Sunday, 20 April 2025
ไทยสมายล์บัส

‘ไทยสมายล์บัส’ พร้อมรับผิดชอบเต็มที่ จากอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 หลังคนขับยอมรับพักผ่อนน้อย-เหยียบเบรกพลาด ทำให้ชนยับนับ 10 คัน

(26 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีรถเมล์ไฟฟ้าสาย 558 วิ่งระหว่างการเคหะพระราม 2-สุวรรณภูมิ ของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด พุ่งชนท้ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 10 คัน มีผู้บาดเจ็บ 18 ราย เหตุเกิดช่วงเช้านี้ ช่องทางคู่ขนาน ถนนพระราม 2 ซอย 4 (ฝั่งขาเข้า) แขวงและเขตจอมทอง มุ่งหน้าแยกบางปะแก้ว เบื้องต้น คนขับอ้างว่าเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้พยายามเบรกแล้วแต่เบรกไม่ทำงาน ทำให้รถพุ่งชนดังกล่าว

ล่าสุด บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ออกจดหมายชี้แจง พร้อมขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า บริษัทจะรับผิดชอบค่าเสียหายและดูแลผู้บาดเจ็บทุกรายอย่างเต็มที่ เบื้องต้นได้ส่งทีมตรวจสอบที่เกิดเหตุตั้งแต่ช่วงเช้า พบว่ารถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย S7 เบอร์ 11 ของอู่เคหะธนบุรี ระบบของรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้าไม่มีความผิดปกติใดๆ ทั้งเรื่องระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมการเบรก

จึงยืนยันว่า สาเหตุของการชนครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบตัวรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้า ซึ่งตามขั้นตอนปกติก่อนเดินรถในทุกวันทุกอู่จะทำการตรวจสอบความพร้อมของรถอย่างสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกัน บริษัทได้สอบสวนพนักงานขับรถเป็นที่เรียบร้อย พนักงานขับรถยอมรับว่าตนเองพักผ่อนน้อยและเผลอเหม่อลอยชั่วขณะ เมื่อรถเคลื่อนตัวไปจึงเกิดอาการตกใจ เมื่อตั้งใจจะเหยียบเบรกรถกลับไปเหยียบคันเร่งแทน ทำให้ความเร็วของรถพุ่งตัวไปจนตัวรถเสียการควบคุมไปชั่วขณะ

ส่วนมาตรการของบริษัทจะดำเนินการลงโทษพนักงานขับรถตามมาตรการขั้นสูงสุด พร้อมกำชับแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต บริษัทขออภัยกับผู้บาดเจ็บและครอบครัวทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

‘ไทยสมายล์บัส’ ประกาศ ‘เพิ่มรถ-เพิ่มรอบ’ 5 เส้นทางที่วิ่งทับซ้อน เพื่อรองรับความต้องการของผู้โดยสาร หลัง ‘ขสมก.’ ยุติเดินรถ

เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.66) จากกรณีที่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ผู้ให้บริการเดินรถในเส้นทางทับซ้อน ได้ถอนการเดินรถออกจากการให้บริการตามนโยบายกรมการขนส่งทางบก ใน 5 เส้นทาง นั้น

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด เปิดเผยว่า ตามนโยบายปฏิรูปของภาครัฐ ที่อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงใน 5 เส้นทางเดิมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

ทางบริษัท ไทย สมายล์ บัส ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ขอให้ความมั่นใจว่า ได้มีการวางแผนรองรับความต้องการเดินทางของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการเพิ่มจำนวนรถ เพิ่มเที่ยว เพิ่มรอบ เช่น เส้นทาง 140 หรือเส้นทางปฏิรูป 4-23E จากผู้ประกอบการรายเดิม รวมกันมีเที่ยวรถวิ่งอยู่ที่ 150 เที่ยวต่อวัน

หลังจากมีการยุติเดินรถในเส้นทางดังกล่าว ทางไทยสมายล์บัสได้เพิ่มจำนวนรอบวิ่งเป็น 164 เที่ยว ซึ่งหากเทียบกับเที่ยววิ่งขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 44 เที่ยว จะคิดเป็นสัดส่วนรถให้บริการเพิ่มขึ้นถึง 373% พร้อมนำร่องเพิ่มเที่ยวรถตลอดคืนในบางเส้นทางอีกด้วย

สำหรับ 5 เส้นทางหลักที่ทางบริษัทได้ทำการเพิ่มเที่ยวรถ เพิ่มรอบ มีดังนี้

1. สาย 8 หมายเลขปฏิรูป 2-38 : แฮปปี้แลนด์ – ท่าเรือสะพานพุทธ)
2. สาย 34 จะแบ่งสองเส้นทาง
- สาย 34 หมายเลขปฏิรูป 1-3 : บางเขน – ถนนพหลโยธิน – หัวลําโพง
- สาย 34 หมายเลขปฏิรูป 1-2E : รังสิต – หัวลําโพง (ทางด่วน)
3. สาย 39 แบ่งเป็นสองเส้นทาง
- สาย 39 หมายเลขปฏิรูป1-4 : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) – บางเขน
- สาย 39 หมายเลขปฏิรูป 1-5 : รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เส้นทาง ม.ศูนย์รังสิต – อนุสาวรีย์ฯ
4. สาย 140 หมายเลขปฏิรูป 4-23E : แสมดำ – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน)
5. สาย 517 หมายเลขปฏิรูป 1-56 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง – อนุสาวรีย์ฯ

นางสาวกุลพรภัสร์ เปิดเผยอีกว่า ส่วนการให้บริการในทุกเส้นทางที่มีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายเส้นทางปฏิรูป ซึ่งประชาชนอาจต้องเดินทางต่อรถในบางเส้นทางนั้น ทางบริษัทได้คำนึงถึงข้อจำกัดดังกล่าว จึงได้จัดโปรโมชันลดค่าครองชีพพี่น้องประชาชนด้วย ‘Daily Max Fare’ จากบัตรโดยสาร HOP Card ให้สามารถเดินทางได้ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ไม่จำกัดสาย จ่ายสูงสุดไม่เกิน 40 บาทต่อวัน และรถต่อเรือจ่ายสูงสุดไม่เกิน 50 บาทเท่านั้น

ส่วนบัตรโดยสารฯ HOP Card สามารถหาซื้อได้จากบัสโฮสเตสบนรถ และพนักงานบริการบนท่าเรือโดยสารทุกแห่ง รวมถึงช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ‘Shopee’

‘ไทยสมายล์กรุ๊ป’ เปิดตัวรถเมล์ร้อนราคาประหยัด ‘EV สีส้ม’ ด้วยค่าบริการ 10 บาทตลอดสาย เริ่มวิ่ง 10 เส้นทาง 60 คัน

(1 พ.ย.66) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของไทยสมายล์บัสตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2566 ระบุว่า การพัฒนาธุรกิจในเครือไทยสมายล์กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของเส้นทางให้บริการที่ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 123 เส้นทาง ประกอบกับการเพิ่มจำนวนรถเข้าให้บริการพี่น้องประชาชน จาก 800 คัน ในช่วงต้นปี 2565 จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,200 คันแล้ว

ส่งผลให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 300,000 คน/วัน สอดคล้องกับจำนวนรถและรอบที่ให้บริการมากขึ้น ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่พี่น้องประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางบริษัทได้เพิ่มความถี่ เพิ่มจำนวนรถ เพิ่มจำนวนรอบ ไปจนถึงการขยายเวลาการวิ่งให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ใน 4 เส้นทาง

ส่วนแผนระยะยาว ทางไทยสมายล์บัส มีแผนขยายการให้บริการในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวิ่งรถในเส้นทางใบอนุญาตปัจจุบัน และการขยายให้บริการรูปแบบ Feeder เชื่อมต่อการขนส่ง ทั้งรถ-เรือ-ราง ทั้งยังเพิ่มการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ซึ่งในปีหน้าเชื่อว่าจะมีรถเข้ามาให้บริการเพิ่มเป็น 3,100 คันตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้โดยสารใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 500,000 คน/วัน

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ยอมรับว่า ตนรับทราบถึงความเห็นของผู้ใช้บริการ ที่อาจยังพบกับความไม่สะดวกในบางส่วน ทางบริษัทรับฟังและได้ทำการแก้ไขต่อเนื่อง เช่น รถเมล์ไฟฟ้าของ TSB ไม่จอดรับผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ทางบริษัทได้ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร ที่จะปั้นพนักงานขับรถ ‘กัปตันเมล์’ รุ่นใหม่เข้ามาให้บริการด้วยมาตรฐานที่ยกระดับขึ้น

ทั้งยังปรับสิทธิประโยชน์รายได้ของพนักงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม นอกจากนี้บริษัทได้เริ่มทดลองใช้ระบบ Fleet management ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กำกับการเดินรถ สามารถตรวจการเข้าป้าย ความเร็ว ปริมาณผู้โดยสารบนรถ ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่-พนักงานผู้ให้บริการ จึงขอให้มั่นใจว่า การบริการของ TSB จะปรับปรุงแก้ไข พัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ

โดยในวันเดียวกันนี้ ยังได้มีการเปิดตัว รถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ ‘รถ EV สีส้ม’ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่มีกำหนดนโยบายว่าเอกชนผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อนออกให้บริการประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งทางบริษัทได้จัดหามาทั้งสิ้นจำนวน 60 คัน เพื่อนำไปเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น

ในเฟสแรกจะให้บริการใน 10 เส้นทาง จากนั้นจะศึกษาผลตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต ด้วยอัตราค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย ตามข้อกำหนดใบอนุญาตของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าโดยสารได้ทั้งรูปแบบ HOP Card ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ เดินทางไม่จำกัดในราคาเพียง 40 บาทตลอดสาย ไปจนถึงการชำระด้วยรูปแบบเงินสด

ด้านการพัฒนาของ ไทย สมายล์ โบ๊ต ได้มีการเสริมฟีดเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รูปแบบใหม่ ขนาด 19 เมตร เป็นเรือ Catamaran พลังงานสะอาด 100% ซึ่งมีความแตกต่างในทางกายภาพจากเรือรูปแบบเดิมของบริษัท ด้วยขนาดที่กะทัดรัดคล่องตัวมากขึ้น เหมาะที่จะเดินเรือในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในทุกสภาพอากาศแม้ช่วงน้ำขึ้น ปัจจุบันได้รับเพิ่มมาแล้วจำนวน 9 ลำ

ส่งผลให้บริษัทมีฟลีตเรือให้บริการทั้งสิ้น 35 ลำ ซึ่งจะเข้าไปบริการในเส้นทาง Urban และ City Line ก่อนในช่วงแรก แล้วจึงขยายไปเส้นทาง Metro Line ตามความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เดินทาง โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คาดว่าจะสามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ ทุก 7-10 นาที พร้อมทั้งยังสามารถให้บริการกับลูกค้าองค์กร เช่น การเช่าเหมาลำ การวิ่งตามฟีดเส้นทาง หรือเรือนำเที่ยวได้อีกด้วย

ไทย สมายล์ บัส มอบหมวกกันน็อค ในกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ปี 2566

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 

คุณกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วย
นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์  และ ทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) ไทย สมายล์ บัส 

ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมจิตอาสา แจกหมวกกันน็อค  ในนามของ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด 
เพื่อสนับสนุนงานด้านจราจรและความปลอดภัย เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566 ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

ซึ่งบรรยากาศของการจัดกิจกรรมจิตอาสาในจุดนี้มีพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่างๆ และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงต่างให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

'ไทยสมายล์ บัส' ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นรถเมล์ฟรี ตลอดปี 2567

(3 พ.ค. 67) คุณกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ผู้นำในธุรกิจบริการรถและเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า 100% ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เปิดเผยว่า TSB ได้เล็งเห็นถึงปัญหาค่าครองชีพของครัวเรือนที่ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้กำลังจะเข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่ ประจำปี 2567 ส่งผลให้ผู้ปกครองหลายคนต้องเผชิญภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน ทาง TSB จึงได้พิจารณานโยบายยกเว้นค่าโดยสาร สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถเมล์พลังงานไฟฟ้าของไทย สมายล์ บัส โดยให้สิทธิเฉพาะเด็กแรกเกิด จนถึงเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จากปัจจุบันที่มีอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 10-15-20-25 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันนี้ 2 พฤษภาคม 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการจะใช้สิทธิดังกล่าว ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวนักเรียนที่สามารถระบุตัวตนและอายุของผู้ถือบัตรนั้น ๆ ส่วนเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก บัสโฮสเตสจะพิจารณายกเว้นค่าโดยสารให้โดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนทั่วไป สามารถใช้บัตรโดยสาร HOP Card เพื่อจ่ายค่าโดยสารในราคาสุดคุ้มแบบ Daily Max Fare เหมาจ่ายค่าโดยสาร 40 บาทตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดสาย ไม่จำกัดเที่ยว หรือหากเดินทางเชื่อมต่อเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า 100% ค่าโดยสารเหมาจ่าย 50 บาทตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดสาย ไม่จำกัดเที่ยว สำหรับผู้ที่ยังไม่มีบัตรโดยสาร HOP Card สามารถซื้อผ่าน 3 ช่องทางจำหน่ายคือ Shopee Lazada และ Line : @tsbofficial ของไทย สมายล์ บัส

'ไทย สมายล์ บัส' ไล่ออก!! 'กัปตันเมล์-บัสโฮสเตส' ใช้วาจาไม่สุภาพ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อผู้โดยสาร

(8 พ.ค. 67) จากเพจ 'ไทยสมายล์บัส' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ไทย สมายล์ บัส สั่งลงโทษ 'กัปตันเมล์-บัสโฮสเตส' ใช้วาจาไม่สุภาพ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อผู้โดยสาร โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที ซึ่งทางบริษัทต้องการยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะ ที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับผู้ใช้บริการทุกคน

ทุกเคสที่ผู้โดยสารพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะของพนักงาน และได้แจ้งร้องเรียนเข้ามาทาง In-box ‘ทางบริษัทได้รับเรื่อง พร้อมทำการตรวจสอบทุกเคส’ หากพบว่ามีความผิดจริง บริษัทจะดำเนินการลงโทษพนักงานตามมาตรการต่อไปโดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ

‘ไทยสมายล์บัส’ รุกพัฒนาขนส่งสาธารณะไทยเทียบ ‘ไต้หวัน’  หวังเชื่อมต่อการเดินทาง-ชำระเงินครอบคลุมทุกรูปแบบ

(1 ก.ค.67) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ผู้นำในธุรกิจรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นยกระดับระบบขนส่งมวลชนของไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สะอาด ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 

โดยหนึ่งในหลายประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งรุดหน้าเป็นอย่างมาก หลายเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ทั้งกฎระเบียบข้อบังคับจนถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ การร่วมมือกันของภาคเอกชน ส่งผลให้รูปแบบการขนส่งสาธารณะจากรถสันดาป ปรับเปลี่ยนมาสู่พลังงานสะอาด ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV-Bus) เหมือนกับในประเทศไทย ของไทย สมายล์ บัส ที่เป็นรูปแบบรถเมล์พลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

นาย วรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางมาศึกษาดูงานเรื่องระบบคมนาคมขนส่งที่ประเทศไต้หวันครั้งนี้ ได้เห็นถึงตัวอย่างการเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งโดยใช้บัตรใบเดียว ‘ไทย สมายล์ บัส’ จะนำแนวทางโมเดลระบบขนส่งสาธารณะของไต้หวันไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ของเอกชนและรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ให้บริการอื่น ๆ ซึ่ง ‘ไทย สมายล์ บัส’ ได้มีการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างรถกับเรือไว้เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน จากการศึกษางานระบบขนส่งสาธารณะในครั้งนี้ มองว่า จะสามารถนำกลับมาใช้กับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน เพราะระบบขนส่งสาธารณะของไทยและไต้หวัน โดยเฉพาะระบบเทคโนโลยี มีความใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่ระบบขนส่งสาธารณะของไทยยังไม่เทียบเท่าของไต้หวัน คือ ระบบสาธารณูปโภค การจัดสรรพื้นที่ เส้นทางที่รถวิ่ง รวมถึงภาพนโยบายการสนับสนุนผู้ให้บริการ ซึ่งของไต้หวันมีทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ไปในทิศทางเดียวกัน

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะของไทย จะต้องมีการหารือกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการเพียงเจ้าเดียว แต่จะดำเนินการอย่างไร ให้การเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะทั้งรัฐและเอกชนในรูปแบบใด โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจ มีการสนับสนุนจากภาครัฐ และธุรกิจระบบขนส่งสาธารณะค่อนข้างมีการผูกขาด ดังนั้น จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ผู้ให้บริการอยู่รอด และแข่งขันบนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งถือเป็นจุดที่บริษัทจะนำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ จากการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะของไต้หวัน มองว่า ยังมีโอกาสที่ระบบขนส่งสาธารณะไทยจะมีความใกล้เคียงกับไต้หวันมากขึ้น โดยจากที่เห็นภาพของตัวรถโดยสาร และเทคโนโลยี ไทยมีความเทียบเท่าไต้หวัน หรืออาจจะเหนือกว่า รวมถึงเรื่องคอนเซปต์ ของไทย ที่ไปไกลกว่าใต้หวันแล้ว

นายวรวิทย์ ระบุว่า ระบบขนส่งสาธารณะของที่ไทยยังเเข่งขันไม่ได้ คือ การเชื่อมต่อระหว่างขนส่งกับขนส่งด้วยกัน ในการทำให้บัตรใบเดียวสามารถใช้ บริการระบบสาธารณะได้ทุกรูปแบบ แต่ทั้งนี้ในรูปแบบของบัตรที่นำมาเชื่อมต่อนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการว่าจะใช้บัตรของผู้ให้บริการรายใด ซึ่งบริษัท พร้อมที่จะร่วมผลักดันตรงจุดนี้กับหน่วยงานต่าง ๆ

‘ไทย สมายล์ บัส’ เปิดบริการครบ 3 ปี มีรถเมล์ไฟฟ้ากว่า 2,000 คัน คาดสิ้นปีนี้ มีผู้โดยสารแตะ 4.5 แสนคนต่อวัน วางเป้าปีหน้าทะลุ 5 แสน

(21 ก.ย.67) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้ถือเป็นหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญว่า บริษัทของคนไทย รถเมล์ที่สร้างด้วยฝีมือคนไทย สามารถทำให้ระบบขนส่งมวลชนที่ถูกละเลยมาหลายสิบปี ได้มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าให้ประชาชนได้ใช้บริการกว่า 2,000 คัน มีระบบเทคโนโลยีทันสมัย มีโรงเรียนฝึกอบรมบุคลากร เราลงทุนพัฒนาจุดชาร์จ อู่สาขากว่า 24 แห่งทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนา

นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2567 ยอดผู้โดยสารใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 350,000 คน จากปัจจัยของรถที่มีให้บริการมากขึ้นในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางรถเมล์โดยสารที่เปลี่ยนมาใช้เส้นทางปฏิรูปกับผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น เมื่อเส้นทางเริ่มชัดเจนเห็นรถมากขึ้น ประชาสัมพันธ์มากขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนรถที่ให้บริการปัจจุบัน บริษัทมีค่าเฉลี่ยรถที่ให้บริการอยู่ราว 1,600 คัน ซึ่งในช่วงไตรมาส 4/2567 บริษัทมีแผนการปรับเพิ่มรถที่ให้บริการขึ้นไปอยู่ในระดับ 2,000 คันต่อวัน เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารภายในปีนี้ ให้อยู่ในระดับ 400,000 – 450,000 คนต่อวัน ครองส่วนแบ่งการตลาดราว 50% ของผู้ใช้รถเมล์ทั้งหมด

ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 นั้น TSB มีแผนเพิ่มรถให้บริการเป็น 2,200 คัน ไม่รวมรถสำรองหมุนเวียนภายใน เพื่อขยับสู่เป้าหมายผู้โดยสาร 500,000 คนต่อวัน จากปัจจัยเส้นทางใหม่ที่ทางบริษัทยังไม่ได้เพิ่มรถเข้าไปอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากดูใบอนุญาตที่มีอยู่ในตอนนี้ 123 เส้นทาง ยังเห็นโอกาสการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มเส้นทางปฏิรูปทั้งหมด ผู้ประกอบการทุกรายใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเราเชื่อว่ามีผู้โดยสารตกหล่นอยู่ ทั้งคนที่เคยรอรถหลายต่อ หาก TSB ให้บริการได้ครบลูป 100% เชื่อมต่อล้อ สู่ล้อ และทำให้เป็นโครงข่ายการต่อรถได้ เชื่อว่ายอดผู้โดยสารจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top