Tuesday, 20 May 2025
โรงแรม

‘หนุ่มมาเลฯ’ โพสต์ระบายโรงแรมบ้านเกิด ‘เช็กอินช้า-เร่งเช็กเอาต์’ ฟากชาวเน็ตเชียร์ให้บอยคอตต์ บ้างก็บอก ‘มาเที่ยวเมืองไทยดีกว่า’

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ชายชาวมาเลเซีย’ รายหนึ่ง ได้ระบายความผิดหวังที่มีต่อข้อกำหนดต่าง ๆ ของโรงแรมท้องถิ่น (มาเลเซีย) พร้อมส่งเสียงเรียกร้องให้กระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมแดนเสือเหลือง เข้ามาจัดการคลี่คลายการกำหนดเวลาเช็กอินและเช็กเอาต์ตามอำเภอใจ โดยเขามองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป 

ความคิดเห็นของชายรายนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอื่น ๆ อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ และบางส่วนถึงขั้นยุให้คนอื่น ๆ หันไปเที่ยวประเทศไทยแทน

รายงานข่าวระบุว่า ชายรายดังกล่าวนามว่า ‘ฮาคิม เอช’ ใช้บัญชีบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ เขียนคร่ำครวญเกี่ยวกับกำหนดเวลาของโรงแรมต่าง ๆ ในมาเลเซีย ซึ่งดำเนินการแบบตามอำเภอใจ ค่อนข้างล่าช้าในการเช็กอิน แต่มาเร่งรัดในตอนเช็กเอาต์

ฮาคิม เอช โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ระบุว่า "หากพวกผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการเห็นชาวมาเลเซียสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นของเรา กระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรม ต้องเข้ามาแทรกแซง คลี่คลายประเด็นเกี่ยวกับเวลาการเช็กอินและเช็กเอาต์ตามอำเภอใจ"

เขาอ้างต่อว่า "การเช็กอินตอน 16.00 น. และเช็กเอาต์ 11.00 น. มันไร้สาระ พวกคุณอยากบอยคอตต์โรงแรมต่าง ๆ ที่ใช้นโยบายนี้กันหรือเปล่า?"

จนถึงวันจันทร์ (23 ก.ย.) มีคนเข้ามาอ่านข้อความดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์แล้วกว่า 396,000 คน และมีคนกดไลก์มากกว่า 2,300 ครั้ง โดยชาวมาเลเซียจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา และสะท้อนความรู้สึกแบบเดียวกัน ขณะที่บางส่วนเรียกร้องให้บอยคอตต์โรงแรมเหล่านั้น และบางคนถึงขั้นยุให้หันไปเที่ยวไทยแทน

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นตอบกลับ เล่าว่า เคยได้รับคำอธิบายจากโรงแรมเหล่านั้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัตินี้ แต่เขารู้สึกว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร ในนั้นรวมถึงอ้างว่าแผนกทำความสะอาดไม่มีเวลามากพอที่จะทำความสะอาดห้อง

ส่วนอีกคนโพสต์เห็นด้วยว่าควรบอยคอตต์โรงแรมเหล่านั้น โดยมองว่าเวลาเช็กอินล่าช้า แต่เช็กเอาต์เร็วนั้น เป็นเรื่องที่ไร้สาระ และไม่คู่ควรกับการเข้าพักแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายคนยังเรียกร้องให้กำหนดเวลาเช็กอินและเช็กเอาต์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับโรงแรมทั่วประเทศ ซึ่งคือเช็กอิน 14.00 น. และเช็กเอาต์ 12.00 น.

ขณะเดียวกัน มีชาวมาเลเซียบางส่วนถึงขั้นขอให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อโรงแรมต่าง ๆ ที่เช็กอินช้าและมาเร่งรัดตอนเช็กเอาต์ เพื่อให้ง่ายต่อการที่ชาวมาเลเซียจะบอยคอตต์

คู่รักสิงคโปร์โวยเครื่องเพชรของขวัญแต่งงานหาย หลังเช็คเอาท์โรงแรมหรู 5 ดาว ย่านนานา

(20 ธ.ค.67) กลายเป็นประเด็นร้อนในต่างประเทศ เมื่อคู่สามีภรรยาชาวสิงคโปร์เปิดเผยผ่านสื่อออนไลน์ในท้องถิ่นว่า เครื่องประดับมูลค่า 30,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 760,000 บาท) ของพวกเขาได้สูญหายระหว่างการเข้าพักที่โรงแรมหรู 5 ดาว ย่านนานา ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งคู่ระบุว่าลืมเครื่องประดับไว้ในห้องพักหลังเช็คเอาท์ไปเพียง 30 นาที เมื่อกลับมาตรวจสอบกับพนักงานโรงแรมกลับได้รับแจ้งว่าไม่มีสิ่งของหลงเหลืออยู่ในห้องพัก พวกเขาจึงให้เพื่อนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยช่วยแจ้งความก่อนบินกลับสิงคโปร์

นายเจิ้ง ผู้เสียหาย เปิดเผยว่า เครื่องประดับที่หายไปมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นของขวัญแต่งงานที่เพิ่งมอบให้กันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ของที่หายประกอบด้วยแหวนแต่งงานจากแบรนด์ทิฟฟานี แหวนเพชร 2 วง และสร้อยข้อมือ 1 เส้น เขาเล่าว่าหลังจากเช็คเอาท์เวลา 14.30 น. ทั้งสองรอรับกระเป๋าเดินทางที่ล็อบบี้นานกว่า 15 นาที แต่เมื่อกระเป๋ายังมาไม่ถึงจึงออกไปชอปปิ้งก่อนกลับมาอีกครั้ง ภรรยาจึงนึกขึ้นได้ว่าลืมเครื่องประดับไว้ในห้องพัก แต่เมื่อขอให้พนักงานช่วยตรวจสอบ กลับไม่พบสิ่งของดังกล่าว

ทั้งคู่ได้แจ้งให้โรงแรมตรวจสอบกล้องวงจรปิด ซึ่งพบว่าพนักงานยกกระเป๋าคนหนึ่งมีพฤติกรรมที่ดูผิดปกติ โดยเฉพาะการมองไปที่กล้องในลักษณะที่น่าสงสัย ทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของพนักงานรายนี้

โฆษกของกลุ่มแบรนด์ดัง ยืนยันว่า โรงแรมรับทราบเหตุการณ์และกำลังดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียด พร้อมติดต่อผู้เสียหายโดยตรงเพื่อให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเพิ่มเติมไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวและมาตรฐานภายในของโรงแรม

ขณะนี้ทางตำรวจไทยอยู่ระหว่างการสืบสวน โดยคู่สามีภรรยาหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้เข้าพักระมัดระวังทรัพย์สินของตนมากขึ้น ทั้งนี้ผลการสอบสวนจะต้องรอติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ต่อไป

ดุสิตธานีพลิกกำไร 310 ล้าน ไตรมาส 4 ปี 67 รายได้รวม 6.1 พันล้าน เป้าธุรกิจโรงแรม-อาหารโต 15-25% ปี 68

(26 ก.พ. 68) นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 (ตุลาคมถึงธันวาคม) ปี 2567 ของกลุ่มดุสิตธานี บริษัทฯ มีรายได้รวมที่ 6,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1,089 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 310 ล้านบาท พลิกจากที่เคยขาดทุนในงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 146 ล้านบาท (YoY) และจากที่เคยขาดทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ที่ 538 ล้านบาท (QoQ)

สำหรับผลประกอบการงวด 1 ปี (มกราคมถึงธันวาคม) ปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 11,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 โดย EBITDA อยู่ที่ 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.4%  และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 237 ล้านบาท ลดลงจากผลขาดทุน 570 ล้านบาทในปีก่อน

“ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มดุสิตธานีเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราสามารถพลิกผลขาดทุนให้กลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการส่งมอบงานก่อสร้างพื้นที่อาคารค้าปลีก (Bare Shell) ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค รายได้จากช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงแรมที่มีลูกค้าทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่รับรู้รายได้เต็มไตรมาส หลังจากเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารเติบโตได้อย่างน่าพอใจ จากการขยายตลาดและการเพิ่มลูกค้าใหม่ของบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (Epicure) และบองชู เบเกอรี่ (Bonjour Bakery)” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว

ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของผลประกอบการในปี 2567 ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของแผนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน 3 ประการของกลุ่มดุสิตธานี ได้แก่ สร้างสมดุล สร้างการเติบโต และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจอาหาร รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของดุสิตธานี ทำให้บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการใช้ประสบการณ์และความสามารถจากธุรกิจหลักในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ลดการพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจโรงแรม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มดุสิตธานี

สำหรับปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปลดล็อคมูลค่าลงทุน ตามแผนกลยุทธ์เพื่อการสร้างความเติบโตในระยะยาว บริษัทฯ จะเดินหน้าพลิกฟื้นธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ แม้ว่า จะยังมีภาระดอกเบี้ยจากการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่เป็นปัจจัยหน่วงที่มีนัยสำคัญก็ตาม ซึ่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมนั้น คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ประมาณ 15-18% จากปี 2567 (ไม่รวมรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ)  โดยจะเน้นการขยายพอร์ตโรงแรมในรูปแบบรับจ้างบริหารจัดการ (Asset-light) เป็นโรงแรมเปิดใหม่ 5-7 แห่ง และคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาบริหารเพิ่ม 12-14 แห่ง

ส่วนธุรกิจอาหารซึ่งยังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี บริษัทฯ ประมาณการการเติบโตของรายได้ธุรกิจอาหารในปีนี้ไว้ที่ 20-25% โดยมีแผนขยายแฟรนไชส์บองชูเบเกอรี่ เพิ่ม 12-15 สาขา รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น Green House เพื่อขยายตลาด พร้อมกันนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะนำธุรกิจอาหารเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า จะสามารถขับเคลื่อนมูลค่า โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จากการเปิดให้บริการในส่วนของอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าได้ในครึ่งหลังของปี 2568 และเริ่มทยอยโอนโครงการพักอาศัยดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต พาร์คไซด์ ในช่วงปลายปีนี้ โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 95% ของพื้นที่ขาย

“ปี 2568 เป็นช่วงสุดท้ายของแผนกลยุทธ์เพื่อการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เราแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ปี 2559-2568 ซึ่งตลอดระยะทาง 9 ปีของแผนที่เราวางไว้ เราต้องเจอกับเรื่องไม่คาดคิด รวมถึงปัจจัยท้าทายต่างๆ มากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้น รวมถึงความไว้วางใจจากลูกค้าและคู่ค้าของดุสิตธานี ที่พร้อมการให้สนับสนุนเราเสมอ ทำให้วันนี้เราจะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจของกลุ่มให้กลับมาเติบโตได้อย่างน่าพอใจ ในช่วงเวลาหลังจากนี้ที่เราเรียกว่า เป็นช่วงปลดล็อคมูลค่าลงทุน กลุ่มดุสิตธานีจะเดินหน้าสร้างสมดุลของรายได้ระยะสั้นและรายได้ระยะยาวตามแผน เพื่อตอกย้ำความมั่นคงและต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต พร้อมๆ กับการเดินหน้าขยายแบรนด์ 'ดุสิตธานี' ในอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกที่เป็นหมุดหมายใหม่ของเรา” นางศุภจีกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top