Thursday, 24 April 2025
ในหลวงในดวงใจ

บันทึกเรื่องราวตราตรึงจิตตราบนิจนิรันดร์ แม้ถ่ายทอดได้เพียงเศษเสี้ยว ‘พระราชกรณียกิจ’

ในหลวงในดวงใจ เรื่องราวประทับของนักเล่าเรื่องแห่ง THE STATES TIMES 

วันที่ 13 ตุลาคม 2567 วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ 'วันนวมินทรมหาราช' เวียนมาบรรจบเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี นักเล่าเรื่องราวอย่างผมก็ยังอยากจะเล่าเรื่องราวของพัฒนากรผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเรื่องราวของพระองค์ท่านช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยช่างโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน 

ผมเองไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรในการจะมานั่งเล่าเรื่องราว หรือมานั่งเขียนบทความอะไร แต่ด้วยโอกาสจาก THE STATES TIMES ที่อยากให้มาถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากการที่เป็นคนชอบอ่านและเป็นคนชอบทำ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะช่วงที่จัดรายการ “ตามรอยพระบาทยาตรา”มีเรื่องราวจำนวนมากที่ได้นำมาเล่า ซึ่งในบทความนี้ผมขอยกเรื่องเล่าประทับใจมาให้คุณได้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ 

เริ่มต้นการเล่าเรื่องของผม บอกเลยผมไม่มีความมั่นใจมากมายอะไรนัก และคิดอยู่หลายวันว่าจะเล่าเรื่องราวอะไรดี จนตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการยกเพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” มานำเสนอ เพราะผมเองเป็นนักดนตรี และทำมาหากินเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่เริ่มมีหน้าที่การงาน และเชื่อว่าความมหัศจรรย์ของบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาเพียง 10 นาที พระราชนิพนธ์เพลง ๆ นี้ เพลงที่แรกมีเพียงไม่กี่ห้อง แต่เมื่อเติมเต็มกลับกลายเป็นเพลงที่สร้างให้จิตใจของเรามีสำนึกในการรักบ้าน รักเมือง ซึ่งการนำเรื่องของบทเพลงนี้เป็นปฐม จะช่วยทำให้ผมเล่าเรื่องราวได้ดี ซึ่งการเล่าเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งแรก ทำให้ผมมีความมั่นใจที่มากขึ้น ทั้งยังเล่าเรื่องราวของพระองค์ต่อไปได้อีกหลายตอน 

มาถึงเรื่องของป่า ที่ผมยกมาเล่าก็เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กที่ได้ไปสัมผัสป่าในภาคเหนือจากการไปทำฝายแม้ว ได้เห็นป่าที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หนาแน่น จนได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่งว่า ป่าที่คุณเห็นคือป่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ปลูกเสริม เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเห็นว่าเขาตรงบริเวณนั้นหัวโล้น ทั้งยังแห้งแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงบินผ่าน ทรงจำได้และทรงมีพระราชดำริให้ร่วมมือกันของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ปลูกต้นไม้สายพันธุ์เดียวกับป่าในพื้นที่เสริมและปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันในการฟื้นฟูตนเอง โดยหลังจากปลูกเสริมพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมกับปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูสุดท้ายจากป่าบนภูเขาหัวโล้นก็กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งพระองค์ท่านยังทรงสำทับด้วยประโยคสำคัญว่า 
“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” ซึ่งปัจจุบันนี้หลายคนคงหลงลืมไปแล้ว จนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

เรื่องถัดมาที่ผมยกมาเล่าก็คือเรื่องของ 'น้ำ' จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า 'น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้' เป็นภาคต่อจากเรื่องของป่า จากแนวพระราชดำริว่าการทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำจำนวนมากเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เมื่อมีป่า จึงก่อให้เกิดน้ำ และการจัดการน้ำคือโอกาสในการมีกิน มีใช้ ของประชาชน ผมก็ยกเรื่องราวในการไปโครงการหลวงและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ การไปพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และการไปทำฝายแม้วในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อว่าฝายเล็ก ๆ จะสร้างผลอะไรให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ หรือทางน้ำอะไรได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน ทางน้ำ ต้นไม้ จนต้องมาเล่าให้กับชาว THE STATES TIMES ฟัง ว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราได้มีส่วนร่วม ตามแนวพระราชดำริมันสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับป่าได้จริง และเมื่อเราได้รู้จักการชะลอน้ำจนเกิดป่า เมื่อถึงหน้าแล้งเราก็ยังมีน้ำ เมื่อเข้าหน้าฝนเราก็จะไม่เจอน้ำหลาก นี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างประโยชน์มหาศาล 

เรื่อง 'นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด' เป็นหัวข้อที่ผมยกขึ้นมาหลังจากได้เห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งบันทึกอยู่ใน ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย อันมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย โดยนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2507 จากโครงการเริ่มต้น 10,000 ไร่ ในจ.เพชรบุรีไปสู่ที่ดินทำกินหลายแสนไร่ทั่วประเทศ เกี่ยวเนื่องพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดินนี้ ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’ 

เรื่องต่อไปที่ผมประทับใจและอยากยกขึ้นมาอีก 1 เรื่องก็คือเรื่องของ 'ต้นกาแฟ' 2 – 3 ต้น โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงในปี 2512 ด้วยพระราชปณิธานของพระองค์ที่จะช่วย 'ชาวไทยภูเขา' ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ในปี 2517 พระองค์ได้เสด็จ ฯ หมู่บ้านหนองหล่ม ในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นคือ 'ปู่พะโย่' ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย เมล็ดกาแฟที่ได้พันธุ์มาจาก UN จำนวน 1 กิโลกรัม ซึ่งมาจากต้นกาแฟ 2 – 3 ต้น พระองค์ทรงสนใจว่าต้นกาแฟที่ว่าอยู่ตรงไหน จึงได้เสด็จ ฯ ด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ต่อด้วยการทรงม้าที่เพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกไว้เหนือหมู่บ้าน พระองค์ทอดพระเนตรแล้วก็ได้ตรัสว่า "จะกลับมาช่วยอีกครั้ง" จนมาปี 2518 พระองค์ทรงกลับไปที่หมู่บ้านแห่งนี้พร้อมเมล็ดพันธุ์กาแฟ 'อาราบิก้า' เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้ปลูก จนเป็นที่มาของ 'กาแฟโครงการหลวง' จากดอยสูง กาแฟพันธุ์ดีที่ส่งขายไปสู่มูลนิธิโครงการหลวงและบริษัทกาแฟชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ 

เรื่องราวที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเรื่องราวแห่งความประทับใจที่ผมเล่าไปพร้อมรอยยิ้มและน้ำตา ในช่องทางของ THE STATES TIMES ซึ่งเรื่องที่เล่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของโครงการต่าง ๆ หลายพันโครงการ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์ 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

‘มาดามน้ำชา’ เผย!! พระองค์ท่าน ทรงเป็นกลาง ทางการเมือง ลั่น!! อย่าดึง ‘สถาบันเบื้องสูง’ ลงมาทำเป็น ‘คอนเทนต์’ 

(9 มี.ค. 68) มาดามน้ำชา TikToker ชื่อดัง โพสต์คลิป ย้ำ!! ‘ในหลวง’ ไม่เคยแบ่งแยกสี ไม่เคยแบ่งแยกคนในชาติ ทรงรักพสกนิกร เท่ากันทุกคน โดยระบุว่า ...

ฝากอินฟลูเบอร์ใหญ่ ... อย่า!! 

อย่านําลุงตู่ อย่าเอ่ยถึงในหลวง ว่ามาเกี่ยวโยงอะไรกับการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวค่ะนะคะ 

ในหลวงพระองค์ท่านเป็นกลางทางการเมือง
อยู่นอกอยู่เหนือหลุดพ้นแล้ว ซึ่งการเมือง
ลุงตู่ท่านเป็นผู้นํา เราก็จริงนะคะก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ท่านเป็นองคมนตรี แล้ว
ท่านเป็นผู้ชายที่นั่งอยู่ในดวงใจของพวกเรา ภาคภูมิใจในตัวลุงตู่
อย่านํามาสร้างเป็นคอนเทนต์นะคะ

มันไม่ถูกนะคะสังคมมันจะแตกแยก
การเมืองก็คือการเมืองนะคะ 

สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองเลย

พระองค์ท่านไม่รู้ด้วยซ้ําว่าลูกในชาติสีไหน
พระองค์ท่านรักลูกในชาติเท่ากันหมดทุกคน
ลูกในชาติเนี่ย แหละที่จําแนกสีกันเอง 

เพราะบางสีเช่นสีส้มเนี่ย
คุกคามกฎหมายที่คุ้มกันพระองค์ท่าน
เราก็เลยไม่ชอบสีส้ม 

ลูกทั้งชาติเนี่ย ทุกคนเค้าก็รักในหลวง เพราะฉะนั้นเราอย่านําในหลวงมายึดโยงกับการเมืองนะคะ 

อย่าทําแบบนั้นเลยเชื่อพี่เถอะมันไม่ดี
หนูเก่งหนูก็ไปสร้างคอนเทนต์อย่างอื่น
หนูไปเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติที่มันถูก

แต่อย่านําสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ
มาเกี่ยวกับว่ารัฐธรรมนูญ

อย่าดึง ‘ในหลวง’ มาเกี่ยวกับการเมืองค่ะ 

‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เป็นของคนไทย ดวงใจทั้งประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top