Thursday, 22 May 2025
ในหลวง

23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ‘ในหลวง ร.10’ พระราชทานทรัพย์กว่า 2,800 ล้านบาท สมทบทุน-จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ รับมือวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เพจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ข้อความระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชน และบุคลากรการแพทย์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง

การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้แก่…

1. พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 100,000,000 บาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช

2. พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 2,407,144,487.59 บาท แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 29 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

3. พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 345,000,000 บาท แก่เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ในหลวงรัชกาลที่ 10

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

โดยพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ’

>> การศึกษา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467

ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ อาณาประชาราษฎร์ ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ นานัปการ เพื่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ

ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติส่วนพระองค์ ทั้งในด้านความมั่นคง ของประเทศ ด้านสังคมสงเคราะห์ การศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การทหาร การบิน การต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อ ความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองและ ประชาชนคนไทยทั้งปวง

ดั่งพระราชดำรัสในพิธี ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในการสถาปนาขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ความว่า “ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ ต่อประชาชนจะปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและ โดยความเสียสละเพื่อความเจริญสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบ เท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

>> ทรงรับขึ้นทรงราชย์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 19.16 น. ปวงชนชาวไทยทั้งผอง ต่างปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ ห้อง UPPER MAIN CR.M (ห้อง วปร.) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระรัชทายาทเสด็จ ขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า “ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา และกล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง” 

การทุ่มเทพระวรกายปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ โดยมิทรงว่างเว้นของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สะท้อนถึงพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร สมดั่งพระราชปณิธานที่ทรงมีพระราชประสงค์ สืบสาน รักษาต่อยอด ในหลวงรัชกาลที่ 9

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

‘ในหลวง’ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน ‘นร.-จนท.’ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ รร.วัดราชาธิวาส

(16 ก.ค.67) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็นประธาน เชิญอาหารพระราชทาน ไปพระราชทานเลี้ยงแก่นักเรียน คณะครู บุคลากรและเจ้าหน้าที่ โรงเรียนวัดราชาธิวาส เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวน 890 คน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้นักเรียน และคณะครู รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ได้รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าตามหลักโภชนาการอันจะส่งผลให้มีสุขอนามัยที่ดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี สำหรับเมนูอาหาร ประกอบด้วย ข้าวมันไก่ทอด ข้าวมันไก่ตอนข้าวหมูแดง หมูกรอบ บะหมี่แห้งหมูแดง ข้าวขาหมู ไข่พะโล้ และโดนัทไส้ต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงรับเป็นพระราชภารกิจที่สำคัญ ในการดูแลให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีโภชนาการที่ดีโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอาหาร แก่เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน และสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เนื่องในโอกาสวันเฉลิม พระชนมพรรษา วันคล้ายวันพระราชสมภพ วันคล้ายวันประสูติ และวันสำคัญต่าง ๆ มาโดยตลอด การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในครั้งนี้ นักเรียน และคณะครู รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างปลื้มปีติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนวัดราชาธิวาส เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2446 โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อตั้งโดยทุนทรัพย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทว มหามงกุฎวิทยมหาราช นับแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีระยะเวลาถึง 121 ปี ซึ่งโรงเรียนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติ ศิษย์เก่าหลายท่านที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้มีบทบาทและผลงานที่สำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 800 คน ครูและเจ้าหน้าที่ จำนวน 90 คน

3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯ เปิด ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ระยะ 2-3 พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชาวกรุงฯ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนเบญจกิติ โดยถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ต่อมา เสด็จฯ ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่าระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะเบญจกิติ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เมื่อสมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ โครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของ คนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่ม ในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุก ๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย

มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่งและปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

โดยสวนป่าแห่งนี้เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทยที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดี ต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้

'ดร.นิว' เผย!! เหตุผลที่ 'รักในหลวง ร.10' หลังเคยจมคลื่นข่าวปลอม-ใส่ร้าย โชคดีที่ตาสว่าง ไม่เช่นนั้นอาจติดคุกหรือไม่ก็ได้ดีในพรรคการเมืองหนึ่ง

(30 ก.ค. 67) ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ 'ดร.นิว' นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ทำไมผมถึงรักในหลวง ร.10 สุดหัวใจ?'

ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียน มธ. รหัส 53 และเคยได้รับข้อมูลผิด ๆ จนไม่ชอบในหลวง ร.10 มาก ๆ ถึงขั้นไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาทั้ง ๆ ที่ผมจบเกียรตินิยม ผมไม่ได้เข้ารับของจริง ถ้าไม่เชื่อก็ไปเช็กได้เลยครับ ผมจึงยังคงเสียใจและเสียดายมาจนถึงทุกวันนี้ แต่พอได้ศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องด้วยตนเองในช่วงเรียนปริญญาเอกที่สิงคโปร์ จากที่ไม่ชอบก็กลายเป็นรักและเห็นใจพระองค์ท่านมาก ๆ 

พบว่าสิ่งที่เคยได้ยินจากสามนิ้วล้มเจ้าในยุคนั้นล้วนเป็นความเท็จและไม่มีประโยชน์ เห็นได้ชัดเจนมาก ๆ ว่าการบิดเบือนให้ร้ายในหลวง ร.10 เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน เพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ โดยมักบิดเบือนให้ร้ายสร้างมโนภาพต่าง ๆ ให้ในหลวง ร.10 กลายเป็นคนไม่ดี เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นจอมวายร้าย

แต่ทว่าในความเป็นจริง แม้ในหลวง ร.10 จะเป็นคนเคร่งครัดมากในระเบียบวินัยแบบทหาร แต่พระองค์ท่านก็เป็นคนที่มีเมตตาสูงมาก ขนาดชีวิตสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ท่านยังให้ความเมตตาแบบสุด ๆ ผมเคยได้ยินเรื่องหนึ่งที่เชื่อถือได้อย่างแน่ชัด เวลามีสัตว์หลงเข้ามาในลานฝึก ทหารที่ฝึกกับพระองค์ท่านจะต้องหยิบมันไปปล่อยอย่างเหมาะสม ใครจะไปนึกว่าในหลวง ร.10 จะทรงน่ารักขนาดนี้

ผมยังจำได้ดี ตอนผมจบปริญญาเอกปี 2561 ในวัย 26 ปี ในปีนั้นเพื่อนชาวสิงคโปร์ของผมชื่อ ‘ยองเจีย’ วัย 25 ปี เคยแสดงความคิดเห็นให้ผมฟังว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์คือจุดแข็งที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษอันหาได้ยากยิ่ง ลองคิดดูนะ กว่าประเทศอื่นจะรวมผู้คนให้สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ประเทศไทยสามารถทำได้แค่ในชั่วพริบตา เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน ดังนั้นถ้าหากมีใครต้องการทำลายประเทศไทย หรือแทรกแซงประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงไม่แปลกที่เขาต้องทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์"

ผมโชคดีที่ตาสว่างกว่า ไม่เช่นนั้นตอนนี้ผมอาจติดคุกหรือไม่ก็ได้ดิบได้ดีในพรรคการเมืองหนึ่ง พรรคที่มีรากเหง้ามาจากสามนิ้วล้มเจ้าใน มธ. ชอบอ้างอย่างปลอมเปลือกว่าอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงสถาพร แต่ในความเป็นจริงแม้แต่ถวายพระพรก็ยังไม่มีเลย สุดท้ายเมื่อผมออกจาก Echo Chamber ของการลือตาม ๆ กันอย่างเสียสติ ไม่ต่างจากนกแก้วนกขุนทอง ไม่หลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อบิดเบือนให้ร้ายพระองค์ท่านอีกต่อไป ผมจึงตาสว่างยิ่งกว่าตาสว่างและรักพระองค์ท่านสุดหัวใจ

'อดีตทูตนริศโรจน์' ชื่นชม!! 'วิว' ถวายเหรียญโอลิมปิกแด่ในหลวง สะท้อนความเคารพจากพสกนิกรไทยอย่างเป็นพิธีการสูงสุด

(7 ส.ค.67) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Fuangrabil Narisroj' ว่า…

ถูกต้องครับ การถวายเหรียญแด่องค์พระประมุขสูงสุดของแผ่นดิน นั่นคือการแสดงถึงความเคารพในทางสัญลักษณ์เป็นพิธีการ (protocol) อย่างสูงสุด ในฐานะที่เราเป็นพสกนิกร  

ประเด็นแบบนี้ทำให้นึกถึงสมัยสเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส ส่งกองเรือไปพิชิตดินแดนต่าง ๆ เมื่อกลับมาถึงก็เข้าเฝ้าฯ ถวายดินแดนเหล่านั้นให้ King หรือ Queen ถือว่ามอบให้เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินที่ประมุขปกครอง 

สรุปง่าย ๆ คือเป็นพิธีการที่ขลังที่สุดในการมอบสิ่งมีค่านั้นให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน  

หลังจากนั้นพระองค์ก็พระราชทานเหรียญนั้นคืนให้กับเจ้าตัวเก็บรักษาต่อไป 

เหรียญนั้นก็จะทรงคุณค่ามากขึ้น !

เปิด ‘ถุงพระราชทาน’ ที่ ‘ในหลวง’ ทรงช่วยเหลือชาวเชียงราย ใช้ 2 คนยกกลับบ้าน ‘ข้าวสาร-อาหารแห้ง-น้ำ’ รวม 14 รายการ

(21 ก.ย.67) เพจ ‘แจ้งข่าวเชียงราย By เชียงราย 108’ ได้โพสต์ข้อความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้รับพระราชทานถุงยังชีพจาก ‘ในหลวง’ โดยมีใจความว่า ...

หลายคนคงเห็นแต่ถุงพระราชทาน แต่ไม่ทราบว่าข้างในมีอะไรบ้าง พอดีบ้านพี่สาวที่เชียงรายได้รับ 1 ถุง

หนักเอาการเจ้า ยก 2 คน

ข้าวสาร 5 กก.
น้ำมันพืช 1 ขวด
ปลา กป. 1 โหล
ผัก กป. 1/2 โหล
มาม่า 1 ลัง 30 ซอง
นมชั่งหัวมัน 2 ขวด

น้ำดื่ม 2 ขวด
ขนมฟันโอ 1 ถุง
ไฟฉาย+ถ่าน 1
ยาทา..กิน 1 ชุด
ผ้าอนามัย 2 ห่อ
ผ้าขนหนูใหญ่ 1
ผ้าถุง 1
ผ้าขาวม้า 1
รวม 14 อย่างเจ้า

..ขอพระองค์ทรงพระเจริญ..

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ห้วงเวลาแห่งความทรงจำ!! ครบรอบ 7 ปี พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

โดยวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง ทางคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ประชาชนร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ร.9 เสด็จพระราชดำเนินอีสาน: จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์จอมพล ป. | THE STATES TIMES Story EP.159

พฤศจิกายน 2498 การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานของในหลวง ร.๙ ไม่ใช่เพียงการพบปะประชาชนครั้งประวัติศาสตร์ แต่ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สถานะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่นคลอนลงอย่างไม่คาดฝัน

ติดตามเรื่องราวการต่อรองอันแยบยล ความศรัทธาที่เปี่ยมล้นของประชาชน และบทเรียนทางการเมืองที่สะท้อนถึงพลังของ "ผู้นำที่แท้จริง"

นักท่องเที่ยวต่างชาติ สุดปลื้มได้ร่วมรับเสด็จฯ ในหลวง – พระราชินี ทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ย่านเยาวราช

(27 ม.ค. 68) ผู้ใช้บัญชี Tiktok ชือว่า mai_natan.ch ได้โพสต์คลิป นักท่องเที่ยวต่างชาติสาวรายหนึ่ง ซึ่งได้นั่งรวมกลุ่มกับชาวไทย เพื่อรอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรสถิต 72 พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต ณ ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร และทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง 72 พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้โครงการ “เบญจกตัญญุตา บารมีแห่งมังกรสยาม” ณ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติคนดังกล่าว บอกว่า ตนเองชื่อโคลอี้ เดินทางจากลอนดอน มาเที่ยวประเทศไทย จากนั้นได้ไปเที่ยวชมวัดแห่งหนึ่ง และได้เจอกับผู้คนมากมายมานั่งรอ จึงคิดว่าเราน่าจะอยู่ดูว่ามันเกี่ยวกับอะไร และเพลิดเพลินกับค่ำคืน ตรุษจีนปีงู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความตื่นเต้นที่ได้อยู่ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อใช้เวลากับคนไทยมากมาย ที่ตั้งตารอร่วมเฉลิมฉลอง พร้อมกับมีส่วนร่วมในการรับเสด็จราชวงศ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top