Friday, 17 May 2024
ไฟไหม้

เปิด ‘8 ลำดับ’ ลูกเรือ JAL​ ช่วยอพยพผู้โดยสารให้รอดทั้งลำ ก่อนเครื่องบินจะจมอยู่ในเปลวเพลิง หลังเกิดเหตุชนกันบนรันเวย์

(5 ม.ค.67) เกียวโดนิวส์ ​รายงาน​ การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและความร่วมมือของผู้โดยสาร​ คือปัจจัยสำคัญการอพยพผู้คน 379 คน​ รอดตายจากเครื่องบินเจแปนแอร์ไลน์ที่กำลังลุกไหม้ที่สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว เป็นปฏิบัติ​การที่สื่อต่างประเทศเทียบราวปาฏิหาริย์

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั้ง 9 คนเอาชนะอุปสรรคในระหว่างการนำคนออกจากเครื่องบินอย่างฉุกเฉิน​ หลังจากการชนกันบนรันเวย์

อุปสรรคคือ​ ทางออกสามารถใช้งานได้เพียง 3 ใน 8 ทาง ลูกเรือจึงต้องอพยพออกจากลำตัวเครื่องบินสูง 67 เมตรอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากระบบการสื่อสารขัดข้อง​ พนักงานต้อนรับจึงสื่อสารข้อมูลกับห้องนักบินได้เพียงจำกัด ตามที่เจ้าหน้าที่ของสายการบินระบุ

“ฉันรู้สึกตกใจเหมือนมีคนเหยียบเบรก จากนั้นฉันก็เห็นเปลวไฟพลุ่งขึ้นนอกหน้าต่าง” ผู้โดยสารรายหนึ่งอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารไม่นานหลังจากที่เที่ยวบิน 516 ลงจอดและชนเครื่องบินอีกลำหนึ่งบนรันเวย์เมื่อเวลาประมาณ 5.47 น. บ่ายวันอังคาร

ลำดับแรก พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเรียกร้องให้ผู้โดยสารที่ตื่นตกใจอยู่ในความสงบ ตามขั้นตอนป้องกันความตื่นตระหนกในกรณีฉุกเฉิน

ลำดับที่สอง หลังจากยืนยันรายงานของลูกเรือว่าเครื่องยนต์ด้านซ้ายเกิดไฟไหม้ หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแจ้งห้องนักบินเพื่ออนุมัติ​คำสั่งให้ดำเนินการอพยพฉุกเฉิน

ลำดับที่สาม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินประเมินวิธีหลบหนีอย่างรวดเร็ว​ ขณะที่ควันเข้าไปในห้องโดยสารและเด็กๆ เริ่มร้องไห้เพื่อให้ทางออกเปิด พนักงานขอให้ผู้โดยสารหมอบหรือก้มลงให้ชิดพื้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดควันที่ลอยทั่ว

ลำดับที่สี่​ เมื่อสำรวจพบว่าทางออกทั้งสองที่ด้านหน้าเครื่องบินสามารถใช้งานได้ ลูกเรือก็เริ่มนำผู้โดยสารไปข้างหน้าเพื่ออพยพโดยใช้สไลด์ฉุกเฉิน

ลำดับที่ห้า​ ที่ด้านหลังของเครื่องบิน พนักงานสำรวจด้านนอกพบว่ามีเปลวไฟลุกทางด้านขวา​ เหลือเพียงด้านซ้าย​ทางออกเดียวเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ และยังพอมีพื้นที่เพียงพอบนพื้นสำหรับวางสไลด์ลง

แต่ระบบสื่อสารกับกัปตันบนเครื่องบินไม่ทำงาน ขณะนั้นควันเข้ามาในห้องโดยสารเพิ่มมากขึ้น พนักงานจึงตัดสินใจเปิดทางออกฉุกเฉินด้านหลังซ้ายและปล่อยสไลด์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากห้องนักบิน

ลำดับที่หก​ ทุกเสี้ยววินาทีคือชีวิต นักศึกษาวิทยาลัยจากโตเกียวได้ยินพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเตือนผู้โดยสารคนอื่นๆ อย่าพยายามหยิบสัมภาระออกจากช่องเก็บเหนือศีรษะ พวกเขาปฏิบัติตามและมุ่งหน้าไปยังทางออกอย่างรวดเร็วโดยมีเพียงของใช้ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เช่น สมาร์ทโฟน

ลำดับที่เจ็ด ผู้ที่มาถึงพื้นก่อนอย่างปลอดภัยจะช่วยผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่อยู่ด้านล่างของสไลเดอร์

ลำดับสุดท้าย กัปตันตรวจดูทุกแถวจากด้านหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าผู้โดยสารคนสุดท้ายได้ออกไปแล้ว จึงลงจากทางออกฉุกเฉินด้านหลังเมื่อเวลา 18.05 น. ไม่กี่นาทีก่อนที่เครื่องบินจะจมอยู่ในเปลวเพลิงทั้งลำ

ชิเกรุ ทาคาโนะ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การหลบหนีเป็นไปอย่างราบรื่นเกิดขึ้นได้ทั้งจากการตอบสนองของลูกเรือและ “ผู้โดยสารที่ให้ความร่วมมือแม้ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้”

“ทหารเรือใจกล้า” แม้จะลาเฝ้าไข้ลูกชาย ตัดสินใจเสี่ยงอันตรายช่วยดับไฟที่โหมไหม้โรงพยาบาล

ขอยกย่องทหารเรือใจกล้า พันจ่าเอก ราชิตศักดิ์ พูนพนัง ผู้บังคับหมู่ป้องกัน กองบังคับการหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 452 ที่อยู่ในระหว่างการลากลับไปเฝ้าไข้บุตรชายที่เข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ในเวลา เวลา 19.45 หลังจากที่เจ้าหน้าที่พยาบาล ได้เข้ามาเเจ้งว่าให้รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากห้องไปยังที่ปลอดภัยโดยเร็ว เนื่องจากมีเหตุไฟไหม้ที่ตึกดังกล่าว ในขณะที่ออกจากห้อง พ.จ.อ.ราชิตศักดิ์ พูนพนัง ได้สังเกตุเห็น เจ้าหน้าที่พยาบาล และญาติผู้ป่วยกำลังช่วยกันเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากห้องไปยังที่ปลอดภัยอย่างทุลักทุเล พ.จ.อ.ราชิตศักดิ์ พูนพนัง จึงได้ตัดสินใจเข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่พยาบาลว่า “เหตุไฟไหม้เกิดขึ้นบริเวณใด และมี เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาช่วยดับไฟหรือยัง” เพียงอึดใจกลิ่นและควันไฟลอยได้ขึ้นมาจากห้องเก็บของด้านล่าง และ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของโรงพยาบาลยังมาไม่ถึงที่เกิดเหตุ พ.จ.อ.ราชิตศักดิ์ พูนพนัง จึงได้นำถังซีโอทู มุ่งหน้าไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อดับไฟในทันที จนสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในเวลาต่อมา เมื่อ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของโรงพยาบาลมาถึงที่เกิดเหตุ พ.จ.อ.ราชิตศักดิ์ พูนพนัง ได้เเจ้งว่า “สามารถควบคุมไฟไว้ได้แล้ว” จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดไฟช็อตบริเวณท่อแอร์บนเพดาน การเข้าทำการดับเพลิงของ พ.จ.อ.ราชิตศักดิ์ พูนพนัง ในครั้งนี้ เป็นการกระทำอันห้าวหาญ สมชายชาติทหารและมีสติ จนสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ก่อนที่จะลุกลามสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้
นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล

‘ชิลี’ ประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังยังไม่สามารถควบคุมเหตุไฟป่าได้ ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2010

(4 ก.พ.67) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสถานการณ์ไฟป่าในประเทศชิลี ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ทางการชิลีแจ้งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากไฟป่าที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศชิลี ทั้งตอนกลางและตอนใต้ ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 51 รายแล้ว และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ขณะที่ไฟป่าเริ่มลุกลามเข้าพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นแล้ว

วันเดียวกัน ประธานาธิบดี ‘กาเบรียล บอริก’ แห่งชิลี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น ในภูมิภาคตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามและยังควบคุมไม่ได้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่แห้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็น 40 องศาเซลเซียส ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในชิลีย่ำแย่ลงไปอีก

ข่าวระบุว่า พื้นที่โดยรอบของเมืองริมชายหาดอย่าง ‘วินา เดล มาร์’ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักสุดจากเหตุไฟป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบอริก แจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าแล้ว 46 ราย ก่อนที่จะมีการปรับยอดเพิ่มขึ้นเป็น 51 ราย ซึ่ง ‘นางคาริลินา โทฮา’ รัฐมนตรีมหาดไทยของชิลี เปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น หลังจากมีการพบร่างผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย และคาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะที่เมืองวาลปาไรโซ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เปราะบางมากที่สุด โดยนางโทฮายังกล่าวด้วยว่า ชิลี กำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปี 2010 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 ราย

‘จีน-สหรัฐฯ’ เตือนภัย แบตเตอรี่รถยนต์ EV  ต้นเหตุเพลิงไหม้ ตูมเดียว วอดทั้งตึก!!

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 67 กลายเป็น ‘ศุกร์อาถรรพ์’ โดยไม่ได้นัดหมาย ทั้งที่เมืองหนานจิง ในมณฑลเจียงซู ของจีน และที่มหานครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อะพาร์ตเมนต์สูงในย่านใจกลางเมือง ในวันเดียวกัน และยังเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากทั้ง 2 แห่ง ซึ่งสาเหตุเพลิงไหม้ ทั้ง 2 เหตุการณ์ก็เหมือนกันอย่างเหลือเชื่อ ว่าเกิดจากแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าระเบิด เผาวอดอะพาร์ตเมนต์ทั้งหลังในพริบตา

โดยเหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในย่านหยูฮวาไถ ทางฝั่งตะวันออกของเมืองหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ต้นเพลิงเกิดขึ้นบริเวณอาคารจอดรถจักรยานยนต์ชั้น 1 ของอะพาร์ตเมนต์ 30 ชั้น ที่มีห้องพักรวมกันถึง 400 ยูนิต ได้เกิดเพลิงลุกไหม้ และลุกลามขึ้นไปยังตัวอาคารชั้นบนอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุไฟไหม้ครั้งนี้มากถึง 15 ราย และบาดเจ็บอีก  44 ราย

หลังจากที่ทางการหนานจิงได้ระดมเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และตำรวจเข้าสืบสวนหาสาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่ง ที่จอดชาร์จไฟอยู่ภายในอาคารจอดรถ ซึ่งมักมีแท่นชาร์จไฟตั้งไว้ให้บริการสำหรับผู้ใช้รถยนต์ EV ภายในอาคาร แต่เมื่อเกิดแบตเตอรี่ระเบิด ประกอบกับพื้นที่บริเวณลานจอดรถมันเปิดโล่ง จึงทำให้ไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว และลามขึ้นไปชั้นบนของอาคารที่มีผู้พักอาศัยหนาแน่น จึงกลายเป็นเหตุเศร้าสลดดังข่าว

ข้ามฝั่งมาที่มหานิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในวันเดียวกัน ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้อะพาร์ตเมนต์ 6 ชััน 31 ยูนิต ในเขตฮาร์เลม ย่านแมนฮัตตัน ที่มีต้นเพลิงมาจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของรถจักรยานไฟฟ้า ที่จอดชาร์จไฟที่ชั้น 3 ของอาคาร ระเบิดจนเกิดเพลิงไหม้วอดเกือบทั้งอาคารเช่นเดียวกัน และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 17 ราย ส่วนผู้พักอาศัยรายอื่นต้องหนีตายโดยการโรยตัวด้วยเชือกออกมานอกอาคาร

‘อีริค อดัมส์’ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก ยอมรับว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เหตุไฟไหม้เกิดจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าระเบิด ซึ่งเคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในนิวยอร์ก นับตั้งแต่หลังยุค Covid-19 เป็นต้นมา

โดยเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ก็เพิ่งจะเกิดเหตุไฟไหม้จากแบตเตอรี่ไฟฟ้า เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 18 รายมาแล้ว ทำให้นายกเทศมนตรีอดัมส์ พยายามที่จะจัดระเบียบกฎหมายธุรกิจการให้บริการด้านการขนส่งอาหาร และสินค้าใหม่

เช่นเดียวกันกับที่ประเทศจีน พบว่ามีเหตุไฟไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2023 ที่ผ่านมาทั่วประเทศถึง 21,000 เคส เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 17.4%

และจากสถิติอุบัติเหตุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าระเบิดกว่า 80% มักเกิดขณะชาร์จไฟทิ้งไว้ และโดยเฉพาะการชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ค้างคืนโดยไม่มีใครเฝ้า พอเกิดเหตุระเบิดไฟไหม้ จึงยากที่จะดับได้ทัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศจีน ยังมีธุรกิจรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ให้วิ่งได้เร็วขึ้น หรือบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการใช้งานเกินศักยภาพเครื่องยนต์ และแบตเตอรี่ และยังเกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ และระเบิดได้เมื่อมีการชาร์จไฟนานๆ

อีกทั้งประเทศจีน ยังเป็นผู้ผลิตรถจักรยานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีผู้ใช้ในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ย 1 ใน 4 ของชาวจีนมีรถจักรยานไฟฟ้าใช้ และความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นผลพวงจากการรณรงค์เรื่องการลดการใช้รถยนต์พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

จากเหตุการณ์เพลิงใหม่อะพาร์ตเมนต์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นภัยใกล้ตัวที่มาจากรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีมาตรการเรื่องการจัดระเบียบ การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในอาคารที่เข้มงวดมากขึ้น และให้ข้อมูลการดูแลแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการชาร์จผิด มีสิทธิ์ดับหมู่ยกตึก อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในต่างประเทศนั่นเอง

กมธ.อุตฯ หวั่น!! พฤติกรรมลอกเลียนเผาทำลายกากอุตสาหกรรม จี้!! ‘ก.อุตฯ’ เคลียร์ระบบจัดเก็บกาก-ตรวจสอบใหม่ทั้งประเทศ

(23 เม.ย.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุเพลิงไหม้โรงงานเก็บกากอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยองว่า ไฟไหม้ลักษณะนี้ถือเป็นปัญหาที่ซ้ำซากมาก สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเป็นอุบัติเหตุจริง กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องหามาตรการป้องกันให้ได้ผล แต่ที่ผ่านมามักจะมีการเผาทำลายหลักฐานกากอุตสาหกรรม แต่การดูแลควบคุมทำไม่ได้ปล่อยให้เกิดเหตุลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ

นายอัครเดช กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแล จะต้องเข้าไปตรวจสอบและป้องกันการก่อเหตุให้ได้ผล ที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ทั้งที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งมาเกิดที่จังหวัดระยอง ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรม ไม่เข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง จะเกิดการเผาทำลายหลักฐานเช่นนี้ขึ้นอีก เหตุการณ์ไฟไหม้โรงเก็บกากอุตสาหกรรมในหลายจังหวัดมีหลักฐานชัดเจน แต่ก็ไม่มีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบว่า การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการไปถึงไหน มีการร้องทุกข์กล่าวโทษกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) บ้างหรือไม่

“ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องจัดการปัญหานี้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง ต้องมีการสังคายนาระบบการจัดเก็บกากอุตสาหกรรมใหม่ทั่วประเทศ เพราะเหตุไฟไหม้ที่ผ่านมาส่วนมากเกิดจากการเผาทำลายหลักฐาน ในเมื่อกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่ได้และใช้งบประมาณดำเนินการมากก็เลยใช้วิธีเผาทำลายโดยความตั้งใจ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นซ้ำซาก ดังนั้นกรณีนี้และหลายกรณีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสอบสวนอย่างจริงจังว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือจงใจเผาทำลาย ถ้าพบการเผาทำลาย ต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกเนื่องจากส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งกมธ.อุตสาหกรรมเคยตั้งคำถามไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีแต่ยังเกิดเหตุซ้ำซากขึ้นอีก ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังเสียทีนิ่งเฉยไม่ได้อีกแล้ว” ประธานกมธ.อุตสาหกรรมกล่าว

นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า กมธ.คงจะต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาติดตามเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บกากอุตสาหกรรมอีกครั้ง ทั้งที่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดระยองว่า ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุขึ้นซ้ำซาก ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง ก็จะกลายเป็นแฟชั่นเผาเพื่อทำลายหลักฐาน

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง จี้!! สถานประกอบการ แยกสารเคมีอันตราย หลังโกดังย่านพระราม 2 สารเคมีติดไฟเองได้ เพราะความร้อนเป็นเหตุ

(25 เม.ย.67) จากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลในโกดังเก็บสารเคมี จนเกิดกลุ่มควันสีขาวที่โรงงาน ย่านพระราม 2 ในช่วงเวลาประมาณ 02.10 ของวันที่ 25 เมษายน โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบถึงสาเหตุ และได้รายงานให้ทราบว่า สถานที่เกิดเหตุคือ อาคารเก็บสารเคมีของบริษัท เพรสซิเดนท์เคมีภัณฑ์ จำกัด ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ส่วนกลุ่มควันสีขาวเกิดจากสารเคมี 2 ถังในอาคารหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงทำการขนย้ายสารเคมีในกลุ่มเดียวกันออกมาด้านนอกอาคาร และใช้น้ำในการควบคุมควันที่เกิดขึ้น และเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเปิดบรรจุภัณฑ์เมื่อสารเคมีกระทบอากาศทำให้เกิดไฟลุกไหม้ภายในถัง จึงเร่งควบคุมเพลิงเพื่อไม่ให้สารเคมีแพร่กระจาย โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบชนิดของสารเคมีพบในที่เกิดเหตุ คือสารไทโอยูเรียไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ไม่เข้าข่ายวัตถุอันตรายตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ 2535  เป็นสารเคมีตามประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง (self-heating) และความร้อนเกิดจากตัวสารทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศที่อุณหภูมิรอบตัว สามารถลุกติดไฟได้เมื่อมีความร้อนสะสมต่อเนื่องภายในถึงอุณหภูมิที่สามารถลุกติดไฟได้ด้วยตนเอง (auto-ignition temperature) ทั้งนี้ จากการสันนิษฐานสาเหตุเบื้องต้นเกิดจากการสะสมความร้อนภายในบรรจุภัณฑ์ของสารไทโอยูเรียไดออกไซด์ ทำให้ภายในบรรจุภัณฑ์มีอุณหภูมิสูงจนทำให้มีกลุ่มควันเกิดขึ้น

“ดิฉันได้กำชับไปทาง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงาน และอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดว่า ให้เร่งแจ้งเตือนสถานประกอบการที่มีการจัดเก็บสารเคมี ให้เพิ่มความระมัดระวัง และตรวจสอบสถานที่จัดเก็บให้เป็นไปตามข้อกำหนด ทั้งโรงงานและสถานที่ครอบครองจัดเก็บวัตถุอันตราย หรือสารเคมี โดยต้องตรวจสอบสารเคมีที่จัดเก็บ เช็ค MSDS เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ว่ามีสารเคมีที่มีคุณสมบัติลักษณะเดียวกันนี้ คือเกิดปฏิกิริยา หรือติดไฟเองได้ หากอุณหภูมิการจัดเก็บสูง ต้องแยกออกจากกัน และเช็คสภาวะแวดล้อม จัดเก็บในที่อุณหภูมิที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันสภาวะอากาศมีอุณหภูมิสูงต่อเนื่อง” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

‘พล.ต.ท.ไตรรงค์’ ลุยตรวจสอบเพลิงไหม้ ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ คาด!! ลุกไหม้จากก้นบุหรี่ที่ดับไม่หมด หลังมีเจ้าหน้าที่ลักลอบสูบ

จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บริเวณระเบียงอาคาร 1 ชั้น 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นสำนักงานของ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ นั้น

คืบหน้าล่าสุด (2 พ.ค. 67) เมื่อเวลา 15.15 น. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บริเวณชั้น 6 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า “เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสอบที่เกิดเหตุ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง ได้ตรวจสอบต้นเพลิง เป็นจุดที่วางกองวัสดุเก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว อาทิ แผ่นกันสาด จุดที่ไฟไหม้สิ่งที่พบมากสุด คือ ก้นบุหรี่ทั้งเก่าและใหม่ กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณดังกล่าว เบื้องต้นตั้งข้อสันนิษฐานว่า เพลิงอาจลุกไหม้มาจากก้นบุหรี่ที่ยังดับไม่หมด และลมพัดมาจากบริเวณบันไดหนีไฟที่มีเจ้าหน้าที่ลักลอบสูบบุหรี่”

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวอีกว่า “ในจุดเกิดเหตุไม่ตรวจพบระบบไฟฟ้า จึงคาดว่าไม่ใช่สาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร และอีกประเด็นเรื่องที่คาดว่าไม่ใช่สาเหตุ คือเรื่องอุณหภูมิความร้อนจากแสงแดด ที่ตกกระทบกับกองวัสดุที่ไม่ใช้งาน ซึ่งจากนี้จะต้องพิสูจน์ทราบโดยละเอียดว่าเกิดจากอะไรต่อไป”

“ทั้งนี้ ช่วงนี้ที่สภาพอากาศร้อนอุณหภูมิสูง ขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนในการจุดธูป จุดเทียน หรือสูบบุหรี่ จะต้องทำการดับให้เรียบร้อยก่อนที่จะออกจากบ้าน ก้นบุหรี่ต้องดับในจุดที่ดับบุหรี่เท่านั้น เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า จะต้องตรวจสอบว่าปิดเรียบร้อยก่อนที่จะเดินทาง ถ้าเป็นไปได้ควรถอดปลั๊กออก เนื่องจากหากเสียบปลั๊กและอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในห้อง อาจจะเสี่ยงต่อการจุดติดไฟได้” พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

‘โซลาร์เซลล์’ ทนแดดไม่ไหว ไฟลุกพรึบ กลางหมู่บ้าน ชาวเน็ตวิเคราะห์ ‘ตัวชาร์จแบตเตอรี่ไม่ตัด-ความร้อนเกินมาตรฐาน’

(4 พ.ค.67) โซลาร์เซลล์ ทนแดดไม่ไหว ไฟลุกพรึบกลางหมู่บ้าน ชาวเน็ตหวั่นของไม่ได้มาตรฐาน

ผู้ใช้ TikTok ‘seephumeegarage’ โพสต์คลิปวิดีโอความยาวกว่า 30 วินาที ในคลิป เป็นภาพขณะที่ เสาโซลาร์เซลล์ที่ตั้งอยู่กลางแดด แต่แล้วมีควันลอยขึ้นมาจนเกิดไฟไหม้ และท้ายสุดโซลาร์เซลล์ ก็หักและหล่นลงพื้น

ผู้โพสต์คลิป ระบุข้อความว่า “ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับอากาศร้อนเปล่า อยู่ดี ๆ โซลาร์เซลล์ก็ไฟไหม้เอง”

หลังจากโพสต์ไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถามจำนวนมาก ว่า เหตุใดโซลาร์เซลล์ ที่ควรจะต้องทนความร้อน ถึงสามารถไฟลุกได้ 

หรือจะมาจากส่วนอื่นที่ไม่ใช่ 'โซลาร์เซลล์' เช่นแบต หรือตัวเชื่อมแผงวงจรอื่นๆ กันแน่

อย่างไรก็ตาม คนก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เช่น

“แล้วที่ติดตั้งตามหลังคาบ้านล่ะ ไม่อยากจะคิดเลย”

“1 ร้อนเกิน 2 ชาร์จเกิน ไม่แน่ใจว่ามีBMSไหมน่ะครับ”

“ความคิดส่วนตัวผมว่าการรับแสงเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ยิ่งแดดแรงๆ วัสดุต้องรับความร้อนเป็นอย่างมาก วัสดุจึงทนความร้อนไม่ไหวจึงทำให้ติดไฟ มั่วเอาครับ”

“ไหม้อยู่แล้วเพราะแผงโซลาเซลล์ บนตัวรับแสงมีเนื้อกระจกบางๆ เพราะรับความร้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด”

“แบตเตอรี่ไม่ตัดชาร์จตลอดเต็มก็ไม่ตัด”

“แบตลิเธียม ทนความร้อนไม่ไหว”

“แดดดีจัดชาร์ทเต็มอัตราจนแบตบอกไม่ไหวแล้วน้องพลีชีพเลย”

‘กมธ.อุตฯ’ เร่งขยายปม-ความคืบหน้าไฟไหม้โรงงาน หลังสงสัยเหตุ ‘ระยอง-อยุธยา’ อาจเป็นการวางเพลิง

(15 พ.ค. 67) ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม (กมธ.) สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงกรณีกากแคดเมียมที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุม กมธ. ว่า วันนี้ กมธ.อุตสาหกรรม ได้เชิญปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโรงงาน, กรมเหมืองแร่, กรมควบคุมมลพิษ ตลอดจน ปปง., ป.ป.ท. ร่วมหารือว่า มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการ เนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วเกี่ยวกับการขนย้ายกากแคดเมียม ส่วนวันนี้จะติดตามความคืบหน้าในการขนย้ายกากแคดเมียมว่าแล้วเสร็จกี่จุด จำนวนกี่ตัน

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า สำหรับเบื้องต้นในกรุงเทพฯ มีการขนย้ายเสร็จแล้ว จึงจะสอบถามคืบหน้าว่าที่ จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง มีการขนย้ายแล้วเสร็จหรือไม่อย่างไร

ส่วนกรณีเรื่องใบอนุญาตของโรงงานนั้น ประธานกมธ.การอุตสาหกรรม? กล่าวว่า เนื่องจากมีใบอนุญาตโรงงานค้างอยู่จำนวนมาก โดยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาได้เชิญอธิบดีกรมโรงงานมาชี้แจง พบว่าปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจากเอกสารไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการส่งกลับไปให้บริษัทยื่นเอกสารมาเพิ่ม แต่คาดว่าจะมีการส่งกลับมาที่กรมแล้ว หากเอกสารครบทางอธิบดีก็จะเริ่มออกใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 ให้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทาง กมธ.การอุตสาหกรรม ก็ได้ให้ความเห็นว่า การออกใบ รง.4 ตามที่ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมฯ เร่งรัดไปนั้น เป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศจะต้องตอบรับการลงทุนจากนักลงทุน

“การที่ใบ รง.4 ออกช้า ก็กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และการลงทุน แต่สิ่งสำคัญคือ หากให้ใบอนุญาตแล้ว ต้องไปกำกับผู้ประกอบการให้อยู่ในกฎหมายและปฎิบัติตามระเบียบ ไม่ใช่ว่าให้ใบอนุญาตไปแล้ว ขาดการกำกับดูแล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการละเมิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม มลภาวะในชุมชน” นายอัครเดช กล่าว

ส่วนกรณีไฟไหม้โรงงานที่ผ่านมานั้น มีการบ่งชี้ว่าอาจจะมาจากการวางเพลิงหรือไม่? นายอัครเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นก็อาจเกิดได้บ่อยครั้ง ซึ่งเราไม่สามารถป้องกันได้แต่สิ่งที่สำคัญคือการควบคุมเพลิงให้ได้รวดเร็ว

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ดังนั้นวันนี้ กมธ.การอุตสาหกรรม จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเพลิง อาทิ ปภ., กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมการอุตสาหกรรม เข้ามาชี้แจงว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้ มาตรฐานในการประเชิญเหตุหรือแผนในการควบคุมเพลิงเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อดูความพร้อมในการควบคุมเพลิง

นายอัครเดช เสริมอีกด้วยว่า ส่วนกรณีที่เป็นเหตุวางเพลิงนั้น ในการเผาทำลายหลักฐาน หรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสงสัยว่าเหตุเพลิงไหม้ที่จังหวัดระยองและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจเกิดจากการวางเพลิง ซึ่งต้องเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดให้ได้ และคิดว่ากระบวนการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงมาดำเนินคดีตามกฎหมายมองว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งดำเนินการอยู่

จากข้อซักถามที่ว่า จะมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนประชาชนอย่างไรบ้าง? นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของการเกิดเหตุเพลิงไม่ว่าจะเป็นกรณีการวางเพลิง หรืออุบัติเหตุ สิ่งที่สำคัญคือแผนในการเผชิญเหตุ จะมีการให้ข้อเสนอในที่ประชุมวันนี้ อย่างน้อยในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ประชาชนควรจะได้รับข่าวสารและเตรียมตัว รวมถึงการปฎิบัติตัวอย่างไรหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงผู้ดำเนินการ จะต้องปฏิบัติอย่างไรระหว่างควบคุมเพลิง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top