Tuesday, 29 April 2025
โนโรไวรัส

คนนับพันใน ‘เกาหลีใต้’ ล้มป่วย ‘อาหารเป็นพิษ’ เหตุ!! กิน ‘กิมจิ’ ที่ปนเปื้อน ‘โนโรไวรัส’

(7 ก.ค.67) พวกเจ้าหน้าที่ในเมืองนัมวอน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลีใต้ แถลงในตอนเช้าวันศุกร์ (5 ก.ค.) ยืนยันเคสผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 996 เคส แต่สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าจำนวนดังกล่าวได้พุ่งเป็น 1,024 คน จนถึงช่วงบ่ายวันเสาร์ (6 ก.ค.)

เจ้าหน้าที่ระบุว่า กิมจิกะหล่ำปลียอดนิยม เกี่ยวข้องกับอาการป่วยของผู้คนเหล่านี้ ผ่านโครงการอาหารกลางวันตามโรงเรียนต่างๆ ภายในเมือง พร้อมบอกต่อว่านักเรียนและเจ้าหน้าที่จากโรงเรียน 24 แห่ง เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ป่วย ที่มีอาการอาเจียน ท้องเสียและปวดท้อง

โนโรไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายมาก และสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อน และจากคนที่ติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว คนส่วนใหญ่สามารถหายป่วยได้เองภายในไม่กี่วัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่มีบางส่วนที่อาการหนัก

บรรดาเจ้าหน้าที่ในเมืองนัมวอน เปิดเผยว่าพวกเขาได้เริ่มการสืบสวนทางด้านโรคระบาดวิทยาแล้วตั้งแต่วันพุธ (3 ก.ค.) เพื่อตรวจสอบหาแหล่งที่มาของโรค หลังได้รับรายงานเคสผู้ป่วยรายแรกหนึ่งวันก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่นั้นจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 153 คนในวันพุธ (3 ก.ค.) เป็น 745 คน ในวันพฤหัสบดี (4 ก.ค.)

ชอย คยุง ซิค นายกเทศมนตรีของเมือง โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ในวันพฤหัสบดี (4 ก.ค.) ระบุว่าพวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ใช้มาตรการตอบสนองเกินขอบเขตล่วงหน้าไว้ก่อน ในความพยายามป้องกันไม่ให้จำนวนผู้ป่วยลุกลามไปมากกว่านี้ ‘เราจะรับประกันความปลอดภัยของพลเรือน’ เขากล่าว

ทั้งนี้ พวกเจ้าหน้าที่ของเมืองบอกว่าตรวจพบโนโรไวรัสในบรรดาคนไข้ ในตัวอย่างที่เก็บจากสิ่งแวดล้อมและในกิมจิบางส่วนที่ส่งมอบไปยังโรงเรียนต่างๆ

ผลจากการตรวจสอบ กระตุ้นให้หน่วยด้านความปลอดภัยด้านอาหาร สั่งระงับการผลิตและการขายผลิตภัณฑ์ใดๆ จากบริษัทที่ผลิตกิมจิดังกล่าว ในขณะที่บริษัทแห่งนี้ก็อยู่ในกระบวนการสมัครใจเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่แจกจ่ายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยชื่อบริษัทผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ

‘กรมอนามัย’ เผยมาตรการเฝ้าระวัง ‘โนโรไวรัส’ หลังพบการติดเชื้อใน จ.ระยอง กว่า 1,400 ราย

กรมอนามัย เผยมาตรการเฝ้าระวัง โนโรไวรัส หลังระบาดในสัปดาห์กีฬาสี รร. อ.แกลง จ.ระยอง นักเรียน ครู บุคลากร ติดเชื้อ 1,436 ราย ชี้ต้องตรวจประเมินคุณภาพน้ำดื่ม น้ำใช้ แนะล้างมือด้วยน้ำสะอาด สบู่ ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค.67) นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีเกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วงของนักเรียน ครู และบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย อันเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ 'น้ำและน้ำแข็ง' ที่บริโภคในช่วงสัปดาห์ของการจัดกิจกรรมกีฬาสี โดยโนโรไวรัส (Norovirus) มักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว

โนไวรัสเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การสัมผัส และการหายใจ เช่น การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล โดยโนโรไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมงหลังการรับเชื้อ อาการที่พบส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ บางรายอาจทำให้มีอาการขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่

ประชาชนควรมีมาตรการในการป้องกันตนเองจากโรโนไวรัสตามคำแนะนำ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
- ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- หลีกเลี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด

ส่วนหน่วยงานและสถานประกอบกิจการควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน ดังนี้
- การเติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้
- การตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง
- จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ
- การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดีสำหรับการป้องกันโรค

‘หมอยง’ เผยโนโรไวรัส ระบาดทุกปีในฤดูหนาว ชี้! ข่าวระบาดใหญ่เป็นเรื่องเก่าไม่ควรตื่นตระหนก

(19 ธ.ค. 67) ศ.นพ.ยง เผยผลศึกษาระบาดวิทยา โนโรไวรัส 10 ปี พบมากปี 2017 ระบาดพร้อม ไวรัสโรต้า ย้ำ! ไม่ใช่โรคใหม่ เผยปมข่าวระบาดใหญ่เรื่องเก่า ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป

วันที่ 19 ธ.ค. 2567 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึง โนโรไวรัส ระบาดวิทยาในประเทศไทย ว่า ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาระบาดวิทยา ของโนโรไวรัสมาเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี โดยมีการจำแนกสายพันธุ์อย่างละเอียด พบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดมีความหลากหลายมาก

โรคนี้จะพบมากในฤดูหนาว จะเห็นว่าในช่วงโควิด 19  ที่มีการล็อกดาวน์ มีการปิดโรงเรียน เป็นช่วงที่ไม่พบการระบาดของโนโรไวรัส เรามีการเข้มงวดในการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เรามีการสอนการล้างมือ 5 ขั้นตอน แต่เมื่อหลังโควิด 19  จะเห็นได้ชัดว่ามีการระบาดของโนโรไวรัสเกิดขึ้น เหมือนก่อนยุคของโควิด 19 ระบาด ดังแสดงในรูปแสดงให้เห็นการศึกษาระยะยาวกว่า 10 ปี ดังแสดงในรูป

การระบาดใหญ่ของโนโรไวรัสในเด็กนักเรียน และผู้ใหญ่พบมากในปี 2017 ในปีนั้นมีการระบาดพร้อมกับไวรัสโรต้า แต่การระบาดในปีนี้พบโรตาไวรัสน้อยมาก เพราะเรามีวัคซีนให้กับเด็กเล็ก จึงทำให้พบโรคลดน้อยลงอย่างมาก แต่โนโรไวรัสไม่ได้ลดลง

สิ่งสำคัญขณะนี้ จะอยู่ที่เด็กหรือบุคคลที่อยู่รวมกันหมู่มาก เช่น ในโรงเรียน โรงงาน จะต้องมีมาตรการในการควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด เพราะจะทำให้เด็กเสียเวลาเรียน และโรงงานก็จะเสียผลผลิตได้

มีการเผยแพร่ในออนไลน์ ในสื่อสังคมกันมาก ว่ามีการระบาดหนักในโรงเรียน น่าจะเป็นข่าวเก่า ที่มีการระบาดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน การให้ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ น่าจะมีการลงวันที่ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะมีการ วนมาส่งใหม่ทำให้เข้าใจผิด คิดว่ากำลังระบาด โดยเฉพาะเอามาผสมกับการระบาดที่ประเทศจีน แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกฤดูหนาว โรคนี้จะพบได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับโรต้าไวรัส เป็นการพบเพิ่มขึ้นในทุกปี ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป

‘เป็ด เชิญยิ้ม’ เข้ารพ.!! หลังพบติดเชื้อ ‘โนโรไวรัส’ เจ้าตัวยังอารมณ์ดี ชี้!! รีบเป็นเพราะ ‘กลัวตกเทรนด์’

เมื่อวานนี้ (21 ธ.ค. 67) ดร.ธัญญา โพธิ์วิจิตร หรือ ‘เป็ด เชิญยิ้ม’ นักแสดงตลกอาวุโส ได้โพสต์ภาพในชุดผู้ป่วย ระบุว่า … 

ทันสมัยมากครับ กลัวตกเทรนด์รีบเป็นกันซะครับ ราคาไม่แพง โรคระบาดเพิ่งมา เป็ดแม่งงงงเป็นซะก่อน อาการ ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ปวดเมื่อยตัวคลื่นไส้อาเจียน แข็งใจว่าจะไม่มา สุดท้ายต้องนอนให้น้ำเกลือ ณ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

เหล่าแฟนๆ และชาวโซเชียล ได้เข้าไปส่งกำลังใจ ขอให้หายป่วยกันอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top