Tuesday, 22 April 2025
แร่แรร์เอิร์ธ

กุญแจสู่พลังอำนาจและความมั่งคั่งในอนาคต ประเทศไหนครองแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุด คือผู้กุมชะตาโลก

(14 ม.ค. 68) ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.กฤษฎา พรหมเวค คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกิจพลังงานสะอาดกำลังขับเคลื่อนโลก แร่ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Rare Earth “แรร์เอิร์ธ” ได้กลายเป็นทรัพยากรล้ำค่า ประเทศใดที่ได้ครอบครองแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุด ย่อมหมายถึงการเข้าใกล้กุญแจสำคัญสู่อำนาจ และความมั่งคั่งของโลกอนาคต

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับแร่แรร์เอิร์ธ ก่อน แร่แรร์เอิร์ธ หรือชื่อเต็มคือ (Rare-Earth Element – REE) ภาษารัสเซียเรียกว่า Редкоземельные металлы (РЗМ) เป็นสินแร่ชนิดโลหะธาตุ เรียกว่า กลุ่มธาตุแลนทาไนด์ (Lanthanide) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายโลหะแต่ไม่ได้เอามาผลิตเป็นโลหะโดยตรง ที่เรียกว่าเป็นแร่หายากไม่ได้เป็นเพราะว่าแร่เหล่านี้มีน้อยแต่เป็นเพราะสินแร่เหล่านี้ที่พบในบริเวณเปลือกโลกมักจะไม่รวมกลุ่มอยู่ในที่เดียวกัน การสกัดแร่ชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายทำให้ยากต่อการสร้างเหมืองเพื่อขุดเจาะทำเหมืองแร่ชนิดนี้ แร่แรร์เอิร์ธเหล่านี้มีจำนวน 17 ชนิดได้แก่ แลนทานัม ซีเรียม ปราซีโอดีเมียม ยูโรเพียม แกโดลิเนียม เทอร์เบียม ดิสโพรเซียม โฮลเมียม เออร์เบียม ทูเลียม อิตเทอร์เบียม  ลูเทเทียม สแกนเดียม อิตเทียม นีโอไดเมียม ซาแมเรียม โพรมีเทียม โดยวิธีการถลุงแร่แรร์เอิร์ธแบบคร่าวๆ คือต้องถลุงและสกัดเอาสารบริสุทธิ์จากแร่เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า “ออกไซด์ของโลหะ” ก่อนที่จะเอาออกไซด์มาบดเป็นผงและแยกออกมาเป็นชนิดต่างๆ กัน แล้วนำไปจำหน่ายในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ แร่หายากเหล่านี้ถูกนำไปใช้ผลิตสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากมายตั้งแต่อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ทางทหาร อุปกรณ์สื่อสาร เช่นโทรศัพท์มือถือ ยานพาหนะไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยแร่แรร์เอิร์ธที่สำคัญได้แก่

– โพรมีเทียม ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์
– แลนทานัม ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายภาพ เช่น กระจกเลนส์ ไฟถ่ายภาพยนตร์
– อิตเทียม ใช้ในการผลิตหลอดภาพของทีวีสี เตาไมโครเวฟ
– นีโอไดเมียม ใช้ในการผลิตแม่เหล็กที่ใช้ในการผลิตลำโพงและฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์
– ปราซีโอดีเมียม ใช้ในการผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

ราคาของโลหะหายากมีความแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากโลหะเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ตามข้อมูลของตลาดโลหะเซี่ยงไฮ้ REE ที่ถูกที่สุดในปัจจุบันคือแลนทานัมซึ่งใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาต่างๆ สำหรับการแตกตัวของน้ำมันในฟอสเฟอร์และเป็นส่วนประกอบของโลหะผสมที่ทนต่อการกัดกร่อนและทนความร้อน รวมทั้งซีเรียมซึ่งใช้ในการผลิตแหล่งกำเนิดแสง ตัวเร่งปฏิกิริยา วัสดุทนไฟ เทอร์โมอิเล็กทริก และวัสดุขัดถู ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 หยวน (ประมาณ 3,400 เหรียญสหรัฐ) ต่อตัน โดยโลหะหายากที่มีราคาแพงที่สุดคือสแกนเดียม โดยโลหะผสมอะลูมิเนียม-สแกนเดียมเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ สารประกอบสแกนเดียมยังใช้ในการผลิตเลเซอร์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแมกนีโตไฮโดรไดนามิกสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ และกระจกเอกซเรย์ ราคาขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์โดยตกอยู่ที่ 26,500 – 33,500 หยวน (3,600 – 4,600 เหรียญสหรัฐ) ต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมาจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดของโลกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของการผลิตทั้งหมดทั่วโลกรวมถึงเป็นซัพพายเออร์รายใหญ่ของโลกด้วย อย่างไรก็ตามความตึงเครียดระหว่าง 2 ขั้วอำนาจโลก สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ หลายมาตรการที่ทั้งสองประเทศนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าจากทั้งสองประเทศ การที่สหรัฐอเมริกาสั่งห้ามการใช้งานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและการสื่อสารจากบริษัทที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารจากประเทศจีน

รวมถึงการกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในปีนี้มีแนวโน้มจะทำให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้น โดยจีนส่งสัญญาณออกมาให้เห็นเป็นระยะที่จะจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหากจีนจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากให้สหรัฐฯ จริงก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ล้วนต้องพึ่งพาแร่โลหะหายากทั้งสิ้น การผูกขาดของจีนก็เริ่มสร้างความกังวลให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงรัสเซียด้วย ทำให้รัสเซียต้องหาทางออกในการผลิตแร่แรร์เอิร์ธของตนเองเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

จากสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามรัสเซียน – ยูเครนซึ่งอาจขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโตในอนาคต รัสเซียมีความต้องการแร่ธาตุหายากสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และภาคการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (ซึ่งบริโภคแลนทานัม อิตเทรียม และแร่ธาตุอื่นๆ ไป 830 ตันในปี 2023) พลังงานหมุนเวียน (200 ตัน) อุตสาหกรรมแก้วและอุปกรณ์ออปติก (100 ตัน) และอิเล็กทรอนิกส์ (100 ตัน)

ท่ามกลางการแข่งขันด้านแร่ธาตุเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาจากทรัพยากรแล้วรัสเซียมีธาตุต่าง ๆ ตามตารางธาตุครบสมบูรณ์ รัสเซียมีฐานวัตถุดิบแร่ธาตุหายากที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าจะไม่มีการประมาณการปริมาณที่แน่นอนก็ตาม ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2017 รัสเซียมีสำรอง REE อยู่ 26.9 ล้านตัน (โดยคำนึงถึงไตรออกไซด์ของโลหะหายากด้วย) ซึ่งทำให้ประเทศนี้ครองอันดับสองของโลก รองจากจีนเท่านั้น ในปี 2024 หน่วยงานจัดการทรัพยากรใต้ดินของรัฐบาลกลางรัสเซีย 

Федеральное агентство по недропользованию (Роснедра) หรือ Rosnedra ประมาณการว่ารัสเซียมีแร่ธาตุหายากมากถึง 28.7 ล้านตัน รวมถึงแหล่งแร่สำคัญ 18 แห่ง เป็นรองเพียงจีนที่มีมากถึง 44 ล้านตันและคิดเป็นมากกว่า 20% ของปริมาณสำรอง 130 ล้านตันของโลก และมีแนวโน้มว่าแหล่งสำรองแร่ธาตุหายากของรัสเซียจะถูกค้นพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ไซบีเรียที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ และสำนักงานธรณีวิทยาแห่งรัฐก็ค้นพบแหล่งแร่ธาตุเชิงยุทธศาสตร์แห่งใหม่หลายสิบแห่งทุกปี ในสมัยสหภาพโซเวียตรัสเซียมีอุตสาหกรรมแร่ธาตุหายากที่ทรงพลังโดยมีเหมืองแร่และโรงงานต่างๆ ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐต่างๆ เช่น ในเอสโตเนีย คีร์กีซสถาน และคาซัคสถาน หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ก็ล่มสลายอย่างรวดเร็ว โรงงานในคาซัคสถานหยุดทำงานแต่โรงงานในเอสโตเนียยังคงผลิตออกไซด์ของ REE ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีชื่อว่า NPM Silmet และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Canadian Neo Performance Materials และมีกำลังการผลิตแร่ธาตุหายาก 3,200 ตัน 

ในความเป็นจริงปัจจุบันในรัสเซียมีเพียงโรงงานขุดและแปรรูป Lovozero (Ловозерский ГОК) ในภูมิภาคมูร์มันสค์ (Murmansk) และโรงงานแมกนีเซียม Solikamski (SMZ) Соликамский магниевый завод (СМЗ) ในภูมิภาคเปอร์ม (Perm) เท่านั้นที่ยังคงความยิ่งใหญ่เช่นเดิม โดยโรงงานทำเหมืองและแปรรูป Lovozero สกัดแร่จากแหล่งแร่ Lovozero และเสริมสมรรถนะจนผลิตสิ่งที่เรียกว่าแร่เข้มข้นโลปาไรต์ ปริมาณออกไซด์ของธาตุหายากในแร่ที่แหล่งแร่มีการประเมินไว้ที่ 2.6 ล้านตัน กำลังการผลิตของโรงงานขุดและแปรรูปอยู่ที่ประมาณ 8,000 ตันต่อปี แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 – 12,000 ตัน รายได้ของ Lovozersky GOK LLC » ในปี 2023 มีจำนวน 2.5 พันล้านรูเบิล จากนั้นสารเข้มข้นของโลพาไรต์จะถูกส่งไปยัง SMZ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ คาร์บอเนตของแลนทานัม นีโอดิเมียม ซีเรียม โพรมีเทียม แกโดลิเนียม และยูโรเพียม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 SMZ ผลิตคาร์บอเนตของโลหะหายากได้ 962 ตัน รายได้ของ JSC SZM ในปี 2022 มีจำนวน 13 พันล้านรูเบิล ในปี 2023 มีจำนวน 12.4 พันล้านรูเบิล

นอกจากนี้รัสเซียยังมีแหล่งแร่สำคัญอื่นๆ ที่มีแร่ธาตุหายากและมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ได้แก่ แหล่งแร่ Tomtorskoye ในสาธารณรัฐยาคูเทีย (Yakutia) ที่ค้นพบเมื่อปี 1977 ซึ่งมีออกไซด์ประมาณ 3.2 ล้านตัน แหล่งแร่ Kolmozerskoye ในภูมิภาคมูร์มันสค์ (Murmansk) ซึ่งค้นพบเมื่อทศวรรษ 1950 มีลิเธียมออกไซด์และแร่อื่นๆ มากถึง 844,000 ตัน แหล่งแร่อื่นๆ มีความเข้มข้นของแร่ธาตุหลัก ได้แก่ แหล่งแร่ Zashikhinskoye แหล่งก๊าซ Kovytka ที่รัสเซียยังไม่ได้แตะต้อง แหล่งน้ำมัน Yaraktinskoye ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเมืองเอียร์คุตซ์ (Irkutsk) แหล่งลิเธียม Polmostundrovskoye ในเมืองมูร์มันสค์ แหล่ง Zavitinskoye ในภูมิภาคทรานส์ไบคาล (Transbaikal) แหล่งแร่ Tyrnyauz ในสาธารณรัฐคาบาร์ดิโน - บัลคาเรีย (Kabardino-Balkaria) แหล่งแร่ Kongor-Chrome ในเขตปกครองตนเองยามาเลีย (Yamalia) และแหล่งแร่ Saranovskoye ในเมือง (Perm) เป็นต้น

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมารัสเซียพยายามเข้าสู่ตลาด REE แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความสำเร็จ ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตแร่ธาตุหายากของรัสเซียในโลกมีน้อยมาก คือ น้อยกว่า 1% ดังนั้นเพื่อกระตุ้นการผลิต ในปี 2020 มีการอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีการทำเหมืองแร่หายากจาก 8% เหลือ 4.8%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top