Sunday, 20 April 2025
ไต้ฝุ่นยางิ

'แม่สาย' เผชิญน้ำท่วมบ่อย แต่ทำไมไม่มีมีระบบเตือนภัย จากนี้ควรปรับแนว ส่งข้อมูลให้ประชาชนโดยตรง

(11 ก.ย. 67) อิทธิพลจากพายุ ‘ยางิ’ ทำให้พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ซึ่งทำให้ภาวะน้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมอย่างหนักที่ตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย อีกรอบ ทั้งที่ จ.เชียงรายเพิ่งถูกน้ำท่วมหนักไปช่วงในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง (2567)

ชาวแม่สายจำนวนมากยังติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูงถึงหลังคา บางคนต้องย้ายมาใช้ชีวิตอยู่บนหลังคาบ้าน ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม การเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากตลอดทั้งกลางวันต่อเนื่องไปถึงกลางคืน เพราะน้ำสูง แรง ไหลเชี่ยว ในระหว่างที่ฝนยังคงตกลงมาเพิ่ม

อ.แม่สาย เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมาถึง 8 ครั้งแล้ว ถ้านับเฉพาะในปี 2567 นี้ จึงมาพร้อมคำถามใหญ่ว่า อ.แม่สาย หรือ จ.เชียงราย มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่นี้หรือไม่ ในเมื่อเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำป่า เกิดน้ำท่วมซ้ำซากบ่อยๆ ทำไมประชาชนจึงยังคงได้รับความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งที่มีการแจ้งเตือนพายุล่วงหน้าหลายวัน

“กรมอุตุฯ บอกว่า เราสามารถพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน ได้แม่นยำถึงประมาณ 90% แล้ว แต่ถ้าเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน เราจะมีความแม่นยำถึงเกือบ 100% เต็ม ... ส่วนข้อมูลการไหลของน้ำ ความแรง เส้นทาง เราก็มีหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลอย่างละเอียด คือ ‘สทนช.’ (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ดังนั้น เรามีทั้งข้อมูลฝนที่จะตกหนักแน่ เรารู้เส้นทางน้ำ รู้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ แต่กลับไม่มีใครบอกให้คนแม่สายทำอะไร ... คำถามคือ การเตือนภัย เป็นหน้าที่ของใครกันแน่?”

‘ไมตรี จงไกรจักร์’ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ตั้งคำถามดังๆ ไปถึง ‘ระบบเตือนภัย’ ของประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนเป็น ‘หน้าที่’ ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบอย่างชัดเจนเต็มตัว จนทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่ควรทุกครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติ

“ในมุมผม ควรเป็นหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันกลายไปเป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย”

“ผมคิดว่า การเตือนภัยควรมี 2 ระบบ ระบบแรก คือ การเตือนล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งศูนย์เตือนภัยฯ สามารถใช้ข้อมูลฝน ข้อมูลน้ำ ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ หรือขอข้อมูลจาก สทนช. มาทำการเตือนภัยได้เอง ... ระบบที่ 2 ในกรณีเร่งด่วนต้องเตือนภัยภายใน 24 ชั่วโมง ศูนย์เตือนภัยฯ ควรมีอำนาจไปขอให้ กสทช.ใช้วิธีบูรณาการความร่วมมือกับสื่อสารมวลชน และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ออกประกาศแจ้งเตือนไปยังสื่อต่างๆ ทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงต้องส่งข้อความตรงไปถึงโทรศัพท์ของคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้เลย ... แต่ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการส่งคำเตือนไปให้กับผู้บริหารส่วนราชการที่มีอำนาจตัดสินใจเท่านั้น”

“เราต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องส่งข้อมูลให้ประชาชนโดยตรง”

ในฐานะอดีตผู้ประสบภัยสึนามิ ทำให้ไมตรี มีความสนใจต่อการแนวทางจัดการภัยพิบัติในรูปแบบที่ต้องให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงจัดการตัวเอง ก่อนหน้านี้เขาจึงได้จัดทำข้อมูลชุมชนเสี่ยงภัยพิบัติทั่วประเทศไทย และพบว่ามีมากถึง 4 หมื่นชุมชน ในขณะที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณมาสร้างความรู้ให้ชุมชนได้เพียงปีละ 10-20 ชุมชน ในงบประมาณแห่งละ 2 หมื่นบาทเท่านั้น

“เขามักจะอ้างว่า ที่ไม่รายงานข้อมูลภัยพิบัติตรงไปที่ประชาชน เพราะกลัวจะเกิดความตื่นตระหนก เกิดความวุ่นวายในการอพยพ แต่แท้จริงแล้วนั่นสะท้อนให้เห็นว่า เป็นเพราะรัฐเองไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้ประชาชนได้ เพราะการส่งข้อมูลภัยพิบัติที่แม่นยำ แม้จะหยุดภัยพิบัติไม่ได้ แต่จะช่วยลดมูลค่าความสูญเสียลงไปได้มาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องบอกให้ได้ด้วยว่า เมื่อประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเห็นข้อมูลแบบนี้แล้ว จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไปหาใคร ไปที่ไหน ไม่ใช่แค่การแจ้งเตือนรวมๆ กว้างๆ ให้ไปคิดเอาเอง”

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ อ.แม่สาย ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ระบุว่า เป็นลักษณะเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในปีนี้กับหลายพื้นที่ เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยมีฝนมาก ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเร่งประกาศเป็นนโยบาย ซึ่งมีข้อเสนอดังนี้

(1) ข้อมูลภัยพิบัติต้องเป็นข้อมูลเปิดที่ประชาชนเข้าถึงได้ ต้องมีนโยบายบูรณาการข้อมูลของหน่วยราชการ เพื่อสร้างช่องทางสื่อสารตรงไปถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ควรส่งข้อมูลให้เฉพาะผู้มีอำนาจไม่กี่คนเท่านั้น

(2) ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความสามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตัวเอง เช่น สร้างที่พักในจุดปลอดภัย สำรวจข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง อบรมหน่วยกู้ภัยชุมชน ฯลฯ

(3) เมื่อเกิดภาวะวิกฤต จะต้องมีกลไกระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐเขามาดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ข้างเคียง ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มอาสาสมัครจากภาคเอกชนกลายเป็นกำลังหลักในการกู้ภัย และยังควรแก้ไขระเบียบเพื่อให้จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้กับอาสาสมัครที่มาช่วยงานได้ด้วย ซึ่งการสร้างกลไกเหล่านี้ จะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถสถาปนา ‘ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์’ (Incident Command System - ICS) ขึ้นมาได้ง่ายขึ้น และสามารถจัดกำลังเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
“อย่างที่บอกไปแล้ว เรามีชุมชนเสี่ยงภัย 4 หมื่นชุมชน รัฐจัดอบรมได้ปีละ 10-20 ชุมชน บางปีทำได้แค่ 6 ชุมชนด้วยซ้ำ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 100 ปี ถึงจะอบรมได้ครบทั้งหมด ดังนั้นรัฐต้องเลิกผูกขาดการจัดการภัยพิบัติ จะต้องมีนโยบายหรือกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติมาให้ท้องถิ่น แนวทางที่เราเห็นว่าสามารถทำได้เลย คือ การตั้งกองทุนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติระดับตำบล โดยให้รัฐส่วนกลางสนับสนุนงบประมาณร่วมกับท้องถิ่นคนละครึ่ง สามารถนำงบประมาณไปจัดฝึกอบรม จัดทำแผนภัยพิบัติที่เหมาะกับชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือยังอาจใช้ตั้งโรงครัวกลางในระหว่างเกิดภัยได้ด้วย”

“ภาพที่เกิดขึ้นกับ อ.แม่สาย คือถูกน้ำท่วมซ้ำซากจนมีความเสียหายมากติดต่อกันบ่อยๆ เป็นภาพเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันแม้จะยังถูกน้ำท่วมอยู่ แต่หลายชุมชนมีแผนจัดการเป็นของตัวเอง มีกองเรือที่ต่อกันเองด้วยลักษณะที่เหมาะกับสภาพลำน้ำ และสภาพพื้นที่สำหรับใช้กันเองในช่วงประสบภัย ทำให้ช่วยลดความสูญเสียลงไปได้มาก” 

ไมตรีกล่าวทิ้งท้าย

'เวียดนาม' ยังวิกฤต!! อาจมีน้ำท่วมรอบเมืองหลวงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ส่วนผลกระทบ ‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำยอดเสียชีวิตใกล้แตะ 200 รายแล้ว

(12 ก.ย. 67) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในกรุงฮานอยของเวียดนามยังคงวิกฤต โดยประชาชนในเมืองหลวงต้องเผชิญระดับน้ำสูงถึงเอวในวันพุธ ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำแดงพุ่งสูงสุดในรอบ 20 ปี และอาจทะลักท่วมเมืองมากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น 'ยางิ' ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีพุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 179 ราย และสูญหาย 145 คนทั่วประเทศ นอกจากนี้ฝนที่ตกหนักยังทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มทำลายล้างในพื้นที่ทางตอนเหนือของลาว, ไทย และเมียนมาอีกด้วย คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก

มีรายงานดินถล่มในหมู่บ้าน ‘ลางนู’ บนภูเขาอันห่างไกลในจังหวัดหล่าวกาย ทำให้พื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดราบเป็นหน้ากลองด้วยโคลนและหิน

สื่อเวียดนามยังรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้เสียชีวิตในหมู่บ้านอย่างน้อย 34 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 46 คน โดยหน่วยกู้ภัยมีแค่จอบและพลั่วในการขุดดินเพื่อค้นหา

นักพยากรณ์อากาศ กล่าวว่าระดับน้ำในฮานอยถึงจุดสูงสุดแล้ว และระดับน้ำในแม่น้ำแดงจะลดลง พร้อมเตือนว่าจะมีน้ำท่วมรุนแรงเป็นวงกว้างในพื้นที่รอบเมืองหลวงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ตำรวจ, ทหาร และอาสาสมัครช่วยเหลือประชาชนหลายร้อยคนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่เอ่อล้นในกรุงฮานอย เพื่ออพยพออกจากบ้านในช่วงเช้าตรู่ เนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตำรวจฮานอยกล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังเดินเท้าและใช้เรือไปตรวจสอบบ้านทุกหลังริมแม่น้ำ

"ประชาชนทุกคนต้องอพยพทันที เจ้าหน้าที่จะนำพวกเขาไปยังอาคารสาธารณะที่กลายเป็นที่พักพิงชั่วคราวหรือพวกเขาสามารถอาศัยอยู่กับญาติในพื้นที่อื่นๆได้ ขณะนี้ฮานอยไม่ปลอดภัยเพราะฝนตกหนักมากและระดับน้ำก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว" ตำรวจกล่าว

ขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอยกล่าวว่า สหรัฐฯ ได้อนุมัติงบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ให้แก่เวียดนาม

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประชาชน 59,000 คนถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านเรือน เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วนของจังหวัดท้ายเหงียนและเอียนบ๊ายจมอยู่ใต้น้ำเกือบหมด โดยประชาชนที่อพยพไม่ทันได้หนีขึ้นไปหลบอยู่บนหลังคาเพื่อขอความช่วยเหลือ

เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามเข้าไปช่วยผู้สูงอายุและเด็กในชุมชนที่อยู่อาศัย ขณะที่ญาติของผู้ที่ติดอยู่ในน้ำท่วมได้โพสต์คำร้องขอความช่วยเหลือและสิ่งของจำเป็นอย่างสิ้นหวัง

ในประเทศลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ทางการได้อพยพประชาชน 300 คนจากหมู่บ้าน 17 แห่งในจังหวัดหลวงน้ำทาทางตอนเหนือ

โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติแสดงความวิตกกังวลอย่างมากต่อความปลอดภัยของชุมชนในภาคเหนือของลาว ขณะที่วิทยุกระจายเสียงแห่งชาติรายงานว่าบ้านเรือน, ถนน, ตลาด, โรงเรียน และพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยมียอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมอย่างน้อย 1 ราย

ในประเทศไทย มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 รายในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายทางภาคเหนือ โดยกองทัพได้ส่งกำลังพลไปช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 9,000 ครอบครัว

ในประเทศเมียนมา มีฝนตกติดต่อกันหลายวันในบริเวณกรุงเนปยีดอ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำพุ่งสูงถึงระดับอันตราย ตามรายงานของรัฐบาลทหาร เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต แต่ยังไม่มีการยืนยันว่ากี่ราย

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบกับฝนมรสุมทุกปี แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีต้นเหตุจากมนุษย์ ทำให้เกิดรูปแบบสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น กลายเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงกว่าปกติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top