Thursday, 24 April 2025
แจกเงินหมื่น

‘นายกฯ อิ๊งค์’ เผย!! แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 12 ก.ย.นี้ ยัน!! เงินหมื่นช่วยกระตุ้น-หมุน ศก.ไทยได้ทั้งระบบ

(11 ก.ย. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลต่าง ๆ ในการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในวันที่ 12-13 ก.ย.

โดย น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้กำชับรัฐมนตรีทุกกระทรวงชี้แจงทันทีในข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาที่อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯเพื่อความเข้าใจ ว่า ใช่ เพราะจริง ๆ แล้วรัฐมนตรีทุกท่านตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา ก็ทำงานกันอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ได้ตอบเอง 

ในส่วนของนายกฯ ตอบภาพรวมได้ แต่ดีเทลการทำงานของแต่ละกระทรวง เขามีดีเทลที่เขาทำจริง ๆ ซึ่งจะชัดเจนกว่าและจะสามารถให้ข้อมูลประชาชนได้ชัดเจน และจะได้ไม่เกิดข้อสงสัยหรือเข้าใจผิดกัน จึงคิดว่าอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ตอบงานของตัวเอง

เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดความชัดเจนจากเวทีนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ แน่นอนวันที่ 12 ก.ย.แถลงแล้ว จะแถลงภาพรวมของนโยบาย แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รมว.การคลังจะเป็นคนแถลงรายละเอียดทั้งหมด

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ 10,000 บาทได้ทั้งหมดก้อนเดียวดิจิทัลวอลเล็ต แต่วิธีการทำกับการหาเสียงแตกต่างกัน จะสามารถอธิบายประชาชนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มันมีความแตกต่างแน่นอน พอได้ลงมือทำจริง ๆ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลมันมีเรื่องของระบบที่จะต้องติดตั้งอีกนาน ฉะนั้นเราคิดว่าเมื่อระบบและสิ่งอื่น ๆ ยังมีข้อพิพาทต่าง ๆ ซึ่งมันต้องรอ แต่เศรษฐกิจรอไม่ได้ประชาชนรอไม่ไหว ฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนในจุดนี้ให้ประชาชนก่อน เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป้าหมายของเราในการทำดิจิทัลวอลเล็ตนั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ หากกระตุ้นไม่พอ เรายังพร้อมที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบดิจิทัลด้วย แต่ว่ามันมาช้ากว่า แต่เศรษฐกิจต้องถูกกระตุ้นก่อน เราทำอันนี้เสร็จไม่ใช่มีแค่นโยบายเดียว เรามีอีกหลายอันที่สามารถเศรษฐกิจได้ แต่อันนี้เป็นอันหลัก เร่งด่วนและเห็นผลทันทีจึงอยากรีบทำ

เมื่อถามว่า รัฐบาลวันนี้สานต่องานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ซึ่งเคยมีนโยบายจ่ายเงินดิจิทัล รอบเดียวไม่แบ่งจ่ายกระตุ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่วันนี้เปลี่ยนไปการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นตามเป้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การวางแผนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายเฟสที่ต้องกระตุ้น อย่าง 10,000 บาท ที่ได้แถลงไปแล้วว่าจะจ่ายก่อน ก็เป็นการกระตุ้นอันหนึ่ง ภาพใหญ่หนึ่งภาพก่อน แต่ส่วนหลังจากนั้นก็ไม่ลืมทิ้งโครงสร้างดิจิทัลที่เราจะต้องทำต่อด้วย อันนี้สำคัญ ตอนแรกเราจะไม่ให้เป็นเงินสดเลยทั้งหมด จะเป็นเงินดิจิทัลทั้งหมด แต่อย่างที่บอกเศรษฐกิจรอไม่ได้ เราก็เลยต้องแบ่งเฟส ดิจิทัลยังอยู่แต่เราอาจจะเปลี่ยนเป็นว่า 5,000 บาทไหม หรืออย่างไร เดี๋ยวให้ รมว.การคลังแถลงรายละเอียด

เมื่อถามว่า พอแบ่งจ่ายอาจจะไม่ใช่พายุหมุนเหมือนที่เราตั้งใจไว้ หลายคนมองว่าเหลือเพียงแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ นายกฯ กล่าวว่า มันเป็นการกระตุ้นแน่นอนแต่รูปแบบเปลี่ยนไป ฉะนั้นขอให้ รมว.การคลัง แจงในรายละเอียดอีกที

เมื่อถามว่าเป้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ค่ะ เพราะเราแบ่งเฟสแล้วและอย่างที่บอกไม่ได้มีนโยบายเดียว ที่จะให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้น ฉะนั้นการแบ่งทีละเฟสควบคู่กับนโยบายอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจดูดี

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยหาเสียงจ่ายเงินดิจิทัลขณะที่ยังไม่ศึกษารายละเอียดจึงทำให้การจ่ายเงินล่าช้า นายกฯ กล่าวว่า มันล่าช้าเพราะเราเข้ามาเราคิดว่าจริง ๆ แล้วระบบมันจะสามารถดำเนินไปได้เลย แต่มันต้องมีการรับฟัง แน่นอนถ้าไม่เกิดการรับฟังมีปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งต้องรับฟังหลาย ๆ ฝ่ายว่ามีข้อกังวลหรือข้อสงสัยอะไร อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามทำให้รัดกุม และดีที่สุดสำหรับประเทศด้วย

เมื่อถามว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความมั่นใจเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากทั้งฝ่ายค้านและ สว.จองคิวไว้เต็มที่ นายกฯ กล่าวว่า “เหรอคะ เราก็ทำเต็มที่ แต่จริง ๆ แล้วขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วม หลังการแถลงก่อน”

เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นถึงกับจะต้องมีองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบได้แต่ร้องอ๋อ

เมื่อถามว่า ยังมีเสียงข้อครหารัฐบาลแพทองธาร ไม่ต้องนับปีเอาแค่นับเดือนจะรอดหรือไม่ นายกฯ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า “ก็ช่วยกันนับ”

นายกฯ อิ๊งค์ 'ผ่าน' แต่อนาคตน่าห่วง รุ่นใหม่ พท. ยกระดับเบียดขยี้พรรคส้ม

มีสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเหตุบ้าน 'การเมือง' มากมายหลายประเด็นที่อยากจะเขียนเป็นรายงานสัก 3-4 หน้ากระดาษ  แต่ด้วยพื้นที่เล็กๆ ของ 'เลียบการเมือง' ขอใช้วิธีสรุปไฮไลต์ที่อยากหมายเหตุเอาไว้โดยเฉพาะการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อ 12-13 ก.ย.ที่ผ่านมาให้เป็นที่ประจักษ์ ณ วันนี้ ดังนี้...

1) กรณีแถลงนโยบาย
- นโยบายเร่งด่วน 10 ประการของรัฐบาลไม่มีอะไร 'ว้าว' กลางสภาฯ เพราะทักษิณ ชินวัตร เปิดว้าวไปก่อนแล้วเมื่อ 22 ส.ค.67 แต่ที่น่าจับตานโยบายเร่งด่วนร้อนๆ อย่าง เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์, พลังงาน และพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา, แลนด์บริดจ์...จะเป็นองศาเดือดทางการเมือง ทำให้รัฐบาลเอียงกะเท่เร่หรือไม่? อย่างไร?

- กรณีนโยบาย ดิจิทัล วอลเล็ต แจก 1 หมื่นบาท ได้บทสรุปว่าจะแจกเฟสแรก 14.2 ล้านคนกลุ่มเปราะบาง จากงบฯ 2567 จำนวน 1.45 แสนล้านบาทที่มีอยู่ภายในวันที่ 25 ก.ย.67 ส่วนเฟสสองคำตอบจากในสภาและนอกสภาพอจะอนุมานสรุปได้ว่า...ไม่น่าจะมี รัฐจะช่วยเหลือในรูปแบบอื่น กรณีนี้จะกลายเป็นการ 'เสียรังวัด' ครั้งสำคัญของรัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์

- ภาพรวมการแถลงนโยบาย นายกฯ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร สอบผ่านแบบหวุดหวิด ถ้าไม่มีเหตุต้องไปตรวจอุทกภัยภาคเหนือต้องอยู่ในสภาฯ สองวันอาจสอบตกก็เป็นได้...และน่าเสียดายที่ยังไม่ใช้เวลาสภาในวันแรกให้เป็น 'นาทีทอง' ในการโชว์กึ๋น โชว์วิสัยทัศน์แบบชัดๆ ให้ขาเชียร์ได้กรี๊ดซักกรี๊ด...การพูดถึง...วาทกรรมเกลียดชัง ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายแค้น...นั้น ถึงที่สุดมันก็คือ 'การเมืองเรื่องวาทกรรม' เหมือนกัน...

- ซีก สส.ฝ่ายค้าน พรรคประชาชน ที่นำโดยณัฐวุฒิ เรืองปัญหาวงษ์ หน.พรรค, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหน.พรรค อภิปรายได้ตามมาตรฐานของตัวเองและพยายามเชื้อเชิญนายกฯ อิ๊งค์ ออกมาทำยุทธหัตถี (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) ฝ่ายค้านอีกหลายคนก็ได้ยกระดับฝีมือของตัวเองได้อย่าง น่าจับตา เช่น ศุภโชติ ไชยสัจ (เรื่องพลังงาน), ภคมน หนุนอนันต์ (เรื่องแลนด์บริดจ์) ฯลฯ

- ขณะที่ซีกรัฐบาล ต้องยอมรับว่ารอบนี้ สส.คนรุ่นใหม่พรรค เพื่อไทย ได้ยกระดับ-ทำการบ้านมาอภิปรายได้น้ำได้เนื้อดีกว่าอภิปรายเรื่องงบประมาณฯหรือรอบอื่นๆ ไม่ว่า นิกร โสมกลาง  สส.โคราช, ขัตติยา สวัสดิผล (บัญชีรายชื่อ), รวี  เล็กอุทัย (อุตรดิตถ์), ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ (บัญชีรายชื่อ) ฯลฯ ... จากนี้ไปน่าจะได้เห็น 'รุ่นใหม่เพื่อไทย' ประชันขันแข่ง 'รุ่นใหม่พรรคส้ม' ได้แบบน่าดูชม เหลือแต่ 'รุ่นใหม่ภูมิใจไทย' ที่จะต้องรีบโชว์กึ๋นอีกหน่อย...

- ในขณะที่พรรคอื่นๆ เช่น รวมไทยสร้างชาติ บทบาทเด่น กลับไปโฟกัสอยู่ที่คนรุ่นใหม่อย่าง เอกนัฏ พร้อมพันธ์ เลขาธิการพรรค ในฐานะรมว.อุตสาหกรรม และสส.บัญชีรายชื่อ...ที่ประกาศนโยบายและปณิธานการทำงาน...

2) สงครามสองบ้าน-อนาคตอิ๊งค์...
- สรุปสั้นๆ ได้เพียงว่า กรณี 'คลิปลุง' หลุดออกมานั้น เป้าหมายหลักก็เพื่อหยุดและบดขยี้แนวรบบ้านในป่าที่เป็นเสมือนเสี้ยนหนามในรองเท้ารัฐบาลให้สิ้นซาก...เป็นสงครามบ้านจันทร์ส่องหล้า-บ้านในป่า ภาคสุดท้าย...หมัดเด็ดของบ้านในป่าคือ การใช้กฎหมายที่เรียกว่า 'นิติสงคราม'...ล่าสุดไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พรรคพลังประชารัฐ ตอบโต้เรื่องคลิปด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน และให้ กสทช.ยุบรายการ 'เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์' ทางช่อง 9 อสมท.ของ 'หมาแก่'...

- แม้ขณะนี้จะมีเรื่องร้องเรียน กล่าวหารัฐบาล-ตัวนายกฯ และพรรคเพื่อไทยสารพัดสารพัน แต่กว่าเรื่องราวต่างๆ จะตั้งแฟ้มตั้งเรื่องว่าจะปัดตกหรือเดินหน้าต่อไป อย่างเร็วก็อีก 3-4 เดือนข้างหน้า...นายกฯ ไม่ต้องมาเสียสมาธิกับเรื่องราวเหล่านี้ เพราะมีทีมงานที่จะดำเนินการอยู่แล้ว...โจทย์ใหญ่ของนายกฯ อิ๊งค์คือ ใน 2-3 เดือนนี้ ต้องแสดงฝีมือการทำงาน-โชว์กึ๋นให้เป็นที่ประจักษ์สักเรื่องสองเรื่อง...แม้ว่ารอบนี้เข้ามาทำงานโดยไม่มีกติกา 'ทดลองงาน' หรือ Probation ก็ตาม...

- 'เล็ก เลียบด่วน' ทำโพลส่วนตัวมาแล้ว...พบว่านับจากวันถวายสัตย์ปฏิญาณตน จนถึงวันที่ 14 ก.ย.ที่เขียนต้นฉบับ...หากใช้ระบบทดลองงานโอกาสที่จะผ่านโปรฯ อยู่ที่ 50/50...ต้องฮึดและปรับกระบวนท่ามีสมาธิอีกพอประมาณ !!

อุตรดิตถ์-บรรยากาศประชาชนเดินทางมารับเงินโอนตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ อย่างคึกคัก 

(25 ก.ย.67) ที่บริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย สาขา ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าฯจ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยส่วนราชการสังกัดกระทรวงการคลัง จ.อุตรดิตถ์ และ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดตามการโอนเงิน10,000 บาท ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 วันแรก นอกจากนี้ยังได้โฟนอิน กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังเปิดงาน (Kick Off) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของ จ.อุตรดิตถ์ คือ นางชัยศรี (สงวนนามสกุล) อายุ 64 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 ต.ท่าเสา อ.เมืองอุตรดิตถ์ ที่ได้รับเงิน 1 หมื่นบาทเป็นที่เรียบร้อย โดยกล่าวว่าจะนำเงินดังกล่าวเป็นทุนต่อยอดการขายข้าวหมกไก่ ที่เปิดร้านอยู่ริมคลองเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ดีใจและขอบคุณรัฐบาลที่มอบโครงการดีๆให้กับชาวบ้าน 

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าฯจ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่าสำหรับ จ.อุตรดิตถ์ มีประชาชนที่ได้รับเงินในวันแรกมีโอกาสได้พูดคุย(โฟนอิน)กับท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชนที่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว จังหวัดอุตรดิตถ์มีประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 112,084 ราย และ ผู้พิการ 22,342 ราย จะมีการแบ่งทยอยโอน 4 วัน เข้าบัญชีพร้อมเพย์ และบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้ ระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน 2567 

ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับวันแรกนั้น เป็นในส่วนของประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเลขประจำตัวบัตรประชาชนลงท้าย เลข 0 และผู้พิการ ซึ่งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้โอนจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิรับเงิน 10,000 บาท ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567

‘ดาต้าเซ็ต’ ส่องความเห็นโซเชียล ปม 'แจกเงินหมื่น' พบชาวเน็ตเสียงแตก มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

(5 ต.ค.67) ภายหลังโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจาก 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ได้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์ มีทั้งฝ่ายที่มองว่าเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่ยั่งยืนพร้อมทั้งกังวลถึงผลกระทบระยะยาว โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างคึกคัก สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจอย่างมากของผู้คนที่มีต่อนโยบายนี้

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2567 ถึงประเด็นเกี่ยวกับ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ” พบว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกคักในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งการวิจารณ์ตัวนโยบาย และการแบ่งปันไอเดียการใช้เงินที่ได้รับว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายกับอะไรบ้าง? สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างของประชาชนที่มีต่อมาตรการนี้

ส่องไอเดียโซเชียลใช้ 'เงินหมื่น' ไปกับอะไร ?
จากข้อมูลที่รวบรวมได้ในโซเชียลมีเดีย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่วางแผนจะนำเงินไปใช้จ่ายค่อนข้างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะนำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด รองลงมาคือนำเงินที่ได้รับไปชำระหนี้ การต่อยอดลงทุนโดยเฉพาะการซื้ออุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และอื่น ๆ โดยสามารถแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายได้ดังนี้: 

1. สินค้าอุปโภคบริโภค: 47.8%
- อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในครัวเรือน ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง
- สินค้าเพื่อการเกษตร (ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์การเกษตร พันธุ์พืช สัตว์เลี้ยง)
- เครื่องใช้ไฟฟ้า/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย

2. ชำระหนี้สิน: 17.4%
- ใช้หนี้ จ่ายหนี้ ชำระหนี้ต่าง ๆ
3. ลงทุน: 9.6%
-   ซื้อทอง เก็บเงิน ลงทุนในอุปกรณ์ทำมาหากิน ซื้อสลากออมสิน
4. เงินสำหรับการรักษาและซ่อมบำรุง: 8.7%
-  ค่ารักษาพยาบาล ยา อุปกรณ์การแพทย์ ทำฟัน
-  วัสดุซ่อมแซมบ้าน
5. อื่น ๆ: 16.5%
-  ชำระค่าสาธารณูปโภค
-  ทำบุญ/บริจาค
-  ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา

ชาวโซเชียลคิดเห็นอย่างไร ? กับนโยบายแจกเงินหมื่น

ความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายนี้มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังและข้อกังวลที่มีต่อผลกระทบในระยะยาว โดยสามารถแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย: 51.8%
• กังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและภาระทางการคลังแก่คนรุ่นต่อไป
• มองว่าการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงได้รับเงิน ในขณะที่คนที่เดือดร้อนไม่ได้รับ สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความล้มเหลวในการบริหารจัดการข้อมูล
• เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน และอาจสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพารัฐบาลมากเกินไป ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและพึ่งพาตนเอง
• วิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมของผู้ได้รับ เช่น เล่นการพนัน ซื้อของฟุ่มเฟือย
• ต้องการให้นำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนระยะยาวแทน เนื่องจากมองว่ามีความยั่งยืนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า

กลุ่มที่เห็นด้วยกับนโยบาย: 33.2%
• มองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ เพราะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้
• เห็นว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและร้านค้าท้องถิ่นได้รับประโยชน์ 
• เชื่อว่าเป็นการคืนภาษีให้ประชาชน และรัฐบาลมีความตั้งใจดีในการช่วยเหลือประชาชน แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาและความต้องการของประชาชน
• มองว่าการให้เป็นเงินสดดีกว่า เพราะประชาชนสามารถนำไปใช้ได้ตามความจำเป็น ให้อิสระในการบริหารจัดการเงินตามสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว
• สนับสนุนให้มีนโยบายแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ตรงจุดและเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่เป็นกลาง: 15.0%
• เข้าใจความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน แต่เสนอให้มีการปรับปรุงระบบการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ที่ต้องการจริง ๆ และลดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร
• มองว่าควรมีการติดตามและประเมินผลนโยบายอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาทั้งผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคม
• เสนอให้มีมาตรการควบคุมการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย เช่น การกำหนดประเภทสินค้าและบริการที่สามารถใช้จ่ายได้ หรือการให้เป็นเครดิตสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นเท่านั้น
• แนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ในการช่วยเหลือประชาชน เช่น การสร้างงาน หรือการพัฒนาทักษะ ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่าในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
• เห็นว่าควรมีการสื่อสารและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความคิดเห็นต่อนโยบายนี้จะแตกต่างกัน แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่รอคอยและหวังจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ และประชาชนยังให้ความสนใจเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย การเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนานโยบายให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

‘รัฐบาลออสเตรีย’ ประกาศมาตรการแจกเงิน จูงใจ!! ‘ผู้ลี้ภัยซีเรีย’ ให้เดินทางกลับบ้านเกิด หลังระบอบบาชาร์ อัล-อัสซาด ล่มสลาย

(15 ธ.ค. 67) นายกรัฐมนตรี คาร์ล เนฮัมเมอร์ ออกมาตอบสนองข่าวการโค่นล้มระบอบอัสซาดอย่างไว โดยประกาศในวันเดียวกัน (8 ธ.ค.) ว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงในซีเรียควรจะถูกพิจารณาใหม่ รวมถึงการรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียด้วย

อย่างไรก็ตาม การบังคับเนรเทศผู้ลี้ภัยโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจนั้นไม่สามารถทำได้จนกว่าบริบททางการเมืองในซีเรียจะชัดเจนกว่านี้ ดังนั้น รัฐบาลออสเตรียจึงจะเน้นใช้วิธี ‘ส่งกลับประเทศโดยสมัครใจ’ นอกจากนี้ ยังระงับการพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยของชาวซีเรีย เช่นเดียวกับที่หลายๆ รัฐบาลในยุโรปเริ่มทำกันแล้ว

เนฮัมเมอร์ ก็เช่นเดียวกับรัฐบาลสายอนุรักษนิยมในยุโรปอื่นๆ ที่ถูกพวก ‘ฝ่ายขวา’ กดดันอย่างหนักในเรื่องนโยบายผู้อพยพ และชาวซีเรียก็ถือเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ต้องการเข้าไปตั้งถิ่นฐานในออสเตรียที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)

“ออสเตรียพร้อมที่จะสนับสนุนชาวซีเรียซึ่งต้องการกลับบ้านด้วยเงินโบนัส 1,000 ยูโร (ประมาณ 35,000 บาท) ซีเรียต้องการพลเมืองของตัวเองกลับไปช่วยฟื้นฟูบ้านเมือง” เนฮัมเมอร์ โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษผ่าน X

ทั้งนี้ จะมีชาวซีเรียรับข้อเสนอดังกล่าวมากน้อยเท่าไหร่ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอดู และการที่สายการบิน Austrian Airlines ยังคงระงับเที่ยวบินไปตะวันออกกลางสืบเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบ ก็ทำให้เงินโบนัสนี้อาจจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ลี้ภัยที่ประสงค์จะกลับบ้าน

ตั๋วเดินทางแบบเที่ยวเดียวไปยังกรุงเบรุตซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นยอดนิยมสำหรับการเดินทางทางบกไปยังกรุงดามัสกัส ปัจจุบันราคาอยู่ที่อย่างน้อย 1,066.10 ยูโรตามข้อมูลจากเว็บไซต์สายการบิน Turkish Airlines


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top