Monday, 21 April 2025
โซเชียลมีเดีย

ข้อมูลอีกด้านเพื่อคนที่มีความคิดหวังจะยึดโซเชียลมีเดียเป็นที่ทำมาหากิน ร้อยละ 97.5% ที่มีรายได้จากการเป็นยูทูบเบอร์ 'ไม่พ้นความยากจน'

(28 ส.ค.67) ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก 'Stapnavatr Vajira' ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจในทางเศรษฐกิจของคนที่มีความคิดหวังจะเอาโซเชียลมีเดียเป็นที่ทำมาหากิน ไว้ดังนี้...

(1) ประเทศไทยมี Ranking อยู่ในอันดับ 10 ของโลก ที่มีการสร้างช่องยูทูบและมีผู้ติดตามเกิน 10 ล้าน หรือถ้าพูดในอีกด้านหนึ่งคือ เมืองไทยได้มีคนที่อยากจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งในแง่การผลิตหรือบริโภค น่าจะเยอะมากแล้ว หรือ อาจเข้าโซน Red Ocean ได้แล้ว

(2) 58% ของคนสร้างคอนเทนต์ในโลก ทำงานนี้อย่างเดียว

(3) 59% ของการทำคอนเทนต์ในช่วงปีแรก จะมีรายได้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์!!!

(4) มีเพียงร้อยละ 12 ของผู้สร้างคอนเทนต์ที่ทำงานเต็มเวลา จะมีรายได้เกิน 50,000 ดอลลาร์ต่อปี และมีร้อยละ 46 ที่มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อปี

(5) ร้อยละ 97.5% มีรายได้จากการเป็นยูทูบเบอร์ ไม่พ้นความยากจน

เอาไว้บอกลูกหลานที่ไม่อยากทำงาน นึกว่างานแบบนี้ดี

อดอยากครับ เป็นทั้งโลก

ทำสวนดีกว่ามั้งครับ

'เทลสกอร์' ชี้!! ยอดรวมอินฟลูฯ-คอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย แตะ 9 ล้านคน ในจังหวะตลอดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยขยายตัว 25-30% แตะ 4.5 หมื่นล้านบาท

(4 ก.ย.67) นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด เปิดเผยว่า เทลสกอร์ ได้ประเมินภาพรวมตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในประเทศไทยในปีนี้มีมูลค่าประมาณ 4.50 หมื่นล้านบาท มีการเติบโต 25-30% เนื่องจากกลุ่มลูกค้าภาคเอกชนได้มุ่งทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์อยู่ในระดับสูง

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้หลายฝ่ายประเมินว่าอาจไม่สดใสมากนัก แต่ภาคเอกชนไทยยังรุกทำการตลาด เนื่องจากการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ยังมีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งภาพรวมตลาดมีการขยายตัวในระดับดังกล่าวต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว” 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังทุ่มงบการตลาดระดับสูง จะเป็นกลุ่มเพื่อสุขภาพและความงาม กลุ่มไลฟ์สไตล์ และกลุ่มการเงิน ส่วนกลุ่มที่ชะลอการใช้งบจะเป็น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ตามภาพรวมตลาดที่หดตัวลง 

ทั้งนี้แนวโน้มการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ที่มีการขยายตัวสูง โดยในประเทศไทยมีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ประมาณ 9 ล้านคน ส่วนในทั่วโลก จากสถิติของ Linktree ระบุว่ามีจำนวนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 3% จากประชากรโลก อีกทั้ง ภาพรวมตลาด คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในไทย มีมูลค่าประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท

สำหรับตลาดไทยกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานมีจำนวนสูงขึ้น มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้เวลาบนโลกออนไลน์ของคนไทย ที่อยู่ในระดับสูงอันดับต้นในโลก อีกทั้ง จากการประเมินของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ระบุว่า ประชากรไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัท เทลสกอร์ ที่ดำเนินธุรกิจในด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์ม ได้ร่วมมือกับ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด จัดงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore งานประกาศรางวัลสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์ และสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์แคมเปญที่ใหญ่สุดแห่งปี โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 59 สาขา

สำหรับงานจัดอยู่ในแนวคิด The Future is Yours! เพื่อร่วมแสดงถึงศักยภาพอินฟลูเอนเซอร์และนักการตลาดที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและสร้างสรรค์อนาคตของเศรษฐกิจไทย พร้อมเน้นหาอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพ การร่วมสร้างมาตรฐานและคอมมูนิตี้อินฟลูเอนเซอร์ของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง

ขณะที่กำหนดการจัดงาน มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ

'จีน' เล็งจัดการชาวเน็ตปล่อย 'ข่าวลือ' บนโลกออนไลน์ แพลตฟอร์มไหนไม่รับลูก ปล่อยละเมิดเด่นชัด ได้เจอดี

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนเปิดเผยว่าทางกระทรวงฯ ได้เรียกร้องให้กลุ่มแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของจีนร่วมกันสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่สะอาด โดยมีเป้าหมายจัดการกับผู้ที่ชอบปล่อยข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง

แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตได้ออกมาประกาศห้ามการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางออนไลน์ ใช้ตัวตนปลอม หรือแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ๆ พร้อมให้คำมั่นว่าจะกำหนดบทลงโทษต่อบัญชีผู้ใช้ที่ละเมิดกฎดังกล่าวอย่างเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งจะกำหนดบทลงโทษผู้ที่โจมตีหรือดูถูกเหยียดหยามนักกีฬาและโค้ชผู้ฝึกซ้อมด้วยเจตนามุ่งร้ายอย่างเข้มงวดเช่นกัน

กระทรวงฯ ระบุว่าจะเดินหน้าปรับปรุงการกำกับดูแลความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต และจะลงโทษแพลตฟอร์มที่พบว่ามีปัญหาการละเมิดกฎอย่างเห็นได้ชัด

'ชาวมาเลเซีย' เกินครึ่ง เห็นด้วย!! จำกัดเด็กต่ำกว่า 14 เล่นโซเชียลมีเดีย แนะ!! 'ครู-ผู้ปกครอง' สำคัญ ช่วยสร้างภูมิเท่าทันภัยโลกออนไลน์

(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยผลสำรวจจาก ‘อิปซอสส์’ (Ipsos) บริษัทวิจัยการตลาดและสำรวจความคิดเห็นระดับโลก พบว่า มีชาวมาเลเซียถึง 71% เห็นด้วยกับการจำกัดการเข้าถึงโซเชียลมีเดียในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี

โดยผลโพลการติดตามการศึกษาของอิปซอสส์ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในมาเลเซีย ไทย, อินโดนีเซีย, และสิงคโปร์ ระบุว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่มีผู้คนคิดเห็นตรงกันในเรื่องนี้มากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจาก ‘อินโดนีเซีย’

"ชาวมาเลเซียระมัดระวังการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของเด็กๆ มากที่สุด ขณะที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้สมาร์ตโฟนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโรงเรียนนั้นแตกต่างกันออกไป" ผลสำรวจระบุ

ต่อมา ผลสำรวจยังพบว่าชาวมาเลเซีย 51% มองว่าควรห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีใช้สมาร์ทโฟนทั้งในระหว่างคาบเรียนและหลังเลิกเรียน ส่วนอีก 29% เห็นด้วยว่าควรห้ามใช้โมเดลภาษาเอไออย่างแชทจีพีที (ChatGPT)

ขณะเดียวกัน ชาวมาเลเซีย 56% เชื่อว่าครูและโรงเรียนควรมีหน้าที่ในการสอนความรู้ด้านดิจิทัลและความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ด้าน 39% มองว่าหน้าที่นี้ควรเป็นของผู้ปกครอง

‘ออสเตรเลีย’ จ่อออกกฎหมายจำกัดเด็กอายุ 14-16 ใช้งานโซเชียลฯ กระตุ้น!! 'ห่างไกลจากมือถือ-ให้ออกไปเล่นในสนามมากขึ้น'

เมื่อวานนี้ (11 ก.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายกรัฐมนตรี ‘แอนโทนี อัลบาเนซี’ ของออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณากำหนดอายุขั้นต่ำของเยาวชนที่สามารถใช้โซเชียลมีเดียระหว่าง 14-16 ปี และจะเตรียมทดลองใช้ระบบตรวจสอบอายุในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้เกณฑ์ใหม่นี้

ผู้ปกครองหลายคนวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กในการใช้โซเชียลมีเดีย และต้องการให้เด็กๆ ห่างไกลจากโทรศัพท์มือถือ และออกไปเล่นในสนาม ที่ผ่านมาจีน ฝรั่งเศส และอีกหลายรัฐในสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายที่มุ่งจำกัดอายุของเยาวชนที่สามารถใช้โซเชียลมีเดีย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับอันตรายต่างๆ ตั้งแต่ เรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ จนถึงเรื่องมาตรฐานความงามที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง

มาตรการนี้ได้รับเสียงวิจารณ์โต้แย้งว่าเป็นการลิดรอนสิทธิการแสดงออกของเยาวชนและสร้างความเสี่ยงเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว รวมถึงอาจเป็นการกีดกันเยาวชนจากการมีส่วนร่วมที่ดีและมีความหมายในโลกดิจิทัล และผลักให้พวกเขาหันไปสู่พื้นที่ออนไลน์ที่มีคุณภาพต่ำ

'อินสตาแกรม' ออกฟีเจอร์ 'บัญชีวัยรุ่น' พร้อมระบบควบคุมโดยผู้ปกครอง อีกหนทางแก้ปัญหาเสพติดโซเชียล-กลั่นแกล้ง-บูลลี่ภาพลักษณ์ร่างกาย

(19 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินสตาแกรมจะเปลี่ยนบัญชีผู้ใช้ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้เป็น ‘บัญชีวัยรุ่น’ (Teen Accounts) โดยอัตโนมัติ และจะถูกตั้งค่าเริ่มต้นเป็นบัญชีส่วนตัวโดยปริยาย

ผู้ใช้บัญชีวัยรุ่นจะสามารถรับข้อความและแท็กได้เฉพาะจากบัญชีที่พวกเขาติดตามหรือเป็นเพื่อนอยู่แล้วเท่านั้น ขณะที่การตั้งค่าเนื้อหาละเอียดอ่อนจะถูกปรับให้เป็นระดับสูงสุด

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อนจึงจะสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าเริ่มต้นได้ ผู้ปกครองจะมีเครื่องมือพิเศษที่จะช่วยให้เห็นว่าบุตรหลานของตนกำลังพูดคุยกับใครอยู่ และสามารถจำกัดการใช้แอปได้ด้วย

นอกจากนี้ การอัปเดตยังมีฟีเจอร์ที่จะเตือนผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ปิดแอปหลังจากใช้งานไปแล้ว 60 นาทีในแต่ละวัน และบัญชีวัยรุ่นจะมีโหมดพักผ่อน (sleep mode) ที่เปิดใช้งานเป็นค่าเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ ในตอนกลางคืน

เมตาระบุว่าจะเปลี่ยนบัญชีผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทั้งหมดให้เป็นบัญชีวัยรุ่นภายใน 60 วันในสหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา และออสเตรเลีย ส่วนผู้ใช้งานในยุโรปจะได้รับการเปลี่ยนแปลงภายในปีนี้ และผู้ใช้งานทั่วโลกที่เหลือจะเริ่มได้รับการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือนม.ค. 2568 เป็นต้นไป

ความเคลื่อนไหวของเมตามีขึ้นหลังจากที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมตาได้ยุติการพัฒนาอินสตาแกรมเวอร์ชันพิเศษสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ หลังจากที่นักการเมืองและกลุ่มสนับสนุนต่าง ๆ ได้เรียกร้องให้เมตายกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก ๆ

เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายใหม่ 2 ฉบับเกี่ยวกับความปลอดภัยทางออนไลน์ที่มีชื่อว่า ‘รัฐบัญญัติความปลอดภัยทางออนไลน์สำหรับเด็ก’ (Kids Online Safety Act) และ ‘รัฐบัญญัติคุ้มครองความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์สำหรับเด็กและวัยรุ่น’ (Children and Teens’ Online Privacy Protection Act) ซึ่งจะทำให้บริษัทโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่แพลตฟอร์มของตนมีต่อเยาวชน

อนึ่ง ผลการศึกษาหลายฉบับบ่งชี้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียมากอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความบกพร่องในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้อายุน้อย

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก (Facebook), อินสตาแกรม และติ๊กต็อก (TikTok) อนุญาตให้ผู้ใช้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปสร้างบัญชีได้

'อีลอน มัสก์' วิจารณ์นายกฯ ออสซี่ เล็งออกกม.ห้ามเด็กต่ำกว่า 16 ใช้โซเชียลมีเดีย

(22 พ.ย.67) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของแพลตฟอร์ม X หรือ ทวิตเตอร์เดิม วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลออสเตรเลียที่เสนอร่างกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้สื่อสังคมออนไลน์ หลังจากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา

มักส์ เขียนข้อความด้วยการรีทวีตข้อความของนายแอนโทนี อัลบานีซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โดยระบุว่า “ดูเหมือนจะเป็นการใช้ช่องทางควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวออสเตรเลียทุกๆ คน” ตอบกลับข้อความของนายกออสเตรเลียที่โพสต์ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันร่างกฎหมายนี้

สำหรับร่างกฎหมายห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้โซเชียลมีเดีย หากผ่านการเห็นชอบจากสภา ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เข้มงวดที่สุดประเทศหนึ่งเพื่อปกป้องเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูงจากผลร้ายของสื่อออนไลน์ นอกจากนั้นร่างกฎหมายนี้ยังกำหนดโทษสำหรับสื่อสังคมออนไลน์ที่พยายามละเมิดกฎหมายโดยให้ปรับเงินสูงสุดถึง 49 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ ประมาณ 1,100 ล้านบาทด้วย ซึ่งภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ของออสเตรเลียมีความเห็นไปในทางสนับสนุนเพื่อปกป้องเยาวชน

ในประเทศอื่น ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา เคยพยายามกำหนดข้อจำกัดในการใช้โซเชียลมีเดียสำหรับเด็ก โดยมีกฎหมายกำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี แต่ข้อเสนอของออสเตรเลียมีความเข้มงวดมากกว่า โดยกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 16 ปี ไม่อนุญาตให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่าจะได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก็ตาม

ศัพท์แห่งปี 2024 จากม.ออกซฟอร์ด หมายถึง 'คนเสพสื่อออนไลน์จนปัญญาเสื่อมถอย'

(2 ธ.ค. 67) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ประกาศคำศัพท์แห่งปีที่ได้รับการโหวตจากสาธารณชน โดยคำที่ได้รับการเลือกในปีนี้คือ "brain rot" หรือ "สมองเน่า เป็นคำสแลงที่พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดนิยามว่า "การเสื่อมสภาพของสภาวะทางจิตใจหรือทางสติปัญญาของบุคคล ซึ่งมักจะเกิดจากการบริโภคเนื้อหาที่ไม่มีคุณค่า ไม่ท้าทาย โดยเฉพาะจากเนื้อหาบนโลกออนไลน์" 

สมองเน่า หรือ สมองบื้อ เป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่คนวัยรุ่นบนโลกออนไลน์อย่าง Gen Z และ Gen Alpha นิยมใช้กันอยู่บ่อยครั้ง

ข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์บัญญัติศัพท์ออกซ์ฟอร์ดระบุว่า พบการใช้คำนี้ครั้งแรกในปี 1854 จากหนังสือ Walden; or, Life in the Woods เขียนโดยเฮนรี เดวิด โธโร โดยพบว่าในช่วงปี 2023-2024 ความถี่ในการใช้คำนี้เพิ่มขึ้นถึง 230% ซึ่งมักใช้เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ผู้คนเสพสื่อเนื้อหาคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

โดยในปี 2024 นี้ คำว่า “Brain rot” เป็นอีกหนึ่งคำศัพท์ที่ได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายน่าสนใจและมีผู้คนใช้เยอะมากที่สุดคำหนึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการโหวตให้ชัยชนะเหนือคำว่า “lore,” “demure,” “romantasy” และ “slop” ที่เป็นคำศัพท์ที่ถูกเสนอเข้าชิงในปีนี้

คำว่า brain rot ได้รับการโหวตจากผู้คนมากที่สุดในบรรดา37,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นคำศัพท์ที่สะท้อนชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันได้ชัดเจนที่สุด โดยในปีที่แล้วพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดได้บัญญัติให้คำว่า "Rizz" ที่หมายถึงเสน่ห์ สไตล์ และความน่าหลงใหล ซึ่งนิยมใช้กันในหมู่ Gen Z และผู้ใช้ TikTok เป็นคำศัพท์แห่งปี 2023

หลายรัฐในสหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิดห้ามใช้มือถือในโรงเรียน ชี้ช่วยปกป้องสุขภาพจิตและเพิ่มสมาธิในนักเรียน

(17 ม.ค.68) แนวคิดการห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในช่วงเวลาเรียนได้รับการสนับสนุนอย่างรวดเร็วในหลายรัฐของสหรัฐฯ ทั้งจากพรรคการเมืองหลักทั้งสองฝ่าย โดยมีอย่างน้อย 8 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา อินเดียนา ลุยเซียนา มินนิโซตา โอไฮโอ เซาท์แคโรไลนา และเวอร์จิเนีย ที่ได้ออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังมีหลายรัฐที่กำลังพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวในปีนี้

สำนักข่าวเอพี (AP) รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ว่า "การผลักดันห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนได้รับแรงผลักดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก ๆ และการร้องเรียนจากครูที่พบว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งรบกวนสมาธิในชั้นเรียน"

วิเวก มูรตี นายแพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสกำหนดให้มีการติดป้ายเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียต่อชีวิตเยาวชน กล่าวว่า โรงเรียนควรกำหนดช่วงเวลาที่ปราศจากโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถมีสมาธิในการเรียนรู้ได้เต็มที่

ข้อมูลจากศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติระบุว่า 77% ของโรงเรียนในสหรัฐฯ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนหากไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แต่ข้อมูลนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากไม่ได้หมายความว่านักเรียนทุกคนปฏิบัติตามข้อห้ามเหล่านี้ หรือว่าโรงเรียนทุกแห่งจะบังคับใช้ข้อห้ามอย่างเคร่งครัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top