วช่วงกลางปี 2567...เพื่อถามประชาชน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2564 ที่ว่าหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องทำประชามติถามประชาชน ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจสถาปนา…จากนั้นถ้าประชาชนไฟเขียวให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องไปแก้มาตรา 256 บัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ซึ่งอาจจะเป็น สสร. สูตรผสม คือทั้งเลือกตั้งและสรรหา ซึ่งในชั้นแก้ไขมาตา 256 ต้องทำประชามติกันอีกครั้ง จากนั้นเมื่อ สสร. ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนจะลงมติในวาระ 3 ก็ต้องลงประชามติกันอีกครั้ง...ว่าเห็นชอบตามที่ สสร. ยกร่างหรือไม่…
เบ็ดเสร็จต้องลงประชามติ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 4,000 ล้านบาท  แถมตอนเลือก สสร. อีก 1 ครั้ง เบ็ดเสร็จประมาณ 16,000 ล้านบาท...อาจจะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงิน ดิจิทัล โทเคน หรือดิจิทัล วอลเล็ต แต่ทุกเม็ดทุกสตางค์มันคือเงินของแผ่นดิน...คิดขึ้นมาแล้วก็รู้สึกวังเวง วิเวกวิโหวโหว ยังไงก็ไม่รู้…

แต่ก็เอาเถอะ..ยังไง ๆ กรณีรัฐธรรมนูญอย่าทำกันจนเกิดการเผชิญหน้ากันจนเลือดตกยางออกแบบในอดีตก็แล้วกัน...ยิ่งงานนี้พรรคก้าวไกลเขาไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย อาจทำให้หลายคนคิดมาก…

แต่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ เชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงไม่ปฏิบัติคุกคามทางรัฐธรรมนูญเกินขอบเขตเหมือนเรื่องอื่นหรอก..!!

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมวางพวงมาลาและกล่าวรำลึก ในงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ประจำปี 2566

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมวางพวงมาลาและกล่าวรำลึก ในงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ประจำปี 2566 และกล่าวรำลึกในภายในงาน รวมทั้งผู้แทน 3 ศาสนา ได้แก่ พุทธ อิสลาม และคริสต์ ผู้แทนพรรคการเมือง ตลอดจนประชาชน ร่วมกิจกรรม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร

โดยในช่วงหนึ่งของงาน นายชัชชาติได้กล่าวสดุดีวีรกรรมของเหล่าวีรชนผู้กล้าในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไว้ว่า…

“ขอกล่าวง่าย ๆ เพียงประเด็นเดียวว่า เผด็จการฉลาดขึ้น คนที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยฉลาดขึ้น เราดูบทเรียนจาก 14 ตุลา เขาก็ดูบทเรียนเหมือนกัน เช่นเดียวกับเผด็จการทั่วโลกที่ฉลาดขึ้น

ฉะนั้น เราต้องรู้เท่าทัน เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนทะเลาะกัน เมื่อนั้นเผด็จการจะเข้ามาฉวยโอกาสทุกที สิ่งสำคัญที่สุด คือ พวกเราต้องตื่นรู้ในตัวเราเอง เผยแพร่อุดมการณ์ ความคิด และเหตุการณ์ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจด้วยตัวเอง เพราะเมื่อมีความเข้าใจถึงปัญหา มีความสามัคคีกัน ก็จะไม่หวั่นไหวต่อคนไม่หวังดีต่อประชาธิปไตยที่จะทำให้เราแตกกัน

ขอให้พวกเราร่วมมือกัน กทม.พร้อมจะสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในทุกด้าน ขอให้กรุงเทพมหานครและประเทศไทยของเรา มีความเป็นประชาธิปไตยที่เจริญ มั่นคง โดยมีรากจากเมล็ดพันธุ์ที่วีรชนได้หว่านไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว” นายชัชชาติ กล่าว

‘พล.ท.นันทเดช’ โพสต์เฟซเล่าเรื่อง ‘โดมชรา’ ที่น่าเคารพ เผย!! ปัจจุบันบทบาทของสถาบัน ‘พิทักษ์ธรรม’ ได้จางหายไป

เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.67) พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ เพื่อทบทวนถึงบทบาทของธรรมศาสตร์ และ โดมชราในอดีต โดยมีเนื้อหาดังนี้ ...

อยากไป อยากไป จะไปเยี่ยมไข้โดมชรา  

วันนี้ ผมขอเล่าถึงเรื่องของ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์สัก3ท่าน เพื่อทบทวนถึงบทบาทของธรรมศาสตร์ และโดมชราในอดีต ไว้กันลืมครับ 

คนแรก คือ 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' หรือ ‘ศรีบูรพา’ ซึ่งเคยเขียนบทความทิ้งไว้ให้ ชาวธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2496 เป็นเรื่องที่คนรุ่น Gen B อ่านแล้วลืมไม่ลง ชื่อว่า ‘มองนักศึกษา มธก. ผ่านแว่นขาว’ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า 

นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะมีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่น ๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย  

เนื้อเรื่องดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาสนธิกรรมขึ้นมาใหม่ โดย กลุ่ม นศ.มธ ในกิจกรรมที่สืบทอดมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นข้อความว่า 

"ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"

ข้อความตรงส่วนนี้ ‘ศรีบูรพา’ น่าจะหมายถึงประชาชนทุกภาคส่วน และต้องเป็นคนดีด้วย ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ที่คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง และนักการเมืองบางคนเคยนำไป แอบอ้างไว้

ชาวธรรมศาสตร์ธรรมดา คนที่ 2 ชื่อ 'เปลื้อง วรรณศรี' เป็นบุคคลที่ถูกกลืนหายไปในสายธารความคิดของ กลุ่มคนรุ่นใหม่หมดสิ้นแล้ว เปลื้อง เป็นคนสู้ชีวิต เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และเป็นประชาชน ที่รักความยุติธรรมที่เด่นชัดคนหนึ่งของประเทศไทย เมื่อดูจาก กลอนที่เขียนให้ชาวธรรมศาสตร์บทนี้ 

“สิ่งเหล่านี้ ที่โดม โหมจิตข้า
ให้แกร่งกล้า เดือนปี ไม่มีหวั่น
ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์
ก็เหมือนขาด สัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม”

วันนี้ โดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็ยังอยู่ครบ เพียงแต่ โดมกำลังซ่อมแซมอยู่เท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มน้อย ๆ ที่พยายามอ้าง 

ธรรมศาสตร์ ไปเป็นฐานทางการเมืองอยู่ ในปัจจุบันนั้น กลับไม่มีบทบาทไป ‘พิทักษ์ธรรม’ เท่าที่ควร 

คนที่ 3 คือ 'อาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์' ซึ่งผม ขออนุญาตนำไปเล่าในตอนต่อไปครับ

ปัจจุบัน ธรรมศาสตร์ได้ อธิการบดีคนใหม่ แม้จะไม่เคยพบ แต่เท่าที่ทราบมา ท่านเป็นคนที่ ใช้ความหมายของ ‘ประชาชน ที่ธรรมศาสตร์รัก’ ว่า เป็น คนดี ไม่เลือกฝ่ายทางการเมือง ส่วนความหมายของคำว่า ‘พิทักษ์ธรรม’ นั้นน่าจะต้องเป็นคนที่ยอมรับในกฎหมายด้วย ก็หวังว่า ก้าวใหม่ของธรรมศาสตร์ จะกลับมาเป็นกลาง ไม่เอียงไปเอียงมาจน เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอีกต่อไป 

ในวันพุธที่ 24 ก.ค. 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ทางธรรมศาสตร์จะจัดพิธีตักบาตรที่สนามฟุตบอล ท่าพระจันทร์ และ ฟังธรรม จาก พระอาจารย์อารยวังโส (ท่านเพิ่งเดินทางกลับมาจากการรับบริจาคที่ดิน 400 ไร่ เพื่อสร้างวัดไทยที่ประเทศอินเดีย) 

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และทำพิธีถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ผมจึงขอเชิญชวนทั้ง ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวนี้ โดยพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 28 รูป จะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น.เป็นต้นไป 

เรื่องที่เป็นมงคลแบบนี้ เพิ่งจะมีขึ้นในธรรมศาสตร์ หลังจากห่างหายไปนานแล้ว ผมจึงอยากเชิญชวนพวกเราทั้งชาวธรรมศาสตร์ และประชาชนทุกท่าน ให้เข้าร่วมงานทำบุญตักบาตร ในโอกาสมหามงคล ถวายแด่องค์พระประมุขของพวกเรา กันให้มาก ๆ นะครับ 

พลโท นันทเดช / 20 ก.ค.67

พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรำลึก 51 ปี 14 ตุลาฯ. เชิดชู “จิตวิญญาณ 14 ตุลาฯ.” คือคบเพลิงแห่งประชาธิปไตย“

เมื่อวันที่ (14 ต.ค. 67) พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมวางพวงมาลารำลึก“ 51 ปี 14 ตุลาฯ. ” ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพร้อมด้วย
นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้วางพวงมาลาในนามพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีถ้อยแถลงว่า ”14 ตุลา วันประชาธิปไตย ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ นิสิต นักศึกษา และพี่น้องประชาชนได้รวมพลังกันต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนและถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีสิทธิเสรีภาพในมิติต่างๆรวมทั้งการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ และเชื่อมั่นว่า จิตวิญญาณ 14 ตุลาฯ.จะเป็นคบเพลิงแห่งประชาธิปไตยที่นำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาการเมืองไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป“


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top