Tuesday, 29 April 2025
แพทย์กวินก้านแก้ว

'นพ.กวิน' สำรวจ!! นโยบายสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทย เห็นด้วย!! สร้างรพ.รัฐขนาด 120 เตียงขึ้นไปประจำทุกเขตในกทม.

(3 ก.ย. 66) นายแพทย์กวิน ก้านแก้ว แพทย์ผู้อุทิศตนให้กับการรักษาคนไข้โดยไม่เคยย่อท้อ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Kawin Kankeow' ระบุว่า...

หนึ่งในนโยบายด้านสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทยที่ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งคือ กทม.ต้องมีโรงพยาบาลรัฐขนาด 120 เตียงขึ้นไปประจำทุกเขต

หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ยิ่งในช่วงหลังมีการพูดถึงว่าเป็นต้นเหตุทำให้ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ผมไม่คิดเช่นนั้นครับ 

ผมคิดว่านโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค คือการปฏิวัติระบบบริการสุขภาพที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับคนไทยอย่างแท้จริง ก่อนหน้านี้คนยากจนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคได้โดยผ่านการสงเคราะห์ และด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคได้อย่างเท่าเทียมกันและเสมอภาคกัน

ฉะนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยเลยกับนโยบายการร่วมจ่ายของประชาชน เพราะเมื่ออยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารเงินหลักร้อยบาทขึ้นไปก็ไม่ใช่เงินจำนวนที่ทุกคนมีพร้อมจะจ่าย

ทุกวันนี้ผมคิดว่าทุกจังหวัดของประเทศไทยยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคได้อย่างเหมาะสมแล้วผ่านการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

แต่สำหรับกรุงเทพฯ โรงพยาบาลที่ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในกรุงเทพฯ มีน้อยมากๆ

ความแตกต่าง คือ การพิจารณาการใช้ทรัพยากรในการรักษาและการส่งต่อผู้ป่วยสำหรับโรงพยาบาลรัฐย่อมมีข้อจำกัดน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีปัจจัยเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบว่าผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เข้าถึงการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ด้อยกว่าผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด บางกรณีการลงทุนย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดสำหรับคนกรุงเทพฯ อาจจะคุ้มกว่าด้วยซ้ำ

ดังนั้น การที่จะมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงการรักษาโรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนตัวผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องสร้างทุกเขต ควรจะสร้างโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่เป็นจุดๆ ดีกว่า เพราะการเดินทางในกรุงเทพฯ สะดวกสบายอยู่แล้ว และการสร้างโรงพยาบาลเล็กๆ หลายๆ แห่งมีความสิ้นเปลืองในแง่ของการกระจายทรัพยากรที่มากกว่า

นอกจากนโยบายการสร้างโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ แล้ว การเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขที่ผมอยากเห็นอีกประการหนึ่งคือ การกำหนดโครงสร้างให้โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในแต่ละจังหวัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ภายใต้ผู้บริหารที่สามารถกำหนดนโยบายและทิศทางการทำงานได้ทั้งจังหวัด

...และไม่เห็นด้วยเลยกับการนำโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งในจังหวัดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเป็นเอกเทศไม่ขึ้นแก่กัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาเป็นไปอย่างสะเปะสะปะและไม่เกิดการแชร์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน

โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งไม่จำเป็นต้องพยายามเพิ่มศักยภาพให้เท่าเทียมกันหมด ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลที่อยู่ในอำเภอเล็กๆ ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลจังหวัดมากๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีการรักษาที่ซับซ้อน เช่น การผ่าตัดหรือการคลอดบุตร เลย การที่มี CEO ของจังหวัดในการวางแผนการให้บริการสาธารณสุขทั้งจังหวัดจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรกระจายได้อย่างเหมาะสมกว่า

นอกจากนี้สิ่งที่ผมอยากเห็นอีกอย่างคือ การควบรวมสิทธิการรักษาหลักทั้งสามคือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาของข้าราชการ เข้าด้วยกัน

ถ้าเรามั่นใจว่าปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำได้ดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบอื่นอีก เพราะการดูแลรักษาคนไทยทุกคนควรมีมาตรฐานเดียวที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน และระบบประกันสังคมควรจะดูแลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค เช่น การออมเงิน การชดเชยรายได้ ในขณะที่ข้าราชการอาจได้สิทธิบางอย่างเพิ่มเติม เช่น ค่าบริการห้องพิเศษ

...เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นแพทย์ ก็หวังว่าจะได้เห็นนโยบายดีๆ เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top