Friday, 23 May 2025
โรงพยาบาลตำรวจ

งานแถลงข่าว การจัดกิจกรรม โครงการเดิน-วิ่ง การกุศลลอยฟ้า เพื่อโรงพยาบาลตำรวจ ครั้งที่ 2 'Police Run II 2024'

(26 ก.ย. 67) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ได้ร่วมกันแถลงข่าว งานแถลงข่าว การจัดกิจกรรมโครงการเดิน-วิ่งการกุศลลอยฟ้า เพื่อโรงพยาบาลตำรวจ ครั้งที่ 2 “ Police Run II 2024 ” ณ ห้องสารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดการจัดกิจกรรม ดังนี้

สมาคมตำรวจ กำหนดจัดกิจกรรมโครงการเดิน-วิ่งการกุศลลอยฟ้า เพื่อโรงพยาบาลตำรวจ ครั้งที่ 2 “ Police Run II 2024 ” ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2567 เวลา 04.00-08.00 น. 
โดยมีระยะทางการแข่งขันทั้งสิ้น 3 ระยะทาง 

1) ฮาล์ฟ-มาราธอน 21 กม. ค่าสมัคร 800 บาท จำนวน 700 คน 
2) มินิ-มาราธอน 10.5 กม. ค่าสมัคร 600 บาท จำนวน 1,000 คน  
3) เดินวิ่งเพื่อสุขภาพ 5 กม. ค่าสมัคร 500 บาท จำนวน 800 คน 
4) ประเภทวีไอพี ค่าสมัคร 2,000 บาท  

โดยมีจุดเริ่มต้นและเส้นชัย ณ ลานอเนกประสงค์สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างตำรวจ และประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแบ่งเป็น 2 ส่วน มอบให้แก่

1.โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลน
2.สมาคมตำรวจ
2.1 เป็นกองทุนสำหรับการสงเคราะห์ช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่วประเทศ ข้าราชการตำรวจที่บาดเจ็บสาหัส ทุพพลภาพ
2.2 เป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่ถูกฟ้องร้องในทางอาญา อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2.3 เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับบุตรธิดาข้าราชการตำรวจที่มีฐานะยากจน

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความประสงค์จะให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมการแข่งขันครั้งนี้ 
สามารถบริจาคเงินแบบไม่เข้าร่วมกิจกรรมได้  โดยสามารถโอนเงินตรงได้ที่  “ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลตำรวจ ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” บัญชีเลขที่ 981-0-80457-1 และผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน สามารถดูรายละเอียดได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก Police Run II 2024 https://www.facebook.com/policerunbangkok/ และสมัครออนไลน์ได้ที่ https://www.regis.run/race/policerun2024/ ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ตุลาคม 2567

‘ทักษิณ’ เกาะติดอภิปราย!! หากฝ่ายค้านยื่น ลั่น!! ไม่กังวล พร้อมโต้เอง หากถูกพาดพิง

(9 ก.พ. 68) ที่บ้านราชวิถี ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหากมีการพาดพิงมาถึง จะฟ้องร้องหรือไม่ ว่า ตนเข้าไปในสภาไม่ได้ แต่อาจไปอยู่หลังสภาคอยตอบให้ ถ้าใครสงสัยอะไรมาถามได้ ท่าจะดีเหมือนกัน เมื่อถามย้ำว่า หากถูกอภิปรายพาดพิงจริงจะตั้งโต๊ะแถลงตอบโต้อย่างเป็นทางการหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของพรรค หากพาดพิงจริงก็ตอบได้ ให้มาถามก็แล้วกัน ส่วนจะตอบในรูปแบบใด ไม่มีอะไรต้องกังวล

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเกาะติดการอภิปรายโดยตั้งเป็นวอร์รูมหรือไม่ นายทักษิณหัวเราะและกล่าวว่า ไม่มีปัญหา สบายๆ ไม่มีอะไรต้องกังวล เมื่อถามว่า จะต้องติวให้นายกรัฐมนตรีที่ยังไม่เคยผ่านเวทีอภิปรายหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า วันนี้นายกฯผ่านมาเยอะแล้ว โดนมาเยอะแล้ว สบายๆ และเป็นหน้าที่ของคนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องคอยตอบคำถาม ส่วนฝ่ายค้านมีหน้าที่ตั้งคำถาม เรามีหน้าที่ตอบ ไม่มีอะไร เพราะเป็นกติกาประชาธิปไตย

เมื่อถามย้ำว่า ในฐานะคุณพ่อไม่มีความกังวลแทนนายกฯใช่หรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า ไม่กังวล มั่นใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการนำเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจมาอภิปราย และอาจนำไปสู่การเมืองนอกสภา นายทักษิณกล่าวว่า ไม่มีอะไรให้กังวล

เมื่อถามกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ยื่นเอกสารลับชั้น 14 ให้กับผู้นำฝ่ายค้าน นายทักษิณกล่าวว่า “ผมเป็นตำรวจเก่า รู้จักแต่ พล.ต.อ.ที่เป็นเป็นผู้ชาย พล.ต.อ.ผู้หญิงผมไม่รู้จัก” ผู้สื่อข่าวจึงถามขึ้นว่า พล.ต.อ.หญิงหมายความว่าอย่างไร นายทักษิณกล่าวว่า พล.ต.อ.หญิงไม่มี เลยไม่จัก รู้จักแต่ พล.ต.อ.ชาย”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ที่ระบุว่า พล.ต.อ.หญิงหมายถึงใคร นายทักษิณกล่าวย้ำว่า ไม่รู้ ในประเทศไทยมีแต่ พล.ต.อ.ชาย เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่ารู้จักแต่ พล.ต.อ.ชาย ไม่รู้จัก พล.ต.อ.หญิง เป็นการเปรียบเปรยใช่หรือไม่ นายทักษิณหัวเราะ และกล่าวว่า พล.ต.อ.หญิงยังไม่มี และประเทศไทยยังไม่เคยมี ใครอยากเป็นคนแรกก็เป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายถึงคนที่ยื่นเอกสารให้กับผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า “ไม่รู้นะ ผมเป็นลูกผู้ชาย” เมื่อถามถึงความสัมพันธ์กับผู้ที่ยื่นเอกสารให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้เคยร่วมรัฐบาล นายทักษิณกล่าวว่า เคยมีสัมพันธ์ที่ดี ขอตอบแค่นี้ เมื่อถามย้ำว่า ความสัมพันธ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร นายทักษิณกล่าวคำเดิมว่า เคยมี เคยมีแปลว่าอะไร เมื่อถามว่า แปลว่าจากนี้จะไม่ดีกันแล้ว นายทักษิณกล่าวว่า เอาเป็นว่าเคยมี

เมื่อถามย้ำว่า ฝ่ายค้านย้ำข้อมูลการอภิปราย ทั้งเรื่องฝุ่น กาสิโน การตัดไฟเมียนมา จะทำให้รัฐบาลสะเทือนได้ นายทักษิณกล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่ตอบ เรื่องฝุ่นมีมานาน ไม่ใช่จะหายชั่วข้ามคืน เรามีมาตรการออกมาเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้อย่างอารมณ์ดี โดยพูดไปยิ้มไป

‘หมอวรงค์’ เปิด 9 ปม!! เคลือบแคลง ‘นักโทษชั้น 14’ น่าสงสัย ‘การส่งตัว - ห้องพัก - วิธีรักษา’ ชี้!! แค่ข้ออ้าง

(3 พ.ค. 68)  นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 'ข้อสงสัยนักโทษชั้น14' ระบุว่า ช่วงนี้จะเห็นข่าว พวกนักวิชาการ นักกฎหมายที่ปกป้องนักโทษชั้น14 พยายามออกมาสื่อสารกับประชาชนว่า การที่นักโทษไปป่วยอยู่ชั้น 14 นานถึง 6 เดือนนั้น ถือว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งถือว่าถูกคุมขังแล้ว

แต่ประเด็นที่ประชาชนสงสัย ประชาชนเขาสงสัยว่า ถ้าป่วยทำไมไม่รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพ ไม่แพ้รพ.จังหวัดทั่วประเทศ ขีดความสามารถ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมี CT scan ที่ทันสมัยมาก

ถ้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่สามารถรักษาตัวนักโทษรายนี้ได้ แสดงว่าน่าจะป่วยวิกฤติ จึงต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ สิ่งที่ประชาชนสงสัย มีการช่วยเหลือเพื่อให้นักโทษ ไปนอนเล่นสบายๆ ที่ชั้น14 รพ.ตำรวจหรือไม่ โดยใช้ข้ออ้างเจ็บป่วยหนัก เพราะ

1.ทำไมแพทย์เวรคืนนั้น ที่เป็นอายุรแพทย์ ถือว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรค ความดัน หัวใจขาดเลือด ไม่ไปดูแล แต่ปล่อยให้พยาบาลเวรโทรไปปรึกษา และปล่อยให้พยาบาลเวรเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้ส่งนักโทษต่อร.พ.ตำรวจ จึงเกิดข้อสงสัยว่าวางแผนกันไว้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาเกี่ยวข้องมาก

2.จริงหรือที่โรคเหล่านี้ที่อ้าง ทั้งหัวใจขาดเลือด ความดันสูง ปอดเรื้อรัง สันหลังเสื่อม ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง และมีประวัติการรักษามาแล้วจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะรักษาไม่ได้ และต้องส่งต่อโรงพยาบาลตำรวจ เพราะเกรงอันตรายต่อชีวิต

3.การส่งต่อแบบฉุกเฉินว่า เกรงอันตรายต่อชีวิต ด้วยหลักทางการแพทย์นั้น ต้องใช้รถ ambulance ส่งต่อไปรพ.ตำรวจ แต่ตามข่าวทำไมใช้รถของราชทัณฑ์

4.ด้วยหลักทางการแพทย์ การส่งต่อแบบฉุกเฉินเวลาดึก และเกรงว่าเกิดอันตรายต่อชีวิต ทำไมไม่ส่งนักโทษผ่าน ER ก่อน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติจริง

5.ด้วยหลักทางการแพทย์ การป่วยที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะโรคหัวใจ หลังจากส่งมาถึงรพ.ตำรวจ ทำไมไม่ให้รักษาตัวที่ICU หรือ CCU แต่ให้ไปนอนที่ชั้น14 ซึ่งประชาชนรับรู้ว่านี่คือห้อง VVIP ซึ่งไม่ใช่สถานที่รักษาผู้ป่วยวิกฤติ

6.จากรายชื่อแพทย์ที่อ้างว่า เป็นแพทย์เจ้าของไข้ แพทย์ที่ทำการรักษา ที่ทางป.ป.ช.เรียกสอบ ล้วนเป็นทีมแพทย์ทางด้านศัลยกรรมเช่น ศัลยกรรมประสาท ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ทำไมไม่ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเป็นผู้ดูแลหลัก

7.ด้วยหลักทางการแพทย์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการวิกฤติ การผ่าตัดเอ็น ด้วยการใช้กล้องที่หัวไหล่ จะไม่ทำกันในผู้ป่วยวิกฤติ รวมทั้งการทำMRI

ที่ต้องถามต่อ หลังผ่าตัดทำไมจึงนำนักโทษไปพักที่ห้อง หลังผ่าตัดศัลยกรรมประสาท ไม่ไปพักที่ห้องหลังผ่าตัด ศัลยกรรมกระดูก เอ็นและข้อ (orthopedics) หรือเกรงว่าคนอื่นจะเห็นว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติ

8.โรคอะไรที่ต้องรักษานานถึง180 วัน อาการไม่ดีขึ้น ไม่สามารถย้ายตัวกลับมา รักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ แต่ครบ 180 ได้พักโทษอาการหายทันที หลักทางการแพทย์มีด้วยหรือ โรคประหลาดแบบนี้

9.นี่ยังไม่นับรวมข้อสงสัย ที่ป่วยวิกฤตินอนติดเตียง 180 วัน ทำไมแขนขาไม่ลีบลง เพราะผู้สูงอายุ เกิน70 ปี นอนติดเตียง1ถึง 2สัปดาห์ ล้วนสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ แขนขาจะลีบลง

จึงเกิดข้อสงสัยว่า แอบไปเดินเล่นที่อื่นหรือไม่ แขนขาจึงไม่ลีบ และที่แปลกใจมาก อาการป่วยวิกฤติ อันตรายต่อชีวิต ไม่มีข่าวว่า ครอบครัวไปนอนเฝ้าเลย

ความจริงยังมีอีกหลายประเด็นมาก ที่ควรไต่สวน เพื่อเอาความจริงออกมาให้ประชาชนทราบ ยกเว้นถ้าได้คำตอบว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติ แต่มีการช่วยเหลือ เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่เรือนจำ ถ้าผลออกมาแบบนี้ ก็อธิบายข้อสงสัยได้หมด ซึ่งเท่ากับว่ายังไม่ได้ติดคุก ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล นี่ยังไม่นับรวมการขอศาลตามป.วิอาญามาตรา 246

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการโรงพยาบาลตำรวจ ตรวจร่างกาย 'ด.ต.นิสาธิตฯ' อย่างละเอียด หลังพบมีอาการผิดปกติ ตามองไม่ชัด ยืนยันดูแลตำรวจทุกนายเต็มที่

เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.68) พล.ต.ต.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า พยาบาล (สบ 6) โรงพยาบาลตำรวจ/โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยายาลตำรวจ ตรวจเช็คร่างกายของ 'ด.ต.นิสาธิต คงเทพ' ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 อย่างละเอียด ณ โรงพยาบาลตำรวจ ภายหลังถูกทำร้ายร่างกายขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณหน่วยเลือกตั้งที่ 7 หมู่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยมีอาการตามองไม่ชัด ปวดบริเวณโหนกแก้มข้างขวา

จากการตรวจโดยทีมแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ พบว่าผู้ป่วยมีอาการฟกช้ำบริเวณหน้าผากขวา รอบดวงตาขวา สะบักหลังขวา ใบหน้าฝั่งขวาดูบวมและไม่สมมาตรกับฝั่งซ้าย กระดูกใต้ตาขวามีลักษณะยุบลง ส่งผลให้การมองเห็นลดลงตั้งแต่วันเกิดเหตุ แพทย์ได้ทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งสมองและกระดูกใบหน้า ผลไม่พบเลือดออกในสมองหรือกระดูกหัก

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจโดยจักษุแพทย์ พบว่ามีเลือดออกในนัยน์ตาดำ จึงให้ยา และแนะนำให้งดกิจกรรมที่อาจทำให้ดวงตาสั่นสะเทือน เช่น การออกแรงหรือกระแทก เนื่องจากเสี่ยงต่อการเลือดออกมากขึ้นหรือจอประสาทตาหลุดลอก นอกจากนี้ แพทย์ยังประเมินว่าผู้ป่วยอาจเผชิญภาวะเครียดหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) จึงขอให้เฝ้าระวังอาการ เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือความเครียด หากมีอาการดังกล่าว สามารถขอรับคำปรึกษาผ่านเพจ “Because Depress We Care” หรือสายด่วน 081-932-0000 ตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอยืนยันว่า จะดูแลข้าราชการตำรวจทุกนายอย่างดีที่สุด ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสิทธิที่พึงมี เพื่อให้ตำรวจทุกนายปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยที่สุด

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร และโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ขออนุญาตเผยแพร่ภาพและข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีภาพบุคคลในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบการดูแลอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ศูนย์กลางข่าวสาร ประสานฉับไว ใส่ใจบริการ เพื่อตำรวจและประชาชน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top